.
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : พลวัตของชนชั้นนำไทย (2)
ในมติชนออนไลน์ วันจันทร์ที่ 08 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 10:55:43 น.
(ที่มา คอลัมน์ กระแสทรรศน์ ของ นสพ.มติชนรายวัน 8 ต.ค. 2555 )
ได้กล่าวในตอนที่แล้วว่า หลังการประกาศไม่รับตำแหน่งนายกฯ ของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สภาวะทางการเมืองที่เคย "ลงตัว" แก่ชนชั้นนำหลากหลายกลุ่มในระดับหนึ่งได้อันตรธานไป
การนำของนายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้หลายกลุ่มของชนชั้นนำขัดแย้งกันเอง (เช่น ระหว่างนักธุรกิจต่างจังหวัดซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง กับนักธุรกิจอุตสาหกรรมกรุงเทพฯ)
ชนชั้นนำอีกหลายกลุ่มไม่มั่นใจว่า ผลประโยชน์ปลูกฝังที่ดำรงอยู่ได้ภายใต้ "กึ่งประชาธิปไตย" ของพลเอกเปรม จะยังดำรงอยู่อย่างมั่นคงสืบไปหรือไม่ (เช่น แม้ว่าฝ่ายรวบอำนาจในกองทัพ ยังสามารถขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำได้เป็นแผง แต่ผู้นำกองทัพก็ถูกนักการเมืองโจมตีโดยตรงในที่สาธารณะ รวมทั้งไม่แน่ใจว่าจะถูกปลดกลางอากาศได้เมื่อไร)
ฝ่ายกษัตริย์นิยมขาด "คนของตัว" ทั้งในสภาผู้แทนฯ และในรัฐบาล มีแต่อำนาจนำทางวัฒนธรรมซึ่งมีอยู่สูงมาก แต่อำนาจนำทางวัฒนธรรมนั้น ใช้มากเกินไปก็สึกหรอได้ ฝ่ายกษัตริย์นิยมจึงรู้สึกว่า ภายใต้สภาวะทางการเมืองเช่นนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ขาดความมั่นคง
รสช.พยายามจะตอบโจทย์เหล่านี้ของชนชั้นนำ แต่เป็นคำตอบที่มักง่ายเกินไป เพราะมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดในบ้านเมืองสืบเนื่องมานานแล้ว ผลคือสิ้นสุดลงด้วยการนองเลือด และการตกต่ำด้านความนิยมของกองทัพลงอย่างมาก
ไม่มีกองทัพเป็นแกนกลางในการจัดระเบียบของระบบการเมือง ความรู้สึกปั่นป่วนขาดความมั่นคงของชนชั้นนำทุกกลุ่ม ยิ่งเข้มมากขึ้น นี่คือฐานที่มาของการสนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2540
ในหมู่ชนชั้นนำทุกกลุ่ม (ยกเว้นกองทัพ ซึ่งในช่วงนั้นก็ลดอิทธิพลทางการเมืองไปมาก ซ้ำชนชั้นนำกลุ่มอื่นยังกลับไปสนับสนุนรัฐธรรมนูญเสียอีก ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สนับสนุนรัฐธรรมนูญใหม่ก็คือกลุ่มนักธุรกิจต่างจังหวัด เพราะรัฐธรรมนูญใหม่มีจุดมุ่งหมายจะจำกัดอำนาจทางการเมืองของกลุ่มนี้โดยตรง)
ในความไม่แน่นอนในความสัมพันธ์กับรัฐ ชนชั้นนำหลายกลุ่ม (ข้าราชการพลเรือน, นักธุรกิจอุตสาหกรรมกรุงเทพฯ, ฝ่ายกษัตริย์นิยม, คนชั้นกลางคอปกขาว) เลือกที่จะสร้างกติกาใหม่ที่กำหนดความสัมพันธ์ที่แน่นอนและชัดเจนกับรัฐขึ้น โดยกติกาใหม่จะลดส่วนแบ่งของอำนาจนักการเมืองที่โยงใยกับนักธุรกิจต่างจังหวัด ในขณะที่คนซึ่งน่าไว้วางใจกว่า หรืออยู่ในแวดวงเดียวกัน น่าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกรรมการขององค์กรอิสระทั้งหลาย ซึ่งมีอำนาจมากล้นในการควบคุมนักการเมือง
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ทุกฝ่ายที่กล่าวนั้น พอใจยอมรับความสัมพันธ์กับรัฐเพียงเท่านั้น ทุกฝ่ายยอมรับได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำลายช่องทางความสัมพันธ์ที่มีอยู่เดิมลง
สภาอุตสาหกรรม, หอการค้า และสมาคมธนาคาร ก็ยังสามารถเดินเส้นเดินสายต่อไปได้ (เช่นกับสื่อ) ซ้ำยังอาจใช้ช่องทางใหม่ เช่นการให้สัมภาษณ์สื่อเรียกร้องเรื่องโน้นเรื่องนี้ได้ ซึ่งเป็นแรงกดดันที่หนักมากแก่รัฐบาลพลเรือน
อำนาจนำทางวัฒนธรรมที่สถาบันพระมหากษัตริย์มีอยู่อย่างสูง ก็หาได้ถูกลดทอนลงโดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่อย่างใด ดังนั้นความสัมพันธ์กับรัฐที่ถูกกำหนดขึ้นในรัฐธรรมนูญจึงเป็นหลักประกันความมั่นคง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ลดทอนความสัมพันธ์กึ่งทางการอื่นๆ ลง
ที่น่าสนใจก็คือ ในระยะแรกๆ ที่มีการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ เริ่มจัดความสัมพันธ์กับรัฐ ทั้งที่เป็นทางการและกึ่งทางการหรือไม่ทางการเลยให้ "ลงตัว" ได้ในระดับหนึ่ง (เช่น การออกเงินสนับสนุนการเลือกตั้งของพรรคการเมือง อาจทำได้อย่างเปิดเผย - อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่ง) ทุกฝ่ายยังสนับสนุนรัฐธรรมนูญ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่ได้ออกมาต่อต้านอย่างออกหน้า (หรือไม่มีกำลังต่อต้านอย่างออกหน้าก็ตาม) ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการที่ชนชั้นนำทำให้ความสัมพันธ์กับรัฐทุกชนิดมีลักษณะเป็น "สถาบัน" มากขึ้น (institutionalization)
กระบวนการทำให้ความสัมพันธ์ของชนชั้นนำกับรัฐกลายเป็นสถาบันนี้ นับเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประชาธิปไตยในทุกสังคม ประชาธิปไตยไทยจึงดูสดใสมีอนาคต อาจตั้งอยู่อย่างมั่นคงในสังคมไทยได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เกิดดุลแห่งอำนาจใหม่ที่ชนชั้นนำทุกฝ่ายยอมรับได้ (อย่างเต็มใจหรือจำใจก็ตาม)
แล้ววันหนึ่ง พ่อเจ้าประคุณ ทักษิณ ชินวัตร ก็โผล่ขึ้นมาในฐานะนายกรัฐมนตรี อันที่จริงเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำ เห็นหน้าเห็นตาคุ้นเคยกันอยู่ เพียงแต่สร้างความมั่งคั่งขึ้นจากโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งนักธุรกิจอุตสาหกรรมเก่ายังไม่คุ้นเคยเท่านั้น แต่วิธีการสร้างก็ใช่ว่าจะล้ำหน้าไปกว่าคนอื่น นั่นคือการซื้อเส้นสายเพื่อผูกขาดการสัมปทานจากรัฐ
แต่หนทางหรือวิถีทางทางการเมืองของเขา อาจแตกต่างจากที่ชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ เคยชิน นั่นคือ
มุ่งไปหาฐานเสียงจากมวลชนระดับล่างมาแต่แรก กำลังทุนของเขามากพอที่จะผนวกรวมเอา "เจ้าพ่อ" หลายกลุ่มให้มาอยู่ใต้ปีกได้ ยิ่งชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ก็ยิ่งมีกำลังทางการเมืองในการดึงเอา "เจ้าพ่อ" ที่เหลือมารวมไว้ในพรรคเดียวกันได้หมดด้วย ทักษิณกลายเป็น "เจ้าพ่อ" ของ "เจ้าพ่อ"
อีกทีหนึ่ง อันเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยมาก่อน
สอดคล้องกับพลังอีกด้านหนึ่งของทักษิณ
นั่นคือการสร้างฐานมวลชนที่เป็นปึกแผ่นข้ามเขตเลือกตั้งให้แก่ตัวเขาเอง ซึ่งนักการเมืองไทยไม่เคยทำได้สำเร็จ เพราะทุ่มเทแต่ด้านผูกพันความภักดีของ "เจ้าพ่อ" ไว้กับตนเองหรือพรรคเท่านั้น ทักษิณจึงเป็นนายกฯที่มาจากการเลือกตั้งคนแรก ที่มีพลังทั้งสองปีกพร้อมกัน คือมีมวลชนด้านหนึ่ง และมี "เจ้าพ่อ" อีกด้านหนึ่ง
(ผมควรกล่าวด้วยว่า คุณชวน หลีกภัย ก็เป็นนักการเมืองที่มีสองปีกเช่นกัน คือได้ความภักดีจาก "เจ้าพ่อ" หรือผู้นำท้องถิ่นปีกหนึ่ง และมีฐานมวลชนอีกปีกหนึ่ง แต่แตกต่างจากทักษิณตรงที่ว่า 1.จำกัดอยู่ในภาคใต้เท่านั้น และ 2.ความภักดีของมวลชนภาคใต้ต่อคุณชวน เป็นลักษณะความรักความเอ็นดูความนับถือ ไม่ใช่ความรู้สึกว่าต้อง "พึ่งพา" อย่างที่มวลชนรู้สึกต่อคุณทักษิณ - ซึ่งอาจไม่ได้รัก, เอ็นดู และนับถือคุณทักษิณอย่างที่ชาวใต้มีต่อคุณชวนด้วยซ้ำ)
คุณทักษิณจึงเป็นผู้มีพลังจะทำให้ดุลแห่งอำนาจที่ผมกล่าวถึงข้างต้นนั้นเสียไป และในความเป็นจริง คุณทักษิณก็ได้ทำให้ดุลดังกล่าวเสียไปจริงๆ เสียด้วย
เป็นเจตนาของคุณทักษิณที่จะทำให้ดุลดังกล่าวเสียไปหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่การที่คุณทักษิณมีปีกอีกด้านที่หนุนอำนาจคือมวลชน คุณทักษิณก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะดำรงรักษาดุลแห่งอำนาจเดิมไว้ได้อย่างมั่นคงอยู่แล้ว
ผมจะไม่เข้าสู่รายละเอียดว่าคุณทักษิณทำลายดุลดังกล่าวอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่พูดกันมากแล้ว เช่น การแทรกแซงองค์กรอิสระ, แทรกแซงวุฒิสภา, แทรกแซงสื่อ ฯลฯ ชนชั้นนำฝ่ายอื่นถ่วงดุลคุณทักษิณได้ยากขึ้น เพราะฐานมวลชนอันกว้างขวางที่คุณทักษิณสั่งสมเพิ่มพูนขึ้น จนในที่สุดต้องหันไปใช้การชุมนุมบนท้องถนน, ตุลาการภิวัตน์, ซึ่งก็ไม่สามารถถ่วงดุลได้อยู่นั่นเอง จนในที่สุดไม่มีทางเลือกอื่นเหลืออยู่นอกจากยึดอำนาจด้วยวิธีรัฐประหาร
ฐานมวลชนของคุณทักษิณคือใคร ผมเคยเขียนเรื่องนี้หลายปีมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนความคิดจากเดิม จึงขอสรุปสั้นๆ ว่า คือคนชั้นกลางระดับล่าง ส่วนใหญ่หลุดออกไปจากภาคเกษตร หรือที่ยังอยู่ก็ทำเกษตรเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้น มีรายได้ดีขึ้นจนจัดเป็นคนชั้นกลางได้ มีรสนิยมและความใฝ่ฝันในชีวิตไม่ต่างจากคนชั้นกลางระดับกลางและสูงในเมือง
คนเหล่านี้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากมาย เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจสังคมของไทยเอง แต่ก็คล้ายกับคนชั้นกลางคอปกขาวในเมือง กล่าวคือไม่มีการจัดองค์กร และไม่มีปากเสียงทางการเมืองได้ตลอดเวลา จะแย่กว่าด้วยซ้ำ เพราะไม่มีอำนาจพอจะกำหนดทิศทางของสื่อได้ (ช่างทำผมในหมู่บ้านจะไม่มีพื้นที่ในหน้าหนังสือพิมพ์เลย จนกว่าจะถูกฆ่าข่มขืนเสียก่อน) ฉะนั้นจึงเป็นกลุ่มคนที่มีขนาดใหญ่มหึมา แต่ไร้อำนาจต่อรองทางการเมืองโดยสิ้นเชิง แม้แต่ในท้องถิ่น
การเลือกตั้งจึงเป็นช่องทางต่อรองทางการเมืองเพียงอย่างเดียวที่พวกเขามี และการเลือกตั้งทำให้เขาได้ คุณทักษิณ ชินวัตร มาเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งนโยบายหลายอย่างที่ตอบสนองความจำเป็นในชีวิตของเขา เช่น กองทุนหมู่บ้าน, 30 บาทรักษาทุกโรค, เงินกู้เพื่อการศึกษา ฯลฯ
คุณทักษิณตั้งใจจะจับคนกลุ่มนี้มาเป็นฐานมวลชนของตนหรือไม่ ผมอยากเดาว่าตั้งใจ
คุณทักษิณอาจเป็นนักการเมืองไทยคนแรกที่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงด้านนี้ของสังคมไทย จำนวนของชาวบ้านที่ควักกระเป๋าซื้อโทรศัพท์มือถือและบัตรเติมเงิน สอนให้คุณทักษิณมีสำนึกอย่างเต็มเปี่ยมถึงพลังของคนกลุ่มนี้
ตรงกันข้ามกับคุณทักษิณ คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังเบื้องหน้าการรัฐประหาร 19 ก.ย. เพราะไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเอาเลย ไม่รู้ว่ามี "ชนชั้น" ใหม่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ที่กลายเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม ซึ่งมิได้เฉยชาต่อการเมืองระดับชาติอีกแล้ว ทั้งปราศจากกลไกทางการเมืองหรือสังคมที่จะใช้ต่อรองในทางการเมืองด้วย นอกจากการเลือกตั้ง จึงยึดถือการเลือกตั้งเป็นเนื้อหาสาระหลักของประชาธิปไตย (ซึ่งก็ไม่ได้ผิดทั้งหมด แม้ไม่ได้ถูกทั้งหมด)
ชนชั้นนำที่อยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังการรัฐประหาร จึงไปคิดว่าการรัฐประหารเป็นกลไกที่ขาดไม่ได้สำหรับการจัดสรรอำนาจกันในหมู่ชนชั้นนำ แต่การเมืองไทยไม่ได้กระจุกอยู่กับชนชั้นนำเพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป
หากการเมืองไม่ใช่การต่อรองเฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำ รัฐประหารก็เป็นกลไกที่ใช้ในทางการเมืองไม่ได้ หรือใช้ได้ยาก เพราะการต่อสู้และต่อรองทางการเมือง ไม่ได้จำกัดอยู่กับชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ อีกแล้ว มีคนหน้าใหม่เข้ามาร่วมต่อรองด้วยทำให้เกิดความขัดแย้งกันยาวนาน อย่างที่สังคมไทยไม่เคยประสบมาก่อน
อันที่จริงถ้ามองย้อนหลังกลับไป นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนหน้าใหม่โผล่เข้ามาสู่เวทีการเมืองระดับชาติ 14 ตุลาคือการเบิกทางของคนชั้นกลาง
คอปกขาวเข้าสู่เวที พร้อมทั้งนักธุรกิจต่างจังหวัด และนักธุรกิจอุตสาหกรรมกรุงเทพฯ ต้องการขยายพื้นที่ทางการเมืองของตนด้วย
ชนชั้นนำใช้ 6 ตุลาเป็นเครื่องมือในการผลักไสคนหน้าใหม่เหล่านี้ออกไปจากเวที แต่ผลที่เกิดขึ้นยิ่งเลวร้ายลง อย่างไรก็ตาม ชนชั้นนำสามารถเรียนรู้บทเรียนได้เร็ว เพราะในที่สุดก็นำมาสู่การจัดเวทีกันใหม่ โดยแบ่งพื้นที่ให้แก่คนหน้าใหม่ในระดับหนึ่ง โดยชนชั้นนำกลุ่มเก่า (เช่น กองทัพ, ฝ่ายกษัตริย์นิยม และระบบราชการแขนงต่างๆ) ยังกุมอำนาจนำไว้ได้ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ในสมัยพลเอกเปรมเป็นนายกฯ คือการปรับตัวของกลุ่มชนชั้นนำเดิม ให้อยู่ร่วมกับคนหน้าใหม่ โดยค่อยๆ ผนวกกลืนคนหน้าใหม่นี้เข้ามาในที่ในทางที่พอจะรับได้ทุกฝ่าย นำความ "สงบ" (ซึ่งบางส่วนหมายถึงราบคาบด้วย) กลับคืนมาสู่สังคม
ปัญหาก็คือ ในครั้งนี้ เหตุใดชนชั้นนำไม่สามารถกลืนคนหน้าใหม่ ที่เป็นคนชั้นกลางระดับล่างให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่การเมืองระดับชาติได้อย่างละมุนละม่อม และความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมาอย่างยาวนาน จะผ่านพ้นไปได้อย่างไร
ผมขอคุยเรื่องนี้ในครั้งหน้าครับ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย