.
จารีตนิยมกับเหตุผลนิยมในพุทธศาสนา
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1689 หน้า 30
พรรคพวกตั้งข้อสังเกตว่า บุคคลในเครือข่ายของคำสอนพุทธศาสนาสายเหตุผลนิยม ในบัดนี้กลายเป็นแนวหน้าของผู้อนุรักษ์ระบอบเก่าไปเสียเป็นส่วนมาก ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้เคยเป็นผู้นำการปฏิรูป ทั้งด้านสังคมและการเมืองมาก่อน เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้
ผมย้อนคิดถึงหลายท่านซึ่งใช้ระบบเหตุผลและตรรกะแบบชาวพุทธ ผสมกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เป็นพลังในการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านต่างๆ เมื่อ 10-20 ปีก่อน และหลายท่านในบัดนี้ร่วมกับเครือข่ายของท่าน กลายเป็นผู้นำในการต่อต้านความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดในสังคมไทยปัจจุบัน จะว่าท่านเหล่านั้นอนุรักษ์ระบอบเก่าก็อาจไม่เป็นธรรมนัก เพราะดูเหมือนท่านจะสำนึกได้ดีว่าระบอบเก่านั้นจำเป็นต้องปฏิรูป เพียงแต่จะปฏิรูปอย่างไรจึงจะไม่ทำลายโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่ลงทั้งหมด
ข้อสังเกตของพรรคพวกก็ฟังดูเข้าเค้าอยู่ และผมอยากจะหาคำอธิบายที่ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคลมาคุยกับผู้อ่าน
อันที่จริงสายเหตุผลนิยมของศาสนาทุกศาสนา เคยเป็นพื้นที่แห่งการคัดค้านมาก่อนทั้งนั้น กล่าวคือเป็นผู้เปิดพื้นที่ให้แก่การต่อต้าน "อาชญาสิทธิ์" (authority) บางอย่างในสังคมนั้นๆ อาจเริ่มต้นที่อาชญาสิทธิ์ทางศาสนา แต่ศาสนาก็แยกไม่ออกจากการเมืองและสังคม ฉะนั้น พื้นที่แห่งการคัดค้านจึงขยายไปทั่วทุกปริมณฑล ไม่ช้าก็เร็ว
ในเมืองไทย ตัวอย่างที่รู้จักกันดีคือ คณะธรรมยุติกนิกาย ใน ร.3 ซึ่งในรัชกาลต่อๆ มาก็กลายเป็น "อาชญาสิทธิ์" ทางศาสนาเสียเอง
อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนาสายเหตุผลนิยม ซึ่งคราวนี้อาจไม่ใช่ธรรมยุติกนิกายแล้ว ก็ยังคงเป็นพื้นที่แห่งการคัดค้านต่อมาในสมัยหลัง โดยเฉพาะคัดค้านแนวคิดหลักๆ ของพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ เช่น การจำกัดคำสอนให้เน้นเฉพาะโลกียธรรม ความเคร่งครัดตำรับตำราซึ่งมาจากการตีความของนักปราชญ์ในสมัยปฏิรูปคณะสงฆ์, หรือการให้ความสำคัญแก่พระสงฆ์ไว้เหนือการปฏิบัติตามเนื้อแท้ของคำสอน หรือการปล่อยปละละเลยให้พิธีกรรม ลัทธิพิธีนอกคำสอน และพุทธพาณิชย์ ขยายตัวอย่างกว้างขวาง
คำสอนของพระพุทธศาสนาแนวเหตุผลนิยมใหม่นี้แหละ ที่ดึงดูดคนชั้นกลางที่มีการศึกษาเข้าไปเป็น "สานุศิษย์" จำนวนมาก จนกระทั่งในที่สุด ก็พุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทยก็ต้อง "กลืน" (co-opt) เข้าไว้กับตัว แม้อย่างไม่เป็นเนื้อเดียวกันนักก็ตาม
นักปฏิรูปสำคัญๆ ของไทยนับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่ก็เป็น "สานุศิษย์" ของพระพุทธศาสนาแนวเหตุผลนิยม คนเหล่านี้ขยายพื้นที่แห่งการคัดค้านออกไปคลุม "อาชญาสิทธิ์" อื่นๆ นอกวงการพระศาสนาอีกมาก
บัดนี้ สังคมไทยกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางการเมืองและสังคม อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นสืบเนื่องมาหลายทศวรรษก่อนหน้า แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมกระทบต่อสถาบัน, องค์กรทางการเมือง และกระบวนการทางการเมืองในหลายๆ ด้าน โฉมหน้าของประเทศกำลังเปลี่ยนไป
จำนวนไม่น้อยของท่านที่เคยขยายพื้นที่แห่งการคัดค้านมาก่อนเหล่านี้ยืนอยู่ตรงไหน?
จะว่าท่านต่อต้านความเปลี่ยนแปลงก็ไม่เชิงทีเดียวนัก ผมคิดว่าท่านมักเป็นเบรก คือคอยยับยั้งมิให้ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามธรรมชาติของวิถีทางของมันมากกว่า (แต่เครือข่ายของท่าน-และแต่ละท่านก็มักจะรุงรังไปด้วยเครือข่าย-อาจต่อต้านความเปลี่ยนแปลงอย่างหน้ามืดตามัว)
มันต้องมีอะไรบางอย่างในกระแสคำสอนของพระพุทธศาสนาแนวเหตุผลนิยม ที่ทำให้เหล่า "สานุศิษย์" มีจุดยืนทางการเมืองและสังคมดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และผมอยากอธิบายตรงนี้ แต่ด้วยความเกียจคร้าน จึงไม่ได้ศึกษาค้นคว้าพุทธศาสนาแนวเหตุผลนิยมในเมืองไทยมากไปกว่าคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ
ผมคิดว่าผมได้พบคำอธิบายดังนี้
1.
การปฏิรูปศาสนาทุกแห่งในโลกย่อมมีพื้นฐานจารีตนิยม (conservative) ทั้งนั้น เพราะการปฏิรูปต้องอ้างว่า ตนกำลังกลับไปหาคัมภีร์ต้นตำรับเดิม (back to the Book) เสมอ เพราะถ้าไม่กลับไปหาอะไรที่เชื่อว่าเป็น "หลัก" เสียก่อน ก็ไม่ใช่การปฏิรูป แต่เป็นการตั้งศาสนาใหม่เลยทีเดียว แม้การกลับไปหาคัมภีร์เดิมแล้วตีความใหม่ อาจเป็นผลเหมือนกลายเป็นศาสนาใหม่ไปเลยก็ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ต้อง back to the Book ก่อน
ธรรมยุติกนิกายก็อ้าง back to the Book โดยเฉพาะพระวินัย เพื่อจะทำให้พระสงฆ์บริสุทธิ์ (อันเป็นหน้าที่ตามประเพณีของกษัตริย์ ไม่ใช่ของเจ้าฟ้าที่ออกผนวช) ท่านพุทธทาสก็ back to the Book เหมือนกัน โดยเฉพาะพระสูตร
จารีตนิยมของท่านพุทธทาสไม่ได้จำกัดอยู่แต่การตีความคำสอน แต่รวมไปถึงมิติทางสังคมด้วย ความหลุดพ้นจากทุกข์ในทุกระดับ เป็นภาระหน้าที่ของปัจเจกบุคคล เกี่ยวกับสังคมเหมือนกันแต่ไม่สู้จะมากนัก ไม่ว่าสังคมจะเป็นอย่างไร ก็ยังมีทางรอดของจิตวิญญาณเหลือให้แก่ปัจเจกบุคคลเสมอ
ข้อนี้ไม่ต่างอะไรจากการปฏิรูปคณะสงฆ์ใน ร.5 (และย่อมมีนัยยะถึงศาสนาด้วย) เพราะการปฏิรูปในครั้งนั้นได้ดึงเอาทั้งพระสงฆ์และคำสอนให้หลุดออกมาจากชุมชน (และอาจจะ "ชนชั้น" ด้วย) กลายเป็นความผูกพันระหว่างคำสอนกับปัจเจกบุคคล
ทั้งนี้ นับว่าสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายในการปฏิรูป คือสร้างไพร่ทั้งหมดให้เป็นข้าราษฎรปัจเจกที่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และกีดกันมิให้พระสงฆ์มีบทบาททางสังคมอันอาจนำไปสู่บทบาททางการเมือง
2.
แม้จะเน้นปัจเจก แต่ก็ไม่มีศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะท่านพุทธทาสเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยคือผลผลิตของทุนนิยม และทุนนิยมนั้นตั้งอยู่บนฐานของความโลภ, โกรธ, หลง ระบอบปกครองของทุนนิยมจึงใช้ฐานอันเดียวกันนี้ เลือกผู้แทนด้วยมาตรวัดว่าตัวจะได้ประโยชน์อะไร (นับตั้งแต่เงินซื้อเสียงไปจนถึงนโยบายที่ถูกใจ) ไม่ได้สิ่งที่ถูกใจก็มีช่องทางให้ใช้อกุศลมูลเหล่านี้เพื่อต่อต้านคัดค้าน หรือเป็นอริกับคนที่เห็นต่าง ทำลายความสามัคคี
ดังนั้น ท่านจึงเสนอระบอบปกครองที่เรียกว่า ธรรมิกสังคมนิยม กล่าวคือปฏิเสธการรวบรวมทรัพยากรไว้กับคนมือยาวแบบทุนนิยม แต่ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงแก่บุคคลเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แบบที่ท่านเชื่อว่าเป็นลักษณะของสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ทรัพยากรจะถูกกระจายไปแก่ทุกคนโดยธรรม กล่าวคือสามารถบรรลุมาตรฐานการครองชีพขั้นพื้นฐานได้ (เศรษฐกิจพอเพียง) แต่ทุกคนก็ต้องทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่และสุจริต (ไม่สู้จะชัดนักว่า ถ้าไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น เพราะการปกครองที่ปราศจาก "ทัณฑะ" คงไม่มีในโลกนี้)
ในระบอบนี้ ใครจะเป็นผู้ถืออำนาจทางการเมืองหรือเป็นผู้ปกครอง คำตอบก็คือคนดี (ระบอบธรรมราชา) ไม่สู้จะชัดอีกเช่นกันว่าคนดีดังกล่าวนี้มาจากไหน ในสังคมเล็กๆ อย่างในอัคคัญสูตร ทุกคนคงหมายรู้ได้ว่าใครคือคนดี แต่ในสังคมที่มีประชากรถึงกว่า 60 ล้าน ซ้ำมีความหลากหลายอย่างมาก ทุกคนจะหมายรู้ได้อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น ท่านไม่ได้พูดถึงกระบวนการที่จะควบคุมคนดีซึ่งถืออำนาจทางการเมืองเลย ธรรมะเท่านั้นที่จะเป็นผู้จัดสรรให้คนดีได้ดำรงตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งเมื่อเลิกเป็นคนดีแล้ว ในระหว่างนั้นคนที่ดีน้อยกว่าอาจติดคุกติดตะราง หรือถูกประหารชีวิตไปสักเท่าไร ก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ (กระนั้นหรือ?)
ผมคงไม่ต้องพูดว่า ทฤษฎีคนดีนี้ถูกใช้อ้างเป็นความชอบธรรมแก่อำนาจทางการเมืองนอกกฎหมายตลอดมา ตั้งแต่ พ.ศ.2519 และในทางตรงกันข้าม ก็ถูกใช้โจมตีและต่อต้านทั้งการเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไปพร้อมกัน
3.
ไม่ต่างจากศาสนาพราหมณ์และฮินดู ท่านพุทธทาสเน้นเรื่อง "หน้าที่" ของบุคคลเป็นอย่างมาก การปฏิบัติหน้าที่โดยไม่คำนึงถึงตนเองคือการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง (เช่น ทหารยิงข้าศึกโดยสำนึกว่าเป็นหน้าที่ของตนในการต่อสู้ขัดขวางผู้รุกราน โดยไม่คำนึงถึงเหรียญตราหรือการเลื่อนขั้นเลย คือการปฏิบัติธรรม-จิตว่าง-อย่างหนึ่ง)
แต่น่าประหลาดที่ว่า "หน้าที่" ของบุคคลนั้นไม่ได้มีมาตามธรรมชาติ (นอกจากดำรงชีวิตให้รอด) แต่เป็นสิ่งที่สังคมนิยามให้ต่างหาก ถ้าไม่มีพระกฤษณะ พระอรชุนก็คงไม่ลั่นศรประหารเหล่าญาติและครูเก่าที่เป็นศัตรู แต่เอาเข้าจริง คำสอนของพระกฤษณะก็ไม่ใช่ของพระกฤษณะ หากเป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ที่เน้นเรื่องหน้าที่อยู่แล้ว เพียงแต่ยกขึ้นมาให้เหนือการปฏิบัติธรรมทั้งปวงเท่านั้น (เช่น เหนือการงดเว้นจากการฆ่า) เช่นเดียวกับทหารที่เล็งปืนยิงข้าศึก เขาไม่ได้เป็นผู้นิยามเองว่าอะไรคือการรุกราน อะไรคือภยันตรายต่อประเทศชาติ มีคนอื่นหรือสังคมนิยามให้เขาต่างหาก รวมทั้งไม่ได้นิยามด้วยว่าใครคือ "ข้าศึก" ก็คนอื่นอีกนั่นแหละที่เป็นผู้นิยามให้เขา การปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่มีตัวกูของกูอยู่เลย จึงอาจหมายถึงการปฏิบัติธรรมอย่างมืดบอดก็ได้
ก็วิวาทบาดทะลุงกันระหว่างสีเสื้อต่างๆ ในทุกวันนี้ ต่างฝ่ายก็ต่างอ้าง "หน้าที่" ซึ่งอยู่เหนือผลประโยชน์ส่วนตัวกันทั้งนั้น ไม่ใช่หรือ
ดังนั้น เพื่อจะเข้าใจความเป็นจารีตนิยมของท่านพุทธทาส ก็ต้องมาดูว่า "หน้าที่" ซึ่งทุกคนควรปฏิบัติอย่างเต็มที่ โดยไม่มีตัวกูของกูคอยกำกับตามทัศนะของท่าน เป็นหน้าที่ซึ่งถูกสังคมประเภทใดนิยามเอาไว้ เนื้อที่ไม่พอที่ผมจะแสดงการวิเคราะห์ได้ แต่ขอสรุปว่าเป็นสังคมจารีตนั่นเอง
4.
ผมเข้าใจจากการอ่านงานเขียนของท่านพุทธทาสว่า ท่านไม่ค่อยใส่ใจกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากไปกว่าระดับปรากฏการณ์ อันที่จริงครึ่งหลังชีวิตของท่านนั้น ท่านมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารภายใต้นโยบายพัฒนา ความเปลี่ยนแปลงนี้ กระทบต่อ "ศีลธรรม" มากน้อยเพียงใด (เช่น เกิดความขัดแย้งกันเองในกฎศีลธรรม) หรือควรกระทบหรือไม่ คงเถียงกันได้ แต่ท่านพุทธทาสยึดถือ "ศีลธรรม" ที่เป็นมาตรฐานตายตัว (ซึ่งส่วนใหญ่ตอบรับกับสังคมก่อนความเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนา) และอาศัยมาตรฐาน "ศีลธรรม" อันนี้เพื่อทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ทางสังคม "ใหม่ๆ แปลกๆ" ที่เกิดขึ้น ผมคิด (ซึ่งอาจผิด) ว่า วิธีคิดอย่างนี้มีปัญหา แต่ก็เหมาะกับวิธีคิดเชิงจารีตนิยม คือต้องมีมาตรฐานตายตัวของความดี, ความงาม, ความจริง ซึ่งปราศจากเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น เป็นอกาลิโก เช่น ที่เราได้ยินคำกล่าวเสมอว่า คนดีควรปกครองประเทศ โดยไม่ต้องอธิบายถึงเงื่อนไขของความดีที่บุคคลผู้นั้นมีอยู่
ผมเคยได้ยินคำบอกเล่าจากสานุศิษย์ที่ใกล้ชิดกับท่านพุทธทาสมานานว่า ท่านไม่ค่อยเข้าใจเรื่องโสเภณี และอาจประณามผู้หญิงเหล่านั้นอย่างไม่เป็นธรรม แต่ท่านก็พร้อมจะรับฟังความเห็นต่างที่สานุศิษย์ผู้นั้นชี้แจง อันที่จริงโสเภณีในช่วงสงครามเย็นนั้น เกิดขึ้นท่ามกลางการล่มสลายของเกษตรกรรมตามจารีต หรือยิ่งกว่านั้นของสังคมจารีตทั้งองคาพยพในชนบทเลยทีเดียว เพราะถูกแย่งทรัพยากร ในขณะที่ "ศีลธรรม" เดิมก็ยังดำรงอยู่ คือความกตัญญูต่อบิดามารดา และความรับผิดชอบต่อพี่น้องเครือญาติและครอบครัว ดังนั้น "ศีลธรรม" ตามมาตรฐานของสังคมจารีตอย่างเดียว จึงไม่ช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์การระบาดของโสเภณีไทยในช่วงนั้นได้... รวมทั้งไม่เข้าใจทุกข์ของเธอด้วย
กล่าวกันว่า คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุดึงดูดคนชั้นกลางที่มีการศึกษาเข้าไปเป็นสาวกจำนวนมาก แต่อาจจะเกิดความเข้าใจผิดว่า เพราะการศึกษา (แบบตะวันตก) จึงทำให้คนชั้นกลางสามารถเข้าถึงคำสอนได้ ผมคิดว่าข้อนี้ไม่น่าจะจริง เพราะถึงไม่มีการศึกษา (แบบตะวันตก) ก็อาจเข้าถึงได้เหมือนกัน แต่เหตุผลนิยมในคำสอนต่างหากที่สอดคล้องกับโลกทรรศน์ของคนชั้นกลางที่มีการศึกษา
และยังมีปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงก็คือ คนชั้นกลางที่มีการศึกษาของไทยนั้นเติบโตและก้าวหน้ามาได้ในระบบจารีตนิยมทั้งทางสังคมและการเมือง เขาไม่ใช่ชนชั้นใหม่ที่เกิดอยู่นอกระบบศักดินาเหมือนคนชั้นกลางในโลกตะวันตก
ในโลกทรรศน์ของเขา ระบบการเมืองและสังคมแบบจารีตนิยมนี่แหละคือระเบียบทางสังคมที่เหมาะสมกับประเทศไทยที่สุด อำนวยทั้งความมั่นคงแก่รัฐและแก่ตัวเขาเอง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย