http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-13

ความจริง และผลประโยชน์ ที่ต้องกลบฝังหลัง 6 ตุลาคม 2519 โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

ความจริง และผลประโยชน์ ที่ต้องกลบฝังหลัง 6 ตุลาคม 2519
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1678 หน้า 20


หลังการสังหารหมู่กลางเมืองไม่กี่ชั่วโมง แผนการยึดอำนาจก็ดำเนินต่อ 

แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
ขณะนี้คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ ตั้งแต่เวลา 18.00 น. วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้นไป สถานการณ์ทั้งหลายตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยทั่วไปแล้ว
บัดนี้คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้ประจักษ์ถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ กล่าวคือ มีกลุ่มบุคคลซึ่งประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาบางกลุ่มได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นการเหยียบย่ำจิตใจของคนไทยทั้งชาติ มีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะเข้ายึดครองประเทศไทย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมก็ได้ต่อสู้ด้วยอาวุธร้ายแรง โดยร่วมมือกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ชาวเวียดนาม...หากปล่อยไว้ประเทศชาติและประชาชนจะประสบความวิบัติ คณะปฏิรูปฯ จึงมีความจำเป็นต้องเข้ายึดอำนาจการปกครอง เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ได้โดยเฉียบขาดและฉับพลัน เพื่อความอยู่รอดของชาติมิให้ตกไปเป็นเหยื่อของจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์...
พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ รน.
หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน


ฟังแถลงการณ์ของคณะรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 แล้ว เรื่องชายชุดดำ การก่อการร้าย ในปี 2553 กลายเป็นแค่นิทานเก่าที่จืดๆ เท่านั้น



การพิจารณาคดี 6 ตุลา

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แกนนำนักศึกษาคือ นายสุธรรม แสงประทุม อดีตเลขาธิการ ศนท. พร้อมกับพวกอีก 18 คน ถูกขังอยู่ปีกว่าจึงมีการส่งฟ้องศาลทหาร การพิจารณาคดีครั้งแรก มีประชาชนและเจ้าหน้าที่สถานทูตต่างๆ เข้าร่วมฟังนับพันคน
จะเห็นว่ากรณี 6 ตุลาคม ถูกนำขึ้นสู่ศาลเพียงแค่หนึ่งปีเศษหลังเหตุการณ์ แต่การสังหารประชาชนในปี 2553 จนบัดนี้ 2 ปีกว่าแล้ว ยังไม่ขึ้นสู่ศาลเลย
ความแตกต่างนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เป็นเพราะว่ารัฐบาลหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม แม้เป็นเผด็จการเต็มตัว แต่ที่ต้องการนำคดีขึ้นสู่ศาลทหารก็หวังว่าการพิจารณาคดีจะพิสูจน์ว่าฝ่ายนักศึกษามีความผิด

แต่เหตุการณ์ไม่เป็นไปอย่างที่คาดคิด การสืบพยานฝ่ายโจทก์เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2521 ยาวมาเรื่อยๆ หลายครั้งจนถึงพยานปากที่ 7...8...9...10 พยานของฝ่ายรัฐบาลทำท่าจะเปิดเผยว่าใครอยู่เบื้องหลัง


คำให้การบางส่วนของพยานฝ่ายโจทก์บางปาก
ซึ่งบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ พร้อมอาวุธ   


29 สิงหาคม 2521 สืบพยานโจทก์คือ สิบตำรวจเอก อากาศ ... ตำรวจพลร่มค่ายเสือดำหัวหิน ซึ่งเป็นหน่วยสนับสนุนทางอากาศเบิกความว่าตี 2 วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้รับคำสั่งจาก พ.ต.ท.ประเสริฐ ... ให้มารวมพลเพื่อเข้ามาปฏิบัติการในกรุงเทพฯ โดยไม่ทราบจุดประสงค์ว่าทำไม เบิกอาวุธประจำกายเป็น HK33 พร้อมกระสุน 70-80 นัด เดินทางมาพร้อมพวก 50-60 คน โดยมี พ.ต.ต.สาโรจน์ ... และ ร.ต.อ.บุญชัย ... เป็นผู้บังคับบัญชา มาถึงกรุงเทพฯ ในเวลา 6 โมงเช้า ได้รับคำสั่งให้ไปรักษาการณ์ที่ มธ. และบริเวณข้างเคียง ได้รับคำสั่งให้ใช้อาวุธเท่าที่จำเป็นเพื่อเป็น... ขณะคลานอยู่ที่ซอกตึก ถูกยิงที่ศีรษะ จึงถูกนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล ระหว่างบุกเข้าไปที่ธรรมศาสตร์ ยิงปืนไปประมาณ 10 นัด สำหรับอาวุธที่ ตชด. นำไปใช้ที่เห็นในภาพคือ ปืน ปรส. มีอานุภาพยิงรถถังได้

7 และ 14 กันยายน 2521 สืบพยานโจทก์ปากที่ 10 สองครั้งซ้อน คือ พ.ต.ต.สพรั่ง ... สารวัตรแผนกอาวุธและอุปกรณ์พิเศษ (S.W.A.T.) กองกำกับการตำรวจนครบาล พยานให้การว่าได้รับคำสั่งมาจากพันตำรวจโททิพย์ ... ผกก. สายตรวจปฏิบัติการพิเศษให้นำกำลังออกไประงับเหตุที่ มธ. โดยนำกำลังไป 45 นาย มีอาวุธปืน HK33 กระสุน 60 นัด พร้อมระเบิดแก๊สน้ำตา 6 โมงรับคำสั่งให้นำกำลัง 20 กว่าคน ไปสังเกตการณ์บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เห็นนักศึกษาใช้โต๊ะเป็นที่กำบัง ยิงปืนใส่ฝูงชนที่กำลังฝ่าเข้าไปในมหาวิทยาลัย พยานกลับลงมา เวลา 6 โมงกว่า

ทนายจำเลยซักค้านว่า พยานได้รับมอบหมายให้ไปป้องกันเหตุร้าย แต่ทำไมยกกำลังเข้ากวาดล้างนักศึกษา
พยานให้การว่าได้รับคำสั่งใหม่ให้เข้าเคลียร์พื้นที่ โดยอ้างว่า พล.ต.ท.วิเชียร ... เป็นผู้สั่ง จึงเข้าไปพร้อมผู้บังคับบัญชาคือ พล.ต.ต.เสริม ... พ.ต.อ.โกศล ... พ.ต.อ ทิพย์ ... พ.ต.ท.พิโรธ ... พร้อมเจ้าหน้าที่ พยานได้ใช้ปืนยิงไป 24 นัด ตามซอกตึกที่เข้าใจว่านักศึกษายิงออกมา


วิเคราะห์...

ทีมวิเคราะห์ได้อ่านคำให้การของพยานหลายคนอย่างละเอียด ประมาณ 100 หน้า พอสรุปได้ว่า แม้พยาน จะบอกว่าทำนอกเหนือคำสั่ง ผู้บังคับบัญชา ก็เพื่อตัดตอนไม่ให้ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าทนายฝ่ายนักศึกษา เรียก นายพัน นายพล ที่เกี่ยวข้องซึ่งรู้ชื่อแล้ว มาเป็นพยาน ถูกซักไม่กี่ที รับรองได้รู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง จากคำให้การมีตำรวจหน่วยพิเศษซึ่งใช้ปราบการก่อการร้าย และ ตชด. จากค่ายนเรศวร ไม่มีหน่วยปราบจลาจล ไม่มีการสกัดฝูงชนที่ถูกปลุกระดมมา แต่กลับช่วยเปิดทางให้บุกเข้าไป

พยานปากสุดท้ายได้ให้การว่า ขึ้นไปบนพิพิธภัณฑ์สังเกตการณ์แล้วกลับลงมาโดยไม่มีการยิงเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยซึ่งขัดกับคำให้การของหน่วย รปภ. ที่รอดชีวิตมาและสภาพศพที่นอนตายอยู่บริเวณถนนและด้านข้างหอประชุมใหญ่ 
ในยุคนั้นไม่มีการพิสูจน์วิถีกระสุน รายละเอียดของคำให้การจากเจ้าหน้าที่บอกว่าระยะที่นักศึกษาตั้งที่กำบังอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์ 100-200 เมตร ก็ไม่เป็นความจริง เพราะระยะจริงคือ 40-50 เมตร และเป็นไปไม่ได้ว่าคนระดับผู้บังคับกองร้อยจะกลับลงมาข้างล่างและปล่อยให้ลูกน้องกว่าอีก 20 คน ยิงสังหารนักศึกษาที่เป็น รปภ. โดยไม่มีใครสั่งหรือใครรู้ใครเห็น 
ที่สำคัญในเวลา 7 โมงเช้า มีพยานคนอื่นได้พบเห็นผู้บังคับบัญชาระดับพลตำรวจโทสองคนอยู่ในบริเวณพิพิธภัณฑ์

การยิงทำลายหน่วยรักษาความปลอดภัยเพื่อเปิดทางให้หน่วยอื่นบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์คือจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ที่ทำให้เกิดการสังหารโหดอย่างนองเลือดกลางเมือง 
ถ้าหากฝ่ายตำรวจไม่ต้องการให้เกิดเรื่องแบบนั้น ก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะฝ่ายนักศึกษาได้ตรึงกำลังตั้งแต่ช่วงกลางคืนจนถึงเช้าโดยไม่มีผู้เสียชีวิตเลยแม้แต่คนเดียว ทั้งยังเตรียมสลายการชุมนุมและมอบตัวอยู่แล้ว 
ถ้ากำลังตำรวจมาถึงแล้วและปฏิบัติการเหมือนเมื่อครั้งการประท้วงจอมพลประภาสในบ่ายวันที่ 22 สิงหาคม 2519 โดยปิดล้อมมหาวิทยาลัยและให้นักศึกษา (ซึ่งครั้งนั้นมีถึง 6,000 คน) เดินออกทางประตูท่าพระจันทร์ทั้งหมด เรื่องร้ายแรงก็จะไม่เกิดขึ้น

แต่การกระทำที่เกิดขึ้นวันนั้น เห็นชัดว่าเป็นเจตนาต้องการให้เกิดเรื่องเพื่อสร้างสถานการณ์รัฐประหารนั่นเอง ฝ่ายที่วางแผนหวังว่าจะเกิดเรื่องแล้วควบคุมได้ แต่การปลุกระดมทำไว้แรงเกินไป คุมไม่ได้ ผลเลวร้ายจึงออกมาประจานคณะปฏิรูปฯ จนเกิดกระแสต่อต้านทั่วโลก


นิรโทษกรรม 6 ตุลา ปฏิบัติการกลบฝังความจริง
ผ่านสภา 3 วาระรวด ในวันเดียว


จะสังเกตได้ว่ายิ่งสืบพยานมากไปเท่าใด แทนที่ฝ่ายนักศึกษาจะเพลี่ยงพล้ำกลับกลายเป็นความจริงถูกเปิดเผยมากขึ้น ใครมาจากหน่วยไหน? ใช้อาวุธอะไร? มาล้อมฆ่านักศึกษา ขณะนั้นหลายคนคิดว่า ถ้าได้สืบพยานต่อ ความจริงจะต้องถูกเปิดเผยออกมาแน่ ฝ่ายที่วางแผนอยู่เบื้องหลัง ร้องว่า ชิ...หายแล้ว ดังนั้น...ในวันรุ่งขึ้นนั้นเอง

15 กันยายน 2521 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีก็ได้นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คดี 6 ตุลาคม 2519 เข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร) และดำเนินการอย่างรวดเร็ว ผลการลงมติวาระที่ 1 รับหลักการ 208 ไม่รับหลักการ 1 ไม่ออกเสียง 58 การแปรญัตติในวาระที่ 2 ใช้เวลาแก้ไขถ้อยคำเพียงแค่ 10 นาที แล้วก็ลงมติในวาระที่ 3 ด้วยคะแนน 180 ต่อ 1 นอกนั้นไม่ออกเสียง เร็วพอๆ กับการฆ่าเด็กๆ ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม

ในค่ำวันที่ 15 หลังจากที่ประชุมผ่าน 3 วาระ พลเอกเกรียงศักดิ์ก็บินไปยังตำหนักทักษิณ ราชนิเวศน์ ทูลเกล้าฯ ถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พลเอกเกรียงศักดิ์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี 6 ตุลาคม 2519 ว่า ... 
"ความผิดความถูกนั้นก็ไม่รู้ว่าใครผิด แต่อย่าไปนึกถึงดีกว่า เพราะยังก้ำกึ่ง ทุกคนอาจผิดก็ได้ในวันนั้น ศาลยังไม่ได้ตัดสิน แต่ทุกคนเห็นแล้วว่า การกระทำที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการกระทำต่อบ้านเมืองและการนิรโทษกรรมก็หมายถึงเลิกกันหมด ทั้งคนในป่า ทั้งประชาชน ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ทำตามกฎหมายบ้านเมือง"

16 กันยายน 2521 ผู้ต้องหาที่ได้รับนิรโทษกรรมก็ได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระ แต่ที่อยู่ในป่าก็ยังรบกันต่อไป



ผลประโยชน์มหาศาลที่ซ่อนอยู่

เหตุผลของการรัฐประหารฟังแล้วเหมือน ลิเกฉากเก่า คนที่ผ่านการเมืองมานาน ยังรู้สึกว่าไม่ใช่ ไม่มีใครลงมือฆ่าคนเล่นๆ ไม่มีใครลงทุนให้ฟรี แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ชัด ข่าวใหญ่และความวุ่นวายช่วงนั้นคือนักศึกษาเป็นพันหนีเข้าป่า จับปืนทำสงครามกับฝ่ายรัฐบาล
แต่กลางเดือนธันวาคมหลังรัฐประหาร ก็มีข่าวเล็กๆ ที่ไม่มีใครสนใจปรากฏขึ้น รัฐบาลเผด็จการได้ให้ บริษัทบิลลิงตันของอเมริกาเป็นผู้ขุดแร่ในทะเลต่ออีก 5 ปี (หลังจากถูกถอนสัมปทานในปี 2518) ทำให้ทั้งดีบุกและแทนทาลัมถูกกวาดไปเกือบหมดในอีกไม่กี่ปีต่อมา

Tantalum คือธาตุโลหะแข็งมากตัดเหล็กกล้าได้ มีจุดหลอมเหลวสูงมาก 30 20C แทนทาลัมชนิดที่ปนอยู่ในแหล่งแร่ดีบุกของไทย มีปริมาณ มากที่สุดในโลก คือ 27% ของแทนทาลัมในโลก ราคาแทนทาลัมในตลาดโลกขยับสูงขึ้น เพราะคอมพิวเตอร์ต้องการแทนทาลัมมาทำเป็นชิ้นส่วนของ "ไมโครชิพ" และยังนำไปใช้ทำชิ้นส่วนอุปกรณ์การบินอวกาศ เครื่องบิน ขีปนาวุธและเตาปฏิกรณ์ปรมาณู

ไม่มีใครรู้มูลค่าแท้จริงของการรัฐประหาร 6 ตุลาคม ว่ามหาศาลแค่ไหน มากหรือน้อยกว่าเหมืองทองแดงใน ชิลี ที่ประธานาธิบดี อัลเยนเด ต้องสังเวยชีวิตให้กับการรัฐประหาร แต่ผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม กำไรหลายเท่า เขาหลอกให้ฆ่าคนในชาติเดียวกัน และก็หอบทรัพย์สินของเราใส่เรือกลับบ้านคนไทยกลุ่มหนึ่งคงได้เศษมาแค่ 0.001%
ฉากการล่าเมืองขึ้นสมัยใหม่จบลงด้วยความภาคภูมิใจของกลุ่มคนโง่ที่เรียกตนเองว่าผู้รักชาติ 
ในขณะที่พวกฝรั่งหัวเราะแล้วบอกว่า...หมูสยาม



วิเคราะห์ เปรียบเทียบ

1. ฐานะของนักต่อสู้ หลังเหตุการณ์
14 ตุลาคม 2516 มีคนใช้อาวุธยิงสู้กับทหารตำรวจมากกว่า เมษายน-พฤษภาคม 2553 หลายเท่า สู้จนยึดกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ แต่ไม่แต่งเป็นคนชุดดำ ตามข่าวว่าบางคนเป็นทหารพราน มีการเผากองสลากและเผาตึก กตป. ในวันที่ 14 ตุลาคม เผากองบัญชาการตำรวจนครบาลในวันที่ 15 ตุลาคม เมื่อการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนจบลง มีแต่วีรชน ไม่มีผู้ก่อการร้าย ไม่มีใครด่าว่าเผาบ้านเผาเมือง มีวีรชนที่เสียชีวิต 41 คน มีพิธีพระราชทานเพลิงศพอย่างยิ่งใหญ่ที่เมรุท้องสนามหลวง

ถ้าแพ้จะถูกกำหนดให้เป็นผู้ร้าย ซึ่งตามท้องเรื่องหลัง 6 ตุลาคม นักศึกษาคือผู้ร่วมมือกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เวียดนาม หลังล้อมปราบในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 คนเสื้อแดง ถูกตั้งข้อหาที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่คิดได้คือผู้ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง ตาสี ป้ามี คุณสมศักดิ์ คุณผุสดี ฯลฯ ที่มาชุมนุมจึงกลายเป็นผู้ก่อการร้ายกันโดยถ้วนหน้า

2. ผู้นำหลังเหตุการณ์
เราได้นายกฯ ระดับองคมนตรี 3 คน หลัง 14 ตุลาคม ชื่อ ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ หลัง 6 ตุลาคม ได้นายกฯ ชื่อ ธานินทร์ กรัยวิเชียร หลังรัฐประหาร 2549 ชื่อ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยหวังว่าจะสร้างความสงบได้

3. สิทธิป้องกันตนเองของผู้ชุมนุมมีแค่ไหน?
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาชุมนุมอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ปิดประตูอย่างมิดชิด มีหน่วย รปภ. ป้องกัน มีอาวุธปืนสั้นติดตัว เพราะฝ่ายที่จะบุกก็มีอาวุธเช่นกัน มีคำถามว่า ต่อไปถ้ามีสถานการณ์แบบนี้ จะทำอย่างไร? จะต้องยืนมือเปล่า ให้อีกฝ่ายบุกเข้ามาฆ่าหรือ? เขายิงมาเราหลบ มีความผิดหรือไม่? ถ้าเอาหนังสติ๊กยิงสู้ผิดหรือไม่? ถ้าเอาปืนที่บ้านมายิงสู้ผิดหรือไม่?

4. ทางเลือกที่ค้นหาหรือกลบฝังความจริง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ใช้การนิรโทษกรรมกลบฝังความจริง การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ใช้นิรโทษกรรมให้ผู้ทำพ้นผิด


วันนี้ กรณีสลายการชุมนุม เมษายน-พฤษภาคม 2553 ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ต้องการนิรโทษกรรม จึงมีทางเดิน 2 ทาง คือนำเรื่องขึ้นสู่ศาล ถ้ายังเชื่อว่าจะได้รับความยุติธรรม หรือสู้กันให้แพ้-ชนะเด็ดขาด ไปข้างหนึ่ง

แต่สำหรับคดี 6 ตุลาคม 2519 ถึงผ่านมานานยังมีหลายคนอยากให้สืบค้นความจริงซึ่งถูกกลบฝังในหลุมใหญ่ แม้ป้ายเหนือหลุมที่เขียนว่า "นิรโทษกรรม" จะเป็นเหมือนยันต์ต้องห้ามไม่ให้ขุดค้น แต่ในนั้นมีทั้งความจริง, ชีวิตของผู้เสียสละและความทรงจำที่เจ็บปวดของเหยื่อในเหตุการณ์

ทุกคนยังคงรอคอยการชำระคดี



.