http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-10

ชาวนา โดย คำ ผกา

.

ชาวนา
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1682 หน้า 89


ชั่งใจอยู่ว่าควรทิ้งเรื่อง "จำนำข้าว" ให้เป็นเรื่องของนักเศรษฐศาสตร์ ส่วนนักเขียนเรื่องบ้าๆ บอๆ อย่างฉันก็นั่งเกาะขอบเวทีฟังดีเบตของนักเศรษฐศาสตร์กันไป เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง 
นักเศรษฐศาสตร์บางท่านก็บอกว่า ชาวนาเป็นพวกไม่เสียภาษี เรื่องอะไรจะเอาภาษีของคนที่จ่ายภาษีไปอุ้มคนที่ไม่เสียภาษี-โอ้ว...เจอตรรกะนี้เข้าไป คนเสียภาษีน้อยนิดอย่างฉันก็ต้องเอาตีนก่ายหน้าผาก

เหตุที่ต้องเอาตีนก่ายหน้าผากก็เพราะว่า โครงการประกันราคาข้าวที่เกิดขึ้นในสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็ใช้เงินภาษีของประชาชนเหมือนกัน
แต่ทำไมถึงมาเดือดร้อนเอาตอนที่เป็นนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลเพื่อไทย?



เอาตีนลงจากหน้าผากแล้วคิดต่อไปอีกว่า กลไกของการจัดเก็บภาษีนั้นก็เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไม่ใช่หรือ? 
ประเทศที่มีสติสตังค์ย่อมเก็บภาษีความมั่งคั่งจากคนมั่งมีเพื่อสร้างสวัสดิการของรัฐให้กับคนที่ "ไม่มี" เช่น ทำเคหะชุมชน สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล จ่ายเงินเดือนให้คนตกงาน จ่ายเงินช่วยแม่วัยรุ่นตกงานที่เลี้ยงลูกไม่มีพ่อ เป็นต้น-แบบนี้ คนเสียภาษีต้องออกมา "ล้ม" รัฐบาลเพราะไปจ่ายเงินให้คนขี้เกียจหรือไม่? 
คำตอบก็คือไม่

เพราะ "สวัสดิการ" เหล่านี้จะสร้างคน "ไม่มี" ให้กลายเป็นคน "มี" ได้จากโอกาสของการเข้าถึงบริการสาธารณะ ได้มีสุขภาพที่ดี การศึกษาที่ดี โครงสร้างทางสังคมที่เอื้ออำนวยให้คนมีสุขภาพชีวิตที่ดีย่อมลดปัญหาทางสังคมได้อีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาเด็กออกจากโรงเรียนก่อนกำหนด ไม่ต้องพูดถึงการสร้าง คนรุ่นใหม่ที่มี "คุณภาพ" อันจะเป็นการลดภาระของรัฐและเพิ่มรายได้ของรัฐในรูปภาษีในระยะยาว 
อะไรกันที่ไปดลบันดาลให้นักเศรษฐศาสตร์ไทยบางคนเชื่อว่าคนที่ไม่เสียภาษีไม่มีสิทธิใช้เงินภาษี??

หรือเพราะมีนักเศรษฐศาสตร์เช่นนี้จึงมีชนชั้นสมองกลวงแต่มีการศึกษาพากันเชื่อตามๆ กันไปว่า กูนี่แหละคือผู้เสียภาษี ดังนั้น จึงมีแต่พวกกูมีสิทธิบริหารประเทศชาติ ดังนั้น จึงมีแต่พวกกูที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
-สิ่งที่สมควรนำไปแช่แข็งไว้ตลอดกาลน่าจะเป็นชนชั้นกลวงที่มีการศึกษาเหล่านี้เอง ไม่ใช่ประเทศไทย-ไม่นับการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายกันถ้วนหน้า-ไม่นับคนที่ไม่ "จ่าย" ภาษีอย่างแท้จริง เพราะชีวิตนี้ไม่เคยซื้ออะไรเลย!

จากนั้นชนชั้นกลวงที่กินข้าวเป็นอาหารหลัก (เสียเปล่า) ที่พล่ามพูดเรื่องรัฐไม่ควรแทรกแซงกลไกตลาด ไม่รู้หรือว่า ข้าว อ้อย ยางพารา เหล่านี้ไม่เคยเป็นสินค้าที่ปราศจากการ "การเมือง" ไม่เคยเป็นการค้าที่รัฐไม่แทรกแซง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้าว"



เราเคยตั้งคำถามกันไหมว่า "ชาวนา" มาจากไหน?
อยู่ๆ ประเทศไทยก็มีท้องทุ่งสีทองอร่าม สวยงามสะท้อนแสงสุดท้ายของอาทิตย์อัสดงด้วยตัวเองโดยปราศจาก "การเมือง" อย่างนั้นหรือ?
การ "ทำนา" นั้นต้องการเทคโนโลยี ต้องการการบุกเบิกที่นาซึ่งคนที่จะบุกเบิก เปิดที่นาได้ต้องมีทุนมีแรงงานมีความรู้ 
กว่าที่ไพร่จะกลายเป็น "ชาวนา" ต้องสั่งสมความรู้เรื่องการจัดการน้ำและอื่นๆ อันเกี่ยวกับการเพาะปลูก แน่นอนความรู้เช่นนี้ไม่เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน ไม่เกิดขึ้นเพราะอัจฉริยภาพส่วนบุคคล แต่มีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยตลอดเวลา

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่สร้าง "ชาวนา" ขึ้นมาในประเทศไทยคือ สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง


"ภายหลังการเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริ่งในปี พ.ศ.2398 แล้ว การค้าระหว่างประเทศของสยามโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่เส้นทางเดินเรือกลไฟระหว่างจีนตอนใต้กับสยามทำให้มีแรงงานจีนอพยพ เข้าสู่กรุงเทพฯ มหาศาล เนื่องจากมีค่าแรงสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเพิ่มขึ้นของกรรมกรจีนซึ่งเป็นแรงงานรับจ้าง ไม่ใช่แรงงานไพร่ที่ถูกเกณฑ์และบังคับให้ทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน (ซ้ำยังต้องเตรียมเสบียงกรังมาเองสำหรับใช้ในช่วงที่ถูกเกณฑ์ด้วย) ย่อมมีแรงจูงใจที่จะทำงานมากกว่าไพร่

ดังนั้น มันจึงคุ้มค่ากว่าที่ผู้ปกครองจะจ้างกรรมกรจีนให้ทำงานแทนการบังคับใช้แรงงานจากไพร่ ผู้ปกครองจึงเริ่มอนุญาตให้ไพร่จ่ายเงินทดแทนการเกณฑ์แรงงานได้ แต่พวกไพร่ๆ จะไปหาเงินจากไหนมาจ่าย หากระบบเศรษฐกิจการตลาดและการหมุนเวียนของเงินตรายังไม่ขยายตัว คำตอบคือการขยายตัวของการส่งออกข้าวหลังสัญญาเบาว์ริ่ง
พูดอีกแบบคือ พวกไพร่เมื่อไม่ต้องถูกบังคับใช้แรงงานแล้วจึงหันไปปลูกข้าวขาย เอาเงินมาจ่ายให้ผู้ปกครองแทนการเกณฑ์แรงงาน ดังเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 2413 ต้นรัชกาลที่ 5 ไพร่หลวงต้องจ่ายเงิน 9-12 บาท แทนการถูกเกณฑ์แรงงาน และลดลงเหลือ 6 บาทต่อปี ในช่วง พ.ศ.2440-2441 ต่อมาจึงยกเลิกระบบการเกณฑ์แรงงานไพร่ หันมาเก็บภาษีรัชชูปการแทน (ภาษีต่อหัวที่สามัญชนทุกคนต้องจ่ายรายปี-poll tax) ในปี 2442 รวมทั้งออกกฎหมายเกณฑ์ทหารในสามปีถัดมา เป็นอันว่าภาษีรัชชูปการและการเกณฑ์ทหารจึงมาแทนการทำงานของระบบไพร่เมื่อ ร้อยปีเศษมานี่เอง"

ประวัติศาสตร์ฉบับย่อว่าด้วยการเลิกทาส, อภิชาติ สถิตนิรามัย http://prachatai.com/journal/2012/10/43289


จะเห็นว่าชาวนาไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับ "ประเทศไทย" ประหนึ่งว่า มีประเทศไทยก็มีชาวนาแถมมาด้วยเหมือนซื้อยาสีฟันที่แถมแปรงสีฟัน 
มันไม่ได้เป็นของแพ็กคู่แบบนั้น 
อาชีพ "ชาวนา" เกิดขึ้นพร้อมสนธิสัญญาเบาร์ริ่ง เกิดขึ้นพร้อมกับการสร้าง "รัฐสยาม" ที่เป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ครั้งแรก

รัฐสยามที่เกิดขึ้นสมบูรณ์เป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เท่านั้นเอง ที่มีการ "ปฏิรูป" ระบบการควบคุมและใช้แรงงาน เปลี่ยน ไพร่และทาส เป็น "แรงงานเสรี" ที่มีข้อผูกพันในการจ่ายภาษีให้กับรัฐแทนการเกณฑ์แรงงานแบบเดิม เพื่อนำเงินภาษีนั้นไปจ้างแรงงานกุลีจีนที่ทำงานได้ดีกว่าแทน
อาชีพ "ชาวนา" จึงเป็นอาชีพที่เกิดมาพร้อมกับและผูกพันอยู่กับ "การค้าระหว่างประเทศ" 
และข้าวคือสินค้าที่มีความสำคัญเป็นรายได้ของรัฐไทย! หาใช่อาชีพบุพกาล ดั้งเดิม พอเพียง หาอยู่หากิน อย่างที่เรา "ฝันเอาเอง" ไม่!


ทั้งนี้ ยังไม่นับว่า การทำนา และอาชีพชาวนา และการ "ค้าข้าว" นั้นแยกไม่ออกจากการสร้างรัฐสยามที่มีความเป็นสมัยใหม่อีกด้วย ไม่นับว่าตั้งแต่มี "ชาวนา" เกิดขึ้นมาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว
ชาวนามีการปรับตัวกับกระแสเศรษฐกิจโลกและนโยบายที่เปลี่ยนไปของรัฐบาลตลอดเวลา



จินตนาการที่ว่า "ชาวนา" เท่ากับคำว่า "โบราณ" หรือ "ประเพณี" เก่าแก่นั้นอันตรายมาก 
เพราะเมื่อไหร่ที่เรามีจินตนาการว่าชาวนาคือความเป็นพื้นถิ่น คือความบุร่ำบุราณเท่ากับกระบุง ตะกร้าที่อยู่ในมิวเซียม คือวิถีชีวิตในอดีตที่ต้องอนุรักษ์ไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลง คือมรดกของความเป็นไทยที่นับวันจะสูญหายตายจาก จินตนาการ 

เช่นนี้ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นความสัมพันธ์ของชาวนากับการสร้าง "รัฐ" ตรงกันข้ามมันทำให้เราเห็น "ชาวนา" เป็นเครื่องประดับของวัฒนธรรมไทยเท่านั้น

ในจินตนาการของชนชั้นกลวง เห็นชาวนาเป็นวัตถุที่เอาไว้ระลึกบุญคุณของพระแม่โพสพ
เห็นชาวนาเป็นวัตถุที่เอาไว้ให้ตนเองรำลึกถึงบุญคุณของชาวนาที่ปลูกข้าวให้เรากิน เมื่อชาวนาได้ "บุญคุณ" ไปแล้ว ก็หมดสิทธิจะมาทวงถามว่า ราคาข้าวที่ขายสูงหรือต่ำ กำไร หรือขาดทุน เพราะอาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่มี "บุญคุณ ความดีงาม" อยู่ในตัวของมันเอง ชาวนาจึงมิบังควรแสดงความโลภใดๆ ออกมาอีก เพราะขืนทำเช่นนั้น ชนชั้นกลวงที่ "รัก" และ รำลึกถึงบุญคุณชาวนา จะหันมาชี้นิ้วกราดประณามทันทีว่า "เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ"

นักกิจกรรมเพื่อสังคมที่ "อยากเป็นชาวนา" ก็จะออกมาแสดงความผิดหวังที่ชาวนาไม่ยอมรักษาความเป็น "ไทย" ด้วยการไปสมาทานกับวิถีชีวิตทุนนิยม โลกาภิวัตน์ อยากแต่จะขายข้าวแพงๆ เพราะไปกู้เงินมาซื้อปุ๋ย ซื้อยาฆ่าแมลง ซื้อรถไถ อุปกรณ์ไฮเทค ทำให้ชาวนาตกเป็นทาสนายทุน และตกเป็นเหยื่อนักการเมืองในที่สุด 

พึงรู้เสียทีว่า "ชาวนา" คือกลุ่มคนที่ถือกำเนิดมาพร้อมกับความเป็นสมัยใหม่ของรัฐ การค้าระหว่างประเทศ และโลกาภิวัตน์  
แต่รัฐสมัยใหม่ก่อนเป็นประชาธิปไตยนั้น ปฏิบัติต่อชาวนาเยี่ยงทาสติดที่ดิน เพราะชาวนาส่วนใหญ่ไม่ได้เป็น "เจ้าของที่ดิน" เนื่องจากกลุ่มคนที่มีทุนและเทคโนโลยีในการบุกเบิก "ที่นา" ล้วนแต่เป็นชนชั้นนำ


"ชาวนา" ที่เป็นผลผลิตของรัฐสมัยใหม่ก่อนเป็นประชาธิปไตยคืออดีต ไพร่และทาส จนเมื่อรัฐไทยเปลี่ยนมาปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแล้ว "ชาวนา" จึงเปลี่ยนมาเป็นประชาชน
แต่ก็อีกนานมาก กว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะให้ความสำคัญกับชาวนาในฐานะประชาชน เพราะประชาธิปไตยที่ลุ่มๆ ดอนๆ ในสังคมไทยได้แช่แข็งชาวนาเอาไว้ทั้งในฐานะที่เป็น "เครื่องประดับความเป็นไทย" เป็น "กระดูกสันหลังของชาติ" ที่พึงเป็นแค่สิ่งมีชีวิตสวยงามตามท้องทุ่ง นุ่งผ้าขาวม้า สวมงอบ ถือเคียวเกี่ยวข้าว และขี่ควายเป่าขลุ่ย

ในขณะที่ในความเป็นจริง รัฐบาลสนับสนุนการปฏิวัติเขียว ผลักดันให้ชาวนาเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่เพื่อเป็นสินค้าออกหลักของประเทศ พร้อมกับสร้างนโยบายพรีเมี่ยมข้าวที่ "กด" ราคาข้าวให้ต่ำพอที่จะให้กรรมกรมีเงินซื้อข้าวกินโดยที่นายทุนไม่ต้องขึ้นค่าแรง 
จะเห็นว่าชาวนา และการค้าข้าว ไม่เคยเป็นอิสระจากการแทรกแซงของรัฐ เพียงแต่ที่ผ่านมารัฐแทรกแซงในแบบที่กดชาวนาให้ยากจน และพึงยากจนอยู่อย่างนั้นเพราะความยากจนของชาวนากลายเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นไทยไป 

แถมยังใช้อัตลักษณ์นี้ทำมาหากิน ได้ตั้งแต่ขาย ส.ค.ส. ไปจนถึงทำรายการโทรทัศน์อยากเป็นชาวนา ภูมิปัญญาท้องถิ่น บลา บลา บลา


นโยบายจำนำข้าวที่รัฐเข้าไปซื้อข้าวแข่งกับพ่อค้าเพื่อกระตุ้นให้ราคาข้าวในตลาดสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเห็นชาวนาในฐานะประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ผู้ออกเสียง เลือกตั้งรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ไม่ใช่มนุษย์พันธุ์ที่มีไว้พยุงความเป็นไทย หรือเป็นไพร่เป็นทาสติดที่ดินที่มาผลิต "ข้าว" ให้พ่อค้าและรัฐหารายได้จากการส่งออก

แค่นี้แหละที่ชนชั้นกลวงทนไม่ได้ กรีดกราดว่ารัฐเอางบประมาณมาผลาญ เอาภาษีประชาชนมาละลาย (แต่ไม่เดือดร้อนเวลาที่รัฐเอาเงินมาอุ้มสถาบันการเงินหรือเอางบประมาณมา "กระชับพื้นที่ กระชับลมหายใจของประชาชน")

คือทนไม่ได้ รับไม่ได้ที่ชาวนาไม่ได้เป็นชาวนาไม่ได้เป็นกระดูกสันหลัง แต่เป็น Voter เหมือนๆ กับพวกคุณ-ชนชั้นกลวง-มีความสามารถในการบริโภค มีรสนิยม มีไลฟ์สไตล์ที่ไม่ได้ตรงตามจินตนาการของคนในเมืองที่รู้จักชาวนาผ่านนิยายเรื่องผู้ใหญ่ลีกับนางมา

และสำหรับคนที่คิดว่าชาวนาต้องเป็นเหมือนในละครเรื่องผู้ใหญ่ลีฯ ฉันก็คงต้องบอกกับคุณว่า
"หัดกินข้าวบ้างเถอะนะ"



.