http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-10-04

คือเกียรติแห่งสถาบัน โดย นวพร เรืองสกุล

.

คือเกียรติแห่งสถาบัน
โดย นวพร เรืองสกุล

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380891062
วันศุกร์ที่ 04 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 21:45:51 น. 

( ที่มา : คอลัมน์ ดุลยภาพดุลยพินิจ  นสพ.มติชนรายวัน 4 ต.ค.2556 )


ในระดับนักศึกษาอุดมศึกษา เรื่อง "หมวกกันลอกข้อสอบ" เคยเป็นที่ฮือฮากันอยู่ราวเดือนสิงหาคม 2556 นี้เอง

ไม่ว่าจะทำเล่นๆ หรือทำจริงๆ ก็บ่งบอกได้ว่า เรื่องการลอกคำตอบข้อสอบ เป็นเรื่องใหญ่ในใจทั้งผู้เรียนและผู้สอน


เหตุการณ์นี้สำหรับผู้เขียนเป็นเพียงยอดของสิ่งเลวร้ายที่กลายเป็นค่านิยมที่นับวันได้รับความสำคัญมากขึ้นทุกวัน คือเรื่องของการทุจริต (จริตในทางชั่ว)

ระดับชาติ เราเห็นการคอร์รัปชั่นอย่างโจ่งแจ้ง และเป็นกระบวนการที่บางครั้งดูเผินๆ ก็เหมือนจะถูกต้องเสียด้วย

มหาวิทยาลัยบางแห่งหรือบางโปรแกรม คุณภาพการสอนอาจถูกสงสัยได้ว่า กำลังขายปริญญา โดยไม่ห่วงชื่อเสียงเชิงวิชาการของมหาวิทยาลัย 
ระดับอาจารย์และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ได้ยินเรื่องการ "ลักลอกผลงานทางวิชาการ" อย่างหนาหู ทุกคนที่ทำไม่กลัวเสียชื่อ (และทำให้คนที่สุจริต พลอยเสียชื่อไปด้วย)
อาจารย์ต้องการสร้างผลงานทางวิชาการ เพราะตำแหน่งทางวิชาการ (อย่างน้อยๆ ก็หมายถึงว่า ได้เงินประจำตำแหน่ง)

ส่วนบัณฑิตก็ลอกงาน เพื่อให้เรียนจบ ได้ปริญญา ซึ่งนำไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น หรืองานที่ดีขึ้น 
นักเรียน นักศึกษา ก็ลอกงานจากอินเตอร์เน็ต แบบตัดปะไปส่งอาจารย์



ส่วนคนจะเข้ามหาวิทยาลัย ก็ต้องดิ้นรน เพื่อสอบเข้าให้ได้ ไม่ว่าวิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นดีหรือไม่ต่อตนเอง ทั้งระยะสั้น และระยะยาว
บางคนไม่เป็นอันเรียนเอาความรู้ มุ่งเรียนติวเพื่อให้สอบได้เท่านั้น เพื่อหวังอนาคตอันเรืองรองจากการเป็นบัณฑิต
ครูบางคนทิ้งเกียรติแห่งความเป็นครู (ซึ่งกินไม่ได้) มุ่งไปหาเงินจากการสอนติว แทนการใส่ใจการสอนในห้องเรียน


การสอบเข้าแต่ละแบบล้วนมีปัญหาต่างๆ กัน 
คณะที่ประสบปัญหาไม่ได้นักศึกษาที่เหมาะกับตนเริ่มหาทางเสาะหานักศึกษาที่เหมาะโดยการรับตรง นับเป็นวิธีการที่มีจุดประสงค์ดี


แต่แล้วสิ่งที่ดีก็ถูกนำไปใช้อย่างเบี่ยงเบน เมื่อต่างมหาวิทยาลัยต่างจัดสอบ และแย่งกันสอบให้เร็วขึ้น สอบได้แล้วก็รีบผูกมัดนักเรียนไว้ โดยการให้จ่ายค่าเทอมทันที

สิ่งที่สถาบันอุดมศึกษาทำ เป็นประโยชน์ต่อตน แต่เสียหายต่อส่วนรวม เพราะนักเรียนต้องเดินทางไปสอบทั่วทุกทิศ และนักเรียนที่มาจากครอบครัวชั้นกลางล่างหมดทางเลือก เพราะไม่มีเงินสอบหลายๆ ที่ และไม่มีเงินพอจะทิ้งค่าเทอม

จากทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าแม้แต่สถาบันอุดมศึกษา ก็คิดว่าเงินเป็นเงื่อนไขผูกมัดที่ดีที่สุด




เราจะหาทางออกอย่างไรได้บ้าง

เมื่อเจอหมวกกันลอกข้อสอบ เพื่อนวัยเด็กโทรศัพท์มาหาทันที เตือนความจำว่า "จำได้ไหม สมัยเราเป็นเด็ก นั่งติดๆ กันแบบนี้ แต่เราไม่เคยลอกคำตอบกันเลย บางครั้งครูก็ไม่อยู่ในห้อง ให้เรานั่งทำกันเอง"

เขากำลังพูดถึงระบบเกียรติยศ (honor system) ซึ่งครูใช้กับพวกเรา โดยไม่ต้องมีสโลแกนว่าโรงเรียนนี้ใช้ระบบเกียรติยศ

มันอยู่ในทุกวิถีในโรงเรียน จนเข้าไปในสายเลือด ในจิตวิญญาณ

เราไม่ลอกงานกัน และไม่ลอกงานใคร ใครไม่รู้ก็ถามกัน ก็สอนกัน จนรู้เรื่อง จนทำได้ เรื่องการลักลอกงานเป็นอันว่าไม่เคยคิด

ในครั้งกระโน้น ในโลกธรรม 3 ประการ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ เราเน้นกันที่ "สรรเสริญ"

จะได้ลาภ ได้ยศด้วยหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องที่นำมาคำนึงถึง

และสรรเสริญนั้น หมายถึงเราสรรเสริญตัวเราเองได้ ไม่ต้องรอให้ใครมา "ให้เกียรติ"

เราเองเป็นคนมีเกียรติ เพราะการกระทำของเรา



เมื่อเห็นการติวหนาตา เพื่อนอีกคนก็เตือนความจำว่า สมัยเรายังเด็ก ครูเห็นนักเรียนคนไหนอ่อน จะเรียกตัวมาติวนอกเวลา โดยไม่เคยคิดเงิน

แต่สมัยนี้ไม่มีแล้ว เพราะสังคมในปัจจุบันนี้เป็นสังคมที่เงินมาก่อน หรือเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่ประสงค์

ดังนั้น เราจึงมี "บัณฑิต" แต่เพียงในนาม

มีครูติวสอบ ที่ไม่สนใจความเข้าใจของผู้เรียน

มีผู้สร้างผลงานวิชาการ ที่ทำแบบไหนก็ได้ให้ได้ผลงาน เพราะต้องการ "ลาภ" ที่มากับยศ ตำแหน่ง

กระทั่งการยื้อแย่งกันรับตำแหน่ง จนเกิดการแตกร้าวในองค์กรแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า ไม่ว่าจะเป็นระดับอธิการบดี หรือคณบดี จำเลยตัวสำคัญก็คือเงินเดือนที่สูงขึ้นมากจากการดำรงตำแหน่ง และอำนาจในการสั่งเงิน สั่งคน โดยที่การวัดผลงานไม่ถือเป็นเรื่องจริงจัง เพราะวัดแล้วก็เอาไปให้คุณให้โทษไม่ได้




การเปลี่ยนค่านิยมกลับไปหาระบบที่เกียรติเป็นใหญ่ เป็นเรื่องที่พูดง่าย ทำยาก

แต่เรื่องเฉพาะหน้าที่เราคงต้องคิดทำอะไรสักอย่างคือระบบรับตรง

มีอย่างน้อยสองโจทย์ที่สำคัญ คือ

1. จะจัดระบบรับเข้าอย่างไรให้นักเรียนได้เรียนในห้องเรียนอย่างตั้งใจได้ความรู้ จนจบระดับมัธยมศึกษา

2. จะจัดระบบรับเข้าอย่างไร ให้นักเรียนได้เรียนในวิชาที่ตนอยากเรียน ในคณะ และมหาวิทยาลัยที่ตนอยากเรียน ภายใต้เงื่อนไขว่า คุณภาพของนักเรียนคนนั้นแข่งขันได้กับผู้สมัครคนอื่นๆ



ไม่ควรมีคนจำนวนมากต้องเรียนในคณะที่ไม่อยากเรียน เพราะบังเอิญสอบติด หรือต้องเรียนในมหาวิทยาลัยที่ต้องเข้า เพราะบังคับให้ตัดสินใจล่วงหน้า
ประเด็นเรื่องเสรีภาพในการได้เลือก (freedom of choice) ภายในขอบเขตมาตรฐานที่สถาบันการศึกษา หรือคณะนั้นๆ รับได้
เป็นเรื่องที่ท้าทายเรามาทุกยุคทุกสมัย



ผู้เขียนไม่มีข้อเสนอที่ดี มีแต่คำถามถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ที่เป็นปัญญา เป็นเสาหลัก และเป็นเลิศในแผ่นดิน ว่า

มหาวิทยาลัยเหล่านั้นจะมีทางออกร่วมกันอย่างไรให้กับปัญหาการรับตรงทุกวันนี้ อย่างน้อยๆ ก็มีทางออกให้กับกลุ่มสถาบันกลุ่มเดียวกันที่เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย

วางบรรทัดฐานใหม่ให้กับการรับนิสิตนักศึกษาของกลุ่มตนเอง โดยเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลางให้มากเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ทิ้งหลักการของความเป็นเลิศของอุดมศึกษาแห่งนั้นๆ


แทนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของผู้สร้างปัญหา หรือซ้ำเติมปัญหาให้กับระบบ เพราะต่างคนต่างตั้งหน้าตั้งตาดูแลแต่ตนเอง ดังเช่นทุกวันนี้



.