.
ราคาของ “อำนาจ”
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 20:00:05 น.
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 29 ก.ย.2555 หน้า 2 )
การตัดสินใจลาออกของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้เหนือความคาดหมายแต่อย่างไร
เพราะยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยคือการรักษา "อำนาจรัฐ"
อะไรที่หวาดเสียวต่อการสูญเสียฐานที่มั่น
พรรคเพื่อไทยจะเด้งเชือกหนีทันที
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังไม่ได้รับการแก้ไข
องค์กรอิสระและ "ตุลาการภิวัฒน์" ยังดำรงอยู่
พรรคเพื่อไทยหวาดกลัวคำว่า "การตีความ" อย่างยิ่ง
การลาออกของ "ยงยุทธ" จึงดำเนินไปตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว
แม้ว่าจะมีแง่มุมทางกฎหมายที่จะต่อสู้ แต่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งสำหรับเสถียรภาพของรัฐบาล
ในทางการเมือง ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยจะสรุปแล้วว่าหากจะรักษาความได้เปรียบทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง
เขาจะต้องสร้าง "ผลงาน" ใหม่ขึ้นมาให้ได้
เพราะตอนนี้ "บุญเก่า" จากสมัยพรรคไทยรักไทยกำลังจะหมดลงแล้ว
ต้องยอมรับชัยชนะของพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลังไม่ได้มาจาก "อำนาจรัฐ"
เพราะเป็นการเลือกตั้งที่พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาล
ครั้งแรก เป็นการเลือกตั้งในช่วงที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ครั้งที่สอง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ "พลังประชาชน" และ "เพื่อไทย" ยังชนะอย่างถล่มทลาย
นี่คือ ผลพวงจาก "ผลงาน" ในอดีตของ "ทักษิณ ชินวัตร" ในยุคพรรคไทยรักไทย
กองทุนหมู่บ้าน นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค การปราบปรามยาเสพติด ฯลฯ
ผ่านมา 6 ปีแล้ว ยังเอามาหากินได้
ด้านหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า "ผลงาน" นั้นมีพลานุภาพแค่ไหน
แต่อีกด้านหนึ่ง "ทักษิณ" คงตระหนักแล้วว่าทุกสรรพสิ่งมีวันหมดอายุ
เพราะจนถึงวันนี้ยังไม่มีโครงการไหนของพรรคพลังประชาชนหรือพรรคเพื่อไทยที่ประสบความสำเร็จเหมือนโครงการในอดีตของพรรคไทยรักไทย
ดังนั้น ความพยายามยืดอายุรัฐบาลชุดนี้ให้นานที่สุดจึงเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการผลักดันผลงานใหม่ให้ออกดอกออกผล
เพราะแต่ละโครงการต้องใช้เวลา
ยุทธศาสตร์นี้อาจส่งผลดีต่อการสร้างผลงานของรัฐบาล
แต่อีกด้านหนึ่ง การตัดสินใจถอยทางการเมืองอย่างต่อเนื่องของพรรคเพื่อไทยก็ทำให้ความน่าเชื่อถือของพรรคเพื่อไทยลดน้อยลง
ตั้งแต่การยืนหยัดถึงความถูกต้องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จนถึงการยืนยันความถูกต้องของตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของนายยงยุทธ
เมื่อ "ถอย" ก็แสดงว่ายอมรับ "ความผิดพลาด"
นี่คือ "รายจ่าย" ที่ต้องจ่ายของพรรคเพื่อไทย
สำหรับการรักษา "อำนาจรัฐ"
++
“จำนำ”สไตล์
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 06 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 20:00:11 น.
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2555 หน้า 2 )
โครงการจำนำข้าวของรัฐบาลเริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ
นโยบายนี้มี "ข้อดี" ที่ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น
และตามหลักเศรษฐศาสตร์ "กำลังซื้อ" ที่เพิ่มขึ้นของ "คนจน" มักจะไม่อยู่นิ่งในกระเป๋าเหมือน "คนรวย"
เงินที่รัฐบาลซื้อข้าวเปลือกมาเก็บ 3-4 แสนล้านบาท จึงหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหลายรอบ
แต่ปัญหาใหญ่ของโครงการนี้ก็คือ ข้าวที่เก็บไว้ยังไม่สามารถระบายออกได้
ยุทธศาสตร์ขายข้าวทีหลัง รอให้คนอื่นขายหมดก่อน แม้จะเป็นวิธีคิดที่ดูคมคาย แต่ถึงวันนี้ "คำพูด" ดังกล่าวเริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะยอดส่งออกยังไม่เกิดขึ้น
รัฐบาลนั้นยืนยันว่าได้เซ็นสัญญาขายแบบ "จีทูจี" แล้ว 7 ล้านตัน
แต่ถ้าตัวเลขยอดการส่งออกยังไม่ปรากฏให้เห็น ความน่าเชื่อถือก็จะลดลง
นั่นคือ เรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามต่อไป
แต่อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือภาพความขัดแย้งทางความคิดเรื่องนโยบายจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยในวันนี้ คล้ายๆ กับเมื่อครั้งที่พรรคไทยรักไทยเสนอนโยบายประชานิยม
30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน โอท็อป ฯลฯ
จำได้ว่านักวิชาการ และพรรคการเมืองคู่แข่งก็ออกมาโจมตีอย่างหนัก
ไม่เชื่อว่า "30 บาทรักษาทุกโรค" จะเป็นจริง
"กองทุนหมู่บ้าน" ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะทำให้ประชาชนกู้เงินไปซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย อย่างโทรศัพท์มือถือ รถจักรยานยนต์ ฯลฯ
ประโยคที่บอกว่า "ประชานิยม" แบบ "ทักษิณ" จะทำให้ประเทศไทยล้มละลาย
ได้ยินมาตั้งแต่ปี 2544 แล้ว
ผ่านไป 11 ปี
เมืองไทยก็ยังไม่ล้มละลาย
ในขณะที่นักวิชาการและพรรคคู่แข่งออกมาโจมตีนโยบายประชานิยม
อีกฝั่งหนึ่ง คือ ชาวบ้านในชนบทต่างชื่นชมในนโยบายดังกล่าว
เพราะทุกคนรู้สึกว่าอยู่ดีกินดีขึ้น
ไม่แปลกที่ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย จะชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย
นโยบายที่เคยถูกโจมตีก็ยังคงอยู่ รัฐบาล คมช. หรือรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่กล้าล้มโครงการกองทุนหมู่บ้าน หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค
ภาพความขัดแย้งระหว่าง "นักวิชาการ" กับ "ชาวบ้าน" ปรากฏขึ้นอีกครั้งในโครงการจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทย
ในขณะที่พรรคฝ่ายค้าน และนักวิชาการ ต่างโจมตีความล้มเหลวของโครงการนี้
ชาวนากลับสนับสนุนอย่างเต็มที่
เหมือนกับเมื่อตอนปี 2544
ความขัดแย้งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความแตกต่างทางชนชั้นที่ดำรงอยู่
"เงิน" จำนวนเท่ากัน เมื่อนำไปอัดฉีดสถาบันการเงินตอนเศรษฐกิจไทยย่ำแย่
คนกลุ่มหนึ่งสนับสนุน
แต่เงินจำนวนน้อยกว่ากันครึ่งหนึ่ง อัดฉีดเข้ากระเป๋าชาวนา
คนกลุ่มนี้กลับคัดค้าน
นึกถึงเพลง "กังนัม สไตล์" กำลังฮิตไปทั่วโลก
"ปาร์ก แจ ซาง" เลือกใช้คำว่า "กังนัม" ซึ่งเป็นย่านธุรกิจทางใต้ของกรุงโซล เพื่อเสียดสีให้เห็นช่องว่างระหว่าง "คนรวย" กับ "คนจน"
"จำนำสไตล์" ในเมืองไทย ก็สะท้อนภาพนี้เช่นเดียวกัน
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย