http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-08

คนดีไม่มีที่ยืน โดย คำ ผกา

.

คนดีไม่มีที่ยืน
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1686 หน้า 89


อยู่ๆ ฉันก็เพิ่งนึกขึ้นได้ว่าตนเองอยู่ในประเทศที่หากคุณเป็น "คนดี" แล้วคุณทำอะไรก็ไม่ผิด

เป็นคนดี เอาเก้าอี้ฟาดศพก็ได้ เป็นคนดีสามารถเชียร์ให้รัฐบาลออกมาฆ่าคนก็ได้ (ก็ไอ้คนพวกนั้นมันคน "ไม่ดี") เป็นคนดี
อยากจะเอากาแฟสาดหน้าผู้โดยสาร ในฐานะที่เป็นแอร์โฮสเตสแล้วยังเอารายชื่อผู้โดยสารที่เราไม่ชอบขี้หน้ามาโพสต์ในเฟซบุ๊กทั้งๆ ที่ผิดระเบียบของบริษัท 
คนดีย่อมชี้หน้าด่าคนไม่ดีกลางห้างสรรพสินค้าได้ในนามของความดี คนดีย่อมใช้วาจาหยาบคายต่อคนไม่ดีได้อย่างไม่มีขีดจำกัด : ไม่เป็นไรหรอก เพราะการกระทำของคนดีย่อมอยู่เหนือกฎหมาย อยู่เหนือกฎเกณฑ์ อยู่เหนือระเบียบ อยู่เหนือจรรยาบรรณ : "คนดี" นั้นย่อมอยู่เหนือโลกและจักรวาล เป็นข้อยกเว้น เพราะเพียงแค่เป็น "คนดี" ก็เพียงพอแล้วสำหรับการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย


คุณสมบัติของ "คนดี" นั้นไม่ได้ต้องการอะไรมาก หลักๆ ต้องเป็น Ultraman, เป็นได้แล้ว เรื่องอื่นๆ ก็สำคัญรองลงมา หลังๆ ดูเหมือนจะชอบให้ไปเป็นชาวนา ชาวสวน รักธรรมชาติ นั่งสมาธิ 
แต่ก็นั่นแหละ คนรักธรรมชาติ นั่งสมาธิ หากต้องไปเผชิญหน้ากับคน "ไม่ดี" แล้วล่ะก็ เขาว่า "ตาย เป็นตาย"



สงสัยเหมือนฉันไหมว่า ทำไม "คนดี" ถึงเชื่อว่าวิธีที่จะทำให้โลกนี้ "ดี" ขึ้นมีวิธีการเดียวคือ "ขจัด" คนไม่ดีออกไป ง่ายๆ แค่นี้แหละ ถ้าโลกนี้เหลือแต่ "คนดี" อะไรๆ มันก็จะดีขึ้นเองโดยอัตโนมัติ การ "ขจัด" คนไม่ดี อย่างมีเมตตาก็คือไล่คนไม่ดีออกไปซะ ถือว่าเปิดโอกาสให้เลือก "ถ้าคิดว่าอยู่ที่นี่ไม่ได้ก็ออกไปวะ"
หากคนไม่ดียืนยันว่าตนเองมีสิทธิจะอยู่ที่นี่โดยไม่จำเป็นต้องเป็น "คนดี"  - บรรดา"คนดี" ก็จะเริ่มใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด นั่นคือปลุกระดมให้สังคมเห็นว่า คนไม่ดีนั้นน่ารังเกียจเดียดฉันท์ เป็นเสนียด จัญไร จะนำมาซึ่งความเสื่อม ตกต่ำแก่ทุกภาคส่วน เป็นตัวทรยศ ทำลายชาติ ดังนั้น ผองเราจงช่วยกันกำจัดคนพรรค์นี้ออกไป (และทำได้ทุกวิธีไม่มีจำกัด)

วิธีคิดแบบนี้คล้ายๆ กับยุคหนึ่งที่เชื่อว่า ถ้าอยากแก้ปัญหาความยากจนก็แค่จับคนจนไปทำหมันให้หมด อย่าได้ออกลูกออกหลานสืบทอดความยากจนต่อไป ทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็จะเหลือแต่คนมั่งมีเท่านั้นที่สืบสายพันธุ์ต่อไปได้ 
ปัญหาความยากจนแก้ได้ง่ายๆ แค่นี้เอง

ไม่น่าเชื่ออีกนั่นแหละว่า การรัฐประหาร 2549 จะช่วยไขปริศนาการเมืองไทยได้หลายประการ



ก่อน 2549 เราเชื่อว่า ประเทศไทยยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา และยากจน เพราะ
- คนไทยโดยธรรมชาติ เป็นคนขี้เกียจ ไม่กระตือรือร้น ไม่มีระเบียบวินัย ขาดความอดทน
- ระบบราชการที่ใหญ่โต เทอะทะ ไร้ประสิทธิภาพ 
- ประชากรส่วนใหญ่ของไทยยากจน ไร้การศึกษา 
- นักการเมืองคอร์รัปชั่น เข้ามาทำงานการเมืองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองมากกว่าทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ 
- คนดีไม่เล่นการเมือง 
- มีการซื้อสิทธิ ขายเสียง 
- เพราะคนจนโง่ นักการเมืองเลว มีระบบอุปถัมภ์ ทำให้ไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง และเป็นต้นเหตุของความด้อยพัฒนา

ยี่สิบปีที่แล้ว ฉันคิดว่า เราคนไทยเกือบทั้งหมดสิ้นหวังกับอนาคตของประเทศไทย เพราะนึกไม่ออกว่าจะแก้ปัญหานักการเมืองชั่ว กับคนจนและโง่ได้อย่างไร เพราะมันดูเป็นปัญหางูกินหาง เพราะคนจนก็เลยขายเสียง เมื่อขายเสียงก็ได้นักการเมืองชั่ว เมื่อมีนักการเมืองชั่วคนก็ไม่หายจน เมื่อไม่หายจนก็ขายเสียง เข้าไปในระบบอุปถัมภ์เหมือนเดิม-วนอยู่อย่างนี้จนเกิดคำว่า วงจรอุบาทว์

เราเชื่ออย่างนี้เพราะวรรณกรรมทางการเมืองที่อยู่ในสื่อ "มวลชน" ต่างนำเสนอพล็อตเรื่องนี้ให้เราอย่างซ้ำซากมาต่อเนื่องหลายทศวรรษ 
ซ้ำพอๆ กับคนที่คนไทยดูละครหลังข่าวแล้วเชื่อว่าหนทางเดียวที่จะทำให้นางเอกได้กับพระเอกคือต้องโดนพระเอกข่มขืนเท่านั้น

เรามิได้เอะใจเลยว่า ทำไมประเทศที่พัฒนาแล้วก็ล้วนแต่ผ่านยุคอดอยากยากจนมาเหมือนๆ กัน มีคนจนคนโง่ คนไร้การศึกษามากมายเหมือนกัน แต่เหตุไฉนจึงออกจากวงจรอุบาทว์นั้นไปได้ 
จะว่าเกิดนักการเมืองพันธุ์ใหม่ อยู่ๆ ก็อุบัติขึ้นออกมาเป็นนักการเมืองน้ำดี มีคุณธรรม ไม่โกงกิน รักประชาชน รักชาติ รักป่า สนับสนุนกรีนพีซ สนับสนุนสิทธิสตรีมาตั้งแต่เกิด? 
การอัศจรรย์นั้นก็ไม่น่าเป็นไปได้อีกนั่นแหละ


คงมีนักรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่งที่เห็นว่า การแก้ไขที่โครงสร้างความสัมพันธ์ของสถาบันการเมืองต่างๆ ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ "เกม" การเลือกตั้งใหม่ การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ก็น่าจะช่วยปรับโครงสร้างการเมืองไทยให้ขยับออกจากวงจรอุบาทว์ได้ ทีละนิด 
จากนั้นมันก็เกิดขึ้นจริงใน รัฐธรรมนูญปี 2540 อันเป็นปฏิกิริยาต่อการรัฐประหารอันนำมาซึ่งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ว่ากันว่า การรัฐประหารไม่น่าจะเกิดขึ้นอีกหลังจากประชาธิปไตยดูจะหยั่งรากผลิบานแล้วในสังคมไทย โดยที่เรามิได้ระแวดระวังว่า มรดกทางวัฒนธรรมอันหนึ่งของรัฐธรรมนูญปี 2540 คือการสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่เชิดชู "คนดี" นอกสถาบันการเมือง (และการเลือกตั้ง) ภายใต้โวหาร "อิสระ", "เป็นกลาง", "สาธารณะ" 
จะเห็นว่าไม่มีครั้งในในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่จะมีการเกิดขึ้นขององค์กรอิสระที่ความหมายไม่แน่ชัดว่าอิสระจากใครและอย่างไร แต่พวกเราก็ติดกับดักในโวหารแสนสวยให้คิดต่อเอาเองเออเองว่าพอขึ้นชื่อว่าองค์กรอิสระย่อมอิสระจากจากกลุ่มทุน อำนาจ และการเมือง อิสระจากผลประโยชน์ทุกสิ่ง เที่ยงตรง ยุติธรรม 
จนเราเองก็ลืมคิดว่า ในโลกนี้มีด้วยหรือคนดีที่ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ เป็นของตนเองเลย??????

และเป็นได้อย่างไรที่เราจะมี "คนดี" เช่นนั้น โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในกลไกของสถาบันทางการเมืองที่ตรวจสอบได้

นอกจากองค์กรกลาง องค์กรอิสระ เรายังมีสถาบันวิจัยที่บอกสังคมเสมอว่าตนเองเป็น "อิสระ" มีสถานีโทรทัศน์ที่ประกาศจุดยืนสาธารณะเป็นอิสระจากทุนจากรัฐ  
ค่ะ ไม่มีผลประโยชน์ ไม่อิงอยู่กับอุดมการณ์ชุดๆ เลย เป็นกลางม้าก มากค่ะ

เรามีองค์กรคนดีที่กุมงบประมาณจากภาษีบาปมหาศาลพร้อมสยายปีกโอบอุ้มคนดีเข้ามาไว้ในเครือข่ายแผ่ขยายอิทธิพลความดีไม่กินเหล้าไม่สูบบุหรี่ มุ่งหวังสร้างเมืองสีขาวเมื่อสะอาดเอี่ยม สร้างพลังชุมชนที่เข้มแข็ง (ขจัดอิทธิพลนักการเมืองชั่ว)



น่าสนใจว่าในขณะที่อุดมการณ์ "คนดี" รังเกียจรัฐ รังเกียจทุนสามานย์ กำลังทำงานอย่างคึกคักในหมู่คนที่มีการศึกษาและปรารถนาดีต่อประเทศชาติและคนจน กลไกการเลือกตั้งใหม่ การเกิดขึ้นขององค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น และนโยบายใหม่ (ที่ถูกเรียกว่าประชานิยมจากกลุ่มคนที่เห็นว่าบริโภคนิยมเป็นอันตรายต่อคนจนผู้ไม่ประสีประสา) จากพรรคไทยรักไทยก็กำลังทำงานกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ประชาชนที่ถูกตราหน้าว่า โง่ จน เจ็บ จนซ้ำจนซาก จนอย่างไม่มีวันลืมตาอ้าปาก

รัฐบาลทุนสามานย์ผลิตนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค แต่องค์กรคนดีบอกว่า ประชาชนที่ยากจนไม่ควรตกเป็นเหยื่อของการแพทย์สมัยใหม่ ควรกลับไปหาภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้สมุนไพรรักษาโรค 
รัฐบาลทุนสามานย์ เอาหวยใต้ดินมาอยู่บนดินแล้วให้ทุนการศึกษาเด็กบ้านนอก แต่องค์กรคนดีบอกว่า ภูมิปัญญาอยู่ที่หมู่บ้าน จงเลี้ยงควาย ทำนาปลอดสารพิษ ปลูกข้าวอินทรีย์

มันเป็นความสัมพันธ์ที่แปลกประหลาดมาก เพราะยิ่งกลุ่มองค์กรคนดีบอกว่า "รักชาวบ้าน รักชาวชนบท รักวิถีชีวิตแบบไทยแท้ รักภูมิปัญญาท้องถิ่น" ยิ่งพวกเขาบอกรักคนเหล่านี้มากเท่าไหร่ บรรดาชาวบ้านที่เขารักกลับเทใจไปให้ "ทุนสามานย์" ที่ "คนดี" รังเกียจเดียดฉันท์ 
ยิ่ง "คนดี" โหยหาวิถีชีวิตอันเรียบง่าย ชาวบ้านตัวจริงได้เริ่มเข้าใจว่ากลไกการต่อรองผลประโยชน์ผ่านระบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างไร พวกเขาได้เห็นแล้วว่า ชีวิตนั้นเปลี่ยนแปลงได้หากพวกเขาสามารถเข้าถึง "ทุน" ทั้งทุนที่เป็นตัวเงินและทุนทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางการศึกษาของลูกหลาน, โอกาสในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ

ชาวบ้านได้เห็นช่องการการขยับตัวให้พ้นจากความยากจนแบบเดิม เวลาเดียวกับการที่ระบบราชการถูกบังคับให้ปรับตัวมาบริการประชาชนมากกว่าเป็นเจ้าเป็นนาย และในเวลาเดียวกันนั้นเองที่ลูกหลานชาวบ้านกลายเป็นข้าราชการระดับล่าง เป็นครู เป็นพยาบาล ฯลฯ
เทคโนโลยีที่ราคาถูกลง ทำให้ชาวบ้านได้รับการ "ศึกษา" ผ่านการไหลเวียนของข้อมูล ข่าวสารในระดับที่ใกล้เคียงหรืออาจจะมากกว่าชนชั้นกลางกลุ่มเดิมที่เชื่อว่าตนมีการศึกษาอยู่เพียงฝ่ายเดียว

ยิ่งชาวบ้านสนับสนุนพรรคการเมืองและทุนสามานย์มากเท่าไหร่ บรรดา "คนดี" ก็ยิ่งโกรธแค้นทุนสามานย์มากเท่านั้น 
พวกเขาพิพากษาว่าทุนสามานย์เป็นตัวการทำให้ชาวบ้านผู้ไร้เดียงสาแปดเปื้อน หลงผิด เห็นกงจักรเป็นดอกบัว 
ยิ่งเชื่อเช่นนี้ ยิ่งทำให้พวกเขาเห็นว่า "ประชาธิปไตยไม่เหมาะสำหรับคนจน" และประเทศไทยยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย 


ทว่า เวลาเกือบสิบปีนับจากปี 2540 สังคมไทยมีพลวัตในแบบที่ "คนดี" มองเห็นแต่ทำเป็นไม่เห็น นั่นคือการปฏิรูปการเมืองและการกระจายความเหลื่อมล้ำได้เกิดขึ้นอย่างที่มันไม่เคยเกิดในสี่ทศวรรษที่ผ่านมาในสังคมไทย
ไม่มีแล้ว ชาวบ้านที่ โง่ จน เจ็บ มีแต่ชาวบ้านที่ตระหนักในสิทธิทางการเมืองของตนเองในฐานะที่เป็นกลไกการต่อรองผลประโยชน์ มีชาวบ้านที่มีความหวังและเชื่อมั่นในความเปลี่ยนแปลงและต้องการความเปลี่ยนแปลงทั้งได้ประจักษ์ด้วยตนเองว่า ความเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้จริงหากพวกเขามีพลังในการต่อรองอำนาจทางการเมืองมากพอ

"คนดี" จะชอบหรือไม่ชอบ แต่พลวัตนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เหลือแต่ปัญหาที่ว่า "คนดี" จะยอมรับความจริงข้อนี้ได้หรือไม่ว่า วงจรอุบาทว์ไม่เคลื่อนตัวออกไป นักการเมืองไม่ได้นิสัยดีขึ้น แต่พวกเขาถูกกำกับมากขึ้นจากเสียงที่โหวตสนับสนุนเขา การซื้อเสียงน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญในขณะที่นโยบายของพรรคการเมืองสำคัญมากขึ้น

"คนดี" ต้องหาที่อยู่ของตัวเองให้เจอแล้วล่ะ



.