http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-14

ขนมชวาเรียก “ซ่าหริ่ม” แต่ “สลิ่ม” คือเสื้อหลากสี โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

ขนมชวาเรียก “ซ่าหริ่ม” แต่ “สลิ่ม” คือเสื้อหลากสี
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1678 หน้า 76


เดิมนั้นเคยมีผู้สงสัยกันมากว่าทำไมขนมหวานไทยชนิดหนึ่งจึงมีชื่อแปลกประหลาดว่า “ซ่าหริ่ม” เป็นคำยืมมาจากภาษาอะไร เขมร มอญ อินเดีย ชวา มลายู หรือโปรตุเกส ? 
ครั้นมาเจอศัพท์ใหม่คำว่า “สลิ่ม” เข้าอีก นับแต่ช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ จึงยิ่งฉงนไปกันใหญ่ว่าทำไมจึงสะกดแบบนั้น
และมันเป็นคำที่มีนัยะ-นิยามอะไรพิเศษล่ะหรือ?



พลิกตำรับตามหา “ซ่าหริ่ม”
จากท้าวทองกีบม้าถึงแดนอิเหนา


เราคงจำกันได้ดีถึงพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 2 ในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน บทที่ว่า
ซ่าหริ่มลิ้มหวานล้ำ แทรกใส่น้ำกะทิเจือ
วิตกอกแห้งเครือ ได้เสพหริ่มพิมเสนโรย


เป็นหลักฐานชิ้นเก่าสุดที่บันทึกถึงซ่าหริ่มเชิงเอกสาร ทำให้อย่างน้อยก็รู้ว่ามีมาแล้วในสมัยรัชกาลที่ 2 แต่จะเก่าถึงสมัยอยุธยาหรือไม่นั้น ต้องไปพลิกตำรับ "ราชินีขนมไทย" ของท้าวทองกีบม้ามาศึกษา 
เพราะเมื่อพูดถึงขนมหวานโบราณ จำเป็นที่จะต้องพาดพิงถึง "มารี กีมาร์" ผู้ซึ่งบาทหลวงเดอแบสชาวฝรั่งเศส เขียนบันทึกเล่าเรื่องของเธอว่า มีย่าเป็นชาวโปรตุเกส แต่งงานกับหนุ่มญี่ปุ่นคาทอลิกที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในอยุธยา เหตุเพราะถูกจักรพรรดิญี่ปุ่นเนรเทศผู้เข้ารีตเป็นคริสตังให้ออกนอกประเทศ 
ทั้งคู่มีบุตรชาย คือบิดาของมารี (เป็นลูกครึ่งมาแล้วชั้นหนึ่ง) ได้สมรสกับคริสตังสาวชาวญี่ปุ่นผู้เป็นมารดาของเธอ สรุปแล้วมารีมีสายเลือดญี่ปุ่นเข้มข้นมากถึง 75% แถมยังเกิดและเติบโตในเมืองไทย แต่ไหงกลายมาเป็นกูรูด้านขนมโปรตุเกส?

นอกจากเธอจะเคยขลุกตัวอยู่กับบรรดาสตรีที่เป็นเครือญาติของยาย-ย่า-ป้า-น้า-อา ณ หมู่บ้านโปรตุเกสในอยุธยาผู้พกพาตำรับขนมหวานติดตัวมาแล้ว เธอยังมีโอกาสศึกษาวิชาคหกรรมโดยตรงเพิ่มเติมที่โปรตุเกสและฝรั่งเศสทางตอนใต้อีกด้วย
ชะตากรรมของมารีนั้นขึ้นๆ ลงๆ เคยเป็นสตรีหมายเลข 1 ในกรุงละโว้ด้วยวัย 20 เศษ เหตุเพราะสามีของเธอ "คอนสแตนติน ฟอลคอน" ก้าวมาสู่ผู้ทรงอิทธิพลอย่างสูงสุดในราชสำนักสยาม แต่ก็เพียงช่วงระยะเวลา 6 ปีเท่านั้น 
เมื่อฟอลคอนถูกพระเพทราชาประหารชีวิต จากบันทึกของนายแพทย์แกมเฟอร์ชาวเยอรมัน ปี 2233 ระบุว่า ได้พบภรรยาหม้ายของฟอลคอนพร้อมลูกน้อยเดินขอทานไปตามบ้านผู้คน หลังจากถูกริบทรัพย์และโดนกุมขังอย่างทรมานสาหัส 

บทบาทด้านการทำขนมหวานของมารีในสมัยพระนารายณ์ช่วงที่ชีวิตเธอเจิดจรัสนั้น ไม่มีการบันทึกโดยตรงว่า คุณนายฟอลคอนอนงค์นี้ ได้เข้าไปยุ่มย่ามอะไรแถวหน้าเตาบ้างหรือไม่ 
ทว่าหลังจากนั้นอีกสามทศวรรษ คือปี 2260 นางได้หวนกลับมาสยามด้วยภาพลักษณ์ใหม่ ในนามของนักธุรกิจหญิง ที่เจนจบประสบการณ์ด้านเชฟ ถือหุ้นลงทุนร่วมกับบริษัทเฟรนช์ คัมปานี โดยได้รับเงินอุดหนุนจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก้อนหนึ่ง  
ด้วยวัย 50 เศษ มารี กีมาร์ โบยบินสู่มาตุคาม ประหนึ่งแมวเก้าชีวิตฟื้นคืนชีพ ก้าวข้ามยุคเข็ญผ่านพ้นรัชสมัยพระเพทราชา-พระเจ้าเสือไปแล้วอย่างโล่งอก จากบันทึกของบาทหลวงโอมองต์ มาดามฟอลคอนได้รับแต่งตั้งให้เป็น "วิเสท" ประจำห้องเครื่องในแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ

เกี่ยวกับตำแหน่ง "ท้าวทองกีบม้า" ซึ่งผันมาจากชื่อ "มารี กีมาร์" ของเธอนั้น ระบุอยู่ในหนังสือ Siamese White เขียนโดยคอลลีส (Collis) ส่วนกฎหมายพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ได้กำหนดพนักงานวิเสทกลางไว้ 3 ตำแหน่ง คือท้าวเทพภักดีของคาว ท้าวทองพยศของหวาน และท้าวทองกีบม้า ทั้งสามมีศักดินาคนละ 400 เท่ากัน 
แม้บรรดาศักดิ์ท้าวทองกีบม้าจะเทียบบารมีและศักดิ์ศรีไม่ได้เลยกับสถานะของ "มาดามฟอลคอน" เมื่อครั้งออกญาวิไชเยนทร์เรืองอำนาจ แต่ก็เป็นตำแหน่งที่พิสูจน์ฝีมือและความสามารถส่วนตัวของเธอเองล้วนๆ โดยไม่ต้องพึ่งพิงสามี และไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับการที่ผู้หญิงคนหนึ่ง เคยตกอับต้องโทษลงทัณฑ์ปางตาย ยังมีแก่ใจคิดจะพลิกผันโชคชะตา กลับเข้ามามีบทบาทเล็กๆ ในราชสำนักสยามได้อีกครั้ง

ขนมสูตรโปรตุเกสที่เธอประยุกต์ขึ้นให้เหมาะสมกับลิ้นคนไทย โดยใช้กะทิแทนนม-เนย-ครีม มีฝากไว้หลายเมนู ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา หม้อแกง ลูกชุบ เม็ดขนุน ทองม้วน ขนมผิง สัมปันนี บ้าบิ่น กะหรี่ปั๊บ ฯลฯ 
มีข้อน่าสังเกตว่าขนมโปรตุเกส นิยมใช้ไข่แดง หรือไม่ก็แป้งถั่วเขียวยืนพื้น ชวนให้คิดว่า "ซ่าหริ่ม" ก็ทำจากแป้งถั่วเขียวกวนเช่นกัน ดังนั้น ซ่าหริ่ม" เป็นขนมโปรตุเกสหรือเช่นไร
คำตอบคือไม่ใช่ เพราะสูตรขนมหวานของมารี กีมาร์ หนักไปทาง "ขนมแห้ง" มากกว่า "ขนมเปียก"


ถ้าเช่นนั้นก็ต้องย้อนไปมองขนมหวานของชาวมอญ กลุ่มลอดช่อง ปลากริม ที่เน้นแป้งหยอดในน้ำกะทิ ก็พบว่ามีความแตกต่างกันอีก เพราะซ่าหริ่มไม่ได้ใช้น้ำกะทิที่เอาน้ำตาลปึกไปเคี่ยวปนเกลือปะแล่มๆ แต่เป็นการแยกกะทิสดกับน้ำหวานที่เชื่อมน้ำตาลทราย แถมกินแบบเย็นอีกด้วย 
จริงอยู่ที่ 'น้ำแข็ง' เพิ่งมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ฉะนั้น การทำ “ซ่าหริ่ม” ให้เย็นในอดีตย่อมเกิดจาก 'ได้เสพหริ่มพิมเสนโรย' คือใช้เกล็ดพิมเสนโรยแทนน้ำแข็งในยุคที่ยังไม่มีตู้เย็น เช่นเดียวกับข้าวแช่ 

เมื่อวิเคราะห์จากรูปภาษา “ซ่าหริ่ม” เป็นคำยืมจากชวา จำต้องไปสืบหาขนมหวานของเพื่อนบ้านแถบอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ดูว่า มีขนมในทำนอง “ซ่าหริ่ม” บ้างหรือไม่ 
ในที่สุดก็พบว่า มีทั้งซ่าหริ่ม ทับทิมกรอบ และลอดช่องสิงคโปร์ ทั้งหมดเป็นขนมแป้งเหนียวใสคล้ายวุ้นเส้นผสมสี ตระกูล Rice Vermicelli ใส่น้ำเชื่อม+กะทิสด ไม่เจือเกลือผสมน้ำตาลปึกแบบขนมมอญ-ไทย
นักนิรุกติศาสตร์ชวาอธิบายว่า Sa-Rim คำนี้พวกเขาเคยใช้ในอดีตนานโขแล้ว เป็นคำยืมจากอินเดียใช้เรียกขนมวุ้นใสเป็นเส้นๆ ที่ใส่กะทิ
แต่ปัจจุบันชาวชวา-มลายูเรียกขนมนั้นว่า Dawet ดาเวต เรียกตัวแป้งวุ้นว่าเชนดอล Cendol (Chen-dul/Jendol)

ถึงบางอ้อกันเสียทีว่ากรุงรัตนโกสินทร์รับเอาขนมซ่าหริ่มนี้มาจากชวา ซึ่งก็สอดคล้องกับความสนพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 2 ที่มีต่อวรรณกรรมเรื่องอิเหนา 
สำหรับยุคกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าอาจมีซ่าหริ่มมาก่อนแล้วก็เป็นได้ น่าจะเริ่มในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าท้ายสระ) เหตุเพราะในยุคของพระองค์มีนางข้าหลวงชาวมลายูผู้เป็นเชลยจากปัตตานีหลายนางเข้ามาถวายงานรับใช้ในราชสำนัก ภายใต้การกำกับดูแลของพระราชธิดาสองพระองค์ คือเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ ขัตติยนารีทั้งสองโปรดปรานในวัฒนธรรมชวามาก ถึงกับทรงพระนิพนธ์บทละครเรื่องดาหลังและอิเหนาให้พระราชบิดาทอดพระเนตรอยู่เนืองๆ 
จึงเชื่อว่า “ซ่าหริ่ม” ขนมนำเข้าจากชวา เข้ามาสู่สยามตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลายแล้ว



"สลิ่ม" ศัพท์สแลงแห่งเสื้อหลากสี

"สลิ่ม" เป็นสำนวนหรือศัพท์สแลงที่นำมาใช้ทางการเมืองไทยร่วมสมัย ดัดแปลงมาจาก “ซ่าหริ่ม” ตามความนิยมที่คนไทยมักเรียกแบบลำลองว่า "สลิ่ม" (สะ-หลิ่ม) มากกว่าที่จะเรียกตรงตัวว่า "ซ่า-หริ่ม" 
ช่วงต้นปี 2553 มีการชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดงที่เรียกร้องให้รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ก่อให้เกิดกระแสหมั่นไส้คนเสื้อแดงโดยฝ่ายอนุรักษนิยม หนึ่งในนั้นอ้างว่าเป็นกลุ่มประชาชนพิทักษ์ชาติ (ทำไก๋ไม่เลือกข้างแบ่งสี) โดยการนำของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ซึ่งกลุ่มนี้ต่อมาขนานนามตนเองว่าเป็น "กลุ่มเสื้อหลากสี"
การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อหลากสีได้สร้างปฏิกิริยาโต้กลับจากฝ่ายผู้รักประชาธิปไตยในทางเย้ยหยัน ว่าเป็นแค่การเปลี่ยนชื่อ/เปลี่ยนสีเสื้อ ของคนเสื้อเหลืองเก่าที่ไม่สามารถใช้เสื้อสีเดิมในการเคลื่อนไหวอย่างสะดวกใจได้อีกต่อไป แต่ความจริงแล้ว ทั้งความคิด พื้นฐานอุดมการณ์ การกระทำ และการแสดงออกของเสื้อหลากสี ที่มีทั้งสีชมพู สีฟ้า สีขาว และสีเขียว ก็ไม่ต่างอะไรไปจากคนเสื้อเหลือง 
คือเน้นการแสดงออกที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง "ผีทักษิณ" ขึ้นสมอง เอะอะอะไรก็กล่าวหาคนที่คิดเห็นตรงข้ามกับพวกตนว่าเป็น "สมุนทักษิณ" รวมไปถึงมีคติร่วมที่ไม่เชื่อถือในระบอบประชาธิปไตย มักห้อยโหนสถาบัน โหยหานายกฯ พระราชทาน หรือให้ท้ายการปล้นอำนาจปวงชนด้วยการรัฐประหาร

การดูแคลนคนเสื้อหลากสีของคนเสื้อแดงได้ถ่ายทอดออกมาผ่าน "สมญานาม" ที่ใช้เรียกเสื้อสลับสีเหล่านั้น ด้วยศัพท์เพียงคำเดียวว่า "สลิ่ม"
เหตุที่ว่าสลิ่ม (ซ่าหริ่ม) เป็นขนมที่มีเส้นหลากสีสัน ยั่วล้อสภาพสีเสื้อที่สลับสับเปลี่ยนไปมานั่นเอง 
เมื่อมองจากสายตาของนักภาษาศาสตร์ คำว่า "สลิ่ม" ยังเป็นคำที่มีเสียงเสียดเย้ยชวนให้นึกถึง "ลิ่ม" ที่ใช้ตอกตรึงอก รวมไปถึง "สนิม" "เสนียด" "สวะ" "เสลด" "เล่ห์เหลี่ยม" ฯลฯ 

แม้จุดเริ่มต้น "สลิ่ม" เคยใช้เรียกกลุ่มการเมืองของคนเสื้อหลากสี แต่ต่อมาได้ขยายบริบทไปสู่การใช้เรียกใครก็ตามที่มีพฤติกรรมร่วมหรือมีจุดยืนทางการเมืองที่เข้าข่ายเดียวกันกับคนเสื้อหลากสี ที่หลงคิดว่าตนเองนั้นเป็นกลางทางการเมือง

โดยหารู้ไม่ว่าพฤติกรรมที่แสดงออกซึ่งสวนทางกับกระแสประชาธิปไตยนั้น ถูกโลกจารึกไว้แล้วว่าช่างล้าหลัง คลั่งชาติ อำนาจนิยม อคติ คับแคบ แสบฉุนเสียยิ่งกว่าแป้งถั่วเขียวบูดโรยพิมเสน



.