.
เลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตเมื่ออายุ 108 ปี
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1683 หน้า 96
ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาคุณทวด โจแอนนา เจ็นกิ้นส์ (Joanna Jenkins) ชาวเซาธ์ แคโรไลนา โด่งดังไปทั่วอเมริกา เมื่อใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นครั้งแรกในชีวิตตอนอายุ 108 ปี
คุณทวดโจแอนนา เป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน เกิดในอเมริกาเมื่อปี 1904 ซึ่งยังเป็นสมัยที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
จนกระทั่งปี 1920 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สิทธิผู้หญิงอเมริกันออกเสียงเลือกตั้ง
แต่กว่าจะได้สิทธินี้ผู้หญิงอเมริกันต้องประท้วงต่อสู้เป็นเวลากว่า 60 ปี ด้วยเห็นว่าการออกเสียงเลือกตั้งควรเป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมืองทุกเพศ ไม่ใช่สิทธิพิเศษหรือที่กลุ่มสิทธิสตรีสมัยนั้นกล่าวว่า Voting is a right, not a privilege.
ส่วนเรื่องอายุของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งนั้น ก่อนหน้าปี 1971 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไป
แต่ในปี 1971 ได้มีการแก้รัฐธรรมนูญให้คนอายุ 18 ปีขึ้นไป มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
แม้คุณทวดโจแอนน่ามีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งตั้งแต่อายุ 21 ปี แต่ใช้สิทธิครั้งแรกในชีวิตเมื่ออายุ 108 ปีเป็นเพราะคุณทวดโจแอนน่าอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และไม่มีบัตรที่มีรูปถ่ายที่ทางการออกให้ เช่น ใบขับขี่ หรือ หนังสือเดินทาง ทำให้คุณทวดเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองไม่มีสิทธิเลือกตั้ง
ความจริงแล้วรัฐธรรมนูญอเมริกาไม่ได้ห้ามคนอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ หรือไม่มีบัตรที่มีรูปถ่ายที่ทางการออกให้มาออกเสียงเลือกตั้ง
ขณะนี้มีเพียง 15 รัฐที่มีกฎหมายให้ผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งต้องแสดงบัตรที่มีรูปถ่ายที่ทางการออกให้
หลายคนอาจสงสัยว่า คุณทวดโจแอนน่า ไม่มีบัตรประชาชนหรือ?
คำตอบก็คือคนอเมริกันไม่มีบัตรประชาชนเหมือนคนไทยต้องมี แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามผลักดันให้คนอเมริกันทุกคนต้องมีบัตรประชาชน แต่ฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายอนุรักษนิยม ออกมาขัดขวางทุกครั้ง เพราะเห็นว่าการทำบัตรประชาชนเป็นเสมือนเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมคนในประเทศที่ปกครองในระบอบเผด็จการ
รัฐเซาธ์ แคโรไลนา ที่คุณทวดโจแอนน่าอาศัย ผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ต้องแสดงบัตรใดๆ ทั้งสิ้น
สาเหตุก็เพราะเห็นว่าการขอดูบัตรที่เป็นหลักฐานจากทางการนั้น ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ (Discrimination)
เพราะหลักฐานที่เป็นทางการหลักๆ ที่ใช้ในอเมริกาคือ ใบขับขี่ และพาสปอร์ต ซึ่งคนที่ขับรถไม่เป็นก็ไม่มีใบขับขี่ คนที่ไม่เคยเดินทางต่างประเทศ ก็ไม่มีพาสปอร์ต
ดังนั้น การออกกฎหมายใช้ใบขับขี่หรือหนังสือเดินทางเป็นหลักฐานแสดงตนถือเป็นการลิดรอนสิทธิเลือกตั้งของพลเมืองที่ฐานะยากจน
จากสถิติ คนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดของรัฐเซาธ์ แคโรไลนา ปรากฏว่า 81,983 คน ไม่มีบัตรที่มีรูปถ่ายที่ทางการออกให้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุเชื้อสายแอฟริกันอเมริกัน
ถามว่าแล้วใช้อะไรเป็นหลักฐานแสดงตนว่าเป็นตัวจริง ไม่ใช่ใครก็ไม่ทราบมาสวมสิทธิ
ตอบว่าใบเสร็จค่าน้ำค่าไฟ เอกสารจากธนาคาร หรือบัตรประกันสังคมซึ่งไม่มีรูปถ่าย สามารถใช้ยืนยันในการใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ ขอให้มีชื่อและที่อยู่อยู่ ในเอกสารนั้นก็แล้วกัน
นอกจากนั้น การที่กฎหมายกำหนดให้ผู้จะใช้สิทธิลงคะแนนต้องไปลงทะเบียนล่วงหน้าเป็นเดือนๆ ทำให้สังคมอเมริกันไม่กังวลเรื่องการสวมสิทธิ
คุณทวดโจแอนน่าออกเสียงลงคะแนนด้วย Absentee Ballot หรือบัตรเลือกตั้งของผู้ไม่สามารถไป ณ คูหาเลือกตั้ง
เป็น 1 ในคนอเมริกัน 88 ล้านคนที่ลงคะแนนเสียงด้วยวิธีนี้
คนแก่อเมริกันไม่มีลูกหลานพาไปลงคะแนนที่คูหา ส่วนใหญ่ลงคะแนนแล้วส่งทางไปรษณีย์
ถามคุณทวดโจแอนน่าว่าเลือกใคร
คุณทวดยิ้มแล้วตอบว่า "บาม่า"
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย