http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-16

แช่แข็งสยาม ยามแผ่นดินอาเพศ ยุคพระเพทราชา โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

แช่แข็งสยาม ยามแผ่นดินอาเพศ ยุคพระเพทราชา 
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์  คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1687 หน้า 76 


ประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางค่อนไปทางปลายนั้น มีสีสันขึ้นมาอย่างแรงตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเปิดสยามต้อนรับนานาอารยประเทศ ทั้งแขก ฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น
ถือเป็นการผูกมิตรที่เกินขอบเขตในมุมมองของพระสหายสหชาติร่วมน้ำนมเดียวกัน นั่นคือ "พระเพทราชา" ผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากสมเด็จพระนารายณ์ ให้เป็น "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ในบั้นปลายพระชนม์ชีพขณะทรงพระประชวร


เป็นโอกาสเหมาะที่นำมาซึ่งการก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ประวัติศาสตร์หน้านี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ
มุมมองหนึ่ง มีผู้สนับสนุนแนวคิดนี้เต็มที่ ถึงกับขนานนามพระเพทราชาว่า "พระมหาบุรุษ" กลายเป็นนักบุญผู้ทรงศีลสุขุมล้ำลึก ต้องการปกปักพระศาสนา ช่วยกอบบ้านกู้เมืองให้พ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส 
พระเพทราชา จึงกลายเป็นพระเอกขี่ม้าขาว ในสายตาของนักการศึกษาด้านพุทธศาสน์และนักประวัติศาสตร์สายอนุรักษนิยม


แต่ทว่าอีกมุมหนึ่ง นักประวัติศาสตร์เชิงรัฐประศาสนศาสตร์ กลับมองว่าการสังหารโหดชาวต่างชาติ โดยเฉพาะฝรั่งเศส และการขับไล่ฝรั่งดั้งขอ ให้พ้นหูพ้นตานั้น นำไปสู่ "การแช่แข็งสยามประเทศ" อยู่ช่วงระยะหนึ่ง และต้องใช้เวลาอีกนานทีเดียว กว่าจะก้าวเดินให้ทันเพื่อนบ้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้า และการศึกษา นั้น เกิดจากวิสัยทัศน์ "ล้าหลังคลั่งชาติ" แท้เทียว

ชวนให้นึกถึงปรากฏการณ์ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ภายใต้การนำของ เสธ.อ้าย ที่ได้ปลุกระดมมวลชนจนเกิดกระบวนการฟื้นฟู "ลัทธิแช่แข็งสยาม" ให้หวนกลับมาคืนชีพอีกครั้ง



พระเพทราชา
"พระเอก" หรือ "ผู้ร้าย"?


หากตอบคำถามดังกล่าวได้แล้ว หมายความว่าคำตอบที่เหลืออีกหนึ่ง ต้องกลายเป็นฉายาของพระนารายณ์กระนั้นหรือ? 
บางทีทั้งพระนารายณ์และพระเพทราชา ต่างก็ไม่มีใครเป็นพระเอกหรือผู้ร้ายแบบเบ็ดเสร็จ อาจเป็นเพียง "พระเอกในคราบผู้ร้าย" หรือ "ผู้ร้ายที่กลายเป็นพระเอก" ก็ได้

มูลเหตุแห่งการ "แช่แข็งสยาม" ยุคพระเพทราชาเมื่อขึ้นครองราชย์ โดยดำเนินการขับไล่ชาวฝรั่งเศส ออกนอกประเทศ และติดตามด้วยชาวอังกฤษ โปรตุเกส ฯลฯ นั้น อ้างว่าเกิดจากการที่ยุคพระนารายณ์ชอบคบค้ากับประชาคมต่างชาติมากเกินไป ทำให้ไทยต้องเสียดุล 

จริงหรือไม่ที่ไทยเกือบเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสยุคพระนารายณ์ ตามข้ออ้างที่นำไปสู่การรัฐประหารโดยพระเพทราชา

เหตุผลที่พระนารายณ์ดึงฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทสำคัญในราชสำนักอย่างมากมายนั้น สามารถจำแนกได้เป็นสามกรณีกว้างๆ คือ
เหตุผลแรก เพื่อให้มาคานอำนาจกับ "วิลันดา" (ฮอลันดา) จอมก้าวร้าว ซึ่งเอะอะอะไรก็คอยจ้องจะเอาเรือรบมาปิดปากอ่าวไทยท่าเดียว มองมุมนี้เท่ากับว่าสยามต้องการ "มาเฟีย" รายใหม่ มาเป็นผู้คุ้มครองแทนมาเฟียรายเดิม 

เหตุผลถัดมา น่าจะเกิดจากวิสัยทัศน์กว้างไกลของพระองค์ที่ต้องการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นศิวิไลซ์ หนุนเนื่องมาจาก "พระราชนิยมเทศ" ไม่โปรดไทยของพระองค์ ฉะนั้น แผ่นดินอยุธยาจึงเกลื่อนกล่นไปด้วยประชาคมฝรั่ง แขก จีน ญี่ปุ่น 
และเหตุผลสุดท้ายยิ่งน่าคิด หรือว่าแท้จริงแล้วเกิดจากความไม่ปลอดภัย ไม่สามารถไว้วางใจคนไทย ด้วยเกรงว่าขุนนางบางคนอาจกลายมาเป็น "หอกข้างแคร่" เหตุเพราะพระองค์ก้าวมาสู่ราชบัลลังก์ด้วยการปราบดาภิเษกถึงสองครา



การสนิทสนมกับ "ฟอลคอน" ของพระองค์นั้น นอกจากจะใช้เป็น "เครื่องมือ" หรือ "สะพาน" สำหรับนำพาสยามไปรู้จักกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการยกระดับฐานะของสยามให้เป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีประเทศอภิมหาอำนาจที่สุดในโลกคือฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรแล้ว

อีกโสดหนึ่ง ยังมุ่งหวังที่จะประกาศศักดานุภาพกดข่มศัตรูภายในราชสำนักที่มองไม่เห็นให้ขลาดกลัวต่อบารมีของพระองค์ โดยที่ทรงแสร้งไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวดของพสกนิกรสยามอันหนุนเนื่องมาจากความอำเภอใจของฟอลคอน เช่น การจับพระสึกมาเป็นกรรมกรก่อสร้าง การรีดนาทาเร้นต่างๆ
ในสายตาของพระองค์ทรงมองว่า "ผู้ชายพเนจรอย่างฟอลคอน" หาได้มีพิษภัยต่อราชบัลลังก์แต่อย่างใดไม่ 
ทรงตรัสย้ำแก่ขุนนางให้รู้จักใช้ชายผู้นี้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ดังเช่นทรงรำพึงว่า "เขาเป็นคนที่คนไทยไม่ควรกลัวเลย เพราะเขาไม่มีความจงรักภักดีต่อมาตุคาม ไม่มีชาติ ไม่มีศาสนา เขามีชีวิตอยู่เพื่อตัวของเขาเอง"

เมื่อฟอลคอนมีนโยบายต่อต้านอิทธิพลของฮอลันดาที่คุกคามสยาม เหตุเพราะเป็นคู่ปฏิปักษ์ทางการค้าของตัวเองด้วยเช่นกันแล้ว ฟอลคอนจึงยินดีที่จะเป็น "คนกลาง" ไปดึงเอามหาอำนาจฝรั่งเศสเข้ามาถ่วงดุล สนองความพอใจให้กับทั้งพระนารายณ์ ตนเองและพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

ข้างฝ่ายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้มี "ปม" ด้วยรูปร่างเตี้ย ต้องคอยเดินยกไหล่ตลอดเวลา มีความต้องการเป็นประมุขทั้งฝ่ายราชอาณาจักรและศาสนจักรอย่างแรงกล้า จึงยึดกฎเหล็กสามประการในการแผ่แสนยานุภาพทั่วโลก 
นั่นคือ "Une Fois Une Loi Un Roi!" (อ่านว่า อูนฟัว อูนลัว เอิงรัว) แปลว่า "ศรัทธาหนึ่งเดียว กฎหมายหนึ่งเดียว ภายใต้กษัตริย์องค์เดียว"

พระองค์ไม่เพียงแต่ดูถูกคนนอกศาสนา แม้แต่ชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ก็ยังถูกปราบเสียราบคาบมาแล้วในฝรั่งเศส พระองค์กำลังเล็งหาประเทศใดประเทศหนึ่งในเอเชียที่สามารถบีบบังคับให้กษัตริย์นับถือคาทอลิกได้ เพื่อใช้เป็นใบเบิกทางไปสู่การเขมือบชาติอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียง
จึงอ้าแขนรับฟอลคอน (ผ่านทางราชทูตและบาทหลวงต่างๆ) ให้เกลี้ยกล่อมเจ้าชีวิตแห่งสยามให้ละทิ้ง "ความเชื่ออันถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ" แล้วเข้ารีตมาเป็น "ปฐมบุตรแห่งพระศาสดา"


"ฟอลคอน" นอกจากพระเพทราชาจะมองว่าเป็น "ชายสามโบสถ์" แล้ว (เดิมบวชในนิกายกรีกออร์โธดอกซ์กรีก ต่อมาโอนสัญชาติเป็นอังกฤษ เข้านิกายโปรเตสแตนต์ และสุดท้ายเข้ารีตเป็นคาทอลิก) ยังเป็นนกสองหัว ประจบประแจงพระนารายณ์ทุกวิถีทางเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ จนกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีที่ล่ำซำที่สุดในราชอาณาจักรสยาม  
เขาได้รับอภิสิทธิ์ในทุกๆ ด้านอย่างไม่มีข้อยกเว้น 
ฟอลคอนฉลาดพอที่จะเล่นเกมกับพระนารายณ์ โดยไม่เร่งร้อนบีบบังคับให้พระองค์เข้ารีต

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ฟอลคอนกลับขันอาสาพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ว่าจะหาทางทำทุกอย่างให้พระนารายณ์เปลี่ยนใจมาเป็นคาทอลิกให้จงได้ ทั้งๆ ที่พระนารายณ์ได้ทรงประกาศ (วรรคทอง) แก่ราชทูตและบาทหลวงชาวฝรั่งเศสไปแล้วอย่างชัดแจ้งว่า 
"การที่พระเจ้าสร้างมนุษย์ให้มีความแตกต่างหลากหลายทั้งทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และศาสนานั้น นั่นย่อมแสดงว่าพระองค์ไม่ต้องการให้โลกมีเพียงศาสนาเดียว!" 


ก่อนที่วังวนแห่งการชักเย่อจะจบเกม จู่ๆ พระเพทราชาก็เข้ามาเป็นตัวเร้าหรือเป็นผู้ตัดบ่วงบาศนั้นลงเสีย ทั้งพระนารายณ์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และฟอลคอน จึงต่างก็ฝันสลายลงตามๆ กัน



ในปี พ.ศ.2231จากการประโคมข่าวว่าพระนารายณ์ "ขายชาติ" และ "ฟอลคอน" คือ "ทรราช" อย่างต่อเนื่อง 
เปิดช่องให้พระเพทราชากลายเป็นศูนย์กลางของการต่อต้านอิทธิพลของคริสต์ศาสนาและฝรั่งเศส


คณะรัฐประหารนำโดยพระเพทราชาและออกญาสรศักดิ์ ได้กำจัดผู้มีสิทธิสืบราชสมบัติ 3 ราย คือพระอนุชา 2 องค์ของพระนารายณ์ ได้แก่พระเจ้าอภัยทศ กับเจ้าฟ้าน้อย รวมทั้งโอรสบุญธรรมหัวแก้วหัวแหวน "พระปีย์" 
มีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจบาทหลวงคริสต์ศาสนาเข้าร่วมสนับสนุนการก่อรัฐประหาร รวมทั้งกองกำลังทหารฮอลันดาอาสา 


การก่อรัฐประหารเกิดขึ้นระหว่างพระนารายณ์ทรงพระชวรหนัก และสวรรคตหลังการก่อรัฐประหารนองเลือดปิดฉากลงแล้ว 
บรรดาข้าราชการนำโดยออกญาสรศักดิ์หรือพระเจ้าเสือ เป็นผู้ผลักดันอัญเชิญพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ ในปี พ.ศ.2232 เมื่อมีพระชนมายุได้ 56 พรรษา และสถาปนาราชวงศ์ใหม่ คือราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม

เมื่อพระเพทราชาขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ขับไล่กองกำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากกรุงศรีอยุธยา ตัดเป็นตัดตายกับฝรั่งเศสเป็นชาติแรก ความสัมพันธ์ขาดสะบั้นลงตั้งแต่นั้นมา ติดตามด้วยชาวอังกฤษ 
ส่วนญี่ปุ่น โปรตุเกส นั้น หมดบทบาทมาตั้งแต่ยุคต้นสมเด็จพระนารายณ์แล้ว ฝรั่งชาติเดียวที่อยู่ต่อไปได้ก็คือ ฮอลันดา ในฐานะที่ช่วยพระเพทราชากำจัดฝรั่งเศส


แนวความคิดที่มองชาวตะวันตกว่าเป็นยักษ์เป็นมาร เป็นผู้ร้าย ปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังตอนพระพุทธเจ้าปราบมารผจญ ในตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์ อยุธยา ซึ่งวาดในสมัยพระเพทราชา 
อันเป็นหลักฐานสะท้อนถึง การเป็นคนหัวโบราณขวาจัด รังเกียจเดียดฉันท์ชาวต่างชาติอย่างรุนแรง ไม่ต่างจากขบวนการนาซีที่ปลูกฝังคน "สายเลือดอารยัน" ให้มอง "ยิว" เป็นตัวหนอนเชื้อโรค

การพลิกบทบาทของ "พระเอก" ให้เป็น "ผู้ร้าย" และ "ผู้ร้าย" ให้เป็น "พระเอก" ระหว่างพระนารายณ์กับพระเพทราชานี้ ขึ้นอยู่กับการตีความว่าจะเอาเหตุการณ์ดังกล่าวมารับใช้ประวัติศาสตร์ลัทธิใด  
หากพระนารายณ์ "ขายชาติ" จริงตามข้ออ้างของพระเพทราชา ไฉนจึงถวายราชสมัญญานาม "มหาราช" ถวายแด่พระองค์เล่า


ถามว่า เมื่อพระเพทราชาแช่แข็งประเทศแล้ว เป็นการช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอกประเทศได้หรือไม่

คำตอบ คือ ได้เกิดกบฏขึ้นมากมายตามเมืองต่างๆ หลายแห่ง เช่น กบฏธรรมเถียร มีชาวมอญคนหนึ่งปลอมตัวเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ ป่าวประกาศแก่คนทั้งหลายว่า เจ้าฟ้าอภัยทศยังไม่ตายจะกอบกู้เอาราชบัลลังก์คืน จึงมีคนเข้าร่วมด้วยเป็นอันมาก
นอกจากนี้ยังมี กบฏพระยายมราช เจ้าเมืองนครราชสีมา และ กบฏพระยานคร เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งต่างจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์ ไม่ยอมรับพระเพทราชาเป็นกษัตริย์ สุดท้ายกบฏต่างๆ เหล่านี้แม้จะถูกปราบลงได้ แต่ภาพลักษณ์ของสยามในสายตาต่างชาติก็เสียหาย และทำให้การค้าขายกับต่างประเทศสะดุดหยุดลง


ตลอดรัชกาลของพระเพทราชา เต็มไปด้วยความระแวงระวังว่าขุนนางจะทำการกบฏ จึงได้สั่งลงโทษประหาร เฆี่ยนโบย ลงขื่อคาผู้ขัดคำสั่งแม้เล็กน้อยไม่เว้นวัน  
จะว่าไปแล้ว ทั้งพระนารายณ์และพระเพทราชาต่างก็ขึ้นมาสู่ราชบัลลังก์ด้วยการปราบดาภิเษกทั้งคู่ แต่พระนารายณ์เอาความหวาดระแวงนั้นมาแปรเป็นพลังสร้างความเจริญให้แก่ชาติบ้านเมือง  
ในขณะที่พระเพทราชากลับเอาความเกลียดชังมาแช่แข็งประเทศ

มีเกร็ดเล่าว่า พระเพทราชาเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2246 พระชนมายุได้ 71 พรรษา ครองราชย์ได้ 15 ปี ก่อนหน้านั้นทรงอยากเสวยน้ำเต้าหู้ ใช้เด็กไปซื้อมาจากหน้าตลาดวังน้อย ทรงดื่มด้วยความรวดเร็ว ทำให้เม็ดลูกเดือยที่อยู่ในน้ำเต้าหู้ไปจุกพระหลอดลมจนทำให้เกิดเหตุสิ้นพระชนม์ 
ในเวลาต่อมา หลังจากนั้นทางการอยุธยาได้มีคำสั่งให้ประชาชนและเหล่าไพร่ งดขายน้ำเต้าหู้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา



เมื่อเจ้าทฤษฎีในอดีตจบชีวิตด้วยเม็ดลูกเดือย 

เจ้าลัทธิแช่แข็งสยามยุคใหม่จบชีวิตด้วยมะละกอ 3 ลูกบนเวทีองค์การพิทักษ์สยาม

ขณะที่รัฐบาลกำลังละล้าละลังไม่กล้าโหวตผ่านรัฐธรรมนูญวาระ 3 และหวาดกลัวที่จะลงสัตยาบันกับ ICC

สยามประเทศก็ยังไม่พ้นผ่าน 300 ปี แห่งความหนาวยะเยือกจากการแช่แข็ง



.