.
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: พรรคเพื่อไทยกับขบวนคนเสี้อแดง
ใน www.prachatai.com/journal/2012/12/44325 . . Fri, 2012-12-21 04:18 มีความคิดเห็นท้ายบท
รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
( เผยแพร่ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข” ฉบับวันศุกร์ที่ 21 ธ.ค. 2555 )
ในระยะปีกว่ามานี้ นับแต่พรรคเพื่อไทยชนะเลีอกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล แนวโน้มประการหนึ่งในหมู่คนเสื้อแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนเสื้อแดงปัญญาชนในเมือง คือความไม่พอใจ กระทั่งผิดหวังต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มิได้ดำเนินมาตรการต่อสู้กับฝ่ายจารีตนิยมอย่างแข็งขันดังที่เคยตั้งความหวังไว้
ความไม่พอใจหลายประการที่มีต่อพรรคเพื่อไทยนั้น มีเหตุผลสมควร เช่น การที่พรรคเพื่อไทยยอมถอย ไม่เดินหน้าประชุมสภาลงมติวาระ 3 แก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ การไม่แสวงหาความจริงอย่างถึงที่สุดเกี่ยวกับการฆ่าหมู่ประชาชนเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 การผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติที่มุ่ง “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” โดยไม่แยกแยะ การไม่ดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือนักโทษการเมืองตาม ป.อาญา ม.112 เป็นต้น ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความอ่อนแอ โลเล และหวาดกลัวของแกนนำพรรคเพื่อไทย
แต่ความไม่พอใจหลายประการต่อพรรคเพื่อไทยก็เป็นความเข้าใจผิดในหมู่คนเสื้อแดง อันเป็นผลสะเทือนทางลบของวาทกรรม “นักการเมืองชั่ว” ที่เผยแพร่โดยพวกจารีตนิยม อิทธิพลของอุดมการณ์สังคมนิยมในอดีต และความไม่เข้าใจในขีดจำกัดของพรรคเพื่อไทยภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ 2550
พวกจารีตนิยมได้ระดมโฆษณาชวนเชื่อ ตอกย้ำวาทกรรม “นักการเมืองชั่ว” มานานหลายสิบปี ให้ผู้คนเชื่อว่า ความเลวร้ายทั้งปวงในประเทศไทยเกิดจากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ใช้เงินซี้อเสียงจากประชาชนผู้โง่เง่า แล้วเข้ามาเสวยอำนาจ ทุจริตคอรัปชั่น ทำลายชาติบ้านเมือง ปัญหาทั้งปวงในปัจจุบันล้วนชี้นิ้วไปที่ “นักการเมืองชั่ว” ทั้งนี้ก็เพื่อเน้นให้เห็นด้านตรงข้ามว่า พวกจารีตนิยมต่างหากที่เป็น “คนดี ขาวสะอาด สูงส่ง” เป็นที่พึ่งแต่เพียงประการเดียวของสังคม ผู้ปกครองและผู้บริหารบ้านเมืองจึงต้องเป็นกลุ่มคนที่มาจาก “คนดี” ที่พวกจารีตนิยมส่งมาเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง
อุดมการณ์สังคมนิยมยุค 2520 ก็สอดคล้องกับวาทกรรมดังกล่าวของพวกจารีตนิยมอย่างพอดิบพอดี ด้วยความเกลียดชังระบบทุนนิยมและชนชั้นนายทุนโดยรวม ในระบอบรัฐสภาและการเมืองแบบเลือกตั้ง พรรคการเมืองขนาดใหญ่ล้วนเป็นพรรคของนายทุน อุดมการณ์สังคมนิยมมองว่า ชนชั้นนายทุนเป็นพวกโลเล เดิน “แนวทางปฏิรูป” ไม่อาจไว้ใจได้และทรยคหักหลัง พวกสังคมนิยมจึงเต็มไปด้วยความเกลียดชังและหวาดระแวงนายทุน และถือว่า “เป็นศัตรูในขั้นสุดท้าย”ก่อนบรรลุประชาธิปไตยและสังคมนิยม” อารมณ์ความคิดดังกล่าวยังคงมีอิทธิพลในหมู่คนเสื้อแดงปัญญาชนปัจจุบันจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกที่เคยเป็น “คนเดือนตุลาฯ”
อารมณ์เกลียดชังนักการเมืองดังกล่าวสะท้อนออกในหมู่คนเสื้อแดงปัญญาชนบางส่วนที่เสนอแนวคิดสุดขั้วถึงขั้นถือเอาพรรคเพื่อไทยเป็นศัตรู เช่น ความเชื่อที่ว่า “พรรคเพื่อไทยทรยศหักหลังขายคนเสื้อแดงไปแล้ว” “พรรคเพื่อไทยรับงานพวกเผด็จการมาปราบคนเสื้อแดง” “คนเสื้อแดงจะต้องต่อสู้ขับไล่พรรคเพื่อไทย” หรือ “คนเสื้อแดงต้องจัดตั้งพรรคการเมืองของตนเอง” เป็นต้น
อารมณ์ความเกลียดชังนายทุนของพวกสังคมนิยมนี้เองที่เป็นคำอธิบายสำคัญประการหนึ่งว่า เหตุใดปัญญาชนเดือนตุลาฯส่วนข้างมากในปัจจุบันจึงเลือกอยู่ข้างเผด็จการจารีตนิยม สำหรับคนพวกนี้แล้ว แม้อุดมการณ์สังคมนิยมจะได้ล่มสลายไปแล้ว แต่ความเกลียดชังทุนนิยมและนายทุนก็ยังคงอยู่ จึงได้ถือเอาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและเครือข่ายเป็นตัวแทนของ “นายทุน” ที่พวกเขาเกลียดชังอยู่นั่นเอง
ที่สำคัญ คนเสื้อแดงจำนวนมากไม่เข้าใจในขีดจำกัดของแกนนำพรรคเพื่อไทย ในเบื้องต้น ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและเครือข่ายล้วนเติบโตทางเศรษฐกิจและการเมืองขึ้นมาภายใต้อิทธิพลของพวกจารีตนิยม พวกเขาต้องแบ่งปันผลประโยชน์และประนีประนอมกับพวกจารีตนิยมมาตลอดหลายปี รวมทั้งถูกครอบงำทางความคิดและจิตสำนึกอย่างลึกซึ้งมาเช่นเดียวกับบุคลากรทั้งหลายในกลไกอำนาจรัฐ คนพวกนี้แม้จะขัดแย้งกับกลุ่มจารีตนิยมสักเพียงไร แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะตัดขาดหรือแตกหักเลยแม้แต่น้อย แนวทางของพวกเขาจึงเป็นการ “สู้เพื่อบีบให้ต่อรอง” ไปทีละขั้นเท่านั้น
ยิ่งกว่านั้น เครื่องมือต่อสู้ที่สำคัญที่สุดของพวกเขาก็ยังเป็นพรรคการเมืองภายใต้ระบบการเมืองแบบเลือกตั้งภายใต้โครงครอบของจารีตนิยมอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันก็คือ ระบอบรัฐธรรมนูญ 2550 พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายพรรคการเมืองในกรอบรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกมัดมือมัดเท้าด้วยกฎหมายและองค์กรต่าง ๆ ที่มุ่งแยกสลายพรรคการเมืองให้อ่อนแอและไม่เป็นอันตรายต่อพวกจารีตนิยม
เป้าหมายหลักของพรรคเพื่อไทยจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 คือหาเสียงและชนะเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยจึงไม่ใช่ “พรรคปฏิวัติ” ดังที่ใครหลายคนต้องการ ความคาดหวังหลายประการของคนเสื้อแดงบางส่วนต่อพรรคเพื่อไทยจึง “เกินจริง” เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ การปฏิรูปกฎหมายป.อาญา ม.112 แม้กระทั่งการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเกินกว่าระบอบรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งสิ้น และยิ่งไม่มีทางกระทำได้ภายใต้สภาวะที่พวกจารีตนิยมยังคงกุมอำนาจรัฐที่แท้จริงอยู่
ภาระหน้าที่ของพรรคเพื่อไทยจึงไม่ใช่การ “เปลี่ยนระบอบ” แต่เป็นการชนะเลือกตั้ง เข้ากุมอำนาจบริหาร ดำเนินนโยบายเท่าที่จะทำได้ที่เป็นคุณต่อประชาธิปไตยทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว เปิดพื้นที่ให้ขบวนประชาธิปไตยได้มีที่ยืนและขยายตัวโดยสะดวกในภาวะสันติ ต้านหรือชะลอการรุกของพวกเผด็จการที่จะทำลายขบวนประชาธิปไตยเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งปฏิรูปแก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญไปในทิศทางประชาธิปไตยมากขึ้นตามดุลกำลังทางการเมืองที่เป็นจริง
ขบวนคนเสื้อแดงควรเข้าใจว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นจะได้มาก็ด้วยความทุ่มเทและอดทนของขบวนคนเสื้อแดงที่เป็นพลังหลัก ดำเนินการต่อสู้นอกสภาด้วยกำลังของตนเอง ประสานกับการต่อสู้ในสภาผ่านพรรคเพื่อไทย แต่จากประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ทั่วโลก การบรรลุประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นจะได้มาก็ด้วยชัยชนะขั้นเด็ดขาดภายนอกสภาเป็นเงื่อนไขเบี้องต้น ส่วนการแก้ไขกฎหมายและปฏิรูปรัฐธรรมนูญนั้น ก็เป็นเพียงการทำให้ชัยชนะนอกสภานั้น กลายเป็นรูปแบบทางการของระบอบการเมืองเท่านั้น
ดังนั้น ท่าทีของขบวนคนเสื้อแดงต่อพรรคเพื่อไทยจึงต้องมีลักษณะที่เข้าใจขีดจำกัดของพวกเขาและมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่เป็นจริง
ซึ่งก็คือ ต้องสนับสนุนให้พวกเขายืนหยัดต้านพวกเผด็จการ ดำเนินมาตรการทุกประการที่เป็นคุณต่อขบวนประชาธิปไตยเท่าที่จะทำได้
และวิพากษ์วิจารณ์ความอ่อนแอ โลเลและขี้ขลาดของพรรคเพื่อไทยไปพร้อมกัน เปิดโอกาสให้ขบวนประชาธิปไตยได้เติบใหญ่และตระเตรียมกำลังเพื่อการชัยชนะเด็ดขาดที่จะมาถึง
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
บทความเกี่ยวข้องที่เคยเสนอ..
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การต่อสู้เพิ่งจะเริ่มต้น!
+บทความของปี2554 - คนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
อ่านที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/03/pch-con1.html
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย