http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-14

อายทั่วโลก, ขวางทำไม?, ปฏิรูปรถไฟ, อย่างไรจึงจะรุนแรง, ฆาตกรรม ในคอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

.
คอลัมน์ ชกไม่มีมุม - ผลจากคำอนุมัติ โดย วงค์ ตาวัน
คอลัมน์ ชกไม่มีมุม - มาจากคำสั่งศาล โดย วงค์ ตาวัน
คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง - ทิศทาง การเมือง การแก้ไข รัฐธรรมนูญ - วาระแห่งชาติ


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

อายทั่วโลก
โดย สมิงสามผลัด  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


ควันหลง "บีบีซี" สำนักข่าวยักษ์ใหญ่ของโลกสัมภาษณ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีที่ถูกตั้งข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล
ถ้าอ่านอย่างละเอียดก็จะพบว่าประเด็นของพิธีกรสาวก็คือจะรับผิดชอบอย่างไรต่อการสูญเสีย 99 ศพ บาดเจ็บอีก 2 พันคนอันเกิดจากคำสั่งใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมเมื่อปี? 53 
คำตอบของนายอภิสิทธิ์ก็คือไม่รับผิดชอบ

แถมยังอ้างโน่นนี่ไปเรื่อย 
บอกว่าม็อบติดอาวุธบ้าง
มีแค่ 2 ศพที่ตายเพราะกระสุนทหารบ้าง
ชายชุดดำเป็นต้นเหตุทั้งหมดบ้าง

ทั้งที่ข้อเท็จจริง คือ ผู้เสียชีวิตแต่ละศพไม่มีศพใดมีอาวุธ
บางศพเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 
6 ศพในวัดปทุมวนารามก็เป็นพยาบาลอาสา- เจ้าหน้าที่กู้ภัยถูกกระสุนที่ยิงจากบนรางบีทีเอส


นอกจากคดีพัน คำกอง กับลุงชาญณรงค์ พลศรีลา ที่ศาลชี้ว่าเสียชีวิตจากปืนทหารแล้ว ยังมีอีกกว่า 30 คดีในลักษณะเดียวกันรอการตัดสินอยู่
และไม่มีการจับกุมชายชุดดำได้เลย
ไม่เท่านั้นนายอภิสิทธิ์ยังมีเจตนาเฉไฉออกนอกเรื่อง อ้างเลยเถิดไปถึงเรื่องการประท้วงการประชุมจี-20 ที่อังกฤษที่ก็มีบางคนเสียชีวิต
ทั้งที่ข้อเท็จจริงก็คือผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 รายเพราะหัวใจวาย
ไม่ได้ตายเพราะโดนกระสุนปืนเจ้าหน้าที่


ในตอนท้ายนายอภิสิทธิ์ยังบอกด้วยว่า "ผมจะยอมรับ ไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาอย่างไร แม้แต่จะเป็นคำตัดสินประหาร ผมก็จะยอมรับ และผมก็ขอให้อดีต นายกฯ และสมาชิกในรัฐบาลชุดนี้ปฏิบัติตามเช่นกัน"
แบบว่าลากดึงพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มาเกี่ยวข้อง 
คงต้องการสื่อว่าถ้าตนเองถูกลงโทษ พ.ต.ท. ทักษิณก็ต้องถูกลงโทษด้วย
อะไรทำนองนั้น

ทั้งที่ข้อเท็จจริง คดีสั่งสลายม็อบจนมีการตาย 99 ศพมันคนละเรื่องกับคดีทุจริตซื้อที่ดินรัชดาฯ
ไม่เกี่ยวข้อง เอามาทดแทนกันไม่ได้
เป็นรายการสีข้างถลอกที่เผยแพร่ไปทั่วโลกจริงๆ



++

ขวางทำไม?
โดย มันฯ มือเสือ 
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


กรณีรัฐบาลจุดประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 
ก่อให้เกิดความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหนุนกับฝ่ายคัดค้าน 
ฝ่ายหนุนนอกจากพรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดง ยังมีพรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.จำนวนหนึ่งจากสายเลือกตั้ง 
กลุ่มนี้มองว่ารัฐ ธรรมนูญปี50 เป็นผลพวงจากการรัฐประหาร 2549 เพียงข้อนี้ข้อเดียวก็เป็นเหตุผลมากเกินพอจะแก้ไขหรือยกเลิก

ยังไม่พูดถึงเนื้อหาที่ผู้ยกร่างมุ่งกำจัดคนคนเดียว จนทำให้หลักการประชาธิปไตยที่แบ่งอำนาจเป็น 3 ฝ่ายคือ นิติ บัญญัติ บริหารและตุลาการ ต้องเสียสมดุลถึงจะอ้างว่ารัฐธรรมนูญปี50 ผ่านการลงประชามติจากประชาชน
แต่ปัญหามีอยู่ว่า ระหว่างรณรงค์ทำประชามติตอนนั้น มีการมอมเมา โดยขอให้ลงมติเห็นชอบไปก่อนเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ นำพาประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว
จากนั้นค่อยไปแก้ไขภายหลัง

หลังเลือกตั้งธ.ค.2550 พรรคพลังประชาชนกำชัยเหนือประชาธิปัตย์ แต่ไม่ทันที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ จะได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องตกเก้าอี้ไป เสียก่อน
ปัจจุบันรัฐบาลเพื่อไทยผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทั่งผ่านรัฐสภาวาระ 1 และ 2 ก่อนหยุดชะงักที่วาระ 3 เพราะมีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ศาลฯ มีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เป็น การล้มล้างการปกครอง รัฐ สภาทำได้ แต่มีคำแนะนำให้แก้ไขแบบรายมาตรา และควรจัดทำประชามติก่อน


ตรงนี้เองที่ฝ่ายคัดค้านขู่ว่า หากรัฐบาลรวบรัดโหวตวาระ 3 โดยไม่ทำประชามติก่อน ก็อาจขัดต่อคำวินิจฉัยศาลฯ ส่งผลถึงขั้นยุบพรรคและพ้นจากสมาชิกภาพ 
ซึ่งก็มีคนสงสัยว่าถ้าเป็นอย่างนั้นจริง 
ทำไมประชาธิปัตย์ไม่รีบยุส่งให้เพื่อไทยเดินหน้าลงมติวาระ 3 ไปเลย จะได้ถูกยุบพรรคอีกรอบ ตัวเองก็จะได้เข้ามาเป็นรัฐบาลแทน

หรือประชาธิปัตย์รู้ดีอยู่แล้วว่า ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น



++

ปฏิรูปรถไฟ
โดย คาดเชือก คาถาพัน
  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


ความฝันของคนไทยจำนวนไม่น้อย คืออยากใช้บริการรถไฟเหมือนประเทศที่เจริญแล้วกับเขาบ้าง 
ทั้งด้วยเหตุผลส่วนรวม อาทิ ความประหยัด ความมีประสิทธิภาพสูงสุด การไม่ก่อมลพิษ และเหตุผลส่วนตัว เช่นความชอบ  
แต่ฝันก็เป็นแค่ฝันมาหลายสิบปี

เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการสัมมนาระดมความเห็นในการปรับปรุงและปฏิรูประบบการทำงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
ว่ามีแผนยกระดับและปรับโครงสร้างการดำเนินงาน และจะเปิดให้เอกชนร่วมทุนใน 2 แนวทาง คือ ร่วมลงทุน หรือเช่าทรัพย์สินเพื่อนำไปบริหารต่อ 
โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาแนวทาง 
เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้บริการของ รฟท. มากขึ้น ในขณะที่รายได้จากการบริหารที่ดินจากปีละ 1,600 ล้านบาท ก็ต่ำมากเมื่อเทียบกับจำนวนที่ดินที่มีอยู่กว่า 234,976 ไร่  
แสดงถึงการบริหารทรัพย์สินที่ขาดประสิทธิภาพ

จนรฟท.ขาดทุนอยู่ถึงปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท
หรือนาทีละ 20,000 บาท
และยังต้องแบกรับภาระหนี้กว่า 98,000 ล้านบาท


จึงมอบหมายให้ นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรฟท. เร่งปฏิรูปโครงสร้างบุคลากรภายใน เพื่อรองรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
แต่เพราะรัฐบาลละเลยการลงทุนในรฟท.มาเป็นเวลานาน จึงต้องเร่งสร้างขวัญและกำลังใจของพนักงานการรถไฟฯ กว่า 1 หมื่นคนทั่วประเทศ
เชื่อว่าจะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้นของรฟท.อย่างเป็นรูปธรรมภาย ใน 1 ปี

แต่การยกระดับการให้บริการ การจัดซื้อหัวรถจักรใหม่ การซ่อมราง และอาณัติสัญญาณ ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
อาจจะทำให้ประชาชนต้องรับภาระค่าโดยสารเพิ่มขึ้น
ข้อหลังนี้ยังพอรับได้ ถ้ามีเหตุผลรองรับและตัวเลขอยู่ในระดับพอประมาณ

แต่สำคัญว่าจะสู้กับแรงเสียดทานข้างในไหวหรือไม่?



++

อย่างไรจึงจะรุนแรง
โดย จ่าบ้าน
  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


วันนี้ 10 ธันวาคม เป็นวันรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยทุกวันนี้มีการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งน่าจะยังไม่ยุติลงง่ายๆ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคมไว้ในมาตรา 63 ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

เฉพาะกรณีการชุมนุมสาธารณะและเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะฯ ทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นเรื่องของการใช้เสรีภาพ และการละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้กระทำได้แต่ต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

เรื่องการชุมนุมในที่สาธารณะต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ กรณีนี้มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายพยายามออกกฎหมายมาจำกัดการชุมนุม หรือตีความของการชุมนุมทั้งโดยสงบและปราศจากอาวุธว่าคืออะไรและกระทำได้มากน้อยเพียงใด


นิตยสารดุลพาห ของสำนักงานศาลยุติธรรม เล่มที่ 2 ปีที่ 59 พฤษภาคม-สิงหาคม 2555 นำเสนอเรื่อง กฎหมายและคำสั่งศาลเกี่ยวกับการป้องกันการชุมนุมโดยละเมิดกฎหมาย : ประสบการณ์ของต่างประเทศและประเทศไทย โดยสถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็นจากบางประเทศ เช่น ของเยอร มันบัญญัติไว้เช่นกันว่า "ชาวเยอรมันทุกคนมีสิทธิที่จะชุมนุมอย่างสงบและไม่มีอาวุธ" หรือการชุมนุม ในสหรัฐอเมริกา กฎหมายห้ามใช้คำพูดที่รุนแรงระหว่างการชุมนุม คำพูดที่รุน แรงคือคำพูดที่ประ สงค์ปลุกระดมให้เกิดความรุนแรง

เช่นผู้ชุมนุมคนหนึ่งกล่าวว่า "เกลียดนายกเทศมนตรีของนครลอสแองเจลิส และหากเขาได้รับเลือกตั้งหกเดือนนับแต่ตอนนี้ ฉันคิดว่าเราควรทำร้ายเขา" คำกล่าวนี้ไม่ถือเป็นคำพูด ที่รุนแรง

แต่ถ้ากล่าวว่า "นั่นไงนายกเทศมนตรีเดินมาแล้วเราไปจับเขากัน" ถือเป็นคำพูดที่รุนแรง

ยังมีอีกหลายกรณี ท่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาลสนใจ โปรดหามาอ่านก็จะได้ความรู้ไม่น้อย



++

ฆาตกรรม
โดย สมิงสามผลัด
  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันเสาร์ที่ 08 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


ในที่สุดมีการตั้งข้อหาฆาตกรรม ในคดีที่ "พัน คำกอง" แท็กซี่เสื้อแดงที่ถูกยิงตายในเหตุการณ์สลายม็อบเสื้อแดงปี2553

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เปิดแถลงหลังร่วมประชุม 3 ฝ่ายกับตำรวจและอัยการ
ระบุว่า ที่ประชุมมีมติให้ดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นผู้เซ็นคำสั่งแต่งตั้งศอฉ. กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ.ในขณะนั้น
ในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาและเล็งเห็นผล

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น 
มาตรา 84 ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
และมาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 ปีถึง 20 ปี

โดยให้นายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 12 ธ.ค.นี้
ส่วนทหารเป็นเพียงผู้ที่ทำตามคำสั่งศอฉ. ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 70 ไม่ต้องรับโทษจากการกระทำของตนที่ได้ทำตามคำสั่ง


ฉะนั้น 12 ธ.ค.นี้ จึงเป็นวันสำคัญของคนเสื้อแดง 
เป็นวันที่ผู้ที่สั่งการให้ทหารใช้อาวุธสงครามเข้ากระชับพื้นที่ม็อบเสื้อแดงจนเกิดการตาย 99 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 2 พันคน 
กำลังก้าวเข้าสู่กระบวน การยุติธรรม

ยังมีคดี ลุงชาญณรงค์ พลศรีลา จ่อตั้งเป็นคดีฆาตกรรมอีก 1 คดี 
ยังไม่รวมคดีการตายอีก 36 คดีที่อยู่ในชั้นศาล และคาดว่าจะมีคำพิพากษาออกมาอย่างต่อเนื่อง

จึงเกิดคำถามตามมาว่า นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพต้องแสดงความรับผิดชอบอะไรหรือไม่
หลังโดนตั้งข้อหาร้ายแรงต่อการตายของประชาชนที่ชุมนุมทางการเมือง

ต้องแสดงสปิริตจริยธรรมนักการเมืองหรือเปล่า!?



+++

ผลจากคำอนุมัติ
โดย วงค์ ตาวัน
  คอลัมน์ ชกไม่มีมุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


จากคำให้สัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อโทรทัศน์บีบีซี ที่หลายคนฟังแล้วเสมือนคำรับสารภาพ เมื่อยอมรับว่าได้อนุมัติให้ใช้กระสุนจริงเพื่อปราบม็อบเมื่อปี2553
แต่นายอภิสิทธิ์ ย่อมมีข้ออ้าง ว่าที่ต้องใช้อาวุธสงครามและกระสุนจริงนั้น เพราะในผู้ชุมนุมมีกองกำลังติดอาวุธ 
ฟังขึ้นหรือไม่ โปรดใช้สติวินิจฉัย

เราได้เห็นจากข่าวสารที่เป็นเหตุการณ์จริงมากมาย ไปจนถึงที่สะท้อนภาพมาเป็นภาพยนตร์ 
ต่อให้มีโจรพร้อมอาวุธ มีผู้ก่อการร้าย 
เจ้าหน้าที่รัฐสามารถยิงสุ่มสี่สุ่มห้าได้หรือไม่ ถ้าเต็มไปด้วยประชาชน! 

ไม่มีทางทำได้เลย เพราะถ้าตัวประกัน หรือประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องโดนกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่เมื่อไร ย่อมเป็นความผิดพลาดที่อภัยไม่ได้
ต้องติดคุก ต้องถูกออกจากราชการ 
ทุกเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ต้องเริ่มเจรจา 
ต้องใช้สันติวิธีก่อน เพื่อรักษาชีวิตตัวประกัน และประชาชนที่ไม่เกี่ยว

เจ้าหน้าที่ต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย ถ้าเห็นว่ามีโอกาสที่คนทั่วไปจะโดนลูกหลง 
สถานการณ์ในกทม.เมื่อเมษายน-พฤษภาคม2553 นั้น เต็มไปด้วยประชาชนผู้ชุมนุมหลายหมื่นจนถึงแสน 
มีคลิปเห็นชายชุดดำในคืน 10 เมษายน แค่ไม่กี่คน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นใคร อยู่ตรงไหน!? 


ฟังจากคำสัมภาษณ์กึ่งสารภาพ คือเชื่อว่ามี ผู้ก่อการร้ายในม็อบ 
เลยอนุมัติให้ใช้อาวุธจริง กระสุนจริงปราบได้ 
เจ้าหน้าที่ต้องได้รับคำสั่งให้ลงมือ ไม่เช่นนั้นเขาไม่ทำหรอก เมื่อมีประชาชนมากมายขนาดนั้น 

ต้องมีการอนุมัติ ต้องมีคำสั่ง หรือโหมให้เชื่อว่าเต็มไปด้วยผู้ก่อการร้าย!
สุดท้ายยิงเป็นเดือน ลงเอยตายไป 99 ศพ


ทุกศพมีที่มาที่ไป มีชื่อมีประวัติ
ชาวบ้านธรรมดาทั้งนั้น
จะปราบผู้ก่อการร้ายด้วยปืนจริง แต่คนไม่เกี่ยวตายร่วมร้อย

ใช้สติคิดกันก็รู้ได้ว่านายอภิสิทธิ์ต้องรับผิดชอบหรือไม่!



+++

มาจากคำสั่งศาล
โดย วงค์ ตาวัน
  คอลัมน์ ชกไม่มีมุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่ ศอฉ.ใช้เจ้าหน้าที่ติดอาวุธจริงปราบม็อบปี 2553 ซึ่งมีถึง 99 ศพ ขณะนี้มีประมาณ 36 ศพ ที่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานได้ครบถ้วน แล้วนำขึ้นไต่สวนในชั้นศาล  
เป็นสำนวนไต่สวนชันสูตรศพ เพื่อให้ศาลชี้ว่าใครทำให้ตาย

ทุกสำนวนต้องเบิกตัวพยาน เบิกพยานวัตถุ มาไต่สวนในศาล เป็นไปตามกระบวน การที่เป็นหลักเป็นฐาน ต่างจากกรณีนักการเมืองโทษโน่นนี่ในเหตุการณ์ ซึ่งแค่คำพูดไม่มีหลักฐาน
จากนั้นศาลจะมีคำสั่งว่า ใครที่ทำให้ตาย 

ใน 36 สำนวนนี้ ศาลได้บทสรุปและมีคำสั่งออกมาแล้ว 2 ศพ คือ นายพัน คำกอง และนายชาญณรงค์ พลศรีลา 
โดยมีคำสั่งว่าตายด้วยปืนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการตามคำสั่งของศอฉ. 
เมื่อศาลชี้แล้ว อัยการจึงส่งสำนวนกลับมาให้ดีเอสไอ เพื่อทำเป็นคดีใหม่หาคนกระทำผิด 
การตั้งข้อหาต่ออภิสิทธิ์และสุเทพ มาจากขั้นตอนนี้ 
มาจากสำนวนคดีนายพัน คำกอง ที่ศาลชี้แล้วและอัยการส่งกลับมาแล้ว 
ไม่ได้เกี่ยวกับข้ออ้างว่าทักษิณบีบให้ยอมร่วมนิรโทษกรรมอะไรเลย!?


นี่คดีพัน คำกอง คดีเดียว อีกไม่นานสำนวนชาญณรงค์ พลศรีลา ส่งกลับมาอีก ก็ต้องแจ้งข้อหากับคนทั้งสองอีก 
จะอ้างเรื่องการเมืองอะไรก็ตาม โปรดเคารพขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมบ้าง! 
ศาลเป็นผู้สั่งว่าตายเพราะเจ้าหน้าที่ศอฉ. จากนั้นดีเอสไอจึงมาทำเป็นคดีต่อ 
แล้วทักษิณมาบีบใครตอนไหนไม่ทราบ แทรกอยู่ช่วงไหนของในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมนี้


ตอนที่มีคนตายใหม่ๆก็โทษชายชุดดำ 
แต่ในการไต่สวนชั้นศาลสำหรับ 2 คดีแรก ไม่มีใครพบชายชุดดำในที่เกิดเหตุเลย 
อีก 30 กว่าคดี แม้ยังไม่สรุป แต่จนบัดนี้ก็ไม่มีเลยที่มีพยานเห็นชายชุดดำอยู่ในจุดยิงคนตาย! 

ล่าสุดพอถึงขั้นตอนตั้งข้อหา ก็มาโยนว่าเป็นเกมการเมือง 
จะพูดอะไรก็พูดเถอะ แต่โปรดเคารพญาติพี่น้องของนายพัน คำกอง และนายชาญณรงค์ พลศรีลา ที่เขาไปนั่งฟังการเบิกความในศาลทุกนัดด้วยความสะเทือนใจ  
ว่าคนเหล่านี้ต้องตายด้วยปืนของรัฐ

ศาลเป็นผู้ชี้ว่าใครทำให้ตาย และพนักงานสอบสวนต้องตั้งข้อหาคนสั่งการ
ก็ยังชุดดำชุดแม้วอยู่นั่นแหละ!



+++


ทิศทาง การเมือง การแก้ไข รัฐธรรมนูญ - วาระแห่งชาติ
คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง
ในข่าวสดออนไลน์ วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


 ในเมื่อมติครม.แม้ว่าจะมอบหมายให้ นายวราเทพ รัตนากร รับผิดชอบตระเตรียมในเรื่องประชาเสวนา รับผิดชอบในเรื่องประชามติ
 แต่กำลังคือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม 

 ในเมื่อแถลงการณ์ร่วมอันคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 มิได้กระทำอย่างโดดเดี่ยว 
 หากมีพื้นฐานอยู่กับ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล 
 จึงเห็นได้ว่า มติว่าด้วยเรื่องประชาเสวนา ประชามติ มิได้ดำเนินไปอย่างโดดเดี่ยว อ้างว้าง เอกา ตรงกันข้าม ดำเนินไปอย่างมีการวางแผน
 ทั้งในระดับรัฐบาล ทั้งในระดับพรรคร่วมรัฐบาล

 การขับเคลื่อนในเรื่องประชาเสวนา การขับเคลื่อนในเรื่องประชามติ จึงเป็นอีกยุทธนาการใหญ่ในทางการเมืองของรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาลที่จะประสานและร่วมมือกัน
 กำหนดถึงขั้นเป็น วาระแห่งชาติ


 ต้องยอมรับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เป็นนโยบายไม่เพียงแต่ของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น หากแต่เป็นนโยบายของรัฐบาลอันมาจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 
 แถลงอย่างเป็นกิจจะลักษณะในรัฐสภาเมื่อเดือนสิงหาคม 2554  
 เมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาล แม้ว่าภาระหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างแท้จริงจะเป็นเรื่องของรัฐสภา แต่รัฐบาลก็มีส่วนร่วมอย่างสำคัญ 
 ไม่เช่นนั้นเรื่องนี้คงไม่ต้องผ่านมติและความเห็นชอบของครม.

 ไม่เช่นนั้นเรื่องนี้คงไม่มองให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบในเรื่องประชาเสวนา กระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบในเรื่องประชามติ ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร อยู่ในฐานะผู้ประสานงาน  
 ประสานในรัฐบาล ประสานพรรคร่วมรัฐบาล

 ภายในกระบวนการทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลจึงมิได้หมายถึงฐานมวลชนของพรรคเพื่อไทยอันเป็นแกนนำรัฐบาลเท่านั้น 
 ยังมีฐานมวลชนพรรคชาติไทยพัฒนา 
 ยังมีฐานมวลชนพรรคชาติพัฒนา และยังมีฐานมวลชนพรรคพลังชล รวมถึงฐานมวลชนของพรรคการเมืองอื่นที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


 การเข้าหามวลชนของแต่ละพรรคการเมืองจึงกว้างขวาง 
 เป็นความกว้างขวาง ใหญ่โต ลึกซึ้ง ทั้งผ่านกระบวนการจัดตั้งของพรรคการเมือง ทั้งผ่านกระบวนการและโครงสร้างของระบบราชการ 
 เป้าหมายเพื่อหาจุดร่วมทางการเมืองในท่ามกลางประชาชน

 จึงพอคาดหมายแนวโน้มและความเป็นไปได้ในทางการเมืองนับแต่เดือนมกราคม 2556 เป็นต้นไป
 นั่นก็คือ แนวโน้มใหญ่ของการเคลื่อนไหวสร้างความชอบธรรม ความเป็นไปได้ที่จะประสานพลังทุกฝ่ายเพื่อสร้างเหตุผลให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สร้างรัฐธรรมนูญใหม่

 รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน



.