http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-18

ประวัติศาสตร์บาดแผล ใครเผา “หอพระแก้วขาว” ใครเผา “เซ็นทรัลเวิลด์” โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

ประวัติศาสตร์บาดแผล ใครเผา “หอพระแก้วขาว” ใครเผา “เซ็นทรัลเวิลด์”  
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1683 หน้า 76


สืบเนื่องจากฉบับที่แล้ว ในตอนท้ายได้กล่าวถึง "ภาพปริศนา" ของเด็กน้อยสามหนุ่มสามมุมที่ยืนถ่ายรูปกับฉาก "หอกังสดาล" ในวัดพระธาตุหริภุญชัย หลังเดิมก่อนถูกวาตภัย
หรือที่คนเหนือยังคงจดจำเรียกขานเหตุการณ์ปลายคิมหันตฤดูปี 2457 นี้ว่า "ลมหลวงลำปาง" หมายถึงลมพายุที่พัดกระหน่ำหนักโดยมีต้นลมมาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ของลำพูน ก็คือ ลำปาง!
ภาพดังกล่าวมีจุดสนใจอยู่ที่คนยืนกลาง ดูแปลกทั้งเครื่องแต่งกาย และรูปลักษณ์ที่คล้ายคนโบราณ จนคิดไม่ตกว่าควรเป็นชนชาติพันธุ์ใด 


ฉบับนี้ได้นำภาพดังกล่าวมาให้ชมแล้วนะคะ ต้องขออภัยในความผิดพลาดทางเทคนิคบางประการที่ไม่ได้นำเสนอภาพนี้ตั้งแต่ฉบับก่อน
( หมายเหตุ/บทความดีฯ -ชมภาพดังกล่าวที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/11/p-gong.html)


เรื่องราวของหอกังสดาลยังไม่จบ นอกเหนือจากคำถามที่ว่า "ตัวกังสดาล" ควรเป็น Drum หรือ Bell แล้ว ยังมีประเด็นเรื่อง "สถานที่ตั้ง" ของหอกังสดาลอีกด้วย ซึ่งในกาลก่อนเคยเป็นที่ประดิษฐาน "พระแก้วขาวเสตังคมณี" พระคู่บ้านคู่เมืองนครหริภุญไชยมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี เมื่อเกือบ 1,400 ปีก่อน

แต่บัดนี้ไม่มีอีกแล้ว หอพระแก้วขาวแห่งเมืองลำพูน เหตุเพราะพระญามังรายได้อัญเชิญองค์พระปฏิมากรไปเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ด้วยได้เห็นปาฏิหาริย์ของพระแก้วขาวกับสายตาพระองค์เอง ว่ามีพุทธานุภาพในการป้องกันไฟ

ในยุคล้านนา มีการนำ "พระพุทธรูปทำด้วยนาก" หรือเรียกว่า "พระนาก" มาประดิษฐานแทน ปัจจุบันหอพระนากก็ถูกรื้ออีก หลังเหตุการณ์ "ลมหลวงลำปาง" พระนากสูญหาย เหลือเพียงแผ่นพระพักตร์ จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย

ส่วนพื้นที่เดิมของหอพระแก้ว สู่หอพระนากนั้น กลายเป็นหอกังสดาลหลังใหม่



พระญามังราย "เผา" หรือ "ไม่เผา" เมืองลำพูน?

พระญามังรายทราบได้อย่างไรว่า พระแก้วขาวศักดิ์สิทธิ์ด้านการป้องกันอัคคีภัย จึงได้นำไปเป็นพระประจำรัชกาล เคยทดลองเอาไฟเผามาแล้วหรือ?
และจริงไหมที่พระญามังรายเคยเผาเมืองลำพูน เป็นประเด็นที่มีคนถามกันบ่อยครั้ง

ก่อนจะตอบคำถามนี้ ต้องย้อนกลับไปดูเจตจำนงของพระญามังรายด้วยว่า ทำไมต้องบดขยี้เมืองลำพูน ในเมื่อพระองค์เองก็มีอาณาจักรหิรัญนครเงินยาง (แถบเชียงแสน-เชียงราย) อยู่แล้ว 
มูลเหตุมีอยู่สองประการหลักๆ

หนึ่ง ลำพูนเป็นเมืองราชธานีที่รับอารยธรรมแบบอินเดีย-ทวารวดีมาเต็มๆ เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดทั้งทางโลกและทางธรรมมาก่อนเมืองแถบลุ่มน้ำกกหลายศตวรรษแล้ว พระญามังรายฟังคำของพ่อค้าวาณิชที่เดินทางขึ้น-ล่องค้าขายแถบลุ่มแม่ปิง ล้วนกลับมาเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า "คนเมืองหริภุญไชยร่ำรวยนัก ผู้คนใส่คำ (ทอง) ใส่เงิน มีวัดวาอารามมากกว่า 2,000 แห่ง"
อย่าได้มาเทียบกับเมืองเงินยางเลย ผู้คนขณะนั้นยังนับถือผีปู่จ้าวลาวจกกันอยู่!

สอง ข่าวมองโกลรุกฆาต พิชิตเมืองโน้นกระหนาบเมืองนี้จนพินาศ ล้วนแต่เป็นเมืองใหญ่ๆ ทั้งสิ้น อาทิ พุกาม จามปา อังกอร์ หากไม่เรียกว่านี่คือสถานการณ์ฉุกเฉินถึงขั้น "ไฟจี้ก้น" เมืองเงินยางให้ต้องรีบหาทางถอยห่างจากมองโกลลงไปทางใต้ เหตุเพราะมีเขตแดนประชิดรัฐฉานและสิบสองปันนาใกล้จีนเหลือเกิน ก็ไม่รู้ว่าจะให้พระองค์นั่งนอนใจอย่างไรไหวแล้ว


ฉะนั้น ข้อถกเถียงของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (โดยมากอยู่นอกลำพูน) มักดาหน้าออกมาปกป้องเกียรติยศของพระญามังรายว่าพระองค์จะเผาเมืองลำพูนเพื่ออะไร เพียงแค่กรีธาทัพเข้ามา พระญาญีบา (ยี่บา) แห่งลำพูนก็พ่ายหนีเพราะกลยุทธ์ที่ "อ้ายฝ้า" จารบุรุษวางแผนหลอกไว้อย่างไม่เป็นท่า เท่านี้ก็ขี้คร้านจะชนะเบ็ดเสร็จ 
โดยนักวิชาการเหล่านั้นมักอ้างว่า ไม่มีการระบุเรื่องราวตอนพระญามังรายเผาหริภุญไชยไว้ในตำนานเล่มใดอย่างชัดถ้อยชัดคำ

จริงล่ะหรือ แล้วไยเหตุการณ์เดียวกัน จึงกลับกลายเป็น "ประวัติศาสตร์บาดแผล" ที่จารจำอยู่กลางใจคนลำพูนว่าหริภุญไชยถูกพระญามังรายเผาอย่างยับเยิน แม้จะถูกนักวิชาการเมืองอื่น ดูแคลนว่าความทรงจำของคนลำพูนนั้นเป็นเพียงเรื่อง "มุขปาฐะ"

กรณีการเผาเมืองลำพูน ไม่อาจเขียนเป็นลายลักษณ์ไว้อย่างโต้งๆ ได้ถนัดถนี่ เพราะผู้รจนาตำนานทั้งหลายในยุค 500 ปีก่อน ล้วนเป็นพระภิกษุผู้ทรงธรรม ต่างไม่มีจุดประสงค์ที่จะทำลายพระเกียรติคุณของพระญามังรายให้เกิดภาพลบ เพราะพระองค์คือหนึ่งใน "ธัมมิกราชา" 

เว้นแต่ต้องตีความบริบทแวดล้อม จากนัยยะที่ซ่อนระหว่างบรรทัด จึงจะรู้เช่นเห็นชาติ ในที่นี้พอจะหยิบยกให้ดูได้สัก 2-3 หลักฐาน

หลักฐานแรก "ตำนานสิบห้าราชวงศ์" ปริวรรตโดย สมหมาย เปรมจิตต์ กล่าวถึงความเจ็บช้ำน้ำใจของพระยาญีบาที่เสียรู้แก่อ้ายฟ้า (ข้าศึกที่ปลอมตัวมาสอดแนมในราชสำนักหริภุญไชยและคอยรายงานความอ่อนแอของทางนี้ให้ทางโน้นทราบ) ขณะพาครอบครัวหลบหนีขึ้นดอยบริเวณทาสบเส้า (อยู่ในอำเภอแม่ทา) ก่อนมุ่งหน้าไปเขลางค์ ความต้นฉบับระบุว่า "เหลียวหลังคืนผ่อหันควันไฟยังเวียงละพูน พระยาบาน้อยใจก็ร้องร่ำไห้ร่ำไรมากนัก" 
ข้อความตอนนี้ตรงกันกับเอกสาร ตำนานใบลานอักษรธรรมล้านนา เรื่องพระเสตังคมณี ปริวรรตโดยมหาสิงฆะ วรรณสัย
"ฝ่ายพญายี่บาเมื่อออกจากเมืองไปข้ามเขาชุหรบรรพต เหลียวหลังมาดูยังพระนครของตนเห็นควันไฟตลบฟุ้ง กลบกลุ้มถึงอากาศก็คาดพระทัยได้ว่าเสียเมืองแก่ข้าศึกแล้ว ก็ทรงกันแสงไห้พิไรร่ำอยู่ ณ ที่นั้น เขาลูกนั้นจึงได้ชื่อว่า ดอยบาไห้"

ข้อความทำนองเดียวกันนี้ยังปรากฏอยู่ใน "พงศาวดารโยนก" เรียบเรียงโดยเจ้าพระยาประชากิจกรจักร์ แถมมีการระบุด้วยว่า หนึ่งในสถานที่ที่ถูกเผานั้นคือบริเวณพระบรมธาตุหริภุญไชย 
"พลทหารของพระยาเมงราย (ที่ถูกต้องคือพระญามังราย) ก็จุดเพลิงเผาบ้านเรือนในหริภุญไชยไหม้ทั่วไปทุกแห่ง เว้นแต่หอพระแก้วหาได้ไหม้เพลิงไม่"


เหตุการณ์ยึดเมืองลำพูนเกิดขึ้นเมื่อปี 1824 พระญามังรายคือผู้ชนะ ด้วยขบวนทัพที่มากถึง "12 แสนนายทหาร" การเผาเมืองหริภุญไชยจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถือเป็นยุทธวิธี "ข่มขวัญ" ศัตรูตัวฉกาจในฐานะ "ผู้ชนะ" ประกาศให้โลกรู้ถึงแสนยานุภาพว่า พระองค์ต้องการผนวกนครรัฐโบราณจากลุ่มแม่ปิง รวมกับหิรัญนครเงินยางจากลุ่มน้ำกก

หากไม่เผานี่สิ น่าขบคิดมากกว่า แสดงว่าไม่ได้คิดการใหญ่จริง ตีลำพูนเพียงแค่ต้องการนั่งบัลลังก์เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 51 แห่งหริภุญไชย มิได้วาดหวังว่าจะเป็นปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา



ประวัติศาสตร์บาดแผล ใครเผาเซ็นทรัลเวิร์ลด์?

การตัดสินใจจุดไฟ "เผา" เมืองสักเมืองนั้น ย่อมได้รับการใคร่ครวญมาแล้วเป็นอย่างดีโดยแม่ทัพ คนที่ยิ่งใหญ่เช่นพระญามังรายตีเมืองมามากมาย แต่ไม่มีความจำเป็นต้องเผาบ้านเล็กเมืองน้อยเหล่านั้น ยกเว้นแต่เพียง "คู่ชกที่สมศักดิ์ศรี" 

ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์เมษา-พฤษภามหาโหด ปี 2553 หลังจากที่ ศอฉ. สั่งให้สลายการชุมนุม เข้ากระชับพื้นที่ จู่ๆ มีการเผา "ตึกเซ็นทรัลเวิลด์" ขึ้นมา ตึกที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ย่านธุรกิจไฮโซใจกลางเมือง สถานที่ที่ผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ได้เข้ายึดเป็นหัวหาด
นี่คือการประกาศชัยชนะของฝ่ายกุมอำนาจอย่างแยบยลใช่หรือไม่ เพราะย่อมไม่มีใครฉุกคิดว่าฝ่ายอำมาตย์จักกล้าเผาอาคารที่เป็นภาพเสมือนของพวกตน

การสาดโคลนว่าฝ่าย "ไพร่" เป็นผู้วางเพลิง เพื่อกลบเกลื่อนความผิดของฆาตกร 100 ศพ จึงกระทำได้โดยง่าย เพราะเข้าทางใครหลายคนรวมทั้ง คอป. ที่พร้อมจะแสร้งไขสือน้อมรับตรรกะดังกล่าว


เหตุการณ์เผาเมืองลำพูนเมื่อ 730 ปีก่อน ทั้งๆ ที่มีการเผาจริงเยี่ยงผู้ชนะพึงกระทำได้ต่อฝ่ายปราชัย แม้กระนั้นก็ยังมีความพยายามปกปิดบิดเบือนหลักฐาน ว่าไม่มีการเผา 
สุดท้ายความจริงก็ค่อยๆ แย้มพรายออกมาวันยังค่ำ ซึ่งก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอันใดต่อพระญามังรายแม้แต่น้อย ไม่ว่าบวกหรือลบ


จึงมีความหวังว่า ความจริงที่เพิ่งผ่านมาหลัดๆ 2 ปี กรณีการเผาเซ็นทรัลเวิลด์ ก็น่าจะได้รับความกระจ่างในเร็ววัน

คนอ่านประวัติศาสตร์ ไม่ได้ต้องการฟังแต่คำสรรเสริญเอออวย หรือเรื่องปาฏิหาริย์ของผู้วิเศษ

อันที่จริงประวัติศาสตร์ หากยิ่งเปิดบาดแผลให้เห็น ก็ยิ่งทำให้คนตาสว่างมากขึ้นเท่านั้น



.