.
ยะเยียบ
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1688 หน้า 89
จะว่าไป การอยู่ในประเทศไทยแลนด์นั้น สิ่งที่เราได้เรียนรู้กันมาตามลำดับของการเจริญทางสติกอปรด้วยปัญญาคือการเรียนรู้ว่า อย่าไปอินังขังขอบกับการมอบ "รางวัล" ใดๆ ในประเทศนี้
ไม่เพียงแต่ไม่อินังขังขอบ เรายังเรียนรู้ว่าใครก็ตามที่ได้รับรางวัลอะไรสักอย่างในประเทศนี้ มันแสดงให้เห็นว่ารางวัลนั้น และคนผู้นั้นชักจะมีอะไรไม่ชอบมาพากล หรือพูดให้ง่ายลงว่า คนผู้นั้นคือคนที่ "เขา" อยากขอไปเป็นพวก หรือ คนผู้นั้นได้ไปเป็นพวกของ "เขา" แล้ว
จากประสบการณ์ เราได้เห็น "คน" เปลี่ยนพวก เปลี่ยนข้าง เปลี่ยนอุดมการณ์ เพราะหวังรางวัลกันมาก็มาก บ้างก็รู้ตัวบ้างก็ไม่รู้ตัว
รางวัลเหล่านั้นอาจไม่ได้นำมาซึ่งทรัพย์ศฤงคารโดยตรงแต่ก็นำมาซึ่งวิถีแห่งการไหลมาเทมาของศฤงคารนั้นๆ เพราะมันเอาไปหลอมให้คนเชื่อถือไว้ใจเป็นต้นทุนทางสังคมที่ล้ำค่ายิ่งสำหรับสังคมที่บูชาโล่ ประกาศนียบัตร และถ้อยแสดงเกียรติคุณอย่างฟุ้งเฟ้อ
เราอยู่ในสังคมที่ยกย่องผู้คนกันที่
- หูย เขาจบจากอ๊อกซ์ฟอร์ดเชียวนะ จะมาว่าเค้าหนีทหาร สั่งใช้กระสุนจริง ไม่เข้าใจประชาธิปไตยได้ยังไง เค้าไม่ใช่พวกโกงบ้านโกงเมืองนะ
- หูย นี่เขาได้รางวัลกวีแห่งชาติเชียวนะ เพราะฉะนั้น เขาต้องเป็นคนดีแน่ๆ
- หูยนี่ ต้นตระกูลเค้ารับใช้ชาติมาหลายชั่วคน เป็นไปไม่ได้ที่เค้าจะทำอะไรไม่ดี
- หูยนี่ คนนี้เค้าบริจาคเงินตั้งเยอะ คนดีๆ แบบนี้หายาก
- หูยนี่ เค้าได้รับรางวัลส่งเสริมมนุษยชนดีเด่นเชียวนะ เราต้องศรัทธาสิ่งที่เค้าทำนะ ถ้าเค้าเป็นคนไม่ดี จะได้รางวัลได้ไง ฯลฯ
(เอ๊ะ คำว่า ตรรกะ สะกดยังไงเหรอ?)
แม้จะเรียนรู้ว่าไม่ต้องไปอะไรนักหนากับรางวัลที่ประเทศนี้เค้ามอบให้กัน ไปอวยกันเองเออกันเอง แต่สำหรับรางวัลเกียรติยศ "ผู้ส่งเสริมมนุษยชน" ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มอบให้แก่ นายวีระ สมความคิด, พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี), พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ นั้นเป็นที่กังขาของสังคมเป็นอย่างยิ่ง
อีกสองท่านคือ นางอรุณี ศรีโต และ นางสายสุรีย์ จุติกุล-ซึ่งหากคณะกรรมการสิทธิฯ อยากให้รางวัลของท่านเป็นรางวัลระดับกรม, กอง แจกๆ กันให้หมดหน้าที่ แจกกันเงียบๆ รู้กันสัก 15 คน เป็นข่าวสัก 2 นาที ไม่มีบทสนทนา ชื่นชม หรือวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีความเห็นบวกหรือลบตามมา เรียกว่าให้แล้วเท่าทุน การมอบรางวัลให้คุณอรุณี หรือคุณสายสุรีย์ ก็ดูเหมาะสม เข้าเป้า
แต่ดูเหมือนคณะกรรมการสิทธิฯ ไม่ได้อยากเข้าเป้าแต่อยากล่อเป้า หวยจึงมาออกที่บุคคลสามท่านที่สังคม-อึ้ง-ว่า เอ่อ...เป็นผู้ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตั้งแต่เมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร?
อย่าลืมว่าการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนไม่ใช่แค่เป็นคนใจบุญ ชอบเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า ช่วยหมาจรจัด ทำงานอาสาสมัคร บำเพ็ญประโยชน์ เป็นอาสาสมัครกู้ภัย หรือมีความชำนาญในการผ่าศพ ฯลฯ แล้วมันจะทำให้คุณเป็นนักส่งเสริมสิทธิมนุษยชนโดยอัตโนมัติ
การที่องค์กรธุรกิจหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขายมือถือ หรือขาย "สุขภาพจิต" การจัดกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรผ่านการทำการกุศลหรือทำประโยชน์แก่สาธารณะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เป็นเรื่อง win-win องค์กรได้ภาพลักษณ์ สังคม (เชื่อกันว่า) ได้ประโยชน์
องค์กรนั้นอาจจัดงานดนตรี กวี ศิลปะ รับบริจาคหนังสือ แจกหนังสือ ทำห้องสมุด สุดท้ายได้ชื่อว่า โอ้ววว ช่างเป็น "คนดี" จังเลย พอเป็นคนดี ครานี้จะขายอะไร ราคาเท่าไหร่ คนก็ไม่เกี่ยงที่ซื้อเพราะเชื่อว่า "กำไร" นั้นจะกลับคืนสู่ชุมชน สู่สังคม (อย่างน้อยก็เชื่อ)
แต่ลำพังการทำการตลาดแบบนี้คงไม่พอที่จะทำให้ได้รางวัลส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เว้นแต่กิจกรรมดนตรี กวี ศิลปะ ที่เขาจัดนั้นมีเป้าหมายในการต่อสู้เพื่อสิทธิของเพื่อนมนุษย์ที่ถูกละเมิดอย่างเอาจริงเอาจัง
แต่เท่าที่เห็น ดนตรี กวี ศิลปะ และหนังสือในกิจกรรมเหล่านั้นคือส่วนหนึ่งของการ "ละเมิด" สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศเสียด้วยซ้ำไป
ไม่เพียงแต่การ "ทำความดี" จะไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับการ "ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน" การที่ใครคนใดคนหนึ่งไม่มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่นก็ไม่ได้แปลว่าเขาคนนั้นเป็นผู้ที่มีบทบาทการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนยอดเยี่ยม
เพราะมิเช่นนั้นเราต้องให้รางวัลแก่ผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะทุกคนที่ปฏิบัติตามกฎจราจรและไม่ดื่มสุราขณะขับรถ!
ก่อนจะดูรายชื่อรางวัลล่อเป้าของคณะกรรมการสิทธิฯ เรามาทบทวนกันหน่อยดีกว่า สิทธิมนุษยชนคืออะไร? ทำไมมันจึงสำคัญ
มันสำคัญมานานหรือยัง หรือว่าเพิ่งจะสำคัญ?
จะเปิดกี่ตำราก็จะเขียนตรงกันว่า : สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด เป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลนั้นมีความเป็นมนุษย์ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องมีเพื่อการใช้ชีวิต และโดยสิทธิเหล่านี้จะไม่มีใครสามารถมาพรากไปจากบุคคลนั้นๆ ได้
นอกจากนี้ อาจจำแนกเป็น สิทธิพลเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางการเมือง สิทธิทางสังคม และสิทธิทางวัฒนธรรม
ดังนั้น เราจึงได้ยินกันอยู่เนืองๆ ว่า คนคนหนึ่งเกิดมาย่อมมีสิทธิที่จะเชื่อ จะนับถือศาสนา จะธำรงไว้ซึ่งความเชื่อทางการเมืองของตนเอง จะทำมาหากินอย่างไม่ถูกกีดกัน มีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันสุขภาพ โดยไม่มีใครมากล่าวโทษว่า "สมน้ำหน้า อยากกินลูกชิ้นผสมบอแรกซ์มากจนเป็นมะเร็ง แล้วต้องมาเข้าโรงพยาบาลผลาญเงินภาษีประชาชนคนอื่น"
(สำหรับบางประเทศเขาบ่นว่าพวกกินเหล้า สูบบุหรี่นี่เป็นภาระในการรักษา ดูแล แทนที่หมอ จะไปดูแลคนป่วยคนอื่น ต้องมารักษามะเร็งปอด มะเร็งตับให้ขี้เหล้า แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครตั้งคำถามว่า แล้วถ้าคนป่วยคนนั้นเป็นคนไม่กินเหล้าสูบบุหรี่เลย แต่เป็นนายหน้าค้ามนุษย์ หมอจะพูดอย่างเดียวกันหรือไม่ว่า-ทำไมต้องมานั่งเสียเวลารักษาโรคให้อาชญากร?)
ความหมายอย่างเป็นทางการนี้มีขึ้นเมื่อสมัชชาสหประชาชาติประกาศรับรองปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน วันที่ 15 ธันวาคม 2491
ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยปี 2491 ยังจับไข่ล้มต้มไข่กินเพราะการรัฐประหารปี 2490 ไม่ต้องพูดถึงว่าเราได้บรรจุเอาความหมายของคำว่าสิทธิมนุษยชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ "อัตลักษณ์" รัฐธรรมนูญไทยหรือไม่ เพราะในเวลานั้น ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเวลาของการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มอุดมการณ์สองกลุ่ม
คือกลุ่มที่มั่นใจในลัทธิรัฐธรรมนูญกับกลุ่มที่พยายามจะบอกประชาชนว่ารัฐธรรมนูญเป็นลูกพระยาพหลฯ และพยายามทุกวิถีทางที่จะล้มรัฐธรรมนูญ และเราก็ล้มมาได้สำเร็จเรื่อยมา จนเป็นประเทศที่เขาบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตยนะ แต่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ มีการเลือกตั้งแต่นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
มีไรป่าววว?
เหตุที่นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็เพราะหา "คนดี" ไม่ได้ นักการเมืองมีแต่เลวๆ ขืนให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งประเทศชาติก็ล่มจมกันพอดี อีกประการหนึ่งประชาธิปไตยเสียงข้างมากไม่เหมาะกับประเทศไทย คนไทยยังโง่อยู่ มีโจรมากกว่าพระ จะให้เสียงข้างมากชนะก็เป็นโจราธิปไตย-แย่จุงเบย-อย่ากระนั้น เรามาเป็นธรรมาธิปไตยกันดีกว่าพี่น้อง
สิทธิมนุษยชน? อร้ายยย นั่นมันของฝรั่ง ไม่ต้องไปลอกเขามา เรามีสิทธิมนุษยชนแบบไทย ไพร่ฟ้าหน้าใส มีอะไรไปสั่นกระดิ่ง ผู้ปกครองเราดูแลทุกคนทั่วหน้าไม่เลือกยากดีมีจน เรามีผู้ปกครองดีแบบนี้เลยไม่ต้องฆ่าฟันกันจนต้องประกาศสิทธิมนุษยชนแบบฝรั่ง เพราะคนไทยจิตใจดีงาม เอื้อเฟื้อ ประนีประนอม แล้วเราพากันฝ่าวิกฤตการณ์มาได้เพราะผู้นำเราเก่ง ฉลาด เพราะฉะนั้น ให้กลับไปดูหลักการสิทธิมนุษยชนของเราตั้งแต่สมัยสุโขทัยเลย ใครก็สู้เราไม่ได้
สอนกันมาแบบนี้ พอเด็กอ้าปากจะถามเรื่องการเกณฑ์แรงงาน ระบบมูลนาย ไพร่ทาส สิทธิเหนือร่างกายของ "มนุษย์" ที่สังกัด "รัฐ" โบราณเหล่านั้นว่าหากมีคอนเซ็ปต์ว่าด้วยสิทธิไฉนผัวจึงขายเมียได้ พ่อขายลูกได้ ตกลงใครเป็นเจ้าชีวิตใครบ้าง?
ถามมากเข้าก็จะโดนเอ็ดกลับมาว่า-บอกว่าอย่าไปเอาหลักการของฝรั่งมาใช้กับของเรามันไม่เหมือนกัน พวกเธอนี่รู้ครึ่งๆ กลางๆ เรื่องไทยก็ไม่รู้ เรื่องฝรั่งก็ไม่กระจ่าง ไปดูสิระบบทาสไทยกับทาสฝรั่งต่างกันราวฟ้ากับเหว ระบบมูลนายกับระบบฟิวดัลของฝรั่งมันเหมือนกันที่ไหน!
กว่าคำว่า "สิทธิมนุษยชน" จะได้ลงหลักปักฐานในเมืองไทยก็เมื่อเรามีนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก มีประชาธิปไตยเต็มใบกับเขาเป็นครั้งแรกในทศวรรษที่ 2530
มีเพื่อจะได้ตอกย้ำกันอีกคราว่า เป็นไงเล่า ประชาธิปไตยเต็มใบมันนำมาซึ่ง บุฟเฟ่ต์คาบิเน็ตไงจ๊ะ ทหารออกมาทำรัฐประหารกันเถิดจะเกิดผล
การต่อต้านรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2535 และรัฐธรรมนูญปี 2540 น่าจะเป็นครั้งแรกที่สิทธิมนุษยชนต้องกลายมาเป็นแก่นสารที่สำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญ
แต่กระนั้น ด้วยความที่เชื่อว่าชาวบ้านยังโง่ รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงผลิตองค์กรอิสระมากมายตามกลุ่มอาการหวาดกลัว "การเลือกตั้ง" หวาดกลัว "ดุลยพินิจของประชาชน" องค์กรอิสระอันยุ่บยั่บนี้ไว้เพื่อถ่วงดุลนักการเมืองเลวที่ประชาชนเลือกมาเพราะยังโง่ ยังถูกนักการเมืองหลอก
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มีขึ้นด้วยปรัชญาว่าด้วยการประกันสิทธิที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิดจึงเป็นองค์กรที่มาจากการแต่งตั้ง!!!! ที่ไม่มีการถ่วงดุลจากเสียงของประชาชนเลยแม้แต่น้อย (ที่มาของคณะกรรมการก็ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนแล้วนี่หว่า)
ทว่า ตอนนั้นพวกเราต่างไม่มีใครเฉลียวใจ เพราะถูกล้างสมองมานานว่า เฮ้ยยยย ท่านๆ พวกนี้ ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่เล่นพวกเหมือนพวกมาจากการเลือกตั้ง อู๊ยยยย เค้าต้องเลือกเอาแต่คนดีๆ น่านับถือมาทั้งนั้นแหละ อีคำ อีศรี อย่างเราจะไปรู้อาร้ายยย
ค่ะ อีคำ อีศรี อีแจ๋ว อย่างเราจะไปรู้อารายย จนกระทั่งมีการทำรัฐประหาร จนกระทั่งมีการล้มการเลือกตั้งด้วยการบอยคอต จนกระทั่งมีการสังหารประชาชนด้วยอาวุธสงครามแล้วคณะกรรมการสิทธิฯ ท่านนั่งเป็นเบื้อใบ้ นั่งสวยๆ นั่งนิ่งๆ
อ้อ ท่านไม่นิ่งบ้างเป็นบางครั้ง เช่น ท่านเดินทางไปแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีที่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยวิถีทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย
โอ้ว ท่านทำหน้าที่ของท่านยอดเยี่ยมมากค่ะ
มีนักโทษการเมืองเต็มคุก โดนจับกุมคุมขังอย่างไม่ชอบธรรม โดนขังทั้งที่คดียังไม่ตัดสินจนถึงที่สุด นักโทษการเมืองถูกใส่ตรวน นักโทษที่ต้องคดีที่เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองตายในคุก ท่านก็ยังนั่งสวย ไม่สวยเปล่า เลือดท่านเย็นยะเยียบทีเดียว
แล้วท่านก็ลุกขึ้นมาตบหน้าประชาชนด้วยเลือดอันเย็นยะเยียบของท่านด้วยการประกาศรางวัลแก่บุคคลที่สนับสนุนการใช้เครื่องตรวจจับระเบิดกำมะลอ ไม่นับผลงานชันสูตรศพกำมะลอหลังการสลายการชุมนุม (โปรดดูคลิปการตรวจกระสุนพยาบาลกมลเกด)
ท่านประกาศรางวัลแก่คนที่ปลุกเร้าให้เราต้องขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยสำนึก patriotic อันล้าหลัง การกระทำของเขานำมาซึ่งสงครามชายแดน สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ท่านมอบรางวัลให้กับเจ้าของวาทะ "ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน" โดยที่ท่านมิได้เฉลียวใจว่าการฆ่าเวลานั้นเป็นบาปไปตั้งแต่เมื่อไหร่????
การที่ท่านนั่งเป็นกรรมการสิทธิฯ โดยมิได้ปกป้องสิทธิของมนุษย์นั้นถือว่าท่านนั่งฆ่าเวลาอยู่หรือไม่? และบาปหรือเปล่า?
หรือการนั่งเฉยของท่านนำมาซึ่งการฆ่า สิ่งนั้นบาปหรือไม่?
แต่เอาล่ะ เราจะตอบคำถามนี้ได้อย่างไรว่าทำไมการถักโครเชต์ฆ่าเวลาของฉันจึงบาปกว่าการฆ่าคนไปได้ ไม่นับว่าวาทะนี้เปล่งออกมาในช่วงที่ความขัดแย้งรุนแรงของการเมืองไทยกำลังพุ่งขึ้นสูงสุด
และบุคคลเดียวกันนี้ได้กล่าวว่า "คนส่วนใหญ่เรียกร้องสิทธิมนุษยชน แต่คนมีปัญญาเรียกร้องหนทางพ้นทุกข์"
วาทะนี้เป็นอุปสรรคต่อหลักการประชาธิปไตยที่ยึดเอาเสียงส่วนใหญ่เป็นหลัก เพราะกำลังใช้โวหารลวงว่า "คนส่วนใหญ่" คือคนไม่มีปัญญา เป็นพวกดาดๆ พื้นๆ
ในขณะที่คนมีปัญญาย่อมมีจำนวนน้อยกว่า ทำในสิ่งที่ฉลาดกว่าคือไม่ได้สนใจสิทธิมนุษยชน แต่สนใจหนทางพ้นทุกข์!
หากท่านเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ซื่อตรงต่อหลักการของสิทธิมนุษยชน ท่านจะมอบรางวัลให้กับเจ้าของวาทะที่เป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ทั้งเป็นอุปสรรคต่อหลักการประชาธิปไตยเช่นนี้ได้อย่างไร? เพราะคำว่าหนทางพ้นทุกข์นั้นกำกวมและเปิดทางให้เจ้าของวาทะกล่าวอ้าง บิดพลิ้วไปต่างๆ นานาตามสถานการณ์และกลุ่ม "เป้าหมาย" ในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างไม่มีวันอับจน
ขอยอมรับ ณ บรรทัดนี้ว่า ต่อการดำรงอยู่ในตำแหน่งของคณะกรรมการสิทธิฯ ที่กินภาษีประชาชนถึงปีละเกือบสองร้อยล้านบาท
พวกท่านช่างมีจิตใจที่ "เย็น" และมีดวงหน้าที่ "แกร่ง" มากเหลือเกินในการคัดเลือกบุคคลมารับรางวัลของท่าน
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย