.
คำต่อคำสัมภาษณ์ ‘อภิสิทธิ์’ ใน ‘บีบีซี’: พ้อ-ไม่แฟร์ที่หาว่า “สั่งใช้กระสุนจริง” เท่ากับ “ฆ่าคน”
ปฏิเสธกล่าวเสียใจสั่งใช้กระสุนจริง แจงไม่มีที่ไหนนายกฯ ต้องรับผิดชอบ
จาก www.prachatai.com/journal/2012/12/44161 . . Tue, 2012-12-11 00:46 มีความคิดเห็นท้ายบทยาวเหยียด
(แล้วต่อมามีเสนอใน มติชนออนไลน์ วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 17:15:00 น.)
( ที่มาของภาพ: คัดลอกจาก BBC World News )
แจงบทบาทช่วงสลายการชุมนุมปี 53 ไม่ยอมตอบหลังเจอพิธีกรจี้ถามว่าเสียใจที่สั่งใช้กระสุนจริงหรือไม่ แต่เลี่ยงตอบไปว่าเสียใจที่มีคนตาย ระบุยังไม่เชื่อว่าการเสียชีวิตคนส่วนใหญ่มาจากทหาร แต่มาจากกลุ่มติดอาวุธในที่ชุมนุม ยกตัวอย่างประเทศอื่นหากมีผู้เสียชีวิตในระหว่างชุมนุม นายกฯ ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ ในขณะที่กล่าวจะยอมรับผลการตัดสินหากศาลว่าผิดจริง
เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 55 รายการ BBC World News ทางสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ ได้เผยแพร่การสัมภาษณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อเรื่องการสั่งฟ้องและการมีส่วนรับผิดชอบในคดีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมที่มีสาเหตุจากเจ้าหน้าที่รัฐในระหว่างการสลายการชุมนุมเดือนพ.ค. 53 โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การใช้กำลังทหารและการใช้กระสุนจริงในระหว่างการสลายการชุมนุมเป็นเรื่องที่จำเป็น เนื่องจากมีกลุ่มติดอาวุธอยู่ในพื้นที่ชุมนุม หรือชายชุดดำ ซึ่งยิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และผู้ชุมนุม และยังกล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตราว 20 คน ที่สรุปได้แล้วว่า เสียชีวิตจากกลุ่มติดอาวุธภายในผู้ชุมนุม
ผู้ดำเนินรายการ มิชาล ฮุสเซน ถามแย้งว่า แต่รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ที่ทำการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว ชี้ว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เสียชีวิตมาจากทหาร และถามอดีตนายกฯ ว่า ยอมรับหรือไม่ว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่ทหาร นายอภิสิทธิ์ตอบว่า จาก 20 คดีที่ได้ทำการสอบสวนไป มีเพียงสองคดีเท่านั้นที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนของทหาร นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ต้องไม่ลืมว่า ผู้ชุมนุมได้ปล้นปืนของทหารไปด้วย
ต่อคำถามของผู้ดำเนินรายการว่า นายอภิสิทธิ์ยอมรับหรือไม่ว่าตนมีส่วนรับผิดชอบในการเสียชีวิตบางส่วน เขาตอบว่า ไม่ เพราะการตั้งข้อกล่าวหาต่อตนเองในตอนนี้ มาจากคดีการเสียชีวิตของคนที่ไม่ใช่ผู้ชุมนุมด้วยซ้ำ (คดีพัน คำกอง คนขับรถแท็กซี่) แต่เป็นเพียงผู้เห็นเหตุการณ์ที่บังเอิญออกมาดูและโชคร้ายที่เขาโดนลูกหลงเข้า (got caught)
เขากล่าวยอมรับว่า ตนเป็นผู้สั่งใช้กระสุนปืนจริง แต่มิได้รู้สึกเสียใจต่อการออกคำสั่งดังกล่าว เพราะเป็นวิธีที่จะสามารถจัดการกับกลุ่มผู้ที่ติดอาวุธได้ และกล่าวว่า เหตุการณ์เมื่อปี 53 เป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงจริง แต่หากไม่มีกลุ่มชายชุดดำที่มีอาวุธและยิงตำรวจ ทหารและประชาชน ความรุนแรงและความเสียหายดังกล่าวก็คงจะไม่เกิดขึ้น
อดีตนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลนี้ (รัฐบาลอภิสิทธิ์) เป็นรัฐบาลแรกที่อนุญาตให้ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ อัยการ และศาลเข้าสืบสวนสอบสวน ตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว เขากล่าวว่า ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ตนก็จะยอมรับโทษนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นโทษประหารชีวิต และขอเรียกร้องแบบเดียวกันต่อนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และสมาชิกในรัฐบาลนี้ ให้ทำแบบเดียวกันด้วย
อนึ่ง กรณีที่นายอภิสิทธิ์กล่าวอ้างถึง รายงานของ คอป. ที่ระบุว่า " มีราว 20 กรณีที่ผู้เสียชีวิตเกิดจากการกระทำของฝ่ายผู้ประท้วงซึ่งมีอาวุธ" ตามที่ คอป.โดยนายสมชาย หอมลออ แถลงเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ระบุมีเพียง 9 กรณี เท่านั้น และ คอป.ก็ยังมิได้ระบุว่าเป็นการกระทำของผู้ชุมนุม เพียงระบุว่าเป็นการกระทำของชายชุดดำ ที่ คอป.ระบุว่า หลายคนใกล้ชิด เสธ.แดง การ์ด นปช. รู้เห็นเป็นใจ แต่ไม่มีหลักฐานโยงถึงแกนนำ(ดู http://prachatai.com/journal/2012/09/42697 )
0000
www.youtube.com/watch?v=WzSJyFVQlTU
บทสัมภาษณ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในรายการ BBC World News
(ถอดความและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดยประชาไท)
อภิสิทธิ์: ผมคิดว่าทุกคนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และเราก็เป็นฝ่ายตั้งกระบวนการยุติธรรมขึ้นมาเพื่อมาสอบสวนการตายของผู้ชุมนุม และนั่นก็นำมาสู่การรับผิดชอบ
มิชาล: ซึ่งนั่นก็รวมถึงตัวคุณด้วย เพราะคุณคือผู้ที่อยู่ในตำแหน่งขณะที่ประชาชน 90 คน เสียชีวิตจากการประท้วง
อภิสิทธิ์: ถูกต้องครับ เราได้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง รวมถึงคณะตำรวจ และกลไกในกระบวนการยุติธรรมซึ่งต้องดำเนินการ แต่ว่าข้อกล่าวหาผมนั้นเกินเลยไป
มิชาล: ทำไมข้อกล่าวหาจึงเกินเลยไป ในเมื่อคุณคือคนที่อยู่ในอำนาจขณะที่มีการใช้กำลังสลายพื้นที่การชุมนุม
อภิสิทธิ์: แต่ถ้าคุณจำได้ สถานการณ์ขณะนั้นคือมีประชาชนยึดพื้นที่ใจกลางเมือง และมีประชาชนที่ติดอาวุธ พวกเขามีการปาระเบิด และปาเข้าใส่ประชาชน เราไม่ได้แม้แต่เข้าไปสลายการชุมนุม แต่เราเพียงแค่ตั้งด่านตรวจเช็ค และก็มีการต่อสู้กันบนถนน และโชคร้ายที่มีประชาชนเสียชีวิต
มิชาล: แต่ว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็เสียชีวิตจากการยิงของทหาร
อภิสิทธิ์: ไม่ใช่แบบนั้น
มิชาล: แต่ฮิวแมนไรท์วอชท์ ได้ทำรายงานสืบสวนสอบสวนอย่างละเอียดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 และรายงานก็ระบุว่าเกือบทุกคนที่ตายนั้นถูกทหารยิง
อภิสิทธิ์: รายงานที่ละเอียดที่สุดนั้นทำโดย คอป. และมีราว 20 กรณีที่ผู้เสียชีวิตเกิดจากการกระทำของฝ่ายผู้ประท้วง ซึ่งมีอาวุธ
มิชาล: แต่นั่นคือจำนวนน้อย เรากำลังพูดถึงความตาย 90 กรณี คุณควรจะยอมรับว่าการตายส่วนใหญ่นั้นเกิดจากกองทัพไม่ใช่หรือ?
อภิสิทธิ์: ไม่ครับ ไม่ เพราะว่า มีการไต่สวนการตายอยู่ราว 20 กรณี และเพียงแค่ 2 กรณีเท่านั้นที่มีการสรุปว่าเป็นการตายจากการถุกกระสุนปืนซึ่งใช้ในกองทัพ แต่คุณก็ควรจะต้องจำด้วยว่าผู้ชุมนุมได้ขโมยอาวุธจากกองทัพไป และในการจะกล่าวหาที่เจาะจงเช่นนี้ คุณต้องรู้เกี่ยวข้อหาที่ถูกแจ้งไว้เสียก่อน
มิชาล: แต่คุณก็ยอมรับใช่ไหมว่าคุณต้องรับผิดชอบต่อการตายในบางกรณี คุณยอมรับไหม?
อภิสิทธิ์: ไม่ครับ การแจ้งข้อหาต่อผมในขณะนี้ คือการเสียชีวิตของคนที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมเลยด้วยซ้ำ (คดีของนายพัน คำกอง) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีรถตู้คันหนึ่งพยายามฝ่าแนวกั้นของทหาร จากนั้นจึงมีการยิงขึ้น คนนั้นเพียงแต่ออกมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วก็โชคร้ายที่เขาโดนลูกหลงเข้า (got caught)
มิชาล: อันนี้เป็นคดีแรกที่มีการสรุปว่า....
อภิสิทธิ์: ใช่ แต่ถ้าจะพูดว่ารัฐบาลเป็นผู้สั่งทหารให้ฆ่าประชาชนก็ไม่ได้ตรงตามสิ่งที่เกิดขึ้นทีเดียว
มิชาล: แต่คุณอนุมัติให้ใช้กระสุนจริง
อภิสิทธิ์: เราอนุมัติให้ใช้กระสุนจริง
มิชาล: คุณเสียใจต่อการตัดสินใจดังกล่าวหรือไม่
อภิสิทธิ์: แต่ถ้าอย่างนั้นคุณจะสู้กับกลุ่มคนที่ติดอาวุธได้ยังไงล่ะ
มิชาล: ฉะนั้นคุณก็ไม่เสียใจต่อการใช้กระสุนจริง?
อภิสิทธิ์: ผมเสียใจที่มีผู้เสียชีวิต แต่ก็มีคำสั่งก็ชัดเจนว่าพวกเขาควรใช้กระสุนจริงอย่างไรภายใต้สถานการณ์แบบไหน คำสั่งซึ่งออกโดยรองนายกรัฐมนตรี (สุเทพ เทือกสุบรรณ) นั้น ประการแรกเพื่อป้องกันตัวเอง เพื่อป้องกันการเสียชีวิตของประชาชนคนอื่น และพวกเขาต้องใช้อย่างระมัดระวังสูงสุด และถ้ามีความเป็นไปได้ที่จะต้องใช้อาวุธต่อคนเหล่านี้ที่บางครั้งก็ปะปนอยู่กับฝูงชน ... พวกเขาก็ควรหลีกเลี่ยง และถ้าการใช้คำสั่งนี้แปลว่าพวกเราสั่งให้มีการฆ่าคน ผมคิดว่าไม่แฟร์
มิชาล: โอเค คุณ...
อภิสิทธิ์: ขอให้ผมพูดนะครับ ผมได้เข้าร่วมการประชุมหลายครั้งทั่วโลก กรณีการประชุมกลุ่มประเทศ G-20 ก็มีบางคนเสียชีวิตเพราะเจ้าหน้าที่พยายามปฏิบัติหน้าที่ของตน และต้องมีการไต่สวนการตาย เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นการตายที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่มีที่ไหนที่นายกรัฐมนตรีจะต้องมารับผิดชอบกับปฏิบัติการใดๆ ก็ตาม
มิชาล: แต่ท่านนายกฯ คะ นี่คือเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองที่เลวร้ายที่สุดที่ประเทศของคุณได้พบในช่วงหลายสิบปีมานี้ เรื่องที่เรากำลังพูดกันมันค่อนข้างใหญ่ และนี่เป็นปัญหาในยุคที่คุณอยู่ในอำนาจ
อภิสิทธิ์: เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เรามีการประท้วงโดยมีประชาชนที่มีอาวุธเข้าร่วม หากนี่เป็นการประท้วงโดยสันติ ภายใต้รัฐธรรมนูญ และถูกกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าพวกเขาไม่มีชายชุดดำ ซึ่งมีอาวุธ ยิงตำรวจ ยิงประชาชน ยิงทหาร ก็จะไม่มีการสูญเสียเกิดขึ้น
มิชาล: คุณรู้สึกอย่างไร ที่กรณีเหล่านี้กำลังจะกำหนดความทรงจำเกี่ยวกับช่วงที่คุณดำรงตำแหน่ง และคิดว่าผู้คนจะจดจำคุณในช่วงเวลาที่อยู่ในอำนาจอย่างไร
อภิสิทธิ์: ผมไม่คิดว่าเป็นปัญหาอะไรนะครับ ผมคิดว่าประชาชนรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นในปี 2552 และ 2553 และสิ่งที่แตกต่างก็คือ ในฐานะรัฐบาล ซึ่งชุดก่อนเคยมีเหตุการณ์รุนแรงหลายครั้ง แต่เราเป็นรัฐบาลแรกที่อนุญาตให้ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานอัยการสูงสุด และศาลทำงานในเรื่องนี้ และผมยอมรับไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาอย่างไร แม้แต่จะเป็นคำตัดสินประหาร ผมก็จะยอมรับ และผมก็ขอให้อดีตนายกรัฐมนตรีและสมาชิกในรัฐบาลชุดนี้ให้พวกเขาปฏิบัติตามเช่นเดียวกัน เพราะพวกเขาก็มักจะหาทางออกกฎหมายนิรโทษกรรมพวกเขาเองเสมอ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยทำมาก่อน ผมยินดีจะถูกฟ้องร้อง ผมจะต่อสู้ ผมจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในศาล และไม่ว่าเหตุผลใดก็ตามที่มีคำพิพากษาว่าผมผิด ผมก็จะยอมรับมัน
**หมายเหตุ: แก้ไขล่าสุด 13.30 น., 11 ธ.ค. 2555
- อ่าน ฮิวแมนไรท์วอท์ชเปิดรายงานกรณีสลายชุมนุมเสื้อแดง ชี้การกระทำของ รบ. เสมือนการสังหารที่เลือดเย็น
ที่ http://www.prachatai.com/journal/2011/05/34383
หรือ อย่างย่อ อ่านที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/12/pt-dnn-hrw.html
+++
โฆษก ปชป. ชี้อภิสิทธิ์สัมภาษณ์บีบีซีสร้างความชัดเจนการใช้กฎหมาย-ทำต่างชาติยอมรับ
จาก www.prachatai.com/journal/2012/12/44164 . . Tue, 2012-12-11 18:20
( และมีที่มา : เพจ Abhisit Vejjajiva )
ตามที่เมื่อวานนี้ (10 ธ.ค.) รายการ BBC World News ทางสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ ได้เผยแพร่การสัมภาษณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อเรื่องการสั่งฟ้องและการมีส่วนรับผิดชอบในคดีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมที่มีสาเหตุจากเจ้าหน้าที่รัฐในระหว่างการสลายการชุมนุมเดือนพ.ค. 53 โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การใช้กำลังทหารและการใช้กระสุนจริงในระหว่างการสลายการชุมนุมเป็นเรื่องที่จำเป็น เนื่องจากมีกลุ่มติดอาวุธอยู่ในพื้นที่ชุมนุม หรือชายชุดดำ ซึ่งยิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และผู้ชุมนุม และยังกล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตราว 20 คน ที่สรุปได้แล้วว่า เสียชีวิตจากกลุ่มติดอาวุธภายในผู้ชุมนุม
เขากล่าวยอมรับว่า ตนเป็นผู้สั่งใช้กระสุนปืนจริง แต่การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นวิธีที่จะสามารถจัดการกับกลุ่มผู้ที่ติดอาวุธได้ และกล่าวว่าเหตุการณ์เมื่อปี 53 เป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงจริง แต่หากไม่มีกลุ่มชายชุดดำที่มีอาวุธและยิงตำรวจ ทหารและประชาชน ความรุนแรงและความเสียหายดังกล่าวก็คงจะไม่เกิดขึ้นนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ล่าสุด วันนี้ (11 ธ.ค.) เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่กล่าวถึงการเดินทางไปอังกฤษของนายอภิสิทธิ์ และให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบีบีซี เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย โดยนายชวนนท์กล่าวว่านายอภิสิทธิ์ได้สร้างความชัดเจนในเรื่องการสั่งการตามกฎหมาย การดูแลความสงบเรียบร้อย มีชายชุดดำติดอาวุธ และนายอภิสิทธิ์ ยืนยันถึงความพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่หนีเพื่อรักษาระบบของบ้านเมืองเอาไว้ จึงเชื่อว่าสื่อมวลชนต่างชาติมีกระแสตอบรับนายอภิสิทธิ์ในทางบวก เพราะกล้าสู้กับกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องที่ต่างชาติให้การยอมรับ แต่คนหนีคำพิพากษา หนีความผิด ให้ร้ายประเทศทุกวันเป็นคนที่ต่างชาติดูถูกดูแคลน ซึ่งนายอภิสิทธิ์พร้อมชี้แจงในทุกเวทีและจะไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ดีเอสไอใน วันที่ 13 ธ.ค.นี้
ส่วนที่ดีเอสไอจะตั้งเงื่อนไข 4 ข้อคือ 1 ห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานในคดี 2 ไม่มีพฤติกรรมหลบหนีไปต่างประเทศ 3 ไม่ก่อเหตุประการอื่น 4 ไม่ขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำคดี เพื่อให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ปฏิบัติตามนั้น ตนเชื่อว่า นายอภิสิทธิ์ ไม่มีพฤติกรรม 4 ข้อที่จะเป็นปัญหาอยู่แล้ว จึงควรไปใช้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ มากกว่า
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย