.
โจวเอินไหล (7) รัฐบุรุษจีน ผู้เป็นอัจฉริยะด้านการทหาร การทูต เศรษฐกิจ และการบริหาร
เรียบเรียงโดย เชาวน์ พงษ์พิชิต ศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1685 หน้า 45
ต่อต้านแนวทางเอียงซ้ายคัมภีร์นิยมของหวังหมิง
ในเดือนเมษายน ค.ศ.1931 นายกู้ซุ่นจัง กรรมการสำรองสำนักการเมืองศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ถูกจับกุมแล้วทรยศ
นายกู้คนนี้มีตำแหน่งนำในแผนกพิเศษของศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และทราบที่อยู่ของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนทุกคน รวมทั้งกฎเกณฑ์งานลับทุกอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
นายกู้ได้เสนอแผนต่อทางการก๊กมินตั๋งให้จับกุมผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั้งหมดในปฏิบัติการครั้งเดียว
แต่บังเอิญแผนนี้ล่วงรู้ไปถึงนายเฉียนจ้วงเฟย ซึ่งฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้แฝงตัวอยู่ในองค์กรที่เป็นหัวใจของฝ่ายข้าศึก
นายเฉียนคนนี้จึงได้ให้นายหลิวเกินฟูผู้เป็นบุตรเขย เดินทางไปแจ้งข่าวถึงหลี่เค่อหนงและเฉินเกิงที่เซี่ยงไฮ้ในคืนนั้น
เมื่อโจวเอินไหลรับทราบ จึงได้รีบจัดการโยกย้ายบุคคลสำคัญทุกคนที่อยู่ในห้วงอันตรายในทันที
นายเซี่ยงจงฟา เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ถูกจับกุมแล้วทรยศอีกคนหนึ่ง เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 1931 ศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงกำหนดให้โจวเอินไหลรอการย้ายงานไปประจำย่าน เขตโซเวียต
โจวเอินไหลจึงได้อำลานครเซี่ยงไฮ้ ที่ท่านได้ยืนหยัดต่อสู้กับข้าศึกในภาวะใต้ดินมาเป็นเวลานานถึง 4 ปี ออกเดินทางไปสู่ฐานที่มั่นปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในชนบท ที่ท่านใฝ่หามาเป็นเวลาช้านานแล้ว เมื่อต้นเดือนธันวาคม ค.ศ.193132
โจวเอินไหลเดินทางไปถึงฉังติง ซึ่งเป็นที่ตั้งคณะกรรมการมณฑลและที่ว่าการโซเวียตมณฑล ของเขตแดนต่อแดนฮกเกี้ยน กวางตุ้ง และเจียงซี ในวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ.1931
แล้วเดินทางต่อไปถึงรุ่ยจิน เมืองหลวงของฐานที่มั่นปฏิวัติประเทศจีน ปลายเดือนธันวาคม และพบปะเหมาเจ๋อตุง จูเต๋อ เริ่นปี้สือ เซี่ยงยิง และหวังเจียเสียง ซึ่งเป็นคณะผู้นำที่นั่น
และเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำหน้าที่ดูแลงานเขตศูนย์กลางโซเวียตและบัญชาการกองทัพแดงที่ 1
ในขณะเดียวกันยังมีหน้าที่ชี้นำงานเขตโซเวียตอื่นๆ และกองทัพแดงกองอื่นๆ อันเป็นตำแหน่งสูงสุดในเขตโซเวียตและกองทัพแดงทั่วประเทศในเวลานั้น
เขตศูนย์กลางโซเวียตในระยะนั้น ขยายตัวออกไปกว้างขวางพอสมควร กองทัพแดงที่ 1 ได้บดขยี้การล้อมปราบครั้งที่ 3 ของกองทัพก๊กมินตั๋ง ข้าศึกถูกทำลายเป็นจำนวนกว่า 30,000 คน และต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับ
ฝ่ายกองทัพแดงได้กำลังจากทหารที่แปรพักตร์จากกองทัพแนวที่ 26 เดิมของก๊กมินตั๋ง มาจัดตั้งเป็นกลุ่มทัพแดงที่ 5 ยังผลให้กองทัพแดงแนวที่ 1 มีกองกำลังหลักอยู่ใต้สังกัดถึง 3 กลุ่ม มีกำลังพลถึงหมื่นคนเศษ
ฐานที่มั่นภาคใต้มณฑลเจียงซีกับฐานที่มั่นตะวันตกมณฑลฮกเกี้ยนจึงได้เชื่อมต่อถึงกัน ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 30 อำเภอ
ต่อจากนั้นมีการประชุมสมัชชาผู้แทนโซเวียตทั่วประเทศครั้งที่ 1 ณ รุ่ยจินเมืองหลวงเขตโซเวียต ในวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.1931 และได้ประกาศสถาปนารัฐบาลกลางเฉพาะกาลสาธารณรัฐโซเวียตจีน โดยมีเหมาเจ๋อตงได้รับเลือกตั้งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารกลาง
ส่วนจูเต๋อได้รับเลือกตั้งเป็นประธานคณะกรรมการทหารปฏิวัติกลางของสาธารณรัฐโซเวียตจีน
ในเวลาเดียวกันในเขตโซเวียตได้เกิดความผิดพลาด ที่ขยายวงการกำจัดพวกปฏิปักษ์ของการปฏิวัติมากเกินขอบเขตของแนวทางซ้ายตกขอบ ที่ผิดพลาดของหวังหมิงมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในสำนักศูนย์กลางเขต โซเวียต
เมื่อโจวเอินไหลเข้าไปถึงเขตโซเวียต หลังจากได้ผ่านการสำรวจศึกษาสภาพความเป็นจริงแล้ว ก็ได้เรียกประชุมสำนักศูนย์กลางเขตโซเวียตเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1932 เพื่อพิจารณาปัญหานี้
ในที่สุดก็มีมติและกำหนดมาตรการแก้ไขความผิดพลาดในเรื่องนี้ในส่วนสำคัญๆ
สําหรับปัญหาขยายเขตฐานที่มั่น เมื่อโจวเอินไหลเข้าไปถึงเขตโซเวียตก็ไปปรึกษาเรื่องจะเข้าตีเมืองก้านโจว ตามแผนสุ่มเสี่ยงซ้ายตกขอบของแนวทางหวังหมิง
เหมาเจ๋อตงชี้ให้เห็นถึงผลเสียของแผนการเข้าตีก้านโจวของโจวเอินไหลในเวลา นั้น จนโจวเอินไหลเห็นชอบด้วยและรายงานไปยังศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเฉพาะ กาล
เมื่อได้รับคำตอบจากศูนย์กลางเฉพาะกาลยืนยันความเห็นเดิม โจวเอินไหล และสมาชิกส่วนใหญ่ของสำนักศูนย์กลางเขตโซเวียต เห็นว่าต้องปฏิบัติตามคำชี้แนะของศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเฉพาะกาลที่ ให้ตีเมืองก้านโจว มีแต่เหมาเจ๋อตงคนเดียวที่ยังคงยืนกรานไม่เห็นด้วย
ในที่สุดยุทธการตีเมืองก้านโจวก็เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1932 โดยใช้กำลังของกลุ่มทัพที่ 3 และกลุ่มทัพที่ 4 เป็นกำลังหลักในการเข้าตี และมีเผิงเต๋อหวยเป็นผู้บัญชาการ
การรบดำเนินไปเป็นเวลา 33 วัน ผลก็คือ นอกจากจะยึดเมืองไม่ได้แล้ว ยังต้องเสียกำลังพลไปเป็นจำนวนมากด้วย
เมื่อกองทัพแดงถอนตัวออกจากสนามรบ โจวเอินไหลรีบรุดไปถึงท้องที่เจียงโข่วซวี เรียกประชุมสำนักศูนย์กลางเขตโซเวียตขยายวง โดยมีเหมาเจ๋อตง จูเต๋อ หวังเจียเสียง เผิงเต๋อหวย และนายทหารชั้นผู้ใหญ่คนอื่นๆ ของกองทัพแดงเข้าร่วมด้วย
ที่ประชุมช่วยกันสรุปบทเรียนในยุทธการครั้งนี้
แต่ทว่ากรรมการส่วนใหญ่รวมทั้งโจวเอินไหล ยังมองไม่เห็นความผิดพลาดของแนวทางสุ่มเสี่ยงซ้ายตกขอบของศูนย์กลางพรรค คอมมิวนิสต์จีนเฉพาะกาล ยังคงเห็นว่าต้องปฏิบัติภารกิจ "ช่วงชิงเมืองใจกลาง เพื่อให้การปฏิวัติประสบชัยชนะเป็นแห่งแรกที่มณฑลเจียงซี"
เหมาเจ๋อตงเสนอแผนต่อโจวเอินไหลวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ.1932 ว่า "ในทางการเมืองต้องมุ่งไปในทิศทางสู่จังโจวและเฉวียนโจว (ของมณฑลฮกเกี้ยน-ผู้เรียบเรียง) จึงจะสามารถชักจูงข้าศึก ให้เคลื่อนย้ายกำลังพล จะได้มีโอกาสเข้าตีข้าศึกเพื่อบุกเบิกสถานการณ์"
เหตุผลคือในย่านหลงเหยียนและจังโจว มีแต่กำลังกองพลที่ 49 ของจังเจินขุนศึกฮกเกี้ยน นอกนั้นก็มีแต่กำลังรักษาการณ์ท้องถิ่น อีกทั้งย่านจังโจวยังมีภูมิประเทศที่เป็นชัยภูมิสำหรับฝ่ายเข้าตี แต่ยากแก่การตั้งรับของฝ่ายข้าศึก..."
โจวเอินไหลเดินทางไปหาเหมาเจ๋อตงทันทีเมื่อ ได้รับโทรเลข และเรียกประชุมปฏิบัติการเพื่อวางแผนการรบที่เป็นรูปธรรม ที่ประชุมตกลงให้เหมาเจ๋อตง รับหน้าที่นำกำลังแนวตะวันออกเข้าตีจังโจว ในฐานะประธานรัฐบาลกลางเฉพาะกาลโซเวียตแห่งประเทศจีน
กองทัพแดงยาตราทัพสู่เมืองหลงเหยียน เมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ.1932 ตีเมืองนี้แตกในยุทธการครั้งเดียวเมื่อเช้าตรู่วันที่ 10 เมษายน 1932 ทำลายกำลัง 2 กรมสังกัดกองทัพที่ 49 ของข้าศึก กลุ่มทัพแดงที่ 5 ยกไปสมทบกับกลุ่มทัพแดงที่ 1 ณ ท้องที่หลงเหยียน แล้วเดินทัพไปยังจังโจว จู่โจมเข้าตีเมืองนี้เมื่อวันที่ 20 เมษายน 1932 ในขณะที่ข้าศึกไม่รู้ตัวและยังขวัญหนีดีฝ่ออยู่ จึงยึดเมืองนี้ได้ในเพียงครั้งเดียวเช่นกัน
กองทัพแดงได้ทำลายกำลังข้าศึกส่วนใหญ่ในกองพล 49 จับเป็นเชลยศึกได้ราว 1,600 คน ยึดเครื่องบินได้ 2 ลำ และยุทโธปกรณ์ได้อีกเป็นจำนวนมาก
หลังจากตีเมืองจังโจวได้แล้ว กองทัพแดงก็กระจายกำลังสู่ 6 อำเภอรอบๆ จังโจวไปปลุกระดมมวลชน จัดการพวกอันธพาลท้องถิ่น รับสมัครทหารเพื่อขยายทัพแดง จัดหาเงินได้หนึ่งล้านกว่าหยวน
อีกทั้งยังรวบรวมผ้า ธัญญาหารและเกลือได้อีกเป็นจำนวนมาก และได้ส่งไปยังฉังติงและรุ่ยจิน
ยุทธการจังโจวทำให้เจียงไคเช็กตกใจมาก จึงได้ระดมกำลังพล 630,000 นาย เตรียมการล้อมปราบเขตโซเวียตเป็นครั้งที่ 4 โดยเจียงไคเช็คแต่งตั้งตัวเองเป็นผู้บัญชาการปราบปรามคอมมิวนิสต์มณฑลหูเป่ย มณฑลเหอหนัน และมณฑลอันฮุย เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.1932
โจวเอินไหลเรียกประชุมสำนักศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเขตโซเวียต เพื่อเตรียมรับศึกใหญ่ที่กำลังจะมาถึง ที่ประชุมได้มีมติให้ยกเลิกชื่อกองทัพแนวตะวันตกและกองทัพแนวตะวันออก ให้กลับไปใช้ชื่อเดิมว่ากองทัพแดงแนวที่ 1 โดยมีกลุ่มทัพที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อยู่ใต้สังกัด ให้จูเต๋อประธานคณะกรรมการทหารปฏิวัติศูนย์กลาง ควบตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพแดงแนวที่ 1 เย่เจี้ยนยิงเป็นเสนาธิการ และหวังเจียเสียงเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเมือง
ส่วนตำแหน่งกรรมการการเมืองนั้น ผู้ร่วมประชุมจำนวนมากเห็นว่าควรเป็นของโจวเอินไหล
แต่โจวเอินไหลเองกลับเห็นว่าเหมาเจ๋อตงนั่น แหละเหมาะกับตำแหน่งนี้มากที่สุด ที่ประชุมตกลงให้เหมาเจ๋อตงยังคงดูแลงานส่วนสำคัญที่แนวหน้า ในฐานะประธานรัฐบาลสาธารณรัฐโซเวียตจีน
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1932 กองทัพแดงแนวที่ 1 ดำเนินยุทธการที่หนันสงและสุ่ยโขว่ โจมตีข้าศึกให้แตกพ่ายไปมากถึง 15 กรม ข้าศึกบาดเจ็บล้มตายราว 3,000 คน ยังผลให้เขตศูนย์กลางโซเวียตมีความมั่นคงพอสมควร
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย