.
สุรพศ: บทขยายปัญหาและความเป็นเหตุผล “อเนกนิกรสโมสรสมมติ” ของ ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 08 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 08:30:00 น.
( และใน www.prachatai.com/journal/2012/10/42983 . . Thu, 2012-10-04 17:14 มีความคิดเห็นท้ายบท )
สุรพศ ทวีศักดิ์
ระยะหลังมานี้ใครอ้างหลักพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย คนก็มักจะออกอาการเซ็ง แต่การอภิปรายปัญหาและความเป็นเหตุผลของทฤษฎี ‘อเนกนิกรสโมสรสมมติ’ ของฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล ที่อ้างหลักการที่ถูกต้องของพุทธศาสนาตามนัยอัคคัญญสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม 11) มาโต้แย้งทฤษฎีอเนกนิกรสโมสรสมมติในการเสวนาหัวข้อ ’การรัฐประหารกับระบอบรัฐธรรมนูญ’ ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมานั้น ดูเป็นที่ ‘ประทับใจ’ ของผู้ฟังไม่น้อย
คงไม่ใช่เพียงเพราะฐาปนันท์เป็นนักวิชาการในกลุ่มนิติราษฎร์ซึ่งเป็นนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าในปัจจุบันเท่านั้น ที่สำคัญคือความ ‘แหลมคม’ ของข้อโต้แย้งตรงๆ ว่า ที่ชนชั้นปกครองมักอ้างกันว่าแนวคิดเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตย อำนาจของประชาชนเป็นแนวคิดของตะวันตก ไม่เหมาะกับสังคมไทยนั้น มันใช่หรือไม่? แล้วเขาก็แสดงให้เห็นว่าเมื่อมาดูจากความคิดของเราเอง เช่นความคิดแบบพุทธในอัคคัญญสูตร พระตถาคตยืนยันว่า ‘อำนาจเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของชนชั้นปกครอง มาตั้งสองพันกว่าปีแล้ว’ แต่ชนชั้นปกครองตั้งแต่ยุค ร.4 เป็นต้นมานำความคิดในอัคคัญญสูตรมาตีความอย่างมี ‘วาระ’ ของตัวเองในนามทฤษฎีอเนกนิกรสโมสรสมมติ ฝ่ายกษัตริย์นิยมเช่นพระองค์เจ้าธานีนิวัตได้รื้อฟื้นขึ้นมาโปรฯเจ้าอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 2490 จนทำให้เราลืมสิ่งที่พระตถาคตบอกไว้ในอัคคัญญสูตรไป
ผมยินดีมากที่นักวิชาการฝ่ายก้าวหน้านำเรื่องนี้ขึ้นมาพูด ‘อย่างตรงไปตรงมา’ ตามเนื้อผ้าจริงๆ ไม่ใช่เพื่อโปรฯพุทธศาสนา จึงอยากชวนคิดต่อและขยายความบางประเด็นอย่างนี้ครับ
1.จะทำอย่างไรกับพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่โปรโมทอุดมการณ์ราชาชาตินิยมมาอย่างยาวนาน จนเกิดสภาพอย่างที่เกษียร เตชะพีระ บอกว่า ‘เรามีโครงสร้างประชาธิปไตย แต่ประชาชนยังมีความคิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ (ที่จริงเราอาจโต้แย้งได้ว่าโครงสร้างก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ เช่น รัฐธรรมนูญหมวดสถาบันกษัตริย์และ ม.112) ถ้าเราคิดว่านี่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย เราจะโต้ตอบอย่างไร
ผมคิดว่าเราอาจทำได้สองทาง คือ ทางแรกปฏิเสธ เลิกพูดถึงพุทธศาสนาในทางการเมือง ไม่อ้างความคิดใดๆ ของพุทธในทางการเมืองอีกเลย เพราะจะเป็นการไปให้เครดิตแก่ความคิดของพุทธศาสนาเหนือความคิดของศาสนาอื่นๆ ซึ่งขัดกับหลักขันติธรรมในสังคมพหุนิยมทางศาสนา แต่แล้วไง เราโยนทิ้ง ไม่พูดถึง หรือปฏิเสธการอ้างความคิดพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย ทว่าในความเป็นจริงพุทธศาสนาก็ยังถูกใช้สนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยมอยู่ทุกวัน
ทางที่สองกลับไปหาหลักการที่ถูกต้องของพุทธศาสนาเพื่อนำมาหักล้างการบิดเบือน และตีความหลักการพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย ให้พุทธศาสนางอกงามไปอย่างสนับสนุนความงอกงามของประชาธิปไตย คำอภิปรายของฐาปนันท์ดูเหมือนจะสนับสนุนแนวทางนี้
2.เรากำลังคิดแบบ fundamentalism และอ้าง absolute truth ทางพุทธศาสนาอยู่หรือไม่?
ผมสนใจข้อเท็จจริงว่ามีการบิดเบือน หรือตีความหลักการพุทธศาสนาเพื่อสนับสนุนสถานะ อำนาจ ผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง (เช่น ทฤษฎีอเนกนิกรสโมสรสมมติ) อยู่จริง และ/หรือมีการตีความ บิดเบือนหลักการพุทธศาสนาสนับสนุนอำนาจบารมีของพระสงฆ์ที่อ้างคุณวิเศษทำการตลาดจากศรัทธาของประชาชนเป็นต้นอยู่จริง วิธีแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ก็คือไปสำรวจดูว่าหลักการที่ถูกต้องเป็นอย่างไร แล้วนำมาโต้แย้งหักล้างการบิดเบือนนั้นๆ ฉะนั้น กรณีเช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับเมื่อเราเห็นการบิดเบือนหลักกฎหมาย หลักการประชาธิปไตย แล้วพยายามอ้างอิงหลักกฎหมาย หลักการประชาธิปไตยที่ถูกต้องมาโต้แย้งหักล้างการบิดเบือนนั้นๆ อย่างที่นิติราษฎร์พยายามทำมาตลอด (แล้วทำไมต้องรอให้นิติราษฎร์มาทำงานแทนนักวิชาการพุทธศาสนาอีกล่ะ?)
จุดประสงค์ของการกลับไปหาหลักการที่ถูกต้อง ก็เพื่อนำมาหักล้างการบิดเบือนพุทธศาสนาสนับสนุนชนชั้นผู้มีอำนาจ ไม่ว่าอำนาจทางการเมือง อำนาจทางศาสนา อำนาจศีลธรรม หรืออำนาจบารมีที่อ้างอิงศรัทธาใน ‘คุณวิเศษ’ ใดๆ ที่อยู่เหนือการตรวจสอบ ไม่ใช่เพื่ออ้างหลักการที่ถูกต้องนั้นรองรับการใช้อำนาจรัฐเบียดขับพุทธชายขอบต่างๆ ให้ตายไป หรือไม่ใช่อ้างหลักการพุทธอย่างคับแคบว่าเป็น absolute truth เหนือกว่า ดีกว่าความจริงอื่นๆ ทว่าเพียงนำหลักการพุทธมาแลกเปลี่ยนกับความจริงอื่นๆ ใน ‘ระนาบเดียวกัน’ เท่านั้น
3.Enlightenment ไม่ใช่การเดินหน้าโดยไม่ย้อนมองข้างหลัง ยุคสว่างทางปัญญา หรือบางทีเรียกว่า ‘ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ’ (Renaissance) ในยุโรปช่วงรอยต่อระหว่างสมัยเก่า (Dark Age) กับสมัยใหม่ (Modern Age) นั้น คือการต่อสู้เพื่อหลุดพ้นไปจากการครอบงำให้อยู่ภายใต้ระบบการปกครองแบบเผด็จการ และระบบความคิดความเชื่อเดียว ด้วยการฟื้นฟูภูมิปัญญาเดิม เช่น ฟื้นฟูปรัชญากรีก ความรู้ยุคโรมันให้คืนชีพขึ้นมาสู่เวทีแห่งการปะทะสังสรรค์ พร้อมๆ กับการต่อสู้ขัดขืน ท้าทายระบบอำนาจกษัตริย์ ระบบศักดินา (Feudalism) ศาสนจักร ความคิดความเชื่อเก่าจนนำไปสู่การเปิดกว้างให้ภูมิปัญญาใหม่ๆ ได้งอกงามแตกขยาย แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน หากต้องเผชิญกับความสับสนขัดแย้งทั้งทางการเมือง ศาสนา วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ที่ใช้เวลากว่าร้อยปี กระทั่งเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 สงครามทางปัญญาก็ยังดำเนินต่อมา
สังคมไทยถูกครอบงำด้วยระบบอำนาจและระบบความคิดความเชื่อเดียวตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยมและพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนอุดมการณ์ดังกล่าวมาช้านาน จึงจำเป็นที่เราต้องฟื้นฟูหลักการที่ถูกต้องของพุทธศาสนาเพื่อโต้แย้งหักล้างความคิดความเชื่อที่บิดเบือนไป และตีความหลักการพุทธที่ถูกต้องสนับสนุนเสรีภาพและประชาธิปไตย พร้อมๆ กับเปิดกว้างให้กับความติดอื่นๆ ได้งอกงามแตกขยาย
4.หลักการสากลไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของตะวันตกหรือตะวันออก ไมเคิล ไรท์ อดีตคอลัมนิสต์มติชนสุดสัปดาห์เคยเขียนว่า สิ่งที่มันเป็นความจริงหรือที่เรียกว่าเป็นของสากลนั้นมันไม่ได้เป็นสมบัติส่วนตัวของตะวันตกหรือตะวันออก จะเป็นใครค้นพบหรือคิดมันขึ้นมาก็ได้ แต่มันเป็นสมบัติร่วมกันของโลก เช่นความจริงของคณิตศาสตร์ไม่มีใครผูกขาดความเป็นเจ้าของ ความคิดเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนเป็นต้นก็เช่นกัน มันไม่ใช่อย่างที่ชนชั้นปกครองพยายามบอก (หลอก) มาตลอดว่า ความคิดเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตยเป็นของตะวันตก เหมาะกับสังคมตะวันตก ไม่เหมาะกับสังคมเรา เราเป็นไทยต้องคิดแบบไทยเพื่อรักษา ‘ความเป็นไทย’ เอาไว้ ไม่ตกเป็นทาสทางปัญญาของฝรั่ง
5.เมื่อคิดจากภูมิปัญญาของเราก็ยืนยัน ‘อำนาจเป็นของประชาชน’ เช่นกัน ดังข้อโต้แย้งของ ฐาปนันท์ กล่าวถึงประเด็นสำคัญของอัคคัญญสูตรที่พระตถาคตบรรยายถึงสังคมตามสภาพธรรมชาติ (natural state) หรือสังคมก่อนสังคมการเมืองที่ไร้กฎระเบียบ มีการเบียดเบียนประทุษร้ายทรัพย์สิน ชีวิตร่างกายของกันและกัน เป็นเหตุให้บรรดาผู้คนที่ไม่สามารถทนอยู่กับสภาพอนาธิปไตยเช่นนั้นต่อไปได้ มาร่วมประชุมปรึกษาหารือ และมีข้อตกลงร่วมกันว่า "พวกเราจะสมมติผู้หนึ่งให้เป็นผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ส่วนพวกเราจะเป็นผู้แบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น"
ฐาปนันท์บอกว่า มองจากเนื้อหาตรงๆ ไม่ต้องตีความก็เข้าใจได้ว่านี่มันเป็น ‘สัญญาต่างตอบแทน’ เป็นข้อความที่แสดงให้เห็นว่า ‘อำนาจเป็นของประชาชน’ อยู่ก่อน ผู้ปกครองมีอำนาจจากความยินยอมของประชาชน ซึ่งเราสามารถเข้าใจต่อไปได้ว่าการใช้อำนาจนั้น ก็คือการทำหน้าที่ตามเจตจำนงของประชาชน โดยผู้ปกครองได้รับส่วนแบ่งข้าวสาลีเป็นค่าตอบแทน โดยนัยนี้ หากผู้ปกครองใช้อำนาจขัดแย้งกับเจตจำนงของประชาชน ย่อมเป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่ประชาชนจะเรียกอำนาจคืน
แต่ตามทฤษฎีอเนกนิกรสโมสรสมมติไปบิดเบือนข้อความในอัคคัญญสูตรว่า มหาชนสมมติหรือตกลงกันเลือกผู้ปกครองขึ้นมาเป็นกษัตริย์ให้มีสถานะอยู่เหนือคนทั้งปวง หมายความว่า คนทั้งหลายเป็นสามัญชนที่มีความเท่าเทียมกัน แต่กษัตริย์อยู่เหนือคนทั้งหลาย เป็นสมมติเทพผู้ทรงทศพิธราชธรรมที่แตะต้องไม่ได้ กลายเป็นว่าชนชั้นปกครองเป็นเจ้าของอำนาจ เป็นเจ้าแผ่นดิน เจ้าชีวิตของประชาชนไปเลย ซึ่งความหมายนี้ขัดแย้งกับความหมายตามนัยอัคคัญสูตรอย่างสิ้นเชิง
6.ความคิดเรื่อง social contract ที่อยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพและความเสมอภาคในอัคคัญญสูตร
สมบัติ จันทรวงศ์ พูดถูกที่ว่าแนวคิด ‘เทวสิทธิ์’ เป็นเรื่องสมมติ ‘ประชาธิปไตย’ ก็เรื่องสมมติเช่นกัน ถ้าเรามองว่าทฤษฎีเทวสิทธิ์เป็นการอ้างตำนาน สิ่งที่ไม่เป็นจริง บุญญาธิการ บาป บุญ กฎแห่งกรรมที่มองไม่เห็น ประชาธิปไตยก็กำเนิดจากการสร้างขึ้นมาเช่นกัน โดยมีรากฐานจากสิ่งสมมติว่า ตามหลักตรรกะ ถ้ามีสังคมการเมือง รัฐบาล ต้องมีสภาพก่อนที่จะไม่มีสังคมและรัฐบาล ในสภาพนั้นทุกคนต้องเท่ากัน เพราะยังไม่มีอะไรกำหนด เรียกว่า ‘สภาพธรรมชาติ’
‘สภาพธรรมชาติ’ จึงเป็นสมมติฐานตั้งต้นของทฤษฎีสัญญาประชาคม (social contract) ที่ไม่ต้องพิสูจน์ คือไม่มีใครไปพิสูจน์ว่าในสภาพธรรมชาติก่อนเป็นสังคมการเมืองนั้น ธรรมชาติของมนุษย์เห็นแก่ตัวและใช้ความเห็นแก่ตัวเบียดเบียนกันได้อย่างเสมอภาคตามความคิดของโทมัส ฮอบส์ หรือธรรมชาติของมนุษย์คือเสรีภาพตามความคิดของฌอง ฌากส์ รุสโซ หรือธรรมชาติของมนุษย์คือ ‘จิตบริสุทธิ์’ ที่มาจากโลกอื่นคืออาภัสสรพรหม แล้วจึงแปรเปลี่ยนมามีกิเลสตัณหาเป็นเหตุให้เกิดการเบียดเบียนกันในสภาพสังคมตามธรรมชาติก่อนที่จะเกิด ‘มหาชนสมมติ’ หรือ ‘สัญญาประชาคม’ ที่ยืนยันว่า ‘อำนาจเป็นของประชาชน’ ตามนัยอัคคัญสูตรที่พระตถาคตอธิบาย ฉะนั้น สมมติฐานที่ว่า สังคมตามสภาพธรรมชาติเป็นอย่างนั้นอย่างนี้จึงเป็นเพียงสมมติฐานเพื่อสร้างแนวคิดปรัชญาสังคมการเมืองที่ไม่ต้องพิสูจน์
แต่ประเด็นที่วิเคราะห์กันในปรัชญาสังคมการเมืองคือประเด็นว่า ‘อำนาจเป็นของใคร?’ ซึ่งทฤษฎีสัญญาประชาคมเห็นตรงกันว่า ‘อำนาจเป็นของประชาชน’ และเห็นว่าประชาชนมีความเสมอภาค แต่ความเสมอภาคอาจมองต่างกันไป เช่น ฮอบส์มองว่ามนุษย์มีความเสมอภาคในการใช้กำลังทำร้ายกัน คนอ่อนแอก็สามารถใช้กำลังทำร้ายคนแข็งแรงกว่า คนฉลาดกว่าได้พอๆ กัน (เช่น ลอบทำร้ายเวลาเผลอ ฯลฯ) รุสโซเห็นว่ามนุษย์มีเสรีภาพเท่าเทียมกัน แล้วความคิดเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาคในอัคคัญญสูตรมีหรือไม่?
7.ความคิดเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคในอัคคัญญสูตร บางคนบอกว่าพุทธศาสนายืนยันว่ามนุษย์มีเสรีภาพแสวงหาสัจธรรมและมีความเสมอภาคในการบรรลุธรรม แต่จะโยงมาอธิบายเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาคในสังคมประชาธิปไตยได้หรือไม่ การมองแบบนี้ถูกเพียงแง่เดียว เราจะเข้าใจชัดขึ้นเมื่อพิจารณาเนื้อหาและบริบทการปฏิเสธระบบชนชั้นในอัคคัญญสูตร
เนื้อหาในอัคคัญญสูตร เป็นบทสนทนา (dialog) ระหว่างพุทธะกับสามเณรสองรูป คือ สามเณรวาเสฏฐะ กับสามเณรภารทวาชะ ที่ออกบวชจากวรรณะพราหมณ์ โดยพุทธะถามว่า “เธอทั้งสองออกบวชจากวรรณะพราหมณ์ ไม่ถูกพวกพราหมณ์ด่าว่าเอาหรือ” ได้รับคำตอบว่า “พวกพราหมณ์ด่าว่าอย่างรุนแรงเพราะพวกเขาถือว่าวรรณะพราหมณ์เท่านั้นประเสริฐเพราะเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพระพรหม พวกสมณะเป็นพวกเลวทรามเพราะเกิดจากเท้าของพระพรหม” เป็นต้น จากนั้นพุทธะก็แสดง “เหตุผลโต้แย้ง” (arguments) ระบบความเชื่อของพราหมณ์ เช่น บอกว่า คนทุกวรรณะต่างก็เกิดจากโยนีของมารดา พร้อมกับอธิบายวิวัฒนาการของมนุษย์ การเกิดสังคมการเมือง และระบบวรรณะ
ใจความสำคัญสรุปได้ว่าสังคมการเมืองเกิดจาก ‘สัญญาประชาคม’ (ตามข้อความที่ฐาปนันท์อ้างถึง) เป็นสัญญาประชาคมภายใต้ข้อตกลงกว้างๆ ร่วมกันว่า (1) ให้อำนาจผู้ปกครองในการ “ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ” ทั้งนี้การทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลง (2) ว่า สมาชิกของสังคมตกลงจะแบ่งข้าวสาลีให้เป็นการตอบแทนในการทำหน้าที่ของผู้ปกครองนั้น และเนื่องจากการปกครองดังกล่าวนั้นเกิดจาก “การสมมติของชนหมู่มาก” จึงมีชื่อเรียกว่า “มหาชนสมมติ” ต่อมาผู้ปกครองแบบมหาชนสมมตินั้นได้รับการยอมรับจากสังคมว่า เป็นใหญ่ยิ่งแห่งเขตแดนทั้งหลาย จึงเรียกว่า “กษัตริย์” และเพราะความที่มีกษัตริย์เช่นนั้นทำให้คนจำนวนมากสุขใจได้โดยธรรม จึงเรียกว่า “ราชา” และระบบวรรณะต่างๆ ก็เกิดจากการแบ่งงานกันทำ ไม่ได้เกิดจากการกำหนดเอาไว้อย่างตายตัวโดยพระพรหม หรืออำนาจเทวสิทธิ์
นี่คือการปฏิเสธระบบคิดที่ยืนยันระบบชนชั้นที่อ้างอิงอำนาจเทวสิทธิ์ แล้วยืนยันระบบคิดที่ว่ามนุษย์เท่าเทียมกัน ดังข้อความในอัคคัญญสูตรว่า “...เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกันก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม...ความจริง ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุดในประชุมชนทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า” หมายความว่า มนุษย์ไม่ได้มีคุณค่าความเป็นคนต่างกันเพราะถือกำเนิดจากชนชั้นที่ต่างกันตามที่กำหนดไว้อย่างตายตัวโดยอำนาจเทวสิทธิ์ แต่จะต่างหรือเหมือนกันเพราะการกระทำตาม “ธรรม” อะไร ถ้าทำตามธรรมที่เป็นอกุศลก็เลว ทำตามธรรมที่เป็นกุศลก็ดีเสมอภาคกัน และการทำตามธรรมก็เกิดจาก “เสรีภาพในการเลือก” ของแต่ละคน ฉะนั้น มนุษย์จึงมีเสรีภาพและความเสมอภาคทางศีลธรรม คือมีเสรีภาพที่จะเลือกทำถูกหรือผิดด้วยตนเอง และเมื่อทำถูกหรือผิดในเรื่องเดียวกันก็รับผิดชอบทางศีลธรรมเสมอภาคกัน
พูดง่ายๆ คือพุทธะปฏิเสธการตัดสินคุณค่าของคนตามระบบวรรณะ 4 หรือปฏิเสธ ‘ความไม่เสมอภาค’ ตามระบบชนชั้นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทรในยุคนั้น แต่ยืนยันความเสมอภาคทางศีลธรรมว่า ถ้าทำดีก็ดี ทำชั่วก็ชั่วเสมอภาคกัน เช่น เป็นศูทรกับเป็นกษัตริย์ถ้าทำชั่วอย่างเดียวกัน (เช่น ฆ่าคน) ก็ชั่วชั่วและต้องรับผิดชอบอย่างเสมอภาคกัน ฉะนั้น ความเท่าเทียมกันในทางศีลธรรมจึงมีความหมายสำคัญ 2 อย่าง คือ
1) ทุกคนมีเสรีภาพในการเลือกการกระทำเสมอภาคกัน
2) ทุกคนรับผิดชอบต่อการกระทำเสมอภาคกัน
นี่คือ ‘ความเป็นคนที่เท่ากัน’ ที่อยู่บนฐานของความเสมอภาคในการเลือกและรับผิดชอบต่อคุณค่าของชีวิตตนเอง
ผมคิดว่านี่คือเหตุผลทางศีลธรรมที่สามารถใช้เป็นเหตุผลรองรับ ‘ความยุติธรรม’ ว่า ทำไมเราจึงต้องมีความเสมอภาคทางกฎหมายตามหลักนิติรัฐในสังคมประชาธิปไตย และเมื่อมองจากหลักการตามนัยอัคคัญญสูตรแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่เราจะอ้างคุณธรรมใดๆ ทางพุทธศาสนาเพื่อสนับสนุนสถานะศักดิ์สิทธิ์เหนือการตรวจสอบของชนชั้นปกครอง การกระทำเช่นนั้นเป็นการบิดเบือนพุทธศาสนารับใช้ชนชั้นปกครอง ที่ผู้รักความถูกต้องไม่อาจยอมรับได้
ฉะนั้น คุณธรรมของผู้ปกครอง เช่นทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร สังคหวัตถุ ที่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อทุกข์สุขของราษฎร การรักษาความยุติธรรม ซื่อสัตย์เสียสละเพื่อราษฎร เป็นต้น ก็คือ ‘ข้อเรียกร้องทางศีลธรรม’ ขั้นพื้นฐานต่อผู้ปกครองที่รับข้าวสาลี (ภาษี) ไปจากราษฎร ไม่ใช่คุณธรรมที่มีไว้โปรโมท สรรเสริญ หรือยกให้ผู้ปกครองอยู่เหนือการตรวจสอบของราษฎรแต่อย่างใด หากผู้ปกครองไม่มีคุณธรรมดังกล่าวเขาย่อมหมด ‘ความชอบธรรม’ ที่จะเป็นผู้ปกครองอีกต่อไป นี่คือหลักการสำคัญของพุทธศาสนาที่ชาวพุทธต้องยืนยัน
หลักการพุทธจริงๆ จึงสนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากกว่าที่จะสนับสนุนอุดมการณ์ราชาธิปไตย หรือราชาชาตินิยม แต่เนื่องจากพุทธศาสนาถูกตีความรับใช้อุดมการณ์ราชาธิปไตยหรือราชาชาตินิยมมาหลายร้อยปี จึงทำให้คนไทยคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังที่ อ.เกษียรว่า
ผมเห็นว่าการยืนยันหลักการที่ถูกต้องของพุทธศาสนาเพื่อหักล้างทฤษฎีอเนกนิกรสโมสรสมมติแบบที่ฐาปนันท์ทำเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ถ้าเราตระหนักในความเป็นจริงว่าการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยมันคือ ‘สงครามทางปัญญา’ เพื่อพ้นไปจาการครอบงำของระบบอำนาจและระบบความคิดความเชื่อที่เป็นอุปสรรค
ว่าแต่ในมหาวิทยาลัยน้อยใหญ่ของประเทศนี้ ก็มีนักวิชาการพุทธศาสนาอยู่แทบทุกแห่ง แต่เหตุใดต้องปล่อยให้เป็นภาระของนักวิชาการนิติราษฎร์ทำแทน เพราะสำหรับนิติราษฎร์ลำพังการทำในนามนักนิติศาสตร์ หรือทำแทนนักรัฐศาสตร์ในบางเรื่อง และยังต้องเผชิญกับ ‘อันธพาลศาสตร์’ อีก ก็นับว่าหนักหน่วงแล้ว นักวิชาการพุทธควรจะ ‘ตื่นรู้’ กันเสียที เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้!
แนะนำให้อ่านเพิ่มเติม
ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล : ปัญหาและความเป็นเหตุผล "อเนกนิกรสโมสรสมมติ"
สมบัติ จันทรวงศ์: ประชาธิปไตย VS ศีลธรรม ข้อถกเถียงเชิงปรัชญาแห่งยุคสมัย
สรุปปาฐกถาเกษียร เตชะพีระ: นักกฎหมายไทยกับการรัฐประหาร
วรเจตน์ ภาคีรัตน์: เหตุใดจึงควรแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดสถาบันกษัตริย์
โปรดอ่าน “Renaissance คืออะไร เป็นของใคร? ไทยมีบ้างไหม?” ในหนังสือ “ฝรั่งหลังตะวันตก” ของไมเคิล ไรท์ สำนักพิมพ์มติชน 2547
ดูความคิดเรื่อง “อเนกนิกรสโมสรสมมติ” เพิ่มเติมในหนังสือ “รัฐกับศาสนา” ของพิพัฒน์ พสุธารชาติ สำนักพิมพ์ศยาม 2549
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย