http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-01

ม็อบแช่แข็ง..งง งง ตั้งแต่เริ่ม จนเลิก แต่ทุกอย่างมีคำอธิบาย โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

ม็อบแช่แข็ง...งง งง... ตั้งแต่เริ่ม จนเลิก แต่ทุกอย่างมีคำอธิบาย
โดย มุกดา สุวรรณชาติ
คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1685 หน้า 20


ทีมวิเคราะห์ประเมินผิดอีกครั้งที่เขียนหัวเรื่องฉบับที่แล้วว่า...ม็อบแช่แข็ง 2 วันจบ ...เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพียงวันเดียวก็จบ
เดิมทีทีมงานประเมินว่าผู้ชุมนุมน่าจะมีมากถึง 30,000 คน แต่มาจริง ไม่เกิน 20,000 และเดาว่าน่าจะชุมนุมถึงเที่ยงของวันที่ 25 โดยประเมินจากท่าทีและคำประกาศของ เสธ.อ้าย การเช่ารถ และการตกลงกับผู้ชุมนุมสายต่างๆ
แต่เหตุการณ์จริงมีลักษณะคล้ายการทำงานประจำคือเริ่มประมาณ 9 โมงเช้าและเลิก 5 โมงครึ่งตอนเย็น จากนั้นทุกคนก็แยกย้ายกันกลับบ้านอย่างเรียบร้อย

ผู้คนจำนวนมาก งุนงงกับการชุมนุมแบบ แฟลช ม็อบ 
เสธ.อ้ายแม้ไม่ใช่ทหารอากาศ แต่เขาเตรียมสนามบินลง มาตั้งแต่ก่อนออกชุมนุมแล้ว


ทำไมจึงมีการชุมนุม
ในวันที่ 24 พฤศจิกายน


มีคนที่เกลียดรัฐบาลชุดนี้จนทนไม่ไหวและเมื่อสถานการณ์บีบรัด จึงคิดโค่นรัฐบาลอีกครั้ง เมื่อสำรวจแล้วว่ามีผู้สนับสนุน ก็มีการทดลองความเชื่อของตนเองโดยนัดชุมนุมวันที่ 28 ตุลาคม 2555 ที่สนามม้า มีคนมาร่วมหมื่น จึงเกิดความรู้สึกคึกคัก เพราะเมื่อนำไปเทียบกับการรวมตัวประท้วงรัฐบาลในช่วงปีที่ผ่านมาของกลุ่มพันธมิตรเหลือง หรือกลุ่มหลากสี ครั้งนี้นับว่ามีผู้คนมารวมตัวกันมากกว่าทุกครั้ง ก็เลยเกิดความเชื่อมั่นว่าทำได้

จังหวะที่รัฐบาลถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจคือ 25-27 พฤศจิกายน ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็คิดว่า ถ้าโหมกระหน่ำทั้งนอกสภา ในสภา ใช้มวลชนกดดัน จุดกระแสติดอาจขยายเหตุการณ์ สร้างสถานการณ์ให้ใหญ่โตขึ้นมาได้ วันที่ 24 พฤศจิกายน จึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับเกมในสภา ถ้าไม่มีใครมาขวางเกมนอกสภาก็จะยืดเยื้อขยายใหญ่ขึ้น แต่ถ้าคนเสื้อแดงเคลื่อนกำลังออกมาปะทะเพื่อปกป้องรัฐบาล ก็อาจจะเรียกทหารออกมาทำการรัฐประหาร (แต่คงไม่ใช่เรื่องง่าย)

ทางเลือกที่ 2 คือ ถ้าหากเหตุการณ์นั้นมีผู้บาดเจ็บล้มตายก็จะถือโอกาสทำการรุกต่อไป โดยใช้ช่องทางยื่นต่อศาลให้ถอดถอนรัฐบาล 
ประโยชน์อีกด้านหนึ่งคือ จะเป็นการรุกกลับทางการเมืองว่ารัฐบาลนี้ก็ทำให้ผู้ประท้วงตายเหมือนกับรัฐบาลก่อน 

แต่นี่เป็นเพียงสิ่งที่คาดหวัง



ยุทธศาสตร์ผิด... 
ที่ผูกติดม็อบจำนวนแสน...ไว้กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ   


การกำหนดวันเคลื่อนไหวมวลชน ถูกนำไปผูกติดกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยที่ไม่ได้คำนึงว่าการเตรียมพร้อมในการชุมนุมจริง จะมีความเป็นไปได้แค่ไหน ในขณะที่มีเวลาเตรียมตัวไม่ถึง 1 เดือน 
อีกทั้งสถานการณ์ทั่วไป ภาพของรัฐบาลและนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังอยู่ในกระแสสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในขณะที่ผู้นำฝ่ายค้านต้องมาแก้ข้อกล่าวหาเรื่องการหนีทหาร เสียภาพพจน์ไปเยอะ การยื่นญัตติไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านจึงรอมาจนนาทีสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุมสภา

ถ้ามีเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การเตรียมพร้อมเป็นแบบหนึ่ง
แต่การชุมนุมประท้วงที่ตั้งใจจะให้มีคนเรือนแสน ไม่สามารถจัดการได้ง่ายอย่างนั้น การเตรียมการของมือใหม่หัดขับ อย่าง เสธ.อ้าย จึงมีเวลา 20 วัน โดยจะเอาชีวิตของตัวเอง และผู้ชุมนุมที่คาดว่าจะมาเป็นแสน ผูกไว้กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไม่กี่คน
การกำหนดนัด วันที่ 24 พฤศจิกายน จึงไม่มีการเตรียมพร้อมแต่วิ่งตามเขาไป ท้ารบ ผิดทั้งยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี


จำนวนคนที่มาน้อย
เป็นเพราะอะไร


1. ที่สำคัญคือสถานการณ์และประเด็นทางการเมืองที่จะชูขึ้นในช่วงชุมนุม จนถึงวันนี้ถ้าไปถามคนทั่วไป ว่าวันที่ 24 พฤศจิกายน เขามาชุมนุมเรื่องอะไร คงหาคนตอบได้ยากมาก และคำตอบส่วนใหญ่ก็คือ แช่แข็งประเทศไทย

พลาดตั้งแต่เริ่ม ...แช่แข็งประเทศไทย... ซึ่งก็เหมือนสำนวน...ดีแต่พูด...แต่เป็นประเด็นทางการเมืองเพราะมีพื้นฐานที่มาซึ่งคนมีความเชื่อ 
คำพูดเหล่านี้ใช้เวลาสั้นๆ ก็สามารถลดเครดิตของบุคคลหรือกลุ่มคนไปได้มากมายเหมือนตอนเลือกตั้งปี 2554 คนเชื่อว่า ปชป.พูดเก่งทั้งพรรคแต่ทำไม่เก่ง และก็เชื่อว่าถ้าเพื่อไทยเสนอนโยบายออกมา ต้องเอามาทำแน่ๆ พวกที่ไม่ชอบนโยบายเพื่อไทยก็ต้องมาต่อต้าน พวกที่ชอบก็ต้องเฮไปสนับสนุน 
คำว่าแช่แข็งประเทศไทย จึงไม่ได้เป็นสำนวนที่คนจะนึกถึงอาหารในตู้เย็น แต่คนจำนวนมากเชื่อว่าจะเกิดการรัฐประหาร จะทำให้ประเทศหยุดการเติบโตและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับของต่างชาติ ตลาดหุ้นจะพัง ผู้คนจะยากลำบากเพราะเหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดมาแล้ว

ส่วนสถานการณ์ทั่วไปและการเมืองระหว่างประเทศ ผลักดันให้ภาพของนายกฯ ยิ่งลักษณ์และรัฐบาลสูงเด่นขึ้น โดยการเยี่ยมเยือนของผู้นำประเทศมหาอำนาจและประเทศต่างๆ ที่แสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งที่จะพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในประเทศไทย เพราะนั่นจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางการเมือง ในภูมิภาคนี้  
แม้จะมีคนโจมตีตัวนายกฯ แต่ก็เป็นเรื่องไร้สาระ คนที่เกลียดอาจสะใจที่ได้ยินคำนินทาต่างๆ แต่ในเชิงเหตุผล เรื่องผลประโยชน์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจปากท้องชาวบ้าน คนกลางๆ เชียร์รัฐบาลมากมาย ซึ่งผลสำรวจก็ชี้ชัดอยู่

การไม่วิเคราะห์หรือวิเคราะห์แบบเข้าข้างตนเอง ใช้ความชอบความชังส่วนตัวมาตัดสินปัญหาและกำหนดการเคลื่อนไหว ก็จะทำให้เกิดข้อผิดพลาด พ่ายแพ้ทางการเมืองตั้งแต่ยังไม่เริ่มชุมนุม


2. ถูกตัดท่อน้ำเลี้ยง การบอกว่าจะเรียกคนมาจำนวนมากมีข้อดีคือทำให้ดูคึกคักและสามารถสร้างราคาไปต่อรองขอทุนสนับสนุนว่าคนจะมาเยอะ ต้องใช้เงินเยอะ
แต่เมื่อมีข่าวแบบนี้ การสกัดท่อน้ำเลี้ยงจึงเกิดขึ้น เสี่ยใหญ่บางคนยอมรับกับคนของรัฐบาลว่าจำเป็นต้องจ่ายเงินเพราะเกรงใจคนที่ขอมา เมื่อมีการสกัด ก็ทำให้การจ่ายลดลง 
หลายรายก็ถือโอกาสอ้างเหตุผลนี้และไม่ต้องจ่าย จำนวนเงินที่คาดว่าจะได้ก็น้อยลง

แต่คนที่อ้างว่าจะมีกำลังมาเข้าร่วมมาขอแบ่ง ต้องการเงินเยอะ เพราะได้ข่าวว่ามีเยอะ เมื่อไม่สามารถจ่ายให้ได้มาก พวกที่รอเงินก็ไม่มาตามนัด รถบัสบางคันยังมีคนไม่เต็ม ส่วนพวกที่มาชุมนุมด้วยใจ ไม่ต้องการเงิน ยังไงก็มาอยู่แล้ว แต่เป็นขาประจำที่มีจำนวนน้อย


3. การปะทะของม็อบกับตำรวจในตอนเช้าวันที่ 24 พฤศจิกายน มีผลทางจิตวิทยาอย่างมากที่ทำให้คนซึ่งดูโทรทัศน์อยู่ทางบ้านพอเห็นภาพก็ไม่กล้าออกมา เพราะพวกเขานึกย้อนถึงวันที่ 10 เมษายน มีบรรยากาศควันของแก๊สน้ำตา มีบรรยากาศปะทะอย่างนี้ที่สะพานมัฆวานฯ จากนั้นจนถึงตอนค่ำก็มีคนเสียชีวิต 26 คน คนดูทั่วไปก็วิตก ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายตำรวจก็วิตก แม้แต่ผู้นำม็อบอย่าง เสธ.อ้าย ก็วิตก

เหตุการปะทะเช้าวันนั้นจึงมีผลให้กำลังหนุนที่จะตามมาดู เปลี่ยนเป็นดูทีวี อยู่บ้านดีกว่า มีเฉพาะกลุ่มที่ต้องการให้เกิดเรื่องเท่านั้นที่ไม่วิตก


ความผิดพลาดภาคปฏิบัติ
พลาดทางยุทธวิธี


เดิมมีการออกข่าวว่าคนจะมาเป็นล้านแต่ทุกคนก็รู้ว่ามาได้แสนคนก็เก่งที่สุดแล้ว การออกข่าวว่าจะมีคนมามากมาย ทำให้ตำรวจมามาก จำนวนของตำรวจที่มาขึ้นอยู่กับการประเมินว่าจะใช้ควบคุมม็อบมากน้อยแค่ไหน อาจเป็นเพราะราคาคุยของ เสธ.อ้าย และการวางเครือข่ายสายงาน ทำให้จำนวนตำรวจในวันนั้นมีมากพอๆ กับม็อบ

สำหรับเกมบุกของม็อบที่สะพานมัฆวานฯ ในทางยุทธวิธีต้องถือว่าได้ทำผิดพลาด ฝ่ายรัฐบาลเข้าใจว่าคนเหล่านี้ต้องการบุกเข้าไปเพื่อเตรียมยึดทำเนียบ เพราะมีทางอื่นให้ผ่านก็ไม่ไป เมื่อหน่วยหน้าและรถที่ใช้สำหรับบุกถลำเข้าไปในวงล้อมตำรวจจึงถูกจับทั้งรถและคนร้อยกว่าคน ถ้าทำอย่างนี้อีก ตำรวจก็จะปล่อยให้หลุดเข้าไปทีละ 100-200 ผลสุดท้ายหน่วยหน้า 400-500 คนก็จะถูกจับหมด

คำถามคือ ถ้าไม่ตั้งใจยึดสถานที่บริเวณนี้ จะบุกเข้าไปทำไม ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย 
ถ้าคิดว่าจะสร้างภาพตำรวจทำรุนแรง ภาพที่ปรากฏ ก็ไม่มีความรุนแรงอะไรมากโดยเฉพาะถ้าเทียบกับกลุ่มเสื้อแดงที่ถูกเริ่มต้นด้วยกระสุนยางตามด้วยกระสุนจริงและสไนเปอร์


การใช้ แก๊สน้ำตา

ประเด็นการใช้แก๊สน้ำตาไม่กี่ลูกในเช้าวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ถกเถียงกันว่าเหมาะสมหรือไม่ เมื่อผู้ชุมนุมรื้อแนวกั้น แล้วใช้รถบรรทุกบุกตะลุยเข้าใส่แถวตำรวจ การใช้แก๊สน้ำตา กลับมีผลให้การปะทะเบาและหยุดลง
เมื่อเปิดคลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิดดู ก็เห็นชัดว่าส่วนหนึ่งถูกขว้างออกมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมและนี่อาจเป็นการชุมนุมแห่งเดียวในโลกที่ตำรวจถูกจู่โจมด้วยแก๊สน้ำตาจนแตกกระเจิง
แต่เหตุการปะทะเช้าวันนั้นมีผลให้กำลังหนุนหายไปส่วนหนึ่ง
ความผิดพลาดในทางยุทธวิธีครั้งนี้มีส่วนทำให้แพ้




เสธ. อ้ายรอดตาย
เพราะเตรียมทางถอยไว้


แม้ เสธ.อ้าย ได้บอกว่าเขาตายไปแล้ว แต่ที่จริงเขารู้ว่ารอดตายแล้ว เสธ.อ้ายไม่ใช่คนโง่ เตรียมทางถอยไว้บ้างแล้ว โดยบอกว่าผู้มาชุมนุมต้องมีจำนวนมาก ตั้งแต่ลานพระรูป จนถึงผ่านฟ้า เขาจึงจะชุมนุมยืดเยื้อ ถ้ามีน้อย เขาจะเลิกชุมนุม ซึ่งเขาก็รู้ว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมีคนมากขนาดนั้นในสถานการณ์แบบนี้

ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ เขารู้ว่าอาจจะมีหลายเรื่องที่ควบคุมไม่ได้และตัวเองอาจจะต้องเอากระดูกมาแขวนคอ เสธ.อ้าย จึงล้มโต๊ะอย่างรวดเร็ว 

เสธ.อ้าย รู้อะไรบ้าง

1. ตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดต้องใช้คนจำนวนมากขับเคลื่อนการชุมนุมประท้วงไปสู่เป้าหมาย แต่มีคนมาน้อยมาก กลุ่มที่รับปากจะส่งคนมา ก็ไม่มา แม้รอเวลาจนถึงช่วงบ่ายเมื่อเช็กดูแล้ว ก็ไม่มีรถที่จะเข้ามาสนับสนุนจากทิศทางต่างๆ อย่างที่คาดหวังไว้ แสดงว่ายุทธศาสตร์ล้มเหลว

2. การปะทะกับตำรวจในตอนเช้า ทำให้ เสธ.อ้าย รู้สึกแปลกใจว่าทำไมผู้ชุมนุมบางส่วนจึงไม่เดินทางมาตามที่เจ้าหน้าที่กำหนดให้ตรวจค้นอาวุธและเข้าชุมนุมที่ลานพระรูป แต่ทำให้เกิดการปะทะซึ่งไม่ได้อยู่ในแผน แสดงว่าควบคุมไม่ได้

3. ภาพการปะทะเห็นชัดว่ามีการขว้างแก๊สน้ำตามาจากกลุ่มผู้ชุมนุม เสธ.อ้าย รู้สึกงงว่านอกจากแก๊สน้ำตาแล้ว ผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ มีอาวุธที่ร้ายแรงกว่านี้หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ระเบิดแก๊สน้ำตา เป็นระเบิดอื่น มีคนเสียชีวิต แสดงว่าแนวร่วมอาจไม่ทำตามการบังคับบัญชา และเขาก็จะต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น

4. องค์การพิทักษ์สยาม เป็นแค่แนวร่วมเฉพาะกิจ ไม่มีลักษณะจัดตั้งที่เหมาะกับการวางแผนและเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ ไม่สามารถไว้ใจใครได้อย่างแท้จริง ทุกคนมีเป้าหมายและผลประโยชน์ส่วนตัวทั้งสิ้น การรับปากของคนกลุ่มต่างๆ อาจเปลี่ยนไปได้เสมอ

การควบคุมดูแลและขับเคลื่อนผู้ชุมนุมจำนวนมาก ยากกว่า เลี้ยงม้าและขี่ม้าเยอะ


ฉากปิด

การวิเคราะห์มองทั้งปัจจัยภายในของตัวบุคคลและองค์กรและสภาพแวดล้อม ทีมวิเคราะห์คิดว่า เสธ.อ้าย ตัดสินใจดีที่สุดแล้วที่ยุติการชุมนุมในช่วงเวลานั้น ดีทั้งตัวเอง ผู้ชุมนุม และรัฐบาล

บ่ายวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 แต่ เสธ.อ้าย กลับรู้สึกเหมือนบรรยากาศเมื่อ 35 ปีที่แล้ว บรรยากาศที่ตึงเครียดของตอนสายของวันที่ 26 มีนาคม 2520 แต่วันนั้นโอกาสถอยไม่มี และตนเองไม่ใช่ผู้มีอำนาจตัดสินใจ สุดท้ายต้องเข้าคุกในข้อหากบฏ แต่วันนี้ สิ่งที่เขาทำถูกต้องที่สุดคือ กุมปัจจัย และอำนาจตัดสินใจชี้ขาดเอาไว้ เมื่อคิดจะถอยก็ทำได้ไม่ยาก  
ก่อน 4 โมงเย็น เสธ.อ้าย ติดต่อโทรศัพท์ 2-3 ครั้ง ได้รับคำแนะนำที่ดี


เมื่อเงยหน้ามองฟ้า ก็เห็นแต่เมฆฝน ถ้าสลายการชุมนุมหลังฝนตก ก็จะเหลือคนอยู่กระจุกเดียว ซึ่งจะเป็นภาพที่น่าเกลียดมาก ถ้าเทียบกับคำว่ามาเป็นล้าน ถ้าชุมนุมต่อ พอค่ำมืด จะมีการปะทะกันอีกหรือไม่? ม็อบและหน่วยการ์ดก็ไม่ใช่ทหารในบังคับบัญชาที่สั่งได้ ในชีวิตก็ไม่เคยรู้จักกัน

ตัวอย่างคืนวันที่ 10 เมษายน คือ 26 ศพ เขาไม่อยากมีชะตากรรมแบบแกนนำ นปช. หรือแกนนำ ศอฉ.
ชีวิตแบบเดิมที่อยู่ในสนามม้า น่าจะดีกว่าอยู่ในคุก...


เกมจึงจบลงเมื่อเวลา 17.30 น.



.