.
ขอแสดงความกังวล
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 05 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1677 หน้า 89
อาทิตย์ทั้งอาทิตย์ที่ผ่านมามีแต่ข่าวหนักๆ บวกดราม่าหลายเรื่อง
ข่าวหนักๆ เช่น งานเสวนาในหัวข้อการรัฐประหารกับระบอบรัฐธรรมนูญ ของนิติราษฎร์
-คนมองโลกในแง่ดีอย่างฉันเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกี่ยวกับการรับรู้ของสังคมต่อนิติราษฎร์ นั่นคือ งานเสวนานี้ของนิติราษฎร์เริ่มเเป็นข่าวสำคัญในสื่อกระแสหลัก และการเลือกหยิบบางประโยคของนิติราษฎร์แล้วเที่ยวไปพาดหัวตีความแบบผิดๆ จนถึงขั้นใส่ร้ายกันเริ่มน้อยลง
ทำให้ฉันคิดเข้าข้างตัวเองได้อีกว่า การยืนยันทำความเข้าใจกับสังคมด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง
การไม่เหน็ดเหนื่อยที่จะอธิบาย แก้ไขความเข้าใจผิดของสังคมเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างไม่ท้อแท้
เพราะอย่างน้อยเราต้องมีความเชื่อมั่นว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ได้สติฟั่นเฟือน แต่ข่าวของคนสติฟั่นเฟือนอาจถูกนำเสนอจนกลายเป็นภาพตัวแทนของคนทั้งสังคมไป
ส่วนข่าวหนักที่กลายเป็นดราม่าคือ กรณีอาจารย์นิด้ายื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนั้นละเมิดรัฐธรรมนูญ ตามมาด้วยการท้าดีเบตของตัวแทนสมาคมชาวนาไทยกับนักวิชาการนิด้า ยังความปวดเศียรเวียนเกล้าต่อผู้ที่แก่เพราะ "กินข้าว" แต่ไม่เคยรู้เรื่อง "ข้าว" อย่างฉันเป็นยิ่งนัก
วันนี้หากจะมีข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อ "สังคมไทย" น่าจะเป็นข่าวเชิงลึกที่บอกคนไม่รู้เรื่อง "ข้าว" เกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์ของการกำหนดราคาข้าวของไทยที่เอาเข้าจริงๆ แล้วเกี่ยวข้องกับกลไกตลาดน้อยมาก
ท่ามกลางเรื่องหนักๆ อาทิตย์นี้ขอเขียนเรื่องเบาๆ และกลับสู่เรื่องที่ตนเองหมกมุ่น อันตรงกับ sms ของผู้ชมรายการดีว่าส์คาเฟ่ท่านหนึ่งที่ส่งเข้ามาในรายการว่า "คำ ผกา จะไม่พูดเรื่องอะไรที่อยู่เหนือสะดือขึ้นมาเลยหรือ"
คำตอบคือ "ก็ใช่น่ะสิ"
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการเมืองแบบ "ผู้ชายๆ" คือ การเมืองเรื่องโครงสร้าง การเมืองเรื่องการเลือกตั้ง การเมืองว่าด้วยการกระจายอำนาจ การเมืองว่าด้วยรัฐธรรมนูญนั้นเป็น "การเมือง" ที่แสนจะชัดเจน มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จับต้องได้ในคูหาการเลือกตั้งหรือตายได้ด้วยสไนเปอร์
แต่การเมืองเรื่อง "อุดมการณ์" อันเป็นเรื่องที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จับต้องไม่ได้ เป็นเรื่องโหดหินต่อการนำมาตีแผ่ เปิดโปง
อย่าว่าแต่คนอื่น แม้แต่ตัวเราเองที่คิดเรื่อง "อุดมการณ์" ตลอดเวลายังเพลี่ยงพล้ำ อยู่ในการครอบงำของ "อุดมการณ์" ที่มีอำนาจนำอยู่เกือบตลอดเวลา
การเมืองเรื่อง "อุดมการณ์" ว่ายากแล้ว แต่การเมืองเรื่อง อุดมการณ์ของเรื่อง "เพศ" ยิ่งยากกว่า เพราะเราต้องเผชิญกับก้อนอุดมการณ์ว่าด้วยเรื่องเพศที่ยิ่งใหญ่มากนั่นคือการทำให้เพศเป็นเรื่อง "ธรรมชาติ" ไม่เกี่ยวกับ ศาสนา สถาบันทางการเมือง รูปแบบการปกครอง ฯลฯ
ดังนั้น เมื่อฉันพยายามจะพูดถึงการเมืองเรื่อง "มดลูก" จึงถูกเบือนหน้าหนี บีบจมูกใส่ (ราวกับกลิ่นของมดลูกจะโชยออกมาทุกครั้งที่พูดถึงคำนี้) บ้างก็ว่าหยาบคาย บ้างก็ว่าจิตต่ำเพราะจะลากทุกอย่างลงต่ำ (กว่าสะดือ)
มิวายจะพยายามยามแจกแจงว่า การเมืองได้เข้ามายุ่มย่ามในมดลูกของผู้หญิงอย่างไรบ้าง
คำขวัญที่ดูสวยงามอย่าง "ดอกไม้ของชาติ"
การประกวดแม่ลูกดก
นโยบายการคุมกำเนิด
แคมเปญรณรงค์ให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมจากเต้า
คำขวัญที่ว่า "มีลูกมากจะยากจน"
สวัสดิการของรัฐที่พยายามทางอ้อมมิให้คนจนมีลูกมากเกินไป
หรือในบางประเทศที่ขาดแคลนแรงงาน รัฐสนับสนุนให้มีลูกมากด้วยการลดแลกแจกแถมให้แม่ที่ตั้งครรภ์ กฎหมายที่จะห้ามการทำแท้ง หรืออนุญาตให้ทำแท้ง ฯลฯ
เหล่านี้ล้วนแต่เป็น "อำนาจรัฐ" ที่เข้ามาป้วนเปี้ยนในมดลูกของสตรี
ถามว่าแล้วมีอำนาจรัฐเข้าไปยุ่มย่ามใน "ลึงค์" ของชายหรือไม่
คําตอบก็คือมีในแบบที่ไม่อาจเปรียบเทียบเท่ากับเรื่องมดลูก
เช่น ในทศวรรษที่ 2520 สาธารณสุขไทยรณรงค์การทำหมันในชายอย่างหนักและโปสเตอร์รณรงค์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำหมันและการ "ขัน" ของ "นกเขา" ผลิตโดยกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้นน่าจะมีมากๆ พอๆ กับโฆษณาชวนเชื่อเรื่องคอมมิวนิสต์
และหากใส่ใจกับโปสเตอร์รณงค์เรื่องการคุมกำเนิดของผู้หญิงที่เน้นเรื่องการกินยาคุมกำเนิดและการใส่ห่วงอนามัย กับการทำหมันชาย-การคุมกำเนิดของเพศหญิงไม่มีคำถามเกี่ยวกับการเสื่อมถอยของสมรรถภาพทางเพศ ในขณะที่การรณรงค์กับเพศชายนั้นให้ความสำคัญกับการทำเข้าใจกับพลเมืองชายว่า ขออย่าให้กังวลว่าการทำหมันจะทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อมถอย
ภาระอันหนักอึ้งทางอุดมการณ์ที่เพศชายต้องแบกรับไปโดยไม่รู้ตัวคือสภาวะของความกลัวการสูญเสียความเป็นชายที่ประจักษ์ พิสูจน์ได้ด้วยความสามารถในการ "ตั้งตรง" และ "แข็งตัว"
ดังนั้น หากเราจะหัวเราะเยาะกับผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า Intimate Whitening หรือ ผลิตภัณฑ์สร้างความขาวให้กับจุดซ่อนเร้นของผู้หญิงเราก็น่าจะต้องหัวเราะเยาะให้กับสารพัดยาไวอากร้าและผลิตภัณฑ์ประเภท Enlarge เพิ่ม ขยาย ขนาดของลึงค์แห่งเพศชาย ไม่นับผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างว่าทำให้ แข็ง แน่น ทน และ นาน
ผู้หญิงต้อง หอม แห้ง ผู้ชายต้องใหญ่และแข็ง (แรง) เป็นการเมืองเรื่องอำนาจและการสร้างเพศทางวัฒนธรรมให้แก่เพศทางชีววิทยา (genderization) ที่ตั้งอยู่บนฐานของการมี "รัฐ" ที่ทำให้โลกนี้มันง่ายขึ้นด้วยการทำให้เกือบทุกอย่างรอบๆ ตัวเราแบ่งออกเป็นสองขั้ว
และการทำความเข้าใจโลกสองขั้วนี้, ขาว-ดำ, ผิด-ถูก, อารมณ์-เหตุผล, กระโปรง-กางเกง ฯลฯ ก็ถูกทำให้กลายเป็น "ความจริง" ตามธรรมชาติโดยอ้างอิงอยู่กับลักษณะทางธรรมชาติของอวัยวะเพศหญิงและชาย ด้วยการบอกว่า "ดูสิ พระเจ้าสร้างให้โลกนี้มีหญิงและชายเกิดมาคู่กัน"
คำอธิบายนี้ถูกทำให้มีความชอบธรรมพอๆ กับพวกฝักใฝ่ในความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์มักอ้างว่า ธรรมชาติยังสร้างนิ้วมือให้ไม่เท่ากัน ดังนั้น มนุษย์ย่อมเกิดมาไม่เท่ากัน
ทั้งหมดที่ฉันเขียนไปข้างต้นน่าจะเป็นสิ่งที่พูดกันจนจบไปแล้วในโลกตะวันตกเพราะมันอยู่ในกระบวนการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่จนเดินไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ จากโลกสองขั้วเป็นโลกหลายขั้ว จากโลกขาว-ดำเป็นโลกสีเทา เป็นโลกสีรุ้ง โลกไร้สี เป็นโลกที่ท้ายที่สุดเราต้องมองเห็นเรื่องเพศและเรื่องเพศสภาวะอีกทั้งเพศวิถีเป็นแค่ สุนทรียรสส่วนบุคคล
ดังที่ อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล เสนอไว้ในงาน ดีว่าส์ปาร์ตี้ ว่า ถึงที่สุดแล้วเราควรเอาเพศออกจาก "รัฐ"
(นั่นแปลว่า เราต้องยกเลิกการเรียกร้องให้รัฐมารับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันด้วย นั่นแปลว่า พวกรักต่างเพศก็ไม่แยแสการลงทะเบียนสมรสหรือการใช้ชีวิตแบบที่รัฐต้องรับรองด้วยเช่นกัน)
รวมไปถึงการยกเลิกคำนำหน้านามที่บ่งบอกเพศ สถานะการสมรส ไม่ว่าจะเป็น เด็กหญิง เด็กชาย นาง นาย นางสาว เว้นแต่ว่าเราต้องการ "รับการบริการ" จากรัฐ เช่น สวัสดิการเพื่อสุขภาพ การศึกษา ฯลฯ เราก็อาจต้องแลกการบริการเหล่าด้วยการยอม "มอบ" เสรีภาพส่วนบุคคลของเราบางส่วนไปไว้ในมือของรัฐเพื่อแลกกับการได้รับการดูแลจากรัฐในนามของสวัสดิการ
แต่สำหรับเมืองไทยการพูดเรื่องเอาเพศออกจากรัฐแม้จะพูดในเชิง "อุดมคติ" ดูจะเป็นเรื่องที่ยากพอๆ กับการจะบอกคนไทยว่านางนพมาศไม่ได้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรือศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเขียนขึ้นในสมัยไหนกันแน่?
เพราะกว่าสิบปีที่ฉันเขียนเรื่อง "เพศ" ในสื่อสาธารณะ (โดยมากเรื่องเพศในสังคมไทยจะถูกพูดถึงในด้าน 1. การแพทย์ 2. ศีลธรรม 3. วงวิชาการรัฐศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษา) พบว่าความเข้าใจการเมืองเรื่องเพศของสังคมไทยเป็นหนึ่งในเรื่องที่ก้าวหน้าช้าที่สุด
(ถึงที่สุดแล้วอาจจะเหมือนๆ กันทุกสังคม เพราะประเด็นเกี่ยวกับการเมืองเรื่องเพศดูจะจำกัดวงไว้ที่หอคอยงาช้างมากที่สุด)
เวลาที่เรายกประเด็น "การมืองเรื่องมดลูก" ปฏิกิริยารังเกียจของผู้ที่ไม่เห็นชอบจะบอกว่า "พูดแต่เรื่องต่ำๆ"
คำว่า "ต่ำ" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงต่ำกว่าสะดือ แต่หมายความว่าเรื่อง "เพศ" ทั้งหมดเป็นเรื่อง "ต่ำ"
ยิ่งเพศของผู้หญิงยิ่ง "ต่ำ" สอดคล้องกับสิ่งที่คนไทยได้รับการสั่งสอนมาโดยตลอดนั่นคือ "ห้ามตากผ้านุ่งไว้สูง" ผ้าถุง กางเกงใน ยกทรง ของผู้หญิงยังเป็นของต่ำ ผู้ชายมี "ของ" ไม่ลอดราวผ้านุ่ง
แม้ในทางปฏิบัติเรายกเลิกธรรมเนียมนี้ไปแล้ว แต่ตะกอนทางอุดมการณ์ยังตกค้างอยู่ในจิตสำนึก นั่นคือ เรื่อง "ผ้านุ่ง" "มดลูก" ของผู้หญิง มิบังควรที่จะจะถูกหยิบยกมาอภิปรายอย่างโจ๋งครึ่ม หรือด้วยใบหน้าแช่มชื่นปราศจากความเหนียมอาย
ยิ่งเป็นผู้หญิง ไม่ควรพูดเรื่องจู๋ เรื่องจิ๋ม หรือหากจะพูดก็ต้องย้อมถ้อยคำเหล่านี้ด้วยจริตของความเป็นวิชาการอันเท่ากับการนำการเมืองเรื่องมดลูกไปฝากไว้ในหอคอยงาช้างอีกรอบ
หรืออย่างน้อยที่สุดหากอยากจะพูดเรื่องเหล่านี้จริงๆ ก็พึงพูดด้วยกิริยามารยาทอันสำรวม น้ำเสียงอันสุขุม ในเครื่องแต่งกายอันรัดกุม อย่าริทำกิริยาแบบผู้หญิงที่วี้ดว้าย หัวเราะร่วน เป็นต้น
ความยอกย้อนของเรื่องเหล่านี้ทั้งหมดก็กลับไปที่อำนาจและการเมืองเชิงวัฒนธรรมในเรื่องเพศอีก
ผู้หญิงจะพูดแล้วมีคนฟังก็ต่อเมื่อเธอละทิ้ง "ความเป็นหญิง" ที่สังคมกำหนดว่า "ไม่พึงปรารถนา" หรือเป็นหญิงแบบ slut ออกไปเสียก่อนแล้ว สวมบทบาท "หญิงในอุดมคติ" ของสังคมเป็นเบื้องแรก จากนั้นเธอถึงจะมีความชอบธรรมที่จะ "ส่งเสียง"
นั่นเท่ากับว่าผู้หญิงต้อง "ยอมแพ้" เสียตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกขึ้นสู้
ฉันเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาด้วยความกังวลในเรื่องที่ไม่ควรต้องกังวล (อย่างน้อยในเวลานี้) ท่ามกลางความก้าวหน้าในการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ประชาธิปไตยที่เรากำลังต่อสู้เพื่อให้ได้มานี้จะถูกฉุดรั้งด้วยอุดมการณ์ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ขัดแย้งกับความเป็นประชาธิปไตยเช่น การติดกับดักของโลกทวิลักษณ์หรือการเห็นโลกนี้มีเพียงสองโดยอ้างอิงกับลักษณะทางชีววิทยาของความเป็นหญิงและชาย
ความพยายามรักษาไวยากรณ์ของภาพแบบฉบับหญิงที่ดีที่มาพร้อมกับการสร้างภาพขั้วตรงกันข้ามนั่นคือ "ตัวแทนของหญิงที่เลว" ขึ้นมาเทียบเคียง ความพยายามรักษา "ระเบียบของโลกเก่า" ผ่านมารยาท ภาษา ที่มีความเป็นไทยสูงอันแปลว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นประชาธิปไตย
หากไม่มีความกังวลตรงนี้เอาไว้บ้าง ฉันเกรงว่า ประชาธิปไตยที่เราหวังจะได้มา จะมาแค่ครึ่งเดียว
และพร้อมจะย้อนหลังกลับไปหาความไม่เป็นประชาธิปไตยได้ทุกเมื่อ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย