http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-12

บู๊เละ บู๊เลอะ บู๊เทอะ: นิยายกำลังภายในกับมาเฟียบู๊ลิ้ม โดย ธาวิต สุขพานิช

.

บู๊เละ บู๊เลอะ บู๊เทอะ : นิยายกำลังภายในกับมาเฟียบู๊ลิ้ม (9)
บทความพิเศษ โดย ธาวิต สุขพานิช
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1685 หน้า 71


เรื่อง "มาเฟียบู๊ลิ้ม" ดังกล่าว แม้จะเป็นวรรณกรรมชั้นเลว จัดอยู่ในกลุ่มดุเดือด "เอามัน" กันเป็นหลัก เขียนขึ้นเพื่อนำไปเป็นบทภาพยนตร์ ทำนองเรื่องอย่าง "Spartacus Vengeance" หรือ "300" เป็นสำคัญ อยู่ในแนว "Actions" บริสุทธิ์ หรือยิ่ง "รุนแรงแค่ไหน ยิ่งจะสะใจ" เพิ่มขึ้นเพียงนั้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวคิดทฤษฎี ที่แอบซ่อนทางเบื้องหลังอยู่ลึกๆ ในนิยายนี้ คือปรัชญาพื้นฐาน 2 ประการของชีวิตมนุษย์ ได้แก่
1. มนุษย์เป็นสิ่งชั่วร้ายโดยกมลสันดาน เป็นพวกเห็นแก่ตัว (Self Love) เห็นแก่ได้ รู้มากอวดฉลาด ชอบดูหมิ่นดูแคลนผู้อื่น ยกย่องตัวเองและพวกพ้อง เพื่อสร้างเครือข่ายความมั่นคง ให้พวกตนได้ขูดรีดเอาเปรียบเอาประโยชน์ กระทำตนเป็น "คนเหนือคน" ต่อๆ ไปอีกนานเท่านาน 
2. มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ รู้จักจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หากตัวเองและครอบครัวมีพร้อมสมบูรณ์แล้ว ย่อมอยากช่วยเหลือเกื้อกูล อยากจะบริจาคทานเพื่อคนด้อยโอกาสอื่นๆ 

ผู้คนส่วนมากของทุกสังคมมนุษย์ เอนเอียงไปทางทฤษฎีที่ 1 มากกว่า
ส่วนทฤษฎีที่ 2 ก็มีคนยึดถืออยู่ไม่น้อย แต่มักไม่หนักแน่นเช่นฝ่ายแรก


กลุ่มคนซึ่งยึดมั่นทฤษฎีแรกดั้งเดิมจริงๆ คือศาสนาสำคัญของโลกทั้งหมด ซึ่งอธิบายเหตุผลว่า ทั้งนี้ เป็นเพราะมนุษย์มี "บาปดั้งเดิม" (Original Sins) บ้าง หรือมี "กรรมเก่า" (Bad Karma) ที่ก่อไว้แต่ปางก่อนบ้าง จึงต้องออกมาเทศนา หรือ "สั่งสอนให้ทุกคนเป็นคนดี" เหมือนๆ กัน ยืนยันชัดเจนว่า หากไม่มีศาสนามาคอยสั่งคอยสอน มนุษย์ต้องจมปลักเลวทรามตามสันดานเดิม อย่างไม่รู้จบรู้สิ้น

ในปัจจุบันทฤษฎีที่ 1 นี้ จะพัฒนาจากหลักศาสนา กลายเป็นทฤษฎีทางเศรษฐกิจ คือ "ลัทธิทุนนิยมเสรี" (Capitalism) ยกระดับขึ้นไปเป็น "กฎธรรมชาติ" (Natural Laws) ที่มนุษย์ย่อมเห็นแก่ตัว (self love) เห็นแก่ได้เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ไม่เห็นจะเลวร้ายหรือเสียหายตรงไหน เมื่อทุกคนต่างเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้เหมือนๆ กันทั้งนั้น 
คือเมื่อต่างฝ่ายต่างเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้เหมือนๆ กัน ย่อมมีการระวังป้องกัน ต่อสู้ช่วงชิงซึ่งและกัน สุดท้ายจะนำสู่ความ "สมดุล" เองโดยภาพรวม หรือสิ่งที่เรียกว่าความ "พอดี" ในภาษาแบบบ้านๆ ได้แก่ "ดุลภาพแห่งความเห็นแก่ตัว" ในภาษาวิชาการ ซึ่งก็คือความเหมาะควร ถูกต้องดีงามสำหรับทุกฝ่ายในที่สุด

