http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-23

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (29) (30)ญี่ปุ่นทิ้งพันธมิตร?, นิวเคลียร์“เขมร” ไทยผวา โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (29) ญี่ปุ่นทิ้งพันธมิตร?
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1678 หน้า 39


สถิติเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของฝรั่งเศส สหรัฐ และญี่ปุ่น รวมกันผลิตพลังงานได้มากกว่าครึ่งของการผลิตพลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งโลก 
เตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสหรัฐ 104 เตา ฝรั่งเศส 59 เตา และญี่ปุ่น 50 เตา รวมกำลังผลิต 2.1 แสนเมกะวัตต์ 
ถ้ารวมเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก 437 เตา มีกำลังการผลิต 3.7 แสนเมกะวัตต์ 
ช่วงตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์มีการพัฒนาก้าวไกลอาจจะไกลกว่าสหรัฐเสียด้วยซ้ำ เพราะหลังซึมซับความรู้ใหม่ๆ แล้วบรรดาบริษัทของญี่ปุ่น ทั้งโตชิบา ฮิตาชิ เร่งวิจัยพัฒนาชนิดก้าวกระโดด


ขณะที่ญี่ปุ่นรวมถึงประเทศยักษ์ใหญ่ในโลกอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเร่งวิจัยพัฒนา เทคโนโลยีนิวเคลียร์ ปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ "ทรีไมล์ ไอส์แลนด์" ที่รัฐเพนน์ซิลวาเนีย ในปี 2522 ทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในสหรัฐแทบจะหยุดการพัฒนาอย่างฉับพลัน 
คนอเมริกันหันมาต่อต้าน "นิวเคลียร์" 
กลุ่มแอนตี้ "นุก" แผ่ขยายอย่างรวดเร็วมาก รัฐบาลสหรัฐผวา ต้องเก็บพับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่วางแผนมาเนิ่นนาน
แต่ญี่ปุ่นยังเดินหน้าเทคโนโลยีนิวเคลียร์ต่อไปชนิดไม่เหลียวหลังมองใคร

แม้เกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในยูเครน เมื่อปี 2529 กระแสต้าน "นุก" ลุกลามไปทั่วโลก ทิศทางอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของสหรัฐมืดสนิท ไม่ต่างกับประเทศอื่นๆ ทั้งรัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ และแคนาดา
ตรงกันข้ามกับญี่ปุ่น ทิศทางของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนิวเคลียร์ยิ่งเติบโตก้าวหน้ามากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็ว ความต้องการพลังงานสูงมาก 
รัฐบาลญี่ปุ่นแทบทุกชุดตอบสนองความต้องการของกลุ่มทุนโดยช่วยกันสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อย่างเต็มสูบ


โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เดินเครื่องมากถึง 50 แห่ง อยู่ระหว่างการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์แห่งใหม่อีก 2 เตา
แค่ภายในประเทศญี่ปุ่นเอง อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ก็แทบจะรับงานไม่ไหว



อุตสาหกรรมเทคโนโลยี "นิวเคลียร์" ของโลกเพิ่งจะกลับมาฟื้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ 
ดูจากทิศทางของสหรัฐ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา พยายามดึงกระแส "นิวเคลียร์" กลับมาให้ได้ ท่ามกลางแรงต้านสุดเหวี่ยง 
เหตุผลสำคัญนั่นคือวิกฤตการณ์น้ำมัน และปรากฏการณ์โลกร้อน

บรรดานายทุนกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม พยายามชี้ให้เห็นปรากฏการณ์โลกร้อนส่งผลกระทบกับสภาวะแวดล้อมโลกอย่างรุนแรงนั้น มาจากประเทศอุตสาหกรรมปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศ 
ช่วงเกือบ 2 ทศวรรษประเทศอุตสาหกรรมใหม่อย่างจีน อินเดีย ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ทั้งก๊าซ น้ำมันและถ่านหินเป็นหลัก มีส่วนสำคัญทำให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อน 
เวลานี้ยังไม่มีเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมกำจัดก๊าซพิษที่มีประสิทธิภาพสูงพอ จึงต้องหาวิธีลดปริมาณก๊าซพิษลงให้ได้มากที่สุด

กลุ่มนายทุนโลกตะวันตกรวมทั้งนายทุนของญี่ปุ่น ชี้ทางออกที่ทำได้เร็วและได้ผลมากกว่าวิธีอื่นใดที่มีอยู่ในขณะนี้ นั่นคือโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เพราะไม่มีก๊าซพิษ ปล่อยออกจากปล่องเป็นอันตรายต่อสภาวะแวดล้อมโลก จะมีเพียงไอร้อนจากเครื่องหล่อเย็นภายในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เท่านั้น 
กระแสนิยม "พลังงานนิวเคลียร์" จึงค่อยๆ โตขึ้นมาเป็นลำดับ 
ทั้งอินเดีย จีน และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ๆ ร่วมเห็นดีด้วย เพราะเชื่อเหมือนกันว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นทางเลือกที่ดีกว่าหนทางอื่นๆ


แต่เมื่อมาเกิดวิกฤต "ฟุคุชิมา ไดอิจิ" รัฐบาล นายโยชิฮิโกะ โนดะ เล็งเป้าเลิกใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จึงเป็นธรรมดาที่กลุ่มทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เกิดอาการตกอกตกใจ และสะท้อนความกังวลไปถึงรัฐบาลสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส 
ฝ่าย "โนดะ" จับสัญญาณความวิตกกังวลของพันธมิตรเหล่านี้ได้ในทันที
เมื่อกลางเดือนกันยายน รัฐบาล "โนดะ" ส่ง นายอะคิฮิสะ นากาชิมา และ นายฮิโรชิ โอกูชิ เจ้าหน้าที่ระดับสูงไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ เพื่ออธิบายให้ที่ปรึกษาของทำเนียบขาวและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานสหรัฐถึงสาเหตุการปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงาน

แม้พันธมิตรจะรับฟังเหตุผล แต่กระนั้น ยังคงไม่เข้าใจอยู่ดีว่า ทำไมนายกฯ ญี่ปุ่นคนนี้จึงตัดสินใจ "ไม่เอานิวเคลียร์"



++

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (30) นิวเคลียร์ "เขมร" ไทยผวา
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1679 หน้า 39


เกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องตามมาอย่างมากมายหลังนายกฯ ฮุน เซน ประกาศจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศกัมพูชา
สื่อทั้งฝ่ายไทยและเขมร ไปถามบุคคลดังๆ เพื่อหาคำตอบว่า คนเหล่านี้เขาคิดกันยังไง 
นักธุรกิจในกรุงพนมเปญให้ความเห็นกับสื่อเขมรว่า นายกฯ ฮุน เซน กำลังฝันกลางวัน 
กัมพูชายังไม่มีความพร้อมกับเรื่องนิวเคลียร์ ไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่รู้เรื่อง "นิวเคลียร์"


นายเนือง เหม่ง เทค ผู้อำนวยการสภาหอการค้าของกัมพูชา บอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องอันตรายมากๆ เพราะกัมพูชาไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่รู้เรื่องนิวเคลียร์ และประเทศก็ยังยากจนเกินไปที่จะทำเรื่องใหญ่โตอย่างนี้ ซึ่งใช้เงินมากมายมหาศาล 
แต่ นายเส่ย เซ็ม รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม เหมืองแร่และพลังงาน เป็นคนในซีกรัฐบาลกัมพูชา หนุนแนวคิดของ "ฮุน เซน" โดยชี้แจงกับสภาแห่งชาติกัมพูชาว่า รัฐบาลมีแผนใช้พลังงานนิวเคลียร์ในอนาคตข้างหน้า เหมือนๆ กับการใช้น้ำมัน ถ่านหินและเชื้อเพลิงจากชีวมวล

เวลานี้ กัมพูชา ผลิตกระแสไฟฟ้าได้รวมแล้ว 300 เมกะวัตต์ ยังขาดแคลนอยู่ประมาณ 50 เมกะวัตต์ และกระแสไฟฟ้าตกๆ ดับๆ อยู่บ่อยครั้ง ในช่วงฤดูแล้ง เพราะหากคนพนมเปญใช้กระแสไฟฟ้ามากก็ต้องดึงไปป้อนให้ 
หมู่บ้านต่างๆ ทั่วกัมพูชา มีกระแสไฟฟ้าใช้ราว 60 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือไม่มีเงินและรัฐบาลไม่มีกำลังสร้างโรงไฟฟ้าไปป้อนให้
แต่วันนี้ กัมพูชาคิดไปไกล ต้องการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า



"เราหลีกเลี่ยงโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ได้แล้ว มันเป็นเป้าหมายของรัฐบาล" นายเนืองบอกกับสภาแห่งชาติ เมื่อสัปดาห์ก่อนหลัง "ฮุน เซน" พูดในเวทีการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน เมื่อปลายเดือนกันยายน ที่กรุงพนมเปญ 
กัมพูชาเตรียมแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ใกล้ชายแดนไทย บริเวณเกาะกง เพื่อจะขายไฟฟ้าให้กับไทย เนื่องจากไทยขาดแคลนพลังงานมาก 

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่า นายกฯ ฮุน เซน พูดในที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน สนใจตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และเตรียมว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากรัสเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งมีประสบการณ์ด้านนิวเคลียร์มาศึกษาความเป็นไปได้ ส่วนเวียดนามมีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กำลังผลิต 2,800 เมกะวัตต์
นายอารักษ์ยังให้รายละเอียดภาพรวมพลังงานของกัมพูชาอีกว่า ปัจจุบันกัมพูชาต้องพึ่งพาน้ำมันดีเซลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง 
เวลานี้ กัมพูชาเตรียมแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินที่เกาะกง มีกำลังผลิต 1,800 เมกะวัตต์ เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทเกาะกง ซีบอร์ด ของกัมพูชา และบริษัท ไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 
"ถ้ากัมพูชาทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ผลกระทบเกิดกับไทยอยู่ดี แต่ไปห้ามก็ไม่ได้" นายอารักษ์ให้ความเห็น 

เช่นเดียวกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ออกมาให้ความเห็นในเรื่องเดียวกันว่า ถ้าเขมรจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ควรเอาเรื่องนี้มาพูดคุยหารือกับสมาชิกอาเซียนกันก่อนเป็นอันดับแรก


สื่อกัมพูชาอ้างว่าการให้สัมภาษณ์ของ "อารักษ์และผู้บัญชาการทหารบก" แสดงให้เห็นถึงความวิตกกังวลซ่อนอยู่ 
แต่ไม่ได้อธิบายความวิตกกังวลนั้นหมายถึงอะไร  
หรือหมายถึง ประเทศไทยจะตกอยู่ในสภาพเสี่ยงอันตราย ถ้าเขมรสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ใกล้ๆ ชายแดน หากเกิดอุบัติเหตุกัมมันตรังสีรั่วไหล แน่นอนว่าไทยจะต้องได้รับผลกระทบ 
หรือว่า ไทยจะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบจากการต้องซื้อไฟฟ้ามาป้อนให้โรงงาน บ้านเรือน เนื่องจากปัจจุบัน ไทยกำลังขาดแคลนกระแสไฟฟ้า

สื่อกัมพูชายังเอาเรื่องนี้ไปโยงกับเหตุการณ์โรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ไดอิจิ ของญี่ปุ่นระเบิดและปล่อยกัมมันตรังสีออกมา โดยบอกว่าหลังเกิดเหตุที่ "ฟุคุชิมา" ไทยก็เตรียมแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  แต่ต้องเลื่อนแผนออกไปจากเดิมคิดว่าจะสร้างในปี 2563 ไปเป็นปี 2566

ส่วนเวียดนามเล็งสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งแต่ 17 ปีที่แล้ว แต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนเพราะเจอวิกฤตเศรษฐกิจ ขาดเงินลงทุน และยังมีกระแสข่าวว่า พม่าสนใจหาคนมาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหมือนกัน

สถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของเพื่อนบ้าน รอบๆ ประเทศไทย เป็นสิ่งที่น่าจับตามองไม่น้อย



.