http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-30

750 ปีเชียงราย ส่งท้ายมะโรงฯ “ไม่มีพ่อขุนเม็งราย-มีแต่พระญามังราย” โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.
บทความเกี่ยวข้องก่อนหน้า - 750 ปี“พระญามังราย”หรือ“พ่อขุนเม็งราย”? โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์  
อ่านที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/08/p-750pymr.html

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

750 ปีเชียงราย ส่งท้ายมะโรง-ต้อนรับมะเส็ง “ไม่มีพ่อขุนเม็งราย-มีแต่พระญามังราย”
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์  คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1689 หน้า 76


ปีพ.ศ.1805 พระญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ทรงสร้างเมืองเชียงรายขึ้น จากนั้นขยายอาณาเขตไปยึดแคว้นหริภุญไชย (ลำพูน) สร้างเวียงกุมกาม และเชียงใหม่ ตามลำดับ
นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจึงนับว่าปี 2555 นี้ เป็นปีที่สำคัญยิ่ง เพราะครบรอบ 750 ปี แห่งการสถาปนาเมืองเชียงราย จึงได้จัดกิจกรรมทั้งด้านวิชาการ สลับกับศิลปะการแสดง กันมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ก่อนที่วาระ 750 ปี เชียงรายกำลังจะผ่านเลย ขอส่งท้ายปีมะโรง ต้อนรับปีมะเส็งด้วยประเด็นเดือด แบบยิงหมัดตรงไม่อ้อมค้อมให้เสียเวลา ว่า
"ไม่มีพ่อขุนเม็งราย-มีแต่พระญามังราย"!


"มังราย" มิใช่ "เม็งราย"

ตกผลึกนานแล้ว แต่เก็บพับอยู่บนหิ้ง 
อันที่จริงดิฉันเคยเปิดประเด็นเรื่องพระนามและความหมายของ "มังราย-เม็งราย" มาแล้วครั้งหนึ่งในคอลัมน์นี้เมื่อปี 2554 ตามหาอ่านได้ในบทความ "การเมืองเรื่องชื่อ พระญามังราย หรือพ่อขุนเม็งราย" 
กล่าวโดยย่นย่อที่สุด (เพื่อมิให้ท่านที่เคยอ่านบทความดังกล่าวมาแล้วรู้สึกรำคาญใจ) ให้แก่บางท่านที่ยังไม่เคยผ่านสายตาก็คือ

คำว่า "มังราย" เป็นคำเรียกที่ถูกต้อง เพราะเป็นคำโบราณที่ปรากฏในจารึกและตำนานทุกฉบับ แต่มาถูกเบี่ยงเบนไปเป็น "เม็งราย" ในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยเหตุผลทางการเมืองด้วยเกรงว่าชื่อนี้จะไปพ้องกับภาษาพม่า ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ชื่อ "เม็งราย" จึงปรากฏอยู่ใน "พงศาวดารโยนก" เอกสารที่เรียบเรียงขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์ฝ่ายสยามเพียงฉบับเดียว
ส่วนคำนำหน้าพระนามของกษัตริย์เมืองเหนือก็ใช้คำว่า "พระญา/พระญา/พญา" ไม่มี "พ่อขุน"

ทว่า "พ่อขุนเม็งราย" กลับเป็นคำที่ถูกย้อมเสียจนเป็นไทย บังคับให้กลายเป็น "แบบเรียน" ในวิชาประวัติศาสตร์ จนคนไทยทั้งประเทศคิดว่านั่นคือคำที่ถูกต้องแล้ว 
กระทั่งปราชญ์ผู้รู้ด้านจารึกวิทยาและเอกสารโบราณกลุ่มหนึ่ง อาทิ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ศ.ไกรศรี นิมมานเหมินท์ ศ.ดร.มณี พยอมยงค์ ดร.ฮันส์ เพนธ์ ศ.ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี อ.ทิว วิชัยขัตคะ เป็นต้น ได้ฉุกใจคิดว่าเหตุไฉนหลักฐานในจารึกทุกหลักต่างเขียนว่า "พ(ระ)ญามังราย" ยกเว้นแต่พงศาวดารโยนกเพียงฉบับเดียวที่ใช้ "เม็งราย" แต่ก็หาได้ใช้คำว่า "พ่อขุน" นำหน้าไม่

ระหว่างปี 2523-2525 จึงได้มีการชำระตรวจสอบหลักฐานด้านล้านนาคดีครั้งใหญ่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับประเด็นชื่อของ "ลานนา-ล้านนา" และ "พ่อขุนเม็งราย-พ(ระ)ญามังราย" เพื่อให้เกิดความถูกต้องในการเรียบเรียงเอกสาร เสร็จทันงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เนื่องจากวาระนั้น จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำริจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ กลางเวียงเชียงใหม่ ฉะนั้น ควรมีการทำแผ่นป้ายพระนามให้ถูกต้อง 
นักวิชาการทั้งจากสยามและฝ่ายเมืองเหนือ ต่างมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นพ้องต้องตรงกันด้วยหลักฐานฟ้องมัดชนิดดิ้นไม่หลุดและไร้ข้อโต้แย้ง (ยิ่งกว่ากรณี "ลานนา-ล้านนา") ว่า คำว่า "พระญามังราย" เห็นสมควรได้รับการนำมาใช้ให้ถูกต้องแทนที่คำว่า "พ่อขุนเม็งราย" ซึ่งใช้กันอย่างผิดๆ มานานนับแต่เริ่มมีการก่อตั้งกระทรวงศึกษาธิการแล้ว

แต่ด้วยเหตุที่ว่า ยุคกระโน้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ยังค่อนข้างจำกัดอยู่ในวงแคบ เฉพาะรายรอบรั้วมหาวิทยาลัย หรือบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น อาทิ กรมศิลปากร ราชบัณฑิตยสถาน ทำให้ไม่มีการแก้ไขป้ายชื่อวัดวาอาราม ถนนหนทาง รวมไปถึงไม่มีการสร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชนในล้านนา เห็นได้จากชื่อเฉพาะของห้างร้านเอกชน ยังคงยืนกรานใช้คำว่า "เม็งราย" อย่างกล่นเกลื่อน
พูดง่ายๆ ก็คือ ยุคนั้นไม่มี "สื่อกลาง" ที่จะช่วยทำหน้าที่ หยิกยกเอาองค์ความรู้จากปราชญ์ หรือนักประวัติศาสตร์ไปสานต่อ จึงไม่เกิดการขยายผลต่อการเปลี่ยนแปลงข้อมูลใหม่ในวงกว้าง 

สุดท้ายความนิยมใช้คำว่า "พ่อขุนเม็งราย" ก็ยังคงยืดเยื้อมาจวบยุคสมัยนี้ คิดดูเถิดว่าต่อสู้กันมาตั้งแต่ฉลอง 200 ปีรัตนโกสินทร์แล้ว จนล่วงเข้า 750 ปี เชียงราย กระบวนการสร้างองค์ความรู้เรื่องชื่อ "พระญามังราย" ยังเหมือนถูกแช่แข็ง



หยุดปลูกฝังลูกหลานให้ชิงชังพม่ากันเสียที

หลายคนตั้งคำถามว่าเดือดร้อนอะไรกันนักหนาหรือ กับชื่อ "มัง" หรือ "เม็ง" ของปฐมกษัตริย์ล้านนาเพียงพระองค์เดียว ใครอยากจะเรียกด้วยนามใดก็ปล่อยเขาไปสิ ในเมื่อคนส่วนใหญ่คุ้นชินติดปากว่า "พ่อขุนเม็งราย" มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว พวกนักวิชาการมีหน้าที่อะไรที่จะต้องเข้ามายุ่มย่าม
จริงอยู่ ที่ใครจะยังคงเรียกปฐมกษัตริย์พระองค์นี้ว่า พ่อขุนเม็งรายดุจเดิม แบบตกยุคก็ถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล หาใช่ความผิดร้ายแรง อีกทั้งไม่มีกฎหมายฉบับใดกล่าวโทษกันอยู่แล้ว

เสียงทักท้วงจากนักวิชาการที่ดังขึ้นครั้งนี้ ก็ด้วยตระหนักถึงข้อเท็จจริง และเห็นปรากฏการณ์อันบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย ได้เวลาแล้วหรือยังที่เราควรก้าวออกมาให้พ้นจากลัทธิราชาชาตินิยมอันคร่ำครึ ณ ยุคที่จอมพลสฤษดิ์ได้สถาปนาแบบเรียนไว้ โดยประเมินศักดิ์ศรีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่อยู่ชายขอบปริมณฑลสยามนั้นแสนต่ำ

ทุกครั้งที่มีการรณรงค์เรียกร้องให้ใช้คำที่ถูกต้อง ไม่ว่ากรณีของ "สาทร" แทนที่ "สาธร"/ฟ้าแดดสงยาง" แทนที่ "ฟ้าแดดสูงยาง"/หรือ "ภูเก็จ" แทนที่ "ภูเก็ต" สังเกตว่ามักจะมีคนกลุ่มหนึ่งดาหน้ากันออกมาปัดแข้งปัดขายืนกรานที่จะขออนุรักษ์คำผิดๆ นั้นไว้เสมอ เหตุก็เพียงเพื่อปกป้อง "หน้าตา" ของคนเขียนตำราดั้งเดิมไว้ไม่ให้ถูกมองว่าเคยทำงานพลาด 
เช่นเดียวกันกับกรณีนี้ ปรากฏว่ามีครูตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศหลายแห่ง ไม่เพียงแต่จักปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ให้ใช้คำว่า พ่อขุนเม็งราย เท่านั้น แต่กลับสร้างคำอธิบายชุดใหม่ที่ดูน่ากลัวเหมือนนาซีหลงยุคว่า ปฐมกษัตริย์ของล้านนาจะมีชื่อว่า "มังราย" ได้อย่างไรกัน ในเมื่อ "มัง" นั้นเป็นคำของพม่า และพม่าเป็นชาติที่รังแกไทย
ที่แท้ครูก็เอาปัญหา ความเกลียดชังพม่าส่วนตัว มายัดเยียดครอบใส่สมองเด็กนักเรียนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่

จึงต้องขอนุญาตนำคำอธิบายเรื่อง "มัง" มาฉายซ้ำ โดยยกมาจากบทความชิ้นเดิม เพื่อให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว "มัง" ของพระญามังราย ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพม่าแต่อย่างใดเลย หากเป็นความบังเอิญอย่างเหลือเชื่อ 
"...เหตุที่มีนามนำหน้าว่า "มัง" นั้น ก็เพราะการตั้งชื่อของพระองค์ ได้มีการนำตัวอักษรและสระย่อจาก นามของพระราชบิดาชื่อ "ลาวเมง" ผสมกับพระฤๅษี "ปัทมังกร" (ได้คำว่า "มัง") บวกกับนามพระราชอัยกา (ตา) กษัตริย์แห่งเชียงรุ่งนามว่า "ท้าวรุ่งแก่นชาย" (ได้ตัว "ร") ในขณะที่พระราชมารดามีนามว่า "นางเทพคำขร่าย" (คำขยาย) (ได้สระอา + ย) โดยตัดเอาพยัญชนะ+สระย่อของแต่ละคนมารวมกันใหม่ ได้ "ม/ัง/ร/าย" หรือมีพระนามแบบเต็มยศว่า "มังคลนารายณ์" แปลว่า พระนารายณ์ผู้เป็นมงคล"


ประเด็นที่อยากชี้ให้เห็นก็คือ หากการเรียก เม็งราย เกิดจากความเคยชิน หรือความสับสน ก็ยังพอให้อภัยได้ คือเข้าใจว่าคนยุคก่อนต่างก็ถูกปลูกฝังด้วยชุดความรู้ "พ่อขุนเม็งราย" แบบผิดๆ มาตลอด 
แต่ทว่า พ.ศ. นี้ อายุของเมืองเชียงรายครบ 750 ปีแล้ว ข้อมูลวิชาการด้านล้านนาคดีได้ถูกบันทึกไว้ในโลกออนไลน์มากเกินคณานับ หากครูเหล่านั้นสงสัยว่าคำไหนถูก แค่กดเพียงคลิกเดียว ขี้คร้านไฟล์คำอธิบายก็จะโผล่ขึ้นมาพึ่บพั่บ 
แต่นี่กลับสร้างชุดความรู้เชิงเผด็จการ "ล้าหลังคลั่งชาติ" ไว้ในหัวสมองเด็ก ไม่ว่า "มังราย" จะถูกหรือผิด ก็ห้ามเรียกเด็ดขาด เพราะมันเป็นคำภาษา "พม่า" หากการกล่าวผิด "โดยสุจริตใจ" ยังพออภัยได้ แต่นี่เป็นความอคติโดย "สติวิปลาส" ไปเสียแล้ว 
สะท้อนถึงจิตใจคับแคบ มุ่งรังเกียจเดียดฉันท์เพื่อนบ้าน ชาติพันธุ์พม่า ยังคงมองเห็นว่าพวกเขาเป็นผีสาง เป็นศัตรู จนขึ้นสมองอยู่อีกหรือนี่ อนาถแท้ๆ จะเปิดพรมแดนเป็นประชาคมเดียวกันวันนี้วันพรุ่งอยู่รอมร่อ

พึงสังวรไว้เถิดว่า ทัศนคติด้านลบต่อชาวอุษาคเนย์ด้วยกันทุกวันนี้ แท้จริงคือบาดแผลที่ได้มาจากบทเรียนวิชาประวัติศาสตร์ด้วยลัทธิชาตินิยมที่ถูกบิดเบือน 
โดยลืมคิดไปว่า ไม่มีใครเลยที่จักมีเผ่าพันธุ์บริสุทธิ์ ยิ่งประชากรในล้านนาปัจจุบัน กว่า 70-80 % นั้น ในอดีตบรรพบุรุษของแต่ละชนเผ่าล้วนอพยพถ่ายเทไปมาจากแผ่นดินพม่าทั้งสิ้น ไม่ว่าไทลื้อ ไทยอง ไทขึน ไทใหญ่ กะเหรี่ยง มูเซอร์ ฯลฯ


เห็นใจอยู่ก็แต่นักขับเคลื่อนด้านวัฒนธรรมในเชียงรายบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มสถาบันยวนศึกษา (คำว่า "ยวน" มาจาก "โยนก" ก็ไม่เห็นจะต้องกลัวว่าไปพ้องกับคำว่า "ญวน" อันหมายถึงเวียดนามแต่อย่างใดเลย) ที่ต่อสู้เคลื่อนไหวเรื่องนี้มานานกว่า 5 ปีแล้ว ผ่านไป 5-6 ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ยังไม่เป็นมรรคเป็นผล
สะพาน ถนน หอนาฬิกา โรงเรียน โรงพยาบาล อนุสาวรีย์ ร้านค้า เอกสาร ตำราเรียน ยังคงปักป้าย "พ่อขุนเม็งราย" ไว้เด่นหราไม่มีวี่แววว่าจะปรับเปลี่ยน

นอกจากจะไม่แก้ไข "พ่อขุนเม็งราย" ให้เป็น "พ(ระ)ญามังราย" แล้ว แถมยังเกิดขบวนการเบี่ยงเบนปลุกระดมให้รังเกียจคำว่า "มัง" เพราะเป็นภาษาพม่าเข้าไปอีก

สงครามคือขัตติยะมานะของกษัตริย์ แต่ประชาชนคือเพื่อนบ้าน

จึงขอตบท้ายด้วยประโยคที่ว่า "เพียงหงสารบกับอยุธยา ส่วนไทยรบพม่านั้นไม่มี" สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมน์ข้างเคียงเคยกล่าวไว้



.