http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-10-16

40 ปี 14 ตุลา..สู้เพื่อเปลี่ยนอำมาตยาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

40 ปี 14 ตุลา... สู้เพื่อเปลี่ยนอำมาตยาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ
โดย มุกดา สุวรรณชาติ
คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1381855533
วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 08:36:13 น.

( ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ 11-17 ต.ค. 2556 ปี33 ฉ.1730 หน้า 20 )


พูดถึง 14 ตุลา
ต้องพูดถึงรัฐธรรมนูญ และการพัฒนาประชาธิปไตย


ประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชนะ กฎหมายเขียนโดยผู้มีอำนาจ ในยุคที่ผู้ปกครองมีอำนาจเด็ดขาด กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ล้วนอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ปกครองทั้งสิ้น ในยุคที่ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น มีเสรีภาพมากขึ้น กฎหมายก็จะให้ความยุติธรรม กับคนทุกกลุ่มทุกฝ่าย

กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการจัดระเบียบการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือรัฐธรรมนูญ

ทั้งประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้เวลาสั้นๆ งอกขึ้นมาจากดิน และก็ไม่ใช่เห็ดฟาง
ทั้งสองอย่าง จะใช้เป็นโครงสร้างส่วนหนึ่งของสังคมได้ต้องแข็งแกร่งแบบไม้ยืนต้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เวลาพัฒนา เติบโต หลายสิบปี

สำหรับประเทศไทย เรานำไม้ต้นนี้มาปลูกบนที่แห้งแล้ง ในเนื้อดินมีทั้งปุ๋ย และพิษ ต้นไม้จึงโตช้า บางช่วงก็มีคนมาตัดกิ่ง ผ่านแล้งผ่านฝนมาเยอะรอดมาถึงวันนี้ในสภาพแคระแกร็น



การพัฒนาประชาธิปไตย ต้องพัฒนาปัจจัยหลายด้าน

1. พัฒนารัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่การคิดขึ้นเองลอยๆ แต่จะใช้ได้จริงต้องสอดคล้องกับสถานการณ์การเมือง ในแต่ละช่วง และผลักดันให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ

2. พัฒนาองค์กรหลัก คือ รัฐสภา ทั้งเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อย รัฐบาล ศาล

3. พัฒนากลไกของรัฐ คือข้าราชการพลเรือนและทหาร ให้เข้ากับระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบเจ้าขุนมูลนาย

4. พัฒนาประชาชนทั้งความรู้ความคิดและและการปฏิบัติจริงคือ การปกครองท้องถิ่น

5. พัฒนาการแบ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำอย่างไรรายได้และสวัสดิการจะกระจายออก

การพัฒนาทั้ง 5 ด้านไม่เคยเกิดขึ้นพร้อมกัน ระบอบประชาธิปไตย จึงเดินไปได้ช้ามากหรือบางช่วงหยุดชะงัก ถูกทำลาย เพราะทั้ง 5 ด้าน สามารถสร้างผลด้านบวกและลบ ต่อระบบ


ลองมองย้อนดู ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะเห็นว่าแม้แต่ด้านทหารก็มีบวกมีลบ ปัจจุบัน ศาลก็สร้างผลบวกลบได้เท่ากับทหาร

กลุ่มพลังของประชาชนก็เช่นกัน ลองดูประวัติศาสตร์การพัฒนาการเมือง ก็จะพบว่าอำนาจการเมืองเป็นตัวกำหนดว่ารัฐธรรมนูญต้องเป็นอย่างไร เมื่อการต่อสู้ทางการเมืองถึงจุดสมดุลที่ก้าวหน้าขึ้น ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น การร่างรัฐธรรมนูญ ก็เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ถ้าอำนาจตกอยู่ในมือของคนเฉพาะกลุ่ม แม้แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่มี มีแต่กฎที่ผู้ปกครองสร้างขึ้นเอง


การต่อสู้เพื่อพัฒนาระบบจึงมีมาตลอด และจะยังต้องต่อสู้ไปอีกยาวนาน เป็นเหมือนโรงเรียนประชาธิปไตย



14 ปีแรกหลัง 2475
วางรากฐานสังคมใหม่ และต่อสู้กับอำนาจเก่า


24 มิถุนายน พ.ศ.2475 หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ก็มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรซึ่งมีชื่อว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ประกาศใช้ครั้งแรกใน 10 ธันวาคม พ.ศ.2475

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เขียนว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย คือ อำนาจนิติบัญญัติ ผ่านสภา อำนาจบริหาร ผ่านคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการ ผ่านศาล

แต่ปี 2476 ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ต้านประชาธิปไตย เกิดกบฏบวรเดช แต่ฝ่ายประชาธิปไตยก็ฝ่ามาได้

รัฐธรรมนูญฉบับแรกมีอายุยาวนานมากที่สุด 13 ปี กับ 5 เดือน ถูกยกเลิกเพราะมีการแก้ไขปรับปรุง เราจึงได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ชื่อว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถูกกำหนดให้ตั้งขึ้นครั้งแรกโดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ประชาธิปไตย เตาะแตะ เริ่มต้นได้เพียง 14 ปี ต้องมีการวางรากฐานของอำนาจ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และเร่งให้การศึกษาประชาชนทุกชั้นชน
ปรับระบบเศรษฐกิจ การเงิน ตั้งกระทรวง หน่วยงาน สร้างคน มารองรับสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

นับเป็นงานที่หนักมาก ใช้เวลามาก


ระบอบอำมาตยาธิปไตย
ครองอำนาจ 26 ปี


ช่วงเวลานั้นลัทธิทหารครองอำนาจกระจายไปทั่วโลก มีทั้ง เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ความคิดแบบเผด็จการ ก็มีขึ้นในผู้นำสายทหารบางคน 8 พฤศจิกายน 2490 มีการทำรัฐประหารของ พลโทผิน ชุณหะวัน ทำให้ นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีต้องหนีออกนอกประเทศ

คณะรัฐประหารได้เชิญ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นหัวหน้าคณะซึ่ง จอมพล ป. ได้แสดงให้ประชาชนเห็นว่าไม่ต้องการอำนาจจึงเชิญ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นนายกฯ ชั่วคราว

มีการนำธรรมนูญการปกครองชั่วคราวมาใช้แทนซึ่งเปิดโอกาสให้แต่งตั้งทหารและข้าราชการเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ และมีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

รัฐบาลนายควงจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ใน 29 มกราคม พ.ศ.2491 พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งแต่ได้เป็นรัฐบาลอยู่ถึงแค่วันที่ 6 เมษายน ก็ถูกทวงอำนาจคืน นายควงลาออก (รวมเวลาเป็นนายกฯ ตัวแทน หลังรัฐประหาร 5 เดือนกว่า) จอมพล ป. เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนอย่างถาวรนานเกือบ 10 ปี

บางคนเรียกว่าเป็นระบอบอำมาตยาธิปไตยไม่เต็มใบ


วงจรอุบาทว์คงจะเริ่ม ณ จุดนี้ รัฐประหารปี พ.ศ.2490 ล้มรัฐบาล ฉีกรัฐธรรมนูญ ใช้รัฐธรรมนูญใหม่ เลือกตั้งใหม่ ได้รัฐบาลแล้วก็รัฐประหารอีก ในที่สุด จอมพล ป. ก็ถูก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหาร จอมพล ป. ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ


การปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ 16 กันยายน พ.ศ.2500 อำนาจเป็นของฝ่ายเผด็จการอย่างแท้จริง ระบอบการปกครองเป็นอำมาตยาธิปไตยเต็มใบ

ยกเลิกรัฐธรรมนูญ, ยุบสภา, ยุบพรรคการเมือง, และประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ ฝ่ายก้าวหน้าถูกจับกุมคุมขังเป็นจำนวนมาก

ธันวาคม พ.ศ.2506 จอมพลสฤษดิ์ ก็ป่วยและเสียชีวิตลง จอมพลถนอม กิตติขจร รับตำแหน่งนายกฯ ต่อ ร่างรัฐธรรมนูญต่ออย่างช้าๆ...กว่าจะประกาศใช้ ก็... 10 มิถุนายน 2511 ใช้เวลาร่าง 9 ปี กับ 4 เดือน เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ 8

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้าม ส.ส. เป็นรัฐมนตรี วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งทั้งหมดและจะมาจากข้าราชการก็ได้ มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 จอมพลถนอมได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี พอถึงปี 2514 กลุ่ม ส.ส. ได้ขอแก้รัฐธรรมนูญ ลดอำนาจวุฒิสภาลง ให้แยกข้าราชการการเมืองออกจากข้าราชการประจำ ให้ ส.ส. เป็นรัฐมนตรีได้ และมีปัญหาขัดแย้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณ

แต่คนเคยชินกับอำนาจเผด็จการ ทนฟังสียงคนอื่นไม่ได้ 17 พฤศจิกายน 2514 นายกรัฐมนตรีถนอมแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการปฏิวัติตัวเอง ยุบสภาทิ้งไปเลย แล้วตั้ง "สภาบริหารคณะปฏิวัติ" ขึ้นมาแทน จากนั้นก็ใช้อำนาจเผด็จการเช่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ ออกประกาศคณะปฏิวัติใช้แทนกฎหมายมากกว่า 400 ฉบับ เป็น 16 ปีที่ไม่มีการพัฒนาประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเลย

ใน 40 ปีแรก ชาวไทยมีโอกาสใช้และพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไม่ถึง 20 ปี นอกนั้นตกอยู่ในอำนาจอำมาตย์




14 ตุลาคม สามัคคีทุกฝ่าย ขับไล่อำมาตย์

การใช้อำนาจในระบอบอำมาตยาธิปไตยช่วง 10 ปีหลัง ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาของโลกและประเทศไทยที่เปลี่ยนไป การต่อต้านจึงเริ่มขึ้น จากกลุ่มปัญญาชน เสรีชน และฝ่ายซ้ายบางกลุ่ม การกระจายความคิดต่อต้าน จึงค่อยๆ แพร่ออกไป...

ตื่นเถิดเสรีชน
อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน
ดาบหอกกระบอกปืน
ฤๅทนคลื่นกระแสเรา

5-14 ตุลาคม พ.ศ.2516 มีการต่อต้านระบอบอำมาตย์ของกลุ่มถนอม-ประภาสโดยขบวนการนักศึกษาประชาชนจนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ขึ้น


จอมพลถนอมและจอมพลประภาสไม่รู้ว่า 5 ปี หลังสถานการณ์ ได้สุกงอมแล้ว การยอมให้เลือกตั้งในปี 2512 แล้วมารัฐประหารตัวเอง ในปี

2514 เป็นการท้าทายประชาชนว่า เขาจะทำอย่างนี้ ประชาชนมีปัญหาหรือไม่ สร้างความไม่พอใจในวงกว้าง และเป็นความไม่พอใจของ ส.ส. ทุกจังหวัด

กระแสความไม่พอใจถูกกดไว้ แต่ในกลุ่มปัญญาชนกั้นไม่อยู่ ในที่สุดรอยรั่วจากกลุ่มปัญญาชนก็ขยายตัวออก แม้เป็นรอยรั่วไม่ใหญ่มากแต่เป็นรอยรั่วบนสันเขื่อนที่มีน้ำเต็ม

พอเห็นเขื่อนร้าวก็สายไปแล้ว นักการเมือง ชนชั้นสูงและนายทุนกลุ่มอื่น กลุ่มทหารอื่น ก็ทุบเขื่อนทันที กระแสความไม่พอใจ ไหลทะลักเข้าพุ่งเข้าใส่ กลุ่มอำมาตย์ แต่สามารถทำลายไปแค่ปลายยอด โครงสร้างของระบอบอำมาตยาธิปไตยยังอยู่ แต่รากฐานบนพื้นดินก็เริ่มคลอนแคลนแล้ว เพราะผืนดินไม่แน่นเหมือนเก่า

สองจอมพล ถูกกลุ่มอำนาจอื่นฉวยโอกาส ขับไล่ออกจากประเทศไทย การต่อสู้ครั้งนั้นกลุ่มชนชั้นปกครองใหม่อาศัยพลังนักศึกษาประชาชนเป็นกำลังหลัก เข้ายึดอำนาจ และแย่งผลประโยชน์ จากผู้ปกครองเก่า 7 ตุลาคม พ.ศ.2517 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ที่เป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ มีการแต่งตั้ง ส.ว.ได้ 100 คน แต่ข้าราชการมาเป็น ส.ว. ไม่ได้ ตอนนั้นมีคนค้านการแต่งตั้ง ส.ว. น้อยมาก

มีการเลือกตั้งในเดือนมกราคม พ.ศ.2518 ได้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมเป็นนายกฯ แต่อยู่ได้ไม่ถึงปีก็ยุบสภา เลือกตั้งใหม่เดือนเมษายน 2519 ได้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ได้เพียง 6 เดือนก็ถูกรัฐประหาร

การรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 มีการปราบอย่างรุนแรงทำให้นักศึกษาเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และส่วนหนึ่งได้หนีเข้าป่า ใช้วิธีติดอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล ประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่ต่อสู้เอาชีวิตแลกมา จบลงในเวลาไม่ถึง 3 ปี


จากอำมาตยาธิปไตย
ทำได้แค่เป็น ประชาธิปไตยครึ่งใบ


หลังรัฐประหาร 6 ตุลาคมใหม่ๆ หลายคนยังงง ว่าการปกครองจะไปทางไหน ระบอบอำมาตยาธิปไตยจะเดินหน้าต่อ หรือจะเป็นสมบูรณาญาธิปไตย

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหาร และใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2519 ที่มีเพียง 29 มาตรา แผนแช่แข็งประเทศไทยมีตั้งแต่ครั้งนั้น กำหนดไว้นานถึง 12 ปี

แต่อยู่ได้เพียง 1 ปีก็ถูกรัฐประหาร พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ ไปเป็นองคมนตรี เพื่อลดแรงกดดันจากในและนอกประเทศ มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 และประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 แต่มีวุฒิสภาแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจ ถึง 3 ใน 4 ของจำนวน ส.ส. และใช้การเลือกตั้งปี 2522 แปลงร่างให้เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ

พลเอกเกรียงศักดิ์เป็นนายกฯ ในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบที่มีเสียงสนับสนุนของ ส.ส. จากพรรคการเมืองและ ส.ว. แต่งตั้ง ไปจนถึง 29 กุมภาพันธ์ 2523 ก็ถูกบีบให้ลาออกกลางสภา

จากนั้นพลเอกเปรมก็เป็นนายกฯ ต่อ โดยอาศัยนักการเมืองกลุ่มเดิม พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ อยู่หลายสมัยนานถึง 8 ปี 5 เดือนโดยไม่เคยลงเลือกตั้ง และไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยครึ่งใบไม่ได้กำหนดให้นายกฯ จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2531 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยขณะนั้น ได้รับตำแหน่งนายกฯ จนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ก็ถูกคณะ รสช. ทำการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 จึงสิ้นสุดลง โดยมีโอกาสใช้นานถึง 12 ปี 2 เดือน

มีผู้วิจารณ์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ได้ยาวเพราะเป็นแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นนักการเมืองเข้ามามีส่วนในอำนาจได้ง่ายโดยไม่ต้องทำการรัฐประหาร


การดิ้นรนต่อสู้ให้พ้นจาก ระบอบอำมาตย์ ที่เริ่มนับจาก 14 ตุลาคม 2516 ได้นำประชาชนก้าวเข้าไปอยู่ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบนานถึง 19 ปี อย่าคิดว่าไม่ได้อะไรเลย เพราะถ้าสังเกตดูรัฐธรรมนูญก็จะเห็นว่าปรับเปลี่ยนไปตามสมดุลของอำนาจ

แต่ที่ผ่านมาไม่ว่ายุคไหน ส.ว. ก็ต้องมาจากการแต่งตั้ง แต่สมัยนั้น ส.ว. ก็ไม่มีอำนาจแอบแฝงไปตั้งองค์กรอิสระมาชี้เป็นชี้ตายทางการเมือง



ที่พูดมาทั้งหมด ยังมิได้กล่าวถึง ปัจจัย ข้อที่ 5 การพัฒนาการแบ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงขออนุญาตแนะนำให้ไปอ่านบทความ เรื่อง...กระฎุมพีสมัยใหม่ หลัง 14 ตุลาคม...ของ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งได้แจกแจงความสัมพันธ์ของทุนกับการเมือง ก่อน-หลัง14 ตุลาคม และหลังวิกฤติลดค่าเงินบาท 2540 ในหนังสือเล่มใหญ่ชื่อ ... ย้ำยุค รุกสมัย...ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในงาน เฉลิมฉลอง 40 ปี 14 ตุลาคม (น่าจะแจกในงานวันที่ 13 ตุลาคม)

ที่จริงการพัฒนาประชาธิปไตย แบบเต็มใบ เริ่มเดินได้ดีหลังจากพฤษภาทมิฬ 2535 แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่เชื่อว่าโลกแบนมาขัดขวาง ซึ่งจะพูดถึงในตอนต่อไป ว่าจะเปลี่ยนประเทศเป็นอะไรกันแน่?

ฉบับนี้ขอจบด้วย กลอน จาก "งิ้วธรรมศาสตร์ 19" เรื่อง เปาบุ้นจิ้น ตอน สะสางคดี 6 ศพ ซึ่งจะแสดงที่หอประชุม ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ค่ำวันที่ 13 ตุลาคมนี้

แผ่นดินใด ไร้สิ้น ยุติธรรม

ความมืดดำ ย่อมงำแฝง ทุกแห่งหน

ย่อมไม่ผิด ขุมนรก หมกมืดมน

ใครยอมทน ย่อมเขลาโง่ กว่า โค ควาย




.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย