http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-08

ปลายทางสถานีอาเซียน! ตู้โบกี้ไทยในรถด่วนขบวนสุดท้าย โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

ปลายทางสถานีอาเซียน! ตู้โบกี้ไทยในรถด่วนขบวนสุดท้าย
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1686 หน้า 36 


"ทำไมการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้คนเกลียดชังกันจึงได้ผลดีกว่าการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้คนเป็นมิตรกัน"
เบอร์ทรัล รัสเซลล์
นักปรัชญาชาวอังกฤษ



ถ้ามองจากโลกภายนอกเข้ามา คงต้องยอมรับว่าทุกคนพากันถอนหายใจเฮือกใหญ่กับการเมืองไทยเมื่อวันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
ในทางกลับกันถ้าเหตุการณ์วันนั้นพาไปสู่สถานการณ์วิกฤตการณ์ทางการเมืองขนาดใหญ่ และนำไปสู่การล้มลงของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น


แน่นอนว่าถ้ามองจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยแล้ว การสิ้นสุดของความพยายามในการโค่นรัฐบาลที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 จึงน่าจะกลายเป็นความโล่งใจขนาดใหญ่ในภูมิภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

สำหรับหลายๆ คน เมื่อพูดถึงปัญหาการเมืองไทยแล้ว พวกเขาอาจจะถือว่าเป็น "เรื่องภายใน" ที่โลกภายนอกไม่ควรจะต้องเข้ามามีบทบาทหรือเข้ามาแทรกแซงในทางหนึ่งทางใด 
ด้วยทัศนะแบบอนุรักษนิยมสุดขั้ว พวกเขาจึงเชื่ออย่างมากว่า ทุกอย่างที่อยู่ภายในเส้นเขตอธิปไตยของรัฐ เป็นกิจการภายใน ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องสนใจกับโลกภายนอก
ดังเช่นมีผู้เสนอความคิดทำนองนี้ในเว็บไซต์ เช่น "เราไม่สนใจพวกต่างชาติหรอกนะ บ้านนี้เมืองนี้เป็นของเรา..." เป็นต้น



ว่าที่จริงทัศนะเช่นนี้คงไม่ต่างกับผู้นำรัฐบาลทหารของพม่าในยุคของการ "ปิดประเทศ" โดยพวกเขาเชื่อว่า เรื่องของประเทศพม่าเป็นกิจการภายใน และพวกเขาสามารถอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้อง "เปิดประตูบ้าน" เพื่อการมีความสัมพันธ์กับประเทศอื่น 
การบังคับใช้นโยบายปิดประเทศเช่นนี้ หากเป็นในยุคโบราณ อาจจะเป็นเรื่องง่าย เพราะการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศเป็นไปอย่างลำบาก
หรือในบางกรณีอาจจะเป็นเรื่องของเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ประเทศถูกปิดล้อมด้วยเงื่อนไขทางธรรมชาติ เช่น ทิเบตในอดีต การติดต่อกับโลกภายนอกจึงเป็นไปได้ยาก 
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงเราจะพบว่า การใช้นโยบาย "อยู่อย่างโดดเดี่ยว" (Isolation) ในนโยบายต่างประเทศนั้น ก็ไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ 
เพราะในโลกสมัยใหม่ รัฐและสังคมยังต้องการการติดต่อกับโลกภายนอกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

กรณีของพม่าเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในเรื่องนี้ การดำเนินนโยบายแบบปิดประเทศก็เพื่อลดทอนอิทธิพลของตะวันตก หรืออาจจะเรียกในอีกมุมหนึ่งว่า "กระแสโลกาภิวัตน์" ผู้นำทหารของพม่าจึงเชื่ออย่างมากว่า หากปิดประเทศและสามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้แล้ว อิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์ที่ถูกขับเคลื่อนโดยตะวันตกจะไม่มีพลังพอต่อการกดดันให้รัฐบาลทหารของพม่าให้ต้องปฏิรูปการเมือง หรือยอมรับต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตย 
แนวคิดเช่นนี้ก็คือ กระบวนการ "แช่แข็ง" สังคมการเมืองพม่าให้อยู่ในจุดที่ผู้นำทหารสามารถควบคุมได้ทุกอย่างนั่นเอง


แต่การดำเนินนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยวด้วยการปิดประเทศก็มีราคาที่ต้องจ่ายในโลกสมัยใหม่เช่นปัจจุบัน 
ดังจะเห็นได้ว่า สังคมพม่าในช่วงหลังจากการรัฐประหารของนายพลเนวินนั้นได้ตัดขาดตัวเองออกจากโลกภายนอก และขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะนำเอาความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกเข้าสู่สังคมพม่า  
ประกอบกับรัฐบาลในยุคต่อมาดำเนินนโยบายภายในแบบที่เป็น "อำนาจนิยม" มากขึ้น จนทำให้รัฐบาลตะวันตกหลายๆ ประเทศตัดสินใจใช้มาตรการการกดดันด้วยนโยบาย "แซงก์ชั่น" ทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลพม่า  
ในสภาพเช่นนี้ดูเหมือนว่า รัฐบาลพม่าจะอยู่โดดเดี่ยวด้วยการปิดประเทศได้จริงๆ  
ในความเป็นจริงเรากลับพบว่า การปิดประเทศเช่นนี้ทำให้รัฐบาลต้องหันไปพึ่งพาจีนทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงมากขึ้น
จนมีข้อสังเกตว่า ผลพวงของการดำเนินนโยบายดังกล่าวกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ในที่สุดแล้ว ผู้นำทหารพม่าต้องหันไปพึ่งจีนอย่างมาก จนต้องถือว่า ความร่วมมือจีน-พม่าเป็น "ความสัมพันธ์พิเศษ"  
และพม่าดูจะเป็นประเทศที่มีความใกล้ชิดกับจีนมากที่สุดในภูมิภาค

แต่รัฐบาลทหารของพม่าก็ดูจะตระหนักดีว่า การปิดประเทศทำให้พวกเขาไม่มีทางออกในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่าใดนัก เพราะยิ่งปิดประเทศมากเท่าใด (หรือใช้สำนวนไทยก็คือการ "แช่แข็ง") พม่าก็ยิ่งต้องพึ่งพาจีนมากขึ้นเท่านั้น 
และคงต้องยอมรับว่าสำหรับการเมืองภายในแล้ว การปิดประเทศจำเป็นต้องอาศัยระบอบการปกครองแบบ "อำนาจนิยม" เป็นพื้นฐาน เพราะระบอบอำนาจนิยม หรือรัฐบาลเผด็จการนั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การปิดประเทศเป็นจริงได้  
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะพบว่า ประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยการปิดประเทศ และเชื่อว่าการปิดประเทศนั้นจะทำให้อิทธิพลของปัจจัยภายนอกไม่สามารถสอดแทรกผ่านเส้นเขตอธิปไตยของรัฐเข้ามาในประเทศได้

รัฐบาลทหารของพม่าจึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่พบว่าในที่สุดแล้ว พม่าจำเป็นต้องอยู่กับโลกภายนอก หรือพม่าจำเป็นที่จะต้องเปิดประตูของตนเองให้กระแสโลกาภิวัตน์เข้าสู่ภายในสังคม 
แม้การเปิดประตูดังกล่าวดูจะเป็นอาการแบบ "ค่อยๆ แง้ม" ก็ตามที
แต่อย่างน้อยก็ดูจะเป็นข้อสรุปที่น่าสนใจว่า ในโลกของการเมืองสมัยใหม่ การ "แช่แข็ง" สังคมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้จริง และมีค่าใช้จ่ายทางการเมืองสูง


การตัดสินใจเปิดประเทศเพื่อยุติการ "แช่แข็ง" ในทางการเมือง จึงย่อมหมายถึงการยอมให้กระบวนการสร้างประชาธิปไตยเริ่มออกเดินไปข้างหน้า 
ซึ่งท่าทีเช่นนี้ แม้จะถูกวิจารณ์ว่าสอดรับกับความต้องการของรัฐบาลตะวันตก แต่ก็จะเป็นโอกาสที่ทำให้ประชาชนชาวพม่าสามารถเข้ามาเป็นผู้ตัดสินอนาคตประเทศได้ แทนที่จะต้องอาศัยการตัดสินใจของผู้นำทหารเช่นในแบบยุคเผด็จการทหารเท่านั้น 
แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การเปิดประเทศจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดรับความช่วยเหลือจากตะวันตก ซึ่งจะมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อยุทธศาสตร์ของพม่าในการช่วยลดทอนอิทธิพลของจีนลง

หากมองการเปิดประเทศของพม่าพร้อมกับการเดินคู่ขนานกับการสร้างประชาธิปไตยภายในบริบทของการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ก็จะต้องถือว่าเป็น "สัญญาณบวก" ของการปรับระบบการปกครองก่อนการก้าวสู่ประชาคม 
เพราะแม้เวียดนามและลาวจะยังมีรัฐบาลสังคมนิยมปกครอง แต่ประเทศอื่นๆ เกือบทั้งหมดของอาเซียนล้วนมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และการปฏิรูปการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในพม่า  
เท่ากับบอกว่า รัฐบาลทหารหรือระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมของกองทัพกำลังสิ้นสุดลงในภูมิภาค


ดังจะเห็นในอีกด้านหนึ่งว่า โอกาสของความสำเร็จของการยึดอำนาจในอินโดนีเซียหรือในฟิลิปปินส์นั้น ดูจะมีน้อยเต็มที หรืออย่างน้อยในสถานการณ์เฉพาะหน้า โอกาสของการหวนคืนสู่การยึดอำนาจในพม่าก็ดูจะมีไม่มากนัก 
หรืออย่างน้อยที่สุด ผู้นำรัฐบาลทหารของพม่าคงไม่ต้องการกลับไปสู่สถานะของการต้องพึ่งพาจีนอย่างไม่มีทางเลือกเช่นในอดีตอีก



ดังนั้น เมื่อกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ซึ่งมีรากฐานโดยตรงมาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศถึงการเปิดการรณรงค์ที่ต้องการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมกับนำเสนอวาทกรรมในลักษณะของการ "แช่แข็ง" (ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือ "การปิดประเทศ") จึงย่อมจะก่อให้เกิดความกังวลอย่างมาก 
นักธุรกิจต่างชาติมองเห็นถึงความไม่แน่นอนของการเมืองไทย เพราะถ้าจะต้อง "แช่แข็ง" แล้ว นโยบายปิดประเทศย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งย่อมหมายความว่า ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีของไทยจะสิ้นสุดลงไปด้วย เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลจะปิดประเทศทางการเมือง และเปิดประเทศทางเศรษฐกิจ

แม้เราจะอธิบายโต้แย้งว่า รัฐบาลทหารเช่นในยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะดำเนินนโยบายในลักษณะดังกล่าว โดยใช้นโยบายแบบอำนาจนิยมทางการเมือง แต่กลับใช้นโยบายแบบเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ 
ซึ่งว่าที่จริงแล้วก็อาจจะไม่แตกต่างจากกรณีของพม่า เพราะในยุคดังกล่าว รัฐบาลทหารไทยต้องพึ่งพาสหรัฐอเมริกาอย่างมาก และอาจจะไม่แตกต่างกับการที่รัฐบาลทหารพม่าต้องพึ่งพาจีนอย่างมากอันเป็นผลจากการปิดประเทศนั่นเอง

ในอีกด้านหนึ่งของการเตรียมประเทศสู่ประชาคมอาเซียนนั้น การถอยประเทศไทยออกจากระบอบการปกครองที่มีพื้นฐานมาจากการเลือกตั้ง น่าจะเป็นประเด็นที่ผู้นำอาเซียนอื่นๆ ไม่เห็นด้วยเท่าใดนัก 
เพราะหลังจากอาเซียนออกแรงกดดันอย่างมากต่อรัฐบาลพม่าให้ต้องปฏิรูปการเมือง จนการปฏิรูปดังกล่าวเกิดขึ้นจริงแล้ว อาเซียนคงไม่ต้องการกดดันรอบใหม่ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ระบอบการเมืองของไทยอย่างแน่นอน 
ดังได้กล่าวแล้วว่า ผู้นำหลายประเทศออกจะ "โล่งใจ" อยู่ไม่น้อยกับการจบลงด้วยดีของการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในกรุงเทพฯ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน และอย่างน้อยที่สุด รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของไทยก็สามารถฝ่ามรสุมทางการเมืองได้สำเร็จอีกรอบหนึ่ง



ในส่วนของรัฐมหาอำนาจในยุคสงครามเย็นอาจจะมีนโยบายสนับสนุนรัฐบาลที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือตัดสิน โดยมีเหตุผลหลักว่ารัฐบาลดังกล่าวสามารถตอบสนองต่อความต้องการของนโยบายด้านความมั่นคงได้ดีกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง
แต่โลกวันนี้ก็ดูจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะรัฐบาลที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้งในการขึ้นสู่อำนาจนั้น กลายเป็นความ "น่ารังเกียจ" ในทางการเมือง หรือเป็นรัฐบาลที่ไม่มีที่ยืนในเวทีระหว่างประเทศ  
ซึ่งก็เป็นเหตุผลโดยตรงว่าทำไมรัฐบาลที่ก่อกำเนิดโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง จึงมักนิยมที่จะใช้นโยบายในลักษณะของการปิดประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการ "แช่แข็ง" ประเทศในทางการเมืองนั่นเอง

ดังนั้น สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากสถานการณ์การเมืองโลกในปัจจุบันก็คือ บทเรียนของรัฐบาลไทยที่มาจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งดูจะไม่ได้รับการต้อนรับจากประชาคมระหว่างประเทศเท่าใดนัก โดยเฉพาะในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาก็เห็นได้ชัดเจนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการยึดอำนาจดังกล่าว 
และปัญหานี้ดูจะเป็นเรื่องภายในที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยไม่อยากจะพูดถึงเท่าใดนัก ซึ่งว่าที่จริงผู้นำรัฐบาลไทยในยุคนั้นก็ตระหนักอยู่แก่ใจ มิฉะนั้นแล้วการเลือกตั้งหลังรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2550 แต่อย่างใด


ดังนั้น หากเราเปรียบเทียบการเดินทางสู่ประชาคมในปี 2558 เป็นขบวนรถไฟแล้ว ประเทศไทยก็คงเป็นเสมือน "ตู้โบกี้" หนึ่งในขบวนรถไฟสายนี้ โดยมีสถานีปลายทางที่ "ประชาคมอาเซียน"...

วันนี้รถไฟนี้กำลังถูกเร่งความเร็วให้เป็นดั่งรถด่วน เพราะจะต้องจอดปลายทางให้ได้ทันเวลา วันนี้จึงไม่มีใครอยากเห็นรถด่วนขบวนนี้ตกราง จากการที่ล้อของ "ตู้โบกี้ไทย" ถูก "แช่แข็ง" จนวิ่งไม่ได้และพาตู้โบกี้อื่นๆ ตกรางตามกันหมด

และอย่างน้อย "ตู้โบกี้พม่า" ก็ปรับระบบล้อไม่ให้ถูก "แช่แข็ง" เพื่อให้รถขบวนนี้วิ่งได้เร็วขึ้นแล้ว!



.