http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-09

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก(27) (28): “ปลอดนิวเคลียร์” ดีกว่า, พันธมิตร “ญี่ปุ่น” โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (27) “ปลอดนิวเคลียร์” ดีกว่า
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1676 หน้า 38


ในที่สุด นายโยชิฮิโกะ โนดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โหนกระแสประชานิยมด้วยการวางเป้า "ปลอดนิวเคลียร์" ให้ได้ภายใน 28 ปีข้างหน้า
นายโนดะ จำเป็นเลือกเป้าหมายที่ว่า เพราะถ้ายังขืนดันทุรังเดินหน้าลุยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกต่อไป การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้คะแนนนิยมของนายโนดะอาจร่วงกราวรูด 
ในเมื่อเสียงไม่เอา "นิวเคลียร์" ดังกระหึ่มแรงขึ้นทั่วเกาะญี่ปุ่น คนเป็นนักการเมืองไม่ฟังเสียงสวรรค์อย่างนี้ ก็นับถอยหลังได้ 
ผู้นำที่ไหนในโลกนี้ มีใครมั่งไม่อยากได้อำนาจอยู่ในมือนานๆ ยาวๆ?


แนวนโยบายของนายโนดะทำให้วงการธุรกิจของญี่ปุ่นกระเทือนอย่างหนักหน่วง และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของโลกพลอยสั่นสะเทือนไปด้วย
ญี่ปุ่นเป็นเกาะที่ไม่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ อย่างก๊าซ น้ำมันหรือถ่านหินอยู่เลย พลังงานร้อยเปอร์เซ็นต์ต้องสั่งเข้าจากต่างประเทศ
ก่อนเกิดวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ ระเบิดปล่อยกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ญี่ปุ่นวางนโยบายด้านพลังงานเอาไว้ว่า จะต้องดึง "นิวเคลียร์" มาใช้เป็นพลังงานให้ได้มากกว่าครึ่งของพลังงานที่ใช้ทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่น 

นั่นหมายความว่า พลังงานนิวเคลียร์ที่ผลิตป้อนญี่ปุ่นราว 30 เปอร์เซ็นต์จะต้องเร่งปรับเพิ่มให้ผลิตมากขึ้นอีกกว่า 20 เปอร์เซ็นต์
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่ 50 แห่งทั่วเกาะญี่ปุ่น ต้องเพิ่มศักยภาพในการผลิตมากขึ้น และต้องสร้างเตาปฏิกรณ์เพิ่มในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกอย่างน้อย 2 หน่วยจึงจะเป็นไปตามเป้า
แต่เกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน "ฟุคุชิมา ไดอิจิ" ระเบิดตูม เพราะเหตุแผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์ ทำให้เกิดคลื่นสึนามิ พัดถล่มใส่โรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลตะวันออก
น้ำทะเลซัดกระหน่ำจนทำให้ระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าขัดข้อง ทำงานไม่ได้ส่งผลต่อเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มีอุณหภูมิร้อนระอุจนระเบิด ปล่อยกัมมันตรังสีฟุ้งกระจายไปทั่ว
เป้าหมายด้านพลังงานของญี่ปุ่นสะดุดทันที เพราะชาวบ้านแสดงปฏิกิริยาไม่พอใจต่อเจ้าของกิจการคือ บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ หรือเทปโก้ และรัฐบาลปกปิดข้อมูลความจริงที่ทำให้เกิดเหตุกับโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ไดอิจิ

ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า การทำงานบกพร่อง ล้มเหลว ไม่โปร่งใสของผู้บริหารเทปโก้ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่น ระหว่างเกิดเหตุ "ฟุคุชิมา ไดอิจิ" นำไปสู่วิกฤตการณ์รุนแรง เผยแพร่ผ่านสื่อเป็นระลอกๆ 
ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ความรับรู้ของชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนไป
ผลสำรวจความเห็นของชาวญี่ปุ่น ที่ปรากฏในโพลแทบทุกสำนัก ล้วนได้ข้อสรุปว่า "ไม่เอานิวเคลียร์" มากกว่า "เดินหน้าต่อไป"



ฝ่ายหนุนเดินหน้านิวเคลียร์ จึงมีเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจ นักการค้าอุตสาหกรรมเพราะคนเหล่านี้เห็นว่าญี่ปุ่นไม่มีแหล่งพลังงานอื่นๆ มาทดแทนได้มากเท่ากับ "นิวเคลียร์" 
ถ้าจะเลือกใช้น้ำมันและก๊าซ หรือถ่านหิน มาทดแทน "นิวเคลียร์" แต่ละปีญี่ปุ่นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการสั่งนำเข้าพลังงานเหล่านี้ นั่นนำไปสู่ปัญหาการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 
แน่นอนว่า ราคาพลังงานที่มาของแหล่งฟอสซิล มีความไม่แน่นอน ขณะที่กฎกติกาว่าด้วยเรื่องข้อจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ป้องกันปรากฏการณ์ "โลกร้อน" บีบรัดให้ประเทศพัฒนาต้องเดินตามกฎอย่างเข้มงวดมากขึ้น 
ถ้าญี่ปุ่นยังนำเข้าพลังงานที่มาแหล่งฟอสซิล นอกจากราคาที่ไม่มีความแน่นอนแล้ว ยังต้องคิดค้นหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อควบคุมจำกัดก๊าซพิษ ที่ปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศให้น้อยที่สุดเท่าที่จะได้ทำได้ 
เทคโนโลยีคุมหรือกำจัดก๊าซพิษ เวลานี้ยังไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ คาดว่าต้องใช้เวลาอีกนานจึงจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสลายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากปล่องโรงงาน หรือคุมไม่ให้ก๊าซเหล่านี้หลุดออกมาระหว่างทำปฏิกิริยาเพื่อสร้างพลังงานความร้อน
แต่ไม่ว่าจะนำเข้าน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน หรือวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ล้วนส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าทั้งสิ้น 
เมื่อต้นทุนแพง สินค้าเมด อิน เจแปน ที่จะนำไปวางในตลาดก็ย่อมแพงตามไปด้วย ความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับชาติอื่นๆ จะลดด้อยถอยลง
ฉะนั้น นักธุรกิจการค้าจึงหนุน "นิวเคลียร์" เพราะเป็นพลังงานที่มีความเสถียรมั่นคงมากกว่า


แนวคิดของกลุ่มธุรกิจการค้าและกลุ่มไม่เอานิวเคลียร์ ขัดแย้งสวนทางกัน 
เมื่อ "โนดะ" เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ดูเหมือนว่า ยังฟังเสียงฝ่ายนายทุน เพราะเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ให้กับพรรคประชาธิปไตย
ช่วงเกิดวิกฤต "ฟุคุชิมา ไดอิจิ" รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศเพื่อตรวจสอบระบบความปลอดภัยใหม่ทั้งหมด ระหว่างนั้นเกิดแรงบีบพุ่งใส่รัฐบาลโนดะ ทั้งทางฝ่ายประชาชนที่ไม่เอานิวเคลียร์และฝ่ายทุน 
โนดะ ยอมเลือกข้างฝ่ายทุน โดยสั่งเปิดเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่ง ปรากฏว่ามีปฏิกิริยาจากชาวญี่ปุ่นที่ไม่เอานิวเคลียร์ เพิ่มทวีคูณและพุ่งโถมใส่รัฐบาลญี่ปุ่นอย่างหนักหน่วงจนต้องย้อนกลับมาคิดใหม่ว่า นโยบายพลังงานนิวเคลียร์จะเอายังไงกันดี?

ที่สุด "โนดะ" ต้องเลือกเป้าให้ปี 2573 เป็นจุดหมาย "ญี่ปุ่น" จะไม่มีการใช้พลังงานนิวเคลียร์อีกต่อไป



++

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (27) พันธมิตร “ญี่ปุ่น”
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 05 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1677 หน้า 39


การปลุกกระแสปลอด "นิวเคลียร์" ของ นายโยชิฮิโกะ โนดะ ได้รับการชื่นชมสนับสนุนจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มไม่เอา "นิวเคลียร์" 
ยิ่งถ้ารัฐบาล "โนดะ" ทำได้อย่างที่คุยไว้ว่า ภายในปี 2573 จะไม่ใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกต่อไป บรรดากลุ่มประเทศอย่าง "เยอรมนี-สวิตเซอร์แลนด์" ที่ชื่นชอบนโยบายนี้ยิ่งชูนิ้วยกย่องให้เป็นฮีโร่ 
ปัจจุบันกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลญี่ปุ่นมีสูงมาก สื่อยักษ์ใหญ่ประโคมข่าวว่า นายโนดะประกาศนโยบายปลอดนิวเคลียร์ในอีก 28 ปีข้างหน้าเป็นเรื่องหลอกลวงทำไปเพียงแค่หวังคะแนนเสียงจากกลุ่มชาวญี่ปุ่นที่ไม่เอานิวเคลียร์ซึ่งกำลังเป็นกระแสแรง
บ้างก็ว่า "โนดะ" ทำให้เกิดความสับสนกับทิศทางพลังงานของประเทศ เพราะรู้เต็มอก ว่าเป็นไปไม่ได้ที่ญี่ปุ่นจะไม่พึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์อีก
แค่เพียงหนึ่งปีที่รัฐบาลสั่งหยุดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 50 แห่ง เพื่อตรวจสอบระบบความปลอดภัยทั้งหมดหลังเกิดวิกฤตกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ ปรากฏว่าการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเพื่อทดแทนพลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สูงถึง 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 1.2 ล้านล้านบาท

ถ้านโยบายปลอดนิวเคลียร์ทำได้จริง ญี่ปุ่นรั้งตำแหน่งแชมป์นำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี มากที่สุดในโลก และนำเข้าน้ำมันมากเป็นอันดับสามของโลกอีกต่อไป


ประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายของ "โนดะ" นั่นคือ สหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส ต่างแสดงความกังวลออกมาอย่างชัดเจน 
สหรัฐเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้กับญี่ปุ่นมานานมากว่า 5 ทศวรรษ 
บริษัท เจเนอรัล อิเล็กทริกส์ จับมือกับบริษัทฮิตาชิ พัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาอย่างใกล้ชิด บริษัทเวสติ้งเฮ้าส์ ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทโตชิบา ทำธุรกิจด้านนิวเคลียร์ 
ส่วนบริษัทอาเรวาของฝรั่งเศสนั้น ร่วมทำโครงการด้านการจัดเก็บเชื้อเพลิงนิวเคลียร์กับบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี้ส์ 
ฉะนั้น เมื่อ "โนดะ" ประกาศเป้าหมายปลอดนิวเคลียร์ บรรดาประเทศเหล่านี้พากันเต้นเหมือนไส้เดือนโดนน้ำร้อนลวก 
เพราะนั่นหมายถึงว่า อุตสาหกรรมนิวเคลียร์จะสั่นคลอนอย่างรุนแรง

ญี่ปุ่นมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เดินเครื่องในปัจจุบัน 50 แห่ง และกำลังสร้างเตาปฏิกรณ์แห่งใหม่อีก 2 เตา ถ้านโยบาย "โนดะ" เลิกใช้นิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าเหล่านี้ก็หยุดการพัฒนาไปโดยปริยาย ปล่อยให้เฉาไปตามกาลเวลา



.