http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-21

หนึ่งวรรณกรรม สามนาฏศิลป์ มโนราห์ กิงกะหล่า ระบำนกยูง โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

หนึ่งวรรณกรรม สามนาฏศิลป์ มโนราห์ กิงกะหล่า ระบำนกยูง
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1679 หน้า 76


หลายคนอาจไม่คาดคิดว่า นาฏศิลป์อุษาคเนย์ที่ดูภายนอกแตกต่างกัน กอปรด้วยรำมโนราห์ ฟ้อนกิงกะหล่า และระบำนกยูง จักมีรากเหง้ามาจากวรรณกรรมเรื่องเดียวกันคือ "พระสุธน-มโนราห์"
เพราะเมื่อมองแบบผิวเผินแล้ว สามนาฏศิลป์ที่กล่าวมาต่างมีลักษณะเฉพาะไปกันคนละทิศละทาง ไม่ว่าท่วงทีลีลา เสื้อผ้าหน้าผม คำร้องทำนอง รวมไปถึงกาละเทศะที่จัดแสดง

ยกเว้นเพียงสิ่งเดียวที่ยังช่วยยึดโยงกันอยู่คือ "การใส่ปีกติดหาง" ที่พอจะมองเห็นเค้าว่านาฏศิลป์เหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจาก "กินรี"


จากปัญญาสชาดกสู่พระสุธนคำฉันท์

วรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องพระสุธน-มโนราห์ ปรากฏครั้งแรกในคัมภีร์บาลีปกรณ์เรื่อง "ปัญญาสชาดก" (อ่านปัน-ยาด-สะ-ชา-ดก) ซึ่งไม่ปรากฏนามผู้ประพันธ์ รู้แต่ว่าเป็นพระภิกษุชาวล้านนา เขียนขึ้นราวปี พ.ศ.2000-2100 
ปัญญาสชาดก แปลตรงตัวว่า "ชาดก 50 เรื่อง" เป็นงานเขียนในลักษณะประชุมนิทานเก่าแก่ที่เล่าต่อกันมาในละแวกอุษาคเนย์ หนึ่งในนั้นมี "สุธนชาดก" รวมอยู่ด้วย
นิทานปัญญาสชาดกมีเนื้อหาสนุก แฝงธรรมะอย่างแยบยล จึงได้รับความนิยมสูง แพร่ขยายไปยังดินแดนใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว เช่น สยาม ลาว สิบสองปันนา พม่า โดยเฉพาะในพม่าเรียกนิทานเรื่องนี้ว่า "ซิมเมปัญญาสะ" (Zimme Pannasa) "ซิมเม" หมายถึงเชียงใหม่ เป็นเครื่องตอกย้ำว่านิทานเรื่องนี้เขียนขึ้นในเชียงใหม่อย่างแน่นอน

ข้างฝ่ายสยามก็รับเอาปัญญาสชาดกมารจนาเป็น "พระสุธนคำฉันท์" เช่นกัน แต่สำนวนฉบับอยุธยานั้นอ่านยาก จึงประพันธ์ใหม่อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระยาอิศรานุภาพ (อ้น) ประเดิมบทขึ้นต้นกล่าวอ้างถึง
ข้าขอนิเทศแจ้งแจง ตำนานสำแดง อดีตอันแล้วล่วงมา โดยในเปญญาศกชา ฎกอันอริยา บรรยายนิเทศแทนองค์

เห็นได้ว่าแม้แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ กวียังคงยืนยันว่า "พระสุธน-มโนราห์" รับอิทธิพลมาจาก "เปญญาศกชาฎก" ก็คือ "ปัญญาสชาดก" หรือนิทานชาดก 50 เรื่องของล้านนานั่นเอง
ไฉนในแผ่นดินล้านนา แหล่งกำเนิด "สุธนชาดก" แท้ๆ กลับไม่มีนาฏศิลป์ชนิดใดที่ถ่ายทอดเรื่องราวของนางกินรีหลงเหลืออยู่เลย
ไยระบำมโนราห์กลับไปโด่งดังในดินแดนด้ามขวาน "ศรีวิชัย" พม่า และจีนตอนใต้?



ชาตินี้น้องตามพี่ 
หากชาติหน้ามีขอให้พี่ตามน้อง

คงไม่ต้องพรรณนาอะไรมากนักเกี่ยวกับเรื่องย่อของพระสุธน-มโนราห์ เรื่องราวความรักระหว่าง "มนุษย์" กับ "อมนุษย์" (กินรี-ครึ่งคนครึ่งสัตว์หิมพานต์) 
อันเป็นภพที่เกิดมาใช้กรรม ต่อเนื่องจากชาติปางก่อนที่ทั้งคู่เคยเป็น "พระรถ-เมรี" ชาติก่อนนั้นก็รักกันปิ้มว่าจะขาดใจ พระรถเป็นมนุษย์เช่นเคย และนางเมรีก็เป็นอมนุษย์อีกเหมือนเดิม ซ้ำหนักกว่าชาติหลัง คือเป็นถึง "ยักษินี"

ความแตกต่างด้าน "ชาติพงศ์วงศา" คือฐานันดรกีดกั้นพรมแดนแห่งรัก ไคลแมกซ์ของเรื่องนี้คือคำสาปแช่งของเมรี ที่ต้องกรีดเลือดสังเวยรัก ขณะเร่ร้องติดตามหา "พระรถ" ผู้ทอดทิ้งและหลบหนี ด้วยวลีอมตะที่ว่า 
"ชาตินี้น้องตามพี่ หากชาติหน้ามีขอให้พี่ตามน้อง!"
ภพชาติมีจริงพระรถจำต้องเกิดมาไถ่ "หนี้สิเนหา" คืนให้แก่เมรี ผู้ที่ชาติใหม่ได้กลายร่างมาเป็นกินรี ชื่อ "มโนราห์" ชาตินี้มีปีกมีหาง พร้อมจะบินหนีความรักเพื่อลบรอยแค้นได้ทุกขณะ

ชาดกเปิดเรื่องด้วย "พรานบุญ" ผู้ใช้เวทมนต์บ่วงบาศก์จับนางมโนราห์ขณะบินลงมาเล่นน้ำที่สระอโนดาต นำไปถวายพระสุธนขณะเสด็จประพาสป่า
ศรสวาทเสียบทรวงพระเอกของเราเกินถ่ายถอน แต่แล้วรักนี้ก็ถูกสกัดโดยปุโรหิต ด้วยต้องการจะยกลูกสาวของตนให้เป็นชายาพระสุธนแทน จึงคิดอุบายกำจัดนางกินรี 
อ้างคำทำนายว่าอมนุษย์นางนี้เป็นกาลีบ้านกาลีเมืองต้องจับ "บูชายัญ" ทำให้เกิดฉากเด็ดที่วงการนาฏศิลป์ไทย-เขมร-ลาวนิยมนำไปผลิตซ้ำ นั่นคือตอนที่นางมโนราห์ขอปีกหางคืน แสร้งพิไรรำพัน คล้ายจะกระโดดเข้ากองไฟ แต่แล้วหลัดๆ พลันถลาบินหนีกลับป่าหิมพานต์ 
ด้วยอานุภาพแห่งรักบวกแรงกรรม พระสุธนต้องระทมทุกข์นานถึง 7 ปี 7 เดือนติดตามหายอดยาใจ ในที่สุดก็สมหวังลบล้างคำสาปแช่งในภพชาติก่อนได้สำเร็จ


มโนราห์ปักษ์ใต้
นาฏศิลป์แนวขนบนิยม


แทบไม่น่าเชื่อเลยว่านิทานสุธนชาดกจากเมืองเหนือ จักกลายมาเป็นนาฏศิลป์ "มโนราห์" ยอดฮิตของศิลปินปักษ์ใต้ ที่เปี่ยมท้นไปด้วย "พลัง" ขับเปล่งออกมาในแนวขนบนิยม เคารพเนื้อหาดั้งเดิมผสมรสสำเริงบันเทิงคดี 
จนยากที่จะให้เชื่อว่า "สุธน-มโนราห์" มีต้นกำเนิดมาจากเมืองเหนือ 
คนปักษ์ใต้เรียก "มโนราห์" อย่างสั้นๆ ว่า "โนรา" ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นนามสำคัญที่สะท้อนภาพรวมจิตวิญญาณนาฏศิลป์หลักของปักษ์ใต้เกือบทุกแขนงอีกด้วย 
ผู้แสดง "โนรา" ต้องเก่งทั้งรำ ร้อง ตอบโต้กลอนสดปฏิภาณ นอกเหนือจากนิทานพระรถ-เมรี/พระสุธน-มโนราห์ ที่นำมาเล่นยืนพื้นหลักแล้ว

"โนรา" ยังหยิบยกเรื่อง สังข์ทอง สินนุราช ไกรทอง รามเกียรติ์ ฯลฯ มาแสดงอีกด้วย เพียงแต่ยังคงสวมใส่ชุดของมโนราห์อยู่อย่างเหนียวแน่น


ฟ้อนนกกิงกะหล่า
ออกพรรษาบูชาพุทธคุณ


หันมามอง "ฟ้อนนก" หรือ "กิงกะหล่า" ซึ่งแผลงมาจาก "กินนะหร่า" ก็คือ "กินรา-กินรี" บ้าง 
ฟ้อนนกมักแสดงคู่กับ "เต้นโต" หรือ "ฟ้อนสิงโต" เป็นการประยุกต์เนื้อหาของ "สุธนชาดก" ให้ห่างไกลออกจากเรื่องรักๆ ใคร่ๆ แต่ปรับมารับใช้เรื่องงานบุญพระพุทธศาสนาแทน 
ชาวไทใหญ่ในรัฐฉานของพม่าจัดแสดงฟ้อนนก-เต้นโต ในช่วงเทศกาลออกพรรษา (งานปอยเหลินสิบเอ็ด) เป็นสัญลักษณ์ว่าเหล่าสิงสาราสัตว์ ซึ่งในชาดกเรียก กินนร-กินรี (กิงกะหล่า) กับนรสิงห์ (สิงโต หรือโต) ต่างมีใจยินดีปรีดาต่อการที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อมาโปรดมนุษยโลก 
ชาวไทใหญ่จึงจัดฟ้อนนี้ถวายเป็นพุทธบูชา ณ บริเวณหน้าประตูวัด เพื่อต้อนรับขบวนแห่เครื่องไทยทาน ด้วยเชื่อว่าพวกเขาจะได้รับอานิสงส์ไปจุติเป็นเทวดานางฟ้า

ฟ้อนนก-เต้นโต เป็นนาฏศิลป์ที่เพิ่งแพร่เข้ามาสู่ล้านนาไม่นาน เมื่อครั้งที่ชาวไทใหญ่อพยพมาอาศัยอยู่แถบแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่
การฟ้อนนกใช้ผู้แสดง 2 คน เป็นนกตัวผู้-ตัวเมีย เดิมเคยสวมหน้ากาก แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเปิดหน้าสวมชฎาขนนก มีจุดเด่นที่การตกแต่งปีกหางอย่างอลังการ 
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบ มีเพียงกลองกับฉาบเท่านั้น ท่าฟ้อนทุกท่าเลียนแบบธรรมชาติของนก มีโฉบถลา อวดปีก เล่นน้ำ ไซ้ขน หยอกล้อแบบคู่รัก  
เมื่อได้ชมฟ้อนกิงกะหล่าของทุกวันนี้ อย่าว่าแต่จะหวังให้เหลือร่องรอยของนิทาน "สุธน-มโนราห์" ติดค้างอยู่บ้างเลย แม้แต่ความหมายของการฟ้อนต้อนรับเทศกาลออกพรรษาซึ่งก็ประยุกต์มาแล้วชั้นหนึ่งนั้น ปัจจุบันผู้ชมยังเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่า ท่าร่ายรำที่เริ่มต้นด้วยการเคารพบูชาพระพุทธเจ้าในท่าไหว้เช่นนี้

สงสัยจะเป็นท่าประดิษฐ์ใหม่ เพื่อสื่อนัยแห่ง Welcome to Thailand เอาใจนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มักจะโยนธนบัตรทิ้งบนพื้น แล้วให้นางรำทำตัวอ่อนตัวโค้งไปคาบหยิบเอาแบ๊งใส่ปากจนหมดศักดิ์หมดศรีของความเป็นมนุษย์กระมัง


ระบำนกยูงสิบสองปันนา
บัลเลต์สวอนเลคเต็มรูปแบบ


ข้างฝ่ายนาฏลีลาไทลื้อในเขตสิบสองปันนารอยต่อพม่า-จีน ยิ่งเพี้ยนไปกันใหญ่ จากแต่เดิมเคยฟ้อนนกช่วงออกพรรษาเหมือนชาวไทใหญ่ แต่แล้วก็เกิดจุดพลิกผันขึ้นนับแต่ปี พ.ศ.2520 เป็นต้นมา เมื่อนาฏศิลป์ระบำนกยูงได้กลายเป็น "สินค้าทางวัฒนธรรม" รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้แก่รัฐบาลจีน 
จากขนนกยูงที่ชาวไทใหญ่-ไทลื้อ แค่นำมาประกอบตกแต่งปีกหางให้นางมโนราห์ร่ายรำ ได้ถูกปฏิวัติใหม่ แปรค่าและความหมายกลับตาลปัตร
กลายเป็น "ระบำนกยูง" สมัยใหม่ที่เน้นทรวดทรงองค์เอวแฝงเซ็กซี่ โดยได้รับอิทธิพลมาจากบัลเลต์รัสเซียในเพลง Swan Lake ของไชคอฟสกีเต็มๆ
หากนักท่องเที่ยวคนไหนไม่รู้รากและความหมายแห่งขนนกยูงนั้นมาก่อน ย่อมนึกว่า "ระบำนกยูง" แนวโชว์หวิว คืออัตลักษณ์แท้ๆ ของนาฏศิลป์ไทลื้อแห่งสิบสองปันนา  

แม้มุมหนึ่งอาจเป็นกลยุทธ์กระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว แต่นักมานุษยวิทยากลับเห็นว่านี่คือวิธีการลบทิ้งความทรงจำของชนกลุ่มน้อยในจีนตอนใต้ ที่เคยมีต่อสำนึกร่วมในความเป็นชาติพันธุ์ "ไท" และผูกพันกับนิทานปัญญาสชาดกให้เลือนหาย 

การควบคุมพฤติกรรมคนในท้องถิ่นที่เคยผูกติดอยู่กับวิถีวัฒนธรรมอันงดงามของตน มิให้เติบกล้าเข้มแข็งเผยอแข่งกับรัฐส่วนกลางนั้น นอกจากปรากฏการณ์ของนางมโนราห์ที่ถูกทำลายคุณค่าจนกลายเป็นเพียงบัลเลต์นกยูงที่แสนประดักประเดิดแล้ว

กลยุทธ์หรือวิธีคิดแบบอำนาจนิยมนี้ ยังชำแรกอยู่ทั่วทุกอณูภพของสังคมที่เต็มไปด้วยการกดขี่



.