.
ภาษา ศักดิ์ศรี
โดย ศิลา โคมฉาย คอลัมน์ แตกกอ-ต่อยอด
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1685 หน้า 60
วิวาทะของดารานักร้องไทย-ลาว ยุติลงด้วยดีในช่วงเวลาสั้นๆ
หลังจากดาราฝ่ายไทยออกปากขอโทษ ที่หลุดปากด้วยความเคยชิน ปล่อยคำเชิงสรุปสิ่งซึ่งไม่เป็นตามใจคิดด้วยคำแทนว่า ลาว
ดาราลาว ซึ่งรู้สึกถูกหยามหมิ่น ยอมรับคำขอโทษ จำกัดความขัดแย้งไม่ให้ขยายวง มันปรากฏเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ หยิบยกขึ้นถกเถียงในเครือข่ายสังคมออนไลน์
อาจบานปลายเป็นปัญหาระดับชาติ
ประเด็นที่ควรสนใจและใส่ใจ คือการหลุดปาก กับความเคยชิน
มันคล้ายบ่งชี้ว่า ความรู้สึกเชิงหมิ่นแคลนทางชาติพันธุ์ ดำรงอยู่ในความคิดของเรา กระทั่งกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในชีวิต
ควรสนใจและใส่ใจ เพราะมันออกจะน่าประหลาด
คือหากเรายอมรับกันว่า ผู้คนในอาณาเขตสองฝั่งแม่น้ำโขง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาว ร่วมตระกูลภาษา วัฒนธรรมเดียวกัน
ลาวและไทย คือคนร่วมชาติพันธุ์
เท่ากับเรากำลังสั่งสมความคิด ความรู้สึก ดูถูกดูแคลนตนเอง
อันที่จริงความเป็นคนร่วมสายตระกูล ผู้คนชาวไทยรุ่นใหม่สำแดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ในคำพูดคำจา
หันไปใช้ภาษาดั้งเดิม ไม่ควบกล้ำ ไม่มี ร.เรือ อย่างที่เป็นอยู่ในภาษาลาว
ภาษาโบราณกาล ก่อนที่จะรับเอาภาษาแขก มอญ เขมร เข้ามาปรับใช้ เพิ่มพูนคำไทย
ซึ่งวันนี้อาจคงอยู่ได้เฉพาะในภาษาเขียน
ใครๆ ต่างพูดจาสื่อสารตามปกติในชีวิตประจำวัน รับรู้ เข้าใจถึงนัยแห่งความหมายโดยทั่วกัน สำรวจตัวเอง มองคนข้างเคียงล้วนพูดจากันทำนองนี้...ดาลานักล้อง สาวสวย ลูบล่าง ดี มีแฟน ขับ เยอะมาก...บางคนชอบ ฟุตบอนอังกิด พีเมียลีก ถ่ายทอดสดทางโท-ทัด มีช่วงโฆษณาสินค้าของกินเล่น ปา ทา โล่...
ออกเสียงภาษาลาวชัดเจน อาจต่างที่สำเนียงและบางถ้อยคำ
เป็นการกลายกลับที่นักปราชญ์ราชบัณฑิต ผู้รอบรู้ด้านภาษาศาสตร์ อาจจะต้องหยิบยกขึ้นศึกษาหาทางออก ไม่ต่างจากกรณีเสนอให้เขียนสะกดคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ ตามภาษาพูด
ช่วยให้การหลุดปากและความเคยชิน มีแต่สิ่งที่เป็นมงคลและสร้างสรรค์
สิ่งเราควรรับรู้และพิจารณา เรื่องทำนองนี้ได้แตกระเบิดเป็นปัญหาร้าย และเรื้อรัง ยากยิ่งต่อการแก้ไข เช่น ที่เกิดในพื้นที่ชายแดน 3 จังหวัดภาคใต้
ข้อเขียนของ อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี จัดให้เป็นส่วนหนึ่งในรากเหง้าไฟใต้ ซึ่งมีมิติแห่งปัญหาหลากหลาย สั่งสม ซับซ้อน
ส่วนประกอบและปัจจัยพื้นฐาน นำท้องถิ่นชายแดนใต้เข้าสู่วิกฤติการก่อการร้าย
ปัญหาที่เป็นผลพวงนโยบายชาตินิยมในอดีต ซึ่งยังคงเป็นตะกอนอยู่ในใจผู้คน ยุคสมัยเช่นนั้นนอกจากมีการจับผู้นำศาสนา ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่สำคัญยิ่งของสังคม ยังมีการห้ามสอนภาษามลายู (อักขระญาวี คือการนำเอาอักษรภาษาอาหรับมาเขียนให้อ่านในภาษามลายู) ในโรงเรียนและชุมชน
ภาษามลายูซึ่งถือว่า การออกเสียงใกล้เคียงกับภาษา อัลกุรอาน มากที่สุด
ใช้เป็นสื่อเพื่อการเรียนรู้ศาสนาให้ลึกซึ้ง ถือเป็นภาษาศาสนาภาษาหนึ่ง
การปิดโรงเรียนศาสนาแบบดั้งเดิม สำนักตักศิลาคู่สังคมมุสลิม บังคับให้เรียนภาษาไทยที่มีเนื้อหา และกระบวนการสอนตามแนวพุทธนิยม ห้ามพูดภาษามลายูในโรงเรียน ส่งเสริมให้คนท้องถิ่นเปลี่ยนชื่อ แปลงนามสกุลให้เป็นภาษาไทย แทนภาษาที่ศาสนากำหนด (ภาษาอาหรับ)
เปลี่ยนแปลงชื่อท้องถิ่นดั้งเดิมให้เป็นภาษาไทย หรือเทียบเคียงภาษาไทยได้ หรือให้เปลี่ยนจนผิดความหมายจากเดิม
หลากหลายเรื่องที่เป็นการปรับเปลี่ยนอย่างรุนแรง
รุนแรงในทัศนะอิสลาม หมายถึงความกลัวที่จะต้องเปลี่ยนแปลงความศรัทธา กลายเป็นคนนอกรีตตกศาสนา หมิ่นเหม่กับการตกนรก
วิถีการดำเนินชีวิตมุสลิมต้องศรัทธา และเชื่อมั่นว่า โลกหลังความตายมีจริง และมีความหมายยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด
ตะกอนเก่าเก็บเนิ่นนานร่วม 70 ปีพวกนี้ ขุ่นมัวได้ทุกคราวที่เกิดแรงปั่น
ความผิดพลาด การปล่อยปละละเลย เมินเฉยต่อปัญหา กระทั่งซ้อนทับ สั่งกลายเป็นปมยุ่งเหยิงเกินแก้ ดูเหมือนกำลังค่อยๆ ได้รับการสางออกทางหนึ่ง ด้วยนโยบายภาษาแห่งชาติ
รัฐรับรู้และตื่นตัวว่า ประเทศอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 125 ประเทศ กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
แม้แต่น้องใหม่ประเทศติมอร์-เลสเต
นโยบายมุ่งทำนุบำรุงและส่งเสริมภาษาไทยที่เป็นภาษาประจำชาติ ภาษาตระกูลไทยและภาษาท้องถิ่นอื่นๆ เพื่อรักษาความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม สนับสนุนการศึกษาภาษาต่างประเทศ ภาษาเพื่อนบ้าน ภาษาสำหรับผู้พิการ ภาษาสำหรับการแปล การล่าม และล่ามภาษามือ
ยืนยันความเป็นตัวของตัวเองบนเวทีโลก
ขจัดข้องขุ่นข้องที่หมักหมมอยู่ภายใน กอบกู้ศักดิ์ศรีเจ้าของภาษา
ควรเป็นเวลาของการได้ใช้ภาษาของตัว สื่อสารอย่างสร้างสรรค์
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย