.
คอลัมน์ ในประเทศ - แกะรอยขบวนการ "ร่วมด้วย ช่วยเขย่า" 4 ปี "รัฐบาลปู" "หืดจับ
รายงานพิเศษ - เมื่อ "สุกำพล" เป็นสายล่อฟ้า กับ เสธ.มือใหม่ "เสธ.โด่ง เสธ.เจี๊ยบ เสธ.แป๊ะ" และดัชนี "ผมหงอก" ของบิ๊กตู่ กับเฟรชชี่ของป๋าเปรม
คอลัมน์ โล่เงิน - วิพากษ์ "รัฐตำรวจ" จาก "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" บทสรุปอยู่ที่ผลงาน
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
สัญญาณ “ฮ่องกง” ใกล้คลอด “ครม.ปู 3” “หัวหน้า พท.” สายตรง “ทักษิณ” “วางใจ-ใช้ได้” สเป๊ก “นายใหญ่”
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1678 หน้า 9
เหตุและผลของการนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยิ่งลักษณ์ 3 จะไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ได้
หาก "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" ไม่ชิงลาออกจากตำแหน่ง "รองนายกรัฐมนตรี" และ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย"
เหตุและผลของการนำไปสู่การเลือกตั้ง "คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย" (พท.) จะไม่เกิดในวันที่ 30 ตุลาคมนี้
หาก "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" ไม่ชิงลาออกจากตำแหน่ง "ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ" และ "หัวหน้าพรรคเพื่อไทย"
การลาออกในตำแหน่ง "ฝ่ายบริหาร" และ "ฝ่ายนิติบัญญัติ" รวมถึง "ผู้บริหารสูงสุด" ของ "พรรคการเมือง" ซึ่งมี ส.ส. ในสภามากที่สุด 264 ที่นั่ง
เป็นผลพวงมาจากการถูกฝ่ายค้านอย่าง "พรรคประชาธิปัตย์" รุมกระหน่ำรายวันเพื่อเปิดแผลบี้ "ยงยุทธ" ให้แสดงสปิริตโดยฉับพลัน
ภายหลังคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทยมีมติลงโทษไล่ "ยงยุทธ" ออกจากราชการเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง "รองปลัดกระทรวงมหาดไทย" ในฐานะรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย จากการปฏิบัติหน้าที่มิชอบในเรื่องที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์
แรงปะทะและแรงเสียดทานทางการเมืองจากฝ่ายค้าน มิอาจทำให้ "ยงยุทธ" ต้องทนพิษบาดแผลที่ถูกรุมขย้ำได้
การรักษา "พรรคเพื่อไทย" ให้อยู่รอด การรักษา "รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ให้สามารถเดินหน้าบริหารราชการแผ่นดินโดยไร้ขวากหนาม
จึงต้องแลกด้วย การ "ฮาราคีรี" ตัวเองของ "ยงยุทธ" เพื่อตัดเนื้อร้ายที่อาจกลายเป็น "มะเร็งร้าย" ลุกลามให้ "พรรคเพื่อไทย" และ "รัฐบาล" ต้องเผชิญอุบัติเหตุทางข้อกฎหมายซ้ำรอยอดีต
บริบททั้งหมด คือ "ปรากฏการณ์ยงยุทธ" อันนำไปสู่การ "ปรับ ครม.ยิ่งลักษณ์ 3" เนื่องด้วย "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย" (มท.1) ว่างลง
"ปรากฏการณ์ยงยุทธ" จึงนำไปสู่การเลือกตั้ง "คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย" ชุดใหม่ในเวลาต่อมา เนื่องจาก "หัวหน้าพรรค" พ้นจากตำแหน่ง ตามข้อบังคับพรรคเพื่อไทย
การมาพำนักใน "เกาะฮ่องกง" ของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรีในช่วงระหว่างวันที่ 3-7 ตุลาคม จึงประจวบเหมาะ ในช่วงกระแส "ปรับ ครม.ยิ่งลักษณ์ 3" และ "หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่" กำลังฝุ่นตลบพร้อมกัน
ความเคลื่อนไหวของ "บิ๊กเพื่อไทย" อย่าง "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" รองนายกรัฐมนตรี ความเคลื่อนไหวของกลุ่มก๊วน ส.ส.อีสาน
ความเคลื่อนไหวของ "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ "จตุพร พรหมพันธุ์" แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ต่างยกทัพบินเข้าสู่ "เกาะฮ่องกง" จึงหลีกหนีประเด็นแห่งการเข้าพบ "พ.ต.ท.ทักษิณ" เพื่อหารือถึงการปรับ ครม. ไม่พ้น
ไม่เพียงจะมีกระแสลือสะพัดเล็ดลอดออกมาจาก "เกาะฮ่องกง" ว่า การจัดทัพสับเปลี่ยน "เก้าอี้ ครม.ปู 3" อาจลงตัวแล้วระดับหนึ่ง
โดยรอเพียงขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสินใจของ "ยิ่งลักษณ์" ที่ใช้จังหวะและความเหมาะสมในการทำคลอด "ครม.ปู 3" เท่านั้น
ชื่อของ "ร.ต.อ.เฉลิม" จึงถูกคาดหมายว่าอาจควบรองนายกฯ และนั่งเก้าอี้ "มท.1" โดยว่ากันว่าได้รับการผลักดันจาก "บ้านจันทร์ส่องหล้า" และ "นายกฯ หญิง"
อีกทั้ง "สิงห์เหลิม" ยังถูกโยงถึงการเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในกระทรวงมหาดไทยในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ ท่ามกลางเสียงลือว่าอาจคัมแบ๊กคืนสู่ "เจ้ากระทรวงคลองหลอด" อีกครั้ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลอด 1 ปีภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของ "ยิ่งลักษณ์" หากไร้ซึ่งคนเสียงดังแห่ง "บ้านริมคลอง" แล้ว
ย่อมทำให้ "ยิ่งลักษณ์" อาจสะบักสะบอมทางการเมืองไปมากกว่านี้
เพราะ "เฉลิม" ผู้นี้คือผู้ที่ออกหน้ารับแรงปะทะทางการเมืองจากฝ่ายตรงข้าม เป็นองครักษ์พิทักษ์ "นายกฯ หญิง" มาโดยตลอด
ฉะนั้น การบินตรงของ "สิงห์เหลิม" ในช่วงเวลาเดียวกับที่ "นายใหญ่" อยู่ใน "เกาะฮ่องกง" จึงเป็นการแสดงถึงผลงานการันตีจากนโยบายปราบปรามยาเสพติด เพื่อขอความไว้วางใจขั้นสุดท้ายในการนั่งเก้าอี้ "มท.1"
นอกจากนี้ ชื่อของ "จตุพร" ก็มีแนวโน้มสูงที่จะเข้ามานั่งตำแหน่ง "รัฐมนตรีช่วยว่าการ" ในกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง
โดยล่าสุด "ว่าที่เสนาบดีตู่" อาจนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการในกระทรวงสำคัญเก้าอี้ใดเก้าอี้หนึ่งของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงศึกษาธิการ
ทั้งนี้ หากพิจารณาเงื่อนเวลาแห่งการปรับ "ครม.ยิ่งลักษณ์ 3" แล้ว จังหวะที่เหมาะสมที่สุดจึงน่าจะอยู่ในช่วงหลังเสร็จศึก "ซักฟอก" รัฐบาล
เพราะหาก "ยิ่งลักษณ์" เร่งรีบปรับ ครม. ก่อนเดือนพฤศจิกายน ก็จะเปิดแผลให้ถูกรุมถล่มว่าเป็นการปรับ ครม. เพื่อหลีกหนีญัตติซักฟอกของฝ่ายค้านได้
เวทีซักฟอกยังถือเป็นโอกาสเหมาะสมที่ "นายกฯ หญิง" จะประเมินการทำงานของ "รัฐมนตรี" ที่อยู่ในข่ายก่อนจะถูกเด้งพ้นวงโคจร ครม.ปู 3
ไม่เพียงการเดินทางมา "เกาะฮ่องกง" ของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" จะต้องรอลุ้นจังหวะและเวลาการปรับ "ครม.ปู 3" ในเมืองไทยเท่านั้น
แต่เมื่อ "ยงยุทธ" ต้องทิ้งเก้าอี้ "หัวหน้าพรรคเพื่อไทย" และที่ประชุมรักษาการคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยมีมติเลือก "พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์" นั่งรักษาการหัวหน้าพรรคชั่วคราวระหว่างรอ "หัวหน้าพรรคตัวจริง"
ทำให้สัญญาณ "นายใหญ่" ออกมาจาก "เกาะฮ่องกง" โดยการการันตีของ "นพดล ปัทมะ" ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ถึงคุณสมบัติเบื้องต้นของหัวหน้าพรรคคนใหม่จะต้อง "เก่งงานด้านบริหารแต่ไม่เน้นเก่งการเมือง"
แม้จะมีชื่อปรากฏผ่านสื่อตั้งแต่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ หรือ ภูมิธรรม เวชยชัย ก็ตาม
แต่ชื่อทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่เป็นการปล่อยออกมาเพื่อโยนหินถามทางก่อนจะถึงวันประชุมใหญ่ 30 ตุลาคมนี้เท่านั้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่มาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ย่อมต้องมีความคล้ายคลึง "ยงยุทธ" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะด้วยเหตุและปัจจัยสำคัญของ "รัฐธรรมนูญ 2550" ที่ยังเป็นกฎเหล็กยาแรงประหารชีวิตทางการเมือง "คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง" ได้ทั้งคณะอยู่ตลอด
ดังนั้น ผู้ที่จะมาเป็น "หัวหน้าพรรคเพื่อไทย" ในชั่วโมงนี้ จึงต้องเป็นผู้ที่ "นายใหญ่" เห็นแล้วต้อง "แฮปปี้" โดยพร้อมเผชิญความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้น และต้องมีภาพ "ประนีประนอม" กับชนชั้นนำในชั่วโมงปรองดองนี้ด้วย
เมื่อพิจารณาคุณสมบัติของ "ยงยุทธ" แล้ว จะพบว่าเคยผ่านการงานบริหารระดับสูงในกระทรวงมหาดไทยมาก่อน
อีกทั้ง "ยงยุทธ" ยังถือว่าเป็น "ปู่โสม" เฝ้าพรรคในยามตกต่ำเป็นฝ่ายค้านมาก่อน รวมทั้งยังสามารถทำงานให้กับ "นายใหญ่" ได้อย่างเต็มที่ในช่วงที่ผ่านมา
ทำให้ชื่อของ "จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" รักษาการเลขาธิการพรรค และชื่อของ "พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์" รักษาการหัวหน้าพรรค ที่ว่ากันว่าส่งตรงมาจาก "เกาะฮ่องกง" จึงน่าจับตาไม่น้อย
เพราะหากเทียบคุณสมบัติ "ใจถึง-พึ่งได้" ทำงานสนองนาย เป็นคนเสียสละร่วมทุกข์และร่วมสุขถวายหัวให้พรรคมาตลอด ชื่อของ "จารุพงศ์" จึงมาแรง
เนื่องด้วย "จารุพงศ์" ยังไม่มีข้อบกพร่องในการบริหารงานกระทรวงคมนาคมตั้งแต่เข้ามานั่งโผ "ครม.ปู 2"
"จารุพงศ์" ไม่มีภาพเล่นการเมืองเพื่อมุ่งตอบโต้ประเด็นทางการเมืองเท่าใดนัก
ประวัติของ "จารุพงศ์" ยังเคยผ่านการบริหารสูงสุดกระทรวงสำคัญ ทั้งปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงยุติธรรม สไตล์การทำงานในตำแหน่ง "เลขาธิการพรรคเพื่อไทย" จึงถือว่าเข้าตา "นายใหญ่" รองจาก "ยงยุทธ"
ส่วนชื่อของ "พล.ต.ท.วิโรจน์" ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของ "นายใหญ่" ที่น่าจับตาไม่น้อยเช่นกัน
เพราะประสบการณ์ของ "รักษาการหัวหน้าพรรค" ผู้นี้เคยผ่านงานรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และเป็นผู้อาวุโสที่คนในพรรคให้ความเคารพ
ความเคลื่อนไหวของ "ทักษิณ" จาก "เกาะฮ่องกง" ก่อนมุ่งหน้าเข้าสู่จีน รัสเซีย และอังกฤษ ตามลำดับ จึงเป็นสัญญาณหนึ่ง เพื่อรอเวลาที่ "ยิ่งลักษณ์" จะคำนวณฤกษ์ยามทำคลอด "ครม.ปู 3"
ขณะเดียวกัน สัญญาณตรง "ฮ่องกง" ถึง "สเป๊ก" ของผู้มานั่งเก้าอี้ "ประมุข" แห่ง "เพื่อไทย" คนใหม่ จึงต้อง "วางใจ-ใช้ได้" และสายตรงต่อ "นายใหญ่" ด้วย!!!
++
คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1678 หน้า 8
รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นับว่าโชคดีมหาศาล ที่สถานการณ์หลายเงื่อนไขเป็นอกเป็นใจ สามารถบริหารจัดการได้โดยไม่สะดุด อย่างน้อยที่สุด หนึ่งในจำนวนนั้นคือ หลบรอดปลอดโปร่งจาก "ม็อบกาารเมือง" ไม่มีกลุ่มไหน ออกมาเคลื่อนไหวกดดัน คลื่นลมไม่กระโชกมานานพอสมควรแล้ว หลังยกธงขาวยอมถอยหลังหนึ่งก้าว กับโปรแกรมการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 2-3 ไปแบบไม่มีกำหนด
ส่งผลให้ "ม็อบเสื้อเหลือง" หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ออกมาชุมนุมประท้วงในขณะนั้น ทำท่าจะจุดกระแสได้ติดอีกคำรบ ประกาศชัยชนะและสลายตัวไป
ขณะที่ "ม็อบ พธม." พักรบ ยุติการขับเคลื่อน ซุ่มดูเชิงอยู่ข้างเวที จู่ๆ มีกลุ่มมวลชนจัดตั้งขึ้นมาใหม่ ประกาศชักธงรบ ขับไล่รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ขึ้นมากลุ่มหนึ่ง ใช้ชื่อ "กลุ่มองค์กรพิทักษ์สยาม"
มี "พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์" หรือ เสธ.อ้าย เป็นโต้โผสำคัญ โดยระบุว่า แนวร่วมหลักของ "กลุ่มองค์กรพิทักษ์สยาม" ยังประกอบไปด้วยเครือข่ายภาคประชาชน 30 องค์กร มีบุคคลชื่อดังและผู้นำมวลชนจำนวนมาก อาทิ "นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์" แกนนำขาประจำจากกลุ่มหลากสี และ "พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ" อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ประเมินตัวตนกันเบื้องต้นประมาณการกันว่า "กลุ่มองค์กรพิทักษ์สยาม" น่าบูมพอตัว เพราะชื่อชั้นของ "เสธ.อ้าย" ไม่ธรรมดา เป็นถึงประธานเตรียมทหารรุ่น 1 ยังเป็นเลขาธิการกิตติมศักดิ์ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย อดีตประธานที่ปรึกษากองทัพบก ตลอดถึงนายกสมาคมมวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย
เคยร่วมปฏิวัติกับคณะของ "พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ" รองผู้บัญชาการทหารบก เมื่อ 26 มีนาคม พ.ศ.2520 แต่ไม่สำเร็จ กลายเป็นกลุ่มกบฏ ช่วงรับราชการในกองทัพบก ใกล้ชิดกับกลุ่มยังเติร์ก โดยเฉพาะ "พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์"
จุดที่ถูกจับตามองมากที่สุดว่า "กลุ่มองค์กรพิทักษ์สยาม" น่าจะจุดติด คือ "เสธ.อ้าย" เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ "พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์" องคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี จึงมีการตีความ ขบโจทย์ว่า "ต้องมีนัย-ยะ"
แต่พลันที่ "กลุ่มองค์กรพิทักษ์สยาม" ลั่นกลองรบเปิดตัวครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ด้วยการนัดหมายมวลสมาชิกไปร่วมทำบุญที่ท้องสนามหลวง ปรากฏว่า กำลังหร็อมแหร็ม ดังที่หลายฝ่ายคาดหมาย
ต้องเกาะติด ตามไปดูกันอีกรอบในวันที่ 28 ตุลาคม 2555 ซึ่ง "กลุ่มองค์กรพิทักษ์สยาม" จะนัดชุมนุมใหญ่ที่สนามม้านางเลิ้ง ว่าจะปลุกกระแสได้ดีกว่าเดิมหรือไม่
กระแสเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แทน "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร" ที่จะครบเทอมในวันที่ 10 มกราคม 2556 ส่อเค้าว่าจะร้อนแรงมากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ หลายสิบเท่าเพราะ แชมป์เก่า คือ "ประชาธิปัตย์" และผู้ท้าชิงคือ "เพื่อไทย" ต่างมีหมายเหตุเหมือนกันว่า "แพ้ไม่ได้"
"ประชาธิปัตย์" ประสบชัยชนะศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แบบ "ผูกปีกิน" ติดต่อกันมาแล้ว 3 สมัยซ้อน จาก "อภิรักษ์ โกษะโยธิน" ชนะ "ปวีณา หงสกุล" ที่ฉีกตัวไปลงสมัครอิสระ และ "อภิรักษ์" คนเดิมลงป้อมกันแชมป์ ชนะ "ประภัสร์ จงสงวน" ผู้สมัครจากพรรคพลังประชาชน หรือ "เพื่อไทย" ในปัจจุบัน ไปอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2551
กับคิวล่าสุด "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร" ต้อนตือ "ยุรนันทน์ ภมรมนตรี" ผู้สมัครจากเพื่อไทยแบบขาดลอย จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2552
"เครือข่ายทักษิณ" ทั้งไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย เข้าวินศึกเลือกตั้งสนามใหญ่ ได้แบบ "ป่าล้อมเมือง" แต่ "สนามเล็ก" คือผู้ว่าฯ กทม. ปราชัยหมดรูปทุกสมัย
ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. ในต้นปี 2556 "เพื่อไทย" มี "ธง" และจุดคาดหมายที่จะโค่นแชมป์เก่าให้ได้สูง ดูได้จากการคัดตัวผู้สมัคร เท่าที่ปรากฏชื่อว่าจะส่งมาเป็นตัวชิง ล้วนมีชื่อชั้นดีพอประมาณ ไม่ว่าจะเป็น "ปลอดประสพ สุรัสวดี" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ "พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์-พล.ต.อ.พงศภัศ พงศ์เจริญ-ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" เป็นต้น
ส่งมาสู้ ชิงพื้นที่ และหวังโค่นแชมป์ ไม่ใช่ลักษณะขัดตาทัพ
"ประชาธิปัตย์" รู้แจ้งแทงทะลุดีว่า สนามเมืองหลวง แม้จะชนะศึกมา 3 ครั้งซ้อน แต่ครั้งใหม่ประมาทไม่ได้
โอกาสเสี่ยง เปอร์เซ็นต์ในการพ่ายแพ้ สูงกว่าปี 2551 และ 2552 โดยเฉพาะประเด็นของตัวบุคคล คือ "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" ถูกคู่แข่งหยิบยกเอากรณี น้ำท่วม-ถุงทราย-ท่อระบายน้ำ เล่นงานเอางอมพระราม
มีข่าวว่า ทีมยุทธศาสตร์ของประชาธิปัตย์ บางส่วน ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะส่ง "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" ลงป้องกันแชมป์ ต้องการเปลี่ยนตัวเป็น "กรณ์ จาติกวณิช-องอาจ คล้ามไพบูลย์" หรือ "อลงกรณ์ พลบุตร" คนหนึ่งคนใด
แต่ไม่สามารถแก้เกมใดๆ ได้เลย เพราะ "คุณชายหมู" ประกาศสู้ตาย หากพรรคมีมติไม่ส่งตัวเองลงสมัคร จะปลีกวิเวกไปสมัครในนามอิสระ
เท่ากับว่า ต้องมาแย่งแต้มกันเอง จะส่งผลให้พ่ายแพ้ต่อพรรคเพื่อไทยสูงขึ้น
แกนนำประชาธิปัตย์ เลยพากันน้ำท่วมปาก พูดไม่ออก บอกไม่ถูก
"คุณชายหมู" ไม่ยอม ประกาศขอฉีกตัวไปลงสมัครในสนามอิสระ ยิ่งพบกับความพ่ายแพ้มากขึ้น
+++
แกะรอยขบวนการ "ร่วมด้วย ช่วยเขย่า" 4 ปี "รัฐบาลปู" "หืดจับ
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1678 หน้า 11
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปัจจุบันกำลังตกอยู่ในสภาวะระส่ำระสายจาก 2 เรื่องด้วยกัน
เรื่องแรก ระส่ำจากกรณี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ลาออกจากรองนายกรัฐมนตรี รมว.มหาดไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
เรื่องที่สอง ระส่ำจากกรณีนโยบายโครงการรับจำนำข้าว ที่กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม กลุ่มองค์กรอิสระ กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกข้าว "บางกลุ่ม"ร่วมมือต่อต้านอย่างเป็นขบวนการ
กรณีนายยงยุทธนั้น คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย มีมติลงโทษวินัยร้ายแรงด้วยการไล่ออกจากราชการ
ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด กรณีที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ในสมัยนายยงยุทธ ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2545
ในทางข้อกฎหมาย ถึงแม้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะยืนยันว่า นายยงยุทธ ได้รับอานิสงส์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ.2550 จึงไม่มีผลกระทบต่อการดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แล้วก็ตาม
แต่ในทางการเมือง นายยงยุทธได้ตัดสินใจเลือกที่จะลาออกจากทุกตำแหน่งในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย โดยอ้างว่าต้องการสร้างมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมืองขึ้นใหม่
ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากบุคคลภายนอกว่า แท้จริงแล้วนายยงยุทธ ต้องการตัดไฟแต่ต้นลม จากกรณีฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติการเป็น ส.ส.
ที่อาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นถูก "ยุบพรรค"
กระทั่งเมื่อ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ลาออกจากทุกตำแหน่ง
ประกอบกับคำให้สัมภาษณ์ของ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า
"เมื่อนายยงยุทธ ลาออกจากการเป็น ส.ส. แล้ว ถือว่าไม่มีเหตุที่ต้องวินิจฉัยในเรื่องของคุณสมบัติการเป็น ส.ส."
ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่า แม้นายยงยุทธจะลาออกจาก ส.ส. ประธานสภาก็ควรต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น
"น่าจะเป็นเรื่องทางการเมืองมากกว่า"
ทุกอย่างก็"เกมโอเวอร์" รัฐบาลเพื่อไทยรอดเงื้อมมือไปจนได้
กระนั้นก็ตามประเด็นร้อนแรงตีคู่มากับกรณีนายยงยุทธ
คือ นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่เป็นเสมือนแม่เหล็กแท่งใหญ่ ดึงดูดขบวนการโค่นล้มรัฐบาลเพื่อไทย ที่"แยกกันเดิน"ไปพักหนึ่ง ให้กลับมา"รวมกันตี"อีกครั้ง
ขบวนการถล่มรับจำนำข้าว เปิดเกมโดยคณาจารย์และนักศึกษากลุ่มหนึ่ง นำโดย นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล อ้างว่าเป็นโครงการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 43 และ 84
ถึงในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบถูกละเมิดสิทธิ์โดยตรงแล้วก็ตาม
แต่กรณีจำนำข้าวนี้มีสัญญาณหลายด้านบ่งชี้ว่า ยังจะมีตามมาอีก"หลายดอก" ไม่เกมโอเวอร์ง่ายๆ เหมือนการลาออกของนายยงยุทธ แน่นอน
ถึงโครงการรับจำนำข้าวจะฝ่าด่านอาจารย์นิด้าและศาลรัฐธรรมนูญไปได้ชนิดกองเชียร์ใจหายใจคว่ำ
แต่จากการที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศปฏิทินยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ช่วงปลายเดือนนี้ เพื่อกำหนดวันเปิดอภิปรายราวกลางเดือนพฤศจิกายน
ถึงจะยังไม่มีการเปิดเผยเป็นทางการถึงประเด็นหัวข้อการอภิปราย รวมถึงตัวรัฐมนตรีที่จะถูกลากขึ้นเขียง แต่ก่อนหน้านี้"วงใน"พรรรคประชาธิปัตย์เคยพูดถึงคร่าวๆ ว่าการอภิปรายจะมุ่งเน้นไปยังตัวนายกรัฐมนตรี เป็นหลัก
ส่วนประเด็นอภิปรายประกอบด้วย 5 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย
โครงการรับจำนำข้าว ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาอุทกภัย และปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา ที่อาจทำให้ไทยเสียเปรียบในกรณีพิพาทเขาพระวิหาร
ดังนั้น ถึงจะยังไม่เป็นทางการแต่หลายคนก็เชื่อว่าโครงการรับจำนำข้าว คือหนึ่งในหัวข้อใหญ่ถูกบรรจุไว้ใจญัตติเชือดครั้งนี้ด้วยแน่นอน
เมื่อสอดประสานเข้ากับคำกล่าวของ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ต่อด้วยความเคลื่อนไหวอันคึกคักของกลุ่ม 40 ส.ว. ทุกอย่างก็ฉายชัดว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล
เป็นหนังเรื่องยาวแน่นอน
น่าจะเป็นเรื่องของเจตนามากกว่าบังเอิญ
กลุ่ม 40 ส.ว. นำโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน รวบรวมรายชื่อ ส.ว. จำนวน 81 คน ยื่นต่อ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา
เสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เพื่อให้รัฐบาลชี้แจงปัญหาการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ด้วยเงินงบประมาณกว่า 4 แสนล้านบาท
ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่ง โดย นายวิเชียร คันฉ่อง ส.ว.ตรัง นำรายชื่อ ส.ว. จำนวน 62 คน ยื่นต่อประธานวุฒิสภา ขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญในมาตราเดียวกับของกลุ่ม 40 ส.ว. เพื่อให้รัฐบาลชี้แจงปัญหา 4 เรื่องด้วยกัน
1.การรับจำนำพืชผลการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ 2.ปัญหาไฟใต้ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น 3.ปัญหาการบริหารจัดน้ำและภัยธรรมชาติที่ขาดเอกภาพ 4.ปัญหาการบริหารราชการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว การศึกษา การปรองดอง และยาเสพติด เป็นต้น
กระนั้นก็ตาม ในสายตาคนภายนอกมองว่า ญัตติอภิปรายของ ส.ว. ไม่น่าจะส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาลเท่าใดนัก เนื่องจากไม่มีการลงมติชี้เป็นชี้ตาย
ในมุมกลับกัน ญัตติของ ส.ว. ยังอาจเป็นผลดีต่อรัฐบาลด้วยซ้ำในแง่ที่ว่าเป็นการลดทอนน้ำหนักญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะเรื่องรับจำข้าว การบริหารจัดการอุทกภัย หรือการแก้ปัญหาไฟใต้ ที่รัฐบาลจะมีโอกาสได้ชี้แจงก่อนในสภา
แม้แต่ญัตติอภิปรายของพรรคฝ่ายค้านเองก็ตาม ต่อให้มีข้อมูลใหม่แตกต่างจากการอภิปรายของ ส.ว.
แต่ถึงที่สุดแล้วเมื่อถึงเวลาโหวตตัดสิน รัฐบาลก็ยังเป็นฝ่ายได้เปรียบจากการเป็นพรรคกุมเสียงข้างมากในสภาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลจึงไม่ต้องวิตกกับเกมการเมืองในสภา
ที่ต้องเฝ้าจับตากลับอยู่ที่เกมนอกสภามากกว่า กับการที่จู่ๆ องค์กรพิทักษ์สยาม โดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ประธานมูลนิธิโรงเรียนเตรียมทหาร พร้อมเครือข่ายอีกกว่า 30 องค์กร
ออกมาผสมโรงเกมเขย่ารัฐบาล ยกเหตุผลว่ารัฐบาลปล่อยปละให้มีการบ่อนทำลายสถาบันหลัก การทุจริตคอร์รัปชั่นโครงการรับจำนำข้าว แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ มาเป็นชนวนนัดชุมนุมใหญ่ที่ราชตฤณมัยสมาคม หรือสนามม้านางเลิ้ง ในวันที่ 28 ตุลาคม นี้
ทั้งยังประกาศรวบรวมรายชื่อประชาชน 100,000 ถึง 1,000,000 รายชื่อ เพื่อยื่นต่อรัฐบาลให้พิจารณาตัวเองด้วยการลาออก
แล้วก็เป็นจังหวะที่ต้องจับตาไม่แพ้กัน
การหวนคืนจอเอเอสทีวีของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ หลังจากเว้นวรรคไปนาน กลับมาใหม่ในช่วงที่รัฐบาลกำลังตกเป็นฝ่ายตั้งรับในหลายๆ เรื่อง
ถึงตอนนี้ยังจุดไม่ติด แต่อนาคตยังไม่มีใครทำนายได้
จากการไหลรวมของขบวนการ"ร่วมด้วยช่วยเขย่า"ดั่งที่เห็น ไม่ต้องเป็น "ริว จิตสัมผัส" ก็สามารถทำนายได้ว่า
บนเส้นทาง 4 ปีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต้องเป็นเส้นทางที่เหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่ง
+++
เมื่อ "สุกำพล" เป็นสายล่อฟ้า กับ เสธ.มือใหม่ "เสธ.โด่ง เสธ.เจี๊ยบ เสธ.แป๊ะ" และดัชนี "ผมหงอก" ของบิ๊กตู่ กับเฟรชชี่ของป๋าเปรม
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1678 หน้า 14
หัวสุดของกองทัพในเวลานี้ บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ดูจะโดดเด่นที่สุด ในฐานะพี่ใหญ่ ตท.10 ที่โชว์เพาเวอร์ เชือด 3 พลเอก ในศึกกลาโหมมาแล้วอย่างราบคาบ จนทำให้มีชื่อเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ หลัง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ลาออก
แม้ พล.อ.อ.สุกำพล จะออกตัวว่าไม่เหมาะสม ไม่มีความสามารถ พร้อมเชื่อว่า ถึงเวลาเลือกหัวหน้าพรรคจริงๆ คงไม่มีใครเสนอชื่อเขาแน่ ก็ตาม แต่ลึกๆ แล้ว พล.อ.อ.สุกำพล ก็แอบลุ้นอยู่เหมือนกัน
เพราะข่าวจากฝ่ายกองเชียร์ บอกว่า หากมีการปรับคณะรัฐมนตรี พล.อ.อ.สุกำพล จะขยับขึ้นเป็น รองนายกรัฐมนตรี และควบ รมว.กลาโหม ด้วย และพร้อมที่จะเป็นหัวหน้าพรรค
โดยจะตั้งบิ๊กโอ๋เล็ก พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต เพื่อน ตท.10 และเครือญาติ ที่เพิ่งเกษียณจากตำแหน่งหัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำ รมว.กลาโหม ไปหมาดๆ มาเป็น รมช.กลาโหม เพื่อช่วยงาน
แม้ว่าเป้าหมายของ พล.อ.พฤณท์ เพื่อนซี้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คนนี้ จะคือเก้าอี้ รมว.กลาโหม แต่ความเด็ดขาด ประสมความอ่อนนุ่ม และเชี่ยวกรำทั้งบุ๋นบู๊ของ พล.อ.อ.สุกำพล ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการให้ดูแลกองทัพต่อ
อีกทั้งอุณหภูมิกองทัพที่เย็นลง จากสายสัมพันธ์ของ พล.อ.อ.สุกำพล กับ ผบ.เหล่าทัพทั้งปวง และความพึงพอใจจากการแต่งตั้งโยกย้ายนายพลที่ผ่านมา ทำให้ประเมินกันว่า การตั้ง รมช.กลาโหม จะไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน
หรือมองว่าเป็นการเพิ่มจำนวนเสียง ตาม พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 ที่ควรมีครบ 7 เสือกลาโหม เพื่อเตรียมเชือด ผบ.เหล่าทัพ
กระนั้นก็ตาม การนั่งบนเก้าอี้ รมว.กลาโหม ของ พล.อ.อ.สุกำพล ก็หาได้ราบรื่น เพราะนอกจากมีทหารแตงโมด้วยกันวิ่งจะชิงเก้าอี้อยู่หลายคนแล้ว
การที่เขาต้องให้กลาโหมเดินหน้าการถอดยศร้อยตรีและเรียกคืนเบี้ยหวัดเงินเดือน จาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่หลีกเลี่ยงการเป็นทหารและใช้เอกสารเท็จในการสมัครเป็นนายทหาร เป็นอาจารย์ ร.ร.นายร้อย จปร.นั้น ก็ทำให้เขาตกเป็นเป้าทางการเมืองอย่างเต็มๆ
จึงไม่แปลกที่เมื่อเขาแสดงความเห็นให้คะแนนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ว่า "ชาวนาได้ประโยชน์ 80 คะแนน ส่วนอีก 20 คะแนน คือมีการมีการโกงอย่างที่ว่ากัน ซึ่งต้องมีการแก้ไข" จึงทำให้ฝ่ายค้านโจมตีว่า ยอมรับว่ามีทุจริต จน พล.อ.อ.สุกำพล ต้องให้โฆษกกลาโหมชี้แจงแทน พร้อมฝากคำพูดมาตอบโต้พรรคประชาธิปัตย์
"ไม่ต้องให้ใครมาตบปากผม ถ้าผมพูดจริงจะตบปากตัวเอง แต่อยากให้ใช้สติปัญญา ใช้วิจารณญาณ อย่ามีอคติ พิจารณาไตร่ตรอง ฟังไม่ได้ศัพท์แล้วจับมากระเดียด ท่านบอกว่า คนบ้าที่ไหนจะยอมรับได้ในสิ่งที่ผิด ถ้าทำได้ลองใช้ไม้แคะหูเอาไปแคะให้ดี ต้องฟังให้ดี ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจ ก็ต้องตบบ้องหู" คำพูดของ พล.อ.อ.สุกำพล
อีกทั้งการที่ พล.อ.อ.สุกำพล จะใช้ค่ายทหารเป็นที่เก็บข้าวที่รับจำนำด้วยนั้น ถูกมองว่าเป็นการดึงกองทัพมาหนุนโครงการนี้ด้วย แต่บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เอง ต้องแจงว่า "การให้ใช้ค่ายทหารไม่ใช่หมายความว่าสนับสนุน แต่เป็นการทำตามคำสั่ง รมว.กลาโหม แต่ความจริงควรจัดเก็บไว้ข้างนอกดีกว่า เพราะดูแลได้ง่ายกว่า ค่ายทหารไม่ใช่ที่เก็บ อาจจะมีความชื้น หากน้ำท่วมขังเสียหาย ผมก็ไม่มีเงินจ่าย แต่จะต้องเตรียมสถานที่ไว้ตามคำสั่ง"
จึงยิ่งทำให้โครงการนี้ถูกจับตามอง และสะท้อนความเกรงใจ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีต่อ พล.อ.อ.สุกำพล ได้เป็นอย่างดี
การมีชื่อเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ทำให้เขายิ่งกลายเป็นสายล่อฟ้า เป็นเป้าหมายใหญ่ของฝ่ายค้าน จนทำให้ พล.อ.อ.สุกำพล ต้องระวังการให้สัมภาษณ์ ลดการพูดลง และลดการพูดคุยกับนักข่าวทางโทรศัพท์
เพราะลำพังการเป็น รมว.กลาโหม หลังศึกกลาโหม พล.อ.อ.สุกำพล ก็ระวังตัวแจอยู่แล้ว ทั้งการเพิ่มทีมทหารอากาศโยธิน มาดูแล รปภ. การใช้เครื่องแจมเมอร์ตัดสัญญาณโทรศัพท์ในการประชุมสำคัญๆ ที่เป็นทั้งการ รปภ. และการป้องกันความลับรั่วไหล
โดยเฉพาะกลาโหม มีกฎห้ามพกโทรศัพท์มือถือเข้าพบ รมว.กลาโหม ให้ฝากไว้หน้าห้อง เนื่องจากกลัวว่าจะซ้ำรอย เมื่อครั้งที่ถูก พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกลาโหมในเวลานั้น แอบใช้ไอโฟนอัดเสียงการประชุมร่วมกับ ผบ.เหล่าทัพ พิจารณาโยกย้าย จน พล.อ.เสถียร นำคลิปเสียงนี้ใช้เป็นหลักฐานฟ้องศาลปกครอง
ความจริงกฎนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของกองทัพ เพราะเมื่อครั้งบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. ก็มีการใช้มาแล้ว ห้ามนายทหารทุกคนพกมือถือเข้าห้องประชุม มีการตรวจและรับฝากหน้าห้อง
หลักการนี้เอาไปใช้ในการประชุมของ ศอฉ. ที่ ร.11 รอ. เมื่อครั้งปราบเสื้อแดง ในระยะหลังๆ เพราะพบว่าทหารแตงโมแอบอัดเสียงส่งให้แกนนำเสื้อแดง
ต่อมาในยุคบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ผบ.ทบ. แรกๆ ก็มีกฎนี้ ห้ามทั้งไอแพดหรือแท็บเล็ต แต่ที่สุดก็สร่างซากันไป เพราะยังไม่มีเรื่องมีราว
อีกทั้งในเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ พอใจกับอำนาจในมือ จากการจัดโผนายพลที่ผ่านมา เพราะ พล.อ.อ.สุกำพล ไม่แทรกแซง มีขอแค่บางเก้าอี้ ที่คนที่ถูกขอมาก็มีคุณภาพ จึงยอมๆ หยวนๆ แถมยังได้โควต้านายพลที่กลาโหม และตั้งนายพลใหม่ไปอีกกว่าร้อยคน
ตามมาด้วยการจัดโผพันเอกพิเศษหรือโผผู้การกรม 313 นาย ก็ราบรื่น ตอบแทน ดูแลลูกน้องที่กรำศึกการเมืองเหนื่อยกันมาหลายปี เมื่อมองว่าการเมืองนิ่ง เขาจึงเปลี่ยน ผบ.หน่วยคุมกำลังปฏิวัติพร้อมกันทีเดียว ทั้ง ผบ.ร.1 รอ., ผบ.ร.21 รอ., ผบ.ร.31 รอ. หน่วยสำคัญของ พล.1 รอ. และเหล่าทหารม้า ทหารปืนใหญ่ รบพิเศษ
หลัง 1 ตุลาคม เมื่อมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ มีผองเพื่อน ตท.12 รายล้อม เพราะมีทั้งบิ๊กเต่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ บิ๊กนมชง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ และบิ๊กอ้อ พล.อ.วิลาส อรุณศรี มาเป็นหัวหน้าสำนักงาน ผบ.ทบ. แบบยกแผง และคอยติดตาม พล.อ.ประยุทธ์ ไปทุกที่ และมีบิ๊กตู่ พล.อ.ชลวิชญ์ เพิ่มทรัพย์ เป็นประธานที่ปรึกษา ทบ.
มีการแบ่งงานให้ ผช.ผบ.ทบ. จาก ตท.13 ทั้งบิ๊กบี้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล คุมงานส่งกำลังบำรุง และให้บิ๊กอ๋อย พล.อ.จิระเดช โมกขะสมิต คุมงานกำลังพล
โดยมีบิ๊กโด่ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เสธ.ทบ. ตท.14 ที่ขึ้นมาจากแม่ทัพภาค 1 เป็น เสธ.คู่ใจคนใหม่ ที่เป็นทหารเสือราชินีสายพันธุ์เดียวกัน ที่เติบโตไล่ๆ กันมา ที่อีกหน่อยต้องตามติด พล.อ.ประยุทธ์ ไปทุกที่ โดยเฉพาะเมื่อต้องลงใต้ในฐานะ เสธ.ทบ. เป็นเลขาธิการ กอ.รมน. อีกด้วย
ช่วงแรกๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ ให้เวลา พล.อ.อุดมเดช ในการศึกษางาน จึงอาจยังไม่ได้ตามทุกงาน เพราะ เสธ.ทบ. ต้องดูแลทุกสายงาน มีแฟ้มเข้าวันละเป็นร้อย แบบที่เรียกว่าอ่านกันไม่มีเวลาเงยหน้า และเซ็นกันมือหงิก กว่าจะได้กลับบ้านก็ค่ำมืดกันทุกวัน
ด้วยความที่เป็นน้องเล็กสุดใน 6 เสือ ทบ. พล.อ.อุดมเดช จึงยิ่งต้องอ่อนน้อมถ่อมตน แม้จะถูกมองว่าจะเป็น ผบ.ทบ. ในอนาคตก็ตาม
ว่ากันว่าช่วง 1-2 เดือนแรกนี้ เป็นอาการของคนที่เป็นเสนาธิการเหล่าทัพ รวมทั้งฝ่ายเสนาธิการ ที่ต้องทำงานทั้งวัน ทั้งข้าวเช้า ข้าวกลางวัน และข้าวเย็น ก็เกิดบนโต๊ะทำงานนั่นเอง
ไม่แตกต่างจากบิ๊กเจี๊ยบ พล.ร.อ.จักรชัย ภู่เจริญยศ เสธ.ทร.คนใหม่ ที่เข้าที่ทำงานตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า กว่าจะได้กลับบ้านก็ไม่ต่ำกว่าสองทุ่ม แต่ก็ไม่ลืมที่จะระดมสมองด้วยการประชุมแบบสบายๆ จิบกาแฟ ทานโจ๊ก ข้าวต้ม ทุกเช้าวันพุธกับหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ
เพราะบิ๊กแป๊ะ พล.อ.อ.อารยะ งามประมวญ เสธ.ทอ. และเพื่อนรัก ตท.13 ของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ก็กำลังหัวหมุนกับปริมาณงาน แต่ทว่าการเป็น รอง เสธ.ทอ. มาก่อน ก็ไม่ได้ทำให้งานเกินความสามารถ
แล้วก็เป็นประเพณี ที่เมื่อมีการเปลี่ยน ผบ.หน่วยใหม่ แล้ว ผบ.เหล่าทัพ ก็ต้องให้นโยบาย โดย พล.อ.ประยุทธ์ เน้นที่การพัฒนาทั้งทรัพยากรบุคคล และการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและการดูแลชายแดน
พร้อมออกตัวในการประชุม ผบ.หน่วยขึ้นตรง ทบ. ชุดใหม่ ให้เวลาอุ่นเครื่องแค่ 3 เดือน สำหรับคนที่อยู่ในไลน์ แต่พวกมือใหม่ อาจให้เวลาถึง 6 เดือน
"การเลือกใครมาลงตำแหน่ง ผมไม่ได้เลือกแค่วันสองวัน แต่ผมมองมา 3 เดือน ทำมา 3 เดือน" บิ๊กตู่ เปรย ก่อนตบท้ายด้วยมุขตลก "ใครเด็กเส้นยกมือขึ้น" แต่เมื่อเห็นลูกน้องนิ่งเงียบหน้าเหวอ...ก็เลยบอกว่า ขำๆ
ด้านบิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. นั้นเน้นไปที่ภารกิจของ ทร. ที่จะหนักขึ้นกว่าเหล่าทัพอื่น เมื่อต้องก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 เพราะการดูแลน่านน้ำและเส้นทางเศรษฐกิจ ทร. จึงต้องเตรียมพร้อมและทำงานหนัก พร้อมๆ กับการพัฒนา ทร. ตามแผนโครงสร้าง
แต่ก็ไม่ลืมที่จะขอบคุณ ในความเสียสละที่ทำงานกันมา รวมทั้งการเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตของทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ใน จ.นราธิวาส และเน้นการอยู่ร่วมกันอย่างพี่น้อง การให้ความเป็นธรรมกับทุกรุ่น มีการรับประทานอาหารร่วมกันอยู่เนืองๆ
ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน ผบ.ทอ. เน้นไปที่การสร้างให้ ทอ. เป็นกองทัพอากาศชั้นนำในอาเซียน การทำระบบที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง Network Centric Air force ภายในปี 2558 โดยเริ่มจากทำให้เป็น กองทัพอากาศดิจิตอล Digital Air Force
อีกที่ใน ทบ. ที่ถูกจับตามองคือ กองทัพภาค 1 ที่มีบิ๊กต๊อก พล.ท.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นแม่ทัพภาค 1 ด้วยชื่อกระฉ่อนถึงความดุ แบบที่เรียกว่า ขนหัวลุก มีการปรับรองแม่ทัพภาค 1 ใหม่ โดยบิ๊กโชย พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ เป็นรอง 1 บิ๊กอิ๊ด พล.ต.ภาณุวัชร นาควงษ์ เป็นรองคนที่ 2 และ บิ๊กแกะ พล.ต.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เป็นรองคนที่ 3 และลงไปเป็น ผบ.ฉก.นราธิวาส
ธรรมเนียมใหม่ที่เกิดขึ้นในทัพ 1 คือ จะไม่มีการใช้ลิฟต์ ยกเว้นเมื่อมีแขกสำคัญมาเยือน เพราะทหารทุกคนจะเดินขึ้นลงบันได เนื่องจาก พล.ท.ไพบูลย์ เป็นนายทหารที่ไม่ยอมใช้ลิฟต์ เพราะต้องการประหยัด และเป็นการออกกำลังกายไปด้วย แม้ว่าห้องทำงานจะอยู่ถึงชั้น 4 และวอร์รูมจะอยู่ชั้น 5 ก็ต้องเดินขึ้นลง
เรื่องสำคัญที่ พล.ท.ไพบูลย์ ต้องดูแลคือ ขวัญและกำลังใจของทหารเคยร่วมปฏิบัติการกระชับพื้นที่เสื้อแดง เนื่องจากมีการส่งเรื่องฟ้องร้องกันในชั้นศาล จนทำให้เกิดความหวั่นไหวว่าจะต้องรับผิดทางกฎหมาย
โผผู้การกรม ล่าสุด และโผพันเอก พันโท หรือโผผู้พัน ต่อจากนี้จะเป็นเครื่องรับประกันได้ว่า ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.ท.ไพบูลย์ จะดูแลลูกน้องอย่างเต็มที่ เพราะถือว่าทุกคนทำตามหน้าที่และตามกฎหมาย
ต้องยอมรับว่า เรื่องคดีปราบเสื้อแดง เป็นเรื่องคาใจทหารและทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สบายใจและอารมณ์เสียอยู่เนืองๆ แม้ใจหนึ่งจะเชื่อว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย และเสื้อแดง ไม่ได้ต้องการเอาผิดทหาร แต่จะเล่นงานแค่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. ในเวลานั้น เท่านั้นก็ตาม
แต่เป็น ผบ.ทบ. มา 2 ปี เข้าสู่ปีที่สามแล้ว ในเวลานี้เริ่มมีผมหงอกขาวปรากฏให้เห็นบนศีรษะของ พล.อ.ประยุทธ์ มากขึ้นๆ แล้ว ไม่ว่าจะด้วยอายุที่มากขึ้น 58 ปี หรือเพราะไม่ย้อมผม และเพราะการเหนื่อยตรากตรำ การแก้ปัญหาภาคใต้ ก็ตาม
ความเครียดย่อมมีส่วนไม่น้อย แม้ว่าเขาจะพยายามควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้นก็ตาม
ขณะที่ทุกสายตาในกองทัพกำลังจับตามองความเป็นไปในบ้านสี่เสาเทเวศร์กันตาไม่กะพริบ หลังจากที่ป๋าเปรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้ผู้การตุ้ม พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป ที่เกษียณราชการเมื่อ 1 ตุลาคม พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
ด้วยใครๆ ที่เป็นลูกป๋า หรือแม้แต่ พล.ร.อ.พะจุณณ์ เองก็ไม่คาดคิด เพราะการรับใช้ดูแลป๋า เรื่องการเกษียณหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ จนทำให้เขาบอกว่า "ใจหาย"
จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งแง่บวก ที่ว่าป๋าเปรมอยากให้ พล.ร.อ.พะจุณณ์ พักผ่อน เพราะทำงานหนักให้ป๋ามาตั้งแต่ปี 2534 และคืนสามีให้กับภริยา คืนพ่อให้กับลูก
แต่ในแง่ลบ ก็มองว่ามีการร้องเรียน พล.ร.อ.พะจุณณ์ ในหลายเรื่อง เพราะเวลาเขาไปทำอะไร ก็ย่อมหมายถึงในนามป๋าเปรม หรือเกี่ยวข้องกับป๋าเปรม ทั้งๆ ที่บางเรื่อง ป๋าเปรมอาจไม่รู้เรื่องด้วย และหลายเรื่องที่คนอื่นคิดไปเอง เนื่องจากภาพของ พล.ร.อ.พะจุณณ์ คือลูกป๋าคนโปรด ที่สนิทสนมที่สุด และมักทำอะไรให้ป๋าเสมอมา
"ผมอยู่กับป๋ามา 31 ปี ผมไม่อยากให้มองเป็นเรื่องอื่น แต่ก็มีคนพยายามสร้างข่าวลือ ผมยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าไม่มีนัยยะใดๆ ทั้งสิ้น" พล.ร.อ.พะจุณณ์ กล่าว
"ท่านบอกว่าผมทำงานให้ท่านมามากแล้ว ขอบคุณ อยากให้พักและอยากคืนพะจุณณ์ ให้ครอบครัว เพราะมาทำงานให้ป๋า นานมากแล้ว ให้ไปดูแลครอบครัว" เขาเปิดเผยคำพูดป๋า
"ความจริงผมไม่อยากพูด เพราะเป็นเรื่องที่ป๋าพูดส่วนตัวกับผม แต่ผมก็เล่าให้เพื่อนสนิทฟัง" เขากล่าว
"แต่ไม่ว่ายังไง ผมก็ยังเป็นทหาร เป็นคนที่ห่วงชาติบ้านเมืองทุกลมหายใจ ถ้ามีอะไรที่ผมเห็นว่าทำให้ชาติบ้านเมืองอยู่ไม่ได้ ผมจะไม่อยู่เฉยแน่นอน แต่ตอนนี้ผมขอทำงานอย่างเงียบๆ ลับๆ แต่ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับป๋าท่าน ไม่ใช่ว่าป๋าให้ผมออกมาทำงานอื่นให้" พล.ร.อ.พะจุณณ์ กล่าว
"แต่ผมก็ยังรักและผูกพันกับบ้านสี่เสา และป๋า ที่ผมมาทำงานมาพบท่านทุกวันไม่มีวันหยุดมาตลอดกว่า 30 ปี ผมก็ยังเป็นลูกป๋า" พล.ร.อ.พะจุณณ์ กล่าว
แต่ในเบื้องแรกขอพักผ่อนกับภริยาและลูกในชีวิตบั้นปลายก่อน และก็ช่วยเพื่อนดูแลสวนยางพาราที่แปดริ้ว เท่านั้น
พล.ร.อ.พะจุณณ์ บอกว่ายังไม่เปิดเผยว่าตนเองจะทำอะไรต่อ จะร่วมกับกลุ่มพันธมิตร หรือเครือข่ายใดๆ หรือไม่ หรือไปร่วมกับบิ๊กอ้าย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เลขาฯ ราชตฤณมัยฯ และประธานมูลนิธิ ร.ร.เตรียมทหารและประธาน ตท.1 ที่ชุมนุมไล่รัฐบาลครั้งใหญ่ 28 ตุลาคมนี้หรือไม่นั้น
"ให้รอดู ยังไม่ถึงเวลา แต่ผมมีจุดยืนของผมอยู่ แล้วจะเห็นเอง" พล.ร.อ.พะจุณณ์ กล่าวทิ้งท้าย
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น นี่คือการปฏิวัติความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบ้านสี่เสาและการตัดสินใจของป๋าเปรม ที่เด็ดขาด
ประการหนึ่ง ภาพพจน์ของ พล.ร.อ.พะจุณณ์ อาจจะบอบช้ำ เป็นตัวละคร เป็นหมากที่ป๋าเปรมใช้งานมากแล้ว จนกลายเป็นเป้าทางการเมือง อีกทั้งที่ผ่านมา อาจมีบางเรื่องที่ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ทำไปโดยที่ป๋าไม่รู้ แต่ทำไปในนามป๋า หรือบางครั้งทำให้ป๋า แต่ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ต้องยอมเจ็บปวดแทน เพราะถูกมองว่าแอบอ้างป๋า ก็มี
แต่ทั้งหมดนี้ "จะต้องตายไปกับตัวผม" นั่นคือสิ่งที่ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ไม่อาจเปิดเผยได้
อีกประการหนึ่ง ป๋าเปรมเลือก เสธ.ณุ พล.ต.พิศณุ พุทธวงศ์ ลูกป๋าที่อยู่กับป๋า และทำงานในทีม พล.ร.อ.พะจุณณ์ มานานเกือบ 30 ปี มาทำหน้าที่แทน เพราะเขาเป็นคนที่ไม่สุงสิงกับกลุ่มไหนทางการเมือง ต่างจาก พล.ร.อ.พะจุณณ์ ที่มีทั้งกลุ่มพันธมิตร สลิ่ม และเพื่อน ตท.12 และทหารเก่าทหารแก่สายพันธมิตรฯ
อาจเรียกว่า พล.ต.พิศณุ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทบ. แกนนำ ตท.19 ที่เพิ่งจบ วปอ. หมาดๆ คนนี้ เป็นเฟรชชี่ ตัวละครใหม่ของป๋า ที่เก็บตัวทำงานเงียบๆ มานาน
นี่อาจเป็นการส่งสัญญาณ การลดบทบาททางการเมือง หรืออาจเป็นการเดินเกมใหม่ แผนใหม่ของป๋าเปรม ที่แสนเหนือชั้นมากประสบการณ์ ก็เป็นได้ เพราะอย่าลืมว่า ใครคือนักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ยังนั่งร้องเพลงแต่งเพลง และจะไปนั่งชมคอนเสิร์ตดุริยางค์ ทบ.17 ตุลาคมนี้ ที่จะนำเพลงของตัวเองทั้งหมด 150 เพลง อย่างชื่นใจ
ทั้งหมดนี้ ต้อง wait and see แบบอย่ากะพริบตา เท่านั้น
+++
วิพากษ์ "รัฐตำรวจ" จาก "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" บทสรุปอยู่ที่ผลงาน
คอลัมน์ โล่เงิน ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1678 หน้า 99
ได้ยินคำว่า "รัฐตำรวจ" กลับมาอีกครั้ง หลังเริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น "ยุคทอง" ของ "สีกากี" เป็นยุคทองที่เกิดขึ้นในห้วงรัฐบาลนายกรัฐมนตรี "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ที่กระแสสังคมจับตาว่ามีแบ็กอัพอยู่ ณ แดนไกล
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันนี้กำลังเกิดปรากฏการณ์ "รัฐตำรวจ" เฉกเช่นห้วงก่อนปี 2549 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
ย้อนกลับไปในยุครุ่งเรืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่นที่ 26 เป็นเลือดสามพรานเข้มข้น มีเครือข่ายในแวดวงสีกากีกว้างขวางและ "ซี้ปึ้ก"
ยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เรืองอำนาจจึงวางใจเหล่าสีกากีเป็นพิเศษ พ.ต.ท.ทักษิณ เลือกวางขุมข่ายให้ "ตำรวจ" เข้ากุมมาบังเหียนในหลายหน่วย
รัฐบาล "พ.ต.ท.ทักษิณ" ในตอนนั้นสร้างจุดขายด้วยการปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง โดยการวางตัว พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ นรต.23 เป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.)
และเมื่อ พล.ต.อ.ชิดชัย พลาดเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ก็โยกไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในยุคที่มี ผบ.ตร. ชื่อ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ
ครั้น พล.ต.อ.ชิดชัย ลุกจากเก้าอี้เลขาธิการ ป.ป.ส. พ.ต.ท.ทักษิณ ก็วางตัว พล.ต.ท.กฤษณะ ผลอนันต์ นรต.27 ที่เป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในขณะนั้นข้ามห้วยมานั่งเบอร์ 1 ป.ป.ส. แทน ฉายชัดความไว้วางใจมอบหมายให้ "ตำรวจ" กุมบังเหียนภารกิจสำคัญ
ในยุคนั้นมีการบุกเบิกดีเอสไอ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งต่อมามีเสียงวิจารณ์ว่า ไม่ต่างอะไรกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติสาขาย่อย
ยุคแรกของการเซ็ตอัพดีเอสไอ "พ.ต.ท.ทักษิณ" วางตัว พล.ต.อ.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ นั่งอธิบดีคนแรก ก่อนเปลี่ยน เป็น พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ ที่ข้ามห้วยลุกมาจากตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.
ในยุคนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ดึงตำรวจมือดีหลายคนมาร่วมทีมดีเอสไอ อาทิ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รอง ผบก.ป. ในขณะนั้น ซึ่งต่อมา พ.ต.อ.ทวี เติบโตโลดแล่นในกระทรวงยุติธรรมกระทั่งเป็นอธิบดีดีเอสไอ และเติบโตเรื่อยมากระทั่งล่าสุดเป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (เลขาธิการ ศอ.บต.) ในยุครัฐบาลปัจจุบัน
กระทรวงยุติธรรมในยุคนั้น นอกจากดีเอสไอที่เสมือนมีกรมตำรวจสาขา 2 มาตั้ง ยังมี พล.ต.ต.พีระพันธุ์ เปรมภูติ นั่งแท่นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงินด้วย
หรือองค์กรสำคัญอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ก็มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ นั่งเป็นประธาน กกต.
ขณะที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ขุมทรัพย์ใหญ่ ครั้งนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ วางใจให้เพื่อน นรต.26 คนสนิทอย่าง พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ อดีต ผบก.ป. นั่งในตำแหน่ง ผอ.กองสลาก และมี นรต.26 อีกคน "พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย" เป็น ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
คำว่า "รัฐตำรวจ" ในยุคนั้น จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด
เมื่อมาถึงรัฐบาลยุคปัจจุบัน เริ่มมีการพูดถึงคำว่า "รัฐตำรวจ" อีกครั้ง
เนื่องจากมีการใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนหลายภารกิจสำคัญ
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มี พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร อดีตหัวหน้าชุดรักษาความปลอดภัยอดีตนายกฯ ทักษิณ นั่งเป็นหมายเลข 1 มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และผู้บริหารหลายหน่วยในกระทรวงตาชั่งก็เคยสังกัดกรมปทุมวัน อาทิ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ พ.ต.อ.ทวี ที่ล่าสุด ลุกจากเก้าอี้รองปลัดกระทรวงตาชั่ง ข้ามห้วยไปนั่งเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.
เคยมี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ เป็นรองนายกรัฐมนตรี มี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี นั่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เลขาธิการ สมช.) ก่อนโยกไปเป็นปลัดกระทรวงคมนาคมคนล่าสุด
เคยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นเลขาธิการ ป.ป.ส. เมื่อ พล.ต.อ.อดุลย์ ขึ้นแท่น ผบ.ตร. ก็แปะชื่อ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. รับไม้เลขาธิการ ป.ป.ส. ต่อทันที
เป็นการวางตัว พล.ต.อ.พงศพัศ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวสะพัดว่าพรรคเพื่อไทยล็อกตัวให้ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ภายหลังคนในครอบครัว อย่าง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีต ผบ.ตร. ยืนกรานปฏิเสธเป็นตัวแทนพรรคลงสนามเสาชิงช้า
อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ อาจยอมมานั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี แม้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ จะปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ขอแย่งชิงเก้าอี้ของสารวัตรเฉลิม ไม่ขอกระโดดไปคุมตำรวจ แต่ในแวดวงการเมืองไทย ทุกดีลเปลี่ยนแปลงได้เสมอ!?
กระนั้นมีกระแสข่าวว่า มีสัญญาใจผูกพันฉันพี่น้อง นรต. หาก พล.ต.อ.พงศพัศ ซึ่งต้นทุนส่วนตัว อยู่ในระดับป๊อปปูลาร์ หนำซ้ำยังได้เวที เลขาธิการ ป.ป.ส. โชว์ผลงานปราบปรามยาเสพติด ยอมทิ้งตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงชิงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามพรรคเพื่อไทย
ผลออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม ก่อนวาระเกษียณในปี 2559 พล.ต.อ.พงศพัศ อาจได้กลับมาเป็น ผบ.ตร. สัญญาใจที่ว่านี้มีจริงหรือไม่คงต้องติดตาม
นอกจากนี้ อีกภารกิจสำคัญที่มีตำรวจออกมาขับเคลื่อน คือ การรับมือน้ำท่วม รัฐบาลสั่งกระทรวงคมนาคม นั่งหัวโต๊ะตั้ง บก. แก้วิกฤตฝนตกน้ำขัง จราจรอัมพาต
มี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. คุมทีมตำรวจ จับมือกับ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นำนักโทษชั้นดีเดินหน้าลอกท่อระบายน้ำใน กทม.
จนกลายเป็นวิวาทะศึกกระสอบทรายกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และทีมรองผู้ว่าฯ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ คู่แข่งการเมืองพรรคเพื่อไทย
ฉะนั้น หากตีความว่า "รัฐตำรวจ" ที่วิพากษ์วิจารณ์กัน
คือการเลือกวางตัวตำรวจมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเป็นผู้บริหารหน่วยงานราชการต่างๆ คงไม่อาจปฏิเสธได้
ทว่า การเลือกใช้งานตำรวจหรืออดีตตำรวจที่มีฝีมือ ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรหากใช้คนเก่งคนดีให้เป็น
เพียงแต่ต้องไม่เทกไซด์ หรือทำเพื่อใคร คนใด พวกใด
มากกว่าทำเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม
ซึ่งบทสรุปต้องดูที่ผลงาน
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย