http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-02

ตอบข้อวิจารณ์ของ ‘สมณะโพธิรักษ์’ โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

.

ตอบข้อวิจารณ์ของ ‘สมณะโพธิรักษ์’
โดย  สุรพศ ทวีศักดิ์
ใน www.prachatai.com/journal/2012/11/43943 . . Fri, 2012-11-30 00:13 มีความคิดเห็นมากมายท้ายบท
( ภาพ: “คนดี” ที่ตรวจสอบไม่ได้ อันตรายกว่า“คนเลว”ที่ตรวจสอบได้ )


สุรพศ ทวีศักดิ์

ตามที่ท่านสมณะโพธิรักษ์นำบทความของผม ชื่อ “สันติอโศก ณ ตำแหน่งพุทธศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ บนเส้นทางศาสนากับ ปชต.” (http://www.prachatai.com/journal/2012/11/43884) ไปวิจารณ์ในรายการ “สงครามสังคมธรรมะการเมือง ตอนวิพากษ์สันติอโศก บนเส้นทางศาสนากับ ปชต.” ทาง fmtv เมื่อ 27 พ.ย.55 ที่ผ่านมา (http://www.youtube.com/watch?v=xT8oWTdkcJY)
นับเป็นเรื่องดีที่ชาวสันติอโศก “แฟร์” กับการนำความเห็นต่างไปเผยแพร่ในชุมชนของตนเองโดยไม่ตัดทอน และวิจารณ์ด้วยเหตุผลอย่างตรงไปตรงมา ผมเห็นว่าข้อวิจารณ์ของท่านสมณะโพธิรักษ์ มี “บางประเด็น” ที่ควรนำมาแลกเปลี่ยนเพื่อให้ท่านผู้อ่านนำไปช่วยกันคิดต่อ


1) ปัญหาเรื่อง “ความเสมอภาค” (Equality) ท่านสมณะโพธิรักษ์ ยกข้อความในบทความมาว่า
ในขณะเดียวกันบุคคลทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพระ เป็นผู้ทรงศีลธรรมใดๆ เมื่อออกมายืนอยู่ใน “พื้นที่ทางการเมือง” ทุกคนคือ “คนเหมือนกัน” ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์ทางศีลธรรมที่คนอื่นๆ จะต้องเชื่อฟังหรือยำเกรงเป็นพิเศษ พระไม่ใช่เป็นเพียงผู้สอนอยู่ฝ่ายเดียว แต่ต้องยอมรับการถูกเถียง ถูกด่า ถูกประณามได้ด้วย...
แล้วท่านก็วิจารณ์ว่า “เสมอภาคแบบนี้ไม่ถูกต้อง เพราะไปคิดว่าทุกคนเท่ากันหมด มีเงินเท่ากัน มีบ้านหลังใหญ่เท่ากัน มีความเป็นอยู่เหมือนกันหมด ต้องบังคับให้อะไรๆ เท่ากันหมด ก้อนกรวดต้องเท่ากัน บังคับให้ต้นไม้ต้องสูงเตี้ยเท่ากัน จะไปบังคับให้เป็นอย่างนั้นคงไม่ได้”

แสดงว่าท่านสมณะโพธิรักษ์ไม่เข้าใจประโยคว่า “ทุกคนคือคนเหมือนกัน
ประโยคนี้ (และข้อความทั้งหมดนั้น) ไม่ได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงว่า คนเรานั้นมีสูง ต่ำ ดำ ขาว เพศ ศาสนา ภาษา ฐานะทางเศรษฐกิจ สถานภาพพ่อ แม่ ลูก ฯลฯ ต่างกัน แต่คือการยืนยันว่า แม้คนจะต่างกันในด้านคุณสมบัติต่างๆ ดังกล่าว แต่ “ทุกคนมีความเป็นคนเหมือนกัน” ฉะนั้น จึงไม่มีใครควรมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นโดยการอ้างสถานะต่างๆ เช่น ความเป็นพระ ความเป็นผู้ทรงศีลธรรม ชาติกำเนิด เป็นต้น

เช่น ตอนนี้ผมเถียงท่านสมณะโพธิรักษ์ ผมเถียงในฐานะ “คนเหมือนกัน” หรือในฐานะเรามีความเป็นคนเท่ากัน แม้สถานะทางสังคมเราจะต่างกัน ผมเจอท่านสมณะโพธิรักษ์ ผมก็ยกมือไหว้ นับถือสถานภาพความเป็นพระของท่าน แต่ผมไม่เอาสถานะความเป็นพระของท่านมาเป็นอุปสรรคที่ผมจะเถียงกับท่านด้วยเหตุผลอย่างตรงไปตรงมาและอย่างถึงที่สุด และท่านเองก็ไม่มีอภิสิทธิ์อ้างสถานะของพระมาห้ามไม่ให้ผมเถียง หรือต้องเชื่อท่านเป็นต้น นี่คือความหมายของ “ความเสมอภาค” คือความหมายของความเสมอภาคในเสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expressions) ซึ่งในกรณีนี้คือการแสดงความคิดเห็น และแน่นอนว่า ในพื้นที่ทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตยทุกคนย่อมมีความเสมอภาคในเสรีภาพในการแสดงออก
อธิบายเพิ่มอีก ที่ว่าเราต่างเป็น “คนเหมือนกัน” นั้น หมายความว่า “ความเป็นคน” คือ “คุณสมบัติสากล” ที่เราแต่ละคนมีเหมือนกัน แม้ว่าเราจะมีเพศ ผิว สถานภาพทางสังคม ฯลฯ ต่างกัน ความเป็นคนที่เป็นคุณสมบัติสากลที่เรามีเหมือนกันนี้อาจมองต่างกันไป เช่น นักปรัชญาบางคนมองว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล” หมายความว่า เหตุผลคือคุณสมบัติสากลที่มนุษย์มีร่วมกัน หรือบางคนบอกว่า คุณสมบัติสากลของมนุษย์คือ “เสรีภาพ” บางคนบอกว่า มนุษย์มีศักดิ์ศรีในตัวเองเสมอกัน เป็นต้น ถ้ามองในแง่พุทธศาสนา ความเป็นคนที่เรามีเสมอกันคือ “โพธิปัญญา” (ปัญญาตรัสรู้ ศักยภาพที่จะรู้สัจธรรม) หรือมหายานเรียกว่า “พุทธภาวะ” สิ่งนี้คือคุณค่าภายใน (intrinsic value) ที่มนุษย์มีร่วมกัน ไม่ว่าเขาจะมีคุณสมบัติภายนอกต่างกันอย่างไร
แต่ไม่ว่าเราจะอ้างอะไรว่าเป็นคุณสมบัติสากลที่ทำให้เรามีความเป็นคนเหมือนกันก็ตาม ความเป็นคนเหมือนกันนั้น คือรากฐานของการกำหนดกติกาทางสังคมการเมืองเพื่อรับรองความเสมอภาคในด้านต่างๆ ของเรา เช่น ความเสมอภาคในเสรีภาพการแสดงออก การนับถือศาสนา การเข้าถึงบริการสาธารณะ การมีส่วนร่วมทางการเมือง ฯลฯ

ทว่าคำอธิบายของสมณะโพธิรักษ์ที่ว่า “ถ้าเป็นอภิสิทธ์หรืออำนาจที่ใครสร้างขึ้นมาเอง หรือตั้งตนเองให้มีอภิสิทธิ์มีอำนาจขึ้นมาแล้วไปบังคับคนอื่นๆ อย่างนี้ไม่ใช่ความเสมอภาค แต่ถ้าเป็นอภิสิทธิ์หรืออำนาจที่คนอื่นเขายกให้ เพราะคนนั้นทำความดีด้วยกาย วาจา ใจ มีความชอบธรรม ก็เป็นความเสมอภาค” ทัศนะเช่นนี้มีปัญหา เพราะถ้าในระบบสังคมการเมืองใดๆ ยกให้คนบางคนบางกลุ่มมี “อภิสิทธิ์” เหนือคนอื่นๆ แล้วจะเรียกว่ามีความเสมอภาคได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นอภิสิทธิ์ในความหมายใดๆ เช่น อภิสิทธิ์เหนือการตรวจสอบของสถาบันกษัตริย์ แม้จะอ้างว่า ทรงทศพิธราชธรรม หรือราษฎรยกให้ (ตามทฤษฎีอเนกนิกรสโมสรสมมติ) ก็ย่อมหมายถึง “ความไม่เสมอภาค” หรือไม่เท่าเทียมนั่นเอง 
พูดอีกอย่างว่า ถ้าสังคมใดมีการกำหนดกติกาให้คนๆ หนึ่ง หรือกลุ่มหนึ่งมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นๆ สังคมนั้นจะชื่อว่ามี “ความเสมอภาค” ตามหลักการประชาธิปไตยได้อย่างไร เพราะความเสมอภาคตามหลักการประชาธิปไตยย่อมหมายถึง ความเสมอภาคที่เป็นหลักการสากลที่ใช้ (apply) กับ “ทุกคน”

ในแง่พุทธศาสนา พุทธะเองก็ไม่ได้อ้างสถานะผู้ตรัสรู้ หรือสถานะศาสดาผู้ก่อตั้งสังฆะเพื่อให้ท่านเองมีอภิสิทธิ์เหนือการตรวจสอบของสังฆะ ไม่มีวิสัยสงฆ์ข้อไหนห้ามวิจารณ์ตรวจสอบพุทธะ อีกทั้งพุทธะยังขอให้สังฆะและชาวพุทธวิจารณ์ตรวจสอบท่านได้ด้วย ในสมัยพุทธกาลมีคนด่า กระทั่งลอบทำร้ายพุทธะ แต่ท่านกลับใช้เมตตาธรรม ไม่เคยบัญญัติวินัยสงฆ์ หรือให้รัฐออกกฎหมายเพื่อให้ท่านมีอภิสิทธิ์จากการด่า หรือการวิจารณ์ตรวจสอบของคนอื่นๆ
ทศพิธราชธรรมก็ไม่ใช่คุณธรรมสนับสนุนให้กษัตริย์มีอภิสิทธิ์อยู่เหนือการวิจารณ์ตรวจสอบ พุทธศาสนาสอนทศพิธราชธรรมเพื่อเป็นมาตรฐานตรวจสอบ “ความชอบธรรม” ของผู้ปกครองไม่ใช่หรือ? ถ้าท่านสมณะโพธิรักษ์ยืนยันหลักการพุทธศาสนาในการต่อสู้ทางการเมือง ท่านควรยืนยันทศพิธราชธรรมในการวิจารณ์ตรวจสอบความชอบธรรมของผู้ปกครองไม่ใช่หรือ?


2) ปัญหาเรื่อง “เสรีภาพ” (freedom) ท่านสมณะโพธิรักษ์กล่าวว่า “พระมหากษัตริย์ทรงทศพิธราชธรรม ทำความดีมากมาย ประชาชนเขาก็รู้ก็เห็น เขาก็มีเสรีภาพที่ยกให้สถาบันกษัตริย์มีอภิสิทธิ์” นี่แสดงว่าท่านไม่รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า อภิสิทธิ์ที่เพิ่มมากขึ้นของสถาบันกษัตริย์นั้น เป็นผลจากการต่อสู้ระหว่างฝ่ายกษัตริย์นิยมกับฝ่ายประชาธิปไตย โดยฝ่ายประชาธิปไตยพ่ายแพ้ตั้งแต่ทศวรรษ 2490 ปรีดี พนมยงค์ถูกใส่ร้ายเรื่องปลงพระชนม์ ร.8  มีแพะที่ถูกประหารชีวิตฟรี 3 คน จนต่อมาถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร จากนั้นการยกย่องเชิดชูสถาบันกษัตริย์ การประชาสัมพันธ์ด้านเดียวเกี่ยวกับคุณวิเศษของสถาบันกษัตริย์ก็ทำกันอย่างจริงจังมากขึ้น มีการเพิ่มโทษมาตรา 112 จากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำคุกสูงสุด 3 ปี ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ เป็นจำคุกตั้งแต่ 3-7 ปี และหลังรัฐประหาร 6 ตุลา ก็เพิ่มเป็น 3-15 ปี

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายประชาธิปไตยต่างประสบชะตากรรมที่น่าเศร้า เช่น ปรีดีต้องไปตายต่างประเทศ ส.ส.อีสานหลายคนที่สนับสนุนคณะราษฎรถูกยิงเป้า ปัญญาชนหลายคน เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ นายผี หรืออัศนีย์ พลจันทร์ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นต้น ไม่ไปตายต่างประเทศก็ถูกฆ่าในป่า ยังนักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยุค 14 ตุลา 6 ตุลา นักศึกษาประชาชนยุคพฤษภา 35 จนมาถึงพฤษภา 53 ที่ต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตย ล้วนแต่ถูกปราบปรามเข่นฆ่าตายด้วยข้อหาไม่จงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือข้อหา “ขบวนการล้มเจ้า” ทั้งสิ้น 
ถามว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ “ประชาชน” หรือครับ หากใช่ก็หมายความว่า คนเหล่านี้คือผู้ที่ไม่ยอมยกให้ใครมีอภิสิทธิ์ พวกเขาจึงต่อสู้ยืนยันหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค หรือความเป็นประชาธิปไตย แต่ทำไมจึงฆ่าพวกเขา? 


ความจริงแล้วที่ท่านสมณะโพธิรักษ์ว่า “ประชาชนเขาก็มีเสรีภาพที่ยกให้สถาบันกษัตริย์มีอภิสิทธิ์” พูดอย่างนี้ก็ขัดแย้งในตัวเองอีก เพราะการยกให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งมีอภิสิทธิ์เหนือการตรวจสอบนั้น  เท่ากับไม่มี “เสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตย” เพราะเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตยหมายถึงเสรีภาพที่ใช้อย่างสากล คือใช้กับ “ทุกคน” เช่น เสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบ หมายถึงเสรีภาพที่ใช้วิจารณ์ตรวจสอบทุกคนที่มีบทบาทสาธารณะ แต่ในสังคมไทยเรามีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบบุคคลสาธารณะตั้งแต่ระดับรัฐบาลลงมา ไม่มีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ ก็แสดงว่าเราไม่เคยมี “เสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตย” อยู่จริง เพราะเสรีภาพที่เรามีไม่สามารถใช้อย่างสากลหรือใช้กับทุกคนที่มีบทบาทสาธารณะได้จริง


3) บทบาทการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ผิดพลาด เพราะความไม่เข้าใจหลักความเสมอภาค และหลักเสรีภาพอันเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยดังกล่าว สมณะโพธิรักษ์และชาวสันติอโศก จึงวางบทบาทของกลุ่มตนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยผิดพลาด แทนที่จะต่อสู้เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ตุลาการให้อยู่ภายใต้หลักความเสมอภาค เสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยอย่างอารยประเทศ กลับสนับสนุนการอ้างสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ที่กล่าวหาว่านักการเมืองเลว ทุจริตคอร์รัปชัน ถามว่ารู้ได้อย่างไรว่านักการเมืองเลว ทุจริตคอร์รัปชัน เพราะระบบกฎหมายเปิดให้เรามีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบได้ใช่หรือไม่? แล้วรู้ได้อย่างไรว่ากลุ่มอำนาจในเครือข่ายอำมาตย์ดี ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ในเมื่อไม่เคยตรวจสอบ เพราะทั้งหลักกาลามสูตรและหลักวิทยาศาสตร์ล้วนยืนยันว่า “เราจะรู้ว่าอะไรจริง ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าจริง” ไม่ใช่เพียงเชื่อเอาเองจากการรับข้อมูลผ่านการประชาสัมพันธ์ด้านเดียว 
ยกตัวอย่างเช่น ผมจะรู้ได้ว่าวิถีชีวิตของชาวสันติอโศกเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายสอดคล้องกับหลักการพุทธศาสนาหรือไม่ ก็ต่อเมื่อผมมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบ ชี้จุดแข็ง จุดอ่อน นำข้อมูลด้านตรงกันข้ามมาเปรียบเทียบประเมินตัดสินได้ แต่ถ้ามีกฎหมายห้ามไม่ให้ผมมีเสรีภาพดังกล่าว ฟังแค่ข้อมูลโฆษณาด้านดีงามเพียงด้านเดียว ผมย่อมไม่สามารถรู้ “ความจริง” ได้ว่า สันติอโศกดีจริงๆ อย่างมากก็แค่ “เชื่อ” เอาเองว่าดีหรือไม่ดีเท่านั้นเอง


ฉะนั้น หากท่านสมณะโพธิรักษ์และสันติอโศกยืนยันว่า ตนเองต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก็ต้องต่อสู้ยืนยันการใช้หลักความเสมอภาคและหลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์และเครือข่ายอำนาจรอบๆ สถาบันกษัตริย์ใน “มาตรฐานเดียวกัน”กับที่ตรวจสอบนักการเมือง หรือทุกคนที่มีบทบาทสาธารณะ จึงจะนับได้ว่าซื่อสัตย์ต่อหลักการประชาธิปไตย 
แต่บทบาททางการเมืองของชาวอโศกที่ผ่านมา หาใช่การต่อสู้เพื่อยืนยันเช่นนั้นไม่ ต่อให้วันหนึ่งชาวอโศกทำสำเร็จกระทั่งว่าไม่มีนักการเมืองโกงเลย แต่ยังคงระบบกฎหมายที่ยกเว้นไม่ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์และอำนาจเครือข่าย ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศนี้ได้เป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด ทว่าจะเป็นประเทศที่มี “สองมาตรฐาน” ในการตรวจสอบอยู่ตลอดไป

และ “ระบบสองมาตรฐานในการตรวจสอบ” เช่นนี้เองที่เป็นสาเหตุหลักให้ไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตในวงการนักการเมืองและทุกวงการให้ลดลงได้จริง นี่คือความไม่เป็นธรรม นี่คือความไม่เป็นประชาธิปไตย แนวทางของสันติอโศกที่เดินตาม พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ร่วมกับพันธมิตรและองค์การพิทักษ์สยาม คือ “แนวทางรักษาระบบสองมาตรฐานในการตรวจสอบ” อันเป็นรากฐานของความอยุติธรรม และความไม่เป็นประชาธิปไตยให้ดำรงอยู่ต่อไป

พุทธศาสนาสอนให้เรามีปัญญา กรุณา มีจิตใจบริสุทธิ์และซื่อตรง แต่บทบาททางการเมืองที่เป็นไปเพื่อปกป้อง “ระบบสองมาตรฐานในการตรวจสอบ” ดังกล่าว ทั้งโดยตรงและโดยปริยาย หาใช่วิถีแห่งปัญญา กรุณา และซื่อตรงไม่!


ปล.การอ้างคำพูดท่านสมณะโพธิรักษ์ไม่ใช่การอ้างแบบคำต่อคำ เป็นการ “เก็บความ” แต่ผมมั่นใจว่าไม่ผิดความหมายที่ท่านพูด



.