.
มหาการแข่งขัน! ภูมิทัศน์ใหม่ 2556
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1689 หน้า 36
"วิกฤตการเงิน 2551 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา และทำให้ไม่มีอะไรเป็นเหมือนเก่าอีกต่อไป... วิกฤตการณ์นี้ ในที่สุดได้ปลุกให้คนอเมริกันตื่นมาพบกับความจริงที่ว่า จีนได้กลายเป็นนายธนาคารของพวกเขาไปแล้ว
ซึ่งเรื่องทั้งหลายเหล่านี้หมายความว่า ดุลแห่งอำนาจก็ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย"
Martin Jacques
When China Rules The World (2012)
ภูมิทัศน์ใหม่
ถ้าเราเอาข้อสังเกตของ มาร์ติน จักส์ ในข้างต้นเป็นจุดเริ่มแล้ว เราคงจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของดุลอำนาจที่เกิดขึ้นในเวทีระหว่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2551 (ค.ศ.2008)
ภาพจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันนั้น ทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อสถานะเชิงอำนาจของสหรัฐอเมริกาในเวทีโลก
อันทำให้เกิดความเชื่อในหมู่นักสังเกตการณ์มากขึ้นว่า ศูนย์กลางอำนาจของโลกจากที่มีความเป็น "ขั้วเดียว" (unipolar) ที่สหรัฐ เป็น "ผู้ครองความเป็นใหญ่" หรือที่เรียกกันว่า "hegemony" นั้น กำลังถูกท้าทายอย่างมากจากความอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับตัว
เพราะไม่ว่าจะมองโลกในทางทฤษฎีหรือทางปฏิบัติก็จะพบความจริงประการสำคัญว่า รัฐที่มีระบบเศรษฐกิจที่อ่อนแอนั้น มักจะไม่สามารถดำรงความเป็น "อำนาจแห่งจักรวรรดิ" (imperial power) ไว้ได้
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เศรษฐกิจที่แข็งแรงเป็นรากฐานสำคัญของการมีกองทัพที่เข้มแข็ง
และในประวัติศาสตร์ก็แทบไม่เคยมีมาก่อนเลยว่า เมื่อรัฐมีเศรษฐกิจที่อ่อนแอแล้ว รัฐจะยังคงดำรงอำนาจทางทหารที่เข้มแข็งของตนไว้ได้
ภายใต้สภาพของความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ภาพคู่ขนานที่เกิดขึ้นก็คือ การเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีนจนกลายเป็น "ความมหัศจรรย์" ที่กำลังบ่งบอกถึงการเปลี่ยนผ่านอย่างมีนัยสำคัญต่อการเมืองระหว่างประเทศทั้งในระดับโลกและในระดับภูมิภาค
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลจากการประเมินของบริษัทโกลแมน แซคส์ (Goldman Sachs) ในปี 2550 ที่คาดการณ์ในอนาคตว่า เศรษฐกิจของจีนจะมีขนาดเท่ากับเศรษฐกิจของสหรัฐ ในปี 2568 (ค.ศ.2025)
และในปี 2593 (ค.ศ.2050) จีนจะมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หรือมีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของเศรษฐกิจอเมริกัน
จากการคาดคะเนจากการประมาณการของบริษัทโกลแมน แซคส์เช่นนี้ ตอบได้อย่างชัดเจนว่า ศูนย์กลางของโลกในอนาคตจะย้ายจากตะวันตกไปสู่จีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และเช่นเดียวกันสิ่งที่เกิดคู่ขนานอีกประการก็คงหนีไม่พ้นบทบาทของจีนในเวทีโลกจะมีมากขึ้น และอาจจะเป็นบทบาทเชิงรุกมากขึ้นด้วย พร้อมๆ กับการขยายตัวของกองทัพจีนก็คงมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ซึ่งผลของความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ (landscape) ทั้งในบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง แก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแน่นอน
ดังนั้น บทความนี้จะทดลองนำเสนอถึงปัจจัยความเปลี่ยนแปลงของ "ภูมิทัศน์ใหม่" ในปี 2556 อันเป็นผลโดยตรงจากบทบาทและสถานะของสหรัฐ และจีน ซึ่งก็คือการบ่งบอกถึงโลกในอนาคตที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาค
และสิ่งเหล่านี้อีกด้านหนึ่งก็คือสภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ชุดใหม่ที่รัฐไทยต้องเผชิญนั่นเอง
การกลับสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ของสหรัฐอเมริกา
หลังจากการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นแล้ว มักจะมีข้อสังเกตเสมอว่า สหรัฐมีท่าทีที่ลดบทบาทของตนในเอเชียลง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว บทบาทของสหรัฐดูจะลดลงอย่างมาก
ซึ่งแน่นอนว่าการกล่าวเช่นนี้มิได้มุ่งหวังว่า สหรัฐจะต้องมีบทบาทสูงมากเช่นในยุคสงครามเวียดนาม แต่ก็เห็นได้ชัดว่า สหรัฐให้ความสำคัญกับยุโรปและตะวันออกกลางอย่างมาก หรือเป็นไปตามคำวิจารณ์ที่ว่า สำหรับสหรัฐแล้ว ศูนย์กลางของโลกยังอยู่กับยุโรปมากกว่าเอเชีย
จนกระทั่งการขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของ นายบารัค โอบามา จึงเห็นความพยายามที่จะนำพาสหรัฐกลับเข้าสู่เวทีในเอเชียให้มากขึ้น โดยเฉพาะการประกาศ "นโยบายเอเชียเอเชียตะวันออกของโอบามา" (The Obama East Asian Policy) ที่จะให้สหรัฐเป็นเสมือน "หมุดกลาง" ของเอเชีย หรือ "The Asian Pivot"
และเราอาจต้องยอมรับว่าหากเปรียบเทียบกับรัฐบาลสหรัฐชุดอื่นๆ แล้ว บางทีโอบามาดูจะเป็นรัฐบาลที่มีนโยบายต่อเอเชียมากขึ้น
รูปธรรมดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายปี 2554 จากการประกาศถึงการขยายกำลังพลนาวิกโยธินของสหรัฐในออสเตรเลียจาก 250 นายเป็น 2,500 นาย และมีภารกิจโดยตรงต่อการให้ความช่วยเหลือในการบรรเทาภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนต่อประเทศในเอเชีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และในช่วงกลางปี 2554 ยังเห็นถึงความพยายามของผู้นำสหรัฐที่จะ "เปิดประตูพม่า" ให้ได้ และความพยายามดังกล่าวสำเร็จได้จริง เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศ นางฮิลลารี คลินตัน เดินทางเข้าพบกับผู้นำทหารของพม่า และที่สำคัญก็คือการพบกับผู้นำพรรคฝ่ายค้าน นางออง ซาน ซูจี
ความสำเร็จในการเปิดประตูพม่าของผู้นำสหรัฐเช่นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองของรัฐบาลทหารพม่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยที่กำลังเกิดขึ้นในพม่าอีกด้วย
ท่าทีใหม่ของสหรัฐยังถูกตอกย้ำจากการเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงพนมเปญในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา
ซึ่งในการนี้ประธานาธิบดีสหรัฐยังได้ใช้โอกาสดังกล่าวในการแวะเยือนไทย และเดินทางต่อไปในพม่า อันทำให้โอบามาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐที่เดินทางเยือนพม่า
ภาพเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐพร้อมที่จะกลับเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง และยิ่งพิจารณาประกอบกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ (กรณีพิพาทระหว่างจีนกับเวียดนาม และระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์) ด้วยแล้ว ก็เห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า ทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์ดูจะมีท่าทีที่ต้องการให้สหรัฐกลับสู่ภูมิภาคในฐานะของการเป็นปัจจัยถ่วงดุลกับการขยายตัวของจีน
ดังนั้นในปี 2556 น่าจะเห็นบทบาทของสหรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนหนึ่งจะมาจากการขยายขีดความสามารถในการช่วยเหลือและบรรเทาภัยพิบัติที่สหรัฐอยากจะเป็นผู้นำสำหรับบทบาทด้านนี้ในภูมิภาคมากขึ้น
และนอกจากนี้ก็น่าจับตามองอย่างมากกับการเพิ่มสมาชิกของการฝึกร่วมผสมค้อบราโกลด์ว่า ในปี 2556 พม่าจะเข้ามาร่วมการฝึกดังกล่าวหรือไม่
และที่ต้องติดตามอย่างสำคัญในปี 2556 ก็คือ สหรัฐจะเปิด "เกมรุก" อย่างไรหลังจากการเยือนของประธานาธิบดีเมื่อตอนปลายปี 2555 แล้ว
การมุ่งใต้ของจีน
นักสังเกตการณ์ทุกคนดูจะมีความเห็นตรงกันว่า การเริ่มต้นของศตวรรษที่ 21 ก็คือช่วงเวลาที่บ่งบอกถึงการขึ้นสู่อำนาจของจีนในเวทีโลก และดูจะไม่มีใครปฏิเสธว่าในโลกปัจจุบัน จีนได้ก้าวสู่สถานะของความเป็น "มหาอำนาจใหญ่" ของโลกแล้ว
พร้อมกันนี้ จีนก็ได้ขยายบทบาทของตัวเองทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงในเอเชียอย่างมากด้วย
ในส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น การขยายบทบาทของจีนปรากฏใน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ ในบริเวณทะเลจีนใต้ อันเป็นพื้นที่พิพาทของการอ้างกรรมสิทธิ์ในการครอบครองเกาะสแปรตลีย์และพาราเซล ซึ่งในพื้นที่เช่นนี้เห็นถึงการขยายขีดความสามารถของกำลังรบทางทะเลของจีน
ขณะเดียวกันก็เห็นได้ว่ามีอีกพื้นที่หนึ่งที่มักจะไม่ได้รับความสนใจมากเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของทะเลจีนใต้ ก็คือพื้นที่ที่เป็นเสมือน "หลังบ้าน" ของจีนหรือเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับจังหวัดทางด้านตะวันตกเฉียงใต้
พื้นที่นี้เดิมอาจจะทำให้เราคิดถึงแต่ในกรณีของพม่า แต่ปัจจุบันพื้นที่เช่นนี้กลายเป็นการเชื่อมต่อกับส่วนภาคพื้นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กล่าวคือ เป็นการเชื่อมต่อกับทั้งพม่า ลาว เวียดนาม และไทย เข้ากับพื้นที่ภาคใต้ของจีน
ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การขยายบทบาททางเศรษฐกิจและการสร้างเครือข่ายของการเชื่อมต่อ โดยผ่านระบบขนส่งทั้งที่เป็นระบบรางและระบบถนนที่กำลังเกิดขึ้นนั้น จะทำให้เกิดการไหลบ่าของอิทธิพลจีนเข้าสู่ภูมิภาคนี้มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งการไหลบ่าของอิทธิพลและอำนาจของจีนเข้าสู่ประเทศในแถบนี้เป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนดังเช่นที่เป็นอยู่ พร้อมกับการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐนั้น จีนจึงเป็นเสมือนโลกอนาคตที่รัฐต่างๆ ในแถบนี้ต้องการเข้าไปมีความสัมพันธ์ด้วย
นอกจากนี้ การให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศจากจีนก็มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น และในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่กำลังบดบังอิทธิพลของสหรัฐมากขึ้น
ดังนั้น ภูมิทัศน์ใหม่ของปี 2556 จะเห็นการขยายบทบาทของจีนในภูมิภาคมากขึ้น และปัจจัยจีนเป็นสิ่งที่จะต้องนำมาคิดคำนวณทางการเมืองและความมั่นคงในปี 2556 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนะเก่าที่มองว่า จีนเป็นเพียง "มหาอำนาจชั้นสอง" นั้น อาจจะต้องนำมาคิดทบทวน
อีกทั้งปัจจัยจากการขยายทั้งพลังอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารในเอเชีย ทำให้สิ่งที่นักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเรียกว่า "ไพ่จีน" นั้น เป็นสิ่งที่น่าเล่นเป็นอย่างยิ่ง
มหาการแข่งขัน
สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจกลับเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ ในขณะที่จีนเองก็ตัดสินใจเปิดประตูออกสู่พื้นที่ "หลังบ้าน" ของตัวเองเช่นนี้ ทำให้การแข่งขันเชิงอิทธิพลระหว่างสหรัฐกับจีนในภูมิภาคนี้เป็นปรากฏการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
และถ้าใช้ภาษาเก่าในวงการเมืองระหว่างประเทศแล้ว ก็คงสรุปได้ง่ายๆ ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2556 จะเป็นพื้นที่ของ "มหาการแข่งขัน" หรือที่ใช้คำเก่าในภาษาอังกฤษว่า "The Great Game"
คำนี้ในอดีตมีความหมายโดยตรงถึงการแข่งขันเชิงอำนาจของรัฐมหาอำนาจในขณะนั้น คือระหว่างจักรวรรดิอังกฤษและจักรวรรดิรัสเซียในเอเชียกลาง โดยเฉพาะการแข่งขันในพื้นที่ของอัฟกานิสถานในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20
แต่ว่าที่จริงแล้ว ปรากฏการณ์ของ "มหาการแข่งขัน" เกิดขึ้นทั้งในช่วงยุคของการสร้างจักรวรรดิ ไม่แตกต่างจากยุคสงครามเย็น และจนมาถึงยุคปัจจุบัน ก็คงอธิบายสภาพของการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนในเอเชียด้วยคำว่า "มหาการแข่งขัน" ก็คงไม่ผิดอะไรนัก
และสภาพเช่นนี้เป็นความท้าทายอย่างยิ่งกับบรรดารัฐในภูมิภาค ตลอดรวมถึงอนาคตของการสร้างประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันเช่นนี้
นอกจากนี้ การแข่งขันดังกล่าวจะส่งผลโดยตรงต่อการจัดทำ "สถาปัตยกรรมด้านความมั่นคง" (security architecture) ของแต่ละประเทศอีกด้วย เนื่องจากสถาปัตยกรรมเดิมนั้นถูกออกแบบไว้ด้วยกรณีความสัมพันธ์กับสหรัฐเป็นหลัก
แต่เมื่อบทบาทของจีนขยายเพิ่มมากขึ้นแล้ว ก็อาจจะต้องนำมาเป็นข้อพิจารณาต่อไปในอนาคตว่า การออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่ทั้งของประเทศและของภูมิภาคนี้ในอนาคตจะอยู่ในรูปแบบใด!
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย