http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-15

อะไรกัน? โดย คำ ผกา

.
อะไรกัน?
โดย คำ ผกา  http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1687 หน้า 89
( ภาพประกอบและดาวน์โหลดที่ http://thaienews.blogspot.com/2012/01/vs_24.html )


"นี่คือบ้านเมือง, สังคมแบบไหนกัน?"
ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ฉันนั่งถามตัวเองด้วยคำถามนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า


บ้านเมืองแบบไหนกันที่เพียงแค่เขียนถึงอุบัติเหตุจากการชงกาแฟในวันพ่อแล้วถูกตีความใส่ไคล้ ใส่ความหมายเลยเถิด เกือบจะกลายเป็นความคลุ้มคลั่งโกรธเกรี้ยวขาดสติ

บ้านเมืองแบบไหนกันที่ดาราคนหนึ่งโพสต์รูปพ่อเนื่องในวันพ่อแล้วถูกรุมประณามว่าบังอาจโพสต์รูปพ่อทำไม? ทั้งๆ ที่วันพ่อและวันแม่ เราถูกคาดหวังให้รำลึกถึงบุญคุณพ่อและแม่ เอาดอกมะลิไปไหว้แม่ ไปกราบพ่อหรืออะไรอื่นๆ ตามที่ "ทางการ" กำหนด "ประเพณี" (ใหม่) นี้ให้แก่เรา อันนักสังคมวิทยาอาจเรียกว่าเป็นพิธีกรรมของรัฐสมัยใหม่ (ยุคเริ่มต้น ต่อมาภายหลังถูกนำไปประยุกต์ใช้กับรัฐเผด็จการ) ที่มักอุปมาหน่วยของรัฐว่าเปรียบเสมือนครอบครัวขนาดใหญ่

บ้านเมืองแบบไหนกันที่การแต่งกลอนอาเศียรวาทต้องมานั่งชี้แจงแปลร้อยกรองเป็นร้อยแก้ว ประหนึ่งว่าคนในบ้านนี้เมืองนี้กำซาบรสกวีกันไม่เป็น ต้องการเพียงความชัดกระจะกระจ่าง คำตอบที่ถูกต้องมีเพียงคำตอบเดียว ไม่มีพื้นที่สำหรับจินตนาการ คำถาม ปราศจากซึ่งสุนทรีย์ของชีวิต ไม่เห็นความงามในความกำกวม ไม่เห็นพลังของบทกวีที่ไม่ได้อยู่ที่ตัวอักษร แต่อยู่ที่ช่องว่างระหว่างวรรคตอนอันจะส่งผลสะเทือนทางนามธรรมต่ออารมณ์ความรู้สึก

แต่...เปล่าเลย บ้านนี้เมืองนี้ ถ้าสวยก็ต้องบอกว่า สอ วอ ยอ อ่านว่า สวย - ชัดๆ อย่างนี้ เข้าใจไหม ไม่ต้องมีความเปรียบ ไม่ต้องกล่าวอ้อม ไม่ต้องกล่าวอ้าง ไม่ต้องทิ้งให้คิด ถ้า คิดถึงก็ต้องบอกว่า "คิด - ถึง" ไม่ต้องมานั่งอ้างดวงดาว ท้องฟ้า หมู่เมฆ หรืออะไรทั้งนั้น มากที่สุดให้ใช้แต่อุปมาอุปไมยซ้ำๆ ที่คนรู้กันอยู่แล้ว อย่าได้หาญคิดอุปมาอุปไมยใหม่ มันยากไป มันพร่าเลือนเกินไป ไม่ชอบ

อือม...ช่างเป็นบ้านเมืองที่ " เถื่อน " เหลือเกิน

อันที่จริง ฉันน่าจะคุ้นชินกับบ้านเมืองนี้ในฐานะที่มันถูกสร้างมาให้เป็นแบบนี้ 

นับตั้งแต่ได้เริ่มเรียกตัวเองว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกของสังคมสมัยใหม่ ในกระบวนการสร้างความเป็นสมัยใหม่ให้กับรัฐที่อยากจะรักษาจิตวิญญาณที่อยู่ตรงกันข้ามกับความเป็นสมัยใหม่เอาไว้นั้น ความรู้ ข้อมูล ข่าวสารที่น่าจะเป็นสิ่งสามัญถูกทำให้กลายเป็น "เชื้อโรค" 
และบุคคลที่สนใจเผยแพร่ความรู้เหล่านั้น (ทั้งเผยแพร่เพราะเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย) ถูกทำให้กลายเป็น "พาหะนำโรค" (โปรดดูชีวิตของคนอย่าง เทียนวรรณ, กศร.กุหลาบ, จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ) 

ในยุคนั้น คำว่า ปาเลียเมนต์, คอนสติติวชั่น, รีปับบลิก และอีกหลายคำเกี่ยวกับการเมือง อุดมการณ์ อันเป็นกระแสธารของโลกทั้งใบ ถูกทำให้กลายเป็นของต้องห้าม เป็นยาพิษ ถูกนำมาอธิบายใหม่ในฐานะ "ภัยคุกคาม" แม้แต่ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทยยังกลายเป็นหนังสือต้องห้ามอย่างร้ายแรง 
ขณะที่ประเทศในเอเชียที่ไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก (และไทยก็อ้างเช่นนั้น) อย่างญี่ปุ่น ระดมแปลสรรพศาสตร์ทั้งปรัชญา เศรษฐศาสตร์ การเมือง ภาษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ของโลกตะวันตกอย่างหิวกระหาย ด้วยอยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้มหาอำนาจตะวันตกเกือบจะครอบครองโลกทั้งใบด้วยแสนยานุภาพที่ไม่มีใครจะแข่งขันได้

สยามของเราทำได้แค่ช็อปปิ้ง "ความรู้สำเร็จรูป" ในรูปของสินค้าเพื่อการบริโภคอันมีจุดมุ่งหมายในการสำแดงความศิวิไลซ์ทัดเทียมกันกับนานาอารยประเทศ เช่น ถ้วย ชาม มีด ส้อม แก้วไวน์ คริสตัล แชนเดอเลีย รถยนต์ กล้องถ่ายรูป ฯลฯ (โปรดดูบ้านของคุณยศและพฤติกรรมของคุณยศในนวนิยายเรื่องมาลัยสามชาย ของ ว.วินิจฉัยกุล เป็นตัวอย่าง)
และนั่นเป็นมรดกตกทอดมายังพวกเราทุกคนมาจนถึงทุกวันนี้ ที่เราใช้อำนาจในการครอบครอง "วัตถุ" แห่งการบริโภคเพื่อสำแดงความก้าวหน้าเท่าทันโลก โดยไม่จำเป็นต้องสมาทานคุณค่าใดๆ ที่สมาชิกของสังคมสมัยใหม่พึงยึดถือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือ ประชาธิปไตย

เราสามารถใช้สมาร์ทโฟนรุ่นที่สมาร์ทที่สุดทำในสิ่งที่ stupid ที่สุด ridiculous ที่สุด ล้าหลังที่สุด ป่าเถื่อนที่สุด อวิชชาที่สุด - ได้อย่างไม่รู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติ 
(ใครอยากเห็นตัวอย่างโปรดติดตามทวิตเตอร์ที่ตอบโต้ คุณประวิตร โรจนพฤกษ์ หรือ คุณหนูหริ่ง)



การสถาปนาคุณค่าใหม่สำหรับสังคมสมัยใหม่ที่เป็นสากลปราศจากข้อยกเว้น เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในการปฏิวัติสยาม 2475 ไม่มีหลักการใดจะสำคัญเท่ากับการหลอมจิตสำนึกใหม่ว่าในฐานะพลเมืองแห่งรัฐ ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันทุกประการ มนุษย์ทุกคนสามารถยืนอยู่อย่างเสมอกันและสบตากันอย่างภาคภูมิในตนเองในการสนทนาวิสาสะ ความพยายามที่จะสถาปนารัฐธรรมนูญให้เป็น "แก่นสาร" ของชาติ การนิยามความหมายของคำว่า "ชาติ" ใหม่ 
สิ่งที่สำคัญมากคือกระบวนการเปลี่ยน "ไพร่" ให้เป็น "พลเมือง"

สำคัญอย่างไร ลองนึกภาพของไพร่ไทยที่เชื่อมาตลอดชีวิตว่าตนถูกลิขิตมาให้มีความเป็นมนุษย์อย่างจำกัด มีสิทธิที่จะอยู่ จะกิน จะเข้าถึงทรัพยากรเท่าที่ถูก "ลิขิต" มาเท่านั้น ไพร่ไม่มีอาจเอื้อมจินตนาการว่าตนเองจะสวมกางเกง สวมรองเท้า สวมเสื้อแขนยาว 
ลูกไพร่ไม่จินตนากรถึงการไปโรงเรียน อย่าว่าแต่จะไปครอบครองสิ่งของอย่างรถยนต์ กล้องถ่ายรูป 
ไพร่ไม่เคยคิดว่าตนเองจะใช้ภาษาเดียวกันกับที่ "นาย" ใช้ คำว่า "เหาจะกินหัว" หรือ "กำเริบเสิบสาน" จึงเป็นคำขวัญประจำต้นตระกูลไพร่ไทยมาก่อนที่ 2475 จะพยายามกวาดสิ่งเหล่านี้ออกไปและปลุกวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ของไพร่ขึ้นมา

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สร้างมาตรฐานของภาษา ฉัน-เธอ กระผม, ดิฉัน และมาตรฐานมารยาทที่หมายถึงความสุภาพเรียบร้อยสำหรับ "พลเมืองไทย" ใช้เหมือนกันทุกคนไม่สนใจว่าใครเป็นไพร่หรือนาย เพราะมันจะไม่มีอีกต่อไปแล้ว 
นอกจากนั้นยังมีกระบวนการเปลี่ยน "ร่างกาย" ของพลเมืองให้ศิวิไลซ์ ด้วยการกำหนดมารยาทของการทักทาย การรับประทานอาหาร การเข้าสังคม สุขอนามัย ห้ามการขากถุย ตรวจจับคนที่นั่งชันเข่ากินข้าวตามร้านอาหาร
ออกรัฐนิยมว่าด้วยการแต่งกาย ที่ไม่ได้วัดกันที่ความหรูหรา ร่ำรวย หรือยากดีมีจน แต่พลเมืองไทยทุกคนพึงแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยอย่างอารยะ ถูกต้องตามกาละเทศะอย่างสากล 
มีนโยบายให้คนไทยออกมาพักผ่อนหย่อนอารมณ์ เพราะการพักผ่อน การท่องเที่ยวไม่ได้เป็นเรื่องของชนชั้นสูงเท่านั้น

( ภายหลังจอมพล ป. ถูกโจมตีจากฝ่าย "ล้มประชาธิปไตย" ว่าเป็นเผด็จการ ออกรัฐนิยมบ้าๆ บอๆ ทำลายความหลากหลายของวัฒนธรรมพื้นบ้าน สร้างมาตรฐานความเป็นไทยมาครอบงำวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งออกจะเป็นการโจมตีที่ผิดฝาผิดตัวอย่างมาก เพราะสำนึกของชาติ และท้องถิ่นนั้นเป็นสำนึกที่เกิดขึ้นภายหลังการสร้างชาติ หาได้เกิดขึ้นในขณะที่ จอมพล ป. สร้างชาติก็หาไม่ )


ลองจินตนาการดูว่าหากรัฐนิยมของ จอมพล ป. สัมฤทธิผลเป็นอย่างดี จะไม่มี (หรือมีก็น้อย) สำนึกของการเหยียดหยามคนว่า สะเหร่อ, บ้านนอก, เสี่ยว, ลาว ฯลฯ เพราะอย่างน้อยคนไทยจะมีมาตรฐานของการแต่งกาย มารยาทที่ไม่มีใครจะลุกขึ้นมาเหยียดใครได้

แต่น่าเสียดายที่คุณค่าของ 2475 ถูกทำลายลงไปเสียสิ้นหลังจากอยู่มาได้เพียงสิบกว่าปี ไพร่ไทยจึงไม่ได้ขึ้นมาเป็นพลเมือง แต่ถูกผลักให้ไปจำนนต่อความเชื่อที่ว่า เสื้อผ้า มารยาท ผิวพรรณ หน้าตา ภาษา สติปัญญา นั้น เป็นสมบัติที่ติดตัวมาจากชาติกำเนิด ผูกพันกับบุญและกรรมที่ทำมาแต่ชาติปางก่อน โอกาสทางการศึกษา การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย สร้างแต่ความเหลื่อมล้ำให้กับพลเมืองไทย ผนวกกับพลังทางอุดมการณ์ ได้นำโครงสร้างทางสังคมแบบก่อน 2475 กลับมาอีกครั้งหนึ่ง 

เศษเสี้ยวของความมั่งคั่งของชนชั้นนำได้ถูกเผื่อแผ่ไปยังชนชั้นกลางบ้างแบบกระเส็นกระสาย เพราะชนชั้นนำเรียนรู้ว่าหากไม่แบ่งผลประโยชน์ออกไปบ้าง สถานะของประชาธิปไตยจอมปลอมที่พวกเขาหล่อเลี้ยงเอาไว้อาจพังครืนขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ 
ชนชั้นกลางมีการศึกษาของไทยจำนวนหนึ่งจึงมีสภาพและจิตสำนึกเหมือน "ข้าเก่าเต่าเลี้ยง" หรือ เหล่าคนใช้ คนขับรถ บ้านคุณหญิง น นั่น นี่ ในละครหลังข่าว 
นั่นคือมิได้สำเหนียกในความเป็นมนุษย์ของตนเอง แต่ภาคภูมิใจที่ได้เกิดมารับใช้ "นายดีๆ" การได้รับใช้อย่างซื่อสัตย์ ถวายชีวิตแก่ "นาย" คือความภาคภูมิใจที่ต้องจารึกไว้ในหนังสืองานศพบอกต่อๆ กันไปชั่วลูกชั่วหลาน

สำนึกแบบตัวละครคนรับใช้ในละครหลังข่าวของไทย (ที่ไม่มีใครสงสัยว่าทำไมจึงเป็นตัวละครที่ขาดเสียไม่ได้ และสำคัญเอามากๆ ในละครไทย) คือสำนึกใน "เมตตา" ของนาย และ "ตัวตน", "ชีวิต", "แก่นสาร" ของพวกเขาถูกนิยามผ่าน "ความเมตตา" ของนายเท่านั้น 
คนรับใช้เหล่านี้อาจจะ "นินทา" นาย อาจจะมีการเลือกข้างถือหางลูกคนนั้นคนนี้ของนาย รักนายแต่ละคนไม่เท่ากัน พร้อมจะกวดขันตรวจสอบคุณสมบัติของสะใภ้ที่จะเข้ามาอยู่ในบ้าน


(ย้อนแย้งมากกว่านั้นเวลาที่คนรับใช้เหล่านี้วิจารณ์หรือวัดคุณค่าของตัวละครอื่นๆ มักจะวัดกันที่ "ดูเป็นผู้ดิบผู้ดีไปทั้งตัว", "ผิวพรรณดูมีชาติมีตระกูล" - พวกเขาสามารถพูดได้โดยไม่สะท้อนถึงกำพืดของตนราวกับมันเป็นสิ่งแสนสามัญที่ความเป็นมนุษย์ของพวกเขานั้นไม่อาจเทียบเคียงได้กับมนุษย์เผ่าพันธุ์ของผู้เป็น "นาย")



เกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองนี้ สังคมนี้ ?

คำถามหลังจากดราม่าฟูมฟายตั้งแต่กาแฟไปจนเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ อีกมาก

ไล่เรียงดูความเป็นมาของสังคมนี้ก็พบคำตอบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยติดละครหลังข่าวมากเกินไป

ทั้งไม่สามารถให้ความหมายตนเองให้มีศักดิ์ศรีสมกับความเป็นมนุษย์ที่มีอิสระพอจะซื้อสมาร์ทโฟนได้ทุกรุ่น



.