.
เกษียร เตชะพีระ: “ปัญหาของขวาไทยในปัจจุบัน”
ในมติชนออนไลน์ วันเสาร์ที่ 08 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 20:45:00 น.
(ที่มา นสพ.มติชนรายวัน ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม 2555)
เกษียร เตชะพีระ
อนุสนธิจากเพื่อนในสื่อสังคมเฟซบุ๊ก (Facebook) เสนอแนะให้เปิดประเด็นวิวาทะเรื่องแนวนโยบายใหญ่ๆ ของบ้านเมืองกับองค์การพิทักษ์สยาม แทนที่จะเอาแต่ล้อเลียนพวกเขาดังที่ทำกันแพร่หลายในปัจจุบัน
ผมคิดว่าเป็นข้อเสนอด้วยกุศลเจตนา แต่อาจจะผิดฝาผิดตัวและไม่ได้ผลอะไร ด้วยสาเหตุอันเกี่ยวแก่ลักษณะโดยรวมของฝ่ายขวา หรืออนุรักษนิยม/ปฏิกิริยาไทยในปัจจุบันตามที่ผมเข้าใจ
ผมขอขยายความ...
พลเอก บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้ายและพรรคพวกที่แวดล้อมท่านไม่คิดตั้งพรรคลงเลือกตั้งเพราะรู้ว่าถึงลงก็แพ้ เสียงส่วนใหญ่จะไม่เลือก
ตัว เสธ.อ้ายมีบทบาทแค่หัวโขน ความคิด การเมืองอยู่ในระดับมูลบทเบื้องต้นของความเป็นไทยแบบราชาชาตินิยมและประชาธิปไตยแบบไทยๆ
สิ่งที่เรียกว่าองค์การพิทักษ์สยามเป็นเพียง "ร่ม" ของเครือข่ายกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมผู้จงรักภักดี ร่วมกับกลุ่มองค์กรประชานิยมที่ต่อต้านอำนาจทุนการเมืองใหญ่หลากหลายกลุ่มซึ่งหาที่หยั่งตั้งอำนาจของตนในระบบเลือกตั้งไม่พบจุดแข็งของพลังเหล่านี้ไม่ใช่แนวนโยบายเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นระบบ เพราะฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งเป็นหัวขบวนหลักไม่คิดจะพาบ้านเมืองไปไหน หากคิดจะตั้งมั่นตรึงอยู่กับที่ (จึงใช้จินตภาพ "แช่แข็ง") ดังนั้น การสร้างวิชั่นโมเดลที่เป็นระบบ ไม่ใช่ภาระหน้าที่หลักของพวกเขา ไม่ใช่สมรภูมิหลักที่พวกเขาคิดจะทุ่มเทต่อกร
จุดแข็งของพวกเขาคือ ฐานวัฒนธรรมการเมืองราชาชาตินิยมเดิมต่างหาก ซึ่งพวกเขาก็ระดมตักตวงฉวยใช้อย่างไม่ปรานีปราศรัยหรือขวยใจจนดูน่าเกลียด, ชักฝืดฝืนร่อยหรอลง, และประดักประเดิดขึ้นเรื่อยๆ (ดังที่ เสธ.อ้ายประกาศฤกษ์ชุมนุมใหญ่วันที่ 24 พ.ย. เวลา 09.01 น. ว่าเป็นเลขมหามงคล, แล้วต่อมาเมื่อมีผู้ตำหนิทักท้วงว่ามิบังควร พลอากาศโท วัชระ ฤทธาคนี โฆษกองค์การพิทักษ์สยาม ก็ออกมาเปลี่ยนแก้เป็น 09.00 น., แต่แล้วในวันชุมนุมจริง เสธ.อ้ายก็เริ่ม พิธีบวงสรวงพระบรมรูปทรงม้า เวลา 09.01 น. ดังเดิมอีกนั่นแหละ)
ปัญหาหลักของฝ่ายขวาไทยในปัจจุบันที่น่าจะต่อสู้ทางความคิดด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแนวนโยบาย หากเป็นวิถีทางการต่อสู้ที่พวกเขาเลือกเพื่อไปสู่เป้าหมายการเมือง ซึ่งจนแล้วจนรอดก็ยังดื้อรั้นยืนกราน วาดหวังถึงวิธีการนอกระบบที่ล้มล้างสถาบันการเมืองประชาธิปไตย
นี่คือจุดบอดที่ทำให้พวกเขาเสื่อมถอยง่อยเปลี้ยลงอย่างรวดเร็วหลังจากเคยขึ้นถึงจุดสุดยอดในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ถ้าไม่หันมาปรับตัวเดินในแนวทางเลือกตั้งและระบอบรัฐสภา
ส่วนเรื่อง "ล้อเลียน" ก็เป็นน้ำจิ้มเครื่องเคียงของเกมการเมืองวัฒนธรรมแบบไทยเสมอมา ผมเห็นว่าวิธีสู้กับฝ่ายขวาจัดต่อต้านประชาธิปไตย ไม่ใช่ปราบปรามกดขี่ให้พวกเขาเป็นวีรชน แต่น่าจะล้อเลียนให้พวกเขาเป็นตัวตลกในประเด็นวิธีการขวางโลก/หมุนทวนโลกของเขามากกว่า ซึ่งท่าทีของพวกเขาก็ออกมาแบบนั้นเป๊ะๆ อย่างไม่นัดหมาย คือเสนอให้ "แช่แข็ง" ประเทศ ราวกับหาวัตถุดิบมาป้อนให้ล้อเลียนเลยทีเดียว (ดังภาพการ์ตูนของคุณอรุณ วัชระสวัสดิ์ ด้านบนเป็นตัวอย่าง)
การต่อสู้เชิงแนวนโยบายที่จริงจังนั้น ผมคิดว่าต้องสู้กับหน่วยงานนโยบายของรัฐหรือสถาบันวิจัยเอกชนอย่าง กยน. และ กยอ. หรือ TDRI ต่างหาก พวกนั้นแหละครับที่น่าจะชวนทะเลาะด้วยในเรื่องนโยบายใหญ่ๆ อย่างรัฐสวัสดิการและความเท่าเทียมในสังคม มากกว่าฝ่ายขวาจัดซึ่งมักจะออกอาการ "อัตคัดขัดสนนโยบาย" (The Poverty of Policy) อยู่เสมอ
ผมนึกถึงตัวอย่างสมัยรัฐบาลนายกฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มพลังอนุรักษนิยมในสังคมการเมืองไทย ผลงานเด่นตอนนั้นไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจสังคม ซึ่งเป็นไปในเชิงตั้งรับประคับประคอง แต่เป็นนโยบายขยายอำนาจและงบประมาณกองทัพ และกระชับอำนาจโครงสร้างราชการมากกว่า
จะเห็นได้ว่าข้อเสนอทางการเมืองของ เสธ.อ้ายกับพวกเป็นสูตรเดียวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มหมอตุลย์สืบเนื่องกันมา คือเรื่องจุดอ่อนของระบบเลือกตั้ง นักการเมือง และคอร์รัปชั่น
การชวนเขาถกเถียงเรื่องรัฐสวัสดิการหรืออะไรอื่นก็คงยากอยู่ ผมกลับคิดว่าเรื่องที่น่าชวนเขาเถียงด้วยคือประเด็นที่ว่า :
ทำไมพวกท่านไม่ต่อสู้ในหนทางระบอบรัฐสภาประชาธิปไตย แบบไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษของทหารและไม่แอบอ้างสถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องให้ความชอบธรรมแก่การล้มล้างบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยล่ะ?
เพราะถ้าพวกเขาคิดเรื่องนี้ตกและปรับเปลี่ยนวิถีทางต่อสู้เข้ามาอยู่ในกฎเกณฑ์กติกาของระบอบประชาธิปไตยได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อขบวนการต่อสู้ของพวกเขาเองและความสงบสุขของชาติบ้านเมืองโดยรวมมากกว่า
ผมคิดว่าเรื่องเดียวที่ข้อถกเถียงของพวกเขาพอฟังขึ้นคือ ข้อวิจารณ์หวั่นเกรงอำนาจผูกขาดทางการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่ หรือที่พวกเขามักใช้คำว่า "ทุนนิยมสามานย์" หรือ "เผด็จการทุนนิยม" แต่ก็แค่วิจารณ์นะครับ ไม่ได้เสนอว่าจะต่อต้านอย่างไรมากไปกว่าความเชื่อที่ว่ายึดอำนาจรัฐด้วยการรัฐประหารแล้วค่อยใช้อำนาจรัฐไปสู้ทุนอีกทีซึ่งเอาเข้าจริงก็ล้มเหลวไม่เป็นท่ามาแล้วอย่างในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ ณ คมช. เป็นตัวอย่าง
ในทางกลับกัน ข้อเสนอของผมคือ ถ้าคิดจะสู้กับทุน ต้องอาศัยกำลังไพร่ ไม่ใช่อำมาตย์ ต้องขยายสิทธิประชาธิปไตยของประชาชนออกไปให้ประชาธิปไตยใหญ่กว่าทุน อาศัยประชาธิปไตย เป็นเงื่อนไขไปต่อสู้คัดง้างถ่วงทานอำนาจทุน สู้กันไปเรื่อยๆ แพ้บ้างชนะบ้างกันไปเรื่อยๆ โดยไม่มีสงครามครั้งสุดท้าย, ไม่ใช่มองสั้น คิดสั้น ล้มล้างทำลายประชาธิปไตยทิ้ง แล้วใช้เผด็จการฐานกลวง หรือสถาบันของ "คนดี" ส่วนน้อย ที่ไม่มีอำนาจเสียงข้างมากรองรับค้ำจุนมาสู้กับทุน ทำแบบนั้น ร้อยวันพันปีก็ไม่ชนะและชาติบ้านเมืองก็มีแต่เสื่อมถอยทรุดพังลงไปเรื่อยๆ
ทุกสังคมมีพลังฝ่ายขวา ผมอยากให้ฝ่ายขวาไทยอยู่และรวมกลุ่มต่อสู้รณรงค์ในระบอบรัฐสภา ถ้าพวกเขาปรับตัวยอมรับประชาธิปไตย..
("ประชาธิปไตย" แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า "เมื่อคนเราเท่ากัน อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข"; "การปรับตัวยอมรับประชาธิปไตย" จึงแปลว่า "๑) ปรับใจยอมรับว่าคนเราเท่ากัน และ ๒) ปรับตัวยอมรับว่าถ้าอยากชนะก็ต้องหาเสียงข้างมากมาอยู่ฝ่ายตัวให้ได้" - จบ)
ถ้าฝ่ายขวาไทยปรับตัวยอมรับประชาธิปไตย ถึงตอนนั้นก็เป็นไปได้ว่าเขาจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เข้มแข็งกว่านี้ แต่ตอนนี้ฝ่ายขวากลายเป็น "ช่องระบาย" (outlet) สารพัดความอึดอัดคับข้องไม่พอใจรัฐบาล แต่ไม่รู้จะสู้ในระบบอย่างไร เช่น ไม่เห็นด้วยกับจำนำข้าว ก็ไปอิงใช้ช่องทาง
เวทีองค์การพิทักษ์สยาม, ไม่เห็นด้วยกับนโยบายหวยออนไลน์หรือร่างกฎหมายให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน ต้องมีวาระลงเลือกตั้ง ก็ไปร่วมกับพวกเขา
ฯลฯ
ถ้ากลุ่มผลประโยชน์ฝ่ายต่างๆ ในบ้านเมืองเรา เลือกใช้รัฐประหารเป็นเครื่องมือทางนโยบายแบบนี้ก็คงยุ่งยากวุ่นวายมากสำหรับเสถียรภาพของชีวิตผู้คนในสังคม
มองกว้างออกไป ผมคิดว่ากระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ (public policy-making process) ของเรามีปัญหา คือมันหลุดจากระบบราชการ/เทคโนแครตในสมัยเผด็จการทหารแต่ก่อน แล้วมาหล่นตุ้บบนหน้าตักนักการเมืองจากการเลือกตั้งในสมัยประชาธิปไตย โดยเฉพาะ
หลังรัฐบาลทักษิณ ณ ไทยรักไทย เป็นต้นมา พวกเขา (รัฐบาล/รัฐสภาเสียงข้างมาก) ก็ใช้อำนาจเลือกตั้งผูกขาดมันไปมาก ทำให้กระบวนการนโยบายเป็นแบบอำนาจนิยม ไม่เปิดกว้างออกให้แก่กลุ่มผลประโยชน์ และแนวคิดต่างๆ อันหลากหลายในสังคม
อันนี้ยุ่งมาก เพราะทำให้กลุ่มผลประโยชน์และแนวคิดต่างๆ กลายเป็นแนวร่วมหรือเข้าไปยืมมือฝ่ายขวาจัดการต่อต้านประชาธิปไตยโดยปริยาย รวมทั้งไปวิ่งเต้นหาใช้ช่องทางผลักดันนโยบายทางอื่นอย่างสับสนอลหม่านไปหมด คือดึงสถาบันการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายโดยตรง มาเป็นเครื่องมือเวทีต่อสู้เชิงนโยบาย เช่น ยื่นฟ้องร้องนโยบายเรื่องจำนำข้าวและสัมปทาน 3 จี กับศาลปกครองบ้าง ศาลรัฐธรรมนูญบ้าง, หรือสถาบันวิจัยนโยบายอย่าง TDRI นับวันก็เสริมขยายบทบาทเชิงผลักดัน/ต่อต้านนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลโดดเด่นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น
ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้ระบบปั่นป่วนผิดฝาผิดตัว แทนที่ศาลจะทำงานด้านตุลาการ ศาลต่างๆ กลับกลายเป็นสถาบันวีโต้นโยบายฝ่ายบริหาร หรือสถาบันวิจัยเชิงวิชาการก็กลับกลายเป็น policy lobbyist ไปเสียฉิบ
ในระยะยาวแล้วคงต้องปรับกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะเสียใหม่ หาทางเปิดกว้างกระบวนการออกไปให้หลายกลุ่มหลากแนวคิดเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จะใช้อำนาจเลือกตั้งเสียงข้างมากเขี่ยกลุ่มอื่นออกหมด รังแต่จะขัดแย้งยุ่งยากลุกลามออกไปนอกระเบียบสถาบันที่ควรจะเป็น
ดังนี้แล้วศาลจะได้ไปทำเรื่อง "สิทธิ" ซึ่งร้อนแรงและสำคัญ แทนที่จะมากลายเป็นศาลสถิตนโยบายทางเลือกของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ และสถาบันวิจัยก็จะได้ทุ่มเทค้นคว้าวิจัยข้อมูลทางเลือกเชิงนโยบายต่างๆ แทนที่จะแปรบทบาทตนเองเป็นกลุ่มรณรงค์กดดันต่อต้านนโยบาย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
เคยเสนอ - ฉบับย่อ ปัญหาของขวาไทยในปัจจุบัน โดย เกษียร เตชะพีระ ( + พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในสังคมสาธารณ์ )
ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/11/ks-dc-mnor.html
++
สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร : อย่าเสียท่าอีก
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:31 น.
(ที่มา คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน 9 ธันวาคม 2555)
อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เขียน "ปัญหาของขวาไทยในปัจจุบัน" ในมติชน เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม "ดี๊ดี"
และคงทำให้ "คนดี๊ดี" ได้คิดกันมากขึ้น
อาจารย์เกษียรชี้ว่า กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะของเรามีปัญหา
คือหลังหลุดจากระบบราชการ/เทคโนแครตในสมัยเผด็จการทหาร
มาอยู่หน้าตักนักการเมืองจากการเลือกตั้งในสมัยประชาธิปไตย
โดยเฉพาะหลังรัฐบาลทักษิณ เป็นต้นมา
รัฐบาล/รัฐสภาเสียงข้างมาก ก็ใช้อำนาจผูกขาดการกำหนดนโยบายสาธารณะ "มาก"
ทำให้กระบวนการนโยบายเป็นแบบอำนาจนิยม
ไม่เปิดกว้างออกให้แก่กลุ่มผลประโยชน์ และแนวคิดต่างๆ อันหลากหลายในสังคม
เลย "ยุ่งมาก"
เพราะทำให้กลุ่มผลประโยชน์และแนวคิดต่างๆ กลายเป็นแนวร่วมหรือเข้าไปยืมมือฝ่ายขวาจัดการต่อต้านประชาธิปไตย
รวมทั้งไปวิ่งเต้นหาใช้ช่องทางผลักดันนโยบายทางอื่นอย่างสับสนอลหม่านไปหมด
ดึงสถาบันการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายโดยตรงมาเป็นเครื่องมือต่อสู้เชิงนโยบาย
เช่น ยื่นฟ้องร้องเรื่องจำนำข้าวและสัมปทาน 3จี กับศาลปกครองบ้าง ศาลรัฐธรรมนูญบ้าง
หรือสถาบันวิจัยนโยบายอย่างทีดีอาร์ไอ นับวันก็เสริมขยายบทบาทเชิงผลักดัน/ต่อต้านนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลโดดเด่นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
เป็นต้น
ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้ระบบปั่นป่วนผิดฝาผิดตัว
แทนที่ศาลจะทำงานด้านตุลาการ
ศาลต่างๆ กลับกลายเป็น "สถาบันวีโต้" นโยบายฝ่ายบริหาร
หรือสถาบันวิจัยเชิงวิชาการก็กลับกลายเป็น policy lobbyist ไป
อาจารย์เกษียรบอกว่าในระยะยาวแล้วจำเป็นต้องปรับกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะใหม่
ส่วนเฉพาะหน้า อาจารย์เกษียรไม่ได้บอก
แต่ก็น่าถกแถลงต่อ
เอาเรื่อง 3จี ก็ได้
หลังศาลปกครองกลางไม่รับคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฟ้อง กสทช. ฐานประมูล 3จี ไม่โปร่งใส
"3จี" พ้นห้องแช่แข็ง
แต่ใช่ว่าจะราบรื่น
เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินไม่หยุด จะอุทธรณ์
กลุ่ม 40 ส.ว., กลุ่มนายสุริยะใส กตะศิลา ก็ยังเคลื่อนไหวค้านต่อ
ทีดีอาร์ไอก็ยังส่งเสียงว่า ที่ศาลปกครองไม่รับฟ้อง เป็นแค่เรื่องเทคนิค มิใช่การพิสูจน์ถูก-ผิด
ภาวะ "ปั่นป่วนผิดฝาผิดตัว" อย่างที่อาจารย์เกษียรว่า จึงตกค้างอยู่
แต่ กสทช.คงจะชักช้าหรือลังเล ไม่ได้อีกแล้ว
ซึ่งก็ถูกต้องที่เร่งใบอนุญาตให้เอกชนวันที่ 14 ธันวาคมนี้
ต้องไม่ลืมที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งยัง "ให้ใจ" กสทช.อยู่ เพราะอยากให้ 3จี เกิด
เมื่อเกิดแล้ว กสทช.ที่ต้องล้างรอยด่าง "การประมูล" ก็มีหน้าที่สำคัญที่ต้องทำต่อ
โดยเฉพาะคำสัญญาที่จะให้เอกชนลดอัตราค่าบริการลง 15%
ต้องให้เป็นจริงให้ได้
ซึ่งก็คงไม่รื่นเท่าไหร่
ฟัง พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.แถลงแล้วรู้สึกว่าเรื่องยังไม่นิ่ง
พ.อ.เศรษฐพงค์บอกว่า "การลดค่าบริการ 3จี จะดำเนินการในลักษณะของความร่วมมือกับเอกชน เนื่องจากเอกชนทั้ง 3 รายไม่เห็นด้วยกับ
การที่ กสทช.กำหนดค่าบริการล่วงหน้าโดยที่ยังไม่ทราบเม็ดเงินการลงทุนทั้งหมด และได้เสนอต่อ กสทช.ว่า ภายใต้บริการ 3จี ผู้ใช้จะได้ใช้
บริการบนโครงข่ายที่มีความเร็วสูงขึ้น ดังนั้น แม้ว่าราคาจะเท่าเดิม ก็เท่ากับเป็นการลดราคาให้กับผู้ใช้อยู่แล้ว"
มีช่องดิ้น!
ซึ่งหากช่องดิ้นนั้น ทำให้ กสทช.เสียท่าอีก
ชาวบ้านไม่ยืนเคียงข้างแน่
แถมยังจะจับเข้าห้องเย็นเสียเอง
โปรดอย่าลืม อาจารย์เกษียรเตือนไว้ "เชื้อปั่นป่วน" ฝังลึกอยู่ในระบบ
และพร้อมจะผสมโรงปะทุเป็นปัญหาได้ทุกเมื่อ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย