.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: เรื่องของคนเดือนตุลา
ใน www.prachatai.com/journal/2012/10/43237 . . Fri, 2012-10-19 22:43
( เผยแพร่ : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 382 ประจำวันเสาร์ที่20 ตุลาคม พ.ศ.2555 )
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
อาจจะให้ความหมายได้ว่า “คนเดือนตุลา” คือ คนกลุ่มหนึ่งที่มีประสบการณ์ร่วมกัน คือเคยผ่านการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสมัย 14 ตุลา 2516 จนถึง6ตุลา 2519 และปัจจุบัน หลายคนก็ยังมีบทบาทอยู่ แม้ว่าจะเป็นที่กล่าวถึงมากเท่าในระยะก่อนหน้านี้ก็ตาม
และที่น่าสนใจคือ คนเดือนตุลาที่ในอดีตอาจจะเคยมีอุดมการณ์สังคมนิยมแบบเดียวกัน และเคยต่อสู้ร่วมกันมา แต่ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา คนเดือนตุลาแตกออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน หลายคน เช่น ธีรยุทธ บุญมี สุรชัย จันทิมาธร พลเดช ปิ่นประทีป ประสาร มฤคพิทักษ์ ชัยวัฒน์ สุรวิชัย ประยูร อัครบวร เป็นต้น อยู่กับฝ่ายที่โน้มไปทางเสื้อเหลือง สนับสนุนสถาบันหลัก และต่อต้านคนเสื้อแดง
อีกส่วนหนึ่ง เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง สุธรรม แสงประทุม เหวง โตจิระการ พรหมินทร์ เลิศสุริยเดช อดิสร เพียงเกษ และ วิสา คัญทัพ เป็นต้น ยืนอยู่กับฝ่ายทักษิณ และโน้มไปทางคนเสื้อแดง
ความเป็นมาและบทบาทของคนเดือนตุลานั้น ได้มีผู้ที่ศึกษาอย่างจริงจัง และทำเป็นงานวิจัยฉบับใหญ่ คือ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล .ในชื่อเรื่องว่า “การเติบโตของคนเดือนตุลา: อำนาจและความขัดแย้งของอดีตนักกิจกรรมปีกซ้ายในการเมืองไทยสมัยใหม่” (The Rise of the Octobrists: Power and Conflict among Former Left Wing Student Activists in Contemporary Thai Politics) เสนอต่อวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน ซึ่งถือเป็นงานที่น่าสนใจมาก เพียงแต่งานชิ้นนี้ยังเป็นภาษาอังกฤษ
ในงานวิจัยนี้ กนกรัตน์ได้อธิบายว่า กลุ่มคนเดือนตุลาเริ่มมีบทบาททางสังคมและการเมืองอย่างชัดเจนมาตั้งแต่หลัง พ.ศ.2530 โดยมีบทบาททั้งในภาคการเมืองรัฐสภา ภาคธุรกิจ และภาคสังคม และมีกลุ่มคนเดือนตุลาบางส่วนกลับเข้ามามีบทบาทในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เช่น กรณีพฤษภาประชาธรรม พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง และนำมาสู่การผลักดันการปฏิรูปการเมือง ต่อมา ในช่วงที่พรรคไทยรักไทยเริ่มก่อร่างสร้างพรรค กลุ่มคนเดือนตุลาส่วนหนึ่งก็ได้เข้าร่วมผลักดัน และมีบทบาทอย่างมากในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เมื่อเกิดการต่อต้านรัฐบาลทักษิณเมื่อ พ.ศ.2549 คนเดือนตุลาจึงได้แยกข้าง และได้มีบทบาทในการสร้างวาทกรรมแห่งเหตุผลเพื่อยืนยันในหลักการของฝ่ายตนเอง พร้อมกับโจมตีคนเดือนตุลาที่อยู่กับอีกฝ่ายหนึ่ง
ในงานวิจัยนี้ ได้อธิบายต่อไปว่า กลุ่มคนเดือนตุลา เคยมีบทบาทสำคัญตั้งแต่ในในยุคของขบวนการนักศึกษา เป็นผู้รับและเผยแพร่อุดมการณ์แบบสังคมนิยม และมีบทบาทในการต่อสู้หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ.2519 ด้วยการเข้าป่าจับอาวุธร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ต่อมา หลัง พ.ศ.2525ขบวนการฝ่ายซ้ายล่มสลาย แต่กลุ่มคนเดือนตุลาก็ยังสามารถรักษาบทบาท และขยายบทบาทในสังคม ส่วนหนึ่งก็มาจากการให้ความหมายและตีความประวัติศาสตร์เดือนตุลาใหม่ โดยการอธิบายให้เห็นว่า การต่อสู้ ของขบวนการเดือนตุลา เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ลดวาทกรรมของแนวทางแบบซ้ายปฏิวัติสังคม และเล่าเรื่อง 6 ตุลาในฐานะของเหยื่อที่ถูกปราบปรามด้วยความรุนแรงอย่างไม่เป็นธรรม วีรชนเดือนตุลาจึงเป็นวีรชนประชาธิปไตย ที่เสียสละเพราะต่อต้านเผด็จการ ด้วยการอธิบายในลักษณะนี้จึงประสานเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยตั้งแต่หลัง พ.ศ.2520 ที่มีการพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น และการพัฒนาของประชาธิปไตยนี้เอง กลายเป็นโอกาสทางการเมืองแบบใหม่ของเหล่าคนเดือนตุลาด้วย
การที่คนเดือนตุลาซึ่งพ่ายแพ้ในการปฏิวัติพร้อมกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ยังสามารถที่จะกลับมาสร้างที่ยืนในสังคมและมีบทบาทอันสำคัญในทางการเมืองและสังคมได้ เพราะคนเดือนตุลามีความสามารถอันพิเศษ ที่คนกลุ่มอื่นไม่มี และเป็นที่ต้องการของกลุ่มพลังทั้งหลาย นั่นคือ คนเดือนตุลามีความเข้าใจการเมืองของชนชั้นนำ และสามารถทำงานกับคนยากจนที่เป็นรากหญ้าได้ ในทางการเมือง ทุกพรรคการเมืองขณะนั้นก็ต้องการบุคลากรที่เข้าถึงประชาชนชั้นล่าง คนเดือนตุลาจึงสามารถที่จะเข้าไปมีบทบาทในพรรคการเมืองทุกพรรคและกลายเป็นนักการเมืองที่มีบทบาทหลายคน ในส่วนนอกรัฐสภา การขยายตัวของธุรกิจสมัยใหม่ การเติบโตของหนังสือพิมพ์ และการขยายตัวขององค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ. ก็ได้สร้างพื้นที่ให้คนเดือนตุลาเข้าไปทำงาน และกลายเป็นที่ยอมรับอย่างมาก รวมทั้งการที่คนเดือนตุลาอีกส่วนหนึ่ง ได้เข้ามาเป็นนักวิชาการและกลายเป็นนักวิชาการชั้นแนวหน้าที่มีบทบาทสำคัญ กลุ่มคนเดือนตุลาจึงกลายเป็นข้อต่อสำคัญอันหนึ่งในสังคมระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคธุรกิจเอกชนและประชาชนชั้นล่าง และภายใต้การขยายบทบาทเช่นนี้ คนเดือนตุลาได้สร้างสิ่งสำคัญขึ้นใหม่นั่นคือ “เครือข่าย” ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป การเป็นเครือข่ายของคนเดือนตุลากลับมีความสำคัญมากไปกว่าอุดมการณ์ร่วม ซึ่งมีความหมายลดลงทุกที
แต่ในที่สุด เมื่อเกิดวิกฤตไทยรักไทย ความขัดแย้งในกลุ่มคนเดือนตุลาก็เห็นได้ชัด กนกรัตน์ได้อธิบายให้เห็นว่า ความขัดแย้งในกลุ่มคนเดือนตุลาไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่มีมาตั้งแต่ต้น ความเป็นคนเดือนตุลา เป็นเพียงความผูกพันแบบหลวม ที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างมาก เพราะการจัดตั้งอันเข้มแข็งสิ้นสุดไปตั้งแต่การสลายของขบวนการคอมมิวนิสต์ แต่ความขัดแย้งของคนเดือนตุลาก่อนหน้านี้ อาจจะประนีประนอมกันได้ เพราะสถานการณ์ยังไม่แหลมคม แต่เป็นที่สังเกตว่า ตั้งแต่เมื่อพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ความขัดแย้งระหว่างคนเดือนตุลาในภาครัฐและนอกภาครัฐ เริ่มเห็นได้ชัดเจนแล้ว เพราะสภาพของความจำเป็นในการประนีประนอมหมดสิ้นไป
และเมื่อหลังรัฐประหารกันยายน พ.ศ.2549 ความขัดแย้งของกลุ่มคนเดือนตุลาสองฝ่าย ก็ถึงจุดแตกหักที่ประนีประนอมกันไม่ได้
สรุปแล้ว งานของกนกรัตน์ เลิศชูสกุล เรื่องนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่อธิบายวิเคราะห์คนเดือนตุลาได้ละเอียด ชัดเจนที่สุด
แม้ว่าอาจจะมีมุมมองหลายอย่างที่ยังมีความไม่สมบูรณ์ หรือเป็นที่โต้แย้งได้ เช่น ยังไม่อธิบายชัดเจนถึงการเสื่อมสลายทางอุดมการณ์ที่ทำให้คนเดือนตุลาจำนวนหนึ่งกลายเป็นกลุ่มนิยมเจ้า เป็นต้น
แต่งานชิ้นนี้ ก็มีความน่าสนใจในตัวเอง และมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ภาพทางการเมืองสมัยใหม่ในระยะ 36 ปีหลัง 6 ตุลา มีความชัดเจนมากขึ้น
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย