http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-23

สู่โลกอันว่างโหวง โดย ศิลา โคมฉาย

.
บทความของปี 2554 - ปลดปล่อย โดย ศิลา โคมฉาย

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สู่โลกอันว่างโหวง
โดย ศิลา โคมฉาย คอลัมน์ แตกกอ-ต่อยอด
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1679 หน้า 67


อ่านข่าวประกาศผลรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ที่คณะกรรมการตัดสินมอบให้ นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น และนักวิจัยชาวอังกฤษ แล้วรู้สึกชื่นชมและเกิดความหวัง 
แม้จะดูไกลตัว และยังไม่รู้ว่าจะหวังอะไรได้บ้าง 
เขาว่า...ศาสตราจารย์ชินยะ ยามานากะ และ จอห์น กัวร์ดอน ค้นคว้าเซลล์ต้นกำเนิด ใช้ประโยชน์จากการเพิ่มประสิทธิภาพของเซลล์ เพื่อสร้างเนื้อเยื่อทดแทน ที่จะนำไปใช้รักษาโรคต่างๆ และเพื่อใช้ศึกษาต้นตอของโรคในห้องปฏิบัติการ 

นั่น...เป็นผลงานสร้างสรรค์เพื่อโลกทั้งมวล
เพื่อช่วยผู้คนสร่างทุกข์จากการเจ็บไข้ได้ป่วย 

นักวิทยาศาสตร์ชาวเอเชียท่านนี้ เคยได้รับรางวัลเกียรติยศจากสเปนเมื่อปีก่อน 
รางวัลมูลนิธิพรมแดนแห่งความรู้ บีบีเอวี จากการเป็นผู้พัฒนา สเต็มเซลล์แบบไม่ใช้ตัวอ่อน บุกเบิกการกระตุ้นให้เซลล์เก่ากลับมาทำงานใหม่อีกครั้ง

แต่เพียงไม่กี่อึดใจ ผมก็รู้สึกวูบไหวไปกับอีกข่าว...


เป็นความวิตกกังวลของผู้บริหารการศึกษา ต่อกระแสการเลือกเรียนระดับปริญญาตรีของคนหนุ่มสาวชาวไทย 
มองเมินสายวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรืออะไรที่เกี่ยวพันกับคณิตศาสตร์ 
ที่รามคำแหง ท่านอธิการบดีเปิดเผยว่า คณะเศรษฐศาสตร์ แต่เดิมมีผู้สมัครเข้าเรียนหลักหมื่น ลดวูบอย่างน่าใจหายเหลือแค่หลักร้อย ราว 500-600 คนต่อปี คณะวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะสาขาคณิตศาสตร์ บางเทอมไม่มีนักศึกษาเอาเลย 
แม้จะให้ทุนเรียนฟรีก็ตาม 

ท่านอธิการยืนยันว่า ตรวจสอบแล้ว ไม่ว่าจุฬาลงกรณ์ หรือธรรมศาสตร์ก็มีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน คนรุ่นใหม่พากันหลบเลี่ยงคณิตศาสตร์ ที่เชื่อว่าเป็นงานยาก คณะยอดนิยมกลับเป็นนิติศาสตร์ ด้วยเหตุผลชัดเจน ตรงไปตรงมา 
เงินเดือนของอัยการและผู้พิพากษาสูงมาก 
ข่าวสารพาให้อึ้ง ไม่อาจผ่านเลยไปสู่ข่าวต่อไป มีแรงผลักประหลาด ดันให้หวนกลับไปที่การประกาศรางวัลอีก อ่านทวนอย่างพินิจ 
โดยเฉพาะกับตอนที่บอกว่า จอห์น กัวร์ดอน ในวัยเด็ก เคยถูกครูบอกให้เลิกล้มความคิดที่จะร่ำเรียนสายวิทยาศาสตร์
นั่น...เขาคงต้องค้นพบตนเอง และลงแรงอย่างหนักบนหนทางสายนี้


ข่าวสาร 2 ชิ้น เรื่องของคน 2 ส่วน ทำให้ผมคิดไปถึงทัศนคติ 2 แบบ 
อย่างแรกที่คนรุ่นเก่าคุ้นเคย 
คือในการใช้ชีวิตควรเลือกกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น 
กับอย่างที่เผยแพร่เป็นกระแสทั่วไปในปัจจุบัน 
อยากทำอะไรก็ทำไปเลย หากไม่เดือดร้อนคนอื่น

แบบแรกน่าจะเป็นอิทธิพลทางจริยธรรม รู้ผิด ชอบ ชั่ว ดี มุ่งชี้ให้เห็นในประโยชน์ที่แท้ สิ่งซึ่งจะคงอยู่ ประเภทประดับไว้ในโลกา อย่างที่เคยปรากฏในโคลงโลกนิติ คนเราตายลงแล้ว คุณค่าไม่อาจเทียบกับวัวควาย ที่เหลือเนื้อหนัง เขาและกระดูกไว้เป็นประโยชน์กับคนและสัตว์อื่น
ร่างคนตายเป็นซากศพเน่าเปื่อยชวนสังเวช 
สิ่งที่จะคงเหลือคงมีแต่ชื่อเสียง และคุณความดี

ในขณะแบบหลัง ปรากฏขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่แน่ใจว่า เป็นภายหลังการสะพัดของกระแสถอดรื้อความคิด ความเชื่อเก่า ที่ปฏิบัติตามๆ กันมา โดยไม่แยกแยะพินิจไตร่ตรอง เป็นเรื่องของขนบ และบางอย่างพ้นสมัยไปแล้ว 

การขยายตัวและมีสถานะเข้มแข็งของความเป็นปัจเจกชน ทำให้ทัศนคติชนิดนี้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป



ชินยะ ยามานากะ นักวิทยาศาสตร์วัย 50 ปี และ จอห์น กัวร์ดอน วัย 79 ปี กระทำสิ่งซึ่งปรากฏเป็นผลงานประเภทประดับไว้ในโลกา ดูตามวัยแล้ว พวกเขาน่าจะคุ้นเคยกับทัศนคติแบบแรกเป็นอย่างดี 
แต่วิสัยนักวิทยาศาสตร์ไม่อาจคร่ำครึอยู่ในขนบ ต้องหาญกล้าท้าทายความคิดความเชื่อเก่า ลงมือทำงานหนัก พิสูจน์ทฤษฎีของตัว ให้ปรากฏเป็นจริง 
การอยากทำอะไรก็ทำไปเลย หากไม่เดือดร้อนคนอื่น จึงควรเป็นเรื่องที่มีวุฒิภาวะเข้ามาเกี่ยวข้อง 
ไม่ใช่ภาวะไร้การควบคุม

ผมเข้าใจเอาว่า คนรุ่นใหม่ที่ถูกเพาะนิสัย มุ่งสู่ความสะดวกสบาย แต่ต้องได้ค่าตอบแทนสูง บางส่วนกำลังฟุ้งกระจายไร้ทิศทาง ไปตามแรงหอบของทัศนคติอย่างนี้ 
แทนการอยากทำอะไรก็ทำเลย หากก่อให้เกิดประโยชน์ ด้วยความเชื่อว่า ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน จึงก่อเกิดเรื่องราวฉาวโฉ่ อย่างที่เป็นข่าวลำดับต่อไปซึ่งผมได้อ่าน

เรื่องของสาวรุ่นเปิดโชว์นมผ่านเฟซบุ๊ก แลกกับการตอบรับ 
พลันรู้สึกได้ว่า โลกในส่วนของเรา ว่างโหวงจนชวนหดหู่



+++

บทความของปี 2554

ปลดปล่อย
โดย ศิลา โคมฉาย คอลัมน์ แตกกอ-ต่อยอด
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1625 หน้า 67


หลังการเดินทางไปเยี่ยมเยือนมิตรสหาย ที่เลือกพำนักในท้องถิ่นแวดล้อมด้วยสภาพธรรมชาติสมบูรณ์ สงบสงัด ปลอดโปร่งโล่งกว้าง ผมมักเผชิญกับชั่วขณะอันสับสนอลหม่านในความคิด
ม่านหมอกบางๆ ของความเศร้าคลี่คลุมบางส่วนของความสุข จากวันพักผ่อนที่รับมาเต็มอิ่ม 
ใจจดจ่ออยู่กับการได้ออกท่องไปไร้ขีดจำกัด ขัดแย้งกับพันธะชีวิตเหนี่ยวรั้งกายให้ต้องอยู่โยงเป็นหลักแหล่งในถิ่นไม่อาจเลือก 

คำถามที่เพื่อนฝูงฝากเกาะจิตใจกลับมาคือ เมื่อไหร่จะคิดละทิ้งเมือง? มักถูกปะทะท้าทายด้วยคำถามจากเบื้องลึก 
คนแบบเราสามารถปักหลักจมอยู่กับความโดดเดี่ยวได้จริงหรือ? 
มองย้อนกลับไปในประวัติ เราต่างเป็นนักเดินทาง

ตั้งแต่เยาว์วัย เราเลือกให้หนังสือ หนังขายยา คำบอกเล่า ชักจูงนำพาออกจากชนบทกันดารบ้านเกิด ไปทำความรู้จักกับบ้านอื่น เมืองอื่น ผู้คนและโลกกว้าง บทเพลงที่ผ่านคลื่นวิทยุเป่าหู กระตุ้นจินตนาการให้ฟูฟ่อง ก่อตัวเป็นภาพฝันถึงดินแดนอันแสนรื่นรมย์... 
กระทั่งถึงวาระต้องห่างบ้าน 
การเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัยชีวิต เป็นนักเรียนรู้สังคมการเมือง สั่งสม และเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต ดิ่งลึกเข้าไปในหลากหลายถิ่นที่ วัฒนธรรม พบผู้คน ได้เห็นทำความเข้าใจในมนุษย์ทุกแง่มุมและมิติรับรู้ชะตากรรมที่เกิดกับพวกเขา บางคราวรู้โดยเข้าร่วมรับความเจ็บปวด กลางความโหดร้ายทารุณ 
คั้นกลั่นประมวลภาพ และความรู้สึก ผ่านชิ้นงานศิลปะ
บอกเล่า โพนทะนา ปลุกปลอบ กระตุ้นการหลอมรวมพลัง เพื่อการปลดปล่อยจากปมทุกข์

วันเวลากำชับกำชาให้เราต้องออกเดินทาง เพราะชีวิตอิสระถูกขับเคลื่อนด้วยอัตตา อาจเพิ่มพูนไปถึงจองหอง ต้องถูกควบคุมและกำราบลง โดยการออกไปจากที่มั่นซึ่งตัวเป็นใหญ่ ไปยังถิ่นอื่นเพื่อพานพบความยิ่งใหญ่ สุดยอด ของสิ่งอื่น คนอื่น  
ยังมีคนกล้าหาญยิ่งกว่า เก่ง ดี มีความสำคัญยิ่งกว่า 
ยิ่งไปในมุมโลกที่ไม่มีใครรู้จัก ต้องอยู่กับตัวเอง รู้และเข้าใจในสรรพกำลังที่มีอยู่จริง ลงมือทำด้วยสติปัญญาตัวเองเพื่อการเอาชีวิตรอด ที่นั่นตัวตนลีบเล็กลง เป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่ง 
พันธนาการชีวิตคลี่คลาย ถูกปลดปล่อย



พักหลังเมื่อถึงเดือนตุลาคม ผมมักคิดถึงการปลดปล่อย 
เมื่อเลือกนั่งเพียงลำพัง ระลึกถึงเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ อันเป็นผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ไม่คิดไปร่วมงานรำลึกที่จัดโดยกลุ่ม องค์กร ซึ่งยืนอยู่บนความคิดความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างหลังการแตกแยกรุนแรง ลามขยายกลายเป็นความเกลียดชังต่อกัน 
งานจึงเหมือนมีเจ้าของ

บรรยากาศแตกต่างไปจากความคิดต่าง ที่กลายเป็นข้อถกเถียงเข้มข้น เช่น งานรำลึก 14 ตุลา วาระครบรอบ 20 ปี เมื่อปี 2536 ประเด็นสำคัญคือ จะจัดหัวข้อศึกษาเฉพาะเหตุการณ์นองเลือดเท่านั้น หรือต้องขยายไปถึงช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคมด้วย 
หรือข้อโต้แย้งกับประเด็นที่ถูกชูขึ้น ในวาระครบรอบ 25 ปี ประกาศให้ 14 ตุลาฯ เป็นวันเสรีภาพ ซึ่งถูกมองว่าตีกรอบแคบเล็ก จงใจละเลยความเสมอภาค และปัญหาของคนชั้นล่าง อันเป็นปมปัญหาหลักของสังคม ซึ่งสั่งสมมานานจนเป็นเหตุเบื้องลึกคุระอุ ผลักดันให้เหตุการณ์แตกปะทุ 
หรือแม้แต่ในวาระครบรอบ 30 ปี ที่รัฐเป็นเจ้าภาพ กำหนดให้เป็นวันประชาธิปไตย หากไม่มีสาระใดให้เรียนรู้ นอกจากการบันเทิงสัญจร

เมื่อจัดการรำลึกเป็นการส่วนตัว เฝ้าคิดคำนึงเพียงลำพังบ่อยครั้ง ผมเกิดความเชื่อและได้ข้อสรุปว่าวาระนี้ควรจะเป็นการปลดปล่อย 
ประเทศชาติถูกปลดปล่อยจากอำนาจเผด็จการ สลัดทิ้งสภาพถูกครอบงำจากชาติมหาอำนาจ สังคมการเมืองหลุดพ้นจากกรอบเดิม ที่สำคัญ คนหนุ่มสาวรู้จักการสละเลือดเนื้อ มีความรักในผองชน ก่อนจะรู้จักความรักส่วนตัว 
รู้จักความเสียสละก่อนจะรู้จักการสะสม 
พวกเขาต่างมีวิญญาณเสรี



และอาจเป็นด้วยช่วงปลายเดือนก่อน วันที่ 21 กันยายน เป็นวาระครบรอบ 30 ปีของวันสันติภาพสากล ซึ่งที่ประชุมสหประชาชาติ กำหนดให้เป็นวันยุติการสู้รบของโลก 
ประกาศเพื่อให้ประชาชาติต่างๆ ยุติการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยอาวุธ และหยุดการสู้รบกันในวันนี้ ช่วยกันเสริมสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลก 
บางทีเรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงการปลดปล่อย 
ด้วยบุคคลเป็นรากฐานสำคัญ สร้างชุมชน สังคม ประเทศที่ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของสันติภาพ ซึ่งจักขยายไปเป็นฐานในระดับโลก

คนที่ใช้สติปัญญาแก้ไขข้อพิพาท ความบาดหมาง แทนความรุนแรง ย่อมสร้างสันติสุขทั้งกับตนเองและผู้อื่น คนผู้เชื่อในสันติภาพต้องอยู่เหนืออารมณ์ ความโกรธแค้นชิงชัง ต้องการใช้กำลังกำจัดปัญหาให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ดังใจ 
ไร้ซึ่งพันธนาการของอำนาจนิยม

การรำลึกในเดือนตุลาคมคือการตระหนักถึงพลังของการปลดปล่อย 



.