http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-08

เกษียร(4): ข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน The Spectral Material Force

.

เกษียร เตชะพีระ : ข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน The Spectral Material Force
ในมติชน ออนไลน์  วันศุกร์ที่ 05 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 20:00:32 น.
( ที่มา คอลัมน์ กระแสทรรศน์ โดย เกษียร เตชะพีระ นสพ.มติชนรายวัน ประจำวันศุกร์ 5 ตุลาคม 2555 )


"ขอยืนยันอีกครั้งว่า..
"นิติราษฎร์จะไม่ยอมออกไปจัดนอกสถานที่ เราจะพยายามหาทางจัดงานใน มธ ให้ได้ 
"ไม่ใช่เรารังเกียจหรือตั้งแง่กับสถานที่อื่น แต่เราต้องการยืนยันว่า เราไม่ได้ทำอะไรผิด เราจัดงานอภิปรายวิชาการ การไม่อนุญาตหรือสร้างเงื่อนไข เพื่อให้นิติราษฎร์ไม่ได้จัดงานหรือจัดได้ยากขึ้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง หากจะทำ ก็ต้องทำให้เหมือนกันหมด หากเรายอมรับสิ่งผิด สิ่งผิดมันก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไป

"คณะนิติราษฎร์ไม่ใช่ภาระของ มธ 
"คณะนิติราษฎร์ไม่ใช่อุปสรรคกวนใจของ มธ"

ข้อความจาก Facebook ของอาจารย์ ดร. Piyabutr Saengkanokkul
September 21, 2012


ผมอยากสรุปจบบทความชุด "ข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน" (ผ่านมา 3 ตอนแล้ว ได้แก่ The Weary Moderation, The Zombie Opposition, และ The Politics of Mediocrity) ด้วยข้อสังเกตที่ดูเป็นเรื่องปลีกย่อยใกล้ตัว แต่ผมคิดว่ามีนัยสำคัญต่อการเมืองไทยในระยะยาว กล่าวคือ :
ทำไมคณะนิติราษฎร์จึงยุ่งยากนักเรื่องหาที่จัดงานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์?


พูดอย่างเยือกเย็นและเป็นภาววิสัย ผมคิดว่าเป็นเพราะมีอะไรบางอย่างในกิจกรรมของคณะนิติราษฎร์ (ดูความเป็นมาของนักนิติศาสตร์กลุ่มนี้ที่ www.enlightened-jurists.com/about ) ที่แปลกใหม่ ไม่เป็นที่คุ้นเคยของงานวิชาการธรรมดาทั่วไป กล่าวคือ: -

1) สิ่งที่นิติราษฎร์ทำคือการต้านรัฐประหาร ซึ่งผิดวิสัยธรรมชาติธรรมดาของนักกฎหมาย และนักนิติศาสตร์ไทยกระแสหลักทั่วไป เพื่อนร่วมวิชาชีพคนอื่นส่วนใหญ่เขาไม่ทำกัน 
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมขอยกเรื่องเล่าเหตุการณ์ในคืนรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 จาก ปากคำของนักกฎหมายท่านหนึ่งมาเป็นตัวอย่าง:
"เมื่อตอนเข้าไปคืนวันแรก (19 ก.ย.) ก็ถูกนำตัวเข้าไปในห้องทำงานของ ผบ.ทบ. ซึ่งก็ได้พบกับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และเลขานุการของท่าน อีกทั้งยังพบคณะนายทหารนั่งอยู่อีก 6-7 นาย ซึ่งนายมีชัยเมื่อเห็นหน้าตนก็ดีใจ พร้อมกับออกปากให้มาช่วยกันทำงาน.....
"เวลานั้นแม้เครื่องพิมพ์ดีดยังไม่มีเลย โน้ตบุ๊กของใครก็ไม่รู้ตั้งอยู่ 1 ตัว พิมพ์ติดบ้างไม่ติดบ้าง คนพิมพ์ก็ไม่มี ตอนผมขับรถมาระหว่างทางยังถามว่ามีคนพิมพ์ดีดหรือไม่ ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าถ้าจะพิมพ์คงพิมพ์ได้ แต่ไม่คล่อง ให้ผมหาคนพิมพ์มาด้วย ผมก็เลยแจ้งไปที่พรรคพวกให้เตรียมตัวหาตำรับตำรากฎหมาย คู่มือประกาศคำสั่งไว้ จากนั้นก็ให้รีบนำมาให้ผมที่กองบัญชาการกองทัพบก ทันที.....
"ประกาศที่ตนเขียนเป็นฉบับแรกคือประกาศให้รัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี (ครม.) สิ้นสุดลง ซึ่งตอนแรกจะไม่เอาศาลรัฐธรรมนูญมารวม แต่เกิดถ้าศาลยังอยู่แล้วจู่ๆ เกิดมีมือดีไปขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็จะเป็นปัญหาตามมา อย่างไรก็ตาม ประกาศฉบับนี้ถือเป็นการประกาศที่มีนัยสำคัญ เพราะเป็นการ (ประกาศ?) อย่างเป็นทางการว่าการยึดอำนาจการปกครองนั้นได้สำเร็จ และสิ้นสุดแล้ว รัฐธรรมนูญ ครม. สภาผู้แทนราษฎร ศาลรัฐธรรมนูญก็สิ้นสุดลงโดยประกาศฉบับนี้.....
"ประกาศ (ยึดอำนาจ) ฉบับนี้ถูกร่างขึ้นมาก่อนหน้าแล้ว ตนเป็นเพียงแต่งเติมบางส่วนเท่านั้น ไม่ใช่สำนวนการร่างประกาศของตน ซึ่งตนรู้สึกว่าในสถานการณ์และบรรยากาศอย่างนั้นถือว่าดีที่สุดแล้ว จะเรียกหาตำรากฎหมายมาดูในขณะนั้นก็ไม่มีสักเล่มเดียว ทั้งนี้ คืนวันแรกมีการหารือเรื่องสำคัญ คือเรื่องกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อเป็นการส่งสัญญาณต่อชาวโลกว่า คณะปฏิรูปฯไม่ต้องการยึดอำนาจไว้นาน โดยต้องฟื้นกฎหมายเลือกตั้งขึ้นมา โดยตนได้หารือกับนายมีชัยจนได้ข้อยุติในคืนนั้น"

ไพศาล พืชมงคล นักกฎหมายและทนายความ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติยุค คมช.
"เปิดใจ "ไพศาล" บุรุษผู้อยู่เบื้องหลังร่างประกาศ คปค."
Manager Online, 5 ต.ค.2549 



แบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างนักกฎหมายและนักนิติศาสตร์กับรัฐประหารในการเมือง ไทยก็สะท้อนผ่านข้อความข้างต้นที่ยกมา กล่าวคือเริ่มต้นจาก...

- ยุคแรกสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 นักกฎหมายและนักนิติศาสตร์ทำหน้าที่อธิบาย "หลักที่ว่าด้วยสิทธิของมนุษยชน" อัน "จำเป็นที่สุดในการศึกษากฎหมายปกครอง" ซึ่งประกอบด้วย "1.เสรีภาพ (Liberte?) 2.สมภาพ (Egalite?) 3.ภราดรภาพ (Fraternite?)" (หลวง ประดิษฐมนูธรรม, "คำอธิบายกฎหมายปกครอง",2475)

- ยุคปฏิวัติรัฐประหารหลัง พ.ศ.2490 นักกฎหมายและตุลาการปฏิบัติต่อบรรดาประกาศ คำสั่งของคณะปฏิวัติอย่างศักดิ์สิทธิ์เทียบเทียมกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยชอบ ถือว่าประกาศคำสั่งเหล่านั้นสามารถยกเลิกลบล้างกฎหมายที่มีมาก่อนหน้านั้นได้ ตามหลักที่ว่าใครกุมอำนาจรัฐได้จริงในทางปฏิบัติก็คือองค์อธิปัตย์และมีสิทธิออกกฎหมาย มิไยว่าจะปล้นชิงแย่งยึดเอาอำนาจนั้นมาด้วยกำลังก็ตาม (เสน่ห์ จามริก, "ระบอบปฏิวัติกับหลักนิติธรรม อย่างไทย", การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ, 2529)

- ยุคระบอบประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 นักนิติศาสตร์และนักกฎหมายมหาชนแสดงบทบาทเกลี่ยเชื่อมรอยต่อของระบอบการเมืองการปกครองระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ โดยพยายามรักษาพระราชอำนาจและประคับประคองสถานะความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้: จาก [ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ระบอบเผด็จการอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยอ้างอธิบายว่าสถาบันกษัตริย์เป็นที่สถิตของอำนาจอธิปไตยระหว่างที่คณะรัฐประหารยึดอำนาจไปจากประชาชน จนกว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จและประกาศใช้เมื่อใด เมื่อนั้นอำนาจอธิปไตยก็จะหวนกลับไปให้พระมหากษัตริย์กับประชาชนถือครอง ร่วมกันอีกครั้ง (บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชนเล่ม 2, 2537, น.2-148, 182, 189-91)

ผลลัพธ์โดยรวมของการนี้ส่งผลให้รัฐประหารกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ธรรมชาติธรรมดาของรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2) รูปแบบกิจกรรมของนิติราษฎร์โดยเฉพาะในระยะหลังจากนำเสนอการลบล้างผลพวงรัฐประหารเต็มตัวชัดเจนเมื่อกันยายนศกก่อน (http://shows.voicetv.co.th/intelligence/18839.html) ไม่ได้เป็นแค่งานวิชาการทั่วไป หากมีลักษณาการที่ Karl Marx เรียกว่าทฤษฎีที่แปรเปลี่ยนเป็นพลังทางวัตถุ ดังที่เขาบรรยายไว้ในบทนำของ Contribution to Critique of Hegel?s Philosophy of Right (ค.ศ.1844) ว่า:

".....ทฤษฎีก็กลายเป็นพลังทางวัตถุด้วยเช่นกันทันทีที่มันยึดกุมจิตใจมวลชนไว้ได้ ทฤษฎีจะสามารถยึดกุมมวลชนได้ทันทีที่มันสำแดงให้เห็นธาตุแท้ของสิ่ง และมันจะสำแดงให้เห็นธาตุแท้ของสิ่งทันทีที่มันมีลักษณะถึงรากถึงโคน การมีลักษณะถึงรากถึงโคนก็คือการยึดกุมรากเหง้าของเรื่องไว้ได้..."

กล่าวคือเป็นทฤษฎีที่ประสานเข้ากับปฏิบัติการทางการเมือง, เป็นภูมิปัญญาสาธารณะที่ประสานเข้ากับพลังมวลชน, มวลชนได้เข้ายึดกุมข้อเสนอของนิติราษฎร์เสมือนสิ่งสะท้อนความนึกคิดและความเรียกร้องต้องการในใจของตัวเองแล้วผลักดันให้มันกลายเป็นจริงผ่านการเคลื่อนไหวโดยกระบวนการ [เชื่อทฤษฎี -->ทำตามทฤษฎีนั้น -->ทฤษฎีนั้นกลายเป็นความจริง]

มันเปิดเงื่อนไขโอกาสความเป็นไปได้ที่มวลชนคนเสื้อแดงบางส่วนจะไม่ต้องยอมจำนนอยู่ภายใต้การนำแบบ The Politics of Mediocrity (แนวทางการเมืองแบบพอถูๆ ไถๆ เฮงๆ ซวยๆ ไปวันๆ) ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันอีกต่อไป

ชุดความรู้หรือภูมิปัญญาสาธารณะหนึ่งๆ ที่ถูกมวลชนยึดกุมไป [เชื่อ->ทำ->จริง] จนกลายสภาพเป็นพลังทางวัตถุผุดโผล่ขึ้นราวปีศาจ (The Spectral Material Force)นั้น ย่อมไม่ใช่ปรากฏการณ์คุ้นชินในแวดวงวิชาการมหาวิทยาลัยที่เรียกกันว่า "หอคอยงาช้าง" ความรู้สึกผิด แปลกกริ่งเกรงและเกร็งย่อมอาจเกิดได้เป็นธรรมดา


นอกจากนี้ ก็เป็นปกติวิสัยของคนที่เดินนำหน้าออกไปก่อนย่อมเดียวดายบ้าง คนอื่นตามไม่ทันบ้าง แต่นี่ไม่ได้หมายความว่านิติราษฎร์โดดเดี่ยว ไม่มีเพื่อนมิตรที่เห็นด้วยหรือเข้าใจในวงวิชาการ

หากขยายแวดวงของการสานเสวนาทางวิชาการให้กว้างขวางออกไปสู่สาขาวิชาอื่น (ไม่เฉพาะนิติศาสตร์) และรูปแบบอื่น (ไม่เฉพาะการจัดเวทีตลาดวิชาการมวลชน) โดยที่ในกระบวนการนั้นนิติราษฎร์และเพื่อนนักวิชาการจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและปรับแนวคิดข้อวิเคราะห์ให้รอบด้านหลากหลายขึ้น

ก็อาจช่วยสร้างเงื่อนไขเอื้อเฟื้อให้คำขวัญของนิติราษฎร์ปรากฏเป็นจริงทั่วธรรมศาสตร์และแผ่กว้างออกไป กล่าวคือจาก "นิติศาสตร์เพื่อราษฎร" สู่ รัฐศาสตร์เพื่อราษฎร, เศรษฐศาสตร์เพื่อราษฎร, ประวัติศาสตร์เพื่อราษฎร, วารสารศาสตร์เพื่อราษฎร ฯลฯ มุ่งสู่การฟื้นคืนจิตวิญญาณดั้งเดิมของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ซึ่งก็คือ "...มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพ ของการศึกษา..." (ท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์) ในที่สุด



.