.
คนหนีรัฐ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1680 หน้า 32
การต่อสู้เพื่อขอบัตรประชาชนเป็นการต่อสู้ของ "ชาวเขา" สืบเนื่องกันมาหลายสิบปีแล้ว เพราะการเป็นพลเมืองของรัฐสมัยใหม่เช่นไทย ทำให้เขาเข้าถึงบริการของรัฐ (และสังคม) หลายอย่าง อันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการมีชีวิตอยู่ในรัฐสมัยใหม่
แต่เขาอยากเข้ามาอยู่ในรัฐสมัยใหม่ซึ่งเขาไม่ได้สร้างเอง ทำไม
คำตอบก็คือ เพราะรัฐสมัยใหม่ได้รุกเข้าไปครอบงำพื้นที่ของเขาจนดิ้นไม่หลุด ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ เขาถูก "ผนวก" เข้ามาในรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในสถานการณ์เช่นนี้ การไม่เป็นพลเมืองสร้างความเดือดร้อนให้เขาอย่างมหันต์
พวกเขาเคยหนีจากรัฐแบบอื่นมาแล้ว อย่างน้อยตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ (จีน) ก็ตลอด 1,500 ปีที่ผ่านมา ถึงตอนนี้จะหนีต่อไปอีก ก็ไม่มีพื้นที่ไหนเหลือให้หนีอีกแล้ว จึงต้องยอมถูกรัฐสมัยใหม่ครอบงำ และอยากถูก "กลืน" ใจจะขาด
พื้นที่หลบภัยของเขาคืออาณาบริเวณหุบห้วยเหวเขา แซมด้วยที่ราบลุ่มหุบเขา เล็กบ้างใหญ่บ้าง มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล จากเวียดนาม-จีน ผ่านลาว, ไทย, พม่า, เข้าอินเดีย ไปจนถึงอัฟกานิสถาน ประมาณว่าเป็นพื้นที่ 2.5 ล้านตาราง ก.ม. และมีประชากรไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน นี่คือพื้นที่ซึ่งรัฐโบราณเข้าไม่ถึงอย่างเต็มที่ นักประวัติศาสตร์อุษาคเนย์คนหนึ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐโบราณที่รับวัฒนธรรมอินเดีย กับพื้นที่นี้ ว่า "ภาษาสันสกฤตย่อมเงียบเสียงลงที่ความสูงตั้งแต่ 500 เมตรขึ้นไป" จึงเหมาะเป็นที่หลบภัยของ "ชาวเขา" รวมทั้งคนพื้นราบที่ต้องการหลบภัยจากรัฐ ก็อาจเข้ามาอยู่อาศัยร่วมด้วย
ก่อนจะมีรัฐสมัยใหม่ พวกเขาหลบลี้รัฐเร่ร่อนไปบนพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ โดยไม่เกี่ยวว่าได้เข้ามาอยู่ในประเทศใดแล้ว เพราะที่จริงก็ไม่มีรัฐใดอยู่บนนั้นเลย นี่คือพื้นที่ปลอดรัฐที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ผมพูดอย่างนี้ก็ไม่ถูกทีเดียวนัก เพราะขึ้นอยู่กับว่าผมกำลังพูดถึงยุคไหนสมัยไหนด้วย ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พื้นที่ส่วนใหญ่ในโลกคือพื้นที่ปลอดรัฐทั้งนั้น นักประวัติศาสตร์มักสนใจชุมชนซึ่งเป็นฐานให้เกิดรัฐ เช่น มีการปกครอง, มีระเบียบแบบแผนด้านต่างๆ, มีการค้า, มีสถานภาพทางสังคมที่แตกต่างกัน ฯลฯ
แต่ที่จริงแล้วถ้านับย้อนถอยหลังไปสัก 10,000 ปี หรือในอุษาคเนย์ย้อนไปสัก 2,500 ปี ประชากรโลกที่เข้าไปอยู่ในรัฐซึ่งนักประวัติศาสตร์ให้ความสนใจคงมีสัก 1% เท่านั้น ที่เหลือล้วนมีชีวิตอยู่ในพื้นที่ปลอดรัฐทั้งสิ้น แต่นักประวัติศาสตร์ไม่ใส่ใจคนเหล่านี้เลย... ก็ไม่มีเอกสารให้อ่านนี่ครับ
เอาเป็นว่า อาณาบริเวณที่ผมพูดถึงและถือว่าเป็นแดนปลอดรัฐที่ใหญ่ที่สุดในโลก หมายถึงประมาณสัก 100 ปีมาแล้ว
ความพยายามดิ้นรนเป็น "พลเมือง" ของรัฐสมัยใหม่ในประเทศไทย เป็นสัญญาณจบฉากการหนีรัฐไปสู่แดนปลอดรัฐของประชากรในอาณาบริเวณส่วนซึ่งเข้ามาอยู่ในแผนที่ของรัฐไทยสมัยใหม่
ฉากมันเริ่มต้นมาอย่างไร
คนเหล่านี้ซึ่งผมเรียกในที่นี้ว่า "ชาวเขา" คือใคร ในปัจจุบัน เรามักได้ยินคนอธิบายถึงคนเหล่านี้ว่า เขาคือแบบอย่างของการใช้ชีวิตแบบเดียวกับบรรพบุรุษของเรา คือเร่ร่อนหาของป่า, เพาะปลูกแบบเลื่อนลอย, ล่าสัตว์ ฯลฯ ประทังชีวิตไปวันๆ สรุปคือเป็นสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ เพราะไม่มี "อารยธรรม" เนื่องจากไม่ได้อยู่ในรัฐซึ่งมีอารยธรรม
แต่นักวิชาการอีกส่วนหนึ่งกลับมองตรงกันข้ามว่า คนเหล่านี้คือคนที่เลือกจะไม่อยู่กับรัฐต่างหาก สิ่งที่คนพื้นราบเรียกว่าอารยธรรมนั้น ที่จริงแล้วไม่ได้ลอยมาในอากาศเฉยๆ แต่ลอยมาพร้อมกับอำนาจรัฐ อยากได้อารยธรรมก็ต้องแลกกับการยอมรับอำนาจรัฐ และอำนาจรัฐหมายถึงการถูกเกณฑ์แรงงาน, ถูกแบ่งผลผลิต, ถูกเกณฑ์ไปทำสงครามซึ่งตนไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะเป็น "ราชกรีฑา" เท่านั้น, ต้องยอมรับสถานภาพสูง-ต่ำซึ่งเป็นฐานการปกครองของรัฐด้วย, รวมทั้งต้องยอมรับวัฒนธรรมของคนพื้นราบซึ่งไม่ได้เหมาะกับวิถีชีวิตของตน
คนหนีรัฐเหล่านี้เลือกที่จะไม่เอาอารยธรรม ซึ่งหมายถึงไม่เอารัฐด้วย ไม่ใช่คน "ป่าเถื่อน" นะครับ เขาเลือกที่จะเถื่อนเพื่อชีวิตที่ดีตามทัศนะของเขา
ในปัจจุบัน คำว่า "คนไร้รัฐ" ฟังดูอาภัพ แต่มีคนจำนวนมากทีเดียวในประวัติศาสตร์ที่ใฝ่ฝันและพยายามทำทุกอย่าง เพื่อจะได้เป็น "คนไร้รัฐ"
คนหนีรัฐนั้น ไม่ได้มีเฉพาะในอาณาบริเวณหุบห้วยเหวเขาของเอเชียที่ผมพูดถึงเท่านั้น แต่มีทั่วไปในโลกนี้ ในยุโรปที่เรารู้จักกันดี คือพวกคอสแสคในรัสเซีย ที่จริงพวกนี้คือทาสหนีนาย ไปตั้งตัวใช้ชีวิตในทุ่งราบห่างไกล ซึ่งมีคนหนีรัฐชาติพันธุ์อื่นๆ อาศัยอยู่แล้ว ได้เรียนรู้การขี่ม้าจากคนเหล่านั้น และพัฒนาอัตลักษณ์ของตนขึ้นแยกต่างหากจากคนรัสเซียทั่วไป เช่นเดียวกับพวกยิบซี ซึ่งอพยพมาจากอินเดีย เข้าใจว่าคงหนีรัฐมานั่นแหละ เมื่อมาเผชิญกับรัฐฝรั่ง ก็หนีต่อไปบน "ระเบียงแห่งความไร้ระเบียบ" ซึ่งพาดผ่านยุโรปตลอดแนวถึงรัสเซีย ใช้ชีวิตเร่ร่อนเพื่อไม่ให้รัฐครอบงำได้
ในอุษาคเนย์เอง ส่วนที่เป็นภาคพื้นสมุทรก็มีคนหนีรัฐอยู่อีกมากบนผืนน้ำของทะเลจีนและมหาสมุทรแปซิฟิก กลุ่มหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์คือกลุ่มที่ภาษามลายูเรียกว่า Orang Laut (ชาวเล-แต่ไม่น่าจะหมายถึง "อุรักลาโว้ย" หรือที่คนไทยเรียกว่า "ชาวเล" เพราะดูเหมือน Orang Laut ไม่ใช่เนกริโต)
คนกลุ่มนี้มีบทบาทในรัฐชายทะเลมาก เช่น ศรีวิชัย และรัฐมลายูต่างๆ เป็นต้น เพราะถูกจ้าง (ไม่ได้เกณฑ์นะครับ) ให้ทำหน้าที่เป็นทหารเรือ หรืออย่างน้อยก็จ้างให้ไม่ปล้นเรือสินค้า และพร้อมจะอพยพโยกย้ายออกจากเมืองท่าใดๆ ก็ตามที่ทำท่าจะเสื่อมโทรม เพื่อไปหาเมืองท่าใหม่ที่มั่งคั่งกว่า แสดงว่าไม่ได้เป็นไพร่ฟ้าของรายาหรือสุลต่านองค์ใดทั้งสิ้น เป็นคนหนีรัฐธรรมดาๆ นี่เอง
คนหนีรัฐเหล่านี้ทำทุกอย่างเพื่อให้รัฐ (ก่อนสมัยใหม่) ผนวกตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐได้ยาก เพราะถึงอย่างไรการจัดองค์กรทางสังคมของพวกเขาก็ไม่มีทางที่จะสู้กับรัฐได้ (แต่ก็ไม่ใช่ไม่สู้เลยนะครับ ประวัติศาสตร์จีนชี้ให้เห็นว่า เมื่อพวกฮั่นปราบและกลืนคนหนีรัฐเหล่านี้ได้ ก็มักจะต้องปราบกบฏใหญ่บ้างเล็กบ้างในเวลาต่อมา ครั้นถูกปราบแล้วสู้ไม่ได้ ก็พากันอพยพหนีไปให้พ้นอำนาจของรัฐฮั่น)
การแข็งข้อต่อรัฐของเขาจึงไม่ใช่การแข็งข้อด้วยการทำสงคราม แต่เป็นการแข็งข้อโดยวิถีชีวิต
ฉะนั้น เมื่อมองความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคนหนีรัฐแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่าคนหนีรัฐ "กบฏ" ต่อรัฐตลอดเวลา เพราะในวิถีชีวิตของเขานั่นแหละ ที่ทำให้ถูกกลืนได้ยาก เนื่องจากรัฐ (ก่อนสมัยใหม่) มองไม่เห็นประโยชน์ของพวกเขาเอาเลย
เริ่มตั้งแต่การทำไร่เลื่อนลอย ก็เป็นวิถีทางอย่างหนึ่งที่จะทำให้รัฐไม่อาจเกณฑ์แรงงานของเขา หรือแม้แต่แบ่งผลผลิตของเขาได้ง่ายๆ แล้ว (แม้ว่าการทำไร่เลื่อนลอยอาจเป็นวิธีทางการเกษตรที่เหมาะที่สุดสำหรับการจัดแรงงาน และนิเวศของที่สูงก็ตาม) พืชอาหารที่เพาะปลูกหรือหามาได้ก็มีลักษณะเดียวกัน
การล่าสัตว์เป็นการหาอาหารที่รัฐแย่งผลผลิตได้ยาก นับตั้งแต่มันเน่าเสียได้เร็ว ใครอยู่ใกล้ก็ต้องรีบหม่ำไปก่อน ส่วนธัญพืชที่ชาวเขาเพาะปลูก รัฐก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร สมัยที่ผมมาอยู่เชียงใหม่แรกๆ สักเกือบ 50 ปีมาแล้ว ชาวเขากินข้าวโพดมากทีเดียว (ในบรรดาอาหารแป้งที่บริโภค) ซ้ำยังเอามาทำเหล้าเสียอีก และดังที่รู้อยู่แล้วว่าข้าวโพดเป็นพืชจากทวีปอเมริกา ฉะนั้น กว่าจะไปถึงยอดเขาก็ต้องผ่านที่ราบมาก่อน แต่คนล้านนาและคนอยุธยา ไม่ได้กินข้าวโพดมากมายนัก เหล้าข้าวโพดยังไม่รู้จักด้วยซ้ำ การที่ชาวเขาเลือกข้าวโพดเป็นพืชอาหารค่อนไปทางหลักเช่นนี้ จึงแสดงว่าเขา "เลือก" นะครับ ไม่ใช่บังเอิญปลูกหรือบังเอิญชอบ
"ข้าวดอย" ก็เหมือนกัน เป็นข้าวเมล็ดสั้นและออกจะเหนียว อยู่ในตระกูลข้าวญี่ปุ่นหรืออินเดียผมก็ไม่ทราบ แต่ไม่เหมาะกับอาหารไทย (ภาคกลาง) เลย เพราะมันไม่ซึมน้ำแกงหรือน้ำพริกนัก สำหรับลิ้นผมแล้วเห็นว่าแสนจะไม่อร่อย อันที่จริงชาวเขาจะหาข้าวไร่พันธุ์ที่อร่อยกว่านี้ไปปลูกก็น่าจะได้ แต่เขา "เลือก" ที่จะปลูกข้าวพันธุ์ซึ่งไม่มีใครต้องการนอกจากชาวเขาด้วยกัน
ฉะนั้น แม้แต่พันธุ์ข้าวที่ปลูกก็เป็นการ "กบฏ" หรือต่อต้านรัฐกลายๆ อยู่ด้วย
เมื่อรัฐเริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นรัฐสมัยใหม่ ล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่ของคนหนีรัฐมากขึ้น พืชที่นิยมปลูกอีกอย่างหนึ่งคือฝิ่น ผมสงสัยว่า นอกจากฝิ่นเป็นพืชที่เหมาะสำหรับระบบนิเวศน์บนที่สูงแล้ว ฝิ่นยังอาจเป็นพืชที่ต่อต้านรัฐอีกอย่างหนึ่ง ถึงรัฐไทยต้องการฝิ่นไว้ผูกขาด แต่ก็ได้ฝิ่นจากต่างประเทศคือซื้อจากอังกฤษอีกต่อหนึ่ง ไม่ได้ไปซื้อฝิ่นกับชาวเขาโดยตรง ฝิ่นของชาวเขาไหลออกสู่ตลาดโลกผ่านจีน เป็นตลาดที่ไม่มีรัฐอยู่ในนั้น (เพราะจีนก็ห้ามปลูกฝิ่นเหมือนกัน) คนที่อยู่ในธุรกิจฝิ่นจึงเป็นมาเฟีย ชาวเขายินดีค้าขายกับมาเฟียมากกว่าปลูกพืชที่รัฐอยากได้
เพิ่งมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฝิ่นของชาวเขาจึงเริ่มไหลลงสู่ตลาดไทยโดยตรง แต่ชาวเขาก็ยังค้าฝิ่นกับ "มาเฟีย" กลุ่มต่างๆ อยู่นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังจีนฮ่อ หรือนายหน้าของนายพลคนคดทั้งจากกองกำลังตำรวจและทหารในกรุงเทพฯ ไม่เคยติดต่อค้าขายผ่านอะไรที่มีรัฐเข้ามาเกี่ยวอยู่นั่นเอง
ไม่เฉพาะแต่การทำมาหากินเท่านั้น แม้แต่วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชาวเขา ก็เจตนาที่จะทำให้แตกต่างจากคนพื้นราบซึ่งเป็นพสกนิกรของรัฐไทย จนไม่นานมานี้เอง ชาวเขาก็ยังแต่งตัวเป็นชาวเขาโดยไม่เคยปรับเปลี่ยนมาให้เหมือนคนพื้นราบ แม้ต้องลงมาจับจ่ายซื้อข้าวของในเวียงเป็นครั้งคราวก็ตาม
หลาย "เผ่า" ของชาวเขา มีประดิทินของตนเอง ฉลองปีใหม่ตามวิถีทางของเขา และไม่มี "เผ่า" ใดที่เป็นพุทธเหมือนไทย (จนเมื่ออยากถูกกลืนแล้วนั่นแหละ จึงได้เปลี่ยนศาสนา) บาง "เผ่า" อาจเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ แต่ศาสนาคริสต์ไม่ใช่ศาสนาของรัฐไทย อีกทั้งเป็นคริสต์ที่แตกต่างจากคำสอนหลักพอสมควร เช่น เจือปนความเชื่อเรื่องผีไว้อย่างหนาแน่น
อันที่จริง แม้ว่ารัฐสมัยใหม่เอื้อประโยชน์ให้คนหลายอย่าง เพราะไปแย่งงานของครอบครัว, ชุมชน และสังคมเก่าไปทำเอง แต่รัฐก็เป็นภาระอันหนักของพลเมืองด้วย ไม่แต่เพียงต้องเสียภาษีและเกณฑ์ทหารเท่านั้น แต่รวมถึงการถูกเบียดขับด้านวิธีคิด, วัฒนธรรมท้องถิ่น และโลกทรรศน์ที่เป็นอิสระของตนลง
อำนาจของรัฐสมัยใหม่นั้นมีมาก จะหนีไปไหนก็ไม่ได้ ทั้งชาวเขาและคนอื่นๆ เหมือนกันหมดนะครับ
ดังนั้น พื้นที่ลี้ภัยจากรัฐสมัยใหม่จึงเป็น "ประชาธิปไตย" หรือระบบอะไรก็ตามที่ทำให้คนซึ่งหนีรัฐไม่พ้น พอจะควบคุมรัฐได้บ้าง
( อาศัยความคิดและข้อมูลบางส่วนจากศาสตราจารย์ James C. Scot, The Art of Not Being Governed )
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย