http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-10-06

6 ตุลา “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”.!.โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

.

6 ตุลา “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ..
โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

ใน www.prachatai3.info/journal/2013/10/49085 . . Fri, 2013-10-04 23:09
( ภาพจาก  สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
facebook Notes: "จตุรัส"  ฉบับสัมภาษณ์ประวัติศาสตร์ กิตติวุทโฒ )



สุรพศ ทวีศักดิ์
เผยแพร่ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข” (5-12 ตุลาคม 2556)



วิกิพีเดียบันทึกประวัติของ กิตติวุฑโฒ ภิกขุ ไว้ตอนหนึ่งว่า ช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา เคยกล่าวว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ ไม่บาป” ซึ่งถูกฝ่ายขวา อันได้แก่นวพล กลุ่มกระทิงแดงในสมัยนั้นนำไปใช้เป็นวาทกรรมโจมตีฝ่ายซ้าย และยุยงให้คนไทยเกลียดชังนิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมต่อต้านการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจรในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำไปสู่การสังหารหมู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

กิตติวุฑโฒ ได้ตีความพุทธศาสนาสนับสนุนความรุนแรงในนามของการปกป้องอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ผ่านคำให้สัมภาษณ์นิตยสารจตุรัส ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2519 ไว้ดังนี้

จตุรัส : การฆ่าฝ่ายซ้าย หรือคอมมิวนิสต์บาปไหม

กิตฺติวุฑฺโฒ: อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ชื่อว่าถือเป็นการฆ่าคน เพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นั้นไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจ (ว่า) เราไม่ได้ฆ่าคนแต่ฆ่ามารซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน

จตุรัส : ผิดศีลไหม

กิตติวุฑโฒ : ผิดน่ะมันผิดแน่ แต่ว่ามันผิดน้อย ถูกมากกว่า ไอ้การฆ่าคนคนหนึ่งเพื่อรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้ ไอ้สิ่งที่เรารักษาปกป้องไว้มันถูกต้องมากกว่า แล้วจิตใจของทหารที่ทำหน้าที่อย่างนี้ไม่ได้มุ่งฆ่าคนหรอก เจตนาที่มุ่งไว้เดิมคือมุ่งรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้ การที่เขาอุทิศชีวิตไปรักษาสิ่งดังกล่าวนี้ก็ถือว่าเป็นบุญกุศล ถึงแม้จะฆ่าคนก็บาปเล็กน้อย แต่บุญกุศลได้มากกว่าเหมือนเราฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ ไอ้บาปมันก็มีหรอกที่ฆ่าปลา แต่เราใส่บาตรพระได้บุญมากกว่า

จตุรัส : ฝ่ายซ้ายที่ตายหลายคนในช่วงนี้ คนฆ่าก็ได้บุญ

กิตติวุฑโฒ : ถ้าหากฆ่าคนที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แล้วก็ได้ประโยชน์

จตุรัส : คนฆ่าฝ่ายซ้ายที่ไม่ถูกจับมาลงโทษ ก็เพราะบุญกุศลช่วย

กิตติวุฑโฒ : อาจจะเป็นได้ ด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติ (หัวเราะ)



ธรรมชาติของรัฐย่อมผูกขาดการใช้ความรุนแรงหรืออ้างสิทธิอันชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงปกป้องความมั่นคงของตัวรัฐเองอยู่แล้ว โดยใช้กลไกต่างๆ เช่น กฎหมาย กองทัพ ตำรวจ ศาล คุก การลงโทษในรูปแบบต่างๆ ในรัฐราชาธิปไตยแบบโบราณ พุทธะเข้าใจถึงปัญหาความรุนแรงโดยรัฐ จึงสอนคุณธรรมต่างๆ เช่นทศพิธราชธรรมเพื่อป้องกันไม่ใช้ผู้ปกครองลุแก่อำนาจใช้ความรุนแรงกดขี่เบียนเบียนราษฎร หากผู้ปกครองขาดคุณธรรมบ้านเมืองย่อมเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ดังแม้สมัยอยุธยาก็มีการอ้างอิงคุณธรรมกำกับการใช้อำนาจตามอำเภอใจของชนชั้นปกครองผ่านวรรณกรรม เช่น “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” (รักษารูปศัพท์ตามต้นเดิม) ที่ว่า

คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย

จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น

ด้วยพระมหากระษัตรมิได้ทรงทศพิตราชธรรม์

จึงเกิดเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ

คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพด

อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทีศาน

มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาล

เกิดนิมิตพิสดารทุกบ้านเมือง

พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก

อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง

ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง

ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ไพร...

กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย

น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม


เพลงยาวนี้พยากรณ์ถึง “กลียุค” และความล่มสลายของรัฐราชาธิปไตยที่ “พระมหากระษัตริย์มิได้ทรงทศพิศราชธรรม” เนื่องจากกษัตริย์คือรัฐหรือเป็นองรัฏฐาธิปัตย์ แต่รัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้นรัฐคือประชาชน เนื่องจากประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจร่วมกัน หรือเป็นหุ้นส่วนร่วมกันในรัฐ ความมั่นคงของรัฐประชาธิปไตยจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณธรรมของชนชั้นปกครอง หากแต่ขึ้นอยู่กับ “ระบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย” คือ มีกติกาที่ free and fair แก่ประชาชนทุกคนที่เป็นหุ้นส่วนของรัฐ หรือมีระบบนิติรัฐที่รับรองสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานและความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์

แต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทย (อย่างน้อย) ตั้งแต่การปฏิวัติสยาม 2475 เป็นต้นมาคือประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่าง “อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” (ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่สถาปนาขึ้นในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์) กับ “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” ซึ่งสะท้อนว่าการปฏิวัติประชาธิปไตยไม่ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ตั้งแต่ 2475 การปฏิวัติยังต้องเดินทางต่อจนกว่าประชาชนไทยจะสามารถสร้างกติกาการปกครองที่ free and fair หรือมีระบบนิติรัฐที่รับรองสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานและความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ตามหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

แม้จะเป็นความจริงว่า ประวัติศาสตร์การนองเลือด 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, พฤษภา 35 และพฤษภา 53 ฝ่ายที่อ้างอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ (ที่ไม่มี “ประชาชน”) ยังเป็นฝ่ายผูกขาดการใช้ความรุนแรงปราบปรามนักศึกษาและประชาชนที่ยืนยันอุดมการณ์ประชาธิปไตยตลอดมา แต่บริบทโลกเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ผู้คนในสังคมไทยก็หูตาสว่างมากขึ้นเกินกว่าจะยอมถูกครอบงำโดยระบบเก่าได้ตลอดไป

พระสงฆ์และพุทธศาสนาที่เป็นเครื่องมือของระบบเก่าครอบงำประชาชน และสนับสนุนการใช้ความรุนแรงปกป้องอุดมการณ์ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ก็นับวันจะถูกตั้งคำถามและถูกท้าทายมากขึ้น

หากสังคมไม่สามารถหา “ข้อสรุปร่วมกัน” ได้ในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับโลกประชาธิปไตย ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะมั่นใจได้ว่าประวัติศาสตร์ความรุนแรงจะไม่เกิดซ้ำรอยอีก



.