.
500 ปีสายสัมพันธ์สยาม-โปรตุเกส ปริศนาปืนใหญ่สมัยพระไชยราชา?
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์
คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1686 หน้า 76
ไม่นึกไม่ฝันมาก่อนว่าจะได้พบปืนใหญ่โปรตุเกสบนแผ่นดินล้านนาในปี พ.ศ.นี้
...ปีที่สายสัมพันธ์ระหว่าง "สยาม-โปรตุเกส" กระชับเกลียวเพิ่งล่วงพ้น 500 ปีมาหมาดๆ
ความตื่นเต้นนี้เนื่องมาจาก "อาวุธโบราณ" ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วภาคเหนือ จำนวนมากกว่า 30 รายการนั้น ยังไม่เคยพบว่าชิ้นไหนเป็นของโปรตุเกสเลย
จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ปราชญ์ชาวบ้านย่านสบทา แถวป่าซาง ลำพูน แจ้งว่าเมื่อปี 2544 ช่วงที่มีการสร้างฝายกั้นน้ำที่หนองสะลีก ชาวประมงเคยลากปืนใหญ่ (คนเหนือเรียกว่า "สินาด" แผลงมาจากคำว่า "สีหนาท") ขึ้นมาจากลำน้ำปิงแถบ "สบทา-ปากบ่อง" และเก็บรักษาไว้นานกว่า 11 ปีแล้ว
"สินาด" กระบอกนี้หล่อด้วยทองเหลือง แต่ด้วยผ่านกาลเวลาทำให้สนิมจับจนเนื้อดำ มีความยาวประมาณ 1 เมตรครึ่ง จุดเด่นของมันคือมีช่องรางปืนเปิดท้ายสำหรับใส่ "รังเพลิง" อยู่ด้านบน แตกต่างไปจากปืนใหญ่ของสยามและล้านนาที่มักทำเป็นแท่งทรงกระบอกกลมกลึง
ด้วยความสงสัยจึงได้ขออนุญาตเจ้าของสถานที่ที่รับฝากเก็บปืนใหญ่กระบอกนี้ไว้ ว่าจักช่วยไขปริศนาค้นคว้าประวัติความเป็นมาของสินาดชิ้นนี้ให้กระจ่างชัด
บนข้อสมมติฐานที่มีทางเป็นไปได้สูงว่า
ใช่ปืนใหญ่ของทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสที่ยกทัพขึ้นมาตีเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าไชยราชาหรือไม่?
ทหารโปรตุเกสกับศึกเชียงกราน-เชียงใหม่
ในรัชสมัยของสมเด็จพระไชยราชาธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยาได้เกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่า เมื่อปี พ.ศ.2081 เรียกว่า "ศึกเชียงกราน"
โดยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แห่งกรุงหงสาวดีได้ยกกองทัพมาตีเชียงกรานของมอญ ซึ่งมอญเรียก "เดิงกรายน์" อังกฤษเรียก "อัตรัน" (อยู่ใกล้ด่านเจดีย์สามองค์) หัวเมืองชายแดนตะวันตก ต่อมาพระไชยราชายกทัพไปตีมาเป็นของอยุธยา
ศึกครั้งนี้มีทหารอาสาชาวโปรตุเกสไปด้วยจำนวนมาก เนื่องจากมีความชำนาญในการใช้ปืนไฟกึ่งปืนใหญ่ เป็นปืนกระบอกเล็กแต่มีความยาว มีช่อง "รังเพลิง" ทำให้กองทัพไทยมีชัยชนะต่อหงสาวดีได้ไม่ยาก
หลังปูนบำเหน็จความชอบแก่กองอาสาชาวโปรตุเกสคราวเสร็จศึกเชียงกรานแล้ว ในปีเดียวกันนั้นเอง พระไชยราชาก็ยกทัพไปตีเชียงใหม่อีก พร้อมด้วยทหารอาสาโปรตุเกสอีกเช่นกัน
ประวัติศาสตร์หน้านี้ต้องศึกษาอย่างระมัดระวัง เพราะหนังเรื่อง "สุริโยไท" กับเอกสารฝ่ายสยามได้เขียนคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง โดยระบุเหตุผลของการยกทัพไปตีเชียงใหม่อย่างผิดๆ ว่า
"ครั้นเกิดการผลัดแผ่นดินขึ้นที่เชียงใหม่ พระเมืองเกษเกล้าถูกลอบปลงพระชนม์ บรรดาท้าวพระญานครลำปาง เชียงราย และเมืองพาน พากันยกกำลังเข้ายึดเมืองเชียงใหม่ได้ แล้วพร้อมใจกันแต่งตั้งพระมหาเทวีจิรประภา พระอัครมเหสีพระเมืองเกษเกล้า ขึ้นครองเมือง พระนางมีใจเอนเอียงไปทางล้านช้าง และขุนนางจำนวนมากก็ฝักใฝ่ข้างพม่า สมเด็จพระไชยราชาจำต้องยกทัพไปปราบหัวเมืองเชียงใหม่ที่กำลังเกิดจราจลและคิดเอาใจออกห่างจากกรุงศรีอยุธยา"
คนที่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ มาอ่านเจอข้อความนี้เข้า ย่อมหลงเชื่อว่าล้านนา (รวมทั้งเชียงกรานของมอญ) เป็น "หัวเมือง" หรือเป็นรัฐประเทศราชของสยามมานานนมแล้วกระมัง
เอกสารฝ่ายล้านนาไม่เคยระบุไว้ในตอนไหนแม้แต่เพียงครั้งเดียวเลย นับแต่ยุคปฐมกษัตริย์พระญามังรายจนถึงสมัยพระมหาเทวีจิรประภา ว่าล้านนาเคยตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา จนถึงกับต้องพยายามฉวยโอกาสกระด้างกระเดื่องไปสวามิภักดิ์ล้านช้างหรือพม่ามาช่วยคานอำนาจ ในช่วงผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน
ข้อเท็จจริงก็คือ พระไชยราชาทรงทราบว่าแผ่นดินล้านนามีแม่ญิงนั่งเมือง "ขัดตาทัพ" หลังจากที่พระราชสวามีสวรรคตท่ามกลางความขัดแย้งของขุนนาง ในขณะที่พระนางกำลังเฝ้ารอการเดินทางมาของยุวกษัตริย์ ผู้เป็นพระราชนัดดาจากล้านช้าง (พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช)
แล้วไยเล่า พระองค์จักนิ่งดูดายปล่อยให้อำนาจของล้านช้างรุกคืบแผ่ไพศาลมาเทียบบารมีกับกรุงศรีอยุธยา ต่อหน้าต่อตา
ไม่ว่าพม่าหรือล้านช้าง รัฐใดรัฐหนึ่งหากสามารถยึดครองล้านนาในช่วงที่กำลังอ่อนปวกเปียกเช่นนี้ได้ ย่อมไม่เป็นผลดีต่ออยุธยาอย่างแน่นอน พระไชยราชาจึงตัดสินใจเป็นฝ่ายเดินเกมรุก "ฉวยโอกาส" นั้นเสียเองก่อนที่อีกสองรัฐจะไหวตัว แต่แล้วเมื่อทรงยกกองทัพไปถึงเชียงใหม่ ก็กลับ "แพ้ทาง" พระมหาเทวีจิรประภา ด้วยพระนางถวายการต้อนรับขอเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาอย่างอบอุ่น ทำให้เหตุการณ์ปี พ.ศ.2081 ไม่มีการนองเลือด
การผูกมิตรกับสยาม ในความรับรู้ของล้านนาหาได้หมายถึงการยอมเป็นเมืองขึ้นไม่ แต่ทางพระไชยราชาจะคิดเช่นไรมิทราบได้
เพราะคล้อยหลังไม่นานนัก เมื่อเห็นว่าทั้งพม่าและล้านช้างต่างขยายอิทธิพลเข้ามายังเขตล้านนา อีกทั้งล้านนาก็มีท่าทีว่ายอมโอนอ่อนต่อสองรัฐนั่น ในความรู้สึกของพระไชยราชาย่อมอดคิดไม่ได้ว่าพระองค์ถูกหักหลัง
แท้ที่จริงสถานะของล้านนาหรือเชียงใหม่คือรัฐอิสระที่ไม่ขึ้นกับใครมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ทว่า ช่วงนั้นกำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบาก จะว่าไปก็มีค่าเสมือน "แดนกันชน" ของสามรัฐยักษ์ใหญ่ที่เตรียมจะกระหน่ำกันเท่านั้น หาใช่เคยเป็นเมืองขึ้นของอยุธยา ที่กำลังจะถูกพม่าหรือลาวแย่งไป
ประวัติศาสตร์หน้านี้ จึงไม่มีความชอบธรรมแต่อย่างใดที่ใช้คำว่า "ช่วงชิงล้านนากลับคืนมา" รวมทั้งกรณีของเมืองเชียงกรานด้วยกระมัง?
สงครามระหว่างอยุธยากับเชียงใหม่ปะทุขึ้นเป็นคำรบสอง เมืองเถิน ลี้ ลำปาง ลำพูน ถูกตีแตกยับเยิน เอกสารฝ่ายเหนือระบุว่าแม้เมืองหน้าด่านเหล่านั้นจะถูกทำลายแต่เชียงใหม่ยังคงรักษาเอกราชไว้ได้
ในขณะที่เอกสารฝ่ายสยามกลับเขียนว่า ล้านนาแพ้สงครามและยอมเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา?
สีหนาทโปรตุเกสแห่งลำน้ำปิง
หันมามองหลักฐานด้านสีหนาททองเหลืองที่จมหายเนิ่นนานเกือบ 5 ศตวรรษกลางลำน้ำปิง
มันคือหนึ่งในอาวุธสงครามที่พระไชยราชาโปรดให้ทหารโปรตุเกสหล่อขึ้นเพื่อสู้รบกับชาวล้านนาหรือไม่?
ในเมื่อชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่ขายปืนใหญ่-ปืนคาบศิลาให้กับทั้งอยุธยา หงสาวดี มะละกา นำมาสู่สถานะอันทรงอำนาจของชาวโปรตุเกสในเขตอุษาคเนย์
ดิฉันได้รับความรู้เพิ่มเติมจากเพื่อนร่วมรุ่นโบราณคดี อ.พิทยะ ศรีวัฒนสาร ผู้เชี่ยวชาญด้าน "สยาม-โปรตุเกสศึกษา" โดยเฉพาะเรื่องปืนใหญ่ เนื่องจากในอดีตเคยเป็นภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์กระทรวงกลาโหม ปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
อาจารย์พิทยะอธิบายว่า ปืนใหญ่โปรตุเกสที่หล่อด้วยสำริดในสยามเริ่มมีขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 (หรือกลางพุทธศตวรรษที่ 21 ก็คือตั้งแต่ พ.ศ.2050 เป็นต้นไป) ซึ่งก็ตรงกับช่วงรัชสมัยของพระไชยราชาพอดี
จุดเด่นของปืนใหญ่โปรตุเกสซึ่งพบในปืนกระบอกนี้ก็คือ การมีช่องรังเพลิงถอดออกได้ (Removable wrought-iron Chamber) และมีแผ่นเหล็กเสียบกันรังเพลิงเคลื่อนที่ขณะยิง ตรงจุดศูนย์กลางของปืนมีแกนสำหรับหมุนยิงได้รอบทิศ (Swivel Gun) ส่วนท้ายปืนมีด้ามจับหมุนส่ายหาเป้า อันเป็นอัตลักษณ์ของปืนใหญ่โปรตุเกส
สิ่งสำคัญอีกประการคือ มักมีตราแผ่นดินโปรตุเกส (Coat of Arm) กับสัญลักษณ์เครื่องมือคำนวณระยะทาง (Armillary Sphere) หล่อติดอยู่ห่างจากปลายกระบอกปืนประมาณหนึ่งศอกเสมอ
สำหรับปืนไฟกึ่งปืนใหญ่จากสบทา ปรากฏตรารูปสมอเรือ และอักษร M5 อยู่อย่างลบเลือน เนื่องด้วยสินาดกระบอกนี้ถูกกระแสน้ำกัดกร่อนพื้นผิวโลหะอยู่นานหลายร้อยปี
หากมีการพินิจพิเคราะห์ตรวจสอบอย่างละเอียด อาจได้ผลการศึกษาที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น
อันที่จริงการยกกองทัพของอยุธยาขึ้นมายังแผ่นดินล้านนาสมัยหลังจากพระไชยราชา ยังมีขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกโดย "สามมหาราช" ได้แก่ ยุคสมเด็จพระนเรศวร ตอนยกทัพมายึดเชียงใหม่สมัยนรธามังช่อ อีกครั้งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ อันเป็นช่วงที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าแล้ว และสุดท้ายคือสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ช่วงที่ทางล้านนาขอความช่วยเหลือจากสยามให้มาช่วยปลดแอกจากพม่า
สองยุคหลังคือสมัยพระนารายณ์และพระเจ้าตากสินเป็นยุคที่ชาวโปรตุเกสหมดบทบาทในราชสำนักสยามไปนานแล้ว ด้วยถูกชาวฮอลันดาและฝรั่งเศสแย่งชิงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์
ส่วนสมัยพระนเรศวรนั้น มีการระบุว่าช่วงที่ทำสงครามชนช้างกับพระมหาอุปราชาได้สั่งให้ทหารโปรตุเกสใช้ปืนไฟยิงใส่ข้าศึกศัตรู ปัญหามีอยู่ว่าช่วงนั้นทหารโปรตุเกสอาสารับจ้างรบให้แก่กองทัพทั้งสองฝ่าย คือทั้งอยุธยาและหงสาวดี ย่อมทำให้เกิดความคลางแคลงใจต่อสมเด็จพระนเรศวรอยู่บ้าง
ผิดกับยุคสมัยของสมเด็จพระไชยราชาธิราชเพียงรัชกาลเดียวที่ระบุแน่ชัดว่ามีทหารอาสาโปรตุเกสเข้าร่วมในกองทัพมากถึง 130 นาย ทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีหล่อปืนไฟชนิดเปิดรางท้ายใส่รังเพลิงมาใช้เป็นครั้งแรกบนแผ่นดินสยาม
หากข้อสันนิษฐานเรื่องปืนใหญ่ที่ค้นพบใหม่ในลำพูนนี้ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความจริงนัก ก็ถือว่านี่คือ "สินาด" โปรตุเกสกระบอกแรกที่พบในล้านนา มีอายุสมัยราวปี 2081 ของขวัญชิ้นสำคัญยิ่งในวาระส่งท้ายงานเฉลิมฉลอง 500 ปีสายสัมพันธ์สยาม-โปรตุเกส
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย