http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-02

ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้(จบ) “เมืองตื๋นนันทบุรี”VS“นันทบุรีศรีนครน่าน” โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.
บทความตอนแรก -  ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้ “เมืองตื๋นนันทบุรี” VS “นันทบุรีศรีนครน่าน” โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ 
อ่านที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/11/p-nan-fak1.html

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *  *

ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้ “เมืองตื๋นนันทบุรี” VS “นันทบุรีศรีนครน่าน” (จบ)
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1685 หน้า 78


สัปดาห์ที่แล้วได้หยิบยกหลักฐานของคำว่า "นันทบุรี" ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารจารึก และพงศาวดารของฝ่ายเมืองน่านมายืนยันหลายชิ้น
ได้ข้อสรุปชัดว่า "นันทบุรี" หรือ "นันทปุระ" เป็นชื่อคู่ขนานในภาษาบาลีของเมืองน่าน มีมาตั้งแต่เริ่มต้นสร้างพระธาตุแช่แห้งในยุคพระญาการเมือง ราว พ.ศ.1902 แล้วเป็นอย่างน้อย

ส่วนที่มาและความหมายของ "นันทบุรี" นั้นยังไม่ชัดเจน อาจอาศัยนาม "นันทะ" ของผ้าขาวเถระผู้มีคุณูปการในการสร้างพระธาตุแช่แห้ง หรืออาจหยิบยกเอาคำว่า "น่าน" มาแปลงเป็นบาลี ซึ่ง "น่าน" คำนี้ มีทั้งผู้เห็นว่า เกี่ยวข้องกับอาณาจักรน่านเจ้า-น่านเจียง ในขณะที่ตำนานพระเจ้าเลียบโลกระบุว่า แท้เมืองน่านก็คือ "เมืองนาน" เพราะกว่าจะเดินทางไปจาริกได้ต้องใช้ระยะเวลาเนิ่นนานกว่าเมืองอื่น
น่าน-นาน-นัน-นันท กลายเป็นชุดของคำคำเดียวกัน



เมืองตื๋นไปเกี่ยวข้องกับ"นันทบุรี" ได้อย่างไร?

เมืองตื๋นเป็นเสียงอ่าน แต่ภาษาเขียนมีทั้ง ตืน/ตื่น/ตื๋น หมายถึงบริเวณตำบลแม่ตื่น และตำบลม่อนจอง ในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ มีศูนย์กลางอยู่ที่พระธาตุจอมแจ้ง ณ ดอยนางนอน (นางน้อย/นางน้อง) อันศักดิ์สิทธิ์  
เมื่อฝ่ายปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเอกสารมาให้นักวิชาการดู เพื่อตอบโจทย์ข้อข้องใจของสาธารณชนต่อคำถามที่ว่า ทำไมต้องตั้งชื่อว่าที่อำเภอใหม่ (แม่ตื๋น-ม่อนจอง) นี้ว่า "นันทบุรี"
กลับพบว่า เอกสารดังกล่าวไม่ใช่ข้อมูลชั้นต้น แต่เป็นการเรียบเรียงขึ้นมาใหม่โดยใครไม่ทราบ ไม่มีการระบุนามผู้เขียน ไม่มีเชิงอรรถว่าอ้างเอกสารเล่มใดบ้าง แต่มีภาพประกอบเป็นคัมภีร์ใบลานที่เห็นอยู่เพียงสองแผ่น จารด้วยอักษรธรรมล้านนา

เมื่อนำเอกสารดังกล่าวไปขอคำปรึกษาจากทางสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักจารึกวิทยาเชื่อว่าตัวต้นฉบับยังคงเก็บรักษาไว้ที่วัดพระธาตุจอมแจ้งเมืองตื๋น โดยไม่ทราบปีที่มีการจารธรรม ทราบแต่ปีศักราชของเหตุการณ์ 
โชคดีที่พ่อหนานศรีเลา เกษพรหม และ ดร.ฮันส์ พันธ์ นักจารึกวิทยาชาวเยอรมันผู้ล่วงลับ เคยถ่ายสำเนาไมโครฟิล์มเก็บไว้ แต่เรียกเอกสารดังกล่าวนี้ว่า "ตำนานพระธาตุจอมแจ้ง" หาได้เรียกว่า "ตำนานเมืองตื๋นนันทบุรี" ไม่ 
เหตุเพราะต้นฉบับไมโครฟิล์ม ไม่มีข้อความตอนใดปรากฏคำว่า "นันทบุรี" อยู่เลย ทว่าเอกสารของฝ่ายปกครองจังหวัด กลับลักไก่ถอดคำแปลและเรียบเรียงมาให้ ดังนี้

"มีพญาสองพี่น้อง ผู้เป็นพี่มีชื่อว่าพญาช้างเผือก ผู้เป็นน้องมีชื่อว่า พญาเสิก พญาสองพี่น้องได้อพยพจากเมืองเชียงใหม่ ลงมาปักหลักฐานสร้างเมืองที่มีชื่อว่า "เมืองตื๋นนันทบุรี" ในปีจุลศักราช 804 ปีจอ จัตวาศก พ.ศ.1985 เดือน 6 เหนือ..." 
อีกตอนหนึ่ง "...พญาช้างเผือก ผู้เป็นพี่สิ้นชีพตักษัย ถึงจุลศักราช 898 ปีวอก อัฎฐศก พ.ศ.2079 พญาเสิกผู้เป็นน้องได้ขึ้นเสวยเมืองแทน อยู่มาได้ 11 ปี ก็ได้มีโป่งหัวขาวช่วยเจ้าดง เจ้าเมยก็ได้พากันมาทำศึกหวังจะแย่งชิงเมืองตื๋นนันทบุรี ให้เป็นเมืองขึ้นของพม่า..." 

และอีกแห่ง ซึ่งเป็นหน้าสุดท้ายของตำนาน "...ครั้นถึงจุลศักราช 1122 ปีมะโรง โทศก พ.ศ.2303 พญาอนันตราช ก็ได้ก่อสร้างวิหารเสร็จ ในปีกัดเหม้า เดือน 6 เหนือ หรือวันเพ็ญ เดือน 4 ก็ได้ทำการเบิกบายธวายศรี (ทำบุญฉลองใหญ่) บ้านเมืองก็ได้เจริญรุ่งเรืองไปแทบทั่วพื้นเมืองตื๋นนันทบุรี ตราบจนทั่วถึงทุกวันนี้..."

เห็นได้ชัดว่า ข้อความทั้งหมดนี้ "ไม่ใช่" การถอดความอักขระต้นฉบับในลักษณะคำต่อคำแล้วนำมาปริวรรตเรียบเรียงให้อ่านง่าย หากแต่เป็นการ "ปรับปรุงเนื้อหาเขียนขึ้นใหม่" โดยอาศัยเค้ามูลเดิม 
เหตุเพราะเอกสารโบราณเมื่อระบุปีจุลศักราช จักไม่มีการระบุพุทธศักราชให้ซ้ำซ้อน เพราะระบบการนับพุทธศักราชนั้นมาทีหลัง รวมไปถึงการพยายามอธิบายว่า เดือน 6 เหนือ = เดือน 4 ของภาคกลาง นั้นก็ยิ่งเป็นรูปแบบที่เป็นไปไม่ได้ในคัมภีร์ล้านนา เพราะผู้เขียนไม่ได้มุ่งหวังว่าคนภาคอื่นจะต้องมาอ่าน 
แสดงว่า ผู้เรียบเรียงมีความเป็นห่วงผู้อ่าน ว่าจะไม่เข้าใจระบบจุลศักราช หรือการนับเดือนของคนเหนือ จึงมีคำอธิบายต่อท้ายตามมาติดๆ


ปัญหามีอยู่ว่า เมื่อผู้เรียบเรียงใช้วินิจฉัยส่วนตัวเข้าไปแทรกเนื้อหาเป็นระยะๆ เช่นนี้ จะให้ทราบข้อเท็จจริงได้อย่างไรว่า คำว่าเมืองตื๋นนันทบุรี ที่ปรากฏอยู่ทั้งสามตอนนั้น คือการถอดความมาจากต้นฉบับดั้งเดิม โดยไม่มีการมาปรับปรุงเขียนใหม่? 

เหตุที่ตั้งข้อสงสัยเช่นนี้ ก็เพราะเอกสารที่ถ่ายไมโครฟิล์มไว้ของ สถาบันวิจัยสังคม มช. เมื่อตรวจสอบดูแล้ว ไม่มีจุดไหนเลยที่เขียนคำว่า "เมืองตื๋น (ตื่น/ตืน) นันทบุรี" ดังที่ผู้เรียบเรียงเอกสารให้ปกครองจังหวัดนำมาใช้อ้างอิงแม้แต่จุดเดียว พบเพียงคำว่า "ตินทบุรี" กับ "ตืนบุรี" 
นักจารึกวิทยาจากสถาบันวิจัยสังคม มช. จึงมีความประสงค์อยากได้เอกสารใบลานทั้งหมดของตัวต้นฉบับจริง มาตรวจสอบกันอีกครั้งให้หายคาใจ เพราะเกรงว่าอาจมีการย้อมคำให้เป็น "ตื๋นนันทบุรี" ขึ้นมาเอง ตามที่มีใครบางคนได้ตั้งธงอยากใช้ชื่อนี้ไว้ล่วงหน้าแล้ว


ติน ติ่น ติ๋น- ตืน ตื่น ตื๋น สู่เมืองตื่นด่าน อินทคีรี

โดยปกตินั้น "ชื่อบ้านนามเมือง" ใดๆ ก็ตามมักมีที่มาทั้งสิ้น จะไม่โผล่ลอยๆ แบบโอปปาติกะ เช่น นพีสีเชียงใหม่ ก็มาจาก นพ (ใหม่หรือ 9) + อิสี (ฤๅษี) = นพีสี แปลว่า เมืองแห่งใหม่ที่สร้างโดยฤๅษี หรือเมืองลำดับที่ 9 ของฤๅษี 
ยิ่งเมืองที่เกี่ยวข้องกับตำนานพระเจ้าเลียบโลกทุกแห่ง ต้องมีคำอธิบายทั้งสิ้น ไม่ว่าพระบาทห้วยต้ม (พระพุทธเจ้าไม่โปรดที่จะฉันเนื้อสัตว์ พรานจึงต้มข้าวถวาย) หรือพระธาตุดอยเกิ้ง (เกิ้งแปลว่ายกมือขึ้นป้องคิ้วแหงนมองขึ้นไปบนยอดดอย) 
ในเมื่อเรื่องราวของพญาช้างเผือก พญาเถิก เป็นส่วนหนึ่งของตำนานพระธาตุจอมแจ้ง และพระธาตุจอมแจ้งก็เป็นส่วนหนึ่งของตำนานพระเจ้าเลียบโลก หากชื่อ "เมืองตื๋นนันทบุรี" มีมาแล้วจริง ก็ย่อมปรากฏอยู่ในตำนานพระเจ้าเลียบโลกด้วยเช่นกัน แต่เมื่อพลิกค้นข้อมูลในตำนานพระเจ้าเลียบโลกกลับพบเพียงคำว่า "ดอยนางนอน" กับ "พระธาตุจอมแจ้ง" แห่งเมืองตื๋น

ปราชญ์ด้านนิรุกติศาสตร์พยายามวิเคราะห์ว่า ทำไมต้องใช้ชื่อ "ตื๋น/ติ๋น" 
อันคำว่า "ติ๋น" อาจเขียน ติน/ติ่น แต่อ่านเสียงจัตวา ภาษาล้านนาหมายถึง ผลไม้ ประเภทมะพลับ หรือ มะคับ /บะกั๊บ หากเขียนเป็นบาลีจะได้ว่า "ตินทะตุ" คนเหนืออกเสียง ติ๋นต๊ะตุ๊  
ส่วนคำว่า "ตื๋น" หรือ ตืน/ตื่น ภาษาล้านนาก็เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่ง คือมะตื๋น /บะตื๋น หรือกะท้อนในภาษาไทย

จะลองพยายามคิดแทนปราชญ์ล้านนา ว่าเป็นไปได้ไหม ที่เขาพยายามโยงคำว่า "ติ๋น"- "ตื๋น" หรือ "มะพลับ-กะท้อน" ในลักษณะใช้แทนกันได้ บางทีบริเวณดอยนางนอนที่พระธาตุจอมแจ้ง อาจเต็มไปด้วยไม้ผลสองจำพวกนี้มาก หรืออาจมีเรื่องราวของชาวลัวะนำผลไม้ ติ๋น/ตื๋น มาถวายพระพุทธเจ้าแล้วมีการตรัสพยากรณ์ 
เพราะต่อจากนี้ไป เราจะต้องปวดเศียรเวียนเกล้า ด้วยการพบคำว่า "ติ๋น"- "ตื๋น" ติน-ตืน/ติ่น-ตื่น แทนที่กันสลับไปสลับมาอุตลุด ในเอกสารตำนาน พงศาวดารต่างๆ 


ตำนานเรื่องกำเนิดเมืองตื๋นข้างต้น มีการระบุปี พ.ศ.1985 อันตรงกับสมัยพระญาติโลกราช อย่างน้อยที่สุดทำให้ทราบว่า "เมืองตื๋น" ค่อยๆ เริ่มก่อร่างสร้างตัวแล้วตั้งแต่ยุคทองของล้านนา 
เรื่องราวของเมืองตื๋น กลายเป็นที่รู้จักอีกครั้ง ในช่วงที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ตำนานทุกเล่มระบุเหตุการณ์ตรงกัน แม้ปีจุลศักราชอาจคลาดเคลื่อน ด้วยเป็นช่วงที่ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า คือพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุปี จ.ศ.1077 (พ.ศ.2258) แต่พื้นเมืองน่าน และตำนานเชื้อเครือเจ้าหลวงตื่น ระบุ จ.ศ.1088 (พ.ศ.2269) ทว่า ใจความโดยรวมเหมือนกันคือ
"กษัตริย์อังวะพม่า เอาพระญาตืนมากินเมืองน่าน"

เป็นอันกระจ่างในจุดนี้ว่า เจ้าเมืองตื่น (ตืน/ตื๋น) องค์หนึ่งผู้มีนามจริงว่า เจ้ามหาวงศ์ ได้รับการแต่งตั้งโดยกษัตริย์พม่า ให้ไปปกครองเมืองน่าน ฐานที่สร้างความดีความชอบ จึงให้ย้ายจากเมืองหน้าด่านเล็กๆ ของเชียงใหม่ ให้ไปกินเมืองขนาดใหญ่ฟากล้านนาตะวันออก กลายมาเป็น "พญาตื่นมหาวงศ์" (หลวงติ๋นมหาวงศ์) ต้นราชสกุลของเมืองน่าน 
แน่นอนว่าสายสัมพันธ์ระหว่าง "หลวงติ๋นมหาวงศ์" ชาวเมืองตื๋นที่ไปกินเมืองน่านหรือนันทบุรี ย่อมสร้างความภาคภูมิใจให้แก่วงศ์ตระกูลในฐานะ "เจ้าเมืองสองนคร" 
จึงเป็นไปได้สูงว่า รัชทายาทอาจอ้างความชอบธรรมใน "ศักดิ์" และ "สิทธิ์" จึงนำนาม "นันทบุรี" แห่งนครน่านไปต่อเป็นสร้อยให้เกียรติแก่เมืองตื๋น จนกลายเป็น "เมืองตื๋นนันทบุรี"

หากวิเคราะห์ตามนี้ ชื่อเมืองตื๋นนันทบุรี ก็ย่อมมีขึ้นไม่เกินปี พ.ศ.2258 ฉะนั้น "นันทบุรี" ที่เมืองตื๋นนำไปใช้นั้น ก็เป็นเพียง "คำสร้อย" ที่สะท้อนถึงสายสัมพันธ์กับเมืองน่านเท่านั้น 
ไม่ได้มีรากเหง้าลึกซึ้ง ที่สามารถนำมาใช้แทน "ชื่อจริง" ได้ ผิดกับ "นันทบุรี" ของน่าน ที่กล่าวลอยๆ เพียงโดดๆ คำเดียวก็เข้าใจกันว่าหมายถึงเมืองน่านอย่างไม่มีเงื่อนไข

พบชื่อเมืองตื๋นอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2375 ปรากฏอยู่ในประชุมจารึกวัดพระเชตุพน หมวดทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง มีประกาศเรียกชื่อเจ้าเมืองเชียงใหม่ ว่าพระยาวิเชียรปราการ ประเทศราช ขึ้นกรมมหาดไทย เมืองหวดอยู่ลำแม่พิง ฝั่งตะวันตก 1 เมืองตื่นด่าน พญาอินทคีรี 1 ขึ้นเชียงใหม่ 2 เมือง  
แสดงให้เห็นว่า สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ช่วงที่มีการผนวกล้านนามาเป็นรัฐประเทศราชของสยามนั้น เมืองตื่นเป็นที่รู้จักในนาม "เมืองตื่นด่าน" ในฐานะที่เป็นหัวเมืองหน้าด่านด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ อันเป็นเมืองหน้าด่านคู่กันกับเมืองหวด (ใช่เมืองฮอดหรือไม่ เพราะอยู่ริมน้ำแม่ปิง?) แถมยังมีคำสร้อยว่า "พญาอินทคีรี" ต่อท้าย


กล่าวโดยสรุป จากหลักฐานด้านลายลักษณ์ทั้งหมดที่สืบค้นเกี่ยวกับชื่อของเมืองตื๋นนั้นพบดังนี้

ตืนบุรี (ตื่นบุรี/ตื๋นบุรี) ตินทบุรี (ตินบุรี/ติ๋นบุรี) ตั๋นบุรี และเมืองตื่นด่าน พญาอินทคีรี 
ชื่อสุดท้าย "อินทคีรี" สะท้อนความหมาย "ขุนเขาของพระอินทร์" น่าจะสอดรับกับทำเลม่อนดอยอันงดงามที่ทางท้องถิ่นประกาศว่าเป็น เมืองตื๋นคือเมืองแห่งพญาหุบเขาเขียวขจี ประมาณสวิตเซอร์แลนด์ในสยาม

หากไม่อยากเหนื่อยยากต่อสู้ยื้อแย่งเอานาม "นันทบุรี" จากน่านมาเป็นของตัว เพราะถึงอย่างไรก็เป็นเพียงนามสร้อยต่อท้ายเมืองตื๋น แต่น่านเขาเป็นชื่อจริง ทางเลือกก็คงมีอยู่สองทาง หนึ่งยืนกรานใช้ชื่อ "ตื๋นนันทบุรี" ให้ชัดๆ ไปเลย ไม่ใช่ "นันทบุรี" เฉยๆ

ทางเลือกที่สอง นามนี้ไพเราะเพราะพริ้งไม่แพ้ "นันทบุรี" แถมยังมีที่มาที่ไป อย่างน้อยก็สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เป็นชื่อที่ปลุกจินตนาการให้เห็นภาพขุนเขาสูงเสียดฟ้าทะมึนทึนหาใดเทียบ นามนี้คือ "อินทคีรี" นั่นแล



.