.
เที่ยวต่อ (ไม่แข็ง)
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1685 หน้า 89
โล่งอกที่ขบวนการ "แช่แข็ง" ประเทศไม่สามารถไปได้ถึงที่สุด และเหมือนจะล่มกลางคัน
ฉันคิดว่าการ "ยุติการชุมนุม" ของกลุ่มผู้มาชุมนุมในวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา น่าจะเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การรวมตัวกันมาเพื่อเรียกร้องทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้
แต่เมื่อตระหนักว่า การเรียกร้องนั้นเป็นสิ่งที่ "เหลือวิสัย" ในทางประชาธิปไตย เพราะเป็นการเรียกร้องให้ "หยุด" วงจรประชาธิปไตย-เมื่อรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ ก็ยุติการชุมนุมอย่างมีอารยะ น่าชมเชย ไม่ดันทุรัง
และนี่คือสิ่งที่สังคมในภาวะแห่งการ "เปลี่ยนผ่าน" อย่างสังคมจำต้องผ่านมันไป จำต้องเรียนรู้ สั่งสมวุฒิภาวะกันไป (เขียนเพื่อสั่งสอนตนเองให้มีความอดทนอดกลั้นต่อคนที่เรียกร้องระบอบการปกครองอื่นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยว่าถึงอย่างไรระบอบประชาธิปไตยก็ต้องเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้สำแดงความคิดออกมา-อือม การเป็นประชาธิปไตยนี่มันน่าอึดอัดและเรียกร้องขันติธรรมสูงจริงๆ เพราะดูเหมือนว่ามันเรียกร้องให้เรา ยอม ยอม ละ ยอม ยังกะเป็นนางเอกละครน้ำเน่าก็มิปาน)
ว่าแล้วมาเที่ยวกรุงโซลกันต่อจากอาทิตย์ที่แล้วดีกว่า
สําเร็จกิจจากมหาวิทยาลัย เราก็ร่ำร้องขอไปเที่ยว เพื่อนคนเกาหลีขอร้องเราว่า กรุณาไปในสถานที่ที่ควรไป เห็นในสิ่งที่ควรเห็นในเวลาอันสั้นนี้ก่อนนะ แล้วค่อย ช็อปปิ้ง ขอร้อง!
สถานที่ที่ควรไปที่เพื่อนชาวเกาหลีสั่งนักสั่งหนาว่าต้องไปคือ พระราชวัง ลานจตุรัสหน้าที่ว่าการเมือง ร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโซล และคลองชองเกชอนที่เป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วโลก-เท่านี้แหละ ที่เพื่อนขอไว้ จากนั้นจะไปช็อปที่ไหนก็ช็อป
ห้ามไฟไม่ให้มีควันน่าจะยากกว่าห้ามเรามิให้ช็อป แล้วกรุงโซลก็ช่างอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งช็อป สำหรับคนที่คุ้นเคยกับญี่ปุ่น เมื่อไปเกาหลี จะรู้สึกว่า มีหลายอย่างคล้ายญี่ปุ่น ไม่นับว่า เราสามารถใช้ภาษาญี่ปุ่นสื่อสาร ซื้อข้าวของ คุยกับคนได้ประมาณหนึ่ง
และดูเหมือนว่าคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยพูดภาษาญี่ปุ่นกันได้ดีเท่าๆ กับภาษาแม่เลยทีเดียว แต่หากจะมีอะไรที่แตกต่างจากญี่ปุ่น
คือความมีชีวิตชีวา ไม่เรียบ เนี้ยบ กริ๊บ เป๊ะไปทุกอณูเหมือนญี่ปุ่น
บนถนนยังมีเศษใบไม้หล่นเหลื่อนกลาดอย่างเป็น "สามัญ"
ในขณะที่ใบไม้ร่วงในเกียวโตนั้น หล่นเหลื่อนกลาดไปอย่างมีศิลปะ ปราศจากความเกรอะกรังใดๆ ให้เห็น
นอกจากนี้ ในกรุงโซลเองยังมีตลาดสดอันคึกคักใหญ่โต ค้าขายกันแบบ "บ้านๆ" ขายผัก ขายผลไม้ สมุนไพร ของหมัก ของดอง ลักษณาการเดียวกันกับกะปิ ปลาร้า ปลาจ่อม บ้านเราอย่างเป็นล่ำเป็นสันเอามากๆ หากเราลำพองใจว่าประเทศของเรานั้นอุดมสมบูรณ์เหลือแสนไปเห็นพืช ผัก กุ้ง หอย ปูปลา สารพัด เนื้อสัตว์ที่คนเกาหลีใต้เขาบริโภคกันก็เห็นจะต้องน้ำตาตกใน
เพราะของเขาเยอะ ของเขาใหญ่ ของเขาสด และคนเขา "กิน" กันเป็นล่ำเป็นสัน กินกันจริงจังมาก
ฉันไม่เคยเห็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไหนขายผักแพ็กละไม่ต่ำกว่าสองกิโลกรัม อย่างที่เห็นตอนไปเกาหลีใต้ครั้งนี้
และไม่ต้องพูดถึงเนื้อย่างเกาหลีอันลือชื่อ เพราะเมืองทั้งเมืองนั้นถูกปกคลุมไปด้วยกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจของเนื้อย่างอันมีอยู่ทุกหัวระแหง
ชวนให้ฉงนว่า คนเกาหลีใต้จะบริโภคเนื้อวัวปีละกี่ตัน
หากเบื่อเนื้อ เดินเข้าไปในร้านไก่ทอด อย่าคิดว่าจะได้ไก่มากินเล่นจานเล็กๆ เปล่าเลย ร้านไก่ทอดที่ขายกินคู่กับเบียร์นั้นเสิร์ฟมาจานละหนึ่งตัว เป็นไก่เนื้อแน่นเหมือนไก่บ้าน
กินกันชิลๆ จานละตัว
ที่เขียนมาทั้งหมดเพื่อจะให้เห็นภาพว่า กรุงโซลที่ฉันไปเห็นมาช่างเป็นเมืองที่ขับเคลื่อนไปด้วยการ "บริโภค" จนนึกอยากรู้ว่ามีคนเกาหลีใต้ประณามเรื่องการบริโภคอันล้นเกิน ไม่รู้จักพอเพียงบ้างหรือไม่ หรือมีใครทำหน้าเหยียดหยามใส่ยามกินเนื้อว่าเป็นพวกใจบาปหยาบช้า บังอาจกินเนื้อสัตว์ใหญ่ ไม่รู้จักถือศีล กินเจ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์บ้าง
หรือมันอาจจะเป็นไปในทางกลับกันว่า คนไม่กินเนื้อาจถูกมองเหยียดหยามว่าเป็นพวกไม่ "สร้างเศรษฐกิจ" เพราะหากคนไม่กินเนื้อกันเยอะ ธุรกิจร้านเนื้อย่างอาจจะเจ๊ง ส่งผลกระทบถึงฟาร์มโคขุนทั่วประเทศ ล้มไปถึงธุรกิจอาหารสัตว์ ไร่ข้าวโพด ซัมซุง ฮุนได-อือม ฉันคงฟุ้งซ่านเพราะกินเนื้อเยอะเกินไป
แต่นั่นคือความประทับใจที่มีต่อกรุงโซล (สำหรับการไปสัมผัสในช่วงสั้นๆ) นั่นคือความกระฉับกระเฉง มีชีวิตชีวา ความกระตือรือร้น
ในโซลยังมีการประท้วงของสหภาพแรงงานต่างๆ กลิ่นอายของการเมืองยังเข้มข้น ข้างถนน บนฟุตบาทยังมี "หาบเร่แผงลอย" มีแผงขายเกาลัดคั่ว ปลาหมึกย่าง มีรถกระบะขายส้ม ขายลูกพลับอยู่ข้างถนน บางทีเป็นรถขายขนมกรุบกรอบแบบขนมงานวัด แต่ไม่มีแผง "ร้านอาหาร" ที่ตั้งโต๊ะกินกับถนน บนทางเท้าเหมือนประเทศไทยแลนด์ เกาลัดคั่ว ปลาหมึกย่างใส่ถุงกระดาษให้คนเดินกิน
ไม่มีถุงพลาสติกกล่องโฟมดาษดื่น
แน่นอน กรุงโซลไม่ได้สวยอย่างนี้มาตั้งแต่เกิด (แม้แต่เกียวโตก็เช่นกันที่ กระบวนการสร้างความสวยงาม การฟื้นฟูภูมิทัศน์ของเมืองให้เป็นเกียวโตที่สวยเว่อร์ๆ อย่างทุกวันนี้ก็เริ่มต้นในทศวรรษที่ 70) หลังสงครามเกาหลี (1950-1953) ก็มีคนจากชนบทอพยพเข้ามาทำงานใช้แรงงานในโซล และก็เหมือนกับเมืองอื่นๆ ในโลกที่ผ่านยุคของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สกปรก เต็มไปด้วยเชื้อโรค มลพิษ คนจน สลัม ขยะ โรคระบาด ทัศนะอุจาดของเมือง
การฟื้นฟูเมืองของกรุงโซลเริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 2002 นี้เอง (มีความหวังนะ แค่ 10 ปีเท่านั้น) ในสมัยที่ ลี เมียง ปัก (ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบัน) เป็นนายกเทศมนตรี (เหตุหนึ่งที่ ลี เมียง ปัก ได้รับคะแนนนิยมสูงสุดจนได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีก็เนื่องจากผลงานอันโดดเด่นของเขาสมัยที่เป็นนายกเทศมนตรีกรุงโซลนั่นเอง)
และหนึ่งในโครงการที่เขาหาเสียงไว้กับประชาชนกรุงโซล ก็คือ จะฟื้นฟูคลองชองเกชอนที่อยู่ในสภาพย่ำแย่เอามากๆ ทั้งสกปรก น้ำก็แห้งไปแล้ว
ลี เมียง ปัก ทำ Seoul Forrest Park ปรับปรุงภูมิทัศน์รอบบริเวณที่ทำการเทศบาลให้กลายเป็นจัตุรัสอันเขียวขจี ที่เชื่อมกับถนนทางเดินไปยังพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับชาวเมืองให้ได้มาทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่พักผ่อนหย่อนใจไปจนถึงมายืนประท้วงรัฐบาล
รื้อระบบรถเมล์หรือซิตี้บัสให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว สะอาด ราคาถูก (เพื่อนคนเกาหลีก็ยืนยันว่า ถ้าอยากไปไหนรวดเร็วในโซลให้นั่งรถเมล์ เพราะสามารถวิ่งเลนกลาง มีอภิสิทธิ์ ไปเร็วกว่าใคร)
ดูๆ แล้วหลักใหญ่ใจความของการฟื้นฟูภูมิทัศน์ของกรุงโซลคือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว นั่นคือการสร้างสวนสาธารณะให้มากขึ้น ปลูกต้นไม้ในเมืองมากขึ้น
พระราชวังเก่าแปรเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่สำหรับคนในเมืองได้เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ ออกแบบทางเท้า ทางเดิน ผ่าตัดระบบการจราจรให้เป็นมิตรกับผู้คนที่อยู่ในเมือง และสะดวกก็ต่อการเคลื่อนย้ายคนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง
ไม่ใช่เพื่ออะไร ก็เพื่อกระตุ้นการ "บริโภค" ของคนในเมืองนั่นเอง
จะไปทำงาน ไปช็อปปิ้ง กินข้าว ดูหนัง ดูละคร เดินทางสะดวกเสียอย่างหนึ่ง กิจกรรมก็เพิ่มขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น กินข้าวอร่อยขึ้น เศรษฐกิจก็ดีขึ้น
นักท่องเที่ยวอย่างฉันก็พลอยมีชีวิตชีวาเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับเจ้าของประเทศ ไม่เหมือน "บางประเทศ" ที่นักท่องเที่ยวกับเจ้าของประเทศ มีความสัมพันธ์เหมือนเป็น "คนรับใช้ หรือ คนให้บริการนักท่องเที่ยว" มากกว่าจะได้ "บันเทิง" แบบเคียงบ่าเคียงไหล่กัน
ทีนี้มาดูโจทย์ยากคือ คลองชองเกชอน ซึ่งเมื่อฟื้นฟูสำเร็จแล้วได้ชื่อว่าเป็น ecological modernization เป็นโครงการที่วางอยู่บนคอนเซ็ปต์ว่าด้วยการออกแบบพื้นที่เมืองที่ยึดเอาคุณภาพของสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก (eco-friendly urban design) โครงการนี้เริ่มทำปี 2003 สำเร็จและเปิดให้ประชาชนไปใช้สอยในปี 2005
สำหรับคนไทยลองนึกถึงคลองสาธร ส่วนฉันคนเชียงใหม่นึกถึงคลองแม่ข่า คือมันเป็นคลองที่มีชีวิตมาหลายร้อยปี จากเน่าเฟะ มีสลัมสองฝั่งคลอง จนมาถึงยุคพัฒนาอุตสาหกรรมก็มีอาคารบ้านเรือน ขึ้นมาแทนที่ มีการสร้างถนนคร่อม น้ำในคลองก็แห้ง
การฟื้นชีวิตให้คลองก็เริ่มจากทุบถนนออก เปิดคลองออกสู่สายตาสาธารณชน สูบน้ำจากแม่น้ำฮันเข้ามาวันละ 120,000 ตัน เวนคืนที่ดิน รื้อย้ายบ้านเรือน ผู้คนออกมาอยู่แฟลตการเคหะนอกเมือง
แน่นอนว่าโครงการเช่นนี้ย่อมต้องมีคนคัดค้าน มีคนไม่พอใจ โดยเฉพาะผู้คนที่ต้องถูกย้ายออก
แต่เหตุที่ทำได้สำเร็จคงไม่ใช่เพราะ ลี เมียง ปัก เป็นคนดี หรือมีบารมี หรือมีความกล้าหาญผิดมนุษย์มนา แต่มันเป็นเรื่องของโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย อันมีกติกาที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ และการทำงานที่มีการตรวจสอบ ถ่วงดุล ประชาพิจารณ์ ประสานงานของกลุ่มองค์กรทั้งภาครัฐบาล เอกชน พลเมือง ชุมชนท้องถิ่นที่ถูกตั้งมาเป็นคณะกรรมการ ตัวแทนจากลุ่มต่างๆ มาทำงานร่วมกัน
แน่นอนว่ามีกลุ่มคนออกมาต่อต้านไม่น้อย ที่ "ธุรกิจเล็กๆ เก่าแก่" ต้องถูก "ขจัด" ออกไปเพื่อความสวยงามของเมือง
แต่เมื่อโครงการนี้ทำสำเร็จ คลองชองเกชอนกลายเป็นไฮไลต์ของกรุงโซล มีน้ำใสไหลเย็น มีกิจกรรมทางวัฒนธรรม การละเล่น สองฝั่งคลอง ธุรกิจบนถนน เลียบคลองนั้นมีทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ สารพัดร้านอันเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับ "การใช้เวลาว่าง" ของผู้คนที่ไม่ต้องไปแออัดกันอยู่ในห้างสรรพสินค้า และกลายเป็นพื้นที่มีคนออกมาแฮงเอาต์กันได้ทุกเพศทุกวัย
ไม่เพียงแต่ "ตลาด" จะคึกคัก ในฐานะที่คลองชองเกชอนกลายเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ผลลัพธ์ทางสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นที่ชื่นชมยอมรับ เพราะว่าน้ำใสไหลเย็นในคลองนี้ช่วยลดความร้อนของเมืองไปได้ถึง 3.6 องศาเซลเซียส ระบบรถเมล์ที่มีประสิทธิภาพทำให้มีรถวิ่งเข้าใจกลางเมืองลดลงถึง 2.3%
มีความหลากหลายของพันธุ์ปลา นก แมลง เพิ่มขึ้น
นิทานเรื่องไปเที่ยวกรุงโซลสอนให้รู้ว่า ไม่มีเมืองเมืองไหนสวยมาตั้งแต่เกิด
เมืองทุกเมืองในโลกนี้ สวยขึ้นมาได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ เป็นมิตรกับพลเมืองได้ ด้วยปัจจัยของความเป็นประชาธิปไตย การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นที่ทำให้ท้องถิ่นได้บริหารจัดการตนเอง จนกระทั่ง "ท้องถิ่น" กำหนดการเมืองระดับชาติได้
นอกจากนั้น เมืองจะสวยขึ้นมาได้ต้องมี "เงิน" มีปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อน (ใช้งบประมาณไป 900 ล้านยูเอสดอลลาร์)
การปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ไม่อาจทำได้ด้วยการกลับไปเป็นชาวนาหรือมนุษย์ถ้ำ แต่ทำได้เพราะผลสำเร็จของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
ทุนแต่งงานกับประชาธิปไตยสร้างเมืองที่น่าอยู่-นะ ไม่ใช่เพราะ ลี เมียง ปัก เป็นคนดี
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย