http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-16

จะล้มคดี 99 ศพได้หรือ?/ ก่อนม็อบมา โดย สุริวงค์/ วรศักดิ์

.
บทความเพิ่ม - สภาพสังคมไทย เป็นสถานการณ์ปฏิวัติ มากน้อย เพียงใด

_____________________________________________________________________________________________________________

จะล้มคดี 99 ศพได้หรือ ???
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน  คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12
จากมติชน ออนไลน์  วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 12:40:10 น.


ช่างบังเอิญที่ม็อบแช่แข็งประเทศไทยประกาศจะนัดชุมนุมใหญ่ในปลายเดือนนี้ อันตรงกับช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านในสภาพอดี
ไม่เท่านั้น เป็นช่วงเดียวกันกับที่คาดหมายว่าดีเอสไอจะเปิดสำนวนคดีใหม่

คดีฆาตกรรม นายพัน คำกอง 1 ใน 99 ศพ เหตุการณ์ปราบม็อบเสื้อแดงปี 2553
เป็นไปได้มากที่จะแจ้งข้อหาฆาตกรรมต่อผู้สั่งการ ประมาณช่วงสิ้นเดือนนี้
ดังนั้น การตัดสินใจจะเคลื่อนม็อบเพื่อไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่กำหนดดีเดย์ปลายเดือน
ดูจะเหมาะเจาะกับห้วงคดีความใหญ่ๆ เสียจริง


เมื่อมองในประเด็นคดีต่างๆ เหล่านี้ อาจจะทำให้เข้าใจได้มากขึ้น ว่าจู่ๆ ทำไม เสธ.อ้ายจึงประกาศนำม็อบไล่รัฐบาล ทั้งที่บ้านเมืองไม่ได้เกิดวิกฤตการณ์ใดๆ จากการบริหารงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในขณะนี้เลย 
เหตุผลที่จะล้มรัฐบาล 3-4 ข้อ ล้วนเรื่องเก่าๆ 
ทั้งที่ไม่มีเหตุ ไม่มีเงื่อนไข แต่ก็สามารถชุมนุมคนได้ราวหมื่นคนในหนแรก พอมาหนสองมีความเคลื่อนไหวที่จะระดมกันให้มากกว่าเดิม 4-5 เท่า

ดูไปดูมา จึงพบว่า น่าจับตามองที่คดีสำคัญๆ มากกว่า
เรื่องคดีเอกสารทหารก็หนึ่ง 

ขณะที่คดีนายพัน คำกองนั้น เป็นคดีแรกของ 99 ศพ ที่เข้าสู่กระบวนการไต่สวนชันสูตรศพในชั้นศาล 
จนเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ศาลได้มีคำสั่งว่า นายพัน คำกอง ตายด้วยกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งปฏิบัติการตามคำสั่ง ศอฉ. 
ขั้นตอนต่อมา อัยการส่งสำนวนกลับมายังพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เพื่อเปิดเป็นคดีอาญาเป็นข้อหาฆาตกรรมต่อไป


ตามปฏิทิน 99 ศพ พบว่าประมาณปลายเดือนนี้ น่าจะสามารถแจ้งข้อหาฆาตกรรมต่อผู้สั่งการในเหตุการณ์ 99 ศพได้
ขณะเดียวกัน ในวันที่ 26 พฤศจิกายน ปลายเดือนนี้อีกเช่นกัน 
ศาลนัดฟังคำสั่ง กรณีการตายของนายชาญณรงค์ พลศรีลา ผู้ชุมนุมเสื้อแดงอีกราย อันจะเป็นศพที่ 2 ใน 99 ศพ ที่ศาลจะมีคำสั่งว่าตายด้วยใคร

แล้วล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เพิ่งมีการไต่สวนกรณีการตายของนายชาติชาย ชาเหลา หนึ่งในผู้ชุมนุมเสร็จสิ้นพอดี 
ศาลนัดฟังคำสั่งชี้ว่า นายชาติชายตายด้วยฝีมือใคร ในวันที่ 17 ธันวาคม อันจะเป็นศพที่ 3 ใน 99 ศพ


ดังนั้น การเคลื่อนไหวของม็อบ เสธ.อ้าย ซึ่งหาเหตุผลปมประเด็นได้ไม่ชัด ว่าจู่ๆ ทำไมจะต้องมาไล่รัฐบาลให้ได้ปลายเดือนนี้
แต่ถ้าหากผลของการเคลื่อนไหว จะกระทบต่อการดำเนินคดี 99 ศพ ก็น่าคิดว่าบรรดาชาวเสื้อแดงและญาติพี่น้องคนตาย 99 ศพ
จะยินยอมให้คดีนี้ล้มไปเพราะผลพวงทางการเมืองดังกล่าวหรือ


ไม่เท่านั้น ประชาชนกว่า 15 ล้านเสียง ที่เลือกพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 อันถูกต้องตามกติกาประชาธิปไตย
จะยอมให้คนกลุ่มหนึ่ง มาอ้างเหตุผลลอยๆ เพื่อจะให้รัฐบาลล้มตึง จับประเทศแช่แข็งเป็นเผด็จการ ลิดรอนอำนาจในมือประชาชนได้หรือ


ดูแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยสำหรับม็อบที่ขาดเหตุผลเพียงพอ
ที่แน่นอนคือ คดี 99 ศพจะต้องเดินหน้าต่อไป ตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม

อย่าฝันหวานว่าจะหลุดรอดได้ง่ายๆ



++

ก่อนม็อบมา
โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข   คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12
จากมติชน ออนไลน์  วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 21:45:50 น.
(ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 มติชนรายวัน 15 พ.ย.2555 )


การเมืองปลายเดือน พ.ย.มีเรื่องให้ติดตามเป็นพิเศษ
อภิปรายไม่ไว้วางใจนั่นก็เรื่องหนึ่ง

แต่ที่ผู้คนกำลังสนใจกันมาก คือ ม็อบแช่แข็ง หรือม็อบเครือข่ายพิทักษ์สยาม ของเสธ.อ้าย หรือ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ 
ที่จริง การชุมนุมประชาชนไม่ใช่เรื่องใหญ่ เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย
ปัญหาก็คือ บ้านเราไม่เหมือนที่อื่น
เที่ยวนี้รองนายกฯ เฉลิม อยู่บำรุง เลยสั่งการละเอียดลออเป็นพิเศษ
จะเชิญองค์กรอิสระมาสังเกตการณ์ ล่าสุด จะเชิญตัวแทนยูเอ็นมาด้วย
สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลและไม่แน่ใจว่าม็อบนี้จะออกมายังไง


จุดสำคัญที่ทำให้ต้องจับตาม็อบนี้เป็นพิเศษ คงมาจากข้อเสนอแช่แข็งประเทศ หยุดการเมือง 5 ปี ของเสธ.อ้าย 
เป็นข้อเสนอที่ล่อแหลม มีผู้ไปแจ้งความเอาผิดเสธ.อ้าย ในข้อหาความผิดต่อความมั่นคงแล้ว


ฝ่ายทหาร โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ก็ให้โฆษกออกมาแถลง ห้ามปรามมิให้กำลังพลเข้าร่วมชุมนุมกับม็อบทุกสี
ตัดปัญหาการโยงเอากองทัพเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

ส่วนกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งที่จริงถ้าจะเล่นกันเรื่องจำนวนคน เชื่อกันว่าระดมพลเป็นหลักหมื่นขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
ก็มีการห้ามปรามกันเอง มิให้ออกมาตั้งม็อบประชันขันแข่ง เพื่อป้องกันการเผชิญหน้า หรือยั่วยุจนเกิดกระทบกระทั่ง เข้าทางของฝ่ายที่ต้องการฉวยโอกาส
แต่มีข่าวว่า จะเปิดเวทีแสดงพลังในจังหวัดรอบนอก อย่างที่สมุทรปราการ และที่ภาคอีสาน


นอกนั้น เป็นเรื่องของการแถลงข่าววิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของกลุ่มเสธ.อ้าย เรียกว่าไปเน้นการต่อสู้ทางความคิด เพื่อให้ประชาชนเข้าใจปัญหา เข้าใจสถานการณ์ 
ต้องถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี ที่สังคมไทยเราก้าวเข้าสู่วุฒิภาวะในอีกแบบหนึ่ง

หลังจากประชาชนพลีชีพซื้อบทเรียน บาดเจ็บล้มตายกันมาเป็นร้อยๆ ศพแล้ว 
จากนี้ก็ต้องรอดูว่าเหตุการณ์จะคลี่คลายหรือยิ่งผูกปมยุ่งเหยิง


ย้อนกลับไปเมื่อตอนหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่มีการดีเบต 
มีคนในบ้านเราพร่ำเพ้อว่า ทำไมบ้านเราไม่มีอย่างเขา ที่ผู้สมัครจะมาถกแถลงกันให้ประชาชนรับรู้แนวคิด อยากให้การเลือกตั้งในบ้านเรามีอย่างนั้นบ้าง แล้วจะเรียกตัวเองว่าประชาธิปไตยได้ยังไง 


ก็มีคนแย้งว่า ก็เห็นด้วยนะ แต่ถ้าจะเอามา มันต้องเอามาทั้งแพคเกจ ไม่ใช่เอามาเฉพาะเรื่องดีเบต
พอเลือกตั้งเสร็จ บารัค โอบามา ชนะ มิตต์ รอมนีย์ แพ้
ผู้แพ้ประกาศยอมรับผล และถือว่าการแข่งขันเลือกตั้งผ่านไปแล้ว และย้ำว่าประเทศอยู่ในจุดวิกฤต ไม่สามารถเสี่ยงกับการทะเลาะวิวาท แบ่งเป็นฝักฝ่ายได้


ตรงนี้ต่างหากที่เป็นหัวใจของระบบเลือกตั้ง
และควรจะเรียกร้องให้เกิดขึ้นเสียที




+++

สภาพสังคมไทย เป็นสถานการณ์ปฏิวัติ มากน้อย เพียงใด
คอลัมน์ การเมือง จากมติชน ออนไลน์  วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 11:20:07 น.


มีทั้งความเหมือนและความต่างระหว่างการเคลื่อนไหวของ นปช.เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 กับการเคลื่อนไหวของ อพส. ในเดือนพฤศจิกายน 2555
เหมือนตรงที่มีการชุมนุมมวลชนขนาดใหญ่
นปช.ระดมทั้งจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยเริ่มต้นบนถนนราชดำเนินแล้วไปปักหลักอยู่แยกราชประสงค์
ระดมมวลชนได้ "เรือนแสน"

อพส.ของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ อุ่นเครื่องเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่สนามม้านางเลิ้งได้มวลชนกว่า 20,000 คน
และตั้งเป้าว่าในวันที่ 24 พฤศจิกายนจะระดมให้ได้ "ล้าน"

จุดต่างอย่างสำคัญอยู่ต่างที่ นปช.เรียกร้องให้รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา คืออำนาจให้ประชาชน อาศัยการเลือกตั้งเป็นเกณฑ์ชี้ขาดทิศทางการเมืองต่อไป
ขณะที่ อพส.ต้องการให้เปลี่ยนแปลงรัฐบาลอย่างฉับพลัน
เปลี่ยนแปลงแล้วก็ "ฟรีซ" และปิดประเทศเป็นเวลา 5 ปี ไม่มีการเลือกตั้ง มีแต่รัฐบาลอันมาจาก "คนดี" ปลอดจากนักการเมืองอย่างสิ้นเชิง



จุดต่างนี้สะท้อนอะไร 
หากประเมินจากมุมของ อพส.ไม่ว่าจะเป็นการแถลงโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นการแถลงโดย น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เห็นตรงกัน
นั่นก็คือ ประชาชนอึดอัด 


นั่นก็คือ ไม่สามารถให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันเป็นรัฐบาล "หุ่นเชิด" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บริหารราชการแผ่นดินต่อไปอีก 
ต้องขับ ต้องโค่น
"ประเทศไทยเวลานี้เหมือนกับเรือไททานิค ประชาชนเป็นผู้โดยสาร ผู้โดยสารกลุ่มหนึ่งมองเห็นภูเขาน้ำแข็งขวางอยู่ข้างหน้า หากกัปตันไม่เบนหัวเรือไปทางอื่น เรือลำนี้คงชนภูเขาและอับปางลงเป็นแน่" 
เป็นอุปมาจากบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติคนหนึ่ง

"ผู้โดยสารกลุ่มนี้พยายามบอกกัปตันถึงอันตรายที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าและขอให้เปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ แต่กัปตันก็ไม่ฟัง ดังนั้น ผู้โดยสารกลุ่มนี้จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเข้าแย่งพังงาเรือ แต่ถ้ากัปตันเรือยังไม่ยอมก็ต้องถีบกัปตันตกน้ำไป"
ไม่ว่าอุปมาเรื่องเรือ เรื่องกัปตันเรือ เรื่องภูเขาน้ำแข็ง ไม่ว่าบทสรุปอันรวบรัดที่ว่าประชาชนอึดอัดทนไม่ได้ต้องไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สถานเดียว
ทั้งหมดนี้มีศัพท์รัฐศาสตร์เรียกว่า "สถานการณ์ปฏิวัติ"



บุคคลระดับ "เสธ.อ้าย" บุคคลระดับ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ บุคคลระดับ พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี ย่อมรับรู้ต่อความหมายของศัพท์ "สถานการณ์ปฏิวัติ" เป็นอย่างดี
อย่างนี้ว่าถ้าจะให้สมบูรณ์ต้องประกอบส่วนจาก 2 ปัจจัยเข้าด้วยกัน
ปัจจัย 1 คือ ความไม่พอใจของประชาชนต่อการบริหารของรัฐบาลรุนแรง แข็งกร้าว กระทั่งไม่ยอมรับต่ออำนาจการนำ อำนาจของการปกครอง
ปัจจัย 1 คือ ความไม่พอใจของประชาชนไม่เพียงแต่จะโดยการไม่ยอมรับต่อกฎหมายอันเป็นขื่อแปของบ้านเมืองเท่านั้น หากที่สำคัญรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ปกครอง ผู้บริหาร ยังไม่สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายได้อีกด้วย


นั่นก็คือ เป็นผู้ปกครองก็จริง แต่มิอาจ "บริหาร" จัดการอะไรได้
นั่นก็คือ ความไม่พอใจและลุกขึ้นมาต่อต้านของประชาชนดำเนินไปอย่างลึกซึ้ง รุนแรงกว้างขวาง
ไม่เพียงเป็นหย่อมๆ ไม่เพียงเป็นจุดๆ หากปรากฏในลักษณะทั่วประเทศ


เรียกตามสำนวนไทยโบราณก็คือ ความเดือดร้อนเกิดขึ้นทุกหย่อมย่าน ไม่ได้หะร็อมหะแร็มเพียงเรือนหมื่นหรือเรือนแสน หากแต่เป็นเรือนล้านและหลายล้าน กระทั่ง กฎหมายและการปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่กลายเป็นอัมพาต
ถึงระดับนี้แล้วไม่ต้องสอยก็หล่นลงมาเอง


ถามว่าสถานการณ์ประเทศขณะนี้บรรลุคุณภาพถึงขั้นอย่างที่เรียกว่า "สถานการณ์ปฏิวัติ" หรือไม่

มองผ่านสภาพทางเศรษฐกิจอันเป็นรากฐาน มองปรากฏการณ์ทางการเมือง มองปรากฏการณ์ทางสังคมอันเป็นเงาสะท้อนของเศรษฐกิจ

เป็นความเดือดร้อน เป็นความอึดอัดทุก "หย่อมย่าน" จริงหรือ



.