http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-08

ตบะในวัฒนธรรมไทย(ต่อ) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ตบะในวัฒนธรรมไทย (ต่อ)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1686 หน้า 30 


ครั้งก่อน ผมได้พูดถึงบทบาทและความสำคัญของความรู้เชิงตบะในสังคมไทย (อันที่จริงก็อาจพูดได้ว่าสังคมอุษาคเนย์ทั้งหมด) เป็นความรู้อีกชนิดหนึ่งที่คอยกำกับความรู้ชนิดอื่นๆ ด้วยซ้ำ เช่นหมอตำแยไม่ได้ทำคลอดด้วยความรู้ทางแพทย์อย่างเดียว แต่ต้องมีความรู้เชิงตบะกำกับอยู่เบื้องหลังความรู้ทางแพทย์ด้วย เกือบเหมือนเป็นศาสนาอีกศาสนาหนึ่ง 

คราวนี้ผมขอคุยถึงบทบาทและสถานะของความรู้ประเภทนี้ในวัฒนธรรมไทย


ประการแรกที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ความรู้ประเภทนี้เป็นความรู้ของผู้ชาย ไม่แต่เพียงผู้หญิงไม่เกี่ยวเท่านั้น ผู้หญิงไม่พึงเกี่ยวด้วยซ้ำ เพราะจะทำให้สูญเสียสถานะทางสังคมของเธอไป

ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายคือ ผู้หญิงไม่พึงสักร่างกาย ใครมีรอยสักบนร่างกายก็แสดงว่าเป็นผู้หญิง "ก๋ากั่น" (คำนี้น่าสนใจ ไม่มีในพจนานุกรม มีแต่ก๋าแปลว่าองอาจร่าเริง ผมไม่ทราบว่ามาจากภาษาอะไร แต่ไม่อาจแปลว่าองอาจร่าเริงได้ เว้นแต่องอาจไปในทางกามารมณ์และร่าเริงมากกว่าคนทั่วไป ผู้หญิงเท่านั้นที่มีสิทธิจะ "ก๋ากั่น" ได้ ผู้ชายไม่ว่าเจ้าชู้ขนาดไหนก็ไม่มีสิทธิ "ก๋ากั่น") โชกโชน มาแล้ว เรียกว่าสถานะทางสังคมของเธอตกต่ำลงทันทีที่มีรอยสักบนร่างกาย

รอยสักในสมัยก่อน ไม่ใช่การประดับร่างกายเฉยๆ แม้จะสักอย่างวิจิตรบรรจงอย่างไร ก็มีนัยะไปในทางฤทธิ์เดชบางอย่างที่ได้จากความรู้เชิงตบะ (ของเจ้าตัวหรือของผู้สักก็ตาม) ทั้งนั้น และเพราะความรู้ประเภทนี้เป็นพื้นที่ของผู้ชายเพียงอย่างเดียว รอยสักบนร่างกายผู้หญิงจึงเป็นเครื่องหมายของการละเมิดอย่างหนึ่ง และแสดงปูมหลังในชีวิตของผู้หญิงคนนั้น ซึ่งน่ารังเกียจ (จะพูดถึงข้างหน้า)

ไม่เหมือนสมัยนี้นะครับ ที่รอยสักเป็นการประดับร่างกายเฉยๆ ผู้หญิงจึงมีรอยสักบนร่างกายให้เห็นได้ โดยไม่เสื่อมสถานะทางสังคม แม้แต่ที่ซึ่งไม่อาจเห็นได้ก็ยังสักกัน บางคนสักชื่อสามีเก่าไว้บนท้องน้อย เพื่อให้สามีลำดับถัดๆ ไปได้สำนึกบุญคุณของสามีคนแรกก็มี


ประการต่อมา น่าสังเกตนะครับว่า รอยสักบนร่างกายผู้หญิงแสดงว่า "โชกโชน" ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

อันที่จริง คำว่า "โชกโชน" ก็คือ "เจนจัด" นั่นเอง แต่เจนจัดไปในทางที่สังคมไม่รับรอง (สำหรับเพศนั้น หรือสำหรับสถานะนั้น) ผมคิดว่าเรื่องนี้อธิบายได้ (ส่วนหนึ่ง) จากวิถีทางที่จะได้มาซึ่งความรู้เชิงตบะ ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนก่อน นั่นคือผู้แสวงหาต้องออกไปจากสังคม โดยเฉพาะคือเข้าป่า ความเป็นหญิงหรือความเป็นชายนั้นมีได้เฉพาะในสังคม (หรือเมือง-หมู่บ้านในความคิดของคนแต่ก่อน) เพราะเป็นสิ่งที่สังคมกำหนดขึ้นเอง คนที่ออกไปจากสังคมย่อมสูญเสียสิ่งที่สังคมกำหนดว่าเป็นความเหมาะสม (propriety) ลงทั้งหมด หากเป็นผู้ชาย จะกลับมาสู่สังคมอีกได้ไม่ยาก เพราะสังคมยอมให้ผู้ชาย "โชกโชน" ได้ เช่น จันทโครพ หากไม่ตายก็คงกลับเมืองแล้วบอกว่าโดนอีนั่นอีนี่หลอก เกือบเอาชีวิตไม่รอด ก็เท่านั้นเอง แต่หากจันทโครพเป็นผู้หญิง จะเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังได้ เพราะนอกจากจันทโครพที่ต้องเผชิญกับหนุ่มหล่อในผอบแล้ว ไหนยังโจรอีกคนหนึ่งด้วย โอ้โฮ "โชกโชน" น่าดู

น่าสังเกตด้วยนะครับว่า ผู้หญิงที่มี "ฤทธิ์" ในสมัยหลังๆ มานี่ ล้วนเป็น "ฤทธิ์" ที่เกิดจากการบำเพ็ญเพียรทางพุทธศาสนา หรือการทำคุณประโยชน์แก่สังคมด้วยประการต่างๆ ทั้งนั้น ไม่มีใครมีชื่อว่ามีฤทธิ์จากความรู้เชิงตบะสักคน
เช่น นางนพมาศ, แม่ชีหางนกยูง, คุณแม่สิริ กรินทชัย หรือ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เป็นต้น



ประการถัดมานะครับ อย่างไรก็ตาม คิดดูให้ดี หากเป็นที่ยอมรับว่าความรู้เชิงตบะเป็นพื้นที่เปิดซึ่งผู้ชายหรือผู้หญิงก็เข้ามาได้ พระเจ้าตา (หรือพระเจ้ายาย) ก็อาจสอนความรู้ประเภทนี้แก่ผู้หญิง และนางสีดาซึ่งโตมากับพระเจ้าตา ก็น่าจะมีความรู้ประเภทนี้ติดตัวด้วย ทศกัณฐ์ก็อาจถูกนางสีดาเสกหนังควายเข้าท้อง ไม่ต้องร้อนถึงพระรามแต่แรกแล้ว

ผมจึงคิดว่า ที่หวงห้ามผู้หญิงก็เพราะความรู้เชิงตบะเป็นอำนาจ ซ้ำเป็นอำนาจที่อยู่นอกการควบคุมทุกชนิดด้วย จึงห้ามผู้หญิงไว้ค่อนข้างเคร่งครัด ผมไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงแต่ก่อนไม่มีอำนาจนะครับ มีและบางคนอาจมีมากด้วย แต่เป็นอำนาจที่ได้มาจากทางอื่น และถึงที่สุดแล้วอำนาจผู้หญิงก็อาจถูกล้มล้างได้ด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคม เช่น ฟันเสาเรือนสามที แล้วทิ้งอีเปรตนี้ไปเสียที เป็นต้น

ยิ่งกว่านี้ อำนาจของความรู้เชิงตบะเป็นอำนาจที่อยู่นอกการควบคุมของรัฐ ดังที่กล่าวในตอนที่แล้ว และยังเป็นอำนาจนอกพระพุทธศาสนาแบบไทยเสียอีก เพราะเป็นอำนาจที่ได้มาโดยไม่เกี่ยวกับบุญบารมีที่สั่งสมมาแต่ชาติปางก่อน 
อยู่ในแดนอันตรายอันเป็นพื้นที่ซึ่งผู้หญิงไม่ควรเข้าไปเป็นอันขาด


ประการต่อมา ได้กล่าวแล้วว่า เพื่อจะได้ความรู้ประเภทนี้ จำเป็นต้องถอยออกไปจากสังคม ลูกผู้ชายได้บวชเรียนก็จริง แต่วัดเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ใช่การถอยออกไป ฉะนั้น ความเป็นลูกผู้ชายจึงยังไม่เกิดเพราะได้บวชเรียน  ท่านอาจารย์กมลา ติษยวณิชย์ เล่าในงานของท่านว่า ธรรมเนียมแต่ก่อน เมื่อออกพรรษา พระอาจารย์มักจะพาศิษย์ซึ่งยังไม่ได้สึก ออกธุดงค์ทุกปี ท่านอธิบายว่าการธุดงค์ทำให้ได้ความรู้หลายอย่างในการเผชิญกับภัยอันตรายในป่า และได้ความสนุก เป็นเสน่ห์ที่ดึงให้พระไม่สึกไปในพรรษาเดียว แต่ผมคิดว่านี่คือการเสริมความรู้เชิงตบะให้แก่ประสบการณ์บวชเรียนในพระพุทธศาสนา จึงทำให้ทิด (ที่เคยไปธุดงค์) เป็นลูกผู้ชายแท้ในสายตาชาวบ้าน 
ปัจจุบัน เราอธิบายการบวชเรียนว่าได้รับการฝึกฝนอบรมทางศีลธรรมเพียงอย่างเดียว จึงพร้อมจะยกลูกสาวให้ทิด ผมออกจะสงสัยว่าไม่ใช่เรื่องศีลธรรมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทิดได้พิสูจน์ความเป็น "ลูกผู้ชาย" ว่าจะปกป้องคุ้มครองลูกสาวของตัวได้ด้วยต่างหาก ที่ทำให้ยินดียกลูกสาวให้

นี่เป็นสัญญาณว่า พระพุทธศาสนาในเมืองไทยต้องยอมรับความรู้เชิงตบะซึ่งมีอยู่ในหมู่ชาวบ้าน (หรือพูดกลับกันว่า วัฒนธรรมความรู้เชิงตบะยอมรับพระพุทธศาสนาก็ได้เหมือนกัน) ยิ่งในพระพุทธศาสนายอมรับว่า การเจริญสมาธิวิปัสสนาทำให้เกิดฤทธิ์ต่างๆได้ ก็ยิ่งสอดคล้องกับความรู้เชิงตบะของชาวบ้าน แม้พระพุทธองค์ทรงเตือนไว้แล้วว่า ฤทธิ์เหล่านี้ไม่มีผลอะไรต่อการทำให้รู้แจ้งแทงตลอด
แต่ดูเหมือนพระพุทธศาสนาแบบไทยก็ยังติดอยู่กับฤทธิ์ดังกล่าวมากทีเดียว


ประการต่อมา ได้กล่าวแล้วว่า ในบรรดาคนที่ถอยออกไปจากสังคมเพื่อแสวงหาความรู้เชิงตบะ มีคนที่ไม่ถอยกลับสู่สังคม หรือไม่กลับอย่างเต็มที่ ฤษีเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ถอยกลับอย่างถาวรประเภทหนึ่ง แต่ไม่ถอยแบบฤษีไม่ค่อยมีผลอะไรต่อสังคม อีกพวกหนึ่งที่ถอยออกถอยเข้าไปเรื่อยๆ ในชีวิตคือพระธุดงค์, ปะขาว และผู้บำเพ็ญเพียรด้วยการจาริกแสวงบุญ

อีกกลุ่มหนึ่งในบรรดาผู้ที่ถอยออกๆ เข้าๆ ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจคือ "โจร" ความหมายปัจจุบันของคำนี้ จำกัดอยู่แต่เพียงผู้ที่มีอาชีพขโมยและปล้นสะดม บดบังสีสันและมิติด้านอื่นๆ ของชีวิต"โจร"ไปจนหมดสิ้น แน่นอนว่า "โจร" ในสมัยก่อนคือข้าหนีเจ้าไพร่หนีนาย ซึ่งก็ผิดกฎหมายสมัยนั้นแน่
คนกลุ่มที่เรียกว่า ข้าหนีเจ้า ไพร่หนีนาย นั้นมีจำนวนมากมาแต่โบราณ และมักจะสมัครเข้าไปอยู่ใน "ซ่อง" ของขุนโจรที่มีความรู้เชิงตบะแก่กล้า เช่น พ่อนางบัวคลี่ในขุนช้างขุนแผน เป็นต้น ที่จริงนอกจากในวรรณกรรมแล้ว เรายังได้พบชุมชนของคนเหล่านี้ตามป่าห้วยเหวเขา ซึ่งอยู่รอดมาจนเข้าสู่สมัยใหม่อีกตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ (เท่าที่ผมนึกออกเดี๋ยวนี้ก็ เช่น บ้านคีรีวงศ์ นครศรีธรรมราช และหัวหิน-ตามคำให้การของ คุณอัศสิริ ธรรมโชติ-เป็นต้น)

การที่เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ข้าหนีเจ้าไพร่หนีนาย ทำให้เราเห็นไปในทางเดียวว่าพวกเขาคือคนที่หนีจากอำนาจรัฐ แต่ผมอยากเดาว่าเขาไม่ได้หนีจากอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว แต่มีอะไรอื่นๆ อีกหลายอย่างซึ่งเรียกรวมๆ ว่าชีวิตชาวบ้าน ที่ผลักไสให้เขาออกไปจากสังคม
Eric Hobsbawm บอกว่า โจรคือเสรีชนกลุ่มแรกของสังคมชาวนา และด้วยเหตุดังนั้น คนที่สำเร็จวิชาความรู้เชิงตบะมาแล้ว และสมัครใจไม่กลับเข้าสู่สังคม จึงสามารถหาสมัครพรรคพวกได้ไม่ยากนัก เพราะถึงอย่างไรคนอื่นที่หนีออกไปจากสังคม ก็อยากได้ความคุ้มครองจากคนแข็งแกร่ง ที่สามารถปกป้องตนจากรัฐและจากชาวบ้านอยู่แล้ว

เราคงจะศึกษาเรื่อง "โจร" ในประวัติศาสตร์ไทยน้อยเกินไป ทำให้รู้เรื่องของคนเหล่านี้น้อย แต่ในชวา นับตั้งแต่สมัยโบราณ จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า jago (แปลตามตัวคือไก่(ชน) ตัวผู้ แต่ใช้ในความหมายถึงหัวหน้ากลุ่มที่มีอาณาบารมี คือ "จ่าฝูง" นั่นเอง  คนเหล่านี้มีความรู้เชิงตบะ (เรียกในภาษาอินโดนีเซียว่า kebatinan-คือความสำนึกรู้ถึงตัวตนอันเป็นส่วนในที่แท้จริงของตนเอง) เที่ยวเร่ร่อนไปเรื่อยๆ สั่งสมอำนาจจากการยอมรับของคนอื่น ไม่อยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ทางการเมืองและสังคมใดๆ

Jago ที่เรารู้จักดีที่สุดก็อิเหนาไงครับ
ขุนแผนก็มีชีวิตคล้าย jago คือเข้าๆ ออกๆ สังคม มีความรู้เชิงตบะแก่กล้า เป็นที่นับถือและเกรงขามอยู่ทั่วไป จะฝ่าฝืนอำนาจรัฐก็ได้ แต่เลือกไม่ฝ่าฝืนเอง (เพราะวังแต่งให้เป็นอย่างนั้นหรืออย่างไรไม่ทราบ)



ในสังคมไทยปัจจุบัน ดูเหมือนความรู้เชิงตบะเป็นความรู้ที่ไม่มีใครใฝ่หาไปแล้ว และที่จริงก็หาเรียนยาก (กว่าฟิสิกส์, เคมี, หรือสังคมวิทยา และรัฐศาสตร์เสียอีก) หลวงพ่อขลังๆ ก็ยังมีอยู่ แต่เป็นที่นิยมนับถือในวงจำกัด แทบไม่เคยได้รับนิมนต์ไปออกทีวีไทยพีบีเอสเลย 
แต่ลึกลงไปในใจคนไทย ผมคิดว่าความเชื่อในอิทธิปาฏิหาริย์ของความรู้เชิงตบะก็ยังมีอยู่แน่นแฟ้น ความนิยมต่อ "วัตถุมงคล" นานาชนิดเฟื่องฟูโดยทั่วไป
วัตถุมงคลคือความรู้เชิงตบะที่ได้มาโดยไม่ต้องเรียน แต่ใช้เงินซื้อเอา


คนมีอำนาจมากๆ ในบ้านเมือง ล้วนมีข่าวลือเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญในความรู้ประเภทนื้ทั้งนั้น เช่น จอมพลสฤษดิ์ ห้อยพระอะไรบ้าง และลงทุนซื้อพระอะไรบ้าง สมัยหนึ่งก่อนที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจะแพร่หลาย ผมจำได้ว่ามีข่าวลือว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงติดต่อสื่อสารผ่านกระแสจิตกับพระอาจารย์ชื่อดังสายพระอาจารย์มั่นได้ทุกรูป

ทำไม คุณสนธิ ลิ้มทองกุล จึงต้องทำพิธีข่มโน่นข่มนี่ด้วยผ้าอนามัยกลางเมือง ก็คุณสนธิกำลังกลายเป็น jago ไปแล้ว ยืนอยู่นอกสังคมด้วยการยึดมัฆวาน และต่อมาก็เลยไปถึงทำเนียบรัฐบาลและสนามบิน จะนำฝูงชนจำนวนมากขนาดนั้นออกไปจากสังคม โดยไม่มีความรู้เชิงตบะเลย จะน่าเชื่อถือได้อย่างไรเล่าครับ

เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้ 



.