http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-10-19

เบื่อระอาม็อบเหลวไหล โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

.
บทความก่อนหน้า - สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: แดงยึด 6 ตุลา- 14ตุลา !

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

เบื่อระอาม็อบเหลวไหล
โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

( https://www.facebook.com/profile.php?id=100003359048125 )
ใน https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=428510157270949&id=100003359048125
. . October 17 at 9:19pm

( ภาพ FB: Thai Innomemes
https://www.facebook.com/profile.php?id=100003673618021 )



ตั้งแต่วันที่ ๗ ตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ใช้ชื่อกันว่า กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ(กปท.) นำโดยบุคคล เช่น นายไทกร พลสุวรรณ พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ เป็นต้น ได้เคลื่อนจากสวนลุมพินี มายึดพื้นที่หน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ ถนนพิษณุโลก แล้วประกาศค้างคืน เพื่อรอรับวันที่ ๘ ตุลาคม ที่มีคำทำนายของพวกโหรการเมืองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ โดย พล.ร.อ.ชัยแถลงว่า กลุ่มของพวกเขาคัดค้านการที่นายกรัฐมนตรีจะยื่นทูลเกล้าฯร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง ยกเลิกวุฒิสมาชิกสรรหา เพราะถือว่ารัฐบาลมีเจตนาจะละเมิดอำนาจพระมหากษัตริย์ และว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะปักหลักที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อแสดงให้เห็นว่า มีประชาชนไม่เห็นด้วย

    รายงานข่าวแจ้งว่า มีประชาชนมาร่วมชุมนุมด้วยน้อยมาก ที่มาร่วมปักหลักเพียงไม่กี่ร้อยคน แต่กระนั้น ในวันที่ ๙ ตุลาคม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ตอบโต้โดยการประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคงรอบบริเวณทำเนียบรัฐบาล รัฐสภาและเขตพระราชฐาน ด้วยเหตุผลคือ หวั่นเกรงจะมีการบุกรุกสถานที่สำคัญ ในโอกาสที่ นาย หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม หลังจากนั้น รัฐบาลได้ตั้งด่านตำรวจหลายพันคนปิดล้อมบริเวณที่เป็นพื้นที่ห้ามชุมนุมทั้งหมด รวมทั้งล้อมรอบผู้ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลด้วย

    บ่ายวันที่ ๑๐ ตุลาคม กลุ่มผู้นำการชุมนุมของ กปท. ตัดสินใจถอนกำลังกลับที่ตั้งที่สวนลุมพินี แต่กลับมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนที่ไม่พอใจ เช่น กลุ่มนักศึกษาอาชีวะพิทักษ์ราชบัลลังก์ กลุ่มกองทัพนิรนาม และองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงแยกตัวมาจัดชุมนุมกันเองโดยปิดถนนที่บริเวณสี่แยกอุรุพงษ์ ถนนพระราม ๖ ซึ่งเป็นบริเวณนอกเขตที่ประชิดพื้นที่ประกาศควบคุมตาม พรบ.ความมั่นคง ขณะที่ กทม. ได้ส่งรถสุขาเคลื่อนที่ และรถปั่นไฟมาช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุม แกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมที่อุรุพงษ์ ได้จัดตั้งเป็น กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และการชุมนุมก็ยังยืดเยื้อต่อมา

    รายงานข่าวว่า กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองส่วน ต่างก็พยายามในการเรียกระดมมวลชนฝ่ายขวาครั้งใหญ่ในวันอาทิตย์ที่ ๑๓ ตุลาคม เพื่อจะยกระดับการต่อสู้ให้เข้มข้นมากขึ้น เพราะในวันนั้น ก็จะมีการเคลื่อนไหวประจำของกลุ่มหน้ากากขาวที่นัดรวมตัวกันหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ในที่สุด กลุ่มหน้ากากขาวก็เดินขบวนมาสมทบกับผู้ชุมนุมที่อุรุพงษ์ โดยมีคนสำคัญปรากฏตัวเข้าร่วม เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ จารุณี สุขสวัสดิ์ เช่นเดียวกับเครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย (จคป.) ก็ได้ประกาศสนับสนุนการชุมนุมประชาชนที่อุรุพงษ์ และ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็ได้ขึ้นปราศรัยบนเวที เรียกร้องให้ประชาชนทุกกลุ่มออกมาร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ครองบ้านเมืองอย่างทุจริต และเป็น”เผด็จการรัฐสภา”

    แต่ในที่สุด ความพยายามในการยกระดับก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จนถึงวันจันทร์ที่ ๑๔ ตุลาคม สถานการณ์ก็กลับคืนสู่ภาวะกระแสต่ำปกติ แม้ว่า กลุ่มกปท. และ กลุ่ม คปท. จะยังไม่สลายการชุมนุมก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มฝ่ายขวาเหล่านี้ประสบความล้มเหลว ก็คือ การไม่ได้รับการสนับสนุนจากแทบทุกภาคส่วนในสังคม ประชาขนที่เป็นกลางจำนวนมากเบื่อระอากับการชุมนุมอันเหลวไหลขององค์กรเหล่านี้ เพราะการเคลื่อนไหวทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้อคติแห่งความเกลียดชัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ แต่ประชาชนส่วนข้างมากในประเทศไทยเขาไม่ได้ร่วมแชร์อคติเช่นนี้ด้วย การเคลื่อนไหวจึงได้เหี่ยวเฉาไปทุกครั้ง



    ปัญหาที่ชัดเจนประการหนึ่งของกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายขวาทั้งหมดนี้ก็คือ การที่ไม่สามารถจะหาข้อเรียกร้องที่เป็นที่เห็นพ้องสำหรับทุกภาคส่วนของสังคมได้ หรือแม้กระทั่งการสร้างประเด็นร่วมก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เอกภาพของกลุ่มฝ่ายขวาทั้งหมดก็ไม่มี การเคลื่อนไหวทั้งหมด เป็นตามที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ประธานของกลุ่มเอเอสทีวี ผู้จัดการ ได้กล่าวไว้ในวันที่ ๑๑ ตุลาคมว่า ม็อบมางวดนี้ถึงเสียเที่ยว ยุทธวิธี ยุทธศาสตร์ผิด ทั้งที่ใจคนที่ไปชุมนุมเกินร้อยแล้ว พร้อมที่จะเสี่ยง ปัญหาคือ ทั้งการชุมนุมทั้งที่อุรุพงษ์และสวนลุมพินี ต่างก็มีประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลังทั้งนั้น “แต่ประชาธิปัตย์ไม่ออกมาเต็มตัว ให้คนออกไปตายแทนจะได้ขึ้นเสวยสุข” คุณสนธิจึงบอกประชาชนฝ่ายเหลืองว่า อย่าไปตายแทนประชาธิปัตย์ ให้รอหน่อยก็ไม่เสียหาย ถ้าสู้แล้วไม่ชนะจะออกไปทำไม

    ข้อวิเคราะห์ของนายสนธินับว่า ถูกต้อง เพราะการเคลื่อนไหวที่ดำเนินอยู่นี้ มีลักษณะอับจนในด้านยุทธวิธีที่จะสร้างผลสะเทือน แต่ปัญหาหลักคือเรื่องในทางยุทธศาสตร์ เพราะไม่สามารถเสนออย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ว่า จะล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ลงได้อย่างไร และถ้าหากล้มได้แล้ว รัฐบาลใหม่หรือคนกลุ่มใหม่ที่จะมาบริหารแทนจะมีวิธีการมาอย่างไร ถ้าจะหวังให้เกิดการล้มรัฐบาลในลักษณะเดียวกับรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ ก็คือให้ศาลยุบพรรค แล้วให้พรรคเพื่อไทยแตกโดย มี ส.ส.กลุ่มใหญ่ย้ายข้างมาสนับสนุนประชาธิปัตย์ แล้วตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคขนาดเล็กอื่นๆ ก็ไม่เห็นทางเป็นจริง หรือถ้าหากมีการล้มโดยยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ก็ไม่เห็นทางที่พรรคเพื่อไทยจะแพ้เลือกตั้ง แต่ถ้าจะล้มโดยการสนับสนุนให้กองทัพก่อการรัฐประหาร ก็กลับจะยิ่งทำให้สถานการณ์การต่อต้านอำนาจรัฐลุกลาม บ้านเมืองจะกลายเป็นทุรยุค เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนรัฐประหาร เหลือวิธีเดียวคือล้มด้วยอำนาจศาล แต่ทุกวันนี้ความเชื่อถือในศาลก็เสื่อมลงมาก การล้มโดยศาลก็ไม่ได้ใจประชาชน และไม่ได้เป็นการคลี่คลายปัญหาอะไรเลย

    ดังนั้นความพยายามในการก่อม็อบล้มรัฐบาลในวันนี้ จึงเป็นไปเพียงเพื่อสนองความสะใจของพวกเกลียดทักษิณสุดขั้วจำนวนน้อยนิด ไม่สามารถจะตอบได้เลยว่า การเคลื่อนไหวเชนนี้จะก่อให้เกิดผลดีต่อชาติบ้านเมืองอย่างไร เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาบริหารประเทศตามหลักการและกติกาประชาธิปไตย ความพยายามในการล้มรัฐบาลก่อนวาระจึงต้องล้มกติกาประชาธิปไตยลงไปด้วย การเคลื่อนไหวจึงกลายเป็นความพยายามอันเหลวไหลที่ไม่มีทางบรรลุผล



    ถ้าต้องการโค่นระบอบทักษิณและล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหลายกลับไปหาวิธีการใหม่น่าจะเป็นการดีกว่า นั่นคือ การคอยเวลาอีก ๒ ปี เพราะนี่เป็นกรอบเวลาที่กำหนดล่วงหน้าแล้วว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะหมดวาระไม่เกินเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘ และในระหว่าง ๒ ปีนี้ก็รวบรวมข้อมูลความผิดพลาดหรือความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล แล้วมานำเสนอต่อประชาชนอย่างเป็นระบบมีเหตุผล ทำสงครามต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้เป็นสงครามแห่งความรู้ พร้อมทั้งนำเสนอทางออกใหม่แก่สังคม รวมทั้งเสนอบุคคลที่เป็นทางเลือกใหม่ที่ภาพลักษณ์ดี ไม่เป็นพวกฆาตกรมือเปื้อนเลือดแล้วโกหกปลิ้นปล้อนรายวัน โอกาสที่ประชาชนจำนวนมากจะหันมาสนับสนุนก็เป็นไปได้ แล้วการเปลี่ยนแปลงประเทศก็จะเป็นไปอย่างสันติวิธีและตามกติกา

    สรุปแล้ว ถ้าจะล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แทนที่จะใช้วิธีการม็อบบังคับประชาชน ก็ใช้วิธีเคลื่อนไหวทางความคิดให้คนส่วนใหญ่เขาเห็นด้วย จะไม่ดีกว่าหรือ


    สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
    จาก โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ ๔๓๔ วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๖




++

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: แดงยึด 6 ตุลา- 14ตุลา !
ใน www.prachatai3.info/journal/2013/10/49089
. . Sat, 2013-10-05 10:51



สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 432 วันที่ 4 ตุลาคม 2556


สำนักข่าวเอเอสทีวี-ผู้จัดการเมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา ได้รายงานข่าวโดยเสนอประเด็นว่า ในการจัดงาน 40 ปี 14 ตุลาประจำปี พ.ศ.2556 นี้ มีการจัดงานเป็นสององค์กรแยกกันโดยชัดเจน คือ ฝ่ายมูลนิธิ 14 ตุลา ที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน ซึ่งจัดงานเป็นประจำอยู่ทุกปี แต่กลุ่มคนเสื้อแดงที่นำโดย จรัล ดิษฐาอภิชัย ได้ตั้งกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์” และได้จัดงานขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง และงานของฝ่ายเสื้อแดงนั้น เอเอสทีวีเห็นว่ามีปัญหา เพราะ จัดให้ “จาตุรนต์จ้อ พร้อมไฮไลต์ อำมาตย์เต้นทอล์กโชว์” ซึ่งหมายถึงรายการที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะมากล่าวปาฐกถาในงานวันที่ 13 ตุลาคม ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน และ อนาคตของประชาธิปไตย” และการที่นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะมาเดี่ยวไมโครโฟนเรื่องปัญหาการเมืองไทยปัจจุบัน ในเวลาบ่ายวันเดียวกัน

แต่ความจริง รายการที่น่าสนใจจากการจัดงานของฝ่ายกรรมการชุดจรัล ดิษฐาอภิชัย ยังมีอีก โดยเฉพาะรายการด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรายการเด่นที่ลงทุนค่อนข้างสูง รายการวัฒนธรรมนี้จะแสดงที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวลาเย็นทั้งวันที่ 6 และ วันที่ 13 ตุลาคม นั่นคือ ละครเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ของประกายไฟ ลิเกกายกรรมเรื่อง “บัลลังก์เลือด” โดย มะขามป้อม และ งิ้วธรรมศาสตร์19 เรื่อง “เปาบุ้นจิ้น ตอนสะสางคดี 6 ศพ” ซี่งแน่นอนว่า งานวัฒนธรรมเหล่านี้ก็จะสะท้อนแนวความคิดของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นสำคัญ

ส่วนมูลนิธิ 14 ตุลา ได้มีการจัดกิจกรรมหลายอย่างปูทางมาสู่กระแส 40 ปี 14 ตุลาเช่นกัน เช่น การเสนอให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รับวันที่ 14 ตุลาเป็นวันสำคัญของมหาวิทยาลัย การผลักดันให้ออกแสตมป์ที่ระลึก 40 ปี 14 ตุลา เป็นต้น แต่งานสำคัญคงอยู่ในวันที่ 14 ตุลาคม ซึ่ง ธีรยุทธ บุญมี อดีตผู้นำนักศึกษาสมัย 14 ตุลา ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ปณิธานประเทศไทย” ที่น่าสนใจคือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล รับจะมาปาฐกถาทั้ง 2 งาน คือ ในวันที่ 13 ตุลาคม จะปาฐกถาเรื่อง “เจตนารมณ์ 14 ตุลา คือ ประชาธิปไตย” ให้กับกรรมการชุดจรัล ดิษฐาอภิชัย และบ่ายวันที่ 14 ตุลา ก็จะปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความฝันเดือนตุลา 40 ปี” ที่หมุด 14 ตุลา ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายถึงว่า เสกสรรค์พยายามวางตัวเป็นกลางที่ประสานกับทั้งสองฝ่ายได้


มีคำถามที่ถามกันว่า การจัดเป็นสองงานเช่นนี้ หมายความว่าคนเดือนตุลาขัดแย้งแตกแยกกันใช่หรือไม่ หรือน่าจะมีความพยายามรวมกันเป็นงานเดียวได้หรือไม่ ต่อคำถามนี้ ต้องอธิบายก่อนว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาของสังคม คนเดือนตุลาก็ขัดแย้งกันมานานแล้ว ไม่เคยเป็นเอกภาพ และยิ่งขัดแย้งกันทางการเมืองมากยิ่งขึ้นหลังรัฐประหาร พ.ศ.2549 จึงได้สะท้อนออกมาในการจัดงานครั้งนี้

จรัล ดิษฐาอภิชัย ได้อธิบายว่า ในช่วง 7 ปีมานี้ มีความเปลี่ยนแปลงภายในคนรุ่น 14 ตุลา คนส่วนหนึ่งที่มีไม่น้อยเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองไปสนับสนุนรัฐประหาร สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ ต่อต้านการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในกลุ่มนั้นก็มีมูลนิธิ 14 ตุลา ซึ่งเป็นแกนหลักในการจัดงาน 14 ตุลาด้วย ทำให้มีอีกหลายคนโดยเฉพาะฝ่ายเสื้อแดง ไม่อยากร่วมงานกับคนที่ต่อต้านประชาธิปไตย เช่น คนเสื้อแดงคงไม่มีใครสนใจที่จะไปฟังปาฐกถาของคุณธีรยุทธ บุญมี เป็นแน่ ดังนั้น กลุ่มคณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ จึงต้องจัดงานขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้คนเสื้อแดงจำนวนมากเข้าร่วมด้วยได้

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการให้ความหมายแก่กรณี 14 ตุลา เพราะการที่คนรุ่น 14 ตุลาจำนวนมาก หันไปสนับสนุนฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย ทำให้เกิดการตีความประวัติศาสตร์ 14 ตุลาว่า ไม่ได้เป็นชัยชนะของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นชัยชนะของฝ่ายศักดินาที่ฉวยโอกาสใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ ในความเห็นของคนเสื้อแดงจำนวนมากจึงไม่ชื่นชม 14 ตุลา แต่มีความชื่นชมต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 มากกว่า เพราะรู้สึกว่าถูกปราบปรามสังหารจากต้นเหตุรายเดียวกัน ดังนั้น ฝ่ายของคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย จึงต้องการให้มีการจัดงานเพื่อรื้อฟื้นความสำคัญของประวัติศาสตร์ 14 ตุลาในฝ่ายประชาชนให้ชัดเจนขึ้น

ฝ่ายกรรมการ 14 ตุลาของคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย ยังอธิบายด้วยว่า เป้าหมายของการจัดงาน 14 ตุลา จึงมิใช่แค่การรำลึกแบบเช็งเม้ง หรือมองด้านเดียว จำเพาะเหตุการณ์เดียวอย่างที่เคยเป็นมา หากแต่จะต้องมีการตอบโจทย์ 14 ตุลา อย่างมีเหตุมีผล มีหลักการ โดยวิธีการ หรือโดยตัวบุคคลที่เคยมีประสบการณ์โดยตรง และตัวบุคคลที่มีมาตรฐานทางวิชาประวัติศาสตร์ และเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางการเมืองไทยที่สำคัญอันมีความต่อเนื่อง และส่งผลกระทบถึงกัน และไม่ควรที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะคิดผูกขาดการเป็นเจ้าของแต่กลุ่มเดียว

ด้วยเหตุผลเช่นนี้ การจัดงาน 14 ตุลาอย่างเป็นเอกภาพเพียงงานเดียว จึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด อันที่จริงตามหลักการของประชาธิปไตย ก็ยอมรับในความเป็นอิสระของความคิดที่แตกต่าง เพราะการบังคับให้คนคิดอย่างเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพนั้นคือระบอบเผด็จการ การยอมรับในความแตกต่าง และให้แต่ละฝ่ายเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมตามทิศทางของตนจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด และยังเป็นวิธีการระดมคนเข้าร่วมได้หลากหลายที่สุด


ส่วนงาน 6 ตุลาครบรอบ 37 ปีในปีนี้ คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายเดือนตุลา เป็นเจ้าภาพในการจัดด้วย ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะฝ่ายเหลืองสลิ่มส่วนมากก็ไม่จัดงานและไม่ค่อยร่วมงาน 6 ตุลามานานแล้ว จึงกลายเป็นฝ่ายคนเสื้อแดงเป็นคนจัดงานโดยปริยาย แต่ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะหันไปจัดงาน และสดุดีวีรชน 7 ตุลาแทน

สรุปแล้วเจตนารมณ์ 14 ตุลา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ได้ถูกตีความใหม่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันถึงจิตใจแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของขบวนการ 14 ตุลา เพียงแต่ว่าการตีความประชาธิปไตยในวันนี้มีความแตกต่างกัน จึงนำมาสู่การจัดงานที่แยกจากกัน ซึ่งถือได้ว่าทำให้งาน 14 ตุลาปีนี้มีความคึกคักขึ้นกว่าปีก่อนมาก

สำหรับประเด็นในทางประวัติศาสตร์ การตีความประวัติศาสตร์แตกต่างกันถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา และแสดงให้เห็นด้วยซ้ำว่า ประเด็นทางประวัติศาสตร์นั้นยังไม่ตายและยังเป็นที่สนใจ เช่นเดียวกับประเด็นประวัติศาสตร์ 14 ตุลาที่ยังคงมีความเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้



.