กฎกติกาแห่ง "ทุนนิยม" นี้ คือความสัมพันธ์ระหว่าง "อุปสงค์" (ความต้องการ) กับ "อุปทาน" (สิ่งที่อยู่ในความต้องการ) 
หากอุปสงค์มีมากอุปทานมีน้อย จะส่งผลให้สิ่งของมีราคาแพง แต่หากสถานการณ์ผกผัน อุปสงค์มีน้อยอุปทานมีมาก ราคาสิ่งของนั้นๆ ลดลงจนแทบจะไร้ค่า 
นั่นคือกฎธรรมชาติของทุนนิยม อันเป็น "มือที่มองไม่เห็น" (Invisible Hands) แต่ครอบงำทุกสิ่งรอบๆ ตัวเรา

มือที่มองไม่เห็นของระบบทุนนิยมนี้ ไม่ใช่หมายถึงสิ่งของ พลังงาน อาหารการกินเท่านั้น แต่ยังรวมถึง "ผู้คน" ทั้งมวลร่วมอยู่ด้วย คือผู้คนชนิดไหนอยู่ในความต้องการมาก แต่คนพวกนี้หายากหรือมีอยู่น้อย ราคาค่าตัวย่อมพุ่งสูงขึ้นๆ ตามอุปสงค์ของตลาด ในทางตรงกันข้าม หากคนจำพวกใดมีอยู่มากมายดาษดื่น คืออุปทานเกินอุปสงค์ จะไร้ราคาค่างวดให้กล่าวถึง

นี่คือ "อิทัปปัจจยตา" ของลัทธิทุนนิยมเสรี อธิบายได้ว่าทำไมใครบางคน จึงมั่งคั่งร่ำรวยสุขล้น มากด้วยเกียรติยศชื่อเสียง ตรงข้ามกับอีกหลายๆ คนในสังคม ซึ่งยากจนข้นแค้นชักหน้าไม่ถึงหลัง ลำบากแร้นแค้นเลือดตากระเด็น 
แต่คนส่วนใหญ่เป็นพวกพอมีพอกิน ยังสามารถลูบหน้าปะจมูก อยู่รอดปลอดภัยไปได้เป็นวันๆ

กล่าวให้ชัดตัดให้สั้น เอาเฉพาะใจความสำคัญ คือมนุษย์ขี้เหม็นทุกยุคทุกสมัย ต่างเป็นคนเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ทั้งนั้น เช่น ลูกจ้างอยากทำงานน้อยๆ แต่ได้เงินค่าจ้างมากๆ มีสวัสดิการเยอะๆ ตรงข้ามกับผู้ที่เป็นนายจ้าง ซึ่งอยากจ่ายค่าจ้างต่ำๆ มีรายจ่ายน้อยๆ แต่หวังจะได้ผลผลิตสูง กำไรมากๆ เป็นธรรมดาอยู่แล้ว


ทั้งหมดของความคิดความเชื่อแบบแรกนี้ แตกต่างตรงข้ามกับแบบหลังอย่างสิ้นเชิง ในแบบหลังยอมรับว่าในสมัยโบราณ เพราะความขาดแคลนบีบบังคับ ให้มนุษย์เคยต้องเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ ต้องต่อสู้ดิ้นรนยื้อแย่งช่วงชิง เพื่อความอยู่รอดและสร้างความมั่นคงให้กับตนเอง กับครอบครัวและสิ่งที่รักที่ชื่นชม 
แต่เมื่อสังคมมนุษย์พัฒนาก้าวหน้า เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถจะถูกผลิตได้อย่างล้นเหลือ ข้าวปลาอาหาร บ้านเรือนที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และอื่นๆ ที่ต้องการ ฯลฯ มนุษย์ไม่จำต้องต่อสู้แย่งชิง เห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้อีกต่อไปแล้ว 

สำหรับผู้อ่านที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปีลงไป ส่วนใหญ่คงไม่เคยรู้ถึงคติคิดความเชื่อแบบหลังนี้ 
เพราะนี่คือหลักคิดพื้นฐานแบบคอมมิวนิสต์ (Communism) หรือ "ลัทธิมาร์กซิสต์" (Marxism) ลัทธิต้องห้ามโดยทางการไทย แต่เป็นแนวคิดหลักของโซเวียตรัสเซีย และ "จีนแดง" ทางแผ่นดินใหญ่ครั้งกระโน้น



หากวิเคราะห์ด้านแนวคิดของ "มาเฟียบู๊ลิ้ม" แล้ว จะเห็นชัดว่าผู้ประพันธ์มาจากครอบครัวแบบ "แดงอกหัก" หรือพวกที่เคยยึดถือ "หนังสือเล่มเล็ก ปกสีแดง" (Little Red Book) ของ เหมา เจ๋อ ตุง เป็นสรณะ ซึ่งต่อต้านความเชื่อทุกสิ่งทุกด้านของแนวคิดทุนนิยมเสรี และหลักศาสนาทั้งปวง โดยถือว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้น เป็นสารเสพติดจากอดีต และจำต้องแก้ไขฟี้นฟูจิตใจของคนรุ่นใหม่ 

ปัญหาสำคัญที่สุดของลัทธิมาร์กซิสต์ คือหลังยึดอำนาจรัฐได้นานหลายสิบปี กลับล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจ ให้ปวงชนอยู่ดีกินดีมีฐานะมั่นคง รัสเซียและจีนจึงต้องล้มเลิก เปลี่ยนจากคอมมิวนิสต์กลับเป็นทุนนิยม ซึ่งคนจำนวนมากอาจมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นทันตา

แต่สำหรับคนซึ่งเคยยึดมั่นถือมั่น จะ "อกหักทางอุดมการณ์" กันครั้งมโหฬาร และปรับตัวเองไปอยู่ข้าง "ทุนนิยม" แบบสุดขั้วแทนที่

เนื้อเรื่องของ "มาเฟียบู๊ลิ้ม" ที่มีอยู่ 10 เล่ม และแบ่งออกเป็น 2 หมวดหลัก ระหว่าง 5 เล่มแรก กับ 5 เล่มหลัง ซึ่งช่วง 5 เล่มแรกของนิยายนี้ จะแสดงถึงความ "ไร้เดียงสา" (Infantile Disorder ในภาษามาร์กซิสม์) ของตัวเอก เชื่อถือตามขนบธรรมเนียมของสังคม 
ต่อเมื่อประสบพบเหตุ จากชีวิตจริงที่แตกต่างตรงกันข้าม จึงเริ่มปรับเปลี่ยนไปเป็นผู้ "รอบรู้" และมีความสำเร็จมากล้นในบั้นปลาย
ตามลำดับเหตุการณ์ของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ความ "ไร้เดียงสา" ในเบื้องต้น คือการยึดมั่นถือมั่นในจารีตประเพณี และความคิดความเชื่อแบบประโยชน์นิยม (หรือทุนนิยม แล้วแต่จะเรียก)

แต่เมื่อเกิดการ "ปฏิวัติวัฒนธรรม" บนแผ่นดินจีนแล้ว ชาวจีนจะหูตาสว่างมากขึ้น จากการศึกษาเรียนรู้ โดยมี "หนังสือเล่มเล็ก สีแดง" ของท่านประธานเหมาช่วยชี้นำ ถึงเกิดความรู้ความเข้าใจ และกลายเป็น "นักปฏิวัติ" เพราะเลิกยึดถือ ขนบคิดความเชื่อแบบคนโบราณ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นอีก 
แต่เมื่อท่านประธาน เหมา เจ๋อ ตุง ถึงแก่อนิจกรรม แนวคิดนโยบายของจีนแผ่นดินใหญ่เกิดผกผัน แนวคิดนโยบายของรัฐบาล หันกลับไปเป็นแบบที่ 1 ซึ่งเคยเป็นฝ่ายที่ตรงข้ามกันมาก่อน และประเทศชาติเริ่มมั่งคั่งร่ำรวยทันตาเห็น จากการผลิตสินค้าราคาถูก ชนิดทุกสิ่งทุกอย่าง "20 บาท" เท่านั้นเหมือนกันหมด 
คำสั่งสอนจาก "หนังสือเล่มเล็ก ปกสีแดง" จึงถูกโละทิ้ง ไม่มีใครจะเหลือบแลแยแสอีก


งานเขียนเรื่อง "มาเฟียบู๊ลิ้ม" ของเชวียเยี่ยอู๋ถง สะท้อนพัฒนาการสังคมคอมนิวนิสต์จีน ของผืนแผ่นดินใหญ่อย่างถึงแก่น 
แต่จะเป็นจีน "หลังหนังสือเล่มเล็กสีแดง" ของประธาน เหมา เจ๋อ ตุง คือสะท้อนถึงความ "เก็บกด" ต่อหนังสือเล่มเล็กสีแดงนั้น แถมยังจะเร่าร้อนร้ายกาจกว่ามากนัก เพราะมันจะกลายเป็น "ทุนนิยมสุดขั้ว" ด้วยว่าทุกสิ่งมีไว้เพื่อขาย อะไรขายได้เป็นขายหมด
เช่น ทุกสำนักในนิยายกำลังภายใน ต้องมีเคล็ดลับในการต่อสู้เฉพาะตัวเกียรติยศชื่อเสียงของสำนัก ผูกพันอยู่กับเคล็ดลับพวกนี้ ซึ่งบันทึกเป็นคัมภีร์ประจำสำนัก เก็บรักษาโดยหัวหน้าสำนัก และถ่ายทอดในครอบครัวของเจ้าสำนัก หรือให้กับศิษย์ใกล้ชิดตามความเหมาะสม ส่วนศิษย์ทั่วไปจะรับรู้วิชาพื้นฐาน หรือวิชาระดับทั่วไปเท่านั้น

แต่ในมาเฟียบู๊ลิ้มของเชวียเยี่ยอู๋ถง คัมภีร์ลับพวกนี้ นอกจากจะไม่ลับแล้ว ยังเป็น "สินค้า" ซื้อขายกันในตลาดอย่างเปิดเผย แถมมีราคาค่างวดชัดเจนด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นที่นิยายอ้างถึง สำนักของวัดเส้าหลินซึ่งเป็นต้นกำเนิดวิชาบู๊ คงเป็นเช่นคลังมหาสมบัติ เพราะมีคัมภีร์วิชาต่างๆ มากมาย เฉพาะวิชาขั้นลึกซึ้งสุดยอดมากถึง 72 แขนงเข้าไปแล้ว หากขายออกสู่ตลาดคงรวยไม่รู้เรื่อง

แต่หากเป็นเช่นนั้นจริง คงมีคัมภีร์พวกนี้ตกทอดถึงปัจจุบันอยู่บ้างเป็นแน่...



++

บู๊เละ บู๊เลอะ บู๊เทอะ : นิยายกำลังภายในกับ "มาเฟียบู๊ลิ้ม" (10)
บทความพิเศษ โดย ธาวิต สุขพานิช
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1686 หน้า 71


ความเป็น "ทุนนิยมสุดขั้ว" ของนิยายเรื่องมาร์เฟียบู๊ลิ้ม ซึ่งประสงค์จะสื่อต่อคนอ่าน ว่าทุกคนจำต้องเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ เพื่อความอยู่รอดสุขสบายของตัวเอง เรื่องราวอื่นๆ และบุคลอื่นภายนอก ไม่ว่าจะเป็นญาติสนิทมิตรสหาย ความคิดความเชื่ออื่นใดทั้งปวง ถือเป็นสิ่งรองลงไป ให้เอาตัวให้รอดไว้ก่อน เป็นสำคัญที่สุด 
ตามเนื้อเรื่องและวิธีนำเสนอ เชวียเยี่ยอู๋ถงซึ่งเป็นผู้ประพันธ์ คล้ายๆ จะคิดว่า "สัจธรรม" นี้เขาเป็นผู้ค้นพบ และอยากจะตีพิมม์เผยแผ่ให้ชาวโลกรับทราบ โดยผ่านนิยายกำลังภายในของเขา ที่พยายามสื่อต่อคนอ่านอย่างสมจริง ในทุกสิ่งทุกด้าน ในทุกเรื่องทุกราวเท่าที่จะคิดได้ และอย่างตรงไปตรงมาที่สุดด้วย

แต่โอ้ว่าอนิจจา หลักคิดแนวปรัชญาทั้งหมดของพวกเขา เป็นสิ่งซึ่งมีการนำเสนอมาเก่าก่อน แถมรอบด้านละเอียดลออ เหนือกว่างานประพันธ์ของเขามากมายนัก 
บังเอิญว่าเขาไม่เคยรู้ไม่เคยทราบ เพราะว่าตลอดทั้งชีวิตที่ผ่านมา ตกอยู่ใต้การครอบงำของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ยึดถือ "หนังสือเล่มเล็กสีแดง" ของประธานเหมาเป็นสรณะ 

ต่อเมื่อแผ่นดินจีนเปลี่ยนผ่าน เข้าสู่ยุคของเติ้งเสี่ยวผิง (Deng Xiaping, 1894-1997) พลิกผันหันมาใช้ 2 ระบบ รัฐบาลยังเป็นคอมมิวนิสต์ แต่เศรษฐกิจเปลี่ยนเป็นทุนนิยมเสรี เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมรวดเร็ว มีเศรษฐีเกลื่อนประเทศ ผลผลิตมวลรวมแซงหน้าญี่ปุ่น และตามการคาดหมายของธนาคารโลก น่าจะก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งอย่างช้าปี ค.ศ.2525 ล้ำหน้าสหรัฐแชมป์เก่าไปอีก 
หวังเทียนอี้ผู้เป็นตัวเอกในมาเฟียบู๊ลิ้มของเขา หลังสลัดทิ้งความไร้เดียงสาไป จะผาดโผนโลดแล่นเห็นเงินเป็นยิ่งกว่าพระเจ้า ออกอาละวาดฟาดฟันทุกสิ่งที่ขวางหน้า โดยเปลี่ยนความจงรักภักดีของเขา ซึ่งเคยมอบไว้ให้กับสำนักอาจารย์ ไปเป็น "ค่ายพรรค" ที่ว่าจ้างและคุ้มกะลาหัวของเขาแทน



งานเขียนเรื่องกำลังภายในชิ้นนี้ ขอยอมรับว่าอ่านแล้วสนุกก็สนุก เพราะว่าดุเดือดฉับไวเผ็ดร้อนสุดยอด 
หรือจะเรียกว่า "ซาดิสม์" (Sadistic) ในสำนวนฝรั่งก็ไม่ผิด
ใครเคยชมภาพยนตร์ "2 Fast, 2 Furious" ได้อารมณ์อย่างไร เมื่ออ่านเรื่องนี้ ก็จะได้อารมณ์ทำนองนั้นไม่มีผิด 

จะต่างกันบ้างตรงในงานวรรณกรรมนี้ จะมีเนื้อหาแบบ "เสมือนจีน" เข้าไปแฝงร่วมอยู่ด้วยทุกขั้นตอน

ที่ใช้คำว่า "เสมือนจีน" เพื่อบรรยายถึงนิยายเรื่องนี้ เพราะเนื้อหารายละเอียดคล้ายกับจะเป็นจีนแท้ๆ แต่โดยภาพรวมกลับไม่ใช่เลย

เช่น รายได้หลักของค่ายพรรคที่ตัวเอกสังกัดอยู่ คือการค้า "เกลือเถื่อน" ที่กว้างขวางระดับประเทศ หมายถึงว่ามีพลังอำนาจ ในการควบคุมการค้าขายเกลือทั่วทั้งแผ่นดินจีน 



.