http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-01

"มรดกอกแตกของ14ตุลาฯ", "ยึดฯวอลล์ สตรีท..วิกฤตรอบใหม่" โดย เกษียร เตชะพีระ

.



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"มรดกอกแตกของ 14 ตุลาฯ"
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19:30:00 น.


การดำเนินชีวิตอยู่อย่างแห้งกลางน้ำท่วมบนเวลา และพื้นที่ที่เบียดยืมเทพยดาฟ้าดินและเพื่อนร่วมชาติต่างจังหวัด มาทำให้ปีนี้ผมไม่ค่อยมีกะใจหวนรำลึกวาระครบรอบ 38 ปี 14 ตุลาฯ เท่าใดนัก

กระทั่งเผอิญมาอ่านเจอและสะดุดใจข้อคิดความเห็นในคำอภิปรายและคอลัมน์ของเพื่อนรุ่นพี่สมัย 14 ตุลาฯ 2 ท่าน ก็เลยอยากชวนท่านผู้อ่านมาร่วมกันเปลี่ยนอิริยาบถสักเล็กน้อย ก่อนจะกลับไปตามข่าวเครียดและเก็บของเตรียมหนีน้ำต่อ

คนหนึ่งคือ พี่จรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำนปช. และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดแรก ผู้กลับมามอบตัวต่อสู้คดีหลังลี้ภัยเมษา-พฤษภาอำมหิตไปอยู่เขมรราวปีครึ่ง ท่านกล่าวตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับมรดก 14 ตุลาฯ ไว้แหลมคมน่าคิดในการอภิปรายหัวข้อ "14 ตุลากับเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย" ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนินกลาง เมื่อ 15 ต.ค. ศกนี้ว่า: -

"แต่ใครล่ะที่จะเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของ 14 ตุลา...ไม่มี

"เพราะคน 14 ตุลาเองก็ไม่ได้เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป ในขณะที่คนเสื้อแดงก็ไม่สืบทอดเจตนารมณ์ 14 ตุลา เพราะการต่อสู้ของคนเสื้อแดงก็คล้ายกับ Arab Spring (การปฏิวัติประชาธิปไตยในอาหรับ) ซึ่งไม่ได้สืบทอดหรือยึดโยงกับการต่อสู้ในอดีตของโลกอาหรับ ขบวนการคนเสื้อแดงก็เป็นเช่นนั้น คือไม่ได้สืบทอดหรือยึดโยงมาจากขบวนการการต่อสู้ของ 14 ตุลาซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องหาคนมาสืบทอดเจตนารมณ์ 14 ตุลา ซึ่งก็คือเจตนารมณ์ประชาธิปไตยและเสรีภาพ"
(www.matichon.co.th/news_detail.php? newsid=1318670927&grpid=&catid=01&subcatid=0100)


เทียบกับช่วงหลังรัฐประหาร คปค. ในปี 2550 ครั้งที่พี่จรัลเคยให้สัมภาษณ์แสดงจุดยืนว่า "เป็นลิ่วล้อทักษิณดีกว่าสมุนเผด็จการ" ทำให้ผมอดทักท้วงไม่ได้ว่า "ไม่เอาทั้งคู่ได้ไหม?" (เกษียร เตชะพีระ, ทางแพร่งและพงหนาม : ทางผ่านสู่ประชาธิปไตยไทย, น.383-85)

มาครั้งนี้ ผมเห็นด้วยกับพี่จรัลแทบทุกประเด็น กล่าวคือ เอาเข้าจริงทุกวันนี้ไม่มีใครสืบทอดเจตนารมณ์ 14 ตุลาฯ, คน 14 ตุลาฯ เองไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป, ส่วนการต่อสู้ของคนเสื้อแดงก็ไม่ได้สืบทอดหรือยึดโยงจากขบวนการ 14 ตุลาฯ (ผมเสนอมุมมองทำนองนี้ไว้แล้วตั้งแต่ปลายปี 2549 ดู ทางแพร่งและพงหนาม, น.340-45)

ถ้าจะต่างบ้างก็ตรงผมไม่คิดว่าเจตนารมณ์ 14 ตุลาฯ มีแค่ประชาธิปไตยและเสรีภาพ ดังที่ผมเคยเถียง พี่ธีรยุทธ บุญมี และ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ คอเป็นเอ็นตั้งแต่เมื่อปี 2541 ว่า 14 ตุลาฯ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องประชาชนลุกขึ้นต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องหาสิทธิเสรีภาพอย่างที่ทั้งสองท่านยืนยันเท่านั้น (ดู เกษียร เตชะพีระ, ชาวศิวิไลซ์ : การเมืองวัฒนธรรมไทยใต้เงา IMF, น.203-31)

หาก 14 ตุลาฯ ยังมีความหมายร่วมสมัยและพลวัตต่อเนื่องถึงการต่อสู้ของมวลชนคนชั้นล่างเพื่อความเป็นธรรมทางสังคมด้วย

เอาเข้าจริงมีหลักฐานพยานจำนวนมาก ทั้งปากคำบุคคลสำคัญและบทกวีบทเพลงยุคนั้นที่ชี้ชัดว่าความเป็นซ้าย/สังคมนิยม (leftism/socialism) ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของกระแสภูมิปัญญา และการเมืองวัฒนธรรมที่ก่อตัวมาเป็นการเคลื่อนไหว 14 ตุลาฯ ตั้งแต่แรก

(เช่นเดียวกับความเป็นชาตินิยมและกษัตริย์นิยม (nationalism & monarchism) ที่เคียงข้างด้วยกันมา ดู ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา)

ดังนั้นจึงเป็นธรรมชาติธรรมดาที่พลวัตของความขัดแย้งที่เป็นจริงในสังคมไทยสมัยนั้นจะขับดันการเคลื่อนไหวสืบเนื่องจาก 14 ตุลาฯ ให้คลี่คลายขยายตัวอย่างรวดเร็วหลังตัวเหตุการณ์ จากข้อเรียกร้อง (ประชาธิปไตยทางการเมือง ไปสู่ -> ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจสังคม),

และจากข้อเรียกร้องเรื่อง (ความเป็นธรรมทางสังคมไปสู่ -> การต่อต้านการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบของทุนนิยมจนไปสู่ -> สังคมนิยม) ในที่สุด

หากตั้งหน้าตั้งตาแต่จะห้ำหั่นตัดตอน (edit) เอาการต่อสู้ของมวลชนคนชั้นล่างเพื่อความเป็นธรรมทางสังคมหรือที่เรียกว่า "ความเป็นซ้าย" ออกจาก 14 ตุลาฯ ให้จงได้แล้ว เราก็จะได้ประวัติศาสตร์และเจตนารมณ์ 14 ตุลาฯ ที่หายหกตกหล่นขาดวิ่นพร่องพิการเท่านั้นเอง !



สรุปคือมรดกหรือเจตนารมณ์ 14 ตุลาฯ นั้นมีทั้งด้านที่ต่อต้านเผด็จการ และด้านที่ต่อต้านการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบของทุนนิยม

ทว่าด้านหลังนี่แหละที่ขาดหายไปไม่ปรากฏในการเคลื่อนไหวต่อสู้ของคนเสื้อแดงหรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ซึ่งเน้นหนักแต่ด้านต่อต้านเผด็จการอย่างเดียว ไม่ได้สืบทอดหรือยึดโยงด้านที่ต่อต้านทุนนิยมจากขบวนการ 14 ตุลาฯ มาด้วย

ในทางกลับกัน เสียงที่ยืนกรานและทวงถามการต่อต้านทุนนิยม (ต่อคณะนิติราษฎร์โดยทั่วไปและต่อผมเป็นการเฉพาะ) กลับดังมาจากอีกฟากหนึ่งของการแบ่งขั้วแยกสีทางการเมืองปัจจุบัน ดังที่ พี่คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา และคอลัมนิสต์อาวุโสเครือ ASTV ผู้จัดการ อดีตผู้ประสานงานฝ่ายเครือผู้จัดการในที่ประชุมแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ชุดแรก) ได้อภิปรายในงานเสวนา "จับตายุทธการกินรวบประเทศไทย" ที่รัฐสภา เมื่อ 11 ต.ค. ศกนี้ว่า: -

"อยากตั้งคำถามถึงกลุ่มที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การลบล้างผลพวงการรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 รวมถึงการแก้ พ.ร.บ.กลาโหม ที่อ้างว่าจะทำให้ประชาธิปไตยมีความสมบูรณ์ว่า ผู้ที่เสนอมีข้อเสนอที่จะนำความเป็นธรรมมาอย่างไร จะนำ ปตท.กลับคืนมา หรือความมีธรรมาภิบาลในการกำหนดราคาพลังงาน จะให้อำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน ประเทศไทยจะพ้นจากทุนนิยมโลกหรือไม่

"เหตุใดคนกลุ่มนี้จึงไม่ยอมพูดถึงการล้างเหตุของรัฐประหาร แต่ต้องการลบล้างผลพวงอย่างเดียว แล้วจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร จะปฏิรูปประเทศ จะแก้รัฐธรรมนูญ ไม่แตะต้องเหตุของการรัฐประหาร ดังนั้น จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบปัจจุบันที่บอกว่าเป็นอำมาตย์กลับไปสู่ ระบบสมบูรณาญาสิทธิทุนหรือทักษิโนมิกส์ นั่นเอง"

ขณะที่ผมไม่บังอาจถือวิสาสะตอบแทนคณะนิติราษฎร์ แม้ว่าปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2549 ของอาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล สมาชิกคณะนิติราษฎร์เรื่อง "ภราดรภาพนิยม (Solidarisme)" (www.enlightened-jurists.com/directory/138) พอจะบ่งชี้ได้ว่าแท้จริงแล้วท่านปลาบปลื้มอำนาจทุนหรือไม่เพียงใด...

ส่วนตัวผมเอง พี่คำนูณน่าจะทราบว่านับแต่หลังงานเรื่องระบอบทักษิณเป็นต้นมา การวิเคราะห์วิจารณ์ทุนนิยมโลก-ทุนนิยมไทย-และปริศนาความสัมพันธ์ของมันกับระบอบประชาธิปไตย เป็นหัวข้อหลักอย่างหนึ่งของงานวิชาการและคอลัมน์ของผมอย่างสม่ำเสมอมาโดยตลอด

ล่าสุด อาทิ ปาฐกถางานสัมมนา "ขับเคลื่อนประเทศไทยภายใต้บริบทเศรษฐกิจสังคมยุครัฐบาลใหม่" จัดโดยเครือธนาคารกสิกรไทยและพันธมิตร (8 ก.ค. 2554), งานวิจัย "เศรษฐกิจโลกถดถอยใหญ่ : ความรุ่งเรืองและล่มจมของเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์" (สิงหาคม 2554),

หรือคอลัมน์ "ทำไม ประชาธิปไตยไม่เป็นสีเขียว?" (23 ก.ย. 2554) เป็นต้น โดยที่บางครั้งคอลัมนิสต์ผู้จัดการบางท่านยังสนใจอ้างอิงถึงด้วยซ้ำไป


ระหว่างที่ผมไม่คิดว่าตัวเองได้ละเลยด้านต่อต้านทุนนิยม ผมเกรงว่าพี่คำนูณและเพื่อนกลุ่ม 40 ส.ว. ที่เป็นคนรุ่น 14 ตุลาฯ บางท่านต่างหากกลับดูเหมือนหนึ่งจะหมกมุ่นต่อต้านทุนนิยมติดลม ไปไกลสุดกู่ จนหลงลืมด้านต่อต้านเผด็จการของมรดกและเจตนารมณ์ 14 ตุลาฯ ไปเสีย กระทั่งเห็นดีเห็นงามกับการใช้วิธีการที่ทำลายประชาธิปไตย, ฉีกรัฐธรรมนูญและละเมิดหลักนิติธรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการต่อต้านทุนนิยม

มันถูกต้องสมควรแล้วหรือครับแบบนั้นน่ะ ?

ในแง่นี้ ผมจึงยินดีและเห็นด้วยเต็มที่กับตอนท้ายบทความ "กินรวบประเทศไทย" ของพี่คำนูณในผู้จัดการออนไลน์เมื่อ 15 ต.ค.ศกนี้ซึ่งเสนอว่า: -

"ผมไม่ได้เห็นว่ารัฐประหารและผลของมัน โดยเฉพาะรัฐประหารที่ไม่มีลักษณะปฏิวัติ เป็นความดีความงามหรอก แต่ความไม่ดีไม่งามของมันก็ไม่ได้ทำให้ระบอบที่มันโค่นล้มลงไปได้ชั่วคราว กลายเป็นความดีความงามขึ้นมาได้ หากมันก็ไม่ได้ดีไม่ได้งามอยู่ก่อน

"แน่นอนว่าผมไม่เชื่อตรรกะ 'คอร์รัปชั่นดีกว่ารัฐประหาร' หรือ 'ทุนนิยมสามานย์ดีกว่าศักดินาล้าหลัง' แต่ผมก็หาได้เชื่อว่า 'รัฐประหารดีกว่าคอร์รัปชั่น' หรือ 'ศักดินาล้าหลังดีกว่าทุนนิยมสามานย์' เช่นกัน
"ทำไมเราจะต้องเลือกระหว่างสิ่งที่ไม่ดีไม่งามสองสิ่ง ?
"ทำไมเราไม่ฝ่าฟันไปสู่ทางเลือกใหม่ ??
"นี่คือคำถาม !"



จริงทีเดียว นี่เป็นคำถามสำคัญที่น่าร่วมกันแสวงหาคำตอบมาแต่แรกแล้ว แทนที่จะต่างฝ่ายต่างทำเหมือน "ตาบอดคนละข้าง แล้วแยกทางกันเดิน" ผมเพียงแต่อยากเสริมเติมสักเล็กน้อยว่ามีบทเรียนบางประการที่เราน่าจะเก็บรับได้จากการแสวงหาสะเปะสะปะหลงทิศผิดทางราคาแพงลิบลิ่วที่ผ่านมา กล่าวคือ: -

1) อาการคลั่งลัทธิคับแคบสุดโต่ง (fanaticism) นั้นอันตราย เพราะในนามของการแสวงหา เป้าหมายในอุดมคติอันหนึ่ง มันกลับมองข้ามละเลยและทำร้ายทำลายอุดมคติอื่นทั้งหมด ทั้งที่เอาเข้าจริงชีวิตมนุษย์เรามีหลากหลายมิติและไม่อาจอยู่อย่างมีความสุขและความหมายได้ในโลกที่แห้งแล้งบริสุทธิ์ภายใต้อุดมคติหนึ่งเดียว

2) วิธีการสำคัญกว่าเป้าหมาย เพราะวิธีการคือหน่ออ่อนของเป้าหมายที่กำลังคลี่คลายขยายตัวไปประจักษ์เป็นจริง (The means is the end in the process of becoming.) ฉะนั้นวิธีการที่ผิดพลาดชั่วร้ายย่อมไม่อาจนำไปสู่เป้าหมายที่ถูกต้องดีงามได้

3) ไม่มีหลักการนามธรรมใดในโลกมีค่าควรแก่การเอาชีวิตผู้อื่นไปสังเวย (There is no abstraction in the world that is worth taking other people"s lives for.)

หากผู้มุ่งสืบทอดมรดก 14 ตุลาฯ สามารถเก็บรับบทเรียนข้างต้นนี้ ผมคิดว่าภารกิจต่อต้านเผด็จการและต่อต้านทุนนิยมในบ้านเราก็น่าจะหลีกเลี่ยงการสูญเสียเลือดเนื้อชีวิตและน้ำตาของผู้คนไปได้อักโข สมดังเจตนารมณ์ของวีรชนผู้พลีชีพเมื่อ 38 ปีก่อนเหล่านั้น



++

"ยึดครองวอลล์ สตรีท ระหว่างโลกดิ่งสู่วิกฤตรอบใหม่"
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19:00:00 น.


"ถ้าพวกเขา (ผู้นำการเมืองเขตเงินสกุลยูโร) ไม่สามารถจัดการแก้ไขวิกฤตการเงินอย่างน่าเชื่อถือได้แล้ว ผมเชื่อว่าภายในราว 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าเราจะประสบภาวะหนี้สาธารณะล่มสลาย ซึ่งจะก่อให้เกิดการล่มสลายทั่วทั้งระบบธนาคารยุโรป เราไม่ได้แค่กำลังพูดถึงธนาคารค่อนข้างเล็กแห่งหนึ่งของเบลเยียมเท่านั้นนะครับ เรากำลังพูดถึงบรรดาธนาคารใหญ่ที่สุดในโลก, บรรดาธนาคารใหญ่ที่สุดใน
เยอรมนี, บรรดาธนาคารใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส ซึ่งมันจะลุกลามไปถึงสหราชอาณาจักรโดยผ่านปัญหาหนี้สาธารณะในไอร์แลนด์ด้วยส่วนหนึ่ง มันจะลุกลามไปทุกหนแห่งเพราะระบบการเงินโลก มันติดต่อเชื่อมโยงกันเหลือเกิน แล้วธนาคารพวกนั้นทั้งหมดก็เป็นคู่สัญญากับธนาคารสำคัญทุกแห่งในสหรัฐเอย อังกฤษเอย ญี่ปุ่นเอยและที่อื่นๆ ทั่วโลก ในทรรศนะของผมนี่จะเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงกว่าวิกฤตปี ค.ศ.2008 เสียอีก....."
ดร.โรเบิร์ต ชาปิโร
ที่ปรึกษาไอเอ็มเอฟ
อดีตที่ปรึกษาประธานาธิบดีคลินตันและโอบามา
กล่าวในรายการ Newsnight ของ BBC, 5 ตุลาคม 2554


หลังเศรษฐกิจโลกผ่านวิกฤตหนี้ซับไพรม์และภาวะถดถอยใหญ่ไปเมื่อ 3 ปีก่อนและกำลังทำท่าจะกลับมาเผชิญวิกฤตรอบใหม่ซ้ำสองในไม่ช้านี้

โดยที่ปัญหาเก่าอันได้แก่ (หนี้สินท่วมท้นเป็นภูเขาเลากา+ระบบธนาคารโลกพังชำรุดเชิง โครงสร้าง+การเมืองในระบบล้มเหลว) ยังค้างคาไม่ถูกแก้ไขเพราะติดกับดักกรอบความคิด เสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์

บัดนี้ขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนนอกสภาที่ส่วนหนึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบโต้แนวทางเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่, ซึ่งเริ่มจากชายขอบทุนนิยมโลกในประเทศกำลังพัฒนาแล้วลุกลามเข้าไปในยุโรป, ได้ปะทุก่อตัวขึ้นแล้ว ณ ใจกลางถนนสายหลักแห่งทุนนิยมการเงินโลกในนครนิวยอร์ก

มันนับเป็นขบวนการประชานิยมฝ่ายซ้ายขบวนแรกของอเมริกานับแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1930 เป็นต้นมา หลังจากปล่อยให้ฝ่ายขวากุมการเคลื่อนไหวประชานิยมอเมริกันไปหลายสิบปี นอกจากนี้จุดเด่นของมันที่ต่างกับขบวนการประชานิยมฝ่ายซ้ายรุ่นก่อนคือไม่พึ่งผู้นำบารมี หากโน้มเอียงไปทางต่อต้านอำนาจนิยม ในลักษณะการเคลื่อนไหวแบบไร้ผู้นำ


ถึงมาช้า แต่มันก็มาแล้ว และเรียกตัวเองว่าขบวนการ "ยึดครองวอลล์ สตรีท" (Occupy Wall Street ดู http://www.occupywallst.org/ )

ขบวนการ "ยึดครองวอลล์ สตรีท" ก่อหวอดขึ้นตั้งแต่กลางปีนี้ ผ่านเว็บไซต์และกลุ่มนักเคลื่อนไหวอิสระ ต่อต้านบริโภคนิยม-เสรีนิยมใหม่ในแคนาดาและนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

พวกเขาได้ฤกษ์เปิดฉากรณรงค์อย่างเป็นทางการเมื่อ 17 กันยายน ศกนี้-อันเป็นวันรุ่งขึ้นถัดจากวันครบรอบ 3 ปีที่ตลาดเงินอเมริกันกลายเป็นอัมพาตหรือที่เรียกว่า "The Day the Market Died"

ขบวนการยึดครองวอลล์ สตรีทต่างจากขบวนการ Tea Party ของฝ่ายขวาอเมริกันตรงที่ พวก Tea Partiers (ชาวพรรคน้ำชา) โทษว่าปัญหาเศรษฐกิจของอเมริกาเกิดจากรัฐบาลมีอำนาจบาตรใหญ่เกินไป (big government) ส่วนพวก Occupiers (นักยึดครอง) กลับมองว่าภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ (big business) ที่มีอำนาจล้นเหลือจนเข้าครอบงำเศรษฐกิจการเมืองต่างหากเป็นต้นตอของปัญหา ดังที่นักกิจกรรมหนุ่มคนหนึ่งกล่าวว่า:

"ผมรู้สึกเหมือนกับว่าตอนนี้คนชั้นกลางถูกกวาดล้างเกือบหมดแล้ว ตอนนี้คุณมีแต่คนชั้นใต้ถุนกับคนชั้นบนสุดเท่านั้น"

ซูซาน อาร์เน็ต ซึ่งเดินทางจากมลรัฐแคลิฟอร์เนียไปร่วมชุมนุม "ยึดครอง" กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 6 ตุลาฯ ศกนี้บอกว่า:

"(ประเด็นการประท้วง) คือเรื่องสงคราม การคอร์รัปชั่น และความโลภโมโทสันค่ะ"

ผู้ประท้วงจำนวนมากเผยตรงกันว่าพวกเขาได้แรงบันดาลใจจากขบวนการลุกขึ้นสู้ในโลกอาหรับและการประท้วงในยุโรปลูร์ดิส พาราโยเบร ว่าที่บัณฑิตมหาวิทยาลัยในไมอามีบอกว่าเธอติดหนี้เงินกู้ยืมการศึกษา ถึง 2 หมื่นดอลลาร์แล้วทั้งที่ยังไม่ทันเรียนจบออกไปหางานทำด้วยซ้ำ

"ฉันมีเพื่อนไม่รู้กี่คนต่อกี่คนที่จบปริญญาโทปริญญาตรีแล้วตอนนี้ก็ต้องมาทำงานอยู่ตามร้านอาหาร และฉันก็หวั่นใจเหลือเกินว่าสิ่งนั้นจะเกิดกับตัวฉันเองด้วย"

กลุ่มผู้ประท้วงที่วอชิงตัน ดี.ซี.พากันเดินขบวนไปยังหอการค้าสหรัฐและประณามบรรดากลุ่มธุรกิจที่หอการค้าฯเป็นตัวแทน ผู้ประท้วงหญิงคนหนึ่งไฮด์ปาร์กว่า:

"บรรษัทธุรกิจพวกนี้กำลังนั่งอยู่บนกองกำไรมหาศาลถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ พวกเขาจ่ายภาษีอัตราต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี แต่พวกเราสิกลับตกงานถึง 9%"

ขบวนประท้วงของ "นักยึดครอง" ยังแวะหยุดหน้าทำเนียบขาวพร้อมร้องตะโกนว่า "วอลล์ สตรีทมีแต่ตลกเชิญยิ้มๆ " ด้วย ขณะที่ด้านในทำเนียบ ประธานาธิบดีโอบามาตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับขบวนการ "ยึดครองวอลล์ สตรีท" ระหว่างแถลงข่าวว่า :

"แน่นอนครับว่า ผมได้ยินเรื่องขบวนการนี้ ผมเห็นข่าวทางทีวี ผมคิดว่ามันแสดงออกซึ่งความคับข้องใจที่ประชาชนชาวอเมริกันรู้สึกว่าขณะที่พวกเราประสบวิกฤตการเงินใหญ่ที่สุดนับแต่เศรษฐกิจตกต่ำใหญ่ (เมื่อคริสต์ทศวรรษ 1930) เป็นต้นมา, มีผู้ประสบเคราะห์ภัยเสียหายทั้งที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุมากมายมหาศาลทั่วประเทศตลอดภาคเศรษฐกิจการผลิต, แต่กระนั้นคุณยังได้เห็นพวกที่ทำธุรกิจการเงินอย่างไม่รับผิดชอบกลุ่มเดียวกันนั้นบางคนพากเพียรต่อสู้ทัดทานความพยายามที่จะปราบปรามบรรดาการปฏิบัติอันฉ้อฉลที่เป็นตัวดึงเรามาสู่ปัญหานี้แต่แรก ดังนั้นก็ใช่ครับ ผมคิดว่าประชาชนเขาคับข้องใจ และกลุ่มผู้ประท้วงก็กำลังส่งเสียงแทนความรู้สึกคับข้องใจของมวลชนจำนวนกว้างไพศาลกว่าเหล่านั้น ว่าระบบการเงินของเรามันทำงานอย่างไรกันเนี่ย "

นับแต่กลุ่มผู้ประท้วง "ยึดครองวอลล์ สตรีท" ปักหลักตั้งเต็นท์ในย่านธุรกิจการเงินของนครนิวยอร์กมาแรมเดือน พวกเขาถูกตำรวจจับกุมข้อหากีดขวางการจราจรไปหลายร้อยคนแล้ว


อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานและองค์กรชุมชนหลายกลุ่มก็ได้ เข้าร่วมชุมนุมกับพวกเขาด้วย พวกเขาปราศรัยในที่ชุมนุมว่า:

"พวกเขาบอกว่าจำต้องกอบกู้วอลล์ สตรีท และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่ทั้ง 3 แห่ง (ได้แก่ เจเนอรัล มอเตอร์, ฟอร์ด และไครสเลอร์) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและนั่นย่อมหมายถึงการสร้างงาน แต่สามปีให้หลัง ยังไม่เห็นมีงานอะไรให้ทำเลย ! "

ผู้เข้าร่วมชุมนุม "ยึดครองวอลล์ สตรีท" มีทั้งพนักงานขับรถบรรทุก, ครูอาจารย์, พยาบาลและคนงานขนส่ง

ผู้ชุมนุมชี้ว่าคนอเมริกันที่รวยที่สุด 1% กุมทรัพย์สินของประเทศเอาไว้มากเกินขนาด ขณะที่พวกตนเป็นตัวแทนคนอเมริกันอีก 99% ที่เหลือ

เจสัน อามาดี หนึ่งในผู้จัดตั้งขบวนการ ยอมรับว่าข้อเรียกร้องของขบวนการยังไม่ชัดเจนลงตัวนัก เขากล่าวว่า :

"ทุกคนมากันที่นี่ด้วยเหตุผลของตนเอง และเราก็ยังกำลังก่อรูปความเป็นเอกภาพของเราอยู่ เรากำลังเข้ามาบรรจบกัน แต่เราก็กำลังเติบใหญ่ขยายตัวอยู่ตลอดเวลาด้วย ดังนั้น คุณคงรู้นะครับว่า มันยากมากที่จะอ้างว่าข้อเรียกร้องของคน 99% น่ะมันเป็นอย่างไร

"คุณคงทราบอย่างที่ผมได้ยินมานะครับว่า การประท้วงยึดครองลอสแองเจลิสเพิ่งเกิดขึ้นคืนวานนี้เอง โดยมีผู้เข้าร่วม 350 คน แล้วก็ยังมีที่ซาน ฟรานซิสโก, บอสตัน, และชิคาโกอีก พวกเราหลายคนได้แรงบันดาลใจจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในแอฟริกาเหนือ สเปน กรีซ และลอนดอน ดังนั้น ผมคิดว่านี่มันเป็นอะไรบางอย่างที่กำลังเริ่มต้นขึ้นซึ่งผมอยากเห็นมันกลายเป็นขบวนการระดับโลกจริงๆ....."


อาจเร็วเกินไปที่จะฟันธงว่าการลุกขึ้นก่อกบฏต่ออำนาจกลุ่มทุนการเงินใหญ่ของหนุ่มสาวอเมริกันรุ่นล่าสุดนี้จะคลี่คลายขยายตัวไปอย่างไรและถึงไหน? จะประสบผลสำเร็จรูปธรรมที่ยั่งยืนสักมากน้อยแค่ไหนเพียงไร? หรือเป็นแค่ฝันกลางวันแสกๆ ที่ตื่นแล้วก็สลายวับไปเลย.....

อย่างไรก็ตาม ก็ดังที่ สลาวอย ชิเช็ก ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็น "นักปรัชญาผู้อันตรายที่สุดในโลกตะวันตก" ชาวสโลเวเนียได้กล่าวปราศรัยต่อที่ชุมนุม "ยึดครองวอลล์ สตรีท" ที่สวนสาธารณะ Zuccotti Park นครนิวยอร์ก เมื่อ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา (แล้วผู้ชุมนุมก็ช่วยกันร้องตะโกนซ้ำต่อประโยคต่อประโยคเพื่อให้ได้ยินกันทั่วถึง เพราะตำรวจห้ามใช้เครื่องเสียงใดๆ) ว่า :

" พวกเขาบอกว่าพวกคุณเป็นนักเพ้อฝัน แต่นักเพ้อฝันตัวจริงคือพวกที่คิดว่าสิ่งต่างๆ สามารถจะดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ อย่างที่เคยเป็นมาอย่างไร้ขีดจำกัดต่างหาก พวกเราไม่ใช่นักเพ้อฝัน เราเป็น ผู้ตื่นรู้ คือตื่นจากความเพ้อฝันที่กำลังกลายเป็นฝันร้าย เราไม่ได้กำลังทำลายสิ่งใด เราเพียงกำลังเป็นประจักษ์พยานว่าระบบทำลายตัวมันเองลงไปอย่างไรต่างหาก "



.