http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-01

ตบะในวัฒนธรรมไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ตบะในวัฒนธรรมไทย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1685 หน้า 30 


เมื่อเป็นเด็กได้ยินเรื่อง "บำเพ็ญตบะ" เสมอ แม้ยังไม่เคยอ่านรามเกียรติ์ก็ตาม เพราะละครวิทยุพูดถึง, ผู้ใหญ่พูดถึง, เพื่อนพูดเล่น, เป็นท้องเรื่องหนึ่งในลิเก ฯลฯ อยู่เสมอ ความเข้าใจสมัยเด็กก็คือตบะทำให้เกิดฤทธิ์เกิดอำนาจ สำนวนไทยใช้ว่า "ตบะแก่กล้า" ซึ่งไม่จำเป็นต้องหมายถึงฤทธิ์เดชเหนือโลก แต่มักหมายถึงความสามารถที่บ่มเพาะมานานจนเป็นที่เกรงขาม จะไปในทางนักเลงก็ได้ ไปในทางการพูด, การเขียน, การมีความรู้ทางวิชาการ หรืออะไรอื่นทำนองนี้ก็ได้
ผมเพิ่งมาสำนึกได้ว่า ผมไม่ได้ยินคำ "ตบะ" มานานแล้ว เหมือนจะหลุดหายไปจากภาษาพูดไทยในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่คำคำหนึ่งที่เลิกใช้ในภาษาพูดไปเท่านั้น แต่ความรู้ชนิดหนึ่งได้ตายไปจากสังคมไทยแล้วต่างหาก

ตบะทั้งในบาลีสันสกฤตหมายถึงความร้อน และด้วยเหตุดังนั้นจึงหมายถึงการเผาผลาญ จะเผาผลาญกิเลสหรือเผาผลาญมายาคติอะไรก็ตาม ย่อมเป็นการบำเพ็ญตบะทั้งนั้น วิธีเผาผลาญคือการ "ทรมาน" (ฝึก) ตัวเอง ไม่ตอบสนองความสะดวกสบายทางร่างกายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ อาจหมายถึงการทำสมาธิจนเข้าฌานได้สูงๆ ทำไปนานเข้า ความร้อนก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยไป จนโลกแตกก็ได้ เช่น ศิวลึงก์นั้น หากพราหมณ์ไม่คอยพรมน้ำไว้ ก็อาจระเบิดจนโลกแตกเป็นจุณ
แต่ความร้อนที่ว่านี่ อย่าได้เอาปรอทไปวัดนะครับ เพราะมันไม่ใช่ความร้อนทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นร้อนยังไงผมก็ไม่ทราบ คิดว่าคงเป็นการสะสม "พลัง" บางอย่างไว้กับตัวเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แผ่เป็นรังสีกายสิทธิ์ปกป้องภยันตรายทุกอย่างที่จะแผ้วพานตัว และอาจใช้พลังนี้ไปทำอันตรายแก่ผู้อื่นก็ได้ (เช่น ในรามเกียรติ์ เอาไปสาปแช่งคนอื่น เป็นต้น)

ดังนั้น การบำเพ็ญตบะจึงให้ "ฤทธิ์" จะเป็นฤทธิ์ในทางโลกย์หรือในทางธรรม ก็สุดแต่ผู้มีตบะแก่กล้าจะนำไปใช้ และที่ปรากฏในวรรณคดีและลิเก ดูเหมือนจะใช้ทั้งสองอย่าง (เช่น พระเจ้าตาของสุดสาคร เป็นต้น)


การบำเพ็ญตบะจึงเป็นการแสวงหาความรู้ และการบรรลุถึงความรู้ชนิดหนึ่ง อันมีประโยชน์ที่จะนำมาใช้ได้ทั้งทางโลกย์และทางธรรม การศึกษาของเจ้าชายในลิเกและนิทานโบราณ คือไปศึกษากับพระเจ้าตาในป่า ศึกษาอะไรหรือครับ หากอยากอ่านออกเขียนได้ ก็เรียนกับพราหมณ์หรือภิกษุในวังในวัดเมืองหลวง ไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเรียนการทหาร สู้เรียนกับขุนพลซึ่งผ่านการรบมาจริงๆ ไม่ดีกว่าไปเรียนกับพระเจ้าตาซึ่งไม่เคยรบกับใครนอกจากยุงหรือ เรียนการปกครองก็เรียนกับพ่อหรือกับอำมาตย์ในวังไม่ดีกว่า
ไปเรียนกับพระเจ้าตา ก็ไปเรียนตบะสิครับ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือไปสั่งสมพลังอำนาจบางอย่าง ที่ทำให้เจ้าชายมีสถานะทางความรู้สูงกว่าทุกคน จนเหมาะจะเป็นพระราชาต่อไป

ความรู้ที่ว่านั้นมีลักษณะเด่นอย่างไร จะขอยกเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้



ประการแรกคือเป็นความรู้ที่มีคุณค่าเชิงปฏิบัตินะครับ เช่น สังข์ทอง (ซึ่งไม่ได้เรียนจากพระเจ้าตา แต่เรียนจากนางยักษ์) สามารถเรียกเนื้อเรียกปลาได้, บางพระเอกอาจรู้วาระจิตของคนอื่น คือเขาพูดกับตัวเองก็ยังได้ยินด้วย, บางพระเอกรู้ภาษาสัตว์, บางพระเอกเสกเป่าอะไรได้สารพัด ฯลฯ เป็นต้น

ประการที่สองก็คือ ความรู้เหล่านี้เกี่ยวข้องกับศาสนาหรือไม่อย่างไรไม่ทราบได้ แต่ที่นำมาใช้ในท้องเรื่อง ล้วนไม่เกี่ยวกับคำสอนทางศาสนาทั้งสิ้น แต่แม้ว่าไม่เกี่ยวแต่ที่จริงแล้วคงเกี่ยว เพราะความรู้หรือฤทธิ์เดชเหล่านี้จะมีได้ก็ต้องฝึกจิตให้มีสภาวะอันเป็นพลังเสียก่อน อันนี้ไม่ปรากฏในวรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้านชัดๆ นะครับ แต่เป็นความเชื่อที่เห็นได้ชัดเจนในทางศาสนา นั่นคือสองอย่างนี้แยกออกจากกันไม่ได้ เช่นการฝึกจิตให้มีสมาธิจะเกิดอานุภาพต่างๆ ทั้งในทางโลกย์และทางธรรม ประวัติพระอาจารย์มั่นเล่าถึงอานุภาพในทางโลกย์ไว้มากมาย เช่น อสุรกายไม่กล้าทำร้าย รวมทั้งเสือสิงห์กระทิงแรดและช้าง ต่างไม่ทำร้ายพระอาจารย์มั่นทั้งสิ้น โดยเฉพาะในขณะที่ท่านเข้าฌาน

ประการที่สามคือ ความรู้ดังกล่าวนี้ไม่ได้มีในเมือง แต่มีในป่า พูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็นความรู้ที่อยู่นอกสังคม จะได้มาต้องถอยออกไปจากสังคมเสียก่อน ส่วนได้แล้วจะถอยออกไปจากสังคมตลอด หรือย้อนกลับมาสู่สังคมอีกก็ได้ ในวรรณคดีและนิทานคนที่มีความรู้นี้มักย้อนกลับมาสู่สังคม หรือเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสังคมจนเป็นเรื่อง สอดคล้องกับในชีวิตจริง คนเหล่านี้ก็มักจะย้อนกลับมามีบทบาทในสังคม

เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาที่น่าพิจารณามีสองด้าน
ด้านแรกก็คือคนที่ได้ครอบครองความรู้ประเภทนี้ มีบทบาทอะไรในสังคม และมีความสัมพันธ์กับรัฐอย่างไร
ด้านที่สองก็คือมีเงื่อนไขพิเศษอะไรทางสังคม ที่จะทำให้คนเหล่านี้มีบทบาทมากหรือน้อยต่างกัน



ในด้านแรกนั้น อาจกล่าวได้ว่า คนที่มีความรู้ที่ได้จากการบำเพ็ญตบะ มักกลับมาเป็นผู้นำของชุมชน ไม่จำเป็นต้องเป็นนายบ้านเสมอไปนะครับ เพราะผู้นำในชุมชนหมู่บ้านนั้นประกอบด้วยคนหลายประเภทและมักถ่วงดุลอำนาจกันเองด้วย บางคนในกลุ่มคนเหล่านี้อาจเป็นนายบ้าน แต่อีกมากทีเดียวที่เป็น "จ้ำ" หรือผู้นำในการประกอบพิธี หรือเป็นผู้ใหญ่ที่มีคนเคารพนับถือ หรือเป็นแกนหลักในการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินเงินทองหรือผู้คนในหมู่บ้าน โดยไม่มีตำแหน่งเป็นทางการ ซึ่งเรียกในภาคกลางสมัยหลังว่า "นักเลง" (และเพราะเป็นแกนหลักมีกำลังผู้คนมาก จึงอาจปล้นวัวควายของหมู่บ้านอื่นก็ได้)

ที่น่าสังเกตก็คือ อำนาจของคนเหล่านี้เกิดนอกเขตอำนาจของรัฐ ไม่เหมือนมหาบาเรียน ที่ต้องเล่าเรียนในวัด (ส่วนใหญ่เป็นวัดในเมือง) แล้วสอบสนามหลวงจนได้เป็นมหาบาเรียน ได้พัดยศได้สมณศักดิ์ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินแต่งตั้ง จึงนับว่าเป็นความรู้ที่เกิดในสังคม และอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของรัฐ แต่ความรู้แบบตบะเกิดนอกรัฐ พระเจ้าแผ่นดินกำกับควบคุมไม่ได้ อำนาจที่ได้จากนอกสังคมเมื่อกลับเข้ามาอยู่ในสังคมแล้ว ก็เป็นอำนาจที่อยู่นอกการกำกับควบคุมของรัฐอีกเช่นกัน
ด้วยเหตุดังนี้ คนเหล่านี้คือคนที่รัฐไม่ค่อยไว้วางใจมาแต่โบราณแล้ว แม้ไม่พบในวรรณคดีและนิทานพื้นบ้าน แต่พบมากในรายงานทางประวัติศาสตร์ถึงบทบาททัดทานอำนาจรัฐของคนเหล่านี้ กบฏชาวบ้าน (หรือบางทีเรียกว่ากบฏชาวนา) ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยอยุธยา มักมีคนประเภทนี้เป็นผู้นำ พระที่ออกเที่ยวธุดงค์ สัญจรไปตามที่สงบในราวป่า หรือที่เรียกว่าพระป่า ก็เป็นพระที่รัฐไม่ค่อยไว้วางใจเหมือนกัน เพราะฝึกฝนตนเองในแนวของพระพุทธศาสนาที่อยู่นอกการควบคุมของรัฐ

ผมควรกล่าวด้วยว่า พระเหล่านี้ไม่เหมือนพระอรัญวาสีแท้นะครับ วัดอรัญวาสีนั้นตามพระบาลีกำหนดให้อยู่ห่างจากเมืองประมาณ 1 ก.ม.ขึ้นไป แต่วัตรปฏิบัติของพระอรัญวาสี คือเกี่ยวข้องกับผู้คนในสังคมมากกว่าพระป่า ยิ่งเป็นพระอรัญวาสีในเขตเมืองใหญ่ ก็แทบจะไม่ต่างจากพระคามวาสี นอกจากอยู่ในทำเนียบสมณศักดิ์ที่ต่างกันเท่านั้น


ในด้านที่สองคือ เงื่อนไขทางสังคมที่จะทำให้คนที่มีความรู้ประเภทนี้มีบทบาทมากเป็นพิเศษ ก็คือในช่วงหรือภาวะที่คนทั่วไปเห็นว่าเป็นกลียุค บ้านเมืองวุ่นวาย อาจถึงบ้านแตกสาแหรกขาด หรือไร้ระเบียบกฎเกณฑ์จนปั่นป่วนวุ่นวาย เช่น ในช่วงแรกที่ราชวงศ์บ้านพลูหลวงแย่งอำนาจมาจากราชวงศ์ปราสาททองได้ ก็เกิดกบฏและการท้าทายอำนาจรัฐจากกลุ่มที่มีคนเหล่านี้เป็นผู้นำอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ก็มี "ก๊ก" เล็กก๊กน้อย ที่เกิดจากคนกลุ่มนี้ ไม่ใช่เพื่อกู้ชาติอย่างพวกพันธมิตรฯ นะครับ แต่เพื่อเอาตัวรอด ที่เรารู้จักดีคือก๊กเจ้าพระฝาง เป็นต้น

เมื่อ ร.5 ขยายอำนาจของส่วนกลางไปครอบงำชุมชนในชนบท ก็เกิดการต่อต้านที่มีคนเหล่านี้เป็นผู้นำทั่วไป ทั้งในภาคเหนือและอีสาน ในภาคกลางที่อยู่ใกล้อำนาจรัฐหน่อย การนำของคนเหล่านี้ออกมาในลักษณะ "อ้ายเสือ" หรือโจร ซึ่งแต่ละซ่องอาจมีผู้คนได้เป็นร้อย เคยปล้นแม้แต่กองเก็บภาษีรายหัวที่รัฐบาลส่งไปเก็บจากชาวนาในชลบุรี เมื่อรัฐบาลในต้น ร.6 ส่งคนไปปราบ "โจร" ปรากฏว่าสามารถจับ "โจร" ได้กว่า 1,000 คน 
แน่นอนครับ การต่อต้านทัดทานอำนาจรัฐที่พยายามแทรกเข้ามาในชุมชนหมู่บ้าน ภายใต้การนำของคนมีความรู้ประเภทนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะกำลังอำนาจของรัฐที่กำลังย่างเข้าสู่รัฐสมัยใหม่เข้มแข็งเกินกว่าจะต่อต้านทัดทานด้วยกำลังได้ แต่ลองคิดถึงว่าการต่อต้านนี้เกิดในรัฐจารีตของสมัยโบราณ ก็อาจล้มอำนาจรัฐลงได้ทีเดียว เช่น กบฏไตเซินในเวียดนาม หรือโจรโพกผ้าเหลืองในจีน

และด้วยเหตุดังนั้นความระแวงสงสัยหรือความไม่ไว้วางใจของรัฐที่มีต่อคนที่มีความรู้ประเภทนี้จึงสมเหตุสมผลทีเดียว


ก่อนจะพูดถึง บทบาทของความรู้ประเภทตบะในวัฒนธรรมไทย (ซึ่งคงต้องเลื่อนไปคุยในครั้งหน้า) ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า อำนาจในวัฒนธรรมเดิมของไทยนั้นมีที่มาจากสองแหล่ง
หนึ่งคือบุญบารมีหรือผมขอเรียกในที่นี้ว่าอำนาจจักรวาล เช่น กฎแห่งกรรม หรือพระเจ้าก็ตาม อาจมอบอำนาจให้แก่บุคคลได้ เช่น ท้าวแสนปม ตามตำนานก็ไม่ได้มีความรู้ทางตบะแต่อย่างไร เป็นเพียงทุคตะเข็ญใจคนหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นผู้มีบารมีถึงกษัตริย์ จึงบันดาลให้พระอินทร์ลงมาช่วยทำให้กลายเป็นกษัตริย์ในที่สุด
แหล่งที่สองมาจากการบำเพ็ญตบะ หรือฝึกฝนตนเองจนมีฤทธิ์เหนือสามัญชน และอาจนำเอาอำนาจที่ได้มานี้สร้างฐานะในทางโลกย์ได้ เช่น ขุนแผน เป็นต้น (ซึ่งตามฉบับที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน คือการจัดอันดับให้อำนาจทางตบะต้องเป็นรองอำนาจที่มาจากบุญบารมี)

บุญบารมีและความรู้ดังกล่าวนี้ตั้งเคียงคู่กัน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเล่าว่า เจ้านายสมัยก่อนบวชเพียงพรรษาเดียว และไม่ได้มุ่งเรียนพระปริยัติธรรม แต่เรียนเวทมนตร์คาถามากกว่า ในการศึกษาของ ร.5 ก็ทรงเล่าถึงการฝึกขี่ม้า, ขี่ช้าง, รำทวน, กระบี่กระบอง ฯลฯ ความรู้ทั้งหมดเหล่านี้ต้องกำกับด้วยอาคมทั้งนั้นนะครับ เช่น ขี่ช้างไม่ใช่เพียงขึ้นไปขี่และบังคับช้างด้วยขอเป็นเท่านั้น ต้องกำกับช้างด้วยเวทมนตร์คาถาบางอย่างได้ด้วย เป็นต้น 
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คืออำนาจทั้งสองนี้เสริมกันและกัน ส่วนความรู้ในทางปฏิบัติทั้งหลาย ก็เป็นความรู้ที่จะใช้ได้ผลต่อเมื่อมีความรู้อีกด้านหนึ่ง (ซึ่งผมเรียกว่าความรู้เชิงตบะ) กำกับอยู่ด้วย จึงจะใช้ได้ผล


แต่น่าประหลาดตรงที่ว่า ธรรมเนียมราชสำนักไม่ค่อยพูดถึงความเชี่ยวชาญด้านความรู้เชิงตบะนัก เช่น พระนเรศวรทรงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง ก็เป็นด้วยบุญบารมีของท่าน ไม่ใช่เพราะท่านมีคาถากำกับการยิง ถือกันว่า "ผู้ดี" ไม่ควรสักร่างกาย ทั้งๆ ที่การสักเป็นยี่ห้ออย่างหนึ่งของคนมีคาถาอาคม เมื่อกรมหลวงชุมพรฯ หันไปสนใจด้านคาถาอาคม ก็ถือว่าแปลกผิดเจ้านายทั่วไป
ผมสงสัยว่า ความรู้เชิงตบะเป็นความรู้ที่ถูกชนชั้นสูงถือว่าต่ำ เป็นความรู้ของไพร่ เพราะไม่น่าไว้วางใจอย่างที่กล่าวแล้ว แต่การแสวงหาความรู้ในสังคมไทยโบราณจะขาดด้านคาถาอาคมไม่ได้ เจ้านายจึงเรียนคาถาอาคมแต่ไม่แสดงออกหน้าเป็นอันขาดว่ามีความรู้ด้านคาถาอาคม เป็นความรู้สึกกำกวมต่อความรู้เชิงตบะ

ผิดจากชาวบ้านทั่วไป ไม่มีทางจะอธิบายอำนาจด้วยบุญบารมีเป็นอันขาด แต่อาจอธิบายได้ด้วยความรู้เชิงตบะ



.