http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-10-05

รำลึกตุลา ในปี2556 โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

.
บทความก่อนๆหน้า - ถ่วงดุลอำนาจ ประชาชน โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

รำลึกตุลาในปี2556
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380889609
วันศุกร์ที่ 04 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 21:08:25 น.

( ที่มา : คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12 นสพ.มติชนรายวัน 4 ต.ค.2556 )


ระยะนี้ถือเป็นห้วงการรำลึกถึงเหตุการณ์เดือนตุลาคม ทั้งปี 2516 ซึ่งครบ 40 ปี และ 2519 ซึ่งผ่านมา 37 ปี เพราะเป็นประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ในการต่อสู้ของนิสิตนักศึกษาประชาชนโค่นล้มเผด็จการทหาร ขณะที่อีกเหตุการณ์เป็นการปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยมที่สุด

จะว่าไปแล้ว การพูดถึง การยกย่องเชิดชู วีรชน 14 ตุลาคม 2516 ดูจะกว้างขวางกว่า
เพราะเป็นเหตุการณ์ที่บทสรุปค่อนข้างชัดเจน การป่าวประณามรัฐบาลทหารที่เข่นฆ่าประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยบนท้องถนน พูดกันได้เต็มปากเต็มคำ
ไม่สลับซับซ้อนอะไร

แต่สำหรับ 6 ตุลาคม 2519 แล้ว มีปมเงื่อนแห่งเบื้องหลัง ที่หลายคนละเลยจะพูดถึง

อีกทั้งเป็นวันที่กำหนดขึ้น เพื่อการกวาดล้างขบวนการนักศึกษาประชาชน เป็นวันแห่งการเข่นฆ่า การรำลึกถึงจึงเป็นเรื่องของความเศร้าสลดมากกว่า

ทั้งที่ความจริงแล้ว 6 ตุลาฯ มีฐานะสำคัญไม่น้อย เป็นวันที่สังคมไทยมาถึงจุดเปลี่ยน ทำให้เวทีการต่อสู้ของคนหนุ่มสาว ย้ายจากเมืองไปสู่ชนบท สุดท้ายฝ่ายปราบปรามก็ต้องหันมาทบทวนระบบคิดของตัวเองด้วย

แม้จะเป็นวันของการสูญเสียของประชาชน
แต่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ตามมาอันมีคุณค่ามากมาย


ที่สำคัญเหตุการณ์ปี 2519 มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับปี 2516 อยากแยกกันไม่ออก


กล่าวสำหรับการรำลึกถึงผู้คนที่เสียสละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในเหตุการณ์เดือนตุลาคมเหล่านี้ ย่อมเป็นเรื่องจำเป็น
คนที่ตายไปมากมายเหล่านั้น ควรได้รับการยกย่อง
อีกทั้งเจตนารมณ์ของผู้ที่กล้าเสียสละ ต้องได้รับการเน้นย้ำสืบทอดต่อไป ไม่ให้เผด็จการยุคหลังมาทำลายได้

แต่มีผู้รู้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การรำลึกถึงประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ ไม่ควรเป็นการรำลึกแบบแค่มีพิธีกรรมและนำประวัติศาสตร์วันนั้นขึ้นไปเก็บไว้บนหิ้ง

ต้องไม่ยกย่องเทิดทูนแบบตัดตอน ไม่นำมาเชื่อมโยงกับความเป็นไปในวันนี้


เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะได้เห็นการโหมประโคมเกียรติภูมิของวีรชนเดือนตุลาฯ แต่สนับสนุนให้รัฐบาลใช้อำนาจกองทัพปราบปรามการต่อสู้ของประชาชนในเหตุการณ์อื่นๆ
ด้วยข้ออ้างและเหตุผลอันผิดเพี้ยนสารพัด



ปากประณามเผด็จการถนอม-ประภาส แต่เออออห่อหมกไปกับรัฐบาลอื่นที่มีการใช้อำนาจปราบปรามประชาชนบนท้องถนนเช่นกัน

ปากประณามผู้วางแผนสร้างเรื่องหมิ่นสถาบันเพื่อนำมาสู่การกวาดล้างประชาชนเมื่อ 37 ปีก่อน แต่วันนี้กลับยืนอยู่ฝ่ายสร้างผังล้มเจ้าเสียเอง


ไปๆ มาๆ วันนี้กระทำตัวไม่ต่างจากฝ่ายขวาจัดเมื่อคราวนั้น



ประชาธิปไตยไทย เกิดได้ด้วยวีรชนเมื่อ 40 ปีก่อน การรำลึกถึงต้องเกี่ยวพันกับประชาธิปไตยในวันนี้ด้วย

ต้องรักษาเจตนารมณ์การต่อสู้ ด้วยหลักการอันมั่นคง


ไม่ใช่ด้วยความรักชอบหรือเกลียดชังในเฉพาะตัวบุคคลเป็นรายๆ ไป



++

ถ่วงดุลอำนาจ ประชาชน
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1377245597
วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 21:00:53 น.

( ที่มา : คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12 นสพ.มติชนรายวัน 23 ส.ค.2556 )


สมาชิกรัฐสภาคนไหน มีทรรศนะจุดยืนทางการเมืองเช่นไร ได้เปิดเผยออกมาอย่างชัดเจนอีกครั้ง ในระหว่างการอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.

เป็นโอกาสดีที่ประชาชนจะหาข้อสรุปได้ว่า ใครหรือพรรคไหนเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมทางการเมือง ใครเป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตย

ฝ่ายหนึ่งยืนยันต้องให้ ส.ว.มาจากการสรรหาโดยคน 7 คนต่อไป

ฝ่ายหนึ่งต้องการแก้ไขให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน


ฝ่ายที่ให้คงระบบสรรหาต่อไป อภิปรายเน้นย้ำว่า ต้องให้ความสำคัญกับระบบตรวจสอบและถ่วงดุล จะปล่อยให้พรรคการเมืองมีอำนาจมากเกินไปไม่ได้ 
ห่วงใยอย่างมากว่า การให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง จะเปิดช่องให้พรรคการเมืองรุกคืบเข้ายึดสภาสูง กินรวบทั้ง 2 สภา 
อธิบายได้ไม่ยากว่า จุดยืนแบบอนุรักษนิยม ย่อมต้องหวาดระแวง การเติบใหญ่ของระบบพรรคการเมือง 

ย่อมต้องยึดหลักโครงสร้างการเมืองดั้งเดิม นั่นคือ ต้องให้อำนาจฝ่ายอื่นๆ สามารถยื่นมือเข้ามามีบทบาทได้
อีกทั้งมีทัศนคติในทางลบต่อการเลือกตั้ง ว่าเป็นสนามที่พรรคการเมืองเงินหนา จะสามารถกว้านซื้อเสียงได้อย่างสนุกมือ คนดีจริงๆ ยากจะฝ่าด่านเงินตราเข้ามาได้

ฝ่ายอนุรักษนิยม มักไม่เชื่อมั่นในอำนาจประชาชน มองว่ายังเป็นเหยื่อนโยบายประชานิยม ยังโดนซื้อโดยนายทุนได้โดยง่าย

จึงต้องมีระบบแต่งตั้ง ระบบสรรหา จากกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนดี เพื่อมาคานอำนาจกับฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้ง


พูดง่ายๆ ว่าอำนาจในมือประชาชนก็ยังต้องโดนถ่วงดุล




สำหรับประชาธิปัตย์ เป็นอีกครั้งที่ประกาศตัวเองเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมทางการเมือง จึงคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเต็มที่ ทุกวิถีทาง ขวางด้วยทุกกลเม็ด เพื่อให้คงระบบสรรหา ส.ว.เอาไว้
ถือเป็นพรรคการเมือง ที่คัดค้านเต็มที่ ไม่ยอมเปิดช่องให้ระบบพรรคการเมืองเติบใหญ่มากเกินไป


แต่ในทางกลับกัน มีประชาชนจำนวนไม่น้อย ฟังสมาชิกประชาธิปัตย์อภิปราย แล้วสับสนงุนงง
เพราะสนามการเลือกตั้ง เป็นสนามเดียวกันที่พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์และทุกพรรคการเมือง ต้องลงไปแข่งขันกัน
จึงไม่เข้าใจว่า ประชาธิปัตย์ก็เป็นสถาบันพรรคการเมือง แถมไม่ใช่พรรคเล็กๆ มีอายุมายาวนานประสบการณ์สูง สร้างฐานมวลชนมาหลายสิบปีแล้ว

เหตุใด ในตลอดการอภิปรายของสมาชิกพรรคนี้ จึงไม่เคยเชื่อว่าพรรคตนเองจะเป็นผู้ชนะในสนามนี้บ้าง อภิปรายไปในทำนองเดียวกันหมดว่า การเลือกตั้งทั้งสภาล่างและหากมีสภาสูงอีก จะเสร็จพรรคเพื่อไทยหมด จะโดนกินรวบ
หรือเพราะไปประทับตราเอาไว้แล้วว่า การเลือกตั้งจะเป็นช่องทางของพรรคนายทุนซื้อเสียงเท่านั้นกระมัง

ทั้งที่แนวทางปฏิรูปพรรคฉบับ นายอลงกรณ์ พลบุตร บอกเอาไว้แล้วว่า ถ้าปรับทิศทางใหม่ เล่นการเมืองโดยโชว์นโยบายบริหารประเทศที่ดีๆ ทันสมัย ต้องทำให้ได้อย่างที่พูด ต้องเลิกตอบโต้กับทุกฝ่ายที่มาวิพากษ์วิจารณ์ จนทำให้เสียแนวร่วมไปหมด
ประชาธิปัตย์จะได้ก้าวไปข้างหน้า ยุติการพ่ายแพ้เลือกตั้งซ้ำซากมา 21 ปี
การปฏิรูปประชาธิปัตย์ที่อลงกรณ์เสนอ คือ ครองใจประชาชนจนชนะเลือกตั้งได้



มิน่า ข้อเสนอปฏิรูปจึงตกไป

เพราะยังคงเดินหน้าเป็นพรรคการเมืองเด็กดีในโครงสร้างเก่า ซึ่งพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนจะเติบใหญ่ไม่ได้




* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline



.