http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-15

พญาอินทรีvs.มหามังกร : ดุลแห่งอำนาจในเอเชีย โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

พญาอินทรี vs. มหามังกร : ดุลแห่งอำนาจในเอเชีย 
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1687 หน้า 36


"ค่าใช้จ่ายทางทหารของสหรัฐอเมริกาในยุคหลังสงครามเย็น มีมูลค่าสูงมาก
เท่ากับค่าใช้จ่ายทางทหารของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกรวมกัน
สภาพเช่นนี้ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ที่ความไม่เท่าเทียมกันทางทหารระหว่างชาติหนึ่งกับชาติอื่นๆ มีอยู่อย่างมโหฬาร"
Martin Jacques
When China Rules the World (2012)



ความยิ่งใหญ่ทางทหารของสหรัฐอเมริกาเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือตั้งแต่หลังจากปี พ.ศ.2488 (ค.ศ.1945) เป็นต้นมา 
ความยิ่งใหญ่ของอำนาจทางทหารของสหรัฐนั้น ยังเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงสถานะของความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 

ดังจะเห็นได้ว่าในยุคสงครามเย็นนั้น เศรษฐกิจทุนนิยมของอเมริกาใหญ่เป็นสองเท่าของเศรษฐกิจสังคมนิยมของโซเวียต

และที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือ ทุนนิยมอเมริกันมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมากกว่าสังคมนิยมรัสเซีย ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่จะพบว่า นับจากหลังสงครามเย็นเป็นต้นมาแล้ว สหรัฐคือ "ผู้ขับเคลื่อนโลก" และทั้งยังเป็นผู้กุมอำนาจทางทหารที่สำคัญของโลก
จนทำให้ต้องเรียกถึงสถานะเช่นนี้ว่าเป็นมากกว่ารัฐมหาอำนาจ แต่เป็นถึงขั้นของ "รัฐอภิมหาอำนาจ" (superpower)


สถานะของความเป็นรัฐอภิมหาอำนาจของสหรัฐ ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องมาจนถึงยุคหลังสงครามเย็น ยิ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับการพังทลายของรัฐอภิมหาอำนาจอย่างสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญของยุคสมัยดังกล่าวแล้ว ก็ยิ่งเห็นชัดถึงความโดดเด่นของความเป็นอภิมหาอำนาจของอเมริกา
ซึ่งก็คงไม่ผิดอะไรนักที่จะกล่าวถึงโลกในยุคหลังสงครามเย็นที่มีลักษณะเป็น "ขั้วเดียว" (unipolar) ที่ความเป็นมหาอำนาจใหญ่ของสหรัฐนั้นดำรงอยู่โดยปราศจากคู่แข่ง หรือในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่า ความเป็นอภิมหาอำนาจทางทหารของสหรัฐนั้น เป็นสิ่งที่รัฐอื่นๆ ไม่อยู่ในสภาพที่จะแข่งขันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมรรถนะสูงทางทหารที่กองทัพสหรัฐเป็นผู้ครอบครอง
ดังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนจากปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นในคูเวต (พ.ศ.2534) ในอัฟกานิสถาน (พ.ศ.2544) และในอิรัก (พ.ศ.2546) เป็นต้น



ความเป็นมหาอำนาจเช่นนี้ส่งผลให้การเมืองโลกมีลักษณะเป็น "ขั้วเดียว" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นแล้ว ก็ไม่มีมหาอำนาจอื่นที่จะมีความเข้มแข็งจนสามารถผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับสหรัฐได้ 
แต่ขณะเดียวกันก็พบว่าความยิ่งใหญ่ของอำนาจทางทหารของสหรัฐนั้น วางอยู่บนรากฐานของเศรษฐกิจทุนนิยมอเมริกัน ที่กลับแสดงให้เห็นถึงภาพตรงกันข้ามในยุคหลังสงครามเย็น 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในสังคมอเมริกัน ที่บ่งบอกถึงการถดถอยของความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐ

และในความถดถอยเช่นนี้กลับเห็นปรากฏการณ์คู่ขนานอันได้แก่ การเติบใหญ่ของเศรษฐกิจจีน ที่นับวันจะเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนต้องถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ 
และส่งสัญญาณให้เห็นถึงความเป็น "คู่แข่ง" กับสหรัฐอย่างชัดเจนมากขึ้น


การเป็นคู่แข่งของจีนใช่ว่าจะเป็นแค่เรื่องทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่เริ่มเห็นมากขึ้นถึงการที่จีนพยายามจะสร้างพลังอำนาจทางทหารของตน และวันนี้อาจจะต้องถือว่า ข้อสังเกตในช่วงต้นของยุคหลังสงครามเย็นที่มองเห็นกองทัพจีนเป็นดัง "พิพิธภัณฑ์ทหาร" เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะกองทัพจีนปัจจุบันได้รับการพัฒนามากขึ้นจนต้องจับตามอง
การนำเอาเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าประจำการในกองทัพเรือจีน ถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจที่แต่เดิมกองทัพเรือถูกมองว่าเป็นเพียงแค่กองเรือป้องกันชายฝั่งเท่านั้น

การเป็นคู่แข่งดังกล่าวปรากฏให้เห็นในอีกส่วนหนึ่งของการจัดวางกำลังระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ทั้งสองในเอเชีย ซึ่งหากสำรวจโดยเน้นถึงในกรอบของเอเชีย-แปซิฟิกแล้ว เราจะเห็นถึงการวางกำลังของทั้งสองฝ่ายอย่างสังเขปดังต่อไปนี้



กำลังรบของสหรัฐอเมริกาในเอเชีย-แปซิฟิก

กําลังรบของสหรัฐ ในเอเชีย-แปซิฟิกอยู่ภายใต้การควบคุมและบังคับบัญชาของกองบัญชาการภาคพื้นแปซิฟิก (Pacific Command) ซึ่งตั้งอยู่ที่ฮาวายเป็นหลัก แต่ถ้าพิจารณาถึงงานทางยุทธการแล้ว กำลังหลักของสหรัฐถูกจัดวางไว้ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

๏ ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นศูนย์บัญชาการทางยุทธการใหญ่ของกองทัพสหรัฐในเอเชีย ได้แก่ กองบัญชาการกองทัพบกทางยุทธบริเวณที่ 9, กองบัญชาการกองทัพเรือที่ 7 และกองบัญชาการกองทัพอากาศที่ 5

ในญี่ปุ่นนั้น กองทัพสหรัฐมีกำลังพลถึง 35,598 นาย และถือว่ามีจำนวนสูงสุดในเอเชีย โดยแบ่งเป็น กองทัพบก 2,677 นาย กองทัพเรือ 3,539 นาย กองทัพอากาศ 12,380 นาย และนาวิกโยธิน 17,002 นาย (กำลังพลส่วนนี้ไม่นับรวมที่ประจำการอยู่กับเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือรบแบบต่างๆ ของกองทัพเรือที่ 7)

นอกจากกำลังดังกล่าวแล้ว ญี่ปุ่นเปรียบเสมือนบ้านของกองทัพเรือที่ 7 โดยมีฐานทัพอยู่ที่โยโกซูกะ ซึ่งมีกองเรือบรรทุกเครื่องบินเป็นกำลังหลัก และในส่วนของกองทัพอากาศนั้น กำลังรบหลักของเครื่องบินรบแบบต่างๆ ถูกจัดวางไว้ที่ฐานทัพในโอกินาวา สำหรับนาวิกโยธินมีกำลัง 1 กองพล (กองพลที่ 3) พร้อมกับเครื่องบินขับไล่อีก 1 ฝูงบิน และเครื่องบินรบแบบอื่นๆ อีกด้วย

๏ เกาหลีใต้


เกาหลีใต้เป็นลำดับที่ 2 ที่สหรัฐมีกำลังพลประจำการสูงสุดรองจากญี่ปุ่น และมีกองบัญชาการที่สำคัญของสหรัฐ ได้แก่ กองบัญชาการกองทัพบกที่ 8 และกองบัญชาการกองทัพอากาศที่ 7

กำลังพลของสหรัฐ ที่ประจำการอยู่ในเกาหลีใต้มีเป็นจำนวน 25,374 นาย โดยแบ่งเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้ กองทัพบก 17,130 นาย กองทัพเรือ 254 นาย กองทัพอากาศ 7,857 นาย และนาวิกโยธิน 133 นาย

กำลังรบหลักของสหรัฐ ในเกาหลีใต้ในส่วนของกองทัพบก ได้แก่ กองพลทหารราบที่ 2 และมีอาวุธเป็นรถถังและรถรบทหารราบ ตลอดรวมถึงยานยนต์ติดตั้งจรวดแบบหลายท่อประจำการอยู่ด้วย สำหรับกองทัพอากาศมีกำลังรบหลัก ได้แก่ 2 ฝูงบินขับไล่ และเครื่องบินโจมตีภาคพื้นดินอีก 1 ฝูงบิน

กำลังรบของสหรัฐ บนคาบสมุทรเกาหลีนี้มีภารกิจหลักในการป้องปรามการเปิดปฏิบัติการทางทหารของกองทัพเกาหลีเหนือ ซึ่งจะพบว่าสถานการณ์การเมืองและการทหารบนคาบสมุทรเกาหลีในปัจจุบันยังไม่ได้กลับคืนสู่ภาวะปกติแต่อย่างใด กำลังรบเหล่านี้จึงเป็นเสมือน "ด่านหน้า" ของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเกาหลีทั้งสองประเทศ

นอกเหนือจากกำลังพลที่ประจำการอยู่ในญี่ปุ่นและในเกาหลีใต้แล้ว สหรัฐยังมีกำลังรบนอกประจำการอยู่ในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของเอเชียอีก ได้แก่

๏ กวม : กำลังของสหรัฐ บนเกาะกวมมีจำนวน 2,982 นาย พร้อมมี 1 ฐานทัพอากาศ และอีก 1 ฐานทัพเรือ ซึ่งสำหรับฐานทัพเรือนั้น มีเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ประจำการอยู่ด้วยจำนวน 3 ลำ และฐานทัพอากาศที่กวมก็ถือเป็นฐานทัพหลักของสหรัฐในแปซิฟิก

๏ ฟิลิปปินส์ : สหรัฐมีกำลังพลประจำการอยู่ในฟิลิปปินส์เป็นจำนวน 117 นาย

๏ ไทย : สหรัฐมีกำลังพลประจำการอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวน 122 นาย

๏ สิงคโปร์ : สหรัฐมีกำลังพลประจำการอยู่ในสิงคโปร์เป็นจำนวน 122 นาย

ภาพอย่างสังเขปของการจัดวางกำลังรบของสหรัฐ ในข้างต้นสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สหรัฐยังคงให้ความสำคัญกับเอเชีย-แปซิฟิกอย่างมาก 
ซึ่งนอกจากประเทศในภูมิภาคแล้ว สหรัฐยังคงวางกำลังอีกส่วนหนึ่งไว้ในออสเตรเลีย ซึ่งแต่เดิมกำลังพลของสหรัฐในออสเตรเลียอาจจะมีไม่มากนัก เพราะเป็นกำลังในงานด้านข่าวกรองมากกว่า 
แต่หลังจากการเยือนของประธานาธิบดีโอบามาในปลายปี 2555 แล้ว สหรัฐจะเพิ่มกำลังพลนาวิกโยธินของตนในออสเตรเลียเป็นจำนวน 2,500 นาย พร้อมกับอุปกรณ์ทางทหารอื่นๆ เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือภัยพิบัติในภูมิภาค



กำลังรบของจีนในเอเชีย-แปซิฟิก

การจัดวางกำลังรบของจีนที่รับผิดชอบพื้นที่ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยตรง น่าจะเป็นกองบัญชาการของพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ซึ่งได้แก่ มณฑลทหารกวางโจว และมณฑลนี้ได้แบ่งกำลังรบออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

๏ กำลังรบทางบก

กำลังรบของทหารบกจีนในพื้นที่นี้จัดเป็น 2 กลุ่มกองทัพ (Group Army) ได้แก่ กลุ่มกองทัพที่ 41 และกลุ่มกองทัพที่ 42
ซึ่งกลุ่มกองทัพที่ 41 นั้นประกอบกำลังหลักด้วย 1 กองพลทหารราบยานเกราะ และ 1 กองพลทหารราบยานยนต์ และ 1 กองพลน้อยยานเกราะ
ส่วนกลุ่มกองทัพที่ 42 นั้นประกอบกำลังหลักด้วย 1 กองพลยกพลขึ้นบก และ 1 กองพลทหารราบยานยนต์ 1 กองพลทหารปืนใหญ่ และ 1 กองพลน้อยยานเกราะ และกำลังพลของกลุ่มกองทัพที่ 42 นั้นยังรับผิดชอบต่อพื้นที่ของเกาะฮ่องกงด้วย (กำลังพลส่วนนี้จัดเป็นกำลังพลแบบหมุนเวียน)

๏ กำลังรบทางทะเล

กำลังรบของกองทัพเรือจีนในพื้นที่ส่วนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกองเรือทะเลใต้ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่จากชายฝั่งทะเลของเมืองตงซานไปจนถึงชายฝั่งทะเลของเวียดนาม ความรับผิดชอบของกองทัพเรือทะเลใต้นี้จึงควบคุมปฏิบัติการทางทะเลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหมู่เกาะสแปรตลีย์และพาราเซลด้วย
กำลังรบหลัก ได้แก่ เรือดำน้ำนิวเคลียร์ติดขีปนาวุธ 1 ลำ เรือดำน้ำนิวเคลียร์ 2 ลำ และเรือดำน้ำ 18 ลำ นอกจากนี้ ยังมีเรือพิฆาตจำนวน 5 ลำ และเรือฟริเกตแบบต่างๆ อีก 23 ลำ โดยแบ่งเป็นเรือฟริเกตติดตั้งอาวุธปล่อยและมีเฮลิคอปเตอร์ประจำการ 8 ลำ เรือฟริเกตติดตั้งอาวุธปล่อย 15 ลำ พร้อมทั้งเรือสนับสนุนแบบต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง

๏ กำลังรบทางอากาศ

กำลังรบของกองทัพอากาศในยุทธบริเวณนี้ประกอบด้วย 6 กองพลบินและ 1 กรมลาดตระเวน ได้แก่ กองพลบินขับไล่ที่ 2, กองพลบินทิ้งระเบิดที่ 8, กองพลบินขับไล่ที่ 9, กองพลบินขนส่งทางอากาศที่ 13, กองพลบินขับไล่ที่ 18, กองพลบินขับไล่ที่ 42 และกรมลาดตระเวนทางอากาศ

นอกจากนี้ กำลังที่อยู่ด้านบนของมณฑลทหารที่กวางโจวคือ กองบัญชาการที่เมืองนานจิง หรือมณฑลทหารนานจิง หรือกองบัญชาการภาคตะวันออกของกองทัพจีน ก็เป็นอีกส่วนที่คาบเกี่ยวกับปฏิบัติการในเอเชีย-แปซิฟิก เพราะเป็นส่วนที่รับผิดชอบทางทะเลของเกาะไต้หวัน


อนาคต

จากภาพโดยรวมในข้างต้นชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงดุลกำลังระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ทั้งสองฝ่ายในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งนับวันจะทวีการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น

และการแข่งขันเช่นนี้เป็นสิ่งที่จะต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่งสำหรับอนาคต!



.