http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-17

Mary and Max, ดาวถึงดาว ถึงประดับยศ โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

.
บทแนะนำของปี 2554

Mary and Max หนังดีที่พ่อแม่ควรนั่งดูด้วย
โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์  คอลัมน์ การ์ตูนที่รัก
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1622 หน้า 70


ดีวีดีการ์ตูนเรื่องใหม่แถมดินน้ำมันให้ด้วย เป็นการ์ตูนดินน้ำมันเรื่อง Mary and Max ให้ชื่อภาษาไทยว่า เด็กหญิงแมรีกับเพื่อนซี้ช็อคโก้-แม็กซ์
ผลงานปี 2009 ของผู้กำกับฯ Adam Elliot เจ้าของรางวัลออสการ์การ์ตูนสั้นยอดเยี่ยมปี 2003 จากเรื่อง Harvie Krumpet แมรีกับแม็กซ์เป็นหนังฉายในคืนเปิดเทศกาลหนังซันแดนซ์ปี 2009 ได้รับรางวัลแอนเน็กคีคริสตัลจากเทศกาลหนังการ์ตูนแอนเน็กคี และได้รับรางวัลหนังการ์ตูนยอดเยี่ยมจากเทศกาลประกวดการ์ตูนนานาชาติออตตาวาปีเดียวกัน

สมมติเหตุการณ์ในปี 1976 เด็กหญิงอายุแปดขวบชื่อ แมรี เดซี ดิงเกิล (ให้เสียงโดย โทนี คอลเล็ตต์) อาศัยอยู่ในเมืองเมาต์เวเวอร์ลี ประเทศออสเตรเลีย เธอเป็นเด็กขี้อาย ยากจน หน้าตกกระ เฉิ่มเชยและถูกเพื่อนแกล้งเสมอๆ 
พ่อเป็นคนงานในโรงงานมีงานอดิเรกสตั๊ฟฟ์นกสยองขวัญ ไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับเธอเท่าไร 
แมรีมีแม่ขี้เหล้า ขี้ขโมย สูบบุหรี่ตะ-หลอดและเฝ้าบอกเธอเสมอว่าพวกเราแค่ "ขอยืม" ของใช้จากซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้นเอง 
มีเพื่อนบ้านตรงข้ามเป็นชายชราทหารผ่านศึกขาด้วนสองข้างนั่งล้อเข็นและไม่กล้าออกจากบ้านไปไหน


วันหนึ่ง แมรีเลือกชื่อหนึ่งขึ้นมาจากสมุดโทรศัพท์เพื่อเขียนจดหมายไปหา เขาชื่อ แม็กซ์ เจอร์รี โฮโรวิตซ์ (ให้เสียงโดย ฟิลลิป ซีมัวร์ ฮอฟแมนน์) แม็กซ์เป็นยิว อาศัยอยู่ในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ยุคสมัยที่ตึกเวิลด์เทรดยังปรากฏให้เห็น (หลายฉากในหนัง) 
ตอนที่แมรีเขียนจดหมายหาเขาครั้งแรกเขาอายุสี่สิบแปดปี อยู่คนเดียว อยู่เดียวดาย ไปเข้ากลุ่มบำบัดลดความอ้วน มีอาการจะสติแตกสั่นเป็นเจ้าเข้าและหายใจไม่ออกเวลาวิตกกังวลแม้เพียงเล็กน้อย 
แมรีเขียนไป แม็กซ์เขียนตอบ หนังช่วงแรกเป็นช่วงสร้างสัมพันธภาพ แมรีถูกสอนมาว่าทารกเกิดจากกระป๋องเบียร์ เธอจึงถามแม็กซ์ว่าทารกในอเมริกาเกิดจากอะไร แม็กซ์ตอบคำถามนี้อย่างตั้งใจทีละข้อๆ กรุณาไปหาคำตอบเอาเอง คริคริ 
ระหว่างนี้หนังจะเปิดเผยให้เห็นนิสัยของทั้งสองคนที่คล้ายๆ กันคือชอบนมข้นหวานและช็อกโกแลต 
หากไม่นับความไม่สมจริงที่ว่าคนยากจนทั้งสองส่งจดหมาย ช็อกโกแลต รวมทั้งพัสดุภัณฑ์ต่างๆ ข้ามทวีปกันได้อย่างไร เนื้อเรื่องและเนื้อหาที่เหลือเรียกได้ว่าตรึงความสนใจลุกไปไหนไม่ได้เลย


เข้าสู่ช่วงกลางของตัวหนัง เป็นที่ทำนายได้ว่าแมรีชวนคุยเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้นทุกทีตามอายุของเธอที่เพิ่มขึ้น ไม่พ้นเรื่องความรักและเพศสัมพันธ์ ในตอนแรกแม็กซ์ไม่เพียงสามารถบอกได้ว่าทารกในอเมริกามาจากไหน เขายังเล่าเรื่องที่ถูกสุภาพสตรีร่วมกลุ่มบำบัดโรคอ้วนระดมจูบในลิฟต์ได้ด้วย 
แต่เมื่อแมรีเริ่มรุกความเป็นส่วนตัวด้วยเรื่องส่วนตัวของเธอ จากเรื่องความรักจนถึงเรื่องเพศ แม็กซ์ก็ถึงจุดสติแตกเข้าโรงพยาบาลโรคจิตไปเลย ก่อนหน้านี้เราจะเห็นเขาออกอาการเป็นฟืนเป็นไฟกับพฤติกรรมทิ้งก้นบุหรี่ลงพื้นไม่เลือกที่ทางของคนนิวยอร์กเสมอๆ 
ช่วงที่แม็กซ์เข้าโรงพยาบาล ทั้งสองขาดการติดต่อกันนาน เหตุการณ์ชักนำให้ทั้งสองเริ่มเขียนจดหมายหากันอีก แม็กซ์สารภาพกับแมรีว่าเขาป่วยด้วยโรคแอสเปอร์เกอร์ (Asperger"s Syndrome) ซึ่งเป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กทำให้เขามีปัญหาเรื่องการแสดงออกทางอารมณ์ การตีความสีหน้าของคนอื่น และการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คน 
แม็กซ์เล่าเรื่องแอสเปอร์เกอร์ทีละข้ออย่างง่ายๆ และน่าสนใจ ที่จริงแล้วเขาพกสมุดโน้ตคู่มือตีความสีหน้าผู้คนติดตัวไว้เสมอ (แล้วเอาออกมาดูเมื่อไม่เข้าใจว่าเวลาใครทำหน้าแบบไหนแปลว่าอะไร) 
แม็กซ์เล่าในจดหมายด้วยว่าเขาซื้อลอตเตอรี่เลขเดิมตลอดชีวิตโดยไม่เคยถูกเลย 
วันหนึ่งเขาถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งจึงนำเงินไปซื้อช็อกโกแลตเต็มบ้าน เงินที่เหลือยกให้หญิงชราเพื่อนบ้านที่นำเงินไปใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงถึงตายในที่สุด 

ระหว่างนี้แมรีเข้ามหาวิทยาลัย พ่อตาย แม่ตายตาม เธอแต่งงาน เธอเลือกเรียนวิชาจิตวิทยาและทำวิทยานิพนธ์เรื่องโรคแอสเปอร์เกอร์จนกระทั่งได้รับคำชื่นชมว่านี่คือวิทยานิพนธ์โรคแอสเปอร์เกอร์ที่ดีที่สุด มีสำนักพิมพ์จัดพิมพ์เป็นหนังสือจำหน่าย   
ด้วยความภูมิใจล้นเหลือแมรีส่งหนังสือหนึ่งเล่มให้แม็กซ์พร้อมทั้งบอกว่าจะไปหาเขาที่อเมริกา 
ระหว่างนี้แมรีคึกคักกับความสำเร็จของตนเอง มีความมั่นใจและชีวิตเซ็กซ์เกินพอ


เข้าสู่ช่วงที่สามของหนัง แม็กซ์โกรธมากเมื่อได้รับหนังสือ เขาหักตัวพิมพ์ M จากแป้นพิมพ์ดีดส่งให้เธอเป็นการตัดสัมพันธ์ 
เมื่อแมรีสูญเสียเพื่อนคนเดียวในชีวิต เธอจมดิ่งลงสู่ภาวะซึมเศร้าและดื่มเหล้า 
สามีของเธอ (ให้เสียงโดย อิริก บานา) หนีไปอยู่กินกับเพื่อนทางจดหมายที่เป็นเกย์ในนิวซีแลนด์ (ทั้งสอง "เลี้ยง" แกะ) 
วันหนึ่งแมรีขึ้นยืนบนเก้าอี้ มัดเชือกกับขื่อแล้วทำบ่วงคล้องคอ เธอไม่รู้ว่าเธอตั้งครรภ์แล้ว
จากตรงนี้ไป ไม่บอกตอนจบครับ



จะเห็นว่านี่คือหนังการ์ตูนตลกร้ายสำหรับให้ใครดูก็ไม่รู้ ที่แน่ๆ น่าจะไม่ใช่ให้เด็กดู การแถมดินน้ำมันมากับกล่องดีวีดีคงทำให้พ่อแม่ประเทศไทยหลายบ้านซื้อให้เด็กเล็กดูด้วยความสบายใจ หลังกล่องเขียนว่าเรต ท ทั่วไป ในต่างประเทศได้เรต PG ซึ่งผู้ปกครองควรแนะนำ 
หนังมิได้แค่เล่าเรื่องเด็กเล็กและคนแก่คุยกัน หนังเล่าเรื่องเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้า (Depression) ที่เมื่อถึงวัยสาวเธอเป็นโรคอารมณ์แปรปวน (Bipolar disorder) ซึ่งมีแม่เป็นผู้ป่วยติดเหล้า (Alcoholism) และโรคลักขโมย (Kleptomania) มีเพื่อนบ้านเป็นโรคกลัวที่โล่ง (Agoraphobia) แต่งงานกับเกย์ (homosexual) ที่อาจจะมีพฤติกรรมร่วมเพศกับสัตว์ (Zoophilia) เขียนจดหมายพูดคุยและเป็นเพื่อนกับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคแอสเปอร์เกอร์ (Asperger"s Syndrome) ที่มีอาการวิตกกังวลขั้นรุนแรง (Anxiety and Panic Attack) ร่วมกับโรคอ้วน (Overeating and Obesity) และบางครั้งมีอาการย้ำคิดย้ำทำ (Obsssesion and Compulsion) กับก้นบุหรี่ถึงขั้นทำร้ายคน ทั้งนี้ ยังไม่นับว่าเขาหลุดโลกอย่างสิ้นเชิงกลายเป็นผู้ป่วยโรคจิต (Psychosis) เข้าโรงพยาบาลอีกด้วย นับวงเล็บความผิดปกติทางจิตได้ครบโหลพอดี

ดูเถอะครับ รับรองได้ว่ากว่าหนังจะจบ ทั้งความคิดและอารมณ์จะบรรเจิด 
ตอนต้นเรื่องเขียนว่า "สร้างจากเรื่องจริง" จริงมั้ยก็ไม่รู้ 
การได้เรต PG ยังเบาไป มีฉากสูบบุหรี่จำนวนมากและปลาทอง "ตาย" หฤโหดอีกหลายตัว

หนังฉายเฉพาะในออสเตรเลียและตามเทศกาลหนัง ไม่ได้ฉายในโรงหนังของสหรัฐอเมริกาหรือที่อื่นใด ของเรามีคนสั่งเข้ามาทำดีวีดีให้ดูกัน ขอบคุณมั่กๆ



++

ดาวถึงดาว ถึงประดับยศ
โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์  คอลัมน์ การ์ตูนที่รัก
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1670 หน้า 60


ดาวถึงดาว (Map of the Heaven) ผลงานของ ไตรภัค สุภวัฒนา (Puck) ปี พ.ศ.2551 สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก
งานของไตรภัคมีความโดดเด่นที่ลายเส้นและเนื้อหาที่หนักหน่วง กล่าวเฉพาะลายเส้นเป็นลายเส้นประเภทรบกวนใจให้ต้องอ่านต่อไปเรื่อยๆ
หน้าปกดาวถึงดาวเป็นพื้นสีครีม มีวงแหวนสีน้ำเงินวางอยู่ตรงกลางเสมือนเจาะช่องออกไปสู่ดวงดาวในอวกาศ 
ด้านบนเป็นรูปเด็กที่มีทรงผมสามเหลี่ยมอุบาทว์ตาในครอบแก้วกักอากาศรูปสี่เหลี่ยมไม่เข้ากันกับชุดอวกาศรูปทรงกลมสีแดง มือใหญ่เท้าเล็กสีแดงไม่ไปด้วยกันกับสีพื้น 
เมื่อวนตามเข็มนาฬิกาจะพบกระป๋องขนมเปิดฝาแล้วทำให้ขนมลอยออกมาในสุญญากาศเพิ่มความเกะกะลูกนัยน์ตา
ถัดไปเป็นหุ่นกระป๋องทาลิปสติกแดงจึงน่าจะเป็นเพศเมีย
ถัดไปอีกเป็นกระป๋องน้ำอัดลมที่เปิดแล้วกับเศษกระดาษสองแผ่น ดินสอ สมุดโน้ต ถ้วยกาแฟ และจรวดหนึ่งลำ จากนั้นเป็นหุ่นกระป๋องลอยกลับหัว หุ่นกระป๋องมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมหลายชิ้นมาต่อกันเหมือนหุ่นราคาถูกสมัยย้อนยุค มีกระดาษโพสต์อิตแปะไว้บนตัวหุ่นสามแผ่นและเป็นที่น่าสังเกตว่ามีสายจุ๊บยื่นออกมาคล้ายหางด้วย
สูงขึ้นไปจึงเป็นหุ่นกลมเล็กตาเดียวและปืนแสงพร้อมสายฟ้าสีเหลืองพาดกลาง

เมื่อพลิกดูปกหลังเราจะพบจรวดกำลังพุ่งลงล่างแทนที่จะขึ้นบน  
ไตรภัคขยันวาดหน้าปก นักอ่านก็ควรขยันพินิจ



เด็กทรงผมสามเหลี่ยมคือเด็กชายสุดเขต เขาชอบนับดาว วันหนึ่งมนุษย์ต่างดาวมาเยือนโลกและมอบยานอวกาศให้เขาหนึ่งลำ สุดเขตจึงจัดของขึ้นยานเดินทางสู่อวกาศ 
"การออกไปจากบ้านของฉันไม่นับเป็นการหนีออกจากบ้านนะเพราะว่าการหนีต้องมีคนตามแต่ฉันไม่" คำพูดเดียวบอกข่าวสารมากมาย
สุดเขตเดินทางกับหุ่นยนต์สองตัวคืออาร์จีและอาร์วาย เขาขัดแย้งกับอาร์จีตั้งแต่แรกจนกระทั่งอาร์จีต้องพูดว่า "นายไม่เข้าใจพวกเรา เมื่อไม่เข้าใจกันก็คงไปด้วยกันไม่ได้ ไปกันเถอะอาร์วาย" 
เมื่อสุดเขตถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวในอวกาศเขาจึงคิดได้ถึงพฤติกรรมของตัวเองในอดีต คิดถึงเสียงเพื่อนๆ ในห้องเรียนที่เคยพูดถึงเขา "ปล่อยให้ไอ้คนถูกมันอยู่ไป" "อยู่ไปคนเดียวเถอะ" "ว่าไง นายถูกตลอด" "นายเคยผิดที่ไหนล่ะ" 
สุดเขตเข้าใจแล้วทำไมเขาจึงต้องอยู่คนเดียวเสมอมา 
สุดเขต อาร์จี อาร์วาย ผจญภัยไปดาวแปลกประหลาด ดาวดวงหนึ่งมีประชากรล้นเกินจนกระทั่งไหล่ชนไหล่แน่นเอี้ยดไปทั่วทั้งผิวดาว 
"พวกเขาอึดอัดเพราะอยู่ในพื้นที่จำกัด พวกเขาอึดอัดเพราะอยู่ในความคิดจำกัด พวกเขาอึดอัดเพราะไม่คิดกำจัดสิ่งอึดอัดเหล่านั้น จะหายอึดอัดต้องคิดกำจัดสิ่งอึดอัดไป"
เป็นคำสอนเรื่องความอึดอัดที่อ่านแล้วอึดอัดมากเพราะใช้คำว่าอึดอัดถึงหกตำแหน่ง นี่หากขจัดคำว่าอึดอัดออกไปเสียบ้างคงหายอึดอัดมิใช่น้อย

ว่าแล้วสุดเขตจึงให้มนุษย์ดาวอึดอัดทั้งหลายที่ "นั่ง" เบียดเสียดกันอึดอัดลุกขึ้น "ยืน" ให้หมดทั้งดวงดาว "แค่พวกนายยืนขึ้นเท่านั้น อย่ามัวแต่นั่งเฉย แค่ทำอะไรบ้าง" เพียงเท่านี้ก็เกิดที่ว่างขึ้นอีกมากมาย 
สุดเขตเดินทางไกล ในที่สุด "นี่ความน่าเบื่อตามฉันออกมานอกโลกเชียวหรือ" แล้วก็ถึงเวลา "กลับบ้านกันเถอะ"  
มีเนื้อหาให้ค้นในหนังสือเล่มนี้มากกว่าที่เล่ามา ส่วนใหญ่เป็นประเด็นของเด็กๆ สมกับเป็นหนังสือของมูลนิธิเด็ก



นายสมองกับหนูหัวใจ เล่มสอง เป็นผลงานปี พ.ศ.2552 ของ LET"s comic โครงเรื่องง่ายๆ เกี่ยวกับนักแก้ปัญหาด้วยสมองที่น่าจะมีหัวใจอยู่เคียงข้าง โครงเรื่องง่ายแต่เนื้อเรื่องไม่ง่าย เต็มไปด้วยตัวละครมากมายที่มีดีไซน์เพี้ยนๆ เนื้อหายากกว่าเล่มแรกแต่ก็ยังไม่อาจเรียกว่าดาร์ก
หน้าปกเป็นพื้นสีครีมมีกระดาษหลายแผ่นมาเหน็บติดกันได้รูปหนูหัวใจสีแดงปุปะ 
บนพื้นนั้นเองมีนายกรีนฟร็อกไฟต์หรือกบเขียวยอดนักสู้คอยพริ้นต์กระดาษสีแดงออกมาเพิ่มเติมรูปหนูหัวใจให้ครบสมบูรณ์
ข้างๆ เป็นหนูหัวใจในขวดโหลตั้งอยู่บนคุณสเก็ตช์กำลังช่วยติดเทป 
อีกข้างเป็นนายสมองนั่งบนบันไดแบบพับกำลังดูดอะไรบางอย่างจากถ้วยขณะที่มืออีกข้างกำลังกดรีโมตชี้ไปอีกทิศทางหนึ่งดั่งจะบอกว่าเขาใช้แต่สมองไม่ทำงานศิลปะ 
พิจารณารายละเอียดเล็กๆ บนพื้นตามเข็มนาฬิกาประกอบด้วยนก แมว ขวดโหล ขนมเค้ก กรรไกร เทป สมุดฉีก กระติกน้ำ ถ้วยน้ำ ขวดโหลใส่ปลาไหลไฟฟ้าให้ไฟฟ้าแก่พริ้นเตอร์ที่ว่า ซองขนม ลูกอม ขวดโหลลูกอมที่หกเรี่ยราด คิวบิก และหมาไล่นก โดยมีเศษใบไม้เล็กๆ อยู่เกลื่อนกลาด
พลิกปกหลังเป็นนกกำลังอึใส่หน้านายหัวแห้วตัวละครอกหักซ้ำซากประจำเรื่อง รายละเอียดมากมายของหน้าปกจะปรากฏไปทุกหน้าทุกกรอบตลอดทั้งเล่มคล้ายๆ ข้อเขียนย่อหน้านี้ที่ยาวเหยียดหาจุดจบมิได้

จึงขอปิดท้ายด้วยตอนจบของตอนสุดท้ายคือเรื่องราวของรักข้างเดียวที่เจ็บข้างเดียวและจะตายคนเดียวที่นั่งรำพึงรำพันพิรี้พิไรไม่เลิกรากับสามเกลอ 
"ฉันจะช่วยเขาเอง พวกนายถอยไปก่อน" นายสมองเดินอาดๆ ฝ่าสามเกลอหนูหัวใจ นักสู้กบเขียวและนายหัวแห้วเข้าไปหานายรักข้างเดียวแล้วพูดว่า "ไปตายซะไป" และ "หากมันสิ้นหวังไร้ค่านักล่ะก็นะฉันแนะนำให้ไปตายซะไวๆ เลย" จากนั้นตบท้ายด้วยคำพูดที่พ่อแม่ทุกบ้านควรจำใส่สมอง "อ่อนแอแบบนั้นสักวันก็ต้องตาย งั้นตายมันที่นี่ไปเลยดีกว่า" 
เป็นหนังสือการ์ตูนที่ไม่เกรงใจคนกำลังท้อแท้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กโตและวัยรุ่น "อ่อนแอแบบนี้สักวันก็ต้องตาย งั้นตายมันที่นี่ไปเลยดีกว่า"
เสมือนปิดท้ายหนังสือเด็กกันเสียที



ประกอบ ผลงานปี พ.ศ.2553 มิใช่หนังสือเด็ก ไตรภัคไม่เกรงใจใครอีกแล้ว ด้วยหน้าปกพื้นเหลืองและรายละเอียดของภาพที่รกรุงรังกวนหัวใจเช่นเดิมนำไปสู่เรื่องสั้นที่พูดจาขวานผ่าซากไม่รักษามารยาทปากว่าตาขยิบที่ดีของสังคมไทยเอาเสียเลย 
แค่สามเรื่องแรกแมวน้อยใจดี ตัวตุ่นนักกอล์ฟ สิงโตนักล่ามังกร ก็นับว่าแย่แล้ว 
เรื่องที่สี่ มนุษย์คนสุดท้ายกับภารกิจหลังวันสิ้นโลก หากไม่ติดเรตอาร์ก็เอ็นซี 17 อีกครึ่งเล่มที่เหลือให้ไปหามาอ่านประเทืองโลกทัศน์กันเอาเอง

เรื่องที่หนึ่ง แมวน้อยใจดี เล่าเรื่องแมวน้อยหิวใกล้ตายที่รอดชีวิตมาได้เพราะผู้มีพระคุณตัดหางตนเองให้กิน หลังจากนั้น แมวน้อยจึงใจดีมีชีวิตเพียงเพื่อแบ่งปัน 
วันหนึ่งแมวน้อยพบผู้มีพระคุณกำลังตัดปลาไหลยักษ์ให้สัตว์น้อยใหญ่ทั้งป่ากิน เมื่อไม่พอแจกจึงตัดหางและตัดแขนขาให้อีกด้วย 
แมวน้อยเห็นเช่นนั้นใช้ชีวิตด้วยการตัดอวัยวะของตนเองแทบทุกส่วนแบ่งปันให้สรรพสัตว์บ้าง 
แม้ตนเองจะเจ็บปวดปิ้มว่าจะขาดใจเลือดไหลออกจากร่างใกล้เหือดแห้งแต่แมวน้อยก็ยังเป็นปลื้ม 
โดยหารู้ไม่ว่าเบื้องหลังผู้ให้ทานและผู้รับทานในสังคมเขาอยู่กันอย่างไร

ไม่เคยพบการ์ตูนที่ไม่น่ารักเช่นนี้มาก่อนเลย ช่างเป็นการ์ตูนที่ปากตรงกับใจเสียจริงๆ 
เชื่อว่าเพราะลายเส้นที่ยุ่งเหยิงเป็นบ้าเป็นหลังตั้งแต่ปกหน้าเข้ามาพบกับลายเส้นที่เพี้ยนและรกรุงรังของแต่ละเรื่องจึงสามารถนำนักอ่านให้คล้อยตามไปกับเรื่องขำไม่ออกแต่ละเรื่องของสังคมและวัฒนธรรมเส็งเครงในปัจจุบัน

พ.ศ.2554 ไตรภัคเขียนหนังสือปกดำ ประดับยศ




.