.
อำนาจและความรุนแรง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1678 หน้า 30
แม้หลานอยากเล่นปืน ผมก็ไม่เคยซื้อปืนให้เล่น และบอกกล่าวคนใกล้ชิดว่าอย่าซื้อปืนให้หลานเล่น
ก็ผมเชื่อที่เขาพูดๆ กันว่า เล่นปืนคือสอนให้เด็กคุ้นเคยกับความรุนแรงนี่ครับ ... โดยไม่ทันได้คิดอะไรมาก
แต่เมื่อหลานโตขึ้น และมีเพื่อนเล่นมากขึ้น การกีดกันมิให้เล่นปืนของผมก็ล้มเหลว เริ่มตั้งแต่ปืนฉีดน้ำ ไปจนถึงปืนอย่างอื่นๆ ที่เรียกกันว่าอาวุธสงคราม และเขาก็ยิงผมด้วยปืนเหล่านั้นอย่างสนุกสนาน
ถึงผมและคนใกล้ชิดไม่ซื้อ ก็มีคนอื่นๆ ซื้อมาฝากจนได้
ครั้งสุดท้าย เขามีรถหุ้มเกราะถึงสองคัน เมื่อเปิดสวิตช์ รถนั้นก็จะวิ่ง พร้อมเสียงปืนกลหนักที่อยู่ติดรถรัวสนั่น มีเสียงผู้กองในรถตะโกนสั่ง Fire, fire, move, move, fire, fire ออกมาให้ได้ยินชัดเจนด้วย
หลานซึ่งเป็นเด็กอนุบาลหนึ่ง และรู้ภาษาอังกฤษไม่เกิน เอบีซี ตะโกนหนุนผู้กองด้วยภาษาอังกฤษว่า Fire บ้าง Move บ้าง ชัดแจ๋วยังกะเด็กฝรั่งเลย
จะปลูกฝังความเคยชินกับการไม่ใช้ความรุนแรงอย่างไรจึงจะสำเร็จได้ ยากจริงๆ นะครับ ผมเองฟังและอ่าน อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มาตั้งนานแล้ว ก็ยังไม่เคยชินอยู่นั่นเอง
ตั้งแต่สมัยที่หลานยังไม่มีปืนสักกระบอก เขาก็ถามผมแล้วว่าปืนใช้ทำอะไร
ผมหาคำตอบที่พอใจตัวเองไม่ได้สักคำตอบเดียว จึงต้องตอบไปตามตรงว่าใช้ทำร้าย "ผู้ร้าย" คือไม่ใช่ทำร้ายใครก็ได้ แต่ต้องเป็นคนที่เราเห็นว่าเป็น "ผู้ร้าย"
ที่ไม่พอใจกับคำตอบก็เพราะ ทำไมเราจึงต้องทำร้าย "ผู้ร้าย" รุนแรงขนาดนั้นล่ะหว่า
จะบอกว่าปืนเป็น "อาวุธ" อย่างหนึ่ง คำว่า "อาวุธ" เป็นคำรวมและว่าที่จริงก็ไม่มีคุณสมบัติที่แท้จริงของตัวเอง กรรไกรตัดเล็บก็อาจใช้เป็น "อาวุธ" ได้ คุณสมบัติของ "อาวุธ" อยู่ที่ใจของผู้ใช้ ไม่ได้อยู่ที่ตัววัตถุ จะอธิบายเรื่องนี้ให้เด็กอนุบาลฟังได้อย่างไร
โดยไม่จำเป็นต้องยึดถือทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่ ผมสังเกตว่าผู้ใหญ่มักอธิบายหน้าที่ของสิ่งต่างๆ มากกว่าธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งนั้นให้เด็กฟัง นั่นคือสร้างโลกที่เด็กจะเข้าไป "ใช้ประโยชน์" กับสิ่งต่างๆ ไม่ใช่สร้างความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลก
เมื่อไรจึงจะถึงเวลาอธิบายธรรมชาติของสิ่งต่างๆ สักที ผมก็ไม่ทราบ แต่ยอมรับว่า เราอาจมีชีวิตอยู่ไปได้จนตายโดยไม่ต้องรู้ถึงธรรมชาติของสิ่งใดเลย ขอให้รู้แต่ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไรได้ก็พอแล้ว แต่นั่นจะเป็นชีวิตที่ "ดี" หรือไม่ก็ไม่แน่ใจ
แต่แน่ใจว่า การศึกษาที่สนใจความรู้เพียงเท่านั้น ย่อมไม่อาจบรรลุอะไรที่สำคัญแก่ความรู้ของมวลมนุษย์ได้
กลับมาเรื่องรถหุ้มเกราะของหลาน ผมเพิ่งมานึกออกว่าเขาสนุกสนานกับการออกคำสั่งให้ยิง หรือเคลื่อนรถ ก็เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ เขาเคยบอกผมว่า โตขึ้นเขาอยากเป็นสไปเดอร์แมน, ซูเปอร์แมน และอยากเป็นทหาร
ทั้งหมดคืออำนาจทั้งนั้นนะครับ
ไม่แปลกประหลาดอะไร เมื่อผมเป็นเด็ก-โตกว่าเขาตอนนี้เสียอีก-สมัยที่ยังไม่มีดีวีดีฉายดูในบ้าน และการดูหนังก็เป็นโอกาสพิเศษในชีวิต ผมอยากเป็นกระเป๋ารถเมล์ และอีกหลายคนที่ผมรู้จักก็เคยใฝ่ฝันจะเป็นกระเป๋ารถเมล์ ผมมาเข้าใจในภายหลังว่า กระเป๋ารถเมล์คืออำนาจสำหรับเด็ก เพราะเพียงแค่เป่านกหวีด ก็สามารถสั่งให้รถหยุดหรือรถออกได้ ตลอดการเดินทางของเด็ก กระเป๋าคือผู้กำกับการใหญ่สุด
จะโดยใช้ความรุนแรงหรือไม่ก็ตาม เด็กอยากมีและอยากใช้อำนาจ
ทำไมเด็กจึงอยากมีและอยากใช้อำนาจ?
ก็เพราะเด็กถูกเลี้ยงดูมาโดยการใช้อำนาจล่ะสิครับ เพราะในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ไม่ว่าจะเท่าเทียมกันอย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ก็คือการใช้อำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งในความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่และเด็กซึ่งช่วยตัวเองไม่ได้หลายเรื่อง ความสัมพันธ์ย่อมมีลักษณะของการใช้อำนาจอย่างชัดเจนมากขึ้น
ยิ่งเมื่อเด็กรู้ภาษามากขึ้น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจยิ่งปรากฏให้เด็กเห็นได้ชัดขึ้น แม้แต่ตัวภาษานั้นเอง ก็แฝงความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจไว้เต็มเปี่ยม ไม่เฉพาะแต่ศัพท์แสงหรือหางเสียงที่ผู้ใหญ่มักสอนให้เด็กใช้เท่านั้น แต่รวมไปถึงความดังและความเข้มของเสียงด้วย
แม้พยายามบังคับตัวเองอย่างไร แต่เวลาดุหรือห้ามเด็กทำอะไรที่อันตราย ผู้ใหญ่ก็มักใช้เสียงที่เข้มขึ้น หรือบางครั้งดังขึ้นโดยไม่ตั้งใจ เด็กซึมซับเอาวิธีการใช้อำนาจอย่างหนึ่งไปโดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน
เมื่อก่อนที่เขาจะใช้ภาษาได้คล่อง หลานผมจะกรีดเสียงดังสนั่นเมื่อถูกขัดใจ ผมคิดว่าเขาต้องการต่อรองอำนาจด้วยวิธีง่ายๆ คือขึ้นเสียงดังเท่านั้น แต่เขาไม่มีคำเพียงพอที่จะใช้เป็นพาหะให้แก่เสียงดัง จึงใช้การกรีดร้องอันไม่เป็นคำแทน
ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากการร้องไห้เมื่อก่อนจะพูดได้ บางครั้งเพื่อบอกอะไรบางอย่าง แต่บางครั้งเพื่อต่อรองอำนาจ การโยเยก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการต่อรองอำนาจ หรือทดสอบอำนาจ
เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างกันจึงเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อำนาจ, การใช้อำนาจ, และการต่อรองอำนาจ จึงเป็นแกนหลักอันหนึ่งของการเรียนรู้ที่มนุษย์ในทุกวัฒนธรรมถ่ายทอดให้ลูกหลาน
อาวุธและกำลังกายเป็นวิธีหนึ่งของเรื่องอำนาจ, การใช้อำนาจ และการต่อรองอำนาจ แต่อาวุธไม่ใช่ความรุนแรงในตัวเอง ยังมีการใช้และต่อรองอำนาจอีกหลายอย่างที่เป็นความรุนแรง โดยไม่เกี่ยวกับอาวุธเลย กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมหรือเลือกปฏิบัติก็เป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง การศึกษาที่ไม่อนุญาตให้นักเรียนได้ต่อรองอำนาจเลย ก็เป็นความรุนแรงอีกอย่างหนึ่ง ระบบที่เปิดโอกาสให้นายจ้างกดขี่เอารัดเอาเปรียบแรงงานพม่าอย่างโหดร้าย ก็เป็นความรุนแรงอีกอย่างหนึ่ง
อำนาจเป็นสิ่งที่ต้องมีในความสัมพันธ์ของมนุษย์ ปัญหามาอยู่ที่การใช้อำนาจและการต่อรองอำนาจต่างหาก ความรุนแรงเป็นเครื่องมือที่มนุษย์คุ้นเคยในการใช้และต่อรองอำนาจมานาน ศาสนาและระบบศีลธรรมทั้งหลายล้วนมีจุดประสงค์ในการบรรเทาการใช้ความรุนแรงในการใช้อำนาจและต่อรองอำนาจ แต่ก็ไม่มีศาสนาใดสามารถขจัดการใช้ความรุนแรงไปได้ แท้จริงแล้วตัวศาสนาเองกลับเป็นเหตุให้ใช้ความรุนแรงต่อกันก็ไม่น้อย
ผมคิดว่า หากเราไปแยกความรุนแรงออกจากการใช้อำนาจและการต่อรองอำนาจ การอบรมสั่งสอนให้เลิกใช้ความรุนแรงก็มักจะไร้ความหมาย
หนังฮอลลีวู้ดที่นิยมเสนอฉากการใช้ความรุนแรงอย่างเมามันนั้น แม้จะตัดออกหรือเบลอภาพอย่างไร ก็ไร้ความหมาย เพราะท้องเรื่องบอกชัดเจนว่า วิธีที่ได้ผลที่สุดในการใช้อำนาจและต่อรองอำนาจ คือความรุนแรง
ถึงผมไม่ได้เห็นเลือดสาดเต็มจอ ผมก็ซึมซับหรือตอกย้ำให้ตัวเองได้ว่า ความรุนแรงนั่นแหละคือเครื่องมือที่วิเศษสุดในการใช้อำนาจและต่อรองอำนาจ อันเป็นกระบวนการที่เกิดในชีวิตประจำวันของทุกคนเกือบ 24 ชั่วโมง
แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ไม่คิดว่าควรเซ็นเซอร์หนังที่ใช้ความรุนแรงในการใช้อำนาจหรือต่อรองอำนาจ เพราะมันจริงนี่ครับ จริงทั้งในความหมายว่าเกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิตจริง และจริงที่มันเป็นปัญหาใหญ่ของชีวิตมนุษย์ที่เราต้องช่วยกันขจัดหรืออย่างน้อยบรรเทาลง จะช่วยกันแก้ปัญหาได้อย่างไรเล่าครับ ถ้าไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นจริงในชีวิต
ผมคิดว่ามันตลกด้วยซ้ำ ที่เราไปเบลอภาพปืนในหนัง แต่ปล่อยให้ผู้สังหารหมู่ประชาชนเพื่อรักษาอำนาจของตนเองลอยนวล
มันเป็นหนังซ้อนหนังที่น่าจะทำหนังสักเรื่องมาซ้อนทับลงไปอีกที
สรุปอีกทีว่า เรื่องของความรุนแรงกับเรื่องของการใช้อำนาจและต่อรองอำนาจเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ แต่ไม่ใช่สองด้านของเหรียญเดียวกัน เพราะเราหวังว่า เราจะสามารถเอาความรุนแรงออกไป โดยที่ยังต้องยอมรับอำนาจ, การใช้อำนาจ และการต่อรองอำนาจอยู่ต่อไป แต่ทำได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง
มันยากอย่างนี้แหละครับ (คือยากทั้งในเชิงทฤษฎี และยากในเชิงปฏิบัติ) จึงเกินสติปัญญาของผมที่จะสอนหลานให้เคยชินกับการไม่ใช้ความรุนแรง เพียงแต่แน่ใจว่าไม่ใช่การไม่เล่นปืนหรือรถหุ้มเกราะ หรือไม่ดูหนังบู๊ล้างผลาญ ฯลฯ
ใครคิดออกช่วยบอกทีเถิดครับ
ที่ยากขึ้นไปอีกก็เพราะผมเข้าใจว่า ในวัฒนธรรมไทย ทั้งอดีตและตกค้างมาถึงปัจจุบัน เห็นว่าความรุนแรงเป็นเครื่องมือของการใช้อำนาจที่ขาดไม่ได้ การประหารชีวิตในสมัยโบราณมักทำกันบนทางสามแพร่ง คือทำในที่สาธารณะซึ่งสะดวกแก่การ "เข้าชม" ยังไม่พูดถึงการประหารด้วยวิธีที่สยดสยองอื่นๆ เช่นเอานักโทษไว้ในตะกร้อให้ช้างเตะ
กรมราชทัณฑ์ตั้งใจจะ "ฟื้นฟู" ผู้ต้องขัง ตามทฤษฎีการลงทัณฑ์สมัยใหม่จริงจังแค่ไหน ผมไม่ทราบ แต่สาธารณชนไทยยังมองการต้องขังเป็นเรื่องของการแก้แค้นเหมือนเดิม เช่น ติดคุกแล้วจะอยู่สบายไม่ได้ เดี๋ยวทุกคนจะสมัครใจเข้าคุกกันหมด นับเป็นทัศนะที่เหยียดหยามทั้งเสรีภาพ และมนุษยภาพไปพร้อมกัน
เวลานี้หลานรู้จักความเอื้อเฟื้อพึ่งพากันกับชีวิตอื่นด้วยคำว่า "สงสาร" เท่านั้น เช่นเมื่อเดินข้ามมด เขาจะพูดว่า "สงสารมันใช่ไหม" เพื่อขอคำรับรอง
แต่เขาควรพัฒนาความรู้สึกสงสารไปสู่การให้คุณค่าแก่ชีวิตอื่น และสำนึกถึงการเกาะเกี่ยวกันของสรรพชีวิตบนผืนโลก เขาจะมีโอกาสพัฒนาความรู้สึกสงสารไปสู่ความเข้าใจเช่นนั้นได้หรือไม่ในสังคมนี้
"สงสาร" เกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้อื่นได้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงแล้ว (โดยตรงหรือโดยโครงสร้างก็ตาม) สงสารจึงเป็นเพียงการเยียวยาเหยื่อของความรุนแรง ไม่ได้นำไปสู่การละเว้นจากการใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย