http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-03

จำนำข้าวเพื่อใคร อจ.นิด้า-มธ.เฉลย ใครได้-ใครเสียประโยชน์ ?

.
อีกบทหนึ่ง - นักวิชาการมองต่างมุม “จำนำข้าว”

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * 

จำนำข้าวเพื่อใคร อจ.นิด้า-มธ.เฉลย ใครได้-ใครเสียประโยชน์ ?
คอลัมน์ การเมือง ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 02 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 10:20:50 น.


มาตรการ "จำนำข้าว" ถูกต่อต้านมาตั้งแต่พรรคเพื่อไทย ชูเป็นหนึ่งในนโยบายที่ใช้เป็นประเด็นหาเสียงเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 
ด้วยเหตุผลว่า ในอดีต โครงการนี้เปิดโอกาสให้เกิดการทุจริต เงินในโครงการนี้จะรั่วไหลจำนวนมาก 
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ย้ำว่า ต้อง "ประกันราคาข้าว" เท่านั้นชาวนาถึงจะได้ประโยชน์ 
แต่พรรคเพื่อไทยยืนยันจะใช้นโยบายนี้มาตลอดเช่นกัน

ผลคือ พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 อย่างถล่มทลาย 
มาตรการจำนำข้าวจึงเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับผลการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 อย่างชัดเจน 
เป็นความชัดเจนที่พรรคซึ่งไม่ค่อยชนะเลือกตั้งอาจไม่เข้าใจ


การจำนำข้าว มีจุดเด่นที่ "รัฐ" รับซื้อข้าวทั้งหมด ในราคาที่กำหนดไว้ 1.5-2 หมื่นบาท 
ทำให้กลุ่มธุรกิจที่เคยทำกำไรจากราคาข้าวที่ขึ้นๆ ลงๆ เสียประโยชน์มหาศาล 
ในแง่หนึ่ง มาตรการนี้ เท่ากับเปลี่ยนโครงสร้างการซื้อขายข้าวเกือบทั้งระบบ 
ผู้ที่ลืมตาอ้าปาก ล้างหนี้ได้ ย่อมเป็นชาวนา 
เป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญในชนบท แหล่งปลูกข้าว ในวิถีชีวิตของชาวนา

ขณะที่คนเมืองผู้บริโภคข้าว ได้ยินแต่ข่าวร้ายจากนักธุรกิจค้าข้าว ข่าวร้ายจากนักวิชาการบางกลุ่ม 
ข่าวร้ายที่ระบุว่า มีการทุจริต โกง ข้าวที่ไปอยู่ในมือรัฐบาลมีจำนวนมาก และราคาสูง ทำให้ไม่สามารถขายหรือระบายออกไปได้ 
ข่าวที่ระบุว่า ตลาดซื้อขายล่วงหน้าเสียหาย เพราะขายล่วงหน้าเอาไว้ในราคาถูก แต่ต้องซื้อข้าวราคาแพงไปส่งมอบ 
ข่าวจาก "เสียงอเมริกา" หรือวอยซ์ออฟอเมริกา ระบุว่า มาตรการนี้ทำให้ไทยสูญเสียตำแหน่งผู้ส่งข้าวมากที่สุดให้เวียดนามไปแล้ว



แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตอกย้ำมาตลอดว่า การจำนำข้าวเป็นโครงการโคตรโกง ทุจริตทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง 
แต่สุดท้าย กลับเป็นนักวิชาการจากนิด้า หรือสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และธรรมศาสตร์บางส่วน ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุติโครงการนี้ 
เป็นการเคลื่อนไหวที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง 
ท่ามกลางคำถามว่า หากจำนำข้าวโคตรโกงจริง ทำไมไม่แก้ไขที่ต้นเหตุคือการทุจริต แทนที่จะล้มทั้งโครงการ


ความเห็นจาก นายวิโรจน์ อาลี แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็น่าสนใจ 
นายวิโรจน์กล่าวว่า หลักคิดเรื่องการไม่เข้าไปแทรกแซงราคาสินค้าในท้องตลาดนั้น เป็นโลกในอุดมคติ ไม่มีประเทศไหนในโลกทำได้ 
หลายประเทศก็เข้าไปแทรกแซงสินค้าเกษตรเช่นกัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรของเขา แม้กระทั่งสหภาพยุโรปยังใช้วิธีการนี้เช่นกัน 
ขอตั้งข้อสังเกตว่าเพราะเหตุใดกลุ่มนักวิชาการกลุ่มนี้จึงออกมาคัดค้านเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ทั้งที่ความเป็นจริงมีอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นที่กลุ่มทุนตามระบบทุนนิยมผูกขาดการค้า แต่กลับไม่ไปคัดค้านกัน



กรณีจำนำข้าว ชี้ให้เห็นปัญหาหลายประการ 
ปัญหาของรัฐบาล อาจจะอยู่ที่ความมั่นใจว่า ชาวนาพอใจมาตรการจำนำข้าว จึงไม่มีความพยายามจะสร้างความกระจ่างชี้แจงให้สังคมเห็นภาพ
ปัญหาของข่าวสารด้านเศรษฐกิจ ถูกยึดกุมอยู่โดยเครือข่ายธุรกิจและนักการเมือง 
ขณะเดียวกัน ไม่มีข่าวจากชาวนาว่า พอใจมาตรการแค่ไหน อยากให้ปรับปรุงแก้ไข มีการรั่วไหลอย่างไร 
การตอบโต้ระหว่างฝ่ายคัดค้าน และเห็นด้วย ยังเปิดโปงให้เห็นสภาพบางประการ

อาทิ คำถามว่า ทำไมเมื่อธนาคาร สถาบันการเงินล้ม รัฐทุ่มเงินเข้าไปอุดอย่างไม่คิดชีวิต ไม่เคยมีใครว่ากล่าว 
ครั้นเมื่อนำเงินมาสนับสนุนการจำนำข้าว กลับกลายเป็น "อาชญากรรม" ที่อาจจะต้องขึ้นโรงขึ้นศาล

หรือความอาลัยอาวรณ์ตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก 
ขณะที่ชาวไร่ชาวนา ผู้ผลิตข้าวเลี้ยงคนทั้งโลก แชมป์ตัวจริง กลับเป็นคนขี้โรคทางการเงิน ล้มละลายเรื้อรัง

ทำให้บทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ว่า "ข้าวนี้นะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว" ที่เขียนไว้หลัง พ.ศ.2500

เวลาผ่านไปหลายสิบปี ยังเป็น "อมตะ" ด้วยฝีมือนักการเมือง นักวิชาการและกลุ่มทุนค้าข้าว




++

นักวิชาการมองต่างมุม “จำนำข้าว”
คอลัมน์ การเมือง ในข่าวสดออนไลน์  วันพุธที่ 03 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:38 น.


การรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล เป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นทันที 
หลัง นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นำรายชื่ออาจารย์นิด้า อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษารวม 146 รายชื่อ  ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำวินิจฉัยยับยั้ง หรือยุติโครงการดังกล่าว

ด้วยเหตุผลรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนวิธีการรับซื้อและเข้ามาผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว จนทำลายกลไกการตลาด ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 43 และมาตรา 84 (1) ที่ระบุ รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน


ขณะที่สมาคมชาวนาไทยเห็นต่างว่าโครงการดังกล่าวประโยชน์ตกอยู่กับชาวนา จึงตั้งข้อสงสัยนักวิชาการที่ออกมาต้านมีนัยยะอะไรหรือไม่
พร้อมทำจดหมายเปิดผนึกถึงผู้คัดค้าน ขณะเดียวกันก็ยื่นจดหมายถึงรัฐบาลให้เดินหน้าโครงการต่อ


ที่ผ่านมาการจำนำข้าวมีการนำเสนอข้อมูลทั้งจากฟาก ของกลุ่มธุรกิจ กลุ่มชาวนา และนักการเมือง ทั้งมีที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

สำรวจมุมมองในกลุ่มนักวิชาการยังเห็นต่างกันในประเด็นนี้

ในแง่มุมกฎหมาย นายปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่น่าจะทำได้ 
ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถพิจารณาการร้องเรียนเรื่องนโยบายรัฐบาลได้ การยื่นต่อศาลปกครองน่าจะตรงกว่า เข้าใจว่าผู้ยื่นร้องน่าจะทราบดี เข้าใจว่าอาจเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงสัญลักษณ์อะไรหรือไม่
ส่วนเสียงวิจารณ์กรณีรัฐเข้ามาผูกขาด อ.ปูนเทพ เห็นว่า หากนโยบายจำนำข้าวมีเจตนาหรือพิสูจน์ได้ว่าแทรกแซงกลไกการตลาดเพื่อประโยชน์ ของประชาชน เพื่อคุ้มครองชาวนาแล้วรัฐสามารถผูกขาดได้


นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ เห็นไม่ต่างกันว่า มาตรา 43 เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ รัฐสามารถเข้าไปจัดระเบียบการประกอบอาชีพป้องกันการผูกขาด หรือเพื่อขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน 
โครงการจำนำข้าวจึงทำได้เพราะไม่ได้ทำเพื่อเอากำไรเข้ารัฐบาล และทำเพื่อรักษาดุลยภาพของตลาด มาตรา 43 ยังตั้งอยู่บนความเสมอภาคตามมาตรา 30 ที่ระบุว่ามาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคล สามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ถือว่าไม่ละเมิดสิทธิประชาชน

นโยบายจำนำข้าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ชาวนา รายเล็กๆ สามารถสู้กับโรงสีข้าวและพ่อค้าข้าวราย ใหญ่ได้ 
ขณะที่มาตรา 84 บทนี้อยู่ในนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ออกแบบให้รัฐดำเนินการไม่ใช่ให้ศาลบังคับรัฐบาล ผู้ตัดสินนโยบายของรัฐบาลว่าดีหรือไม่คือประชาชน โดยการวิพากษ์วิจารณ์ หรือไม่เลือกเข้ามาบริหารประเทศอีก 
ย้อนกลับไปที่ช่องทางการยื่นร้องผ่านศาลรัฐธรรมนูญ นายวีรพัฒน์เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่น่าจะรับกรณีนี้ไว้ พิจารณาได้

รัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคหนึ่ง ที่ให้สิทธิคนทั่วไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็สามารถร้องได้เฉพาะตัวกฎหมายที่ละเมิดสิทธิประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่ร้องโครงการของรัฐบาล และการยื่นตามมาตรานี้ยังต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว 

บทลงโทษที่รัฐบาลดำเนินนโยบายไม่ดีต้องไปว่ากันที่รัฐสภา ไม่ใช่ที่ศาล ที่ศาลจะยุ่งได้คืออะไรก็ตามที่มาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน


นายวิโรจน์ อาลี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ในเชิงสังคมว่า สิ่งที่ชาวนาได้รับจากระบบทุนนิยมเสรี คือการกดราคาข้าวเปลือกของกลุ่มนายทุนและเครือข่าย
หากกลุ่ม ชาวนามีคุณภาพชีวิตไม่ดีและยากจน การเข้าไปแทรกแซงราคาข้าวเปลือกโดยผ่านโครงการรับจำนำข้าว เท่ากับช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและให้ชาวนาได้ปลดหนี้สินได้ 
ส่วนตัวผมมองว่าโดยหลักการของโครงการรัฐบาลคิดมา เพื่อช่วยเหลือชาวนาอย่างแท้จริง โดยอาศัยฐานคิดและฐาน ข้อเท็จจริงที่ว่าชาวนาเป็นคนยากจน มีหนี้สิน และมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี 
ส่วนมุมมองเกี่ยวกับโลกทุนนิยมหรือการค้าเสรี ในแบบเดียวกับที่อดัม สมิธ เจ้าของแนวคิดเศรษฐศาสตร์ตลาดเสรี คิดเห็นว่ารัฐต้องไม่เข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด เป็นโลกในอุดมคติเท่านั้น  ไม่มีประเทศไหนในโลกทำได้ หลายประเทศก็เข้าไปแทรกแซงสินค้าเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร สหภาพยุโรปก็ยังใช้วิธีการนี้


ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นในมุมตรงข้าม

น.ส.ภูรี สิรสุนทร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ข้อด้อยโครงการจำนำข้าวว่า รัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมาก แต่ระหว่างกระบวนการรับจำนำมีการคอร์รัปชั่นและแทรกแซงสูง การรับซื้อข้าวในราคาสูงกว่าราคาตลาดทำให้กลไกตลาดหายไป  และเพราะขั้นตอนการรับจำนำบกพร่องทำให้ไทยเสียอันดับผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก 
เดิมกระบวนการซื้อ-ขาย และส่งออกข้าวมีกลไก ที่ดีอยู่แล้ว การแทรกแซงเพื่อให้เกษตรกรมีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รัฐบาลต้องทำตั้งแต่ต้นทาง ถึงปลายทาง แต่ที่ทำอยู่ทุกวันนี้เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด  หากรัฐบาลจะแก้ปัญหาของชาวนาจริงๆ อยากให้เข้าไปช่วยเรื่องเทคโนโลยีดีกว่า


นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เห็นเหมือนกันว่ารัฐบาลช่วยเหลือเรื่องราคามาหลายปีแล้ว แต่เป็นการแก้ปัญหาไม่ค่อยตรงจุด   แต่ควรช่วยเรื่องการลดต้น ทุนการผลิต เน้นการพัฒนาที่ดิน การใช้ปุ๋ย น้ำและยาฆ่าแมลง ไม่เช่นนั้นก็หาวิธีเพิ่มผลผลิตและเรื่องการตลาด ส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่น หรือเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไป 
บทบาทของรัฐควรมาทางนี้มากกว่าแทรกแซง เรื่องราคา เพราะเป็นการช่วยให้เกษตรกรช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ใช่มุ่งช่วยเฉพาะเรื่องราคาซึ่งเป็นเรื่องปลายเหตุ   โครงการ นี้ใช้เงินมากและทำให้ระบบการค้าข้าวย่อยยับ เพราะรัฐบาลแทรกแซงมากเกินไป และยังเกิดการทุจริต มีการสวมสิทธิ์นำข้าวจากประเทศอื่นมาจำนำ 
ผลเสียที่เห็นชัดคือความสามารถในการส่งออกลดลง และการตั้งราคาไว้สูงทำให้ทุกคนหันมาจำนำข้าวแล้วไม่ไถ่ถอนคืน ข้าวจึงกองอยู่ในโรงสี  มีแต่รายใหญ่ที่ได้ประโยชน์ ชาวนาตัวเล็กตัวน้อยที่ควรจะเป็นเป้าหมายของรัฐบาล กลับไม่ได้อะไรจากโครงการนี้เลย


นายวรากรณ์ สามโกเศศ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เปรียบเทียบว่า ในวงเงินที่รัฐบาลทุ่มลงเท่ากัน การประกันราคาครอบคลุมถึงชาวนาได้กว้างขวางกว่า  เพราะการจำนำข้าว 1 หมื่นบาทต่อตันรัฐต้องจ่ายหมด ราคาตลาดลดลงแต่รัฐยังต้องจ่าย 1 หมื่นบาท แต่การประกันราคาจ่ายแค่ส่วนต่าง
และห่วงว่า ขณะนี้มีการนำข้าวพันธุ์จากเวียดนามที่ให้ผลผลิตเร็วแต่คุณภาพไม่ดีเข้ามา ปลูกในไทย เพราะชาวนาอยากได้เงินเร็วๆ จึงไม่อยากปลูกข้าวหอมมะลิ ที่ใช้เวลา ถึง 8 เดือน  และยังเปิดช่องให้มีการทุจริตได้ง่ายกว่า โดยการจำนำลมตั้งแต่ยังไม่มีข้าว

เมื่อก่อนวิธีจำนำข้าวไม่เห็นผลเสียมากมายเพราะไม่มีคู่แข่ง แต่โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ปัจจุบันข่าวสารและการขนส่งสินค้าต่างๆ ทำได้อย่างรวดเร็ว การส่งพันธุ์ข้าวถึงกันทำได้ใน วันเดียว มีการแชร์ในตลาดโลก ทำให้การผูกขาดทำไม่ได้ และข้าวไม่เหมือนน้ำมัน 



